1

พบกับดาบฟ้า ไชยลับแลง ครั้งแรก เขาถามผมว่า “เมื่อพูดถึงเมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วคิดถึงอะไร”

“ความลึกลับ… ตำนานเมืองแม่ม่าย… การห้ามพูดโกหก… อืม… แล้วก็ทุเรียนหลงลับแล” นั่นคือสิ่งที่ผมพอจะนึกออก

ดาบฟ้า ไชยลับแลง คือชายหนุ่มวัย 36 เป็นคนบ้านลับแลง ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล พ่อของเขาเป็นปู่หนาน อาจารย์ผู้ทำพิธีและมัคนายก รวมถึงเป็นเกษตรกรทำสวนทุเรียนและลางสาด ส่วนยายและทวดเป็นช่างซอ (นักร้องเพลงพื้นบ้านของล้านนา) แต่ไหนแต่ไร เขาตั้งคำถามในเชิงเหตุและผลของตำนานท้องถิ่น พร้อมๆ ไปกับความสงสัยว่าทำไมคนในตัวเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ถึงเรียกชาวลับแลว่าเป็นคนลาว ทั้งๆ ที่ลับแลก็ไม่ได้มีอัตลักษณ์ร่วมกันกับชาวลาวเท่าไหร่ เช่นเดียวกับจังหวัดเพื่อนบ้านอย่างแพร่และน่าน ที่หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวมักจะจัดให้อยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมร่วมกัน คนลับแลก็หาได้คล้าย

เริ่มต้นจากข้อเท็จจริงที่เด่นชัดว่าชาติพันธุ์ของชาวลับแลส่วนใหญ่เป็นชาวไท-ยวนที่อพยพมาจากล้านนา เขาเริ่มศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของถิ่นกำเนิดตัวเองอย่างลงลึก

“เวลาผมถามใคร ทุกคนก็จะตอบคล้ายกันอย่างนี้ เมืองห้ามพูดโกหกเอย เมืองแม่ม่ายเอย แต่ถ้าถามคนลับแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเฒ่าคนแก่ที่บ้านลับแลงจริงๆ นี่คนละเรื่องเลย” ดาบฟ้ากล่าว

ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่ตำนานท้องถิ่นถูกผูกเข้าไว้กับประวัติศาสตร์ของผู้คน หากเมื่อตระหนักรู้อีกที อนุสาวรีย์แม่ม่ายและป้ายขนาดใหญ่ที่เขียนว่า ‘เขตห้ามพูดโกหก’ ก็ปรากฏอยู่พร้อมซุ้มประตูทางเข้าอำเภอลับแลเรียบร้อย

ดาบฟ้าบอกผมว่าเขาไม่ได้ต่อต้านตำนานท้องถิ่น แต่การอ้างตำนานว่าเป็นประวัติศาสตร์ชุมชนคือเรื่องผิดฝาผิดตัว เขาและทันตแพทย์ภัทรภูมินทร์ ชัยชมภู คุณหมอหนุ่มผู้มีอุดมการณ์ร่วมในการสืบค้นและสืบสานวัฒนธรรมล้านนา จึงร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม ‘ฟื้นฟูอัตลักษณ์ไท-ยวนลับแลง’ กลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวกันของชาวลับแล ศิลปิน และนักประวัติศาสตร์ ร่วมกันรื้อฟื้นและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมด้านต่างๆ ทั้งเพลงและทำนองซอลับแลงโบราณ ท่าฟ้อนรำ สถาปัตยกรรมพื้นบ้าน ฯลฯ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เลอลับแลง พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรือนไม้โบราณแบบลับแลที่ดาบฟ้าได้รวบรวมมาไว้ในที่ดินผืนเดียวกัน

“ผมพบว่าประวัติศาสตร์ของเมืองลับแลที่ผ่านมาถูกเขียนและเข้าใจไปเองโดยคนภายนอก นั่นจึงก่อให้เกิดภาพจำที่คลาดเคลื่อนไปกับวิถีชีวิตของผู้คน กลายเป็นว่าเมืองลับแลเป็นเมืองในนิทานปรัมปรา ซึ่งตำนานเหล่านั้นมันไม่มีปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์ใดๆ พอมันไม่เชื่อมโยงกัน การสืบค้นข้อเท็จจริงถึงที่มาของตัวตนคนลับแลก็ไม่มีทางเกิดขึ้น ลับแลก็จะยังคงเป็นลับแล ในความหมายของความลึกลับคลุมเครืออยู่ต่อไป” ดาบฟ้ากล่าว

2

พ่อครูมาลา คำจันทร์ บอกผมว่าหลายปีมานี้เขาอ่านตั๋วเมือง (ตัวอักษรล้านนา) มากกว่าตัวอักษรภาษาไทยเสียอีก

มาลา คำจันทร์ คือนามปากกาของ เจริญ มาลาโรจน์ หลายคนรู้จักเขาในฐานะศิลปินแห่งชาติและนักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนจากนวนิยาย เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน หากคนเชียงใหม่ในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจะรู้จักเขาในฐานะนักค้นคว้าและวิจัยอักษรธรรมโบราณของล้านนา เขาเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาเอกสารโบราณ หน่วยงานอิสระที่ทำงานค้นคว้า ถอดความ และจำแนก คัมภีร์เก่าแก่ที่ได้รับการค้นพบตามวัดวาอารามหรือสถานที่อื่นๆ ทั่วภาคเหนือ ก่อนจะจัดระเบียบเอกสารเหล่านั้นให้กับวัดที่เป็นแหล่งค้นพบ

ฟื้นฟูอัตลักษณ์ไท-ยวนลับแลง จารึก

เมื่อปีที่แล้วผมได้คุยกับพ่อครูครั้งแรกในงานเปิดศูนย์ศึกษาเอกสารโบราณ (ศ.อ.บ.) ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เชียงใหม่ องค์กรของพ่อครู…ไม่สิ พ่อครูขอให้ใช้สรรพนามเรียกอย่างถ่อมตัวว่า ‘กลุ่ม’ ประกอบขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่มีกระบวนการทำงานไม่ซับซ้อน กล่าวคือ หากมีวัดไหนต้องการให้ ศ.อ.บ. ไปช่วยสืบค้น ศ.อ.บ. ก็จะยกทีมกันไปลงพื้นที่ ไล่อ่านคัมภีร์ใบลานและปั๊บสา (สมุดโบราณที่ทำจากกระดาษสา) เพื่อจำแนกหมวดหมู่ ถ่ายสำเนาเก็บไว้ศึกษาต่อ ก่อนจะคืนเอกสารทั้งหมดให้เป็นสมบัติของวัด โดยไม่แสวงหากำไรใดๆ…

ใช่, พ่อครูบอกผมว่ากำไรของเขาคือการสร้างนักประวัติศาสตร์และนักวรรณกรรมรุ่นใหม่ ในขณะที่ยังมีคัมภีร์ใบลานนับร้อยนับพันฉบับที่ยังไม่ถูกเปิดอ่านทั่วภาคเหนือ หากจำนวนผู้คนที่สามารถอ่านอักษรโบราณนี้ได้กลับน้อยลงไปทุกที การสร้างบุคลากรมาช่วยค้นคว้าและต่อยอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้มากขึ้น ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งของเขา นอกเหนือจากการมีโอกาสได้เสพความงามทางภาษา ความคิด และความเชื่อ ของผู้คนในสมัยก่อนผ่านวรรณกรรมโบราณที่ค้นพบ

วัดท้องลับแล

ปลายเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา ผมพบพ่อครูมาลาเป็นครั้งที่ 2 ที่อำเภอลับแล นั่นคือช่วงเวลาหลังจากที่กลุ่มฟื้นฟูอัตลักษณ์ไท-ยวนของดาบฟ้าชักชวนชาวบ้านช่วยกันบูรณะหอไตรกลางน้ำภายในวัดท้องลับแล ตำบลฝายหลวง และขนย้ายคัมภีร์ใบลานที่อยู่ภายในออกมาไว้ในวิหาร ก่อนจะเชิญ ศ.อ.บ. ลงพื้นที่เพื่อจัดระเบียบเอกสารโบราณที่มีนับร้อยฉบับดังกล่าว

นั่นเป็นครั้งที่ 2 อีกเช่นกันที่ได้พบดาบฟ้า เพราะผมตอบรับคำชวนของเขามาลงพื้นที่สังเกตการณ์ที่นี่

3

ผมไปเยือนอำเภอลับแลช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวบ้านในพื้นที่จัดพิธีแห่น้ำขึ้นโฮง พิธีกรรมเก่าแก่ที่จัดขึ้นเพื่อสักการะ ‘เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร’ บุคคลที่ตำนานในท้องที่ระบุว่าเป็นปฐมกษัตริย์ผู้ก่อตั้งเมือง

ม่อนอารักษ์

พิธีกรรมที่มีขึ้นทุกวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี จะจัดขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารในตำบลฝายหลวง ณ เชิงเขาที่มีชื่อว่า ‘ม่อนอารักษ์’ ภูเขาอันเป็นที่สถิตของวิญญาณกษัตริย์ ชาวบ้านทั้งหมด 13 หมู่บ้านต่างนุ่งซิ่นตีนจกแบบพื้นเมือง เดินขบวนมาจากหมู่บ้านของตัวเอง พร้อมหาบน้ำที่ตักมาจากบ่อของหมู่บ้าน ขึ้นภูเขาไปมาสรงน้ำยังหอเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารด้านบน ด้วยความเชื่อว่าเจ้าฟ้าฮ่ามฯ จะดลบันดาลให้ชาวเมืองอยู่ดีกินดี ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล และเรือกสวนไร่นาที่เป็นทั้งอู่ข้าวอู่น้ำและฐานเศรษฐกิจหลักของเมืองออกผลอุดมสมบูรณ์

ตำนานเล่าว่าพิธีกรรมนี้เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 1513 หรือกว่า 1,000 ปีมาแล้ว โดยใน พ.ศ. 2526 ทางเทศบาลก็ได้จัดสร้างอนุสาวรีย์ของเจ้าฟ้าฮ่ามฯ ขึ้นเป็นรูปธรรม กระนั้นความน่าสนใจไม่แพ้ความเก่าแก่ของพิธีกรรม คือตัวตนของพระองค์ท่าน ที่ซึ่งคนท้องถิ่นเองยังเข้าใจไม่ตรงกัน

ในขณะที่ทางราชการผู้จัดสร้างอนุสาวรีย์ให้ข้อมูลว่าเจ้าฟ้าฮ่ามฯ เป็นราชบุตรของพระเจ้าเรืองไทธิราช กษัตริย์ราชวงศ์สิงหนวัติแห่งอาณาจักรโยนกเชียงแสน (ปัจจุบันคืออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) พระองค์เป็นผู้นำชาวเชียงแสนอพยพหนีโรคระบาดลงมาปักฐานอยู่ที่เมืองลับแลเมื่อ พ.ศ. 1513 พร้อมอภิเษกสมรสกับนางสุมาลีเเละนางสุมาลา (ที่เล่ากันว่าทั้งสองเป็นคนคิดค้นผ้าซิ่นตีนจก) หลังสิ้นพระชนม์ ชาวเมืองก็ฝังร่างของพระองค์ไว้บนยอดม่อนอารักษ์แห่งนี้ ก่อนจะมีพิธีสักการะเรื่อยมา นั่นคือการอธิบาย ‘ที่มา’ ของชาวลับแลเรื่องหนึ่ง

กระนั้นในมุมมองของชาวลับแลอีกส่วน กลับเห็นต่างว่าเจ้าฟ้าฮ่ามฯ เป็นดวงวิญญาณอารักษ์ที่บรรพบุรุษชาวเชียงแสนอัญเชิญมาจากบ้านเกิด เมื่อครั้นอพยพหนีการรุกรานของพม่าจากบ้านเกิดลงมาตั้งถิ่นฐาน ณ ดินแดนนี้ โดยมีศาลสถิตอยู่บนม่อนอารักษ์

“เมื่อเทียบปี พ.ศ. 1513 ก็ไม่ตรงกับพงสาวดารฉบับไหนแล้วครับ ตำนานเรื่องนี้จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ กล่าวคืออาจไม่มีเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารอยู่ในประวัติศาสตร์ หรือถ้ามี ก็อาจจะไม่ใช่บุคคลในปี พ.ศ. 1513” ฉัตรชัย แว่นตา นักวิจัยเอกสารโบราณผู้มีพื้นเพเป็นคนลับแล กล่าว

อีกหนึ่งหลักฐานที่ช่วยเน้นย้ำความเลื่อนลอยของตำนานนี้ก็คือต้นทางของข้อมูล ซึ่งฉัตรชัยและดาบฟ้าเล่าตรงกันว่ามาจากหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของพระครูฉิมพลีคณายุกต์-เนื้อหาในเล่มเล่าถึงประวัติการก่อตั้งเมืองลับแล หากพระครูผู้เขียนก็ได้ชี้แจงอยู่ในเล่มแล้วว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดจากที่ท่านนิมิตฝัน ก่อนจะเรียบเรียงออกมา

“มีทั้งชาวบ้านที่เชื่อตามตำนานเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร และชาวบ้านที่เชื่อว่าท่านไม่มีตัวตนอยู่จริง เป็นเพียงวิญญาณอารักษ์ที่อัญเชิญมาไว้ที่เมืองนี้ แต่นั่นดูไม่ใช่เรื่องราวใหญ่โตอะไร เพราะสถานะของพระองค์ท่านก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์ยึดเหนี่ยวจิตใจชาวบ้านที่นี่ไปเรียบร้อยแล้ว นั่นจึงเป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์มากกว่า ที่ต้องมาสืบค้นกันต่อไปว่าข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร” ฉัตรชัยเสริม

4

วัดท้องลับแลตั้งอยู่ห่างจากม่อนอารักษ์เพียงเดินเท้าไม่กี่อึดใจ ในแวดล้อมของจิตรกรรมสีฝุ่นเรื่องมหาเวสสันดรชาดกบนผนังภายในวิหาร พ่อครูมาลาและคณะกำลังรื้อค้นเอกสารโบราณที่ชาวบ้านช่วยกันขนย้ายมาเตรียมไว้ให้

วัดท้องลับแล วัดท้องลับแล

เอกสารมีหลายร้อยฉบับ มากกว่าครึ่งอยู่ในสภาพชำรุดจากกาลเวลา และมีคัมภีร์ใบลานส่วนหนึ่งที่เปื่อยยุ่ยจนคล้ายว่าเมื่อมันต้องลมก็พร้อมจะผุสลายได้ทุกเมื่อ กระบวนการทำงานจึงเป็นไปค่อนข้างช้า เพราะทีมงานที่มีด้วยกัน 7 คนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ระหว่างที่ผมเตร็ดเตร่สำรวจบ้านเรือนและเรือกสวนในลับแลตลอด 3 วัน ผมไม่ได้คุยกับทั้งพ่อครูมาลาและดาบฟ้าใดๆ ต่างคนก็ต่างคร่ำเคร่งกับหน้าที่ของตัวเองไป (ครับ, หน้าที่ของผมคือการเตร็ดเตร่ไปเรื่อยๆ อย่างที่บอกนี่แหละ) แต่นั่นล่ะ เย็นย่ำของวันที่ 3 ที่ผมอยู่ที่นี่ ระหว่างมื้ออาหารค่ำที่พิพิธภัณฑ์ของดาบฟ้า พ่อครูกับทีมงานเอกสารโบราณเพิ่งมุ่งตรงมาจากวัดเพื่อบอกข่าวดีแก่ดาบฟ้า และเราก็มีเรื่องต้องคุยกันอีกครั้ง

วัดท้องลับแล

เป็นสมุดแบบที่เราเห็นทั่วไปในปัจจุบันที่พ่อครูมาลาเรียกมันว่า ‘สมุดฝรั่ง’ เขียนด้วยอักษรไทย เนื้อหาภายในได้รับการคัดลอกมาจากคัมภีร์ใบลานเดิมที่ใกล้จะเปื่อยผุ คัดลอกโดยพระครูธรรมเนตรโสภน อดีตเจ้าคณะอำเภอและเจ้าอาวาสวัดท้องลับแล เอกสารดังกล่าวคือตำนานพระเจ้ายอดคำทิพย์ พระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด ต้นฉบับเขียนโดยพระสุวรรณปัญญาญาณ เมื่อ พ.ศ. 2128 โดยในคำนำที่พระครูธรรมเนตรโสภณเขียนไว้ระบุว่าท่านพบต้นฉบับใบลานนี้เมื่อคราวบูรณะแท่นพระเจ้ายอดคำทิพย์ ราวปี พ.ศ. 2507 ใบลานซุกอยู่ในโพรงใต้ฐานพระ ท่านเห็นว่าเป็นเอกสารสำคัญจึงเอามาแปลจากอักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรไทยใส่ลงสมุด

ตัดภาพมาในยุคปัจจุบัน ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า หนึ่งในทีมงาน ศ.อ.บ. ก็ได้พบสมุดเล่มนี้เข้าอีกทีภายในกองคัมภีร์ใบลานที่วางสุมกันอยู่กลางวิหาร

คัมภีร์ใบลานเดิม คัมภีร์ใบลานเดิม คัมภีร์ใบลานเดิม

การค้นพบเอกสารที่ว่าด้วยตำนานการสร้างพระพุทธรูปพระเจ้ายอดคำทิพย์ดูจะไม่เกี่ยวอะไรกับประวัติเมืองลับแลเลย หากไม่มีใครสักคนอ่านมันอย่างละเอียด เพื่อพบว่าตำนานได้อ้างอิงที่มาของเมืองลับแลไว้ โดยเฉพาะห้วงเหตุการณ์ที่เจ้ายี่กุมกาม เจ้าเมืองเชียงราย (ในเอกสารเขียนว่าเจ้ายี่ความแก้ววงเมือง) ขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าไสลือไทแห่งสุโขทัย เพื่อยกทัพไปบุกเชียงใหม่หวังยึดบัลลังก์จากพระญาสามฝั่งแกนผู้เป็นพระอนุชา แต่ไม่สำเร็จ เพราะต้องกลศึกของฝ่ายล้านนา เจ้ายี่กุมกามจึงได้เทครัวหรือกวาดต้อนชาวเมืองเชียงรายพาผู้คนติดตามกองทัพสุโขทัยลงมาตั้งรกรากอยู่บนพื้นที่ที่มีชื่อว่าเวียงสระหนองหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองลับแลในปัจจุบัน

เอกสารฉบับเดียวกันยังอ้างอิงอีกห้วงเหตุการณ์ คือหลังจากยุคเจ้ายี่กุมกามย้ายมาเวียงสระหนองหลวงแล้ว พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 9 ของราชวงศ์มังราย ยกทัพลงมาจากเชียงใหม่เพื่อขับไล่กองทัพอยุธยาของพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ โดยกองทัพของพระเจ้าติโลกราชก็ได้มาพักพลที่เมืองแห่งนี้ และพบว่าผู้คนถิ่นนี้เป็นชาวไท-ยวนอยู่แล้ว ต่อมาหลังจากพระองค์สามารถขับไล่กองทัพอยุธยาออกไปแล้ว ก็ได้สถาปนาเวียงสระหนองหลวงเป็นเมืองลับแลงไชย และราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าติโลกมหาราชาฟ้าฮ่าม ปฐมกษัตริย์แห่งลับแลงไชย

ในเอกสารยังกล่าวด้วยว่าคำว่า ‘ฟ้าฮ่าม’ ที่พ่วงท้ายชื่อมาจากเมื่อตอนที่พระเจ้าติโลกราชเดินทางมาถึงเมืองแห่งนี้และพบว่าท้องฟ้ามีแสงสีแดงอร่าม (ฮ่าม) ในยามบ่าย (แลง) ที่ดวงตะวันใกล้จะลับ

นั่นคือที่มาของคำว่า ลับแลง

พ่อครูมาลาบอกว่าจากเนื้อความในเอกสาร ซึ่งได้ตรวจสอบปีพุทธศักราชและข้อมูลที่สอดรับกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ‘มีความเป็นไปได้’ ว่าห้วงเหตุการณ์แรกในยุคเจ้ายี่กุมกามน่าจะอธิบายการอพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมืองลับแลของชาวไท-ยวน ซึ่งปัจจุบันเป็นชาติพันธุ์หลักของพื้นที่ ขณะที่เหตุการณ์ที่สองซึ่งสอดรับกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ว่าพระเจ้าติโลกราชเสด็จลงมาทำการศึกกับอยุธยาในภูมิภาครอบๆ นี้จริง หากก็ไม่มีระบุมาก่อนว่าพระองค์ท่านเคยเสด็จมาที่ลับแล เอกสารจึงนำเสนอข้อมูลใหม่ที่ว่า บางทีเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารที่ชาวลับแลเลื่อมใสศรัทธาในฐานะวิญญาณอารักษ์อาจจะเป็นบุคคลคนเดียวกับพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดองค์หนึ่งแห่งล้านนา

5

ครับ, ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมดาบฟ้าถึงปลื้มปริ่มกับข้อมูลชุดนี้มาก จนถึงกับน้ำตาคลอหน่วย ก่อนจะก้มลงกราบพ่อครูมาลาเป็นการขอบคุณ

และผมก็ต้องใช้เวลาอยู่นาน สอบถามใครหลายคนเพื่อไล่เรียงเรื่องราวและบริบทโดยรอบ ตัดทอนให้เหลือเพียงประวัติโดยสังเขปที่เพิ่งเขียนไปข้างบน

มีความพ้องพานที่น่าจะเป็นไปได้อีกประการซึ่งดาบฟ้ามาเล่าให้ฟังภายหลังที่เขาทุเลาจากอาการปลื้มปีติ นั่นคือเอกสารโบราณที่เพิ่งค้นพบชุดใหม่นี้มีโครงเรื่องที่ว่าด้วยตำนานเมืองลับแลคล้ายคลึงกับตำนานชุดเก่าที่พระครูฉิมพลีคณายุกต์เขียนถึงประวัติเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารจากการนิมิตฝัน ยิ่งเมื่อเทียบกับความเป็นจริงที่ว่าทั้งพระครูธรรมเนตรโสภณ ผู้คัดลอกเอกสาร กับพระครูฉิมพลีคณายุกต์ อยู่ร่วมยุคสมัยเดียวกัน

“จะมีความเป็นไปได้ไหมว่าพระครูฉิมพลีท่านได้รับพื้นเรื่องจากวรรณกรรมที่บันทึกในคัมภีร์ที่วัดท้องลับแลที่เราเพิ่งเจอฉบับนี้ไปซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า หากมีการเปลี่ยนเพี้ยนในชื่อตัวละคร ชื่อสถานที่ รวมทั้งห้วงเวลาต่างๆ ที่เกิดขึ้น” ดาบฟ้าสันนิษฐาน (ตำนานเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารฉบับปัจจุบันที่ใช้อ้างอิงเหตุการณ์ไว้ที่ พ.ศ. 1513 ส่วนฉบับที่เพิ่งค้นพบใหม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จริงที่เกิดขึ้นช่วงต้นปีพุทธศักราช 2000-ผู้เขียน)

กระนั้นก็ดี เอกสารที่คณะของพ่อครูมาลาพบ ก็ถือเป็นข้อมูลใหม่ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมาช่วยคลี่คลายตัวตนในประวัติศาสตร์ของเจ้าฟ้าฮ่ามฯ ไม่มากก็น้อย แต่เหนือสิ่งอื่นใด นี่คือเอกสารโบราณฉบับแรกที่กล่าวถึงที่มาของเมืองลับแลงไชยหรือเมืองลับแลโดยตรง¹

ขณะที่พ่อครูมาลาให้ความเห็นต่อว่า น่าจะมีความเป็นไปได้ว่าจะมีเอกสารเกี่ยวกับเมืองลับแล ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เพิ่งค้นพบนี้อยู่อีกหลายฉบับตามวัดแห่งอื่นๆ หากตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงใดๆ ได้ กระนั้นในมุมมองของดาบฟ้า เอกสารก็จุดประกายความหวังในการแยกตำนานออกจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อจะทดแทนมันด้วยข้อมูลที่สามารถอ้างอิงได้เสียที

“แม้เอกสารฉบับนี้ฉบับเดียวจะไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงของที่มาเมืองลับแลงได้ แต่อย่างน้อยมันก็ยืนยันกับผมว่าสิ่งที่ผมและทีมงานทำที่ผ่านมาไม่สูญเปล่า ลับแลงคือเมืองที่มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง เป็นเมืองที่มีตัวตนที่ไม่ได้เกิดจากตำนานปรัมปรา” ดาบฟ้ากล่าวด้วยแววตาที่เปี่ยมความหวัง

เขาไม่ได้เล่าอะไรให้ผมฟังมากกว่านี้ หากผมก็รู้ได้เองว่าจากนี้คงเป็นงานหนักของเขาและทีมงาน เพราะไม่ใช่แค่การตามหาเอกสารโบราณมาอ้างอิงเพิ่มเติม แต่ที่ต้องใช้พละกำลังมากกว่านั้น น่าจะเกิดขึ้นหากได้หลักฐานมาอ้างอิงสมใจ นั่นคือการต้องนำข้อมูลใหม่ที่คัดง้างกับข้อมูลเก่ามาเสนอสู่สาธารณะ-การเล่นกระดานโต้คลื่นทางประวัติศาสตร์ ที่ซึ่งความเชื่อเดิมได้ฝังรากลึกลงไปถึงท้องมหาสมุทร

และนี่คือสิ่งที่ท้าทายกลุ่มนักประวัติศาสตร์ชุมชนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ที่สุด

แต่นั่นล่ะ เช่นเดียวกับที่ชายหนุ่มไท-ยวนเลือดลับแลเข้มข้นคนนี้บอกกับผมว่า การลงแรงลงสมองของพวกเขาที่ผ่านมาไม่สูญเปล่า สำหรับผม การมาเยือนบ้านเกิดของดาบฟ้าครั้งนี้ ก็หาได้้เสียเปล่าเหมือนกัน

¹ ดาบฟ้าให้ข้อมูลว่าเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่เอ่ยถึงเมืองลับแลอย่างเป็นทางการคือ ‘คู่มือตอบคำถามสำหรับทูต’ ที่ไปเจริญสัมพันธไมตรี ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยในเอกสารนั้นเพียงอ้างอิงว่า เมืองลับแล เป็นเมืองรองเมืองหนึ่งในแคว้นพิชัย ซึ่งเป็นแคว้นทางเหนือแคว้นที่ 8 ของอาณาจักรสยาม (อ้างอิงจาก www.silpa-mag.com)

Writer & Photographer

Avatar

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

ประกอบอาชีพรับจ้างทำหนังสือ แปลหนังสือ และผลิตสื่อ ใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีงานอดิเรกคือเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า