The Cloud X SC Asset
ลองคิดดูเล่นๆ ว่า เมืองที่เราอยู่ตอบสนองการใช้ชีวิตเรามากน้อยเพียงใด…
ถามใหม่ดีกว่า ลองให้คะแนนว่าวันนี้เราโชคดีแค่ไหน…ที่มีพี่วินผ่านมารับเราไปส่งที่สถานีรถไฟฟ้าพอดิบพอดี หรือบังเอิญว่าเช้านี้รถไม่ติด ฝนไม่ตก โชคดีที่ไม่เดินสะดุดฟุตปาทที่มีพื้นตะปุุ่มตะป่ำ มาประชุมทันเวลาก่อนนายเข้าฉิวเฉียด (นี่แค่ปฐมบทชีวิตคนกรุงภาคเช้านะ)
จริงๆ แล้วคุณภาพชีวิต กับ ‘เมือง’ ที่เราอยู่อาศัยเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก ในยุคที่พื้นที่มีจำกัด ประชากรเพิ่มขึ้น ความแออัดของเมืองก่อตัวขึ้นหลากหลายรูปแบบ หลายประเทศแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาเมืองใหม่ เพราะผังเมืองแน่น คนเยอะ รถแยะ ความวุ่นวายกระจุกตัวเกินเยียวยา ครั้นจะรอนโยบายของนักปกครองมาขับเคลื่อนก็คงไม่ทันการณ์ โครงการ ‘เมืองใหม่’ (Planned Cities) ที่ได้รับการวางแผนอย่างถี่ถ้วนในหลายมุมทั่วโลก จึงเกิดจากความคิด ความร่วมมือ และการลงมือทำของภาคเอกชน ภาคการศึกษา รวมไปถึงชุมชนที่มองเห็นความสำคัญของวางผังเมืองใหม่ที่มีการจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบเอื้อต่อการดำเนินชีวิตตามความเป็นจริง
‘ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน’ เป็นสุภาษิตไทยที่ฟังดูเช้ยเชย แต่กลับตรงกับแนวทางของการสร้างเมืองยุคใหม่เป๊ะ Human-centric โมเดลที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ความต้องการของผู้อยู่อาศัยเป็นหัวใจ ในการวางผัง ออกแบบเมือง ก่อสร้างบ้านอาคาร คิดบริการ ผลิตภัณฑ์ ตัวช่วยอื่นๆ ที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น
ชวนคิดเล่นๆ อีกรอบว่า ถ้าตื่นมาทุกเช้าแบบไม่ต้องลุ้นว่า…จะมีพี่วินผ่านมารับเราไปส่งที่สถานีรถไฟฟ้ามั้ย เช้านี้รถติด ฝนจะตก จะเดินสะดุดฟุตปาทที่มีพื้นตะปุุ่มตะป่ำ และมาประชุมทันมั้ย น่าจะเป็นชีวิตที่ดี (จะมีเวลาและพลังงานไปทำอย่างอื่น)
ยิ่งถ้ามีการเชื่อมต่อระหว่างบ้านกับระบบขนส่งมวลชน จักรยานสาธารณะ ห้องอาบน้ำ พื้นที่เพื่อการใช้งานของคนทุกกลุ่ม คาเฟ่หรือห้องสมุด 24 ชั่วโมง ไวไฟทั่วเมืองแบบลื่นปรื๊ด ชีวิตคงยิ่งดี๊ดี
การสร้างเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยเป็นผู้กำหนด จึงเป็นมากกว่าการเป็นเพียงเมืองอัจฉริยะ เพราะเป็นการเข้าใจและแก้ปัญหาตามความต้องการที่หลากหลายในทุกรายละเอียด ผ่านการพูดคุยกับกลุ่มผู้อยู่อาศัย สังเกตพฤติกรรม เพื่อออกแบบระบบสาธารณูปโภค ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนพื้นที่นั้นจริงๆ
ในปัจจุบัน มีโครงการพัฒนาเมืองที่เป็นตัวอย่างของการสร้างเมืองที่รู้ใจผู้อยู่ ทั้งที่เป็นงานวิจัยเชิงวิชาการ เมืองที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และโครงการกำลังจะสร้างในอนาคตที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
GRAMERCY DISTRICT
USA
โปรเจกต์ที่ได้รับกล่าวถึงในแวดวง Smart City ในระดับนานาชาติในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เป็นโครงการมิกซ์ยูสบนพื้นที่กว่า 2.5 ล้านตารางฟุต ในเขต Ashburn มลรัฐเวอร์จิเนีย ที่เกิดจากความร่วมของผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ และนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นตัวช่วยในทุกรายละเอียดของชีวิต ตั้งแต่การจอดรถ ไปจนถึงการซื้อของ Gramercy Distinct รวมเอาทั้งที่อยู่อาศัย โคเวิร์กกิ้งสเปซ สถานศึกษา ร้านค้า และอาคารสำนักงาน มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทั้งหมดได้รับการออกแบบให้สามารถเดินถึงกันได้ และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมของเมืองในรูปแบบใหม่นี้คำนึงถึงการใช้ชีวิตของชุมชนผู้อยู่อาศัยแบบบูรณาการ เรียกว่าสามารถใช้ชีวิต ทำงาน เรียน เล่น พักผ่อน ตลอด 24 ชั่วโมงได้แบบแทบไม่ต้องออกนอกเมกะโปรเจกต์นี้เลยทีเดียว
MYNEIGHBORHOOD
EUROPE
โครงการวิจัยในยุโรปที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้าง ‘Human Smart City’ ซึ่งมุ่งยกระดับ ‘คุณภาพชีวิต’ ของผู้อยู่มากกว่าเน้นเรื่องเทคโนโลยี MyNeighborhood นำร่องในสี่เมืองทั่วยุโรป ได้แก่ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส, เมืองออลบอร์ก ในเดนมาร์ก, เมืองเบอร์มิงแฮม ในสหราชอาณาจักร และมิลาน ประเทศอิตาลี การศึกษาพบว่าแต่ละเมืองมีความต้องการแตกต่าง ลิสบอนอยากให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เบอร์มิงแฮมอยากให้ปรับปรุงเรื่องการเดินทาง มิลานอยากให้ดูแลพื้นที่สาธาณะ ส่วนออลบอร์กกังวลว่าคนพิการจะมีชีวิตที่ไม่เท่าเทียม การรับฟัง พูดคุยแบบเปิดใจ ทำให้ชุมชนได้แชร์ความเห็น ความรู้สึก ประสบการณ์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมคิด ร่วมมือ ร่วมทำ ให้เมืองและระบบนิเวศการอยู่อาศัยของพวกเขาน่าอยู่ขึ้น อย่างที่พวกเขาอยากให้เป็นจริงๆ ภาครัฐจึงสามารถนำผลการศึกษาไปพัฒนาต่อยอดในการสร้างชุมชนแบบ Human-centric ได้อย่างยั่งยืน
PUTRAJAYA
MALAYSIA
ระบบสาธารณูปโภคแบบจัดเต็ม ระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อ ถนน 8 เลน สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ปุตราจายาได้รับการพัฒนาขึ้นให้เป็นศูนย์กลางราชการแห่งใหม่ของมาเลเซียตามแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบหลายศูนย์ (Polycentric Cities) แบบยั่งยืน ควบคู่ไปกับเมืองไอทีอย่างไซเบอร์จายา หรือซิลิคอนแวลลีย์ของมาเลเซีย นอกจากจะเป็นเมืองใหม่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจแล้ว ปุตราจายายังเป็นเมืองสีเขียว และเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เพราะอาคารต่างๆ ที่ได้รับการออกแบบวางแผนมาแล้ว บวกกับการที่ทุกคนร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
The Neighbourhood by SC Asset
THAILAND
ในประเทศไทยเอง มีภาคเอกชนผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ริเริ่มนำเอาแนวคิดแบบ Human-centric มาใช้ในการพัฒนาเขตที่อยู่อาศัยใหม่ The Neighbourhood by SC Asset เป็นโครงการที่อยู่อาศัยต้นแบบ ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง SC Asset และภาควิชาการอย่าง REDEK ศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการสร้างโมเดลที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ที่ตอบรับการเติบโตของชุมชนเมืองในอนาคต ตามแนวทาง Township Concept Development ซึ่งอาจใช้พื้นที่ต้นแบบของการพัฒนาเมืองในพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต
ในการเข้าอกและเข้าใจผู้อยู่อาศัย เพื่อพัฒนาสองพื้นที่หลักของโครงการนี้ในทั้งโซนเหนือของกรุงเทพฯ บริเวณบางกระดี จังหวัดปทุมธานี 200 ไร่ และโซนตะวันออก บริเวณกรุงเทพกรีฑากว่า 115 ไร่ REDEK จึงเป็นเจ้าภาพในการทำวิจัยเพื่อศึกษาพื้นที่ พฤติกรรม กิจกรรม ความต้องการของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ศึกษา ทั้งในเชิงกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และแนวโน้มการเติบโตของย่าน โดยการลงพื้นที่ สัมภาษณ์กลุ่มผู้อยู่อาศัย สังเกตพฤติกรรม รวมไปถึงการทำเวิร์กช็อป เพื่อหาความต้องการในมิติต่างๆ ในด้านที่อยู่อาศัยและการดำเนินชีวิต เพื่อเป้าหมายในพัฒนาพื้นที่ ผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของทุกคน ไม่เพียงแต่คนในโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในอนาคต แต่รวมไปถึงชุมชนที่อยู่ในบริเวณโดยรอบ
ม.ล. จิรทิพย์ เทวกุล ผู้จัดการโครงการ, ดร.ชำนาญ ติรภาส หัวหน้าโครงการ จาก REDEK ศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี,
คุณโฉมชฎา กุลดิลก Head of Corporate Brand และ คุณณัฎฐกิตติ์ ศิริรัตน์ Head of Marketing บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
“บริการที่จะมาตอบสนองการใช้ชีวิตควรได้รับการออกแบบเพื่อคนในพื้นที่นั้นๆ อย่างแท้จริง เช่น รถ Shuttle Bus ที่เชื่อมต่อหมู่บ้านต่างๆ ในย่านนั้นไปสถานีรถไฟ พร้อมตารางการเดินรถที่ตรงเวลา จุดจอด ทางลาด และการออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งานจริง” คุณโฉมชฎา กุลดิลก Head of Corporate Brand บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยกตัวอย่างไอเดียการบริการสาธารณะที่ทั้งคนในโครงการและชุมชนที่อยู่โดยรอบสามารถใช้ร่วมกันได้
ดร.ชำนาญ ติรภาส จาก REDEK ศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หัวหน้าโครงการ เล่าถึง การขยายเมืองแบบ Township Concept Development ว่า ประเทศไทยเป็นเมืองตัวเดี่ยวที่มีการกระจายเมืองออกไปโดยไม่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานมารองรับ และไม่การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ชัดเจน เมื่อชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ไกลจุดศูนย์กลาง จึงยิ่งทำให้เกิดการใช้รถเพื่อเดินทางมากกว่าเดิม การสร้างย่านที่อยู่อาศัยรูปแบบนี้ที่ตอบรับการเติบโตของชุมชนเมืองในอนาคต เป็นการสร้างจุดศูนย์รวม (Node) เพื่อให้เป็นแหล่งงาน แหล่งการค้า ศูนย์กลางในแง่ต่างๆ ย่านนั้นอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้สามารถพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางไปส่วนอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพได้ง่ายขึ้น
นอกเหนือจากความต้องการพื้นฐาน เช่น การออกแบบที่ใช้ประโยชน์ได้จริง เหมาะกับการอยู่อาศัย การเดินทางสะดวก ระบบรักษาความปลอดภัย นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ และความเป็นชุมชนน่าอยู่ แม้ผลการวิจัยยังอยู่ในช่วงการประมวลผล แต่จากการลงพื้นที่และสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย การศึกษาโครงการ The Neighbourhood by SC Asset ยังพบข้อสังเกตว่า มีความต้องการและความคาดหวังของผู้อยู่อาศัยที่สอดรับกับเทรนด์การอยู่อาศัยโลก
“จากการวิจัย ส่วนหนึ่งเราพบว่ากลุ่มเป้าหมายเลือกซื้อบ้านชานเมืองเพราะอยากอยู่ใกล้โรงเรียนที่ดี และอยากอยู่ใกล้ครอบครัวหรือญาติ เพื่อให้ไปมาหาสู่กันได้ง่าย” ม.ล.จิรทิพย์ เทวกุล ผู้จัดการโครงการ เผยหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผู้อยู่อาศัยยุคใหม่คำนึงถึงก่อนลงหลักปักฐานในย่านใดย่านหนึ่ง
นอกจากนี้ Flexible Design ความยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนการใช้งานของพื้นที่และที่อยู่อาศัย ก็เป็นอีกโจทย์สำคัญที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนักออกแบบต้องนึกถึง เพื่อรองรับความต้องการและความสามารถของกลุ่มผู้อาศัยได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อหมุนตามโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว