26 พฤศจิกายน 2018
12 K

มันเป็นยังไง…เป็นชาวมินิมอล (Minimalist)

มองไปรอบๆ ถ้าให้รื้อข้าวของที่มีทั้งหมดตอนนี้ แล้วให้เลือกเก็บไว้ได้แค่ 100 ชิ้น คุณจะเลือกเก็บอะไรไว้

เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องครัว ต้นไม้ หนังสือ ของเล่น เครื่องดนตรี อุปกรณ์กีฬา รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องประดับ ของใช้จิปาถะ รวมไปถึงรถยนต์ หรือแม้แต่บ้าน อะไรกันแน่ที่สำคัญจริงๆ ต่อการใช้ชีวิต

ง่ายที่สุด เราอาจดูพระสงฆ์ในศาสนาพุทธเป็นตัวอย่างก็ได้ เพื่อให้เห็นภาพการถือครองเครื่องใช้และการดำรงชีวิตที่เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แต่ถ้าดูสุดโต่งไป ยังมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ดำเนินวิถีชีวิตได้ใกล้เคียง หรืออย่างน้อย พยายามครอบครองข้าวของเครื่องใช้ให้น้อยที่สุด และดำเนินวิถีชีวิตภายใต้ความเรียบง่ายนั้นให้มากที่สุด

พวกเขาเรียกตัวเองว่า เป็นชาว ‘มินิมอลลิสต์ (Minimalist)’

01

“ผมมีทุกอย่างที่เคยอยากได้”

“ผมมีทุกอย่างที่ควรจะมี รอบตัวผม ทุกคนพูดว่า ‘นายประสบความสำเร็จแล้ว’ แต่จริงๆ แล้ว ผมไม่มีความสุขเลย ชีวิตผมมันมีช่องโหว่ที่ว่างเปล่า ผมจึงพยายามอุดช่องโหว่นั้นแบบที่หลายคนก็ทำกัน ด้วยสิ่งของมากมาย

“ผมเติมเต็มช่องโหว่ ด้วยการจับจ่ายสินค้า”

ถ้าใครเป็นสมาชิก Netflix ก็น่าจะเคยเห็นภาพยนตร์สารคดี Minimalism: A Documentary About the Important Things (2016) ผ่านตากันมาบ้าง

ประโยคคำพูดข้างบนเป็นประโยคในต้นเรื่องของหนัง กล่าวโดย ไรอัน นิโคเดมัส (Ryan Nicodemus) ชาวมินิมอลลิสต์ตัวเอกของเรื่อง หลังจากที่หนังฉายภาพความโกลาหลและความรุนแรงของฝูงชนที่พากันกรูเข้าไปแย่งหยิบของในห้างสรรพสินค้า เมื่อประกอบกับคำพูดของไรอัน จึงเหมือนเป็นการบอกเรากลายๆ ถึงภัยร้ายของโจทก์คือวัฒนธรรมบริโภคนิยม ที่ทั้งตัวไรอันและเราแทบทุกคนต่างตกเป็นจำเลย

ชาวมินิมอลลิสต์จึงเป็นกลุ่มคนที่ไม่เอาด้วยกับวัฒนธรรมการบริโภคที่กลืนกินตัวเขาและสังคมที่เขาอยู่ โดยหากจะกล่าวว่าวิถีชีวิตแบบมินิมอลลิสม์ (Minimalism) เป็นวัฒนธรรมย่อยหรือ Subculture รูปแบบหนึ่งก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะมีวิธีการดำเนินชีวิตที่ตั้งคำถามและสวนทางกับการใช้ชีวิตของคนหมู่มาก จนถึงมีความสนใจในวิธีการดำเนินชีวิตคล้ายๆ กันจนกลายเป็นสังคมย่อยๆ สังคมหนึ่ง ทำให้พวกเขาแปลกแยกออกมาจากความเชื่อหรือค่านิยมกระแสหลักทั่วไป

จริงๆ แล้ว คำว่ามินิมอลลิสต์ก็ยังมีความหมายในมิติด้านศิลปะ ที่หลายคนอาจคุ้นเคยจากประโยคประเภทที่ว่า ‘น้อยแต่มาก’ และอันที่จริง ศิลปินหรือคนที่นิยมศิลปะมินิมอลลิสม์นี้ก็ดูจะขบถต่อขนบของศิลปะจากยุคก่อนหน้าไม่ต่างกัน

 

02

“ในขณะที่ผมคิดอยู่นั้น ผมก็อยากแต่งอพาร์ตเมนต์เป็นสไตล์ของผม…เป็นแนวผมน่ะ ดังนั้น ผมต้องมีของตกแต่งเฉพาะตัวที่ทำให้ดูโก้เก๋”

“…ว่าแต่สไตล์ของผมคือแบบไหนล่ะ”

“กรอบรูปสแตนเลสพวกนี้สื่อถึงสไตล์ไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า ภาพเลียนแบบงานของ อ็องรี มาติสส์ (Henri Matisse ศิลปินชาวฝรั่งเศส-ผู้เขียน) นี้ แสดงออกถึงความเฟี้ยวแต่มีกลิ่นอายของความเป็นมืออาชีพได้ไหม”

“…แล้วผมเฟี้ยวขนาดไหนล่ะ”

ในตอนกลางเรื่องของภาพยนตร์ Minimalism: A Documentary About the Important Things โจชัว ฟิลด์ส มิลล์เบิร์น (Joshua Fields Millburn) คู่หูชาวมินิมัลลิสต์ของไรอัน อ่านข้อความข้างต้นจากหนังสือ EVERYTHING THAT REMAINS: A MEMOIR ของทั้งคู่ให้ผู้ชมฟัง คล้ายกำลังบอกว่า เขาและคนในยุคร่วมสมัยเดียวกัน ต่างมัวแต่พากันนิยามตัวเองด้วยสิ่งของที่หาซื้อมา จน ‘ตัวตน’ หรือ ‘แก่นแท้’ ของตัวเราที่เป็นผู้บริโภคนั้นได้สูญหายไปอย่างน่าใจหาย พร้อมๆ กับการพยายามหาข้าวของเครื่องใช้มาเพื่อประดับตัวตนนั้นอย่างไม่มีสิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าศิลปะของมาติสที่ถูกกล่าวถึงในหนังนั้น จะไม่ได้ถูกจัดรวมไว้เป็นศิลปะแนวมินิมอลลิสม์ แต่ศิลปะแนวมินิมอลลิสม์กับวิถีชีวิตของชาวมินิมอลลิสต์นั้น ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกันอยู่ อาจไม่ใช่โดยตรงเสียทีเดียว หากแต่ โดยเฉพาะการค้นหาแก่นของความจริงแท้ที่ทั้งสองต่างมีร่วมกัน

ศิลปะมินิมอลลิสม์เป็นกระแสงานศิลปะที่โด่งดังขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1960 ถึงราว 1970 หลังจากที่ศิลปะแนว Abstract Expressionism หรือศิลปะประเภทใช้การสาดสีเทสีอย่างรุนแรงด้วยเทคนิคต่างๆ ลงบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ รุ่งเรืองอย่างสูงในสหรัฐอเมริกามาก่อนหน้า

เหล่าศิลปินหลายคนในเวลานั้นเห็นว่า ศิลปะแบบ Abstract Expressionism นั้นมีแต่การแสดงออกที่เกินเลย เต็มไปด้วยอารมณ์ และดราม่าเกินเหตุ จึงเกิดกระแสการเลิกใส่อารมณ์หรือเรื่องราวส่วนตัวของศิลปินลงในงานศิลปะ เลิกเปรียบเทียบศิลปะว่าเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือแม้แต่ส่งข้อความใดๆ ผ่านงานศิลปะ

สิ่งที่เรียกว่าศิลปะมินิมอลลิสม์จึงเป็นเพียงการแสดงรูปร่างพื้นฐานที่สุด หรือวัตถุที่เป็นเรขาคณิตซ้ำๆ กัน โดยเฉพาะผ่านวัสดุที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรม เช่น อะลูมิเนียม ไฟเบอร์กลาส กระจก หรือแม้แต่หลอดไฟ อย่างตรงไปตรงมาที่สุด และแค่นั้น

ไม่แปลกที่ผู้ชมจะรู้สึกงุนงงและหงุดหงิดกับการเห็นแค่กล่องอะไรสักอย่างตั้งอยู่กลางหอศิลป์แล้วจะถูกเรียกว่าเป็นศิลปะ แต่แค่นั้นเองนั่นล่ะที่เป็นวัตถุประสงค์หลักของศิลปินมินิมอลลิสต์ เพราะพวกเขาต้องการให้วัตถุที่อยู่ตรงหน้าผู้ชมนั้นสื่อสารถึงตัวมันเองอย่างตรงไปตรงมา

แฟรงค์ สเตลล่า (Frank Stella) ศิลปินมินิมอลลิสต์ชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า“สิ่งที่คุณเห็น…ก็คือสิ่งที่คุณเห็น” ซึ่งหมายถึงการที่ศิลปะได้แสดงแก่นแท้ออกมาโดยไม่เป็นสิ่งอื่น ศิลปะมินิมอลลิสม์ ในแง่หนึ่งจึงหมายถึงความพยายามเข้าถึง ‘แก่นแท้’ และค้นหาสุนทรียะอันบริสุทธิ์ของศิลปะอย่างถึงที่สุดนั่นเอง

สุนทรียะแบบมินิมอลลิสม์นั้นยังขยายขอบเขตไปสู่ศิลปะและงานออกแบบรูปแบบอื่นๆ ทั้งแฟชั่น สถาปัตยกรรม และงานออกแบบแขนงต่างๆ จนกลายเป็นรูปแบบศิลปะที่ ‘เฟื่องฟู’ และ ‘มีค่า’ ขึ้นมาในเวลาต่อมา ในที่สุด ศิลปะที่ดูไม่มีเรื่องราวใดๆ ก็ได้วกกลับมากลายเป็นเทรนด์ของการออกแบบสินค้าที่เราจับจ่ายในปัจจุบัน อย่างในแบรนด์แอปเปิลหรือมูจิ ที่รู้กันว่าการเน้นที่ความ ‘น้อย’ ‘เรียบง่าย’ นั้นกลับ ‘แพง’ กว่าแบรนด์อื่นอย่างเห็นได้ชัด หากแต่คนก็ยังชอบและยินดีจ่ายเพื่อบริโภคความ ‘ไม่มีอะไร’ เช่นนี้อยู่เสมอๆ

 

03

“มินิมอลลิสม์ไม่ใช่วิถีชีวิตที่สุดโต่ง ผมเชื่อสนิทใจว่าคุณภาพต้องมาก่อนปริมาณ”

“เพราะฉะนั้น ผมขอมีเสื้อสเวตเตอร์ดีๆ สักตัวดีกว่าสเวตเตอร์ตลกๆ ที่ผมไม่อยากใส่อยู่เต็มตู้ ตอนนี้ผมไม่ค่อยมีเสื้อผ้าแล้ว แต่ทุกชิ้นเป็นชิ้นโปรดทั้งนั้น”

โจชัวอธิบายผ่านกล้องเพื่อขยายความแนวความคิดมินิมอลลิสม์ของเขาให้ชัดเจนขึ้นในภาพยนตร์หลักๆ แล้ว Minimalism: A Documentary About the Important Things จึงไม่ได้กำลังบอกให้เลิกซื้อของเสียทีเดียว แต่คือการบอกให้เลือกซื้อของที่มีคุณค่า และผ่านการพิจารณาแล้วอย่างถี่ถ้วน (ทั้งสองคนมักใช้คำพูดว่า “มันเพิ่มคุณค่าให้คุณไหม?” (Is this adding value?) โดยไรอันและโจชัวผู้นำแนวคิดมินิมอลลิสต์ในภาพยนตร์ ยังสื่อสารแนวคิดผ่านเว็บไซต์ www.theminimalists.com และ เพจเฟซบุ๊ก The Minimalists ที่มีผู้ติดตามกว่า 5 แสนคนในเวลานี้

ในภาพยนตร์ยังมักพูดถึงเรื่องการตรวจสอบตัวเอง และเทคนิคการการลดทอนข้าวของแบบต่างๆ ให้เหลือของใช้แค่เท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ต่อต้านความฝันแบบอเมริกันชนที่เน้นให้คนต้องมีบ้าน มีรถยนต์ และจับจ่ายซื้อของอย่างไม่รู้จบเพื่อให้ทันเทรนด์ในสื่อโฆษณาทั้งหลาย โดยหากจะต้องใช้ของใช้จำเป็นในบางวาระโอกาส เช่น หนังสือ กระเป๋าเดินทาง เสื้อกันหนาว รองเท้ากันหนาว ก็อาจใช้การยืมจากคนที่มีแทนการซื้อใหม่

นอกจากเรื่องข้าวของเครื่องใช้ ความสนใจของชาวมินิมอลลิสต์ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องขยะและการกินอยู่ เพราะทั้งหมดล้วนพัฒนาได้ด้วยแนวคิดเดียวกัน การลดการซื้อสินค้าใดๆ ย่อมตามมาด้วยการลดขยะหีบห่อที่จะตามมา หรืออาหาร ที่พวกเขาก็มักลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน เพราะการทำอาหารเองนอกจากจะช่วยควบคุมปริมาณขยะได้ ยังทำให้ปรุงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการในแต่ละมื้อได้ในราคาถูก หรือถึงที่สุด หากปลูกผักหรือผลิตอาหารเองได้ วงจรของปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น ก็อาจลดลงจนใกล้เคียงศูนย์

โดยคนที่ใช้ชีวิตในแนวทางนี้ มีอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในญี่ปุ่น หรือแม้แต่ใกล้บ้านเราอย่างสิงคโปร์ ที่วิถีชีวิตแบบมินิมอลลิสม์นั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ข้อมูลใน Google Trends บอกว่าคนสิงคโปร์ค้นหาคำว่า ‘Minimalism’ มากติด 1 ใน 5 ของทั่วโลก และยังเกิดแพลตฟอร์มรวมถึงกลุ่มในโซเชียลมีเดียที่ร่วมกันแชร์วิถีชีวิตแบบมินิมอลลิสม์ในสิงคโปร์อย่างแพร่หลาย

เช่น แฟนแพจ Minimalism in Singapore รวมถึงกลุ่มปิดชื่อเดียวกัน ที่มีสมาชิกกว่า 1,000 คน ซึ่งเป็นที่ร่วมกันแลกเปลี่ยนเทคนิควิธีการลดสิ่งของและการใช้ชีวิต แลกเปลี่ยนและให้ยืมสิ่งของ หนังสือ รวมถึงจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างสมาชิกเป็นระยะๆ

เพราะผู้คนในสิงคโปร์มีความหลงใหลใน Minimalism ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มี Potential ในการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม อย่างล่าสุดที่สิงคโปร์กำลังจะมีเทศกาลงานศิลปะมินิมอลลิสม์งานใหญ่ ในชื่อ ‘Minimalism: Space. Light. Objects.’ ระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 – 14 เมษายน 2562 ณ National Gallery Singapore และ ArtScience Museum

โดยสองพิพิธภัณฑ์จะจัดแสดงผลงานที่แตกต่างภายใต้หัวข้อเดียวกัน โดยผู้จัดกล่าวว่า งานนี้จะเป็นเทศกาลงานศิลปะมินิมอลลิสม์งานแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียอีกด้วย

มีตั้งแต่ผลงานคลาสสิกจากช่วง ค.ศ. 1960 ที่ถูกผลิตขึ้นใหม่ รวมถึงงานมินิมอลลิสม์ร่วมสมัยของศิลปินนานาชาติยุคปัจจุบันรวมกันกว่า 130 ผลงาน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนสายมินิมอลลิสม์หรือไม่ โอกาสของการได้สัมผัสงานศิลปะที่แนวความคิดนั้นใกล้ชิดกับเรามากกว่าที่คิดแบบนี้ อย่างไรก็ไม่ควรพลาด หากคุณมีความหลงใหลแบบเดียวกัน ก็สามารถไปเติมเต็มแพสชันในงานนี้ได้ที่สิงคโปร์

ข้อมูลเพิ่มเติม www.nationalgallery.sg

สำหรับผู้ที่จะมุ่งจะไปชมงาน Minimalism: Space. Light. Objects. ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ The Cloud ขอแถมอีกงานสำหรับผู้ที่ชอบใน Subculture หรืออีกวัฒนธรรมย่อยอย่างวัฒนธรรมของกลุ่มผู้ที่คลั่งไคล้การ์ตูนญี่ปุ่นอย่างเข้าเส้น หรือเรียกอย่างเหมารวมว่าเป็น ‘โอตาคุ’ ซึ่งสิงคโปร์ก็เป็นอีกที่ที่วัฒนธรรมนี้ได้มาเผยแพร่และหยั่งรากมานาน คนที่อ่านมังงะและนิยมชมแอนิเมะที่สิงคโปร์นั้นมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต่างก็หลงใหลและผูกพันไปกับตัวการ์ตูนจากเรื่องต่างๆ ไม่ต่างจากคนไทย

เรื่องวัฒนธรรมโอตาคุที่สิงคโปร์นั้นได้หยั่งรากมานาน ส่งผลให้เกิดความเป็นไปได้ ในการจัดพื้นที่แลกเปลี่ยนความหลงใหลในวัฒนธรรมสำหรับกลุ่มคนกลุ่มนี้มากขึ้น และนอกเหนือจากความเป็นไปได้ที่มากขึ้นแล้ว คอนเทนท์ของงานก็ลึกมากขึ้นด้วย โอตาคุชาวไทยก็สามารถมาแบ่งปันความชอบร่วมกันได้ที่สิงคโปร์

ในงาน ‘3C Anime Fest Asia Singapore 2018′ ในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2561 ณ Suntec Singapore Convention & Exhibition Centre, Hall 401 – 406

คนรักการ์ตูนจะได้พบกับโซนนิทรรศการและบูทจากผู้ผลิตคอนเทนต์โดยตรงขนมาจัดแสดง รวมไปถึงการปรากฏตัวของนักพากย์เสียง ศิลปิน และนักแต่งคอสเพลย์ แถวหน้าของเอเชีย รวมไปถึง Creators Hub อันเป็นที่ที่เปิดให้นักวาดการ์ตูนและผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับการ์ตูนได้เปิดบูทแลกเปลี่ยนสินค้าและพบปะกันกับผู้ร่วมงานได้โดยตลอด งานนี้จึงถือว่าเป็นงานที่รวมวัฒนธรรมการ์ตูนเอาไว้อย่างหลากหลาย เข้มข้น และยิ่งใหญ่ที่สุด อีกงานหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว

ภาพ :  Anime Festival และ Geekculture
ข้อมูลเพิ่มเติม  https://animefestival.asia/singapore18/

Writer

Avatar

กรกฎ หลอดคำ

เขียนเรื่องบ้านและงานออกแบบเป็นงานประจำ สนใจเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ