รถบัสจอดลงช้าๆ ที่หน้าบ้านหลังหนึ่ง ฉันไต่บันไดเตาะแตะลงมาพบกับไอร้อนระอุ 38 องศาเซลเซียสแบบไม่ทันตั้งตัว สายลมอุ่นที่พัดผ่านมาเป็นระลอกทำให้ใบหน้าร้อนผ่าวคล้ายจะเป็นไข้แดด

โอซาก้าในฤดูร้อน ร้อนมาก!

ยืนเก้ๆ กังๆ อยู่เพียงครู่เดียว ชายญี่ปุ่นคนหนึ่งก็เปิดประตูบ้านออกมาทักทายด้วยสำเนียงคันไซ พร้อมเชื้อเชิญให้เข้าไปในบ้านสีขาวสะอาด หน้าตามินิมอล หลังกะทัดรัดตรงหน้า

บ้านหลังนี้ คือ MUJI Window House

บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House

ภายในบ้านขนาด 100 ตร.ม. มีคนอัดกันอยู่เกือบๆ 30 คน ประกอบไปด้วยคณะสื่อมวลชนและน้องๆ นักศึกษาฝึกงานในโครงการ AP Open House ที่ AP Thailand ตั้งใจพามาศึกษานวัตกรรมการออกแบบพื้นที่ใช้สอยและการก่อสร้างบ้านสำเร็จรูป ไกลถึงเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า แบรนด์ที่ไม่มีแบรนด์อย่าง ‘MUJI’ ผู้จำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่ข้าวของเล็กๆ ในมือ เครื่องเขียน เครื่องสำอาง เสื้อผ้า จักรยาน ไปจนถึงรถยนต์ และยังมีของแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ มากมาย พวกเขาสร้างบ้านขายด้วย

จากการสำรวจด้วยสายตาอย่างคร่าวๆ ตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าสู่ความเย็นฉ่ำภายใน MUJI Window House บ้านหลังนี้คงความเป็นมูจิไว้ได้อย่างเต็มเปี่ยม ทั้งความงามแสนเรียบง่าย สีสันของวัสดุที่กลมกล่อมไปกับธรรมชาติ และการดีไซน์สเปซที่ให้ความรู้สึกน้อยแต่มาก แบบเดียวกับข้าวของชิ้นอื่นๆ ของแบรนด์มูจิเปี๊ยบ

บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House

“ขอให้ทุกคนมารวมตัวกันข้างหน้าต่างนะครับ” คุณสุสุมุ ซาโต้ Dwelling Space Operation Division แห่ง MUJI House ส่งเสียงบอก หลังจากปล่อยให้พวกเราเดินด้อมๆ มองๆ ตื่นตาตื่นใจไปกับมุมต่างๆ ภายในบ้านพักใหญ่

ฉันหันซ้ายหันขวามองหาจุดรวมตัว และเพิ่งสังเกตว่าบ้านหลังนี้มีหน้าต่างเยอะสมชื่อ Window House เลย

บ้านที่ไม่มีห้อง

“มูจิเริ่มโครงการบ้านมาตั้งแต่ปี 2000 หลังมีเสียงจากลูกค้าจำนวนมาก เสนอเข้ามาว่า อยากอยู่ในบ้านที่มูจิออกแบบ แต่กว่าจะค้บพบรูปแบบบ้านที่ตอบโจทย์คนญี่ปุ่น มูจิใช้เวลาพัฒนาบ้านต้นแบบ ลองผิดลองถูก อยู่กว่า 4 ปี จนในที่สุดก็เริ่มสร้างบ้านออกขายในปี 2004” คุณซาโต้เริ่มอธิบาย

ในช่วงแรกๆ ของการก่อตั้ง MUJI Good House Store ใช้ระบบสร้างบ้านตามใจผู้อยู่ คือลูกค้าต้องการใช้ชีวิตอย่างไร มูจิก็สร้างบ้านให้แบบนั้น แต่ปัญหาที่ตามมาเมื่อเวลาผ่านไป คือ เมื่อครอบครัวขยายขึ้น สมาชิกในครอบครัวและรูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป บ้านเหล่านั้นก็ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอีกต่อไป

บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House

เมื่อบ้านไม่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัย เราก็ไม่มีทางเลือกที่จะต้องทุบหรือรีโนเวตบางส่วนของบ้านใหม่ ไอเดียหลักในการแก้ปัญหานี้คือ จะทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่บ้านหลังเดิมไปได้ตลอด โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร

ในท้ายที่สุดมูจิก็ได้ข้อสรุปออกมาว่า สิ่งที่ควรทำคือการไม่กั้นห้อง เพื่อให้สเปซภายในบ้านเชื่อมต่อกันเป็นสเปซใหญ่สเปซเดียว และผู้อยู่อาศัยสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานแต่ละพื้นที่ในบ้านได้ โดยไม่ต้องมีการทุบ รื้อ ถอนใดๆ

“เมื่อบ้านไม่ถูกกั้นห้อง การสื่อสารของคนในครอบครัวก็จะมีมากขึ้น เพราะถึงไม่ได้พูดคุยกันตลอดเวลา แต่คนในบ้านต่างเห็นการมีอยู่ของกันและกัน”

บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House

อย่างที่รู้กันดีว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นเต็มไปด้วยภัยพิบัติ ดังนั้น การสร้างบ้านที่สแปนเสากว้าง ไม่มีการกั้นห้อง เพื่อให้บ้านดูโล่ง โปร่ง โดยที่ยังแข็งแรงทนทานต่อพายุไต้ฝุ่นและแผ่นดินไหว จึงเป็นอีกความท้าทายของมูจิ

หน่วยวัดระดับแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นใช้คือ ชินโดะ แบ่งความรุนแรงเป็น 7 ระดับ อย่างระดับที่ทำให้เกิดสึนามิคือระดับ 7 ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก โดยกฎหมายญี่ปุ่นกำหนดให้โครงสร้างของบ้าน ต้องสามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ถึงชินโดะ 6 และบ้านของมูจิทุกหลังสามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้มากกว่าระดับที่กฎหมายกำหนด

“15 ปีนับตั้งแต่สร้างบ้านมูจิหลังแรก ประเทศญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้น 3 ครั้ง และบ้านมูจินับพันหลังที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไม่เคยได้รับความเสียหายเลย” คุณซาโต้พูดพร้อมรอยยิ้ม

บ้านที่เต็มไปด้วยช่อง

บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House

คุณซาโต้บอกว่า สิ่งที่มูจิให้ความสำคัญคือความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน ระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก หน้าต่างบานใหญ่บริเวณห้องนั่งเล่น จึงมีไว้ให้คนในบ้านสามารถมองออกไปเห็นบรรยากาศนอกบ้านได้อย่างอิสระ

“หน้าต่างก็เหมือนกรอบรูปภาพที่มีชีวิต” ทุกคนในห้องพยักหน้าหงึกหงักอย่างเห็นด้วย พลางมองออกไปยังต้นบ๊วยต้นเล็กที่กำลังสยายกิ่งก้านพลิ้วไหวไปกับสายลมหน้าร้อน

Window House จึงเป็นบ้านที่มีหน้าต่างเป็นหลัก ซึ่งสามารถปรับตำแหน่งของหน้าต่างให้เหมาะสมกับพื้นที่ๆ บ้านหลังนั้นตั้งอยู่ได้ เช่น ถ้าบ้านอยู่ติดกับภูเขา ทีมออกแบบของมูจิจะปรับตำแหน่งหน้าต่างให้สามารถมองเห็นภูเขาได้ หรือถ้าบ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ๆ ค่อนข้างแออัด ก็สามารถปรับให้หน้าต่างอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นหรือเล็กลงได้

บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House

เมื่อบ้านมีหน้าต่างเยอะ การรักษาอุณหภูมิภายในบ้านจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทั้งการรักษาความเย็นช่วงหน้าร้อน และความอบอุ่นในหน้าหนาว

สิ่งที่ทำให้ฉันทึ่งมาก คือบ้านหลังนี้มีเครื่องปรับอากาศแค่ 2 ตัวเท่านั้น ชั้นบนและชั้นล่างอย่างละตัว

“เพราะหน้าต่างของบ้านมูจิมีขนาดใหญ่ การกันความร้อนความเย็นของกระจกหน้าต่างจึงเป็นสิ่งจำเป็น นวัตกรรมที่มาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ คือ Tripple Glass หรือการซ้อนกระจก 3 ชั้น เพื่อเป็นฉนวนรักษาอุณหภูมิ เมื่อสามารถควบคุมความร้อนและความเย็นภายในบ้านได้ เครื่องปรับอากาศจึงไม่จำเป็น มีแค่ 2 ตัวก็เพียงพอแล้ว เพื่อประหยัดพลังงานและลดค่าไฟฟ้าในบ้าน”

บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House

คุณซาโต้ชี้ให้ดูช่องเปิดขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ที่เชื่อมพื้นที่ชั้นบนและชั้นล่างของบ้านเข้าหากัน พร้อมเอ่ยขึ้นอย่างอารมณ์ดี “ช่องเปิดตรงนี้ช่วยถ่ายเทและทำให้อากาศในบ้านหมุนเวียน ไม่ได้เจาะรูเพดานแค่เท่ๆ นะครับ ทุกอย่างทำเพื่อฟังก์ชัน”

บ้านที่สร้างจากโรงงาน

“บ้านหลังนี้มีพื้นที่ประมาณ 100 ตร.ม. ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานโดยเฉลี่ยของบ้านคนญี่ปุ่นในปัจจุบัน โดยมีราคาประมาณ 20.9 ล้านเยน หรือ 7 ล้านบาท เฉพาะค่าก่อสร้างบ้านไม่รวมค่าที่ดิน” คุณซาโต้เล่าต่อ

ถ้าเทียบกับประเทศไทย ราคานี้อาจทำให้ใครหลายคนสะดุ้ง แต่ที่ญี่ปุ่น บ้านราคาประมาณนี้ เทียบกับฟังก์ชันและคุณภาพของวัสดุต่างๆ ที่ลูกค้าได้รับ ถือว่าราคาเป็นมิตรทีเดียว

ที่มูจิสามารถลดต้นทุนการก่อสร้างบ้านลงมาได้ขนาดนี้ เพราะบ้านมูจิเป็น ‘บ้านสำเร็จรูป’ หรือ Prefabricated House ที่มีข้อดีคือสามารถสร้างเสร็จได้ในเวลาระยะสั้น และอยู่ในระดับราคาที่เอื้อมถึง แทบทุกองค์ประกอบในบ้าน ตั้งแต่สายไฟ ท่อ ไม้ เหล็กต่างๆ ตัดเป็นขนาดพอดีมาจากโรงงาน จากนั้นเอามาประกอบที่หน้างานเฉยๆ

บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House

“เมื่อทุกอย่างผลิตสำเร็จรูปมาจากโรงงาน ทำให้แรงงานที่ใช้น้อยลง ข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นก็ลดลงไปด้วย ทำให้ผลลัพธ์ในการก่อสร้างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญคือไม่มีเศษวัสดุเหลือใช้เลย”

คุณซาโต้อธิบายว่า หลังปี 2009 คนญี่ปุ่นเจเนอเรชันใหม่ต่างให้ความสนใจเรื่องภาวะโลกร้อนและ Footprint ที่เราทิ้งไว้กับโลก รวมถึงใส่ใจเรื่องการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

แนวคิดของมูจิในออกแบบผลิตภัณฑ์รวมถึงสร้างบ้านที่ลดการเพิ่มขยะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้ใจคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไปเต็มๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาคนก็เริ่มให้การยอมรับบ้านมูจิ

“บ้านที่คนเคยสบประมาทว่าสวยแต่อยู่ไม่ได้ ปัจจุบันสร้างถึงปีละ 300 หลังทั่วญี่ปุ่น ด้วยทีมออกแบบเพียงแค่ 10 คนเท่านั้น”

บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House

บ้านมูจิใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้นประมาณ 11 เดือน นับตั้งแต่วันแรกที่ลูกค้าเดินเข้ามาบอกให้สร้างบ้านให้

5 เดือนแรกเป็นขั้นตอนการออกแบบ เพราะถึงแม้จะเป็น Prefabricated House แต่บ้านทุกหลังผ่านการ Customize ปรับบางส่วนให้ตอบสนองความต้องการของผู้เป็นเจ้าของบ้าน และให้เข้ากับพื้นที่ตั้งของบ้าน

1 เดือนครึ่งต่อมา เป็นขั้นตอนการคำนวณและตัดวัสดุที่ใช้ประกอบบ้านทั้งหมดในโรงงาน

และ 4 เดือนต่อมา เป็นขั้นตอนการประกอบบ้าน ซึ่งคุณซาโต้แอบกระซิบบอกว่า ไซต์งานก่อสร้างบ้านของมูจินั้นเนี้ยบนิ้ง สะอาดเอี่ยมมาก แทบไม่มีฝุ่นหรือคราบสกปรกเลย เพราะทุกอย่างทำสำเร็จมาแล้วจากโรงงาน

บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House

พวกเราโค้งขอบคุณคุณซาโต้ที่เดินออกมาส่งหน้าประตู

ทันทีที่ก้าวเท้าออกมาจากบ้าน สายลมอุ่นๆ ปะทะหน้าอีกครั้ง ตลอดเวลา 1 ชั่วโมงใน MUJI Window House ฉันลืมไปเสียสนิทว่าที่นี่คือ โอซาก้าในฤดูร้อน ที่ร้อนมาก!

แหงนหน้ามองท้องฟ้า หลังคาบ้านรูปสามเหลี่ยมสีขาวตัดกับสีฟ้าสดใส ดวงอาทิตย์ดูจะเจิดจ้ากว่าที่ประเทศไทยเสียอีก

‘เล็ก เรียบง่าย งดงาม’ นั่นล่ะคือคอนเซปต์ของบ้านหลังนี้

บ้านเล็ก, บ้านสีขาว, บ้านมูจิ, MUJI Window House

AP Open House คือโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาฝึกงานได้เข้ามาเรียนรู้กระบวนการทำงาน ผ่านการปฏิบัติงานจริง ภายใต้การดูแลของ AP Academy สถาบันเพื่อการเรียนรู้ครบวงจรด้านอสังหาริมทรัพย์แห่งแรกในประเทศ โดย AP Thailand

จากผู้สมัครกว่า 3,000 จาก 77 สถาบันการศึกษา น้องๆ ทั้ง 50 คนที่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับการฝึกอบรมความรู้ทั้งด้านนวัตกรรมการออกแบบก่อสร้าง และกระบวนการขายสินค้าอสังหาริมทรัพย์ผ่านแพลตฟอร์มใหม่ๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด

โดยน้องๆ ทั้ง 4 คนที่ได้ไปเยี่ยม MUJI Window Hose ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น คือตัวแทนนักศึกษาจากโปรแกรมวิศวกรรมโยธา และโปรแกรมการตลาดและการขาย ที่มีผลงานการฝึกงานโดดเด่นตลอดระยะเวลา 2 เดือนของโครงการ

Writer & Photographer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน