6 พฤศจิกายน 2018
4 K

วันที่ 13 สิงหาคม 2561 วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ส่งข่าวคราวมาในกล่องแชทเฟซบุ๊กว่า

“แจ้งข่าวแบบยังไม่ชัวร์ กำลังออกแบบจัดงานเทศกาลบทกวีประจำปีที่น่าน”

นับจากวันนั้นจนถึงวันที่เรานัดพบกันอีกครั้ง ระยะเวลาเพียงไม่ถึง 3 เดือน จากฝันเลือนรางก็กลายร่างเป็นความจริง

Nan Poesie เทศกาลบทกวี ที่น่าน จะจัดขึ้นในวันที่ 17 – 18 พฤศจิกายน ณ ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ และจุดต่างๆ ในตัวเมือง

ว่ากันตามตรงหากเอาตัวเลขเป็นตัวตั้ง งานงานนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น

ตัวเลขที่ว่าไล่เรียงตั้งแต่ระยะเวลาทำงานอันน้อยนิด เงินรายได้กำไรที่แทบไม่ต้องพูดถึง-ไม่เข้าเนื้อก็บุญโข หรือจำนวนผู้สนใจบทกวีในบ้านเราก็อย่างที่รู้กัน มันแทบจะไม่มีนัยสำคัญในทางการตลาด

แต่นั่นแหละ เขาไม่ได้เอาเลขเป็นตัวตั้ง เมื่อเห็นว่าบ้านนี้เมืองนี้ยังขาดพื้นที่แบบนี้ เขาก็เดินหน้าทำโดยไม่มีคำถามใดๆ

“หาเรื่องใส่ตัวไหมไม่รู้ แต่ว่านิสัยการงอมืองอเท้ามันไม่ใช่เรา ยิ่งในวันเวลาอย่างนี้ ทำอะไรได้ก็ทำ ทุกวันนี้มันแห้งแล้งเกินไป” นักเขียนนักสัมภาษณ์อธิบายเมื่อเรานั่งคุยกันถึงงานที่เขากับ ชโลมใจ ชยพันธนาการ หรือ ครูต้อม แห่งห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ ร่วมกันจัดขึ้นมา

นอกจากกวีและนักเขียนที่เขารู้จักเป็นการส่วนตัวจึงเอ่ยปากชักชวนมาร่วมงาน เขายังเปิดรับกวีนิพนธ์จากทั่วประเทศ (ถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน) ทุกประเภท ทุกหัวข้อ ทุกเนื้อหา ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ขอเพียงแต่บทกวีนั้นเคารพความเป็นมนุษย์-เชื่อว่ามนุษย์เท่ากัน

ถึงแม้ในปีนี้บทกวีจะเป็นพระเอกของงาน แต่ชายตรงหน้าบอกผมว่า งานงานนี้เป็นพื้นที่ของงานสร้างสรรค์ทุกแขนง ภายภาคหน้างานอาจว่าด้วยภาพยนตร์ ดนตรี สถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพวาด หรือศาสตร์ใดก็ตามที่มี Poetic แฝงฝังอยู่

และเขาเชื่อว่าในวันใดวันหนึ่ง เมื่อมีพื้นที่ให้กวี ให้คนที่สนใจงานสร้างสรรค์มาพบเจอกัน พูดคุยกัน ปะทะสังสรรค์กัน สิ่งมหัศจรรย์จะบังเกิด

Nan Poesie, วรพจน์ พันธุ์พงศ์

เป็นนักเขียน เป็นนักสัมภาษณ์ อยู่ดีๆ ทำไมลุกขึ้นมาจัดเทศกาลบทกวีที่น่าน

อย่างแรก เราย้ายบ้านไปอยู่ที่น่าน ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจจะเป็นความคิดที่สะสมในตัวเราว่า ใครมีความสามารถจะเอาอะไรออกจากกรุงเทพฯ ต้องเอาออกไป อย่าให้กรุงเทพฯ เป็นก้อนศูนย์กลางศูนย์รวมทุกอย่างที่นี่เท่านั้น มันโหดร้ายต่อกรุงเทพฯ มันโหดร้ายต่อผู้คน มันโหดร้ายต่อประชาชนของเรา

คนที่นราธิวาสต้องมากรุงเทพฯ บ้านเกิดเราอยู่ที่โคราช ก็ต้องเข้ามากรุงเทพฯ หรือคุณเองอยู่กรุงเทพฯ ก็ต้องอยู่แต่ในกรุงเทพฯ จะออกไปไหนก็ไปไม่ได้ เพราะว่าแหล่งงาน แหล่งเงิน แหล่งทุน แหล่งโอกาส แหล่งความรู้ แหล่งเศรษฐกิจ ทุกอย่างมันอยู่ที่นี่ทั้งหมด วิธีคิดแบบนี้มันสะสมในเนื้อตัวเรา เมื่อก่อนเรายังทำไม่ได้ ไม่พร้อม ไม่แข็งแรง แต่วันนี้เราออกไปอยู่ข้างนอก เอาอะไรออกไปได้ก็เอาออกไป เราต้องกระจายทุกทาง กระจายภูมิปัญญา กระจายโอกาส สำหรับพื้นที่ใหม่ๆ

ความคิดที่สองคือ เราอยากเปิดพื้นที่ เรามองไปแล้วมันไม่มีพื้นที่ของคนทำงานสร้างสรรค์อิสระ คำว่าอิสระอาจจะไม่ใช่ว่าคนที่ไม่รับเงินเดือน แต่หมายถึงอิสระทางความคิด เราว่าประเทศจะเติบโต สังคมจะไปได้ มันต้องมีพื้นที่ เหมือนเป็นนักฟุตบอลมันก็ต้องมีสนามฟุตบอล เราต้องให้ค่ากับคนทำงานสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์ทุกแขนงต้องมีพื้นที่ แล้วบ้านเราเท่าที่เรามองอยู่ เราเห็นแต่การกดเอาไว้ การปลดปล่อย การเปิดพื้นที่ มีน้อยมาก

คำถามต่อมา ทำไมถึงเป็นบทกวี ก็เพราะมันยังไม่มี สมมติถ้าเราจะไปจัดแข่งขันฟุตบอลมันมีคนเขาจัดแล้ว ไปสู้อะไรเขาไม่ได้หรอก อะไรที่มีแล้ว คนอื่นทำได้ดีแล้ว เราไม่ต้องไปเพิ่ม เราทำอะไรที่ยังไม่มี แล้วมันเป็นวิชาชีพเรา มันลงตัวพอดีกับความสนใจ กับกลุ่มคนเล็กๆ สมมติเราไปคิดเรื่องอื่นมันคิดแล้วทำไม่ได้จริง แต่เรื่องนี้เราทำได้จริง เราจะอายุ 50 แล้ว คิดอะไรมันไม่ควรเป็นความฝันเพ้อเจ้อ คิดแล้วต้องทำได้จริง

ย้อนกลับไป คุณเริ่มสนใจบทกวีตั้งแต่เมื่อไหร่

มันมาพร้อมกับความสนใจในการอ่านหนังสือ หนังสือที่เราอ่านมันไม่ใช่หนังสือวิชาการ แต่เป็นหมวดอ่านเล่น พวกเรื่องสั้น นิยาย บทกวี เพลง มันมาคู่กัน นิยายที่อ่านก็มีบทกวี มีเรื่องเพลงเข้ามาแทรก มันปะปนกันอยู่

เท่าที่สัมผัส คุณคิดว่าอะไรคือพลังของบทกวี

ความโดดเด่นของบทกวีคือมันต้องการพื้นที่น้อย รูปทรงเคลื่อนไหวหลากหลาย เหมือนคนที่พูดน้อยๆ ที่พูดแต่สิ่งสำคัญ มันน้อยแต่ว่าอำนาจมันสูง ถ้าเปรียบกับในนิยายมันเป็นเหมือน ฤทธิ์มีดสั้น นิยายของโก้วเล้ง ฤทธิ์มีดสั้นเวลามันพุ่งมันเข้าคอ แล้วมันไม่พลาดเป้า มันไม่ต้องการที่มากมาย พื้นที่มันนิดเดียว แต่ถ้ามันถูกกาล ถูกเทศะ ถูกคน คนที่มาเสพมีประสบการณ์ร่วมกันหรือว่าสัมผัสสิ่งนั้นได้ มองเห็นสิ่งที่กวีนำเสนอ เมื่อผู้เสพรับกับผู้ส่งสารมาปะทะกันแล้ว อำนาจมันสูง บางวรรค บางคำ บางท่อน แค่ท่อนเดียวบางทีมันตราตรึงไปทั้งชีวิต

บทกวีมันสงบเงียบ ถ้าเป็นสัตว์ มันก็เป็นสัตว์ที่ไม่เรียกร้องความสนใจ ไม่ตะโกน ไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้าที่ตะโกนให้คนมาดู มันก็อยู่เงียบๆ ของมัน ต่อเมื่อคุณเดินไปหามัน ค้นพบมัน และสัมผัสประสบการณ์ตรง มันจึงสั่นสะเทือนคุณไปทั้งร่างกาย จิตใจ

นอกจากสั่นสะเทือนจิตใจแล้ว คุณคิดว่าบทกวีเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองได้ไหม

(นิ่งคิดนาน) คำว่าบ้านเมืองมันใหญ่มากเลย บ้านเมืองนี้มันประกอบด้วยอะไรอีกเยอะ เพราะฉะนั้น อะไรที่ใหญ่ๆ มันย่อมไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะมาเปลี่ยน มันประกอบด้วยอะไรมากมายไปหมด แต่ว่ากวีก็ถือเป็นเสาหลัก เป็นก้อนแห่งภูมิปัญญา ภาษากฎหมายหลายๆ อย่างก็มาจากบทกวี การปฏิวัติหลายๆ ที่ก็มาจากกลุ่มนักคิดนักเขียน

พูดง่ายๆ มันก็คือผลึกปัญญาของมนุษย์ คือผลึกความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการทวงถาม การใคร่ครวญหาความหมายของชีวิตที่ดี แล้วค่อยนำไปสู่ศาสตร์ต่างๆ สถาปัตยกรรมที่ดีคืออะไร กฎหมายที่ดีคืออะไร โครงสร้างบ้านเมืองโครงสร้างสังคมทีดีคืออะไร มันคือการหมกมุ่น ครุ่นคิด หา แสวงหา ตั้งคำถาม ถาม ถาม ถาม ถามเพื่อหาคำตอบ

Nan Poesie, วรพจน์ พันธุ์พงศ์Nan Poesie, วรพจน์ พันธุ์พงศ์

ในความคิดของคุณ สภาวะบ้านเมืองส่งผลต่อการบ่มเพาะกวีหรือเปล่า

ส่งผลแน่นอนอยู่แล้ว มนุษย์ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ มนุษย์ไม่ได้อยู่บนขุนเขายะเยือกเพียงลำพัง มันเชื่อมโยงกับสังคม ยังไงมันก็มีผล ยุคที่บ้านเมืองสงบ ไพร่ฟ้าหน้าใส กวีก็อาจจะชื่นชมดอกไม้ ชื่นชมหญิงสาว นั่งฟังแม่น้ำกระซิบ ระริกระรี้ รำพึงรำพันกับก้อนหินริมแม่น้ำ แต่ยามผู้คนในบ้านเมือง ในประเทศ อดอยากปากแห้ง คนถูกกดขี่ ถูกทำร้าย คนไม่ได้รับความยุติธรรม มันก็ย่อมส่งผล

แล้วสภาวะบ้านเมืองแบบไหนเหมาะแก่การเจริญเติบโตของกวี

มันเป็นได้ทั้ง 2 อย่าง

เนื้อหน้าดินที่ดีมาก ไม่มีความทุกข์ทรมานเลย ก็อาจจะส่งเสริมให้ต้นไม้ชนิดหนึ่งงอกงาม หรือดินที่เหี้ยมากก็อาจจะสร้างสิ่งที่งดงามได้ เพียงแค่มันสร้างจากความกดดัน ในขณะที่อีกสิ่งมันสร้างจากความสุข เพราะฉะนั้นมันไม่แน่ สิ่งที่สร้างจากความสุขอาจจะได้ผลิตภัณฑ์ผลิตผลที่ดีมาก หรือสิ่งที่สร้างจากความทุกข์ก็อาจจะได้สิ่งที่ดีมากเช่นกัน มันเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง

โดยสรุปก็คือไม่ว่าจะเป็นนักเขียน เป็นกวี คุณอยู่ในกาลเทศะไหน อยู่ในประเทศ อยู่ในสังคมไหน เรื่องพวกนี้ไม่ใช่ข้ออ้าง คุณก็ทำไป มันทำได้หมด แต่ถ้าคุณโตในบ้านเมืองที่กดขี่คุกคาม ในวันเวลาที่ไม่มีความยุติธรรมในแผ่นดิน แล้วกวีเฉยชาเกินไป มัวแต่มองดอกไม้สายลมเกินไป สำหรับเรา มันเหมือนคุณวิ่งหนีโลกไปหน่อย ดูดายไปหน่อย

สมมติคุณชอบดอกไม้อย่างเดียว แล้ววันๆ คุณสามารถนั่งดูดอกไม้ตั้งแต่เกิดจนตายได้ ผมก็ไม่ว่าอะไรหรอก แต่ว่าถ้าคุณต้องกินข้าวด้วย ราคาข้าวสารมันควรจะสูงกว่านี้ไหม ชาวนาควรจะได้มากกว่าที่เป็นอยู่ไหม หมายความว่าถึงอย่างไรคุณก็หนีเรื่องทางสังคมไม่พ้นหรอก คุณชอบดูดอกไม้ คุณนั่งรถเมล์หรือเปล่าล่ะ ระบบขนส่งมวลชนของประเทศมันเป็นอย่างไร มันทั่วถึง มันดีงามหรือยัง สิทธิ์ในการเข้าถึงเรื่องต่างๆ ของสังคมนั้นเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนสิทธิ์ลาคลอดเขาไม่เรียกว่าสิทธิ์นะ ในเมืองไทยไม่มี สิ่งนี้มันเกิดขึ้นจากการพัฒนาทางการเมือง หรืออย่างที่สวิตเซอร์แลนด์การคมนาคมเป็นสิทธิ์ ขนส่งมวลชนต้องไปหา ไปให้ถึงบ้านทุกบ้าน เพราะเป็นสิทธิ์ แต่บ้านเรายังไม่มี

คือเรื่องพวกนี้มันไม่ได้ลอยมาจากฟ้า มันเกิดจากการต่อสู้ของประชาชนให้ได้มาทีละเรื่อง มันต้องขยับไปทุกทาง ประชาชนก็ต้องช่วยกันผลักดัน กวี นักเขียน นักกฎหมาย ก็ต้องช่วยกันบีบบังคับผู้มีอำนาจ ผู้มีอำนาจคนนี้แย่ พอถึงเวลาเลือกตั้งก็ล้มไป หาคนใหม่ที่พัฒนาได้ดีกว่า

Nan Poesie, วรพจน์ พันธุ์พงศ์

ชีวิตของกวีหรือคนที่ทุ่มชีวิตให้กับการเขียนบทกวีที่คุณรู้จักส่วนใหญ่เป็นอย่างไร พวกเขามีชีวิตที่ดีไหม

ที่รู้จักเหรอ (นิ่งคิด) เราว่าดีนะ คำว่าดีคือ เขาได้อยู่กับสิ่งที่เขาเลือก เราเคารพคนที่เลือกอะไรแล้วก็ทุ่มเทเวลา ทุ่มเทชีวิต ให้กับสิ่งนั้น เรานับว่าเป็นสิ่งที่ดี แม้ว่าในสิ่งนั้นจะอยู่ในหม้อหลอม อยู่ในเบ้าหลอม อยู่ในสนามแห่งความทุกข์ทีเดียว

มันทุกข์หลายอย่าง ข้อแรก คุณไม่ต้องไปเถียงเลย บทกวีมันไม่ทำเงินเลยเว้ย ใครมันจะโง่เป็นควายขนาดไม่รู้ คิดว่าเขียนบทกวีจะได้ปีละ 3 แสน ใครๆ ก็รู้ว่าเมื่อชอบสิ่งนี้ เมื่อรัก เมื่อปรารถนาที่จะเดินบนเส้นทางสายนี้เสียแล้ว ในทางเศรษฐกิจ มันก็คือทางเดินไปหาความยากจนนั่นแหละ เพราะมันไม่ทำเงิน แต่ไม่ใช่ว่าคนเหล่านี้อยากยากจน เพียงแต่คนพวกนี้เอาสิ่งที่ตัวเองรัก สิ่งที่ตัวเองหลงใหล สิ่งที่ตัวเองชื่นชม สิ่งที่ตัวเองศรัทธาเป็นตัวตั้ง ถ้าทำแล้วมันได้หมื่นล้านก็ดี นึกออกไหม แต่มันไม่ได้ ก็โลกคุณตรงนี้มันไม่ได้เป็นตัวเงิน

เขาไม่ได้ปฏิเสธเงิน ไม่ใช่ว่าอยากให้บทกวีได้เงินบทละ 1,000 บทละ 700 ไม่ใช่ เอามาบทละแสนเลยยิ่งดี แต่ว่าโลกมันเป็นเช่นนี้ แต่ถึงแม้ว่าโลกจะเป็นเช่นนี้ก็ตาม กูก็จะทำ ก็กูชอบมัน ฉะนั้น ถ้าตอบคำถามว่ามีชีวิตที่ดีมั้ย มนุษย์ที่รักแล้วก็เลือก เราว่าดี ส่วนความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นก็รับผิดชอบไป บางคนก็ไปประกอบอาชีพอะไรอย่างอื่นด้วย คือไม่ได้งอมืองอเท้า

ในวันที่แทบไม่มีใครสนใจบทกวีแล้ว คุณยังเชื่อในพลังของบทกวีอยู่ไหม

ถ้าเอาตัวเรา เราเชื่อมั่นกับมันเสมอ เหมือนเราเชื่อมั่นในงานศิลปะ ในวรรณกรรม มันไม่หายไปไหน แค่สายตาของคุณอาจจะยังไม่ไปเจอ งานในโลกอารยะ เราต้องเป็นผู้อารยะสูงสุด ต้องแสวงหาสูงสุด เราจึงจะค้นพบเจอ มันไม่ใช่ว่าเรานั่งดูสื่อที่มีอยู่ ดูทีวีที่มีอยู่ แล้วมันจะเจอ บางอย่างมันไม่ได้เสิร์ฟคุณทางข้อความมือถือ ทางไลน์ แบบสวัสดีวันจันทร์ คุณต้องออกแรงด้วย

การลุกขึ้นมาจัดงาน Nan Poesie ก็คือสิ่งหนึ่ง คือหลักฐานที่อธิบายว่า ในเมื่อมันไม่มีพื้นที่ ก็เปิดพื้นที่ให้มันสิ สร้างมันขึ้นมาสิ เท่าที่เราแต่ละคนทำได้ ตามช่วงเวลาที่พร้อม ตามกำลัง เราไม่มีอะไรเลยนะเว้ย ตัวคนเดียวกับเพื่อนที่น่านอีกคน (ชโลมใจ ชยพันธนาการ) มีกันแค่ 2 คน

เราอยู่ในวงเวียนนี้ อยู่ในสนามนี้ เราก็ต้องช่วยกันทำหน้าที่ สำหรับเรา งานความเรียง งานสัมภาษณ์มันก็มีความเป็น Poetic ของมัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่เวียนว่ายอยู่ในสนามนี้ เราก็ไม่ควรจะดูถูกตัวเอง ไม่ควรจะไปโยนบาปให้คนอื่น หรือไปโทษคนอื่นว่า ทำไมสังคมตอนนี้ไม่มีสิ่งนี้ อ้าว มึงก็ทำสิถ้ามึงว่าไม่มี หรือถ้าคุณยังมองไม่เห็นก็ช่วยกันทำสิ ช่วยกันเปิดพื้นที่สิ ช่วยกันเดินหาสิ ช่วยกันออกแรงสิ คือเราโตมากับเรื่องพวกนี้ เราเห็นอำนาจของมัน ถามว่าทำไมต้องเป็นเรา ไม่เป็นกวีอาชีพมาจัดงาน คือกวีเขาอาจไม่ถนัดไง ซึ่งเราก็ไม่ได้ว่าถนัดนะ ก็เหมือนเสือกไปอย่างนั้น (หัวเราะ)

ไม่ได้หาเรื่องใส่ตัวใช่ไหม

หาเรื่องไหมไม่รู้ แต่ว่านิสัยการงอมืองอเท้ามันไม่ใช่เรา ยิ่งในวันเวลาอย่างนี้ ทำอะไรได้ก็ทำ ทุกวันนี้มันแห้งแล้งเกินไป เราทุกคนต้องถูกกักขังอยู่ในบ้าน ในห้อง ไม่ให้มีปากมีเสียง ไม่มีพื้นที่ ถูกแต่ห้าม ห้าม ห้าม ไอ้นั่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้ เราคิดว่าพอจะทำได้ก็ทำ อาจจะเป็นการหลงผิดก็ได้ ความจริงเราอาจจะทำไม่ได้หรอก ทำไม่เป็นหรอก ไม่รู้ งานมันยังไม่เกิดขึ้น

Nan Poesie, วรพจน์ พันธุ์พงศ์

เห็นคุณบอกว่ายังไม่เคยมีใครจัดเทศกาลบทกวีมาก่อนในบ้านเรา

เรายังไม่เคยได้ยินคำว่าเทศกาลบทกวีนะ อันนี้มันอาจจะเป็นเรื่องภาษาถ้อยคำ แต่เราว่าภาษาถ้อยคำมันก็เกี่ยวกับความตั้งใจ เกี่ยวกับปณิธาน เรากล้าที่จะใช้คำว่าเทศกาลบทกวีเพราะว่าปณิธานของเรา ความต้องการของเรา ก็คืออยากให้พื้นที่มันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นไม้ประดับ ไม่ใช่เป็นของเล่น เราเอาจริง และจะทำอย่างต่อเนื่อง

ที่ว่าจะทำอย่างต่อเนื่อง ความถี่สำคัญยังไง

สำคัญกับทุกอย่าง สมมติคุณจีบสาวครั้งเดียว ดูเหมือนจะใกล้ชิดกัน ดูเหมือนน่าจะเป็นคู่รักกัน แต่พรุ่งนี้คุณก็หายไป แล้วความรักมันจะเกิดขึ้นไหม

ความถี่มันคือการยืนยัน ยืนยันในความพยายาม ในความเอาจริงเอาจัง ภาษาวรรณกรรมที่เขาคุยๆ กันในช่วงสิบยี่สิบปีที่ผ่านมาเขาใช้คำว่า ไม่ได้แวะมาตากอากาศ ไม่ใช่ว่าตากอากาศเสร็จแล้วก็กลับบ้าน ไม่ได้มาอยู่ชั่วคราว เราเอาจริงเอาจัง

เหล่ากวีต่างๆ เมื่อรู้ว่าคุณจะจัดงานนี้ เขาบอกไหมว่ารู้สึกอย่างไร

ตื่นเต้น ยินดีเป็นที่สุด ขอบคุณมาก ยังไงก็ไป

เขาตื่นเต้นเพราะกำลังจะมีแสงไฟส่องหรือเขาตื่นเต้นเพราะอะไร

ตื่นเต้นกับการเกิดใหม่ เกิดสนามใหม่

เวทีนี้มันอิสระ เป็นเวทีของความคิดสร้างสรรค์ เป็นเรื่องของโลกสมัยใหม่ คุณไปคอนโทรลความคิดเขาไม่ได้ คุณต้องปล่อยให้เขาพูด ​ยังไงมนุษย์คุณหนีสิ่งนี้ไม่พ้น อย่ากลัวว่ากวีคนไหนจะมีความคิดที่อันตราย

ไม่มีความคิดไหนที่เป็นอันตราย ไม่ต้องกลัว เพราะสุดท้ายความคิดที่อันตรายจะถูกระบบสังคมจัดการไปเอง ให้เขาพูดออกมา แล้วมันจะมีความคิดที่ดีกว่ามาเชปไปเรื่อยๆ คุณอย่ากลัว คุณเปิดให้เขาพูด ให้เขาคิด ความคิดที่อันตรายไม่มี มีแต่ปืนที่อันตราย

ที่ผ่านมาผู้มีอำนาจ ผู้มีส่วนรับผิดชอบในการสนับสนุน ในการปลดปล่อยประชาชนทำตรงกันข้ามหมดเลย แทนที่จะส่งเสริมกลับกลายเป็นว่ามาผูกมามัดเอาไว้ เอาผ้ามาผูกตา เอาไม้มาตอกปาก ไม่ให้พูด เพราะฉะนั้นพอเราคิดเรื่องนี้ขึ้นมา มันจึงได้ยินแต่เสียงที่ดีมาก

เหนื่อยมากเลยนะงานนี้ ทำกันสองคน แต่ว่าแฮปปี้มากกับสิ่งที่คิดขึ้นมาและที่กำลังจะเกิดขึ้น ยินดี เหนื่อยก็เดินไป ตื่นเต้น สนุกสนาน

Nan Poesie, วรพจน์ พันธุ์พงศ์

แล้วภาพงานเทศกาลบทกวีที่น่านในวันข้างหน้าที่คิดไว้เป็นยังไง

เป็นชุมชนของคนทำงานสร้างสรรค์ทุกประเภท พอถึงวาระต้นฤดูหนาว หนุ่มสาวทั่วประเทศก็จะเดินทางมาเจอกัน เป็นวาระเหมือนอาจจะกึ่งๆ ปาร์ตี้ทางความคิด คุณเคยแต่คุยกันทางเฟซบุ๊ก งานนี้ก็เป็นวาระที่ได้มาเจอตัว แล้วเราไม่ได้มองแค่เมืองไทยนะ ตอนนี้เป้าที่คิดไว้คือให้เป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภายในปีหน้าเวลาพูดถึงบทกวี คนต้องนึกถึงว่า ที่น่านมีเทศกาลบทกวี แล้วปีนี้มันมีเวลาคิดแค่ 2 เดือน แต่ปีหน้าจะทยอยเชิญ ไล่หาเครือข่าย อินโดจีน ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ผู้คนแต่ละประเทศต้องพุ่งมา เท่าที่เรานึกออกตอนนี้ยังไม่มีเมืองไหนที่ถึงเวลากวีต้องแห่กันไป เราอยากเห็น เราว่าโคตรเป็นโอกาสที่ดีเลย ไม่มีใครใช่ไหม เดี๋ยวเราจัดการเอง ยิ่งไม่มีคนทำ พอทำปุ๊บมันก็กลายเป็นศูนย์กลางทันที

แล้วคำว่า Poésie ในชื่องานมันเป็นคำภาษาฝรั่งเศส แปลว่า Poetry แต่เราให้ค่าของคำนี้ให้มันเอนไปทางคำว่า Poetic เป้าหมายคือเราจะใช้คำนี้แทน Poetic ในศิลปะทุกสาขา เพียงแค่ปีนี้แค่มันชูบทกวีเป็นตัวนำ เหมือนเป็นตัวเปิด แต่จริงๆ ในงานจะมีเพนติ้งด้วย แล้วปีถัดไปจะขยับไปยังศิลปะทุกสาขา ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี สถาปัตย์ และอะไรอื่นๆ คือมันเชื่อมไปถึงหมด

คุณเชื่อว่า Poetic ไม่ได้มีอยู่แค่ในบทกวี แต่อยู่ในศาสตร์อื่นๆ ด้วย

เปรียบเทียบอย่างนี้ เวลาดูนักฟุตบอลบางคน คุณสัมผัสได้ถึง Poetic ไหม

อย่าง ซีเนอดีน ซีดาน นี่ใช่ไหม

ใช่ อย่างนี้เป็นกวี นักฟุตบอลทั้งโลกมันเยอะนะ ทำไมเราถึงจดจำแล้วสามารถเอ่ยนามร่วมกัน แล้วเข้าใจร่วมกันได้

คือเราอาจจะอธิบายด้วยถ้อยคำหรือนิยามไม่กระจ่างแจ้งนะ ถ้าให้ยกตัวอย่างเราถึงจะพูดได้ว่าคนนี้ Poetic คนนี้ไม่ Poetic คือมันมีความพิเศษ มีความลึกล้ำ มีความละเอียดอ่อน มีความนวลเนียน มีความตราตรึงบางอย่าง

พี่ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง เคยยกตัวอย่าง โยฮัน ครัฟฟ์ (Johan Cruyff) แกเคยดูโยฮัน ครัฟฟ์ เล่น เคยอ่านหนังสือของโยฮัน ครัฟฟ์ ด้วย พี่ต้อมบอกว่าคนนี้เป็นกวี ถ้ามาทำหนังก็ทำหนังได้ดี วิธีอธิบายของพี่ต้อมคือ ศาสตร์ทุกศาสตร์ ถ้าคุณลงลึกกับมันอย่างถึงที่สุดแล้ว มันจะไปสู่ภาวะเดียวกัน แค่ว่าทางมันคนละทาง บางคนปั้นหม้อ บางคนเป็นนักฟุตบอล บางคนเป็นช่างตีมีด บางคนเป็นนักบวช แต่ถ้าคุณลุยในทางของคุณอย่างเข้มข้น มันจะไปสู่ภาวะเดียวกันคือความกระจ่างแจ้ง ความสว่างไสว ความเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องพยายาม

Nan Poesie, วรพจน์ พันธุ์พงศ์

เท่าที่ฟังมา ดูเหมือนคุณก็รู้ว่าคนคงมางานนี้ไม่เยอะหรอก คนสนใจบทกวีไม่เยอะหรอก

คือเราเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้ คุณทำให้ตายอย่างไร เปตองคนดูก็ไม่เท่าฟุตบอลหรอก เชื่อผม แม้มันจะเป็นลูกกลมๆ เหมือนกัน เปตองไม่ได้ทำอะไรผิดเว้ย แต่ไม่มีทางที่คุณจะทำให้เปตองมีคนดูมากกว่าฟุตบอล เห็นด้วยไหม พนันกันก็ได้ เอาเงินมาวางตรงนี้เลยก็ได้ เพราะฉะนั้น เราอย่าไปหวัง อย่าไปฝันเพ้อเจ้อ

ของบางอย่างเราไม่ต้องไปก่นร้อง เราไม่ต้องไปดิ้นรนพยายามเรียกร้องเรื่องปริมาณมากหรอก ทั้งนี้ย้ำว่าไม่ได้ปิดกั้นกักขังตัวเองนะ เราไม่ได้รังเกียจเลย เราไม่ได้ปิดประตูเลย มาเยอะเท่าไหร่ยิ่งดี ขอบคุณ ตอนนี้ก็พยายามทำอยู่ กระจายข่าวเพื่อบอกคน แต่อธิบายต่อไปก็คือ ของบางอย่าง ถ้าเรารู้ธรรมชาติความน้อยของมัน เราไปทำให้มันแหลมคมดีกว่า

แล้วสุดท้ายไอ้กลุ่มคนที่ว่าน้อย เขาอาจเป็นระดับซีอีโอก็ได้นะ ในตัวเขาอาจจะเป็นแบบ สตีฟ จ็อบส์ คือคุณอย่าประมาทความน้อย คุณลองนึกภาพสตีฟ จ็อบส์ ยืนอยู่ 7 คนสิ ไอ้ 7 คนนี้มันมีอำนาจกับคนอีกเป็นแสนเป็นล้านคนนะ

เปลี่ยนโลกได้

เปลี่ยนโลกได้ แค่คิดกัน 7 คน คืออย่าคิดว่า Apple เขาคิดกันเยอะนะ เขาไม่ได้เอาคนแสนคนมานั่งระดมสมอง เขานั่งคิดคนเดียว เพราะฉะนั้น อย่าหมิ่นประมาทอำนาจของความคิดสร้างสรรค์

น่านโปเอซีเป็นพื้นที่ของความคิดสร้างสรรค์ เมื่อคนทำงานสร้างสรรค์มาเจอกัน มันจะเกิดไดอะล็อกใหม่ๆ เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เป็นพื้นที่ให้มนุษย์ตัวเป็นๆ มาเจอกัน ให้มันพ้นไปจากพื้นที่ของโซเชียลมีเดีย คือเราไม่ได้ปฏิเสธโซเชียลมีเดีย มันมีอำนาจแน่ๆ แต่ว่ามันต้องมาเจอกันด้วย ความคิดมันต้องปะทะกับคนอื่น มันถึงจะชาญฉลาดขึ้น มนุษย์ต้องมี Input Output คุณจะนั่งใคร่ครวญอยู่บนภูเขาอย่างเดียว มีไดอะล็อกกับใบไม้อย่างเดียว ก็อาจจะได้ แต่การมีไดอะล็อกกับมนุษย์โดยตรงมันทรงพลัง การนั่งคุยกันมันดี เราทำอาชีพนี้ เชื่อเรา

เราเชื่อว่าการสร้างเวทีสร้างพื้นที่ให้คนมานั่งคุยกันเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่เมืองอารยะควรทำ แล้วเมื่อได้เห็น ได้เจอ ได้คุย เดี๋ยวสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เดี๋ยวงานเอกของโลกมันจะค่อยๆ งอกขึ้นเอง

ให้มนุษย์ที่หัวเปิด ใจกว้าง มาเจอกัน อย่างอื่นไม่ต้องห่วง เดี๋ยวเครื่องบินเกิด เดี๋ยวยานอวกาศเกิด

Nan Poesie, วรพจน์ พันธุ์พงศ์

Nan Poesie เทศกาลบทกวี ที่น่าน

วันที่ 17 พฤศจิกายน

16.00 – 22.00 น. อ่านบทกวี, speech, ดนตรี, แสดงภาพเขียน ณ ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ

วันที่ 18 พฤศจิกายน

ช่วงสาย อ่านบทกวี ณ ตึกรังษีเกษม โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา

ช่วงบ่าย อ่านบทกวี ณ ซุ้มลีลาวดี หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

หัวค่ำ อ่านบทกวี ณ ข่วงน้อย ถนนคนเดิน ข่วงเมืองน่าน

19.30 – 21.00 น. สรุปกิจกรรม ณ ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ

รายละเอียดเพิ่มเติม : Banban Nannan library and guest home

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan