17 กรกฎาคม 2018
200 K

หลังจากการขัดข้องของรถไฟฟ้าสายหนึ่ง (จากที่มีแค่ 2 สาย) เมื่อปลายเดือนก่อน เหมือนเป็นการบอกให้เรารู้กลายๆ ว่าเมืองเทพสร้างแห่งนี้ไม่ได้ถูกสร้างทางเลือกในการเดินทางสักเท่าไหร่ ถ้าจะพอมีทางเลือกก็มักจะต้องแลกมากับค่าใช้จ่ายที่สูงลิบอย่างรถแท็กซี่ (ซึ่งเมื่อไหร่ที่หยดน้ำจากฟ้าร่วงหล่นลงมา ทางเลือกนี้ก็แทบจะไม่เหลือให้ใช้บริการได้อีกเลย)

แต่ในช่วงเวลาอีกไม่กี่ปีจากนี้ไปสถานการณ์การเดินทางของคนกรุงเทพฯ ก็คงจะเริ่มดีขึ้น เพราะรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายหลากหลายสีที่กระจายครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ กำลังจะเริ่มเปิดให้บริการกันแล้ว หลังจากที่เส้นทางรถไฟฟ้าแทบไม่ได้มีการขยับขยายเพิ่มเติมเลยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา และรถไฟฟ้าสายที่ใกล้ความจริงที่สุดซึ่งจะเป็นสายอื่นไปไม่ได้ก็คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั่นเอง

สถานีสนามไชย, MRT , รถไฟใต้ดิน, ช.การช่าง

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หรือชื่อเดิม MRT กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วจะมีเส้นทางเป็นเหมือนวงกลมรอบกรุงเทพฯ (รูปแบบวงกลมนี้ชวนให้นึกไปถึงรถไฟสาย Yamanote ของโตเกียวเลยทีเดียว)

ซึ่งเส้นทางจากบางซื่อก็จะถูกขยายต่อเส้นทางแบบแบบลอยฟ้าคล้ายกับสถานี BTS โดยออกจากสถานีบางซื่อ วิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาตามถนนจรัญสนิทวงศ์ทั้งเส้น จนมาบรรจบกันกับอีกสายหนึ่งที่ท่าพระ เส้นทางนี้จะถูกเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2563

ส่วนเส้นทางจากหัวลำโพงจะถูกต่อขยายออกมาในรูปแบบรถใต้ดินแบบเดิมผ่านสถานีวัดมังกร วังบูรพา สนามไชย ก่อนลอดแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังอิสรภาพ และบรรจบกันที่ท่าพระ ก่อนจะวิ่งยาวไปจนถึงบางไผ่, บางหว้า, เพชรเกษม 48, ภาษีเจริญ และบางแค ซึ่งเส้นทางนี้จะเปิดให้ทดลองใช้ในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว (เมษายน 2562) เรียกได้ว่าภายในปีสองปีนี้คนกรุงเทพฯ จะมีตัวเลือกในการเดินทางที่สะดวกขึ้นอีกเยอะมาก

ทีนี้นอกจากความตื่นเต้นของเราเมื่อได้เห็นเส้นทางของรถไฟฟ้าสายนี้ ก็พาให้เกิดความสงสัยขึ้นมาว่าแล้วรถไฟฟ้าใต้ดินจะเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาได้ยังไงกันนะ จะเป็นอุโมงค์ที่อยู่กลางน้ำแบบในอควาเรียม หรือถ้าไม่ใช่จะเป็นแบบไหนกัน เพราะถึงแม้ว่ารถไฟฟ้าของหลายๆ เมืองใหญ่ทั่วโลก ไม่ว่าจะลอนดอน นิวยอร์ก ปารีส ต่างก็มีส่วนที่ข้ามแม่น้ำกันเป็นเรื่องปกติกันอยู่แล้ว

แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศดินตะกอนปากแม่น้ำแสนอ่อนนุ่มของบ้านเรา ทำให้เรานึกภาพไม่ออกจริงๆ เรื่องแบบนี้คิดเองยังไงก็คงจะไม่มีทางคิดได้ เราจึงควรไปถามจากผู้รู้ ซึ่งก็คือ บริษัท ช.การช่าง ผู้ก่อสร้างสถานีและอุโมงค์ลอดแม่น้ำที่มีผลงานก่อสร้างโครงสร้าง ทางด่วน สถานที่สำคัญต่างๆ มากมายในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว เราจึงได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาที่ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสนามไชย จุดสุดท้ายก่อนที่รถไฟฟ้าจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังถนนอิสรภาพ เพื่อมาดูให้เห็นกับตาว่ารถไฟฟ้าจะข้ามแม่น้ำได้อย่างไร

จึงขอให้ท่านผู้โดยสารนั้นเตรียมตัวให้พร้อม ยืนรอรถหลังเส้นเหลือง ระวังช่องว่างระหว่างชานชาลาและขบวนรถ และโปรดงดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มขณะอยู่ในระบบรถไฟฟ้า ก่อนจะก้าวขาเข้ามาดูไปพร้อมๆ กันเลย

สถานีสนามไชย

ทาง ช. การช่าง เล่าให้เราฟังถึงวิธีการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของรถใต้ดินว่า เป็นการขุดอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาไปอีกที (ฮะ!) ตัวแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีความลึกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 เมตร ตัวอุโมงค์รถไฟฟ้านั้นขุดลึกลงไปจากก้นแม่น้ำอีก10 เมตร หรือลึก 30 เมตรจากผิวดิน โดยในบางช่วงที่ลึกที่สุดจะลึกไปถึง 38 เมตร ซึ่งก็ถือว่าเป็นการขุดที่ค่อนข้างลึก ถ้าใครนึกไม่ออกว่ามันลึกแค่ไหนก็ให้จินตนาการถึงตึก 10 ชั้นนะครับ

สถานีสนามไชย, MRT , รถไฟใต้ดิน, ช.การช่าง

และด้วยตำแหน่งที่ตั้งของสถานีที่อยู่ใกล้สถานที่สำคัญหลายที่ในตัวเมืองเก่า ทางกรมศิลป์จึงไม่อนุญาตให้ทำการขุดเปิดผิวจราจรได้แบบปกติ ทาง ช. การช่าง เลยได้มีการใช้เทคนิคการก่อสร้างสถานีแบบที่พิเศษกว่าที่อื่น นั่นคือขุดดินเพื่อทำโครงสร้างไว้ริมสองฝั่งของถนนไว้ก่อน แล้วจึงนำเอาท่อเหล็กขนาดใหญ่จำนวนมากมาเสียบรองไว้ใต้พื้นถนนเพื่อให้ถนนสามารถใช้งานได้ตามปกติ

หลังจากนั้นจึงเริ่มทำการขุดดินลงไปเพื่อสร้างตัวสถานีต่อไป และในช่วงที่มีการก่อสร้างสถานีก็มีการขุดเจอโบราณวัตถุอีกด้วย

สถานีสนามไชย, MRT , รถไฟใต้ดิน, ช.การช่าง

นอกจากเทคนิคการสร้างที่พิเศษแล้ว ตัวสถานีที่ผ่านเขตเมืองเก่าทั้ง 4 สถานีนั้นเลยได้รับการออกแบบสถาปัตยกรรมทั้งภายนอกและภายในให้สอดรับกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ ด้วย ต่างจากสถานีอื่นๆ ที่มีหน้าตาแบบเดียวกันไปหมด ซึ่งรูปแบบสถานีที่ออกแบบมาเป็นพิเศษตามบริบทของย่านนั้นๆ ก็มีการทำกันแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นที่จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน

สถานีสนามไชย, MRT , รถไฟใต้ดิน, ช.การช่าง
สถานีสนามไชย, MRT , รถไฟใต้ดิน, ช.การช่าง
สถานีสนามไชย, MRT , รถไฟใต้ดิน, ช.การช่าง

โดยทั้ง 4 สถานีจะประกอบไปด้วย สถานีวัดมังกร ที่ตกแต่งออกมาแบบจีน มีการหยิบเอาลวดลายจีนและมังกรมาตกแต่งสถานีด้วย สถานีสามยอด ที่บริเวณนั้นเป็นตึกแถวที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เลยหยิบเอาดีไซน์ของตึกยุคนั้นมาใช้ในการออกแบบด้วย สถานีอิสรภาพ ที่หยิบเอารูปหงส์จากวัดหงส์รัตนารามมาใช้ตกแต่งตัวสถานี และ สถานีสนามไชย ที่ค่อนข้างพิเศษเพราะถูกออกแบบโดย รศ. ดร.ภิญโญ  สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ โดยหยิบเอาเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยแห่งรัตนโกสินทร์ตอนต้นมาประยุกต์ใช้ ทั้งในส่วนของรูปแบบรั้วกำแพงพระราชวัง รูปแบบของฐานเสา การมีบัวตกแต่งที่หัวเสาของสถานี ลวดลายไทยที่ใช้ตกแต่งในผนังและฝ้าในหลายๆ จุด ซึ่งทางรถไฟฟ้าบอกว่านี่เป็นหนึ่งในสถานีรถไฟฟ้าที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเราก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง

สถานีสนามไชย, MRT , รถไฟใต้ดิน, ช.การช่าง
สถานีสนามไชย, MRT , รถไฟใต้ดิน, ช.การช่าง
สถานีสนามไชย, MRT , รถไฟใต้ดิน, ช.การช่าง

ลอดแม่น้ำ

ส่วนที่ทำให้เราสงสัยและอยากมาให้เห็นกับตามากที่สุดก็คือ ส่วนของอุโมงค์ลอดแม่น้ำจากสถานีสนามไชยไปยังสถานีอิสรภาพ เมื่อผมลงบันไดจากชั้นชานชาลาก็ได้เห็นอุโมงค์อยู่ตรงหน้า ซึ่งในความรู้สึกแรกที่เห็นมันดูเหมือนฉากสถานีอวกาศในหนังไซไฟมากกว่าจะเป็นอุโมงค์รถไฟฟ้า เนื่องจากการต้องขุดอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำตามที่บอกไป จึงต้องใช้โครงสร้างอุโมงค์ที่แข็งแรงและเคลื่อนย้ายได้ง่าย ช. การช่าง จึงใช้ผนังอุโมงค์คอนกรีตแบบโค้งวงกลมที่ประกอบกันด้วยน็อตแบบโค้ง ซึ่งผนังโค้งหกชิ้นนี้เมื่อประกอบล็อกเข้าด้วยกันแล้วจะเกิดเป็นอุโมงค์สั้นๆ ที่มีความยาว 1 เมตร 20 เซนติเมตรเท่านั้น

สถานีสนามไชย, MRT , รถไฟใต้ดิน, ช.การช่าง
สถานีสนามไชย, MRT , รถไฟใต้ดิน, ช.การช่าง

หลังจากที่หัวเจาะเจาะดินด้านหน้าไปแล้วจึงค่อยๆ สวมตัวผนังอุโมงค์นี้ตามไปเรื่อยๆ ซึ่งระยะทางของอุโมงค์ใต้น้ำนี้มีระยะทางยาวประมาณ 2 กิโลเมตร คำนวณดูคร่าวๆ ก็ต้องใช้ตัวอุโมงค์นี้ไม่ต่ำกว่า 1,600 วงเลยทีเดียว และเมื่อต้องระวังน้ำซึมลงมา จึงใส่แผ่นยางไว้ระหว่างวงอุโมงค์เพื่อป้องกันน้ำซึมไหลลงมา นับว่าเป็นงานวิศวกรรมที่เราแทบจินตนาการถึงวิธีการก่อสร้างไม่ออกเลยจริงๆ ถ้าไม่ได้ลงมาดูด้วยตาของตัวเอง

สถานีสนามไชย, MRT , รถไฟใต้ดิน, ช.การช่าง

การได้มาเห็นและรับรู้ถึงการสร้างและเทคนิคต่างๆ ทางวิศวกรรมของอุโมงค์และสถานีสนามไชยแห่งนี้มันช่างน่าทึ่งจนแทบทำให้เราอดใจรอขึ้นรถไฟฟ้าสายใหม่ในปีหน้าและปีต่อๆ ไปไม่ไหวแล้ว ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ถูกเปิดใช้แล้ว วิกฤตด้านการจราจรบนถนนของชาวกรุงเทพฯ ก็น่าจะบรรเทาเบาบางลงได้เสียที…

 
ขอขอบคุณ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน)
 

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan