เทือกเขาหิมาลัย หรือสังเวชนียสถาน

2 สาเหตุหลักที่คนไทยเดินทางไปเนปาลคือการปีนเนินเทือกเขาที่สูงที่สุดในโลก ไม่ก็เดินทางไปลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า

แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายของเราในครั้งนี้

รถตู้วิ่งปุเลงๆ ออกนอกใจกลางเมืองกาฐมาณฑุ สู่วัดศรีประณิธิปูรณะมหาวิหาร คณะเดินทางซึ่งประกอบด้วยนักการทูตไทย เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง และฉันในฐานะผู้สื่อข่าว มาที่เนปาลเพื่อเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานมาทอดถวายในวัดพุทธ

กฐินพระราชทาน, เนปาล

กฐินพระราชทาน, เนปาล

แม้ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนเนปาลนับถือศาสนาฮินดู มีประชากรเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่นับถือศาสนาพุทธ แต่กิจกรรมกฐินของเรากลับอบอุ่นอย่างยิ่ง ชาวเนปาลและชาวไทยในเนปาลมากมายมารวมตัวเตรียมงานกันอย่างคึกคักเต็มวัดศรีประณิธิปูรณะมหาวิหาร

นโยบายการทูตแบบ Soft Diplomacy ทั่วไปอาจจัดขึ้นโดยใช้ศิลปะ การแสดง ดนตรี หรืออาหาร เป็นเครื่องมือ แต่การใช้พิธีการทอดกฐินหลังออกพรรษามาเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นนโยบายของเมืองไทยที่ไม่เหมือนประเทศใดๆ ในโลก ประเทศอื่นที่นับถือศาสนาพุทธเป็นหลักก็ทอดกฐินแต่ในประเทศตัวเองเท่านั้น

โครงการนี้เป็นการดำเนินการตามนโยบายการทูตวัฒนธรรมในการใช้ศาสนาซึ่งเป็นมิติหนึ่งของวัฒนธรรม เป็นสื่อในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีทั้งในระดับรัฐบาล และประชาชน

เรื่องราวการทูตด้านศาสนาพุทธนี้เริ่มต้นจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแพร่ขยายไปหามิตรประเทศทั่วเอเชีย

ผูกมิตรเพื่อนบ้าน

กฐินพระราชทาน, เนปาล

กฐินพระราชทาน, เนปาล

โครงการเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดพระพุทธศาสนาในต่างประเทศริเริ่มโดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศใน พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995)

“บริบทช่วง ค.ศ. 1995 คือสงครามเย็นเพิ่งสิ้นสุด เวียดนามเพิ่งถอนกองกำลังออกจากกัมพูชา จากตอนแรกที่แตกแยกกัน ประเทศในภูมิภาคนี้กำลังพยายามก้าวผ่านความขัดแย้งในอดีตและรวมตัวกัน เวียดนามเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 1995 เมียนมาและลาวเข้ามาในปี 1997 และกัมพูชาเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 1999”

นายภาสกร ศิริยะพันธ์ุ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและประธานเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานมาทอดถวายที่กรุงกาฐมาณฑุเล่าที่มาของนโยบายการทูตด้านศาสนา

กฐินพระราชทาน, เนปาล

“ท่านสุรินทร์เห็นว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีวัฒนธรรมคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา ลาว กัมพูชา ก็นับถือศาสนาพุทธเหมือนเมืองไทย น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น มีความเข้าใจกัน เชื่อมั่นซึ่งกันและกัน กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประชาชนมากขึ้น เลยริเริ่มโครงการเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายในวัดพระพุทธศาสนาในต่างประเทศขึ้นมา ซึ่งนอกจากช่วยกระชับความสัมพันธ์แล้ว ยังเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณและถวายเป็นพระราชกุศลแด่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา พร้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วย”

โครงการนี้เริ่มต้นที่กัมพูชา ลาว และเมียนมา ในปีแรก และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ความศรัทธาที่มีร่วมกันในศาสนาทำให้คณะผู้เชิญผ้ากฐินพระราชทานได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากประเทศที่ไปเยือน

กระทรวงการต่างประเทศจึงขยายโครงการไปสู่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก รวมทั้งหมด 13 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน ศรีลังกา อินเดีย บังกลาเทศ ภูฏาน และเนปาล โดยเมืองไทยเริ่มมาจัดกฐินพระราชทานในประเทศแห่งเทือกเขาหิมาลัยตั้งแต่ พ.ศ. 2551 และดำเนินการต่อเนื่องสม่ำเสมอ

รู้จักวัด รู้จักกัน

กฐินพระราชทาน, เนปาล

กฐินพระราชทาน, เนปาล

“พอเราออกไปทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนใกล้ชิดมากขึ้น รัฐบาลประเทศเหล่านั้นก็ไม่ได้คัดค้าน และสนับสนุนด้วยซ้ำไป เพราะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศใกล้ๆ มีทั้งประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเป็นประชากรหลัก และประเทศที่แม้ประชากรนับถือศาสนาอื่น

“แต่ก็มีประชาชนกลุ่มหนึ่งนับถือศาสนาพุทธ เช่นอินโดนีเซียที่ผมเคยอยู่เป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก คือ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่เขาก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่นับถือศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นคนอินโดนีเซียเชื้อสายจีนหรือคนไทยที่ไปตั้งรกรากที่นั่น คนเหล่านั้นก็มาร่วมกิจกรรมกับเรา

“รัฐบาลก็ให้เสรีในการจัดกิจกรรม ทั้งยังส่งรัฐมนตรีหรือผู้ใหญ่ของเขาที่นับถือศาสนาพุทธมาร่วมให้เกียรติด้วย เพราะประเทศแถบนี้มีข้าราชการระดับสูงที่นับถือศาสนาพุทธทั้งนั้น อย่างที่นี่รัฐบาลก็สนับสนุน ส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาดูแลความสะดวกเรียบร้อย”

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศยกตัวอย่างประสบการณ์ตรง

“การทอดกฐินคือการทำบุญให้วัดในท้องถิ่นซึ่งถือเป็นศูนย์กลางชุมชน ชุมชนรอบวัดก็ได้ประโยชน์ กฐินทำให้ชุมชนนั้นรู้จักประเทศไทยมากขึ้น ประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธในประเทศนั้นก็จะมาร่วมงานกับเรา ข้อสำคัญอีกอย่างคือเป็นการทำให้คนไทยที่อยู่ในประเทศนั้นๆ มีกิจกรรมร่วมกับสถานทูต เป็นกิจกรรมส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นของคนไทยในต่างประเทศ เป็นโอกาสดีที่พวกเขาจะได้มาทำกิจกรรมร่วมกันที่วัด”

กฐินพระราชทาน, เนปาล

กฐินพระราชทาน, เนปาล

ในวันเตรียมงาน เมื่อมองไปรอบๆ วัดที่เราอยู่ ชาวเนปาลมากมายรวมตัวกันทำความสะอาดวัด ผู้หญิงขัดประติมากรรมพระพุทธรูปหน้าวิหาร นำดอกไม้มาร้อยประดับ ส่วนผู้ชายติดตั้งซุ้มสำหรับแจกอาหารฟรีและนั่งสวดมนต์ ประธานเชิญผ้าพระกฐินอธิบายว่า คนเหล่านี้ทั้งหมดอาจไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่พวกเขามองว่าเราเป็นแขกที่เขายินดีต้อนรับ ชุมชนเนปาลสนับสนุนวัดโดยไม่ได้แบ่งแยก เพราะมีความเชื่อใกล้เคียงกัน และวัดที่เนปาลก็เป็นศูนย์กลางชุมชนจริงๆ

“ทุกประเทศเราพยายามเปลี่ยนวัดไปเรื่อยๆ เพื่อให้คนร่วมกิจกรรมกว้างขวางขึ้น และคนจะได้รู้จักประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลจะแนะนำวัดท้องถิ่นในแต่ละปี เกณฑ์คือวัดที่เลือกต้องเป็นวัดที่สมพระเกียรติในการทอดถวายกฐินพระราชทาน มีความเหมาะสมด้านสถานที่ มีจำนวนพระสงฆ์ที่จำวัดมากพอที่จะประกอบพิธีได้ มีความพร้อม และชุมชนรอบๆ ให้การสนับสนุนวัดด้วย”

ประโยชน์ของทุกคน

กฐินพระราชทาน, เนปาล

กฐินพระราชทาน, เนปาล

กฐินพระราชทาน, เนปาล

ในวันมงคลผู้หญิงเนปาลจะสวมชุดสีแดง

นี่เป็นสาเหตุให้ขบวนแถวหน้าวิหารยาวไปจนถึงถนนหน้าวัดเต็มไปด้วยผู้หญิงสวมส่าหรีสีแดงและทอง ถือดอกไม้ ผู้ชายถือธงเนปาลหลากสีมาต้อนรับคณะแห่ผ้าพระกฐิน

เมื่อเข้าไปในวัด ประธานเริ่มประกอบพิธี โดยมีพระพุทธิรัตนะมหาจัน เจ้าอาวาสวัดศรีประณิธิปูรณะมหาวิหาร พระสงฆ์ไทยในเนปาล ประชาชนชาวไทยและเนปาล ร่วมประกอบกิจกรรมทางศาสนากันเต็มวัด

กฐินพระราชทาน, เนปาล

กฐินพระราชทาน, เนปาล

กฐินพระราชทาน, เนปาล

กฐินพระราชทาน, เนปาล

ขั้นตอนทั้งหมดเรียบง่าย ใช้เวลาไม่นาน ด้านนอกอุโบสถ ชาวเนปาลจำนวนมากที่ไม่ได้เข้ามาในอาคารนั่งพนมมือสวดมนต์ตาม บรรยากาศขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์ สงบเย็น และน่าประทับใจ เมื่อเสร็จพิธี ชาวเนปาลท้องถิ่นไหว้สวัสดี และโบกมือลาเราพร้อมรอยยิ้ม

การได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินได้สร้างความปลื้มปิติและประทับใจให้กับรัฐบาลและประชาชนในประเทศผู้รับอย่างดียิ่ง อีกทั้งเป็นจุดร่วมของศรัทธาและก่อให้เกิดสำนึกร่วมทางวัฒนธรรมในหมู่ประชาชนของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน 

“ถ้าความสัมพันธ์ะหว่างประชาชนดี ใกล้ชิดกัน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็จะเข้มแข็งขึ้นด้วย ปัญหาที่จะลุกลามไปเป็นปัญหาระดับประเทศจะน้อยลง มันได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองด้วย เป็น Soft Diplomacy ให้ประชาชนใกล้ชิด เกิดความนิยมกัน ซื้อขายสินค้ากัน”

รองปลัดกระทรวงฯ กล่าวหลังออกจากวัด เมื่อเสร็จพิธีกรรมที่น่าประทับใจ

“นโยบายการทูตทางวัฒนธรรมคือการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันโดยไม่มีพรมแดนกั้น เพราะวัฒนธรรมหรือศาสนาไม่มีสูงต่ำ เราเท่ากัน นี่คือสมบัติที่เราแชร์ร่วมกัน แลกเปลี่ยนกัน ดังนั้น จึงไม่มีใครเกิดความรู้สึกต่ำต้อย ต่อให้มีความแตกต่างด้านอุดมการณ์การเมืองหรือแข่งขันด้านเศรษฐกิจกันก็ตาม”

นายภาสกรตบท้ายด้วยรอยยิ้ม แม้คณะเดินทางเราจะไม่ได้เยือนเทือกเขาหิมาลัยหรือไปสังเวชนียสถาน แต่เราได้รู้จักเนปาลมากขึ้นอีกระดับ

และที่สำคัญ เนปาลก็ได้รู้จักเราเหมือนกัน

กฐินพระราชทาน, เนปาล

Writer & Photographer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง