6 พฤศจิกายน 2018
604
The Cloud X SC Asset

 

A road for cars becomes a road for people.

ความสำเร็จในการเปลี่ยนโฉมหน้าคลองช็องกเยช็อน (Cheonggyecheon Stream) ใจกลางกรุงโซล และแนวคิดสวนสาธารณะลอยฟ้า (Elevated, Linear park) จาก The High Line ของ New York สร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาพื้นที่ในเมืองหลายๆ แห่ง

เช่นเดียวกับ Seoullo7017 ที่ถูกเปลี่ยนโฉมจากสะพานยกระดับเหนือสถานีกรุงโซล (The Seoul Station Highway Overpass) ภายใต้การดูแลของ Seoul Metropolitan Government หน่วยงานกำกับดูแลการก่อสร้างของกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ที่ตัดสินใจเปลี่ยนสะพานยกระดับข้ามแยกที่ใช้งานมาเกือบ 50 ปี เป็นสวนสาธารณะทางเดินลอยฟ้าความยาวกว่า 1 กิโลเมตรขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพของเมืองและเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการเดินเท้าของผู้คน

Seoullo7017

 

01

ถึงเวลาเปลี่ยนภาพจำ

หลังสงครามเกาหลียุติลง ประเทศเกาหลีใต้เริ่มต้นชีวิตครั้งใหม่ด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่จะเอื้อความสะดวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งสะพานยกระดับ Seoul Station (The Seoul Station Highway Overpass) เส้นนี้ที่เปิดใช้งานในปี 1970 คือหนึ่งในนั้น ถูกออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมฝั่งตะวันออกและตะวันตกของบริเวณสถานีกรุงโซล (The Seoul Station) เพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นและความแออัดของการจราจร

นอกจากนั้น โครงสร้างขนาดใหญ่ของทางด่วนและความคดเคี้ยวทำให้สะพานยกระดับสายนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของกรุงโซล เป็นภาพจดจำแรกสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามา และเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำที่ผ่านร้อนผ่านหนาวของผู้คนในกรุงโซล

จนในช่วงปลายปี 1990 เกิดการถกเถียงถึงความปลอดภัยของสะพานยกระดับแห่งนี้ขึ้น ทั้งความสูงเพียง 17 เมตรจากพื้นดินและโครงสร้างเดิมที่มีการใช้งานอย่างยาวนาน ตลอดจนผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยใกล้เคียง ซึ่งลงเอยด้วยนโยบายปิดทางด่วนสายนี้ในปี 2006 พร้อมกับแผนการรื้อถอนทางด่วนเส้นนี้ออกไป ก่อนจะมีการเสนอให้พัฒนาเป็นสวนสาธารณะทางเดินลอยฟ้าในท้ายที่สุดภายใต้ชื่อ 서울로 Seoullo 7017

Seoullo7017

Seoullo7017

 

02

เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเมือง

สวนสาธารณะทางเดินลอยฟ้า Seoullo7017 เริ่มต้นโครงการปรับปรุงและก่อสร้างในปี 2015 และเปิดให้ใช้งานในเดือนพฤษภาคมปี 2017 ผ่านการออกแบบของ MVRDV บริษัทสถาปนิกจากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยคำนึงถึงการเข้าถึงการใช้งานพื้นที่ของผู้คนทุกคน ทั้งบันได บันไดเลื่อน ลิฟต์ และทางลาดสำหรับขึ้นลง ทั้งยังเชื่อมต่อกับทางข้าม ทางม้าลาย และจุดเปลี่ยนถ่ายแต่ละบริเวณอย่างต่อเนื่อง

นอกจากจะเป็นสวนสาธารณะสีเขียวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจและทำหน้าที่ทางเดินลอยฟ้าแล้ว ในแง่ของพืชพรรณ มีการรวบรวมพันธุ์ไม้กว่า 200 ชนิด จำนวนกว่า 24,000 ต้น พร้อมทั้งให้ข้อมูลพันธุ์ไม้ควบคู่กัน และในอนาคตยังมุ่งหมายให้สวนสาธารณะทางเดินลอยฟ้าแห่งนี้เป็นสถานที่หนึ่งในการอนุบาลและเลี้ยงดูแลกล้าไม้ใจกลายเมืองซึ่งสามารถขนย้ายไปปลูกในพื้นที่อื่นๆ ของเมืองต่อไปได้

Seoullo7017

ในเชิงการใช้งานกับบริบทโดยรอบ ทางเดินสวนสาธารณะทางเดินลอยฟ้า Seoullo7017 ช่วยทำหน้าที่เชื่อมสองฟากของพื้นที่ที่ถูกกั้นด้วยแนวถนนที่ขวักไขว่ด้านล่าง สร้างความเชื่อมต่อกับ 17 เส้นทางสู่สถานที่สำคัญใกล้เคียงเช่น Seoul Station Square บริเวณสถานีกรุงโซล (The Seoul Station) สถานี Hoehyeon บริเวณตลาดนัมแดมุน การเดินทางไปสู่ภูเขานัมซาน และย่านเมียงดง

Seoullo7017

นอกเหนือไปจากนั้นบนสวนสาธารณะทางเดินลอยฟ้าแห่งนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกตลอดแนว ทั้งศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์ คาเฟ่ มินิมาร์ท สวนหย่อม จุดชมวิว ตลอดจนเวทีขนาดเล็ก

 

    

03

เรียบง่ายและเต็มไปด้วยความหมาย

เมื่อมองสวนสาธารณะทางเดินลอยฟ้า Seoullo7017 ในมุมของภูมิสถาปนิกแบบเราคิดว่าในแง่ของการออกแบบ (Design) และรายละเอียด (Detail) อาจจะไม่ได้หวือหวาหรือที่ตื่นตาตื่นใจมากนัก ออกไปในทางเรียบง่าย สะดวกต่อการใช้งานและดูแลรักษา ซึ่งภาษาที่ใช้ในการออกแบบภาพรวมหลักๆ ที่เรารับรู้ได้คือการใช้วงกลม แสดงออกมาในองค์ประกอบต่างๆ บนสะพานอย่างสังเกตได้ชัดเจน

ส่วนในแง่ของการออกแบบพืชพรรณเราคิดว่าทำได้ดี เราเห็นถึงความหลายหลายของชนิดพืชพรรณที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วง ตลอดความยาวของสวนสาธารณะทางเดินลอยฟ้าแห่งนี้ ทั้งยังสอดคล้องกับความสามารถในการรับน้ำหนักของโครงสร้างในแต่จุด

การปลูกพืชพรรณบนสวนสาธารณะทางเดินลอยฟ้า Seoullo7017 ใช้วิธีการหล่อคอนกรีตวงกลมขึ้นมาเป็นกระบะปลูก ความสูงของแท่นคอนกรีตแตกต่างกันไปตามความต้องการดินปลูกของพืชพรรณแต่ชนิดนั้นๆ ทำให้บางจุดสามารถปรับเป็นที่นั่งวงกลมควบคู่กันไปได้ด้วย อีกทั้งด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นเป็นส่วนใหญ่ของกรุงโซล ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงามากนัก จึงเป็นข้อได้เปรียบในเชิงโครงสร้างที่ไม่ต้องรับน้ำหนักในการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่

Seoullo 7017 Seoullo 7017

 

04

ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

ก่อนจะไปเยือนสวนสาธารณะสอยฟ้า Seoullo7017 เราได้รับความเห็นจากเพื่อนที่เคยมาเยือนแล้ว ต่างให้ความเห็นว่าเฉยๆ บ้าง ไม่มีอะไรบ้าง ซึ่งวันที่เราเลือกไปก็เป็นวันธรรมดา ผู้คนใช้ชีวิตปกติ และไม่ได้มีกิจกรรมใหญ่ๆ เพื่อดึงดูดผู้คน ทำให้พบว่าที่นี่ไม่ใช่จุดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่ม Tourist เมื่อเทียบกับคลองช็องกเยช็อนที่แม้ไม่ได้จัดแสดงแสง สี เสียง ก็ยังมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปอยู่ตลอดไม่ขาดสาย

ซึ่งการเดินบนสวนสาธารณะทางเดินลอยฟ้า Seoullo7017 ในช่วงเวลาแบบนี้ทำให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งที่เรียบง่าย ผู้คนหลายช่วงวัยใช้พื้นที่บนสวนสาธารณะทางเดินลอยฟ้าแห่งนี้สัญจรไปมาและพักผ่อนหย่อนใจไปด้วยกัน

Seoullo 7017

เราเห็นเด็กเล็กๆ มากับพ่อแม่ มากับคุณครู ผู้คนวัยหนุ่มสาว พนักงานออฟฟิศเดินพูดคุยกัน รวมถึงผู้สูงอายุก็มาพบปะกันบนนี้ เป็นพื้นที่ผู้คนใช้เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมร่วมกัน

สำหรับเราเองนี่คือความธรรมดาที่เราประทับใจ การได้เห็นว่าพื้นที่นี้ถูกใช้งานแม้ไม่ต้องพยายามสร้างกิจกรรมใดๆ เพื่อเรียกคนให้หลั่งไหลเข้ามา แสดงให้เราเห็นถึงความยั่งยืนโดยไม่ต้องใช้ปริมาณคนเป็นตัวชี้วัด แต่กลับใช้ความสม่ำเสมอในการใช้งานเป็นตัวพิสูจน์ เราได้เห็นพื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้นและถูกใช้งานโดยผู้คนที่เป็นเจ้าของเมืองนี้อย่างแท้จริง

Seoullo 7017

                 

05

เก่าแต่เก๋า

อีกเรื่องที่เราสังเกตเห็นคือตลอดระยะทางเดิน เราจะพบคนดูแลที่เป็นคุณลุงคุณป้าวัยเกษียณ เราได้เห็นผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการให้บริการ และสามารถทำหน้าที่ต่างๆ ในสังคม เช่นเดียวกับอีกหลายสถานที่ในกรุงโซล นั่นหมายความว่านอกจากการให้งานและสร้างกิจกรรมที่เอื้อต่อผู้สูงอายุขึ้นแล้ว การออกแบบพื้นที่และบริบทในการใช้งานจะต้องไม่มีข้อจำกัดต่อผู้คนไม่ว่าช่วงวัยหรือสภาพร่างกายใดก็ตาม                   

Seoullo7017 คืออีกสถานที่ที่บอกเล่าการเปลี่ยนผ่านของกรุงโซล จากสะพานยกระดับข้ามแยกที่ทำหน้าที่เพียงแค่ต้องการเชื่อมสองฟากของถนน สู่ทางเดินสวนสาธารณะสีเขียวที่นอกจะเชื่อมการเดินเท้า ยังเชื่อมความสัมพันธ์และความเป็น ‘เมือง’ ให้กับผู้คนได้เป็นอย่างดี

เป็นคุณลุงทางยกระดับลอยฟ้าอายุ 50 ปีที่อยู่กับโซลมาเนิ่นนาน แต่ก็ยังพร้อมปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลง แบบนี้จะไม่ให้เรียกว่าเก่าแต่เก๋าได้ยังไง

Seoullo 7017

 

แนวคิดการออกแบบในเชิง Master Planning ของ Seoullo 7017 ถือเป็นการสร้างจุดศูนย์รวม (Node) ให้เกิดขึ้นในย่าน ส่งผลให้ราคาที่ดินโดยรอบสูงขึ้นกว่า 30% ก่อนจะขยายการพัฒนาออกไปแบบรัศมี

เรามีโอกาสได้ฟัง ดร.ชำนาญ ติรภาส จาก REDEK ศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หัวหน้าโครงการ ‘Neighbourhood Bangkadi’ (เนเบอร์ฮูด บางกะดี) โครงการที่อยู่อาศัยต้นแบบที่ตอบรับการเติบโตของชุมชนเมืองในอนาคต จากความร่วมมือกันระหว่าง SC Asset และภาควิชาการอย่าง REDEK ศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

Neighbourhood Bangkadi

“ประเทศไทยเป็นเมืองตัวเดี่ยวที่มีการกระจายเมืองออกไปโดยไม่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานมารองรับ และไม่การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ชัดเจน เมื่อชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ไกลจุดศูนย์กลาง จึงยิ่งทำให้เกิดการใช้รถเพื่อเดินทางมากกว่าเดิม

“Neighbourhood Bangkadi เป็นการสร้างย่านที่อยู่อาศัยที่ตอบรับการเติบโตของชุมชนเมืองในอนาคต เป็นการสร้างจุดศูนย์รวม (Node) เพื่อให้เป็นแหล่งงาน แหล่งการค้า ศูนย์กลางในแง่ต่างๆ ย่านนั้นอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้สามารถพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางไปส่วนอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพได้ง่ายขึ้น”

เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นไม่น้อย ที่เราจะมีโอกาสเห็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ทั้งคนในโครงการและชุมชนที่อยู่โดยรอบสามารถใช้ร่วมกันได้ และยังเป็นจุดศูนย์รวม (Node) ของย่านเกิดขึ้นแบบจริงๆ จังสักที

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการ Neighbourhood Bangkadi เพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer

Avatar

อติพร เกตุแก้ว

ภูมิสถาปนิกอ่อนหัดผู้อยู่ในโหมด Love-Hate แต่ยังคงให้เวลากับการหาคำตอบว่าแลนด์สเคปคืออะไร ใช้ชีวิตด้วยใบหน้าสดได้ แม้จะแต่งหน้าจัดเป็นบางวัน ชอบวาดรูปและคิดว่าทำได้ดี ฟังเพลง อ่านนิยาย แล้วก็ตามให้ทันเรื่องดราม่า เป็นงานอดิเรก