19 พฤศจิกายน 2018
5 K

พังงา ภูเก็ต กระบี่ 3 จังหวัดอันดามันกำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองสู่ยุคใหม่

จากเมืองท่องเที่ยวที่พึ่งพาทรัพยากรทะเลเป็นหลัก วันนี้เมืองเหล่านี้กำลังเพิ่มศักยภาพของตัวเอง พัฒนาบ้านและพัฒนาคน เพื่อสร้างเมืองที่สามารถจัดงานเทศกาลระดับนานาชาติได้ โดยตั้งเป้าว่าจะสร้างเส้นทางเทศกาลกีฬาและศิลปะระดับสากล

เริ่มจากพังงา ที่กำลังเปลี่ยนแปลงสู่เมืองกีฬาจักรยาน

ณ เขาหลัก จุดเกิดเหตุสึนามิ พังงาคือจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตคลื่นยักษ์ที่พัดเข้า 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามันใน พ.ศ. 2547 บ้านเรือน ชีวิต และทรัพย์สิน ของคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวหลายพันคนจมหายไปไปในมหาสมุทร

14 ปีผ่านไป พังงากลับมางดงามและพร้อมอ้าแขนเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เดือนตุลาคมที่ผ่านมา จังหวัดนี้เพิ่งจัดงาน L’ÉTAPE THAILAND การแข่งขันปั่นจักรยานมาราธอนรายการ 70 กิโลเมตร และ 140 กิโลเมตร ที่ได้ทีมงาน Tour de France มาช่วยจัดด้วยมาตรฐานสากล เปลี่ยนเมืองนี้ให้กลายเป็นหมุดหมายท่องเที่ยวใหม่ของนักปั่นทั่วไทยและทั่วโลก

นักปั่นจักรยานหลากหลายสัญชาติเดินทางมาปั่นจักรยานเลียบเส้นทางธรรมชาติของพังงากว่า 1,500 คน ตามมาด้วยผู้ติดตามจำนวน 3 – 4 เท่าตัว แม้เป็นช่วงเวลาหน้าฝน เมืองชายฝั่งทะเลนี้ก็คึกคักขึ้นมาทันตา

พังงา, เทศกาลจักรยาน พังงา, เทศกาลจักรยาน

คลื่นยักษ์พัดผ่านไปแล้ว วันนี้ภาครัฐและเอกชนกำลังร่วมมือกันสร้างบทถัดไปของจังหวัดแสนสวยของภาคใต้

จากเมืองเหมืองแร่เก่า พังงาปรับตัวเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเล และในวันที่ทะเลต้องการพักเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ พังงาก็จัดงานเทศกาลกีฬา เป็นเสน่ห์ใหม่ที่ทำให้เมืองนี้น่าจับตามอง

ก่อนนักท่องเที่ยวออกสตาร์ทจากจุดเริ่มปั่นที่อนุสรณ์สถานสึนามิ เรือ ต.813 และจบเส้นทางที่ตะกั่วป่า อดีตเมืองเหมืองดีบุก เราขอพาไปพบเบื้องหลังการจัดเทศกาลจักรยานความร่วมมือระหว่างไทย-ฝรั่งเศสที่ปลุกเมืองเล็กๆ ทางใต้ของไทยให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง

พังงา, เทศกาลจักรยาน

ปันปั่น

Tour de France เป็นหนึ่งในการแข่งขันกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก การแข่งจักรยานมาราธอนทั่วฝรั่งเศสจัดต่อเนื่องตั้งแต่ ค.ศ. 1903 เว้นแต่ช่วงสงครามโลก 2 ครั้งเท่านั้นที่งดไป การปั่นต่อเนื่องมา 100 กว่าปีนี้ทำให้มีแฟนคลับทั่วโลกอยากปั่นตามรอยแชมเปี้ยนบ้าง จึงเกิดการจัดงาน L’Étape du Tour การแข่งขันจักรยานมาราธอนสำหรับมือสมัครเล่น จำลองเส้นทางปั่นตามเมืองเล็กๆ เทือกเขาในฝรั่งเศสของมืออาชีพ มีการดูแลเส้นทาง ระบบการสมัครแข่งขัน และดูแลความปลอดภัยเสมือนได้แข่ง Tour de France จริงๆ

นักปั่นต่างชื่นชอบการแข่งขันรายการนี้และชาวบ้านแต่ละเมืองที่เส้นทางจักรยานทอดผ่านก็ชอบเหมือนกัน เพราะเมืองของพวกเขาจะได้รับการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไปในตัว ทั้งนักปั่นและแฟนคลับกีฬาจักรยานจะหลั่งไหลเข้ามาที่งาน แม้การแข่งขันจบลงไปแล้วก็ยังโปรโมตเส้นทางแข่งขันได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ได้รับรองมาตราฐานจาก Tour de France

ความสำเร็จของ L’Étape ทำให้การแข่งขันจากฝรั่งเศสนี้ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปจัดทั่วโลก โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้จัดงานนี้

ปักหมุดประเทศไทย

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน. หรือ TCEB) เล่าว่าปกติจังหวัดแถบอันดามันประเทศไทยเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่มาหา Sea Sand Sun อยู่แล้ว แต่จากการศึกษา เขาพบว่ายังมีคนที่ชอบกีฬา ดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม ซึ่งคนพวกนี้ติดตามไปร่วมงานเทศกาลเหล่านี้ไปที่ต่างๆ ทั่วโลก

ทางทีม สสปน.ได้ไปเจอทีม Amaury Sport Organisation (ASO) ทีมผู้จัดงาน L’Étape ที่ประเทศฝรั่งเศส พวกเขากำลังอยากขยายเส้นทางจักรยานมาอาเซียนพอดี เนื่องจากรายการแข่งขันนี้มีฐานแฟนคลับมาก จากการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดงาน (Feasibility Study) พบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม  สสปน. จึงตัดสินใจประมูลลิขสิทธิ์งานนี้ โดยสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์งาน และเป็นผู้ริเริ่มบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ สนับสนุนการศึกษาเรียนรู้ การจัดการ เพื่อถอดองค์ความรู้และต่อยอด อีกทั้งยังสนับสนุนด้านการศึกษาผลวิจัยการจัดงานครั้งนี้

พังงา, เทศกาลจักรยาน พังงา, เทศกาลจักรยาน

ผอ. สสปน. อธิบายว่า นักเดินทางที่เข้ามาเพราะการจัดประชุมนิทรรศการหรือเทศกาลระดับนานาชาติ หรือที่เรียกว่า MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) เป็นนักเดินทางคุณภาพสูง มีกำลังจับจ่ายใช้สอยมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปอย่างน้อย 2 – 3 เท่า แถมใครๆ ก็อยากมาเมืองไทยเพราะประชุมหรือร่วมกิจกรรมเสร็จก็อยู่เที่ยวต่อได้

นอกจากประเทศไทยจะสามารถดึงกลุ่มคนมาจัดประชุมในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ หรือ พัทยาแล้ว สสปน. เล็งเห็นว่าจังหวัดอื่นๆ ก็สามารถสร้างจุดขายให้กับประเทศไทยในเรื่องการจัดงานเทศกาลระดับนานาชาติเพื่อดึงดูดนักเดินทางเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน

“จุดแรกที่เรามองคือ จังหวัดที่ได้รับเลือกนั้นจะกลายเป็นสถานที่ที่โลกปักหมุดไว้ว่าใช้จัดงานเทศกาลระดับนานาชาติได้ อย่างงาน L’ÉTAPE THAILAND by Tour de France ที่พังงานี้ เราศึกษาแล้วว่าถ้าได้จัดงานนี้อย่างน้อย 3 ปีติดต่อกันที่พังงา คนจะจำได้ว่า พังงาเป็นเมืองที่จัดการแข่งขันกีฬาจักรยานระดับนานาชาติที่น่าเชื่อถือ และทั้งผู้จัดงานและนักเดินทางก็จะอยากมาจัดงานหรือร่วมงานที่นี่อีก”

จิรุตถ์กล่าวอย่างมั่นใจในตัวเทศกาลจักรยานและศักยภาพของพังงา

พังงา x จักรยาน

พังงา, เทศกาลจักรยาน

พังงา, เทศกาลจักรยาน

ส่งไม้ต่อมาที่ออร์แกไนเซอร์ชาวไทยที่จัดงาน บุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Move Asia เล่าว่า พวกเขาตัดสินใจเลือกจัดงานพังงา เพราะเป็นเมืองรองที่ไม่พลุกพล่าน สามารถปิดถนนจัดการแข่งขันได้ มีโรงแรมที่ได้มาตรฐานนับหมื่นห้อง การบริการดี เดินทางได้สะดวก ภูมิประเทศสวยงาม เส้นทางปั่นมีทั้งภูเขา ทะเล และย่านเมืองเก่าเสร็จสรรพ

ข้อสำคัญคือนักเดินทางส่วนใหญ่เลือกพังงาเพราะต้องการพักผ่อนเงียบๆ ท่ามกลางธรรมชาติและความสงบ การแข่งกีฬาจักรยานที่เสียงไม่ดัง สร้างมลพิษ หรือขยะน้อย จึงเหมาะสม ไม่รบกวนตัวตนเดิมของเมือง

“พอเลือกพังงา เราก็ต้องอธิบายให้เข้าใจว่างานนี้คืออะไร และจะช่วยเหลือเมืองอย่างไร เจ้าเมือง ชุมชน หมู่บ้าน ประชาชน ตำรวจ เจ้าหน้าที่ต่างๆ ยินยอมไหม ซึ่งเขาตกลง เพราะเมื่อรายการนี้เข้ามา ถนนหนทางตลอดรายการแข่งขันได้ซ่อมหมด คนในชุมชนสร้างรายได้โดยการขายของได้ เราเลยจัดเส้นทางเริ่มงานที่เขาหลักและจบที่ตะกั่วป่าเพื่อกระจายรายได้ให้ชาวบ้านมากที่สุด

พังงา, เทศกาลจักรยาน

“ปกติถ้าไม่ใช่ช่วง High Season ที่พักแถวเขาหลักจะค่อนข้างเงียบเหงา แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้น แล้วพอไปจบที่ตะกั่วป่า ชาวบ้านตลอดเส้นทางตื่นเต้นที่ได้มีโอกาสเข้ามา หลังจากนี้ถ้าคนปั่นตามรอย เขาอาจจะสร้างตลาดเล็กๆ ต้อนรับนักปั่น เม็ดเงินก็ไหลไปให้เศรษฐกิจชุมชนมากขึ้น”

นักปั่น 1,500 คนในการแข่งขัน L’Étape ครั้งแรกในไทยนี้มีทั้งกลุ่มนักปั่นในภาคใต้ที่อยากได้รายการดีๆ เข้ามาในบ้าน นักปั่นจากกรุงเทพฯ และภาคอื่นๆ ที่อยากลองปั่นไกลบ้าน สุดท้ายคือกลุ่มแฟน L’Étape ที่สมัครออนไลน์ และลงทุนบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาแข่ง เพราะเป็นแฟนคลับงานนี้อยู่แล้ว

“ข้อดีของ L’Étape คือเขามีไบเบิลมาให้เราได้เรียนรู้มาตราฐานทั้งหมด ตั้งแต่การวัดพื้นที่ การขนส่ง ความปลอดภัย เขามอบประสบการณ์ให้เรายกระดับการจัดงานไปอีกขั้น”

พังงา, เทศกาลจักรยาน

ออร์แกไนเซอร์ไทยมั่นใจว่าการจัดงานแข่งจักรยานปีถัดๆ ไปจะมีผู้สนใจลงสมัครมากขึ้น โดยเทศกาลแข่งจักรยานมาราธอนนี้สามารถขยายจนรองรับผู้แข่งขันได้ถึง 4,000 – 5,000 คน

“การคำนวณนี้ผมคิดถึงความปลอดภัยเป็นหลัก แล้วก็ความเหมาะสมและคุณภาพ พังงาไม่จำเป็นต้องรับคนเป็นหมื่นๆ คนแบบฝรั่งเศส แต่เราควรสร้างคุณภาพ และรักษาคุณภาพที่เรามีอยู่แล้วให้ยั่งยืน มีความเป็นไปได้สูงมากที่จังหวัดนี้จะกลายเป็น Sport Destination ถาวร”

แขกบ้านแขกเมือง

พังงา, เทศกาลจักรยาน

“ผมแปลกใจตั้งแต่มาที่นี่ครั้งแรก ได้เห็นนักปั่นมากมายที่มีจักรยานดีๆ ตามท้องถนน เราได้เจอกลุ่มนักปั่นมือสมัครเล่นที่ปั่นกันจริงจังตั้งแต่ก่อนเรามา”

Florian Pavia ผู้จัดการโครงการ L’Étape ชาวฝรั่งเศสเอ่ยอย่างจริงใจ

“ปัจจุบันเราจัดการแข่งขัน L’Étape ประมาณ 15 เมืองทั่วโลก ไม่นับ L’Étape du Tour ที่จัดที่ฝรั่งเศสทุกเดือนกรกฎาคมของทุกปี เราพยายามมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุด ใกล้เคียงการแข่ง Tour de France ที่สุดให้มือสมัครเล่น นอกจากพวกเขาอยากมีประสบการณ์ผจญภัยแบบเดียวกับมืออาชีพ อีกเหตุผลที่แฟนๆ ทั่วโลกสมัครมาแข่ง เพราะเขารู้ว่านี่เป็นการแข่งจักรยานที่มาตราฐานสูงมาก มีระบบจัดการที่ดี เส้นทางสวยงามท้าทาย มีการรักษาความปลอดภัยดีเยี่ยม”

Clément Galzy ผู้จัดการการพัฒนาฝ่ายเอเชียของ ASO เล่าเสริมต่อ

“เกณฑ์ในการเลือกประเทศจัดงาน คือต้องเป็นประเทศที่คนชอบขี่จักรยาน รู้จัก Tour de France และอยากแข่งขันแบบนั้นบ้าง มีเส้นทางสวยงามและปลอดภัยสำหรับนักปั่น อย่างที่นี่มีทะเลและชายหาดที่สวยมากๆ เราไม่เคยจัดการแข่งขันใกล้ชายฝั่งขนาดนี้ นี่เป็นหนึ่งในเส้นทางที่สวยที่สุดที่เราเคยจัดมา การจัดงานที่นี่ช่วยทำให้เทศกาลเราให้น่าสนใจขึ้นด้วย

ถึงภูเขาจะไม่สูงมากแบบเทือกเขาแอลป์ และเส้นทางปั่นไม่โหดเท่าที่ฝรั่งเศสก็ตาม สภาพแบบนั้นบางทีก็ยากเกินไป อากาศที่โหดร้ายสำหรับนักปั่นที่สุดคืออากาศหนาวและลมแรง ที่นี่อากาศอบอุ่นดี ถึงมีฝนบ้าง แต่ถ้าคุ้นชินก็ไม่เป็นไร”

พังงา, เทศกาลจักรยาน

พังงา, เทศกาลจักรยาน

ข้อสำคัญคือพังงาคือมีเนินเขาและทางราบให้ปั่น ซึ่งจำเป็นมาก เพราะ L’Étape มีเกณฑ์มอบรางวัลเหมือน Tour de France โดยทุกรางวัลแจกเป็นคู่ให้ผู้หญิงและผู้ชาย นักปั่นที่ถึงเส้นชัยคนแรกจะได้แจ็กเก็ตสีเหลือง คนที่ปั่นขึ้นเขาได้เร็วที่สุดจะได้แจ็กเก็ตลายจุด ส่วนคนที่ปั่นได้เร็วที่สุดในระยะทางสั้นบนทางราบจะได้แจ็กเก็ตสีเขียว และเยาวชนน่องเหล็กอายุไม่เกิน 25 ปีที่ทำผลงานได้ดีที่สุดจะได้แจ็กเก็ตสีขาวไปครอง

ทีมผู้จัดจากฝรั่งเศสยอมรับว่าการจัดงานครั้งแรกในเมืองใหม่ยากเสมอ แต่พวกเขาได้รับความร่วมมือดีมากจากคนท้องถิ่น ทั้งภาครัฐและคนพังงาเองช่วยเหลือเต็มที่มากให้งานนี้เกิดขึ้นได้สำเร็จ

“1,500 คนถือเป็นตัวเลขที่ดีสำหรับการจัดการแข่งขันครั้งแรก ปกติซีรีส์อื่นมีคนสมัครเท่านี้หรือน้อยกว่าด้วยซ้ำ วันก่อนผมเจอนักปั่นจากดับลินที่มาเมืองไทยเพื่อแข่งงานนี้โดยเฉพาะ พวกเราคิดว่าเป็นแนวโน้มที่ดีมากสำหรับปีต่อไป พังงามีศักยภาพสูงมาก เราไม่ได้อยากจัดงานนี้แค่ครั้งเดียว แต่อยากสร้างงานนี้ร่วมกับชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น และพัฒนาการแข่งขันต่อไป”

พังงา, เทศกาลจักรยาน

หนึ่งในนักปั่นที่มาสร้างสีสันในงานนี้คือ Alberto Contador อดีตแชมป์ 2 สมัยของ Tour de France ที่เกษียณจากการแข่งระดับอาชีพ แต่ยังคงคว้าจักรยานคู่ใจมาปั่นในการแข่งขันมาราธอนที่พังงา

“ปกติผมไม่ค่อยได้มาปั่นในเอเชีย ผมเลยตื่นเต้นและรอคอยที่จะได้มาปั่นที่เมืองไทย ที่นี่สวยและน่าทำความรู้จักมากครับ” อดีตแชมป์ชาวสเปนกล่าวยิ้มๆ

เจ้าบ้านต้อนรับ

พังงา, เทศกาลจักรยาน

นอกจากความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ ทีมผู้จัดชาวไทยและชาวต่างชาติ จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายคือชาวจังหวัดพังงาที่เปิดบ้านต้อนรับแขกอย่างเต็มที่

“พังงามีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก เรามีแม่น้ำลำคลอง ก่อนลงไปสู่ทะเลก็มีป่าชายเลนเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย น้ำทะเลเราก็ใส พืชเชิงเดี่ยวเราไม่มาก สองข้างทางเป็นป่าไม้ ทุ่งนา สวนผลไม้ เงยหน้าขึ้นไปมีภูเขาสูงกับต้นไม้ใหญ่ตามธรรมชาติ มีอุทยานแห่งชาติถึง 4 อุทยาน นี่คือข้อดีของจังหวัดที่ชาวพังงาอยากรักษาไว้”

ศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา อธิบายลักษณะของเมือง

“เราไม่ได้อยากเน้นนักท่องเที่ยวเยอะๆ นึกภาพว่าถ้าเขามาเจอคนเยอะเต็มหาด เขาก็ไม่อยากมาอีก เราไม่ได้อยากอยู่ได้ด้วยการท่องเที่ยวอย่างเดียว เพราะถ้าเป็นแบบนั้นก็ต้องเอาปริมาณมาสู้กัน ทรัพยากรธรรมชาติก็เสื่อมโทรม เรามีทั้งการประมง การเกษตร และการท่องเที่ยว ซึ่งต้องทำให้ยั่งยืน เริ่มต้นที่ตัวพังงา คนพังงาต้องรักและดูแลพังงา ทุกคนมีส่วนปรุงแต่งพังงาให้น่าเที่ยวทั้งสิ้น”

พังงา, เทศกาลจักรยาน

ฤดูมรสุมและการถนอมทรัพยากรทางทะเลทำให้การท่องเที่ยวทางน้ำเกิดขึ้นไม่ได้ตลอดทั้งปี ชาวพังงาจึงพยายามหากิจกรรมทางบกที่ไม่รบกวนธรรมชาติ ทั้งกิจกรรมทางวัฒนธรรมและกีฬามารองรับนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี

ผู้ว่าจังหวัดดูแลเรื่องการซ่อมถนนและจัดอาสาสมัครดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนตลอดเส้นทาง 140 กิโลเมตร กวดขันคุณภาพที่พัก การบริการ อาหาร และการขนส่ง ให้ได้มาตรฐานและเพียงพอ รวมถึงบังคับใช้กฎหมายดูแลผู้คนและธรรมชาติอย่างจริงจัง

“งานแข่งจักรยานนี้เหมาะสมลงตัวกับจังหวัด แข่งเสร็จแล้วก็ต่อเนื่องไปเที่ยวทะเลต่อได้ เรียกได้ว่าไม่เค็มจนเกินไป ได้รสชาติอื่นด้วย ผมเชื่อว่าคนที่มาแข่งขันหรือผู้ติดตามประทับใจในธรรมชาติของพังงา เราเตรียมถอดรหัสบทเรียนผลจากการแข่งขันนี้แล้ว”

ผู้ว่าตบท้ายอย่างมั่นใจ มือของทุกฝ่ายที่ช่วยกันสร้างการแข่งขันจักรยานระดับโลก และการดูแลสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปกับเมืองใต้ ทำให้เส้นทางเบื้องหน้าของพังงาเต็มเปี่ยมด้วยความหวัง

พังงา, เทศกาลจักรยาน

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ L’ÉTAPE THAILAND by Tour de France ได้ที่

Facebook: L’Etape Thailand by Le Tour de France

ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับ MICE business ในประเทศไทย

www.businesseventsthailand.com

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล