ตอนนี้มีเรื่องเล็กๆ ที่กำลังพูดถึงกันในกลุ่มคนเล็กๆ เกี่ยวกับการปรับปรุงถนนสายเล็กๆ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ช่วงระหว่างบ้านกร่าง-เขาพะเนินทุ่ง ระยะทาง 20.5 กิโลเมตร

เป็นเรื่องที่เล็กเกินกว่าคนส่วนใหญ่จะสนใจ และเล็กจนดูเหมือนไม่น่าจะส่งผลอะไรต่อโลกใบนี้

แค่ซ่อมถนนเล็กๆ ในป่าสายหนึ่งเท่านั้น

แต่นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

ถนนสายนี้กำลังจะฆ่าสัตว์ป่ามากมาย และกำลังจะทำลายผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์

โครงการนี้ได้รับการอนุมัติแล้ว ปิดถนนสายนี้แล้ว และกำลังจะเริ่มต้นปรับปรุงถนนสายนี้แล้ว

นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ คุณหมอนักอนุรักษ์ อยากอธิบายให้ทุกคนฟังว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นเรื่องที่คนไทยควรได้รับรู้ และควรจะทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยปกป้องสัตว์ป่า

ถนนที่พานักท่องเที่ยวไปสู่สถานที่สวยงามเป็นสิ่งที่ดี

แต่การได้ชื่นชมความงามที่ปลายทาง ไม่ควรต้องแลกด้วยชีวิตของสัตว์ป่าระหว่างทาง

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

 

01

ถนนเล็กๆ สายหนึ่งในอุทยานแห่งชาติ

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

ภาพ : Jaewcams Cholwanith

ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีจุดท่องเที่ยวและพักแรมที่ชื่อ ‘บ้านกร่าง’ เส้นทางจากที่ทำการอุทยานฯ ไปบ้านกร่างเป็นเส้นทางที่สะดวกสบาย นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าถึงได้โดยง่าย จากบ้านกร่างมีเส้นทางเล็กๆ อีกเส้นมุ่งหน้าไปยัง ‘เขาพะเนินทุ่ง’ ซึ่งเป็นจุดดูนก ชมวิวและทะเลหมอกที่สวยมาก ถนนสายนี้ตัดราวปี 2527 เริ่มจากเป็นทางดิน แล้วปรับมาเป็นทางลาดยางอย่างง่าย เป็นถนนเลนเดียว มีความกว้างราว 2 เมตร ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งาน เพราะยุคนั้นมีคนท่องเที่ยวธรรมชาติน้อยมาก และใช้วิธีกำหนดช่วงเวลาให้รถขึ้นอย่างเดียว ลงอย่างเดียว นอกจากนี้ทางกรมอุทยานฯ ยังใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ลำเลียงเจ้าหน้าที่ไปตระเวนตรวจพื้นที่ด้วย

พอเวลาผ่านไป พะเนินทุ่งก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่นักท่องเที่ยวก็ไม่ได้เข้าไปมากนัก เพราะถนนมีหลายช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อ จึงไม่เหมาะกับรถเก๋งและบิ๊กไบค์

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

 

02

ถนนเล็กๆ สายหนึ่งที่ผ่านบ้านของสัตว์ป่า

ถนนระยะทาง 20 กิโลเมตร จากบ้านกร่างไปเขาพะเนินทุ่ง เป็นเส้นทางที่ตัดผ่านป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ และที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก เพราะผ่านตั้งแต่ไหล่เขาถึงยอดเขา จึงพบสัตว์ที่หลากหลายบนทางสายนี้ตลอดสาย อย่างเช่นเสือดาว เสือดำ เลียงผา เก้งหม้อ หมาหริ่ง พังพอนกินปู และหมูป่า

 

03

ถนนเล็กๆ ที่กำลังถูกปรับปรุง

ถนนสายนี้ทรุดโทรมตามกาลเวลา และด้วยสภาพถนนที่บางช่วงเป็นทางน้ำผ่าน จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้ถนนได้ ทางกรมอุทยานฯ เจ้าของพื้นที่จึงอยากปรับปรุงถนนสายนี้ และด้วยความที่พะเนินทุ่งเริ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเพชรบุรี กรมอุทยานฯ จึงอยากจะอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าถึงได้ง่ายขึ้น การปรับปรุงครั้งนี้จึงปรับเปลี่ยนเส้นทางสายนี้ให้เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กมาตรฐาน กว้าง 4 เมตร ตลอดเส้นทาง 20.5 กิโลเมตร โครงการนี้ได้รับการอนุมัติแล้ว และเริ่มปิดเส้นทางสายนี้เป็นเวลา 2 ปีเพื่อปรับปรุงแล้ว

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

 

04

ถนนเล็กๆ แต่ผลกระทบไม่เล็ก

มีการประมาณการกันว่าถนนคอนกรีตเสริมเหล็กความกว้าง 4 เมตร ยาว 20.5 กิโลเมตร ที่ต้องผ่านลำธาร 3 แห่งสายนี้ จะใช้คอนกรีตราว 12,300 ลูกบาศก์เมตร ใช้รถคอนกรีตวิ่งไป-กลับ 5,000 เที่ยว รวมไปถึงเครื่องจักรกลหนัก รถแบ็กโฮ รถบดพื้นทาง รดฉีดน้ำ แผงกองไวร์เมช ฯลฯ อุทยานแห่งชาติจะได้รับผลกระทบมากมายในระหว่างการก่อสร้าง ทั้งเรื่องเสียง ฝุ่น และความบอบช้ำของสองข้างทางที่จะเกิดขึ้นตลอด 36 กิโลเมตร (รวมระยะทางตั้งแต่ทางเข้าจนถึงบ้านกร่างด้วย)

 

05

ถนนเล็กๆ ที่กำลังจะกลายเป็นสุสานสัตว์ป่า

ปัญหาสัตว์ป่าโดนรถชนเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการสูญเสียสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ภาพของเสือ แมวดาว เก้ง กวาง หมีควาย และสัตว์ขนาดใหญ่อื่นๆ ที่นอนตายอยู่บนถนนรอบเขาใหญ่ เป็นสิ่งที่พบเห็นกันได้ตลอดเวลา สมัยก่อนมีเส้นทางเข้าสู่เข้าใหญ่เพียงเส้นเดียวคือจากปากช่อง พื้นที่เขาใหญ่บริเวณปราจีนบุรีจึงมีสัตว์ป่าชุกชุม พื้นที่ริมถนนสายท้องถิ่นใช้เป็นจุดดูนกได้สบาย แต่พอมีการตัดถนนเส้นหลักเข้าสู่เขาใหญ่ทางปราจีนบุรี ก็แทบไม่พบสัตว์ป่าอยู่สองทางข้างอีกต่อไป ที่พอจะพบได้แทนก็คือ ซากของสัตว์ที่ถูกรถชน

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

ภาพ : จำลอง วิไลเลิศ

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

ภาพ : Thanee Thongngam

จากงานวิจัยของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดในภาคตะวันออกพบว่า มีสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังถูกรถชนตายบนทางหลวงสาย 3259 ซึ่งตัดผ่านป่ามากถึงปีละ 2,923 ตัว จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงว่าควรปิดถนนสายนี้หรือไม่

ในส่วนของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น รถขับเร็วขึ้น เสียงดังขึ้น ก็พบว่าสัตว์ป่าขยับห่างออกจากถนนสายหลักไปหลายร้อยเมตร

มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ช่วงที่เปิดอุทยาน (เทียบกับตอนปิดอุทยาน) สัตว์หลีกเลี่ยงการปรากฏตัว มีกิจกรรมในตอนกลางวันเพื่อหลบหลีกมนุษย์ แสดงให้เห็นว่า การสัญจรบนถนนที่พลุกพล่านมีผลต่อ วิถีชีวิตปกติของสัตว์ป่า ทำให้มันหากินลำบากขึ้น มีอัตราการเจริญพันธุ์ลดลง และมีโอกาสรอดชีวิต ดำรงรักษาเผ่าพันธุ์ลดลง

ถนนมีผลต่อความอยู่รอดของสัตว์ป่าทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่าที่เราคิด

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

ภาพ : Thanee Thongngam

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

ภาพ : อศิ บุญจิตราดุลย์
06

ถนนเล็กๆ ที่สัตว์คิดว่าปลอดภัย

คำถามที่หลายๆ คนสงสัยก็คือ ทำไมสัตว์ป่าที่อยู่บนถนนถึงไม่หลบรถ

คำตอบแรกคือ รถยนต์แล่นมาด้วยความเร็วเกินกว่ามันจะหลบทัน คำตอบถัดมาคือ ทั้งไฟหน้าและเสียงของรถทำให้มันตกใจ จนไม่รู้ว่าต้องวิ่งไปทางไหนถึงจะปลอดภัย หลายครั้งมันก็วิ่งหนีจากข้างทางมาโดนชนตายกลางถนนก็มี และคำตอบสุดท้าย สัตว์ป่าไม่ใช่หมาที่หากินอยู่ริมถนนสุขุมวิท มันไม่ได้คุ้นเคยกับรถยนต์ มันไม่รู้วิธีอยู่ร่วมกับรถยนต์ สัตว์บางตัวอาจจะเห็นรถยนต์ระยะประชิดครั้งแรก แล้วก็ไม่เคยได้เห็นอีกเลย เพราะต้องจบชีวิตลงตรงนั้น

ไม่ใช่แค่สัตว์ใหญ่เท่านั้นที่โดนชน แมลงจำนวนมากก็โดนรถชน ใครขับรถออกต่างจังหวัดบ่อยๆ คงเคยเห็นซากแมลงที่แห้งติดอยู่หน้ารถตัวเองกันมาบ้าง ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีพื้นที่ที่มีผีเสื้อจำนวนมากมากินดินโป่งอยู่ตามถนน ถ้ารถขับด้วยความเร็ว ผีเสื้อเหล่านี้ก็จะโดนชนเช่นเดียวกัน

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

ภาพ : Thanee Thongngam

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

ภาพ : Thanee Thongngam
07

ถนนเล็กๆ แบบนี้ล้อมรั้วได้ไหม

การล้อมรั้วกั้นสัตว์ไม่ให้ข้ามถนนไม่ได้ช่วยให้สัตว์ป่ามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น เพราะจะไปสร้างปัญหาใหม่ที่อันตรายกว่าแทน การกั้นรั้วไม่ให้สัตว์ข้ามถนนคือการแบ่งป่าออกเป็นส่วนเล็กๆ และจำกัดสัตว์ป่าให้อยู่แค่ภายในพื้นที่นั้น ขาดการติดต่อกับกลุ่มอื่น ต้องผสมพันธุ์กันเองภายในกลุ่ม ไม่เกิดการแลกเปลี่ยนทางพันธุกรรม อาจจะขาดแคลนอาหารและน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์ป่าจำนวนมากกำลังตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์

พูดให้เห็นภาพมากขึ้นก็คือ เรามีอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ แต่ผืนป่าทุกแห่งไม่ได้เชื่อมต่อกันเลย สัตว์ป่าก็เหมือนติดเกาะที่ล้อมด้วยทะเลมนุษย์ การกั้นถนนจึงเป็นการปิดกั้นโอกาสรอดของสัตว์ป่า ถ้าอธิบายให้เห็นภาพขึ้นไปอีกก็คือ ชะนีเป็นสัตว์ที่เคลื่อนที่ด้วยการโหนไปตามเรือนยอด ไม่เดินด้วยเท้า ดังนั้น การตัดถนนที่มีระยะห่างเกินโหนข้ามได้ ก็คือการจำกัดพื้นที่อยู่ของชะนีนั่นเอง

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

ภาพ : รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

ภาพ : Jaewcams Cholwanith

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

ภาพ : Thanee Thongngam

 

08

ถนนเล็กๆ ในต่างประเทศแก้ปัญหานี้ยังไง

ประเทศที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ เขาจัดการปัญหาเรื่องการตัดถนนผ่านป่า 3 วิธี

หนึ่ง เริ่มจากการวางแผนให้ดี เขาจะเลี่ยงไม่ตัดถนนผ่านไปที่ใจกลางป่าหรือจุดที่มีสัตว์ป่าชุกชุมตั้งแต่แรก

สอง ออกแบบกลไกให้รถขับช้าลง อาจจะเป็นลักษณะทางกายภาพของถนน สิ่งกีดขวาง การออกมาตรการต่างๆ รวมไปถึงการบังคับใช้อย่างเข้มงวด

สาม ทำทางลอดหรือทางข้ามให้สัตว์ป่าข้าม ซึ่งได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ตอนนี้ประเทศไทยก็กำลังทำอุโมงค์ทางข้ามให้สัตว์ป่าบนทางหลวงสาย 304 ช่วงระหว่างกบินทร์บุรี-ปักธงชัย ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

ภาพ : Lar Chongrum
09

ถนนเล็กๆ สายนี้เราควรดูแลมันอย่างไร

ทางออกที่ดีที่สุดที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กับป้องกันผลกระทบต่อสัตว์ป่าจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไปก็คือ ซ่อมถนนสายนี้เฉพาะจุดที่มีปัญหา จุดไหนเป็นทางลาดชันมีน้ำเซาะไหล่ทางก็ซ่อมแซมทำทางระบายน้ำ แต่โดยรวมยังคงลักษณะผืนป่าแบบเดิมเอาไว้ เพื่อให้สัตว์ป่ายังคงใช้ถนนสายนี้ได้

ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไม่มีรถขับเคลื่อนสี่ล้อแต่อยากไปสัมผัสความงามของพะเนินทุ่ง ทางอุทยานฯ ก็ควรทำระบบรถรับส่ง เช่นเดียวกับอุทยานแห่งชาติหลายแห่งที่ไม่ให้ใช้รถส่วนตัว แต่ต้องเข้าไปด้วยรถของส่วนกลาง ผ่านระบบจอง เป็นการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ไปในตัว

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

 

10

ถนนเล็กๆ สายนี้สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร

การกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์อย่างอุทยานแห่งชาติ แม้ว่าเราจะยอมให้มนุษย์เข้าไปทำกิจกรรมนันทนาการในพื้นที่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า การใช้งานของมนุษย์จะอยู่เหนือเป้าหมายสูงสุดอย่าง การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ต้องมีการแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน จุดไหนมีสัตว์ป่าชุกชุม ต้องไม่ให้คนเข้าไปรบกวน

ปัญหาสัตว์ป่าโดนรถชนชวนให้เราตั้งคำถามว่า เราควรจะใช้พื้นที่เพื่อการนันทนาการของมนุษย์ หรือใช้เป็นบ้านของสัตว์ป่า ซึ่งหมายถึงการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้ยังคงอยู่ต่อไปบนโลกใบนี้

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเข้าถึงทุกที่ในโลกก็ได้ ถ้าเราไปดูทะเลหมอกที่พะเนินทุ่งไม่ได้ เราก็ยังไปดูทะเลหมอกที่อื่นได้ แต่สัตว์ป่าไม่มีทางเลือกมากเท่าเรา มันมีบ้านแค่แห่งเดียวเท่านั้น ถ้ามันรู้สึกไม่ปลอดภัย จะให้หนีไปอยู่ที่ไหน

มนุษย์ยังมีที่ให้ไปเที่ยวอีกหลายที่ แต่บ้านของสัตว์ป่าหลายตัวเหลือแค่ที่เดียวเท่านั้น

แก่งกระจาน, ปรับปรุงถนน

ภาพ : อศิ บุญจิตราดุลย์

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป