16 มิถุนายน 2018
70 K

สายๆ วันอังคาร เรามีนัดกับ ปั๋น-ดริสา การพจน์ หรือรู้จักในนามปากกา ‘Riety’ สาวผู้มีความสุข และมอบความสุขผ่านผลงานภาพวาดสีน้ำของเธอ

เราคุ้นตาผลงานของเธอผ่านสื่อที่นำเสนอเกี่ยวกับนักวาดภาพประกอบที่น่าจับตามองต่างๆ แล้วเราก็นึกขึ้นได้ว่า ลายเส้นแบบนี้ เธอคือผู้ที่วาดสาวๆ ในจักรวาลหนังของเต๋อ นวพล หรือโปสเตอร์หนังเรื่อง The Square เวอร์ชันไทยที่เราชอบ

ตอนนี้เธอกำลังจัดนิทรรศการชื่อ Vein/Vain ที่ Daydream Believer พหลโยธิน 12 ซึ่งงานศิลปะที่จะจัดแสดงในงานนี้มี ‘เลือด’ เป็นส่วนประกอบในการสร้างงาน

ใช่, เลือดมนุษย์นั่นแหละ

วันที่นัดพบกัน ปั๋นแต่งตัวโทนน้ำตาลอุ่นๆ หมวกเบเรต์สีน้ำตาลเหมือนลูกเกาลัดโปะอยู่บนหัว เหมาะกับร้านที่เรานัดหมายราวกับคิดมาแล้วว่ารูปที่ถ่ายจะต้องออกมาเป็นฟีลเหมือนท่องอยู่ท่ามกลางป่าเวทย์มนต์ในนิทาน

แล้วเราก็เริ่มคุยกันเหมือนกับแก๊งสาวๆ ที่นัดกันที่ร้านกาแฟ ท่ามกลางกลุ่มแม่บ้านญี่ปุ่นที่คุยกันออกรสอยู่ด้านหลัง

'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain

วาดด้วยไขสันหลัง

“เราเคยดู live ที่ปั๋นวาด แล้วก็สงสัยว่าปั๋นวาดไปพูดไปได้ยังไง” เราถามสิ่งที่สงสัยมากจนต้องมาถามกับเจ้าตัวตอนที่ได้เจอกัน

“นั่นสิ แต่ไม่ได้รู้สึกลำบากเลยนะ เราว่าเราวาดด้วยไขสันหลังแล้วเราพูดด้วยสมองมั้ง” ปั๋นตอบพร้อมหัวเราะ เธอเล่าว่าเธอเริ่มวาดรูปตั้งแต่เด็ก ประมาณกี่ขวบก็จำไม่ได้แล้ว เริ่มมาก็วาดรูปเลย

“สำหรับเราการวาดรูปมันเหมือนหายใจ คนเราต้องหายใจ เราก็ต้องวาดรูป เวลาวาดรูปเรารู้สึกเหมือนมีฟองสบู่บับเบิลอยู่รอบตัวเอง แล้วทุกอย่างก็ไม่สำคัญอีกแล้วนอกจากการวาดรูป

“ทั้งเรื่องที่กังวล เรื่องข่าว เรื่องสถานการณ์โลก คือเราจะมีความรู้สึกว่าโลกนี้มันจะล่มสลายตลอดเวลา แต่ถ้าวาดรูปอยู่เราก็จะไม่รู้สึกถึงอะไรแบบนั้นแล้ว” ปั๋นพูดถึงความรู้สึกระหว่างการวาดรูป

นอกจากเป็นศิลปิน เธอยังคล้ายเป็นนักทดลอง

'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain

ในนิทรรศการเดี่ยวของปั๋นที่ชื่อ Vein/Vain นอกจากรูปวาดแล้วก็มีงานศิลปะอย่างอื่นอีก เช่น รูปถ่ายหรือศิลปะจัดวาง แต่เธอก็บอกเราว่ายังอยากให้การวาดเป็นเรื่องหลัก แต่แค่อยากเพิ่มอะไรเข้ามาในงานวาดของ พร้อมแอบเพิ่มเติมว่ามีไอเดียอยากจะทดลองใช้สีด้วยปฏิกิริยาทางเคมี เช่น เอาเหล็กมา Oxidite แล้วเอาสีจากผลลัพท์ที่ได้มาใช้

“จริงๆ การทดลองพวกนี้เราทำมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยเปิดเผยมัน เราไม่กล้าให้คนดู เพราะเราเป็น Perfectionist มากๆ คือถ้างานไม่ได้คิดคำนวณมาแล้วว่าอันนี้คนน่าจะชอบ เราจะไม่ค่อยกล้าโชว์ การทดลองมันครึ่งๆ กลางๆ มีทั้งสำเร็จ ไม่สำเร็จ ซึ่งก่อนหน้านี้เราจะไม่กล้าให้คนดูถ้าผลการทดลองไม่สำเร็จ แต่ตอนนี้ก็กล้าขึ้นแล้วนะ”

เมื่อพูดถึงการทดลอง ก็อดสงสัยในฐานะคนที่ชอบงานศิลปะไม่ได้ว่าปั๋นคิดอย่างไรกับศิลปะแนวทดลอง

“เราว่ามันดีนะ มันเป็นวิวัฒนาการของศิลปะ เราว่าถ้าอะไรที่ไม่มีการวิวัฒนาการมันก็จะตาย พอทำการทดลองมันจะมีทั้งสิ่งที่เวิร์กแล้วก็ไม่เวิร์ก แต่สิ่งที่เวิร์กมันจะทำให้เราค้นพบอะไรใหม่ๆ เราว่าศิลปะมันคือแขนงหนึ่งของความบันเทิง เราต้องจุดพลุเพื่อเรียกคนตลอดเวลา การที่เรากล้าทดลองอะไรแล้วมันดี เราว่ามันต่อชีวิตให้กับศิลปะ” เธอตอบ

วาดรูปเหมือนทำอาหาร

ปั๋นบอกว่าการเป็น Perfectionist มีทั้งข้อดี ข้อเสีย

ข้อดีก็คือ ถ้างานไม่ดีก็ไม่กล้าที่จะปล่อยออกมา ทำให้เป็นการรักษามาตรฐานไปในตัว และก่อนหน้านี้เธอเป็น Commercial Artist การโหยหาความสมบูรณ์แบบทำให้เธอทำงานกับลูกค้าได้ดี เพราะเธอจะ Approve ตัวเองอยู่แล้วก่อนส่งงานให้ลูกค้า

“ส่วนข้อเสีย หลักๆ ไม่ใช่กับงานหรอก แต่เป็นกับชีวิตเรามากกว่า มันทำให้เราเครียดมากเกินไป ทำให้สุขภาพจิตไม่ดี” คือสิ่งที่เธอพูดทิิ้งเอาไว้ ก่อนเราจะถามเรื่องความแตกต่างของการทำงานแบบ Commercial กับการทำงาน Fine Art

“เราว่าชัดเจนที่สุดตรงที่ Commercial เราทำเพื่อคนอื่น ก่อนทำ เราต้องคิดมาก่อนว่าจะขายได้มั้ย เราทำเพื่ออะไร ลูกค้าเราเป็นใคร แต่พอมาทำงานส่วนตัว เอาจริงๆ เราก็ไม่รู้จะเรียก Fine Art ดีรึเปล่านะ เราว่าเราทำเพื่อตัวเองมากขึ้น มันเป็นงานที่อยากทำจริงๆ เราก็เลยทำโดยที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นๆ มันก็สดชื่นดีเหมือนกัน”

เธอเล่าว่าหลังๆ ที่ทดลองอัดวิดีโอแล้วเผยแพร่ลงช่องทางออนไลน์เป็นเพราะเธอมองว่าศิลปะไม่ได้เป็นแค่รูปที่เสร็จแล้ว แต่ขั้นตอนการทำงานก็เป็นศิลปะด้วย

“เราเห็นว่าคนก็ชอบดูนะ มันดูเพลินๆ เราเองก็ชอบดูคนอื่นวาด มันบำบัดนิดๆ ด้วยนะ เวลาดูแล้วเรารู้สึกสบายใจจังเลย”

“นั่นสิ เหมือนเราผูกพันกับกระบวนการนั้นด้วย” เราแสดงความเห็น

“ใช่ๆ เหมือนเห็นมันค่อยๆ เติบโต งานนิทรรศการเรา กระบวนการก็ถือเป็นงานศิลปะด้วย” ปั๋นตอบ

หากสังเกตงานของปั๋นตั้งแต่วันแรก เราจะเห็นการพัฒนามาเรื่อยๆ เราเลยถามถึงแรงบันดาลใจในการพัฒนานั้นของเธอ

'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain 'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain

“คงเพราะว่าเรา…” ปั๋นเงียบไปสักพัก ก่อนจะยิ้มกว้างแล้วตอบว่า “เป็นคนมีความฝัน เรามีความฝันว่าอยากจะเป็นศิลปินที่สร้างงานแนวหนึ่งขึ้นมา แล้วงานแนวนั้น Define ยุคนั้น มันเหมือนเป็น Movement อะไรสักอย่างในศิลปะ ฟังดูยิ่งใหญ่มากเลย (หัวเราะ) แล้วเราชอบทดลองด้วย ก็เลยลองอะไรไปเรื่อยๆ เพราะเราขี้เบื่อ คือจะมีศิลปินบางคนที่ทำเทคนิคเดียวมาเป็นสิบปี แต่เราทำไม่ได้ เรารู้สึกว่าศิลปะเป็นงานฝีมือของเรา ก็อยากจะคราฟต์งานฝีมือนี้ให้ดีที่สุด ประณีตที่สุด ถ้าเป็นอาหารก็อยากให้อร่อยที่สุดเหมือนจิโร่ซูชิ อยากให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป”

เธอว่าเธออยากให้งานของตัวเองเล่าเรื่องได้ ทั้งเรื่องที่ปรากฏบนภาพ และ Underlying Message (เรื่องที่อยู่ข้างใต้ภาพ) อยากเน้นคอนเทนต์ในงานมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้งานของเธอจะเป็นแบบ ‘สวย-จบ’

“การสื่อสารด้วยภาพจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะมันไม่มีตัวอักษรมาอธิบาย เราเป็นคนที่ชอบอธิบายด้วยตัวอักษร เราชอบเขียนหนังสือ เขียนบทความ แต่รูปเรา เราไม่อยากต้องเขียนอธิบายอะไรเลย เราอยากวาดไปแล้วคนเก็ตว่า อ๋อ เรื่องมันเป็นแบบนี้นะ ส่วน Underlying Message เราอยากไปค้นคว้าเพิ่มเติม อยากให้มันออกจากกรอบความเป็นภาพประกอบมากขึ้น”

ผู้หญิงถึงพู่กัน

เท่าที่สังเกต เราเห็นปั๋นวาดผู้หญิงเยอะ อย่างในซีรีส์  Wicked Grace เธอก็เลือกวาดแต่ตัวละครที่เป็นหญิงแกร่ง

เธอเล่าว่าเวลาจะวาดอะไร เธอต้องชอบสิ่งนั้นประมาณหนึ่ง

'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain

“เราไม่แน่ใจว่าเราเป็นเฟมินิสต์รึเปล่านะ แต่ด้วยความที่ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเป็นเหมือนเบี้ยล่างนิดหนึ่ง คนไม่ค่อยคาดหวังว่าผู้หญิงจะทำอะไรได้มากกว่าที่สังคมบอกให้ทำ ใช้ชีวิตอยู่ ทำประมาณนี้ก็พอแล้ว ถ้าตามนิยายจีนโบราณ ผู้ชายถ้าไม่เก่งบู๊ ก็ต้องเก่งบุ๋น หรือเก่งทั้งสอง ส่วนผู้หญิงก็ไม่ต้องเก่งอะไร แค่สวยๆ อยู่เป็นเมียนักรบไปก็พอแล้ว แล้วพอผู้หญิงทำอะไรได้เกินความคาดหมายก็จะเกิดความเซอร์ไพรส์ขึ้นมา ซึ่งมันไม่ใช่แค่ ‘เขาเก่งจังเลย’ แต่เขาต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษถึงจะโผล่ขึ้นมาได้ พวกผู้หญิงในประวัติศาสตร์ถ้าไม่ได้แต่งงานกับคนสำคัญหรือเกิดมามีฐานะที่สำคัญอยู่แล้ว ก็ยากมากที่คนจะสนใจบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ ดังนั้น ผู้หญิงที่ได้รับการบันทึกในประวัติศาสร์ต้องเก่งจริงๆ” ปั๋นอธิบายเหตุผลที่เธอเลือกวาดผู้หญิง

เมื่อถามถึงผู้หญิงที่มีความสามารถในนิยามของปั๋น เธอว่าต้องเป็นผู้หญิงที่สามารถเอาตัวรอดในโลกนี้โดยที่ยังรักษาความต้องการส่วนตัวและความเป็นตัวเองได้อยู่ ไม่สูญเสียความเป็นตัวเองไป ในบริบทของสังคม ในบริบทของเพศ ในบริบทของความคาดหวังทางเพศ

ส่วนไอดอลในการทำงานของปั๋นคือ Hiromu Arakawa เจ้าของผลงาน Full Metal Alchemist

“นี่คือการ์ตูนที่เราชอบตลอดกาล เราชอบที่เขาไม่ได้มีพื้นเพทางศิลปะ เขาเป็นชาวนา แต่เขาชอบศึกษาประวัติศาสตร์ ซึ่งกลั่นมาเป็นการ์ตูนของเขา มีคำพูดหนึ่งที่เราชอบมากของเขาคือ ‘คนที่ไม่ทำงานก็ไม่ต้องกินข้าว’

“คือเราชอบคนทำงาน เลยรู้สึกว่า นี่แหละ ใช่เลย”

'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain

Vain เวร

หลังจากชวนคุยเรื่องชีวิตที่ผ่านมา เราก็วกมาคุยเรื่องนิทรรศการที่กำลังมาถึง

ศิลปินสาวเล่าว่าตอนแรกนิทรรศการ Vein/Vain จะใช้ชื่อ Blood and Tone แต่ก็เปลี่ยน เพราะเห็นมีเลือดอยู่ในงานอยู่แล้ว มันคงไม่น่าดึงดูดเท่าไหร่ เลยเปลี่ยนเป็น ‘Vein’ ที่แปลว่าหลอดเลือด ส่วน ‘Vain’ หรือ Vanity ที่แปลว่า ความงาม ที่ออกมาในเชิงความว่างเปล่า ไร้แก่นสาร

'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain

“เวลาคนเห็นน้องๆ ผู้หญิงพวกนี้ก็จะชอบคิดว่า มันต้อง Vain ว่ะ พวกนี้คงจะขลุกอยู่แต่กับความสวยของตัวเอง ไม่สนใจอะไร ใช้ความสวยหากินไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรดีนอกจากหน้าสวย ซึ่งไม่จริงเลย เพราะน้องทุกคนที่เราเลือกมา จริงๆ แล้วมีความสามารถ บางคนเป็นนักร้อง บางคนเป็นนักปั้นน้ำตาล บางคนเป็นนักเขียน เราอยากให้คนมองข้ามแค่หน้าสวยไป คำว่า Vanity ความจริงเป็นคำด้านลบนะ แต่ว่าตัว V อยู่ด้วยกัน 2 ตัวแล้วมันสวย” ปั๋นหัวเราะคิกคัก พลางบอกว่าเป็นปัญหาของดีไซน์ด้วย แต่นั่นก็เพราะเธออยากให้มองข้ามความ Vanity ไป

ดังนั้น มาตรฐานของแบบที่เธอเลือกมาวาด นอกจากจะเป็นคนที่สนิท คุยได้ ไปขอเลือดเขาได้แล้ว เขาต้องเป็นคนที่มีทำอะไรสักอย่าง ไม่ใช่สวยเพียงเปลือกนอก แต่ต้องมีเรื่องให้เล่า เป็นคนที่เธอรู็สึกเชื่อมโยงถึงกันได้ จะได้รู้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร แล้วก็มีสเน่ห์ในแบบที่เธอชอบ

Vein ไม่วีน

เมื่อถามว่าทำไมเธอถึงเริ่มต้นทำนิทรรศการนี้ เธอก็ตอบทันทีว่า “อยากทำ” ก่อนจะถามเบาๆ ว่า “ตอบแค่นี้ได้มั้ย

“คือเราอยากทำเพราะชอบทดลอง อยากลองว่าจะเป็นอย่างไร ก่อนหน้านี้เราชอบน้องคนหนึ่งมากๆ เลยอยากเอาเลือดเขามาวาด เรารู้สึกว่าเป็นโปรเจกต์ที่มีไม่กี่คนที่คนจะกล้าทำอะไรแบบนี้ได้ คือการเอาเลือดมาวาด บางคนรู้สึกว่า ไม่เอาดีกว่า เดี๋ยวคนหยึย”

'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain 'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain

เธอเล่าว่าตอนนั้นเธอไปโรงพยาบาล ต้องนอนให้น้ำเกลือ แล้วอยู่ๆ น้ำเกลือหมด เลือดเลยไหลย้อนขึ้นไป ระหว่างที่มองเลือด เธอก็คิดในใจว่าเลือดนั้นเหมือนสี มีตัวที่ให้ Pigment สีนั้น พอผสมน้ำสีก็จางลงๆ เมื่อออกจากโรงพยาบาลเธอจึงรีบบึ่งไปร้านขายยา ซื้อเข็มฉีดอินซูลิน เพราะเป็นเข็มเดียวที่มีขายที่ร้านขายยา แล้วเธอก็กลับบ้านมาเจาะเลือด และวาดรูปตัวเองเป็นรูปแรก แล้วก็ส่งให้น้องคนที่เธออยากวาดได้ดูเป็นต้นแบบ

“ไม่กลัวเลยเหรอ” เราถาม เพราะการเจาะเลือดเองมีความเสี่ยงสูง

“ไม่เลย ตอนนั้นเราอยากลองมากกว่า” เธอตอบอย่างมั่นใจ

'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain 'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain

ซึ่งคำตอบที่เธอได้รับกลับมาจากคนที่เธออยากวาดคือ ตกลง งานศิลปะที่ใช้เลือดสร้างงานจึงเริ่มขึ้น ปั๋นก็นัดพยาบาลมาเจาะเลือดน้องผู้ยอมเป็นแบบ

“คือทุกคนนอกจากตัวเราที่ลองเจาะเอง พยาบาลจะเป็นคนเจาะเลือดให้หมด เพื่อความปลอดภัย” เธอบอก “น้องคนแรกนิ่งมาก ไม่บ่น ไม่งอแง อย่างคนอื่นๆ จะมีคนที่ถามว่า ‘ต้องเจาะจริงๆ เหรอ โอ๊ยๆ’ เขาก็กลัวบ้าง แต่คนแรกไม่กลัว พอน้องมาถึงเราเห็นว่าน้องไม่กลัว

“แต่พอเอาเข็มเจาะแล้วเริ่มดูด น้องก็เริ่มเอามือมาปิดหน้า แล้วก็เป็นลมตกเก้าอี้แบบไปเลย” พอปั๋นเล่าถึงตรงนี้เราก็หัวเราะปนเห็นใจไปด้วยกัน

รีดเลือดออกมาดู

“ตอนแรกเราเก็บตัวอย่างมาทั้งเลือด น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย และฉี่” ปั๋นเล่า

“แต่เลือดเป็นอย่างเดียวที่ไม่หมดอายุ แล้วก็ใช้งานง่าย ใช้งานได้จริง อย่างฉี่ หนึ่งเลยคือ กลิ่นไม่ดี (ปั๋นทำหน้าแหย) ตอนทำแล้วรู้สึกทรมาน สองคือ พอแห้งมันไม่สามารถเพิ่มชั้นขึ้นไปได้ เทียบกับเลือดแล้ว มันสร้างเลเยอร์เป็นชั้นๆ ได้ มีความชัดเจนมากขึ้น มันมีลักษณะคล้ายสีจริงๆ ก็เลยเลือกใช้เลือด พอได้เลือดมาแล้ว พยาบาลเขาจะผสมสาร EDTA เข้าไปในเลือดเพื่อคงสภาพเลือดเอาไว้ เราคิดว่านั่นทำให้เอามาวาดง่ายด้วย เพราะเลือดจะไม่หมดอายุไว”

ศิลปินสาวบอกว่านอกจากเป็นความสนใจส่วนตัว เธอยังรู้สึกว่าเลือดเป็นสิ่งที่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวของคนคนนั้นอยู่ มันมีดีเอ็นเออยู่ การใช้เลือดเป็นส่วนประกอบจึงเปรียบเสมือนกับการสามารถโคลนนิ่งผู้เป็นแบบเหล่านี้ออกมาได้ด้วยเลือดของเขา

'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain

“เหมือนเราจับเอาตัวตนของเขา ณ ตอนนั้น มาใส่ไว้ในรูป มันพูดถึงเรื่องเวลาด้วย เป็นตัวเก็บความสาวของพวกเขาด้วย คือถ้าผ่านไป 40 – 50 ปีมาเจาะเลือดเขาอีกที ค่าเลือดก็จะเปลี่ยนไปแล้ว มันก็ดูได้ว่าคนนี้น่าจะอายุประมาณนี้ นี่เลยเป็นเหตุผลที่เรามีค่าเลือดบอกในงานของเรา เพราะค่าเลือดมันบอกได้หลายอย่าง

“มีน้องคนหนึ่งที่เราไม่สนิท แล้วพอเราเริ่มสนใจเลือดของเขา เราก็เริ่มสนใจว่าเขาทำอะไรมา ทำไมค่าโซเดียมเขาเกินนะ ทำไมค่าเหล็กเขาเป็นแบบนี้ ซึ่งเราก็จะรู้จากการพูดคุยว่าน้องคนนั้นชอบกินเค็ม ชอบเติมน้ำตาล เติมเครื่องปรุง มันเป็นการเปิดหัวข้อสนทนา ทำให้เราได้คุยกับเขา แล้วทำให้เราได้รู้จักกันมากขึ้น”

วิทยาศาสตร์ในศิลปะ

เธอว่าเลือดของแต่ละคนมีปฏิกิริยาต่างกันในการวาด

เลือดบางคนพอเอาน้ำลงแล้วเลือดไม่กระจาย บางคนก็กลืนหายไป

“บางคนที่เลือดจางหน่อย เราก็ต้องวาดทับหลายชั้น แล้วเลือดนี่แห้งแล้วแห้งเลย ไม่สามารถเอากลับมาใช้ใหม่ได้อีก มีเลือดน้องคนหนึ่งที่เราเผลอทำเลือดเขาหกไปครึ่งหลอด เราก็เลยปล่อยให้มันแห้ง แล้วน้องคนนั้นเป็นศิลปินเหมือนกัน เขาชอบวาดรูปแบบใช้พิกเมนต์ เราก็เลยขูดเลือดเขามาบด แล้วก็ลองใช้แบบผงพิกเมนต์ แต่มันใช้ไม่ได้ มันไม่ติด เราก็เลยต้องเอาไปผสมกับพิกเมนต์ที่เป็นสีอย่างสีขาวหรือสีดำ ถึงจะเอามาวาดได้

'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain

“เราจึงค้นพบว่าเลือดเอามาทำแบบนี้ก็ได้ หรือมีน้องอีกคนหนึ่งเป็นนักปั้นน้ำตาล เขาชอบกินน้ำตาลมาก เลือดของเขาเวลาวาดจะเหนียวกว่าคนอื่นนิดๆ แล้วเวลาแห้งมันจะแวววาวกว่าคนอื่นหน่อยๆ คือนี่เราแค่สังเกตเฉยๆ นะ ไม่ได้มั่นใจอะไรเพราะเราก็มีกลุ่มตัวอย่างแค่สิบกว่าคน

“แต่นอกจากนั้นแล้ว เลือดก็เหมือนสีน้ำเลย มีสีน้ำยี่ห้อหนึ่งชื่อ Sennelier ที่ตัวทำละลายเขาจะเป็นน้ำผึ้งหรือเขาผสมน้ำผึ้งเข้าไป เราจำไม่ได้ แต่สีเขาจะลื่นกว่าปกตินิดหนึ่ง เลือดของคนพอใช้แล้วสัมผัสจะคล้ายๆ สียี่ห้อนั้นแต่ลื่นกว่า เหมือนมันมีความมันอยู่ แล้วก็ไม่เหม็นคาวนะ มันมีกลิ่นบ้าง แต่ก็ไม่ได้เหมือนโรงเชือดอะไรแบบนั้น

“กลิ่นเหมือนเวลามีประจำเดือน” หญิงสาวพูดเบาๆ ด้วยรอยยิ้ม

ปั๋นบอกว่าปกติคนคนหนึ่งจะต้องใช้เลือดประมาณ 8 ออนซ์เพื่อวาดคนละ 1 – 2 รูป

“มีคนหนึ่งเราอยากวาดเขาทั้งตัว เพราะเขารักษาหุ่นดี แต่ก็วาดไม่ได้ วาดไม่พอ เลยให้ทุกคนเป็นพอร์เทรต เพราะมันมีความจำกัดทางทรัพยากรอยู่

“บางคนพอเลือดแห้งแล้วสีจะต่างจากตอนที่ยังไม่แห้งมากๆ บางคนตอนวาดเป็นสีออกส้มๆ แต่พอผ่านไปไม่กี่วันก็กลายเป็นสีดำ ทำให้เราต้องวาดใหม่ แล้วก็ผสมน้ำหน่อย ให้มันมีสีบ้าง ไม่ใช่ออกมาเป็นภาพขาวดำ ซึ่งเลือดทุกคนสีจะจางลงอยู่แล้วเมื่อโดนออกซิเจน ก็ต้องมีการจัดการที่ต่างกันนิดหน่อย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นระดับน้ำที่ใช้ เราใช้มันเหมือนสีน้ำ เพราะเราถนัดสีน้ำด้วย เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะวาดแต่ละคนเราจะทำแพนโทนเลือดของแต่ละคนก่อน อย่างบางคนเลือด 90 เปอร์เซ็นต์ น้ำ 10 เปอร์เซ็นต์ บางคน 80 เปอร์เซ็นต์ หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อดูว่าค่าความเข้มข้นไหนที่เหมาะที่สุดสำหรับเลือดของคนนั้น แต่ละคนก็จะใช้ไม่เท่ากัน”

นอกจากเลือก ปั๋นยังบอกว่าอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดอีกอย่างคือ กระดาษ

ซึ่งแบบแต่ละคนก็ใช้กระดาษแตกต่างกัน

“กระดาษมีผลเยอะมากตรงที่งานบางคนถ้าเราอยากใช้ดินสอด้วย เราก็ต้องใช้กระดาษที่ไม่ขรุขระเกินไป ไม่อย่างนั้นเส้นดินสอจะแตก ไม่สวย แต่ถ้าใช้กระดาษเรียบไป มันก็จะซึมซับได้ไม่ดี คือเลือดมันไม่ค่อยซึมอยู่แล้ว มันก็จะค้างเติ่งอยู่บนผิวของกระดาษ แล้วพอแห้งก็จะเป็นจ้ำ คนไหนที่เราจะใช้กระดาษเรียบเราก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดว่า มันกำลังซึมเข้าไปแล้วนะ มีการเขย่าๆ บ้าง ส่วนบางคนที่ใช้กระดาษที่ซึมดี เลือดมันก็จะซึมอย่างรวดเร็ว”

'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain

ก้าวข้ามความกังวล

หลังจากคุยเรื่องเบื้องหลัง เราถามปั๋นว่าการทำงานนิทรรศการชิ้นนี้เติมเต็มอะไรให้เธอบ้าง

“สะใจค่ะ ได้ทำแล้ว” ปั๋นตอบแบบเต็มพลังพร้อมเสียงหัวเราะ “มันเหมือนว่าฉันชอบ ฉันก็ทำ พอทำ แล้วก็อยากจัดแสดง ให้คนมาดูว่าชอบเหมือนกันหรือเปล่า มา มาดูความสะใจ ฉันได้ทำแล้วเว้ย

“แต่ระหว่างที่ทำเราก็ได้เรียนรู้ที่จะทำในสิ่งที่เราอยากทำ ถึงแม้ว่ามันอาจจะพลาดได้ คือก่อนหน้านี้เราเป็นคน Perfectionist เราจะไม่เล่นเกมที่เราจะแพ้ ถ้าเรารู้ว่าทำประมาณนี้แล้วไม่เวิร์ก เราจะไม่ทำ งานที่เรารู้ว่าจะขายไม่ได้เราก็ไม่วาด ถ้าส่งงานประกวดก็ต้องรู้ว่าจะชนะหรือได้รางวัลอะไรสักอย่างจากการประกวด แต่งานนี้มันเป็นงานที่เรามีคำถามเยอะมาก ทำเสร็จแล้วคนจะอี๋รึเปล่า ถามน้องว่าน้องจะอี๋มั้ย ทำเสร็จแล้วมันจะขายได้มั้ย มีความกังวลมากมาย แต่ก็ทำจนเสร็จจนได้

“มันเป็นสิ่งที่ทำให้เปลี่ยนบุคลิกเราไปเยอะเหมือนกัน จริงๆ เราเป็นคนที่ชอบเก็บตัว แต่พอมาทำงานนี้เราต้องอาศัยการติดต่อคนเยอะ ต้องคุยกับนางแบบ ก็ได้ฝึกสกิลนี้ หรือจากตอนแรกเราเป็นคนที่แบบ ‘ไม่ๆๆ’ ตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็น ‘โอเค ลองดู’

“ในงานนี้เราควบคุมมันได้ยาก เราเคยเกือบเลิกทำไปตั้งหลายรอบ ใช้เวลาทำปีหนึ่งเต็มๆ เพราะทำแล้วหยุดบ้าง แล้วอย่างที่บอกว่าเราเป็น Perfectionist ก่อนวาดเราก็จะมีภาพในหัวอยู่ แล้วเราก็พยายามจะควบคุมแม้กระทั่งทิศทางการไหลของเลือด ซึ่งมันควบคุมไม่ได้เท่าตอนทำสีน้ำ บางครั้งจะเอาเลือดหยดไว้ตรงนี้ แต่มันไม่ไป

“สุดท้ายเราก็ก้าวข้ามความกลัวการผิดพลาดของเราไป เพราะมันมีอะไรหลายอย่างที่ผิดพลาดได้เต็มไปหมด ก็ต้องปล่อยมันไปบ้าง”

'Riety' ศิลปินสาวที่ใช้เลือดวาดจนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะชื่อ Vein/Vain

Writer

Avatar

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ

เจ้าของเพจ ‘ศิลปะเข้าใจยากจริงหรือ’ อยากให้คนเข้าใจศิลปะ-วัฒนธรรมมากขึ้น แต่ก็อยากกินของอร่อยแล้วก็อยากมีเงินชอปปิ้งด้วย

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล