17 สิงหาคม 2018
22 K

ธุรกิจเพื่อสังคมไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศนี้

กิจการที่ต้องการแก้ไขปัญหาสังคม โดยใช้ธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อน คือนิยามขนาดยาวที่เราใช้อธิบายถึงเรื่องนี้

ในฐานะที่เป็นคนเฝ้ามองวงการนี้อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ มาตลอด 5 ปี เห็นความตั้งใจของธุรกิจเพื่อสังคมยุคแรก เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ของธุรกิจเพื่อสังคมมาไม่น้อย

สารภาพเลยว่า เราเฝ้ารอวันนี้มาตลอด

ที่ผ่านมา มีกลุ่มคนเล็กๆ พยายามจะสื่อสารปัญหาสังคมในแนวทางของตัวเองมากมาย ซึ่งไม่ว่าจะนิยามตัวเองในชื่อเรียกแบบไหน เราก็เอาใจช่วยใจอยู่เสมอ

แต่ใจอย่างเดียวนั้นไม่พอ

ในวันที่ภาครัฐ ภาคเอกชน คนจากภาคส่วนต่างๆ ให้ความสนใจ ผลักดันให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ สนับสนุนให้กลไกนี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศไทย อย่างที่เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ประเทศใหญ่ๆ ทั่วโลกอย่างอังกฤษ อเมริกา ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ แม้จะใช้เวลาล่วงเลยมาระยะหนึ่ง แต่ก็เพียงพอที่ทำให้เห็นธรรมชาติของธุรกิจเพื่อสังคมแบบฉบับไทยๆ และการร่วมมือที่ตรงจุดกว่าที่เคย

The Cloud มีโอกาสพูดคุยกับ 3 ตัวแทน ทั้งจากธุรกิจเพื่อสังคม บริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการรวมพลคนทำงานเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม ที่มาในจังหวะและเวลาที่เหมาะสม

ธุรกิจเพื่อสังคมในวันนี้คิดอะไรอยู่ บทเรียนในโลกความเป็นจริงสร้างความแข็งแกร่งให้มากน้อยแค่ไหน ภาคเอกชนทำอะไรได้มากกว่าการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมหรือมองเรื่องนี้เป็นแค่เครื่องมือการตลาดอย่างไร อะไรคือจุดตรงกลางของการทำเพื่อสังคมและการทำธุรกิจ การทำหน้าที่เชื่อมโยงภาคธุรกิจและภาคสังคมของตลาดหลักทรัพย์ฯ จับธุรกิจเพื่อสังคมและบริษัทจดทะเบียนมาเจอกัน เป็นกุศโลบายพัฒนาคุณภาพธุรกิจผ่านการเรียนรู้กันและกันอย่างไร

ฟังบทเรียนทางรอดธุรกิจเพื่อสังคมจาก คุณตุ๊ก-เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ผู้จัดการร้านคนจับปลา คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) และ คุณนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเพื่อสังคมและสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็น 3 ตัวแทนพันธมิตรที่ร่วมสร้างผลลัพธ์ทางสังคมให้แข็งแรงและไปไกลกว่าที่เคย

คุณเองก็ร่วมเป็นหนึ่งคนที่สนับสนุนเรื่องนี้ได้จาก 12 บทเรียนต่อไปนี้

ธุรกิจเพื่อสังคม

คนจับปลา

คนจับปลา หรือ Fisherfolk เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่อยากช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านให้ดีขึ้น สร้างระบบซื้อขายสัตว์น้ำที่เป็นธรรม และส่งตรงผลิตภัณฑ์อาหารทะเลคุณภาพจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคในเมือง

ตลาดหลักทรัพย์, SET, กิจการเพื่อสังคม

1 พบปัญหาที่อยากแก้ปัญหา

จุดเริ่มต้นจากปัญหาขาดงบประมาณสนับสนุนสมาคมรักษ์ทะเลไทย กับภารกิจการฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ด้วยการส่งเสริมให้ชาวประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือที่ถูกต้อง ทำให้สาวนักพัฒนาอย่างตุ๊กเริ่มคิดทำธุรกิจเพื่อจุนเจืองานในส่วนพัฒนาชุมชนต่อไป

เมื่อชาวบ้านใช้เครื่องมือที่ถูกต้อง ปลาและสัตว์น้ำตามฤดูกาลก็กลับคืน และเพื่อทำให้ชีวิตชาวประมงดีขึ้นด้วยการรับซื้อในราคาที่สูงและเป็นธรรม ตุ๊กจึงเป็นคนกลางรวมกลุ่มสมาคมและชาวประมงพื้นบ้านสร้างแบรนด์ ‘คนจับปลา’ พร้อมกับเปิดหน้าร้านริมทางที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่เพราะราคาที่สูงกว่าตลาดปลาท้องถิ่น คนจับปลาจึงเลือกเริ่มจับตลาดสุขภาพคนเมืองและเริ่มช่องทางออนไลน์

แม้จะมีราคาสูงกว่าสินค้าชนิดใกล้เคียงกัน แต่ตุ๊กยืนยันว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลกับคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย ผู้บริโภคตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าปลาตัวนี้มาจากจังหวัดไหน เรือลำไหนของชาวประมงคนไหน

“ปลา 1 ตัวที่เรากินทำให้เกิดอะไรบ้าง ทั้งต่อตัวเราเอง สิ่งแวดล้อม และเพื่อนมนุษย์คนอื่น” ผู้จัดการร้านคนจับปลาชวนคนเมืองอย่างเราตั้งคำถาม

2 ตั้งมั่นในเป้าหมายแรก

การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (SE) ที่มาจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ทำให้ตุ๊กมีวิธีคิดและระบบการทำงานเปลี่ยนจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

“จากเดิมที่ทำงานกับชุมชนและหมู่บ้าน แม้จะทำงานไม่ประสบผลสำเร็จ เราจะสรุปกับตัวเองว่าเราทำดีที่สุดแล้ว แต่กับการทำธุรกิจ เราทำแบบนั้นไม่ได้”

การตั้งราคา คือสิ่งที่ตุ๊กกลัวมากที่สุด เพราะหากคิดต้นทุนทั้งหมด นั่นแปลว่าสินค้าจะต้องแพงขึ้นตามและจะยิ่งเห็นตัวเลขติดลบชัดเจน

“เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันเสมอระหว่างภายในองค์กรและ NGO อื่นๆ ว่าหากเราตั้งราคาสูงเกินไป ชาวบ้านที่มีรายได้น้อยก็จะไม่มีโอกาสเข้าถึง เป็นโจทย์ใหญ่ในใจของเราเหมือนกัน เราย้อนกลับมาถามตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่เพื่ออะไร เราทำงานเพื่อให้คนที่ด้อยโอกาสกว่ามีสิทธิมีเสียงในสังคม แต่การทำธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งขายของแพงมาก เราเองยังซื้อกินไม่ได้” ตุ๊กเล่าถึงคำถามที่เธอมักจะได้รับในช่วงปีแรกๆ ของการทำร้าน

แต่สุดท้าย สิ่งที่ตุ๊กทำก็คือ การตั้งมั่นในเป้าหมายแรก

“เรามีเป้าหมายที่ชัดแล้ว ถ้าเราหวั่นไหวเราก็จะเดินไปไม่ถึงเป้าหมาย เรากำลังทำให้ชาวประมงพื้นบ้านได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นเราต้องมั่นใจว่าถึงแม้ชาวบ้านทั่วไปจะไม่มีโอกาสซื้อ เราก็ต้องหาช่องทางหรือทำโครงการอื่นที่จะทำให้เขาได้กินปลาที่มีคุณภาพเหมือนกัน”

ตลาดหลักทรัพย์, SET, กิจการเพื่อสังคม

3 โมเดลธุรกิจที่ไม่เหมือนใคร ไม่มีใครเหมือน

ผู้เชี่ยวชาญและคนทำงานทั้งภาคธุรกิจและสังคม ต่างแนะนำให้ตุ๊กพยายามลดต้นทุนการรับซื้อปลาจากชาวประมงเพื่อให้ธุรกิจมีกำไร ซึ่งเธอรู้ดีว่าการทำอย่างนั้นผิดวัตถุประสงค์ตั้งต้น สิ่งที่ทำได้จึงได้แก่การขยายตลาด

“เราเข้าใจคนที่หวังดีอยากให้เราได้กำไรเยอะๆ และอยู่ได้ แต่เราก็รู้ดีว่ากำไรที่พอดีของเราคือแค่ไหน พอให้หล่อเลี้ยงคนทำงานก็ถือว่ามีกำไรแล้ว”

นอกจากโมเดลธุรกิจจะซับซ้อนไม่เหมือนธุรกิจเพื่อสังคมทั่วไปแล้ว โครงสร้างการบริหารและการจัดการก็มีเอกลักษณ์ เจ้าของคนจับปลาประกอบด้วย สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เครือข่ายชาวประมงทั้งประเทศที่เป็นเจ้าของ และชาวประมงในพื้นที่ที่ร่วมลงหุ้นทำหน้าร้านเล็กๆ ของตัวเอง

“เดิมระบบการทำงานของ NGO เป็นอาสาสมัครที่ใช้ใจ พอมาเป็น SE ที่มีระบบร้าน เราคุยกันว่าใครทำงานก็ควรได้ผลตอบแทน ไม่ควรลงแรงมาช่วยกันอีกต่อไป โลกมันเปลี่ยนแล้ว การมาช่วยกันไม่ได้ทำให้ยั่งยืนและยังถือว่าไม่เป็นธรรมแก่คนใช้แรงงานด้วย นั่นคือ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตามที่ก่อให้เกิดรายได้ เราถือว่าต้องจ่ายค่าแรง”

4 ของมันต้องดี ของมันต้องมี

“เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำอยู่ เขาเรียกว่า SE แต่เรารู้ว่าเราตั้งใจจะทำแบบนี้ เราอยากเห็นธุรกิจของชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่ในนาม NGO

“ที่ผ่านมา NGO อาจจะทำธุรกิจไม่เป็น หรือไม่หาแนวทางใหม่ๆ ในการระดมทุน จึงเลือกทำเสื้อออกมาขายทุกครั้ง แต่เมื่อแบบทรงหรือลวดลายไม่ทันสมัย ก็ขายไม่ได้ เราอยากหลุดจากกรอบความคิดเดิมว่า ‘เราเป็นคนดี เราทำเพื่อสังคม คุณต้องช่วยเรา’ 

“ถ้าเราอยากจะทำสินค้าพรีเมียม ของมันต้องดีตอบโจทย์เขา นี่เป็นการแลกเปลี่ยนกัน”

แม้ต้องใช้พลังและแรงกับการทำธุรกิจ แต่ตุ๊กก็ยืนยันว่าคุ้มค่าเพราะทำให้เธอมองโลกเปลี่ยนไป

การเติบโตแบบ NGO ทำให้ตุ๊กเติบโตมามีหัวใจแบบหนึ่ง ผนวกกับวิธีคิดแบบการตลาด ซึ่งไม่ได้ทำให้สิ่งที่เชื่อมา 20 ปีหายไป แต่ทำให้เธอแหลมคมทะลุทะลวงกว่าเดิม

“เรามั่นคงกับวิธีคิดว่าเราจะไม่เอาเปรียบคนอื่น สิ่งที่ทำอยู่พิสูจน์ให้เราเชื่อว่าการทำธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบคนอื่นมีอยู่จริง พิสูจน์ให้ทั้งภาคธุรกิจ ภาคกลุ่มคนทำงานเพื่อสังคมเห็นว่าโมเดลแบบนี้เกิดขึ้นได้”

5 เงินทุนสนับสนุน เงินจากการขาย

แม้ใครจะมองว่าตุ๊กถูกโลกทุนนิยมกลืนไปแล้วเพราะคิดทำอย่างธุรกิจ เธอบอกว่าไม่ได้คิดแบ่งแยก SE หรือ NGO แต่มองว่า SE คือเครื่องมือใหม่ของ NGO เพราะอนาคตไม่มีใครให้เงินกันง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว

ช่วงแรกคนจับปลาได้รับเงินสนับสนุนเพื่อพัฒนาระบบการทำธุรกิจจากโครงการต่างๆ มากมาย ก่อนจะตั้งมั่นและพิสูจน์ให้เห็นว่าคนจับปลายืดหยัดเป็นธุรกิจที่มีรายได้จากการขายและอยู่ได้จริง โดยเริ่มมีพาร์ทเนอร์จากภาคธุรกิจและสังคมที่คอยให้คำปรึกษาทำให้คนจับปลาเพิ่มช่องทางการขาย รวมถึงต่อยอดธุรกิจร่วมกันได้

“มาถึงจุดหนึ่ง คนจับปลาเราคิดร่วมกันว่าเราไม่อยากได้เงินสนับสนุนโครงการอีกแล้ว แต่อยากได้เงินลงทุน นั่นคือถ้ามีคนอยากนำเงินมาให้เรา เราอยากให้เขาเป็นพาร์ทเนอร์กันมากกว่า ตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้วเป็นต้นมาจนถึงวันนี้ พูดได้เต็มปากเลยว่าคนจับปลาเราอยู่ด้วยรายได้จากการค้าขาย แม้จะยังไม่เห็นกำไรมากนักในวันนี้ แต่ก็คิดว่าน่าจะไปต่อได้”

ตลาดหลักทรัพย์, SET, กิจการเพื่อสังคม

บริษัทจดทะเบียน

บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน)

คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) เล่าว่า เมื่อครั้งที่บริษัทจดทะเบียน เริ่มคุยเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ได้ให้นิยามที่แน่นอน ดังนั้นแต่ละคนจะตีความคำว่าสังคมแตกต่างกันไป

“เดิมในบริษัทจดทะเบียน เข้าใจคำว่าธุรกิจเพื่อสังคมในความหมายที่หนักไปทางเพื่อสังคม ก่อนจะเข้าใจชัดเจนว่าคือกิจการที่มีเป้าหมายทางสังคม ทำให้คิดถึงตอนที่เห็นเอสเอ็มอีเมื่อ 20 ปีก่อน หรือสตาร์ทอัพเมื่อ 4 ปีก่อน”

ตลาดหลักทรัพย์, SET, กิจการเพื่อสังคม

6 สำคัญที่ความจริงจังของผู้ประกอบการทางสังคมและฝ่ายสนับสนุน

ด้วยความเป็นเถ้าแก่ชำนาญการที่เข้าใจความคิดผู้ประกอบการ ผู้ซึ่งลงมือทำทุกอย่างกับมือจริงๆ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จึงชวน ผู้บริหารจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai (แหล่งระดมทุนสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) มาเป็นโค้ช ร่วมลงสนามจริงไปพร้อมกับ SE ในโครงการ “SET Social Impact Gym” ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การประกอบธุรกิจเพื่อพัฒนาศักยภาพ SE

“ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเจออะไรบ้าง อย่าว่าแต่น้องๆ เลย วันนี้สถานการณ์เปลี่ยน หลายบริษัทใหญ่ๆ เริ่มคิดหนักแล้วว่าจะใช้โมเดลแบบไหนรับมือสิ่งที่เกิดขึ้น สนามจริงไม่ได้สวยเหมือนในตารางเอ็กเซลหรือใน Business Model Canvas ความท้าทายก็คือการลงมือทำจริง”

มากกว่าความเข้าใจที่ถูกต้อง ทรงพลย้ำว่า สำคัญที่ความจริงจังของคนที่ทำและคนที่สนับสนุน

7 All You Need is Passion

“SE ส่วนใหญ่ไม่ได้เริ่มจากการเป็นผู้ประกอบการ แต่เริ่มจากความตั้งใจที่อยากจะช่วยให้คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยสารพัดวิธี” ทรงพลเล่าความประทับใจ ก่อนเปรียบเทียบผลจากแพสชันที่แตกต่างกันระหว่างธุรกิจเอสเอ็มอีและ SE ให้ฟังว่า

แพสชันในธุรกิจเอสเอ็มอี เวลารักธุรกิจนี้และอยากทำให้สำเร็จ พอทำไปถึงจุดหนึ่งแล้วไม่สำเร็จอย่างที่หวัง เขาจะเข้าใจ ขณะที่ SE มีแพสชันที่รุนแรงกว่า เพราะไม่ใช่การทำเพื่อตัวเอง

“เวลาที่ใครทำอะไรให้คนอื่นมักจะมีนัยสำคัญ มีความผูกพันที่รุนแรงกว่า ยิ่งเมื่อมีบริบทบางอย่างสนับสนุน เช่น มีคนหรือเงินทุนมาช่วยให้พอไปต่อได้ จึงประทับใจและน่าเป็นห่วงไปพร้อมกัน เพราะเวลาเราหลงรักสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกินพอดี มันจะไม่เห็นข้อเสีย หลายครั้งผมประทับใจความดื้นรันของบางธุรกิจมากเลยนะ ว่าทำไมยังไม่เลิกอีก”

ตลาดหลักทรัพย์, SET, กิจการเพื่อสังคม

8 ธุรกิจเพื่อสังคมไม่ได้ยั่งยืนด้วยคอนเซปต์ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของตัวเลข

สิ่งแรกที่โค้ชทุกคนพยายามทำคือ การเข้าไปนั่งในใจของผู้ประกอบการสังคมเหล่านี้ให้ได้ จากนั้นแต่ละคนจะมีวิธีการโค้ชที่แตกต่างกัน

“สิ่งที่ผมสอนเสมอคือ การชวนให้เขาเห็นว่าความจริงคืออะไร SE ที่ผมดูแลทำธุรกิจรีฟิล ตั้งเป้าหมายจะลดพลาสติกให้ได้ 1 ล้านชิ้น ด้วยวิธีการทำรถเคลื่อนที่ให้บริการเติมแชมพู สบู่เหลว ข้าว และอื่นๆ ผมมานั่งไล่ตัวเลขกับเขา คำนวณออกมาแล้วพบว่าสิ่งนี้จะทำให้ขยะหายไปเพียง 2 แสนชิ้นเท่านั้น ถ้าคุณอยากจะเป็น SE ที่ยั่งยืน เหล่านี้ต้องวัดด้วยตัวเลขได้ทั้งหมด ถ้าเราเข้าใจตัวเลข ที่เหลือไม่ยากเลย เราจะตอบได้หมดเลยว่าเราจะทำอะไร อย่างไร ที่ไหน กับใคร และเมื่อไหร่”

สำคัญคือ เราทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่า ความยั่งยืน หรือ Sustainable ไม่ได้เกิดจากคอนเซปต์ แต่เกิดจากสิ่งที่ทำ ซึ่งถ้าสิ่งนั้นไม่ก่อให้เกิดกำไร เราจะอยู่ไม่ได้

“ออกซิเจนสำคัญ เราต้องหายใจ ถ้าเราไม่มีออกซิเจนเราจะตาย แต่ถามว่าเราอยู่เพื่อหายใจมั้ย คำตอบคือไม่ เรามีเหตุผลมากมายในการมีชีวิตอยู่ แต่เราต้องหายใจ ออกซิเจนก็เหมือนกำไร บริษัทหรือธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ต้องทำกำไรเพื่อจะอยู่ให้ได้ แต่เราไม่ได้อยู่เพื่อกำไร เป็นคนละเรื่องกัน”

ถ้าเราเริ่มต้นด้วยความตั้งใจที่ดี แต่ตัวเราไม่รอด เราก็ช่วยอะไรใครไม่ได้

จริงอยู่มีคนช่วยเหลือบริจาค แต่ใครจะบริจาคทั้งชีวิต

“อย่าคิดเยอะ อยากทำให้ลงมือทำ ในวันที่ลงมือทำ คุณจะเจอ ‘ทำสำเร็จ’ กับ ‘ทำไม่สำเร็จ’ ทำไมทำไม่สำเร็จ เพราะมีปัญหา มีอุปสรรค เพราะฉะนั้น ต้องทำยังไง แก้ปัญหาใช่ไหม แก้ปัญหาหนึ่งก็จะเกิดอีกปัญหาหนึ่ง ไม่เป็นไร แก้อีก แก้ไปเรื่อย จนพบว่าวันหนึ่งปัญหาที่มีหมดลง และคุณมีธุรกิจ แต่ถ้านั่งคิดมันก็จะได้แค่คิด ผู้ประกอบการที่เจ๋งๆ คือคนที่แก้ปัญหามาเยอะๆ เจอประสบการณ์เยอะๆ มีบทเรียน มีความทนทานต่อทุกอย่าง” ทรงพลทิ้งท้ายคำแนะนำสำหรับ SE หรือคนรุ่นใหม่ที่สนใจทำธุรกิจ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

SET Social Impact

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้

นอกจาก SET จะเป็นองค์กรหลักในกลุ่มตลาดทุน มองหาและพัฒนาธุรกิจที่มีศักยภาพเข้าระดมทุน พัฒนาคุณภาพของธุรกิจ และผู้ประกอบการ อีกบทบาทที่ SET มีส่วนเกี่ยวข้องคือการพัฒนามนุษย์เชิงคุณภาพ

จากวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี 2540 ตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่าความรู้ทางการเงินและการลงทุนเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยใครหรือหน่วยงานใดทำเรื่องนี้อย่างจริงจังมาก่อน จึงเป็นที่มาของกิจกรรมส่งเสริมความรู้มากมายที่ทำมาตลอด 20 ปี ก่อนจะตามมาด้วยบทบาทในภาคสังคม ทั้งส่วนของจรรยาบรรณบริษัทและส่งเสริมกิจกรรมทางสังคมที่ทำมามากมาย จนพบว่า Social Enterprise คือคำตอบ

9 สร้างแหล่งรวมพลคนทำงานเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม

“เรามองหาแนวทางการทำงานเพื่อขยายผลลัพธ์ทางสังคม ที่ไม่ใช่การจ่ายเงินอุดหนุน แต่เป็นการทำงานร่วมกัน ซึ่งต่างจากการช่วยเหลือภาคสังคมที่ผ่านมา ซึ่งทำในลักษณะบริจาคหรือให้เงินทุนระยะสั้น เรามองเห็นความยั่งยืนจากการใช้ธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อน นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราสนใจ Social Enterprise หรือธุรกิจที่ต้องการแก้ไขปัญหาสังคม โดยใช้กระบวนการทางธุรกิจขับเคลื่อน จนเกิดเป็นระบบ และวัดผลได้ชัดเจน” นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เล่าที่มา

สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อพูดถึงภาคสังคม อะไรคือสิ่งที่ตลาดทุนพอจะช่วยได้

SET เริ่มจากสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม “SET Social Impact” ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงภาคธุรกิจและภาคสังคม เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงและขยายผลลัพธ์ที่ดีทางสังคมให้เกิดเป็นรูปธรรม

10 คนแปลกหน้าที่อยากเจอ

“เราเป็นคนแปลกหน้าในวงการนี้นะ ไม่แปลกที่คนภาคสังคมจะตั้งคำถามกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ‘คุณมาทำอะไรที่นี่’ เรามาด้วยความตั้งใจแรกที่เราอยากเห็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนจริงๆ เราอยากเป็นตัวอย่างการทำงานร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจและภาคสังคม”

แม้จะคุ้นเคยกับภาคธุรกิจมามากมาย แต่การทำงานกับ SE ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ปัญหาสังคมมีเยอะมาก สิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ให้คำจำกัดความหรือตัดสินความตั้งใจของเขา แต่สนใจในแง่การประกอบธุรกิจ เขาอาจจะช่วยชุมชน เกษตรกร ชาวประมง หรืออะไรก็ตาม แต่เขาต้องมีกลไกทางธุรกิจ ลงมือทำจริง สร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคมจริง ต่อยอดได้จริง”

นั่นคือ S: Social ต้องมาจากตัวตนของผู้ประกอบการทางสังคม ประกอบด้วย

หนึ่งคือ ความตั้งใจมั่นของผู้ก่อตั้ง

สองคือ วิธีการตีโจทย์ปัญหา เทคนิค และวิธีการแก้ไข รวมถึงการใช้กระบวนการทางธุรกิจมีความเป็นไปได้หรือเปล่า

“เช่น คุณมีความตั้งใจอยากช่วยเด็กพิเศษ สิ่งที่ถนัดและทำได้คือซื้อผ้าฝีมือเด็กมาออกแบบกระเป๋าขาย พอมาคุยกับเราซึ่งเห็นความเป็นไปได้ทางธุรกิจ เราก็แนะนำว่าน่าจะสร้างจุดแข็งด้วยการทำโครงการวิจัยที่พิสูจน์ว่ากิจกรรมผ้าทอบำบัดจะช่วยให้น้องๆ เด็กพิเศษมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคมที่ดีขึ้น”

สิ่งที่ SET ช่วยคือ E: Enterprise

11 ความจริงของโลกวันนี้

ที่ผ่านมามีหน่วยงานและองค์กรสนับสนุน SE ด้วยเงินทุนตั้งต้นมากมาย และกว่า 4 ปีที่เราเฝ้ามองความเป็นไปของธุรกิจเพื่อสังคม เราพบว่าสิ่งสำคัญคือ ทักษะผู้ประกอบการและการยอมรับความจริงของโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องคิดการใหญ่ เพราะการคิดทำอย่างธุรกิจ อาจจะเริ่มจากคำถามง่ายๆ อย่าง คนซื้อสินค้าและบริการเพราะสงสารหรือเพราะเป็นของมีคุณภาพน่าอุดหนุนและบอกต่อ

“การทำงานครั้งนี้เราต้องจูนกันระดับหนึ่งเลยนะ ทั้งฝั่งเราที่มีจอมยุทธ์ผู้ประกอบการจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และฝั่งสังคมมีกลุ่มคนทำงานที่มีหัวใจเพื่อสังคม เขาอาจจะคิดว่า “ฉันทำดีขนาดนี้ ทำไมมาบอกว่าธุรกิจฉันจะอยู่รอดปลอดภัยไม่ได้” โลกเขายิ่งใหญ่มากจริงๆ ให้เราย้อนเวลาไปตอนอายุเท่าพวกเขา เรานึกไม่ออกหรอกว่าเราจะทำอย่างนั้นได้หรือเปล่า ขณะที่ผู้ใหญ่ที่มาช่วยงานเราทุกคนยังอ้าปากค้างเลยว่าเด็กพวกนี้คิดและลงมือทำแบบนี้ได้ยังไง เขารู้สึกทึ่งนะ” นพเก้าเล่าปฏิกิริยาเมื่อจับทุกฝ่ายมาเจอกัน

ในการทำงานร่วมกัน นพเก้าเล่าว่าเธอจะฉายภาพภาพหนึ่งให้ทุกคนดูก่อนเสมอ ซึ่งคือภาพที่มองมุมหนึ่งเห็นเป็นเป็ด มองอีกมุมเห็นเป็นกระต่าย

“เราต้องการสื่อว่า มุมไหนก็ไม่ผิด คุณเห็นภาพแตกต่างกันได้ แต่คุณมีเป้าหมายเดียวกัน หลักใหญ่ใจความก็คือคุณต้องเปิดใจ ในโครงการ ‘SET Social Impact Gym’ เราไม่ได้ตัดสินว่าธุรกิจใดผิด ธุรกิจใดถูก แต่เราจะทำให้ SE มี journey ของความคิดที่เข้าใจการประกอบธุรกิจ ขณะเดียวกันผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนก็เรียนรู้ความกล้าที่จะสร้างนวัตกรรมจากผู้ประกอบการทางสังคม

“ธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้เขาคิดเพื่อคนอื่นก่อน นั่นทำให้ทุกคนอยากมาช่วยเพื่อให้เขายั่งยืน เมื่อมองกลับมาที่บริษัทของคุณเองล่ะ มีใครอยากมาช่วยแบบนั้นมั้ย” ช่างเป็นกุศโลบายการจับยักษ์ใหญ่มาเจอยักษ์เล็กที่ต่างสอนบทเรียนแก่กัน

12 รางวัลแด่คนช่างฝัน

ก่อนหน้านี้ SET เริ่มสนับสนุน SE จากระบบซื้อมาขายไป เพื่อสื่อสารกับผู้ประกอบการในตลาดทุน ให้รู้จักสินค้าและบริการทางเลือกที่มาจากความตั้งใจดี เช่น ปากกาที่มีนวัตกรรมย่อยสลาย หรือชวนให้รู้จักการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนชุมชนไปพร้อมกัน

ก่อนจะเริ่มจับคู่บริษัทจดทะเบียนและเครือข่ายเพื่อสังคมหาแนวทางร่วมกัน เช่น บมจ. เอ็ม บี เค สนับสนุนการจัดงาน ‘ผ้าเปลี่ยนโลก’ โดยให้พื้นที่ออกร้านแก่ 16 ธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำงานผ้าชุมชน ไปจนถึงการพัฒนาธุรกิจร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ชุมชนผาปัง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไผ่ที่มี R&D การเผาไผ่ให้มี Activated Carbon ซึ่งเป็นตัวกรองของเสียในโรงงานช่วยลดต้นทุนและลดการปล่อยมลพิษจากโรงงาน โดย SET นำเรื่องนี้ไปเล่าต่อจนทำให้ผู้บริหารทุกคนถึงกับอยากรู้และเดินทางไปดูถึงชุมชน

นพเก้าเล่าว่า “ปลายทางที่ SET และทุกคนที่เกี่ยวข้องอยากเห็นที่สุด คือ Co-creation หรือการทำงานร่วมกันซึ่งจะช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคมให้มากขึ้นไปอีก”

ตัวอย่างเช่น การที่ ‘คนจับปลา’ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม SET Social Impact เพิ่มโอกาสจับคู่ธุรกิจกับบริษัทจดทะเบียน เพื่อต่อยอดธุรกิจร่วมกัน สร้างโอกาสและขยายช่องทางการขายมากขึ้น

ในอนาคตจะสร้างพื้นที่พัฒนาต้นแบบหรือ Prototype Lab เปิดโอกาสให้ทดสอบไอเดียตั้งต้น หรือทดลองตลาดก่อนเข้าสู่กระบวนการธุรกิจจริง จะได้ไม่ไขว้เขวจนท้อแท้อย่างที่แล้วมา

“ที่พูดมาทั้งหมดอาจจะฟังดูโลกสวย แต่เราบอกทั้ง SE และ Expert ที่มาช่วยกันเสมอนะว่าอะไรก็เปลี่ยนแปลงได้ หากวันนี้ SE ที่มาเข้าร่วมจะเลิกเป็น SE แล้วไปประกอบธุรกิจในตลาดปกติก็ไม่ผิดอะไร เพราะชุดความคิดที่อยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อคนอื่นก็ยังคงมีอยู่เสมอ สุดท้ายแล้วคุณเป็น Good Business เราก็โอเคแล้ว” นพเก้าทิ้งท้าย

ตลาดหลักทรัพย์, SET, กิจการเพื่อสังคม

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ