14 สิงหาคม 2018
17 K

นมฮอกไกโดมาจากวัวฮอกไกโด

แล้ววัวฮอกไกโดมาจากไหน?

หากย้อนไปสักสิบกว่าปีก่อนชื่อ ‘ฮอกไกโด’ อาจไม่เป็นที่คุ้นหูและคงไม่อยู่ในเช็กลิสต์ของนักเดินทางชาวไทยที่ใฝ่ฝันจะไปเที่ยวญี่ปุ่นดูสักครั้ง ที่ใช้คำว่า ‘ใฝ่ฝัน’ ก็เพราะเมื่อก่อนยังไม่มีสายการบินโลว์คอสต์ให้เรานั่งไปญี่ปุ่นได้วันละหลายๆ เที่ยวจนราวกับว่าการไปญี่ปุ่นนั้นง่ายเหมือนที่วัยรุ่นบางกอกอาบน้ำแต่งตัวไปเดินสยามวันเสาร์-อาทิตย์

อีกทั้งชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยกระตือรือร้นจะพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศเท่าใดนัก ดังนั้น สถานที่ยอดนิยม (และพอให้คนที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นพอไปได้) ก็หนีไม่พ้นเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียว เกียวโต โอซาก้า ซึ่งล้วนตั้งอยู่บน ‘เกาะหลัก’ หรือเกาะฮอนชู

พอการเดินทางไปญี่ปุ่นง่ายขึ้น (โดยเฉพาะถ้าคุณมีเงินและเวลา) เมืองเล็กเมืองน้อยที่เคยอยู่นอกสายตาก็กลายเป็นเป้าหมายใหม่ของนักเดินทางที่ต้องการสัมผัสความเป็น ‘ญี่ปุ่น’ ในมุมใหม่ๆ นอกจากในเกาะฮอนชูแล้ว เมืองต่างๆ บนเกาะฮอกไกโดอย่างซัปโปโร ฮาโกดาเตะ ฟุราโนะ และโอตารุ ก็พลอยเป็นที่รู้จักขึ้นมาตามลำดับ ของขึ้นชื่อของฮอกไกโดนั้นก็มีมากมายทั้งปูหิมะยักษ์ เบียร์ซัปโปโร ทุ่งลาเวนเดอร์เมืองฟุราโนะ และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ นมฮอกไกโด (ที่เขาว่ากันว่าเป็น) นมเกรดพรีเมียม รสชาติหวานมัน อร่อยแรงแซงนมจากทุกเมืองในญี่ปุ่น

้hokkaido, นมฮอกไกโด, ฮอกไกโด ญี่ปุ่น, ประวัติ ฮอกไกโด

ซอฟต์ครีมจากนมฮอกไกโด (หนึ่งในหลายๆ แบรนด์ในฮาโกดาเตะ)

hokkaido, นมฮอกไกโด, ฮอกไกโด ญี่ปุ่น, ประวัติ ฮอกไกโด hokkaido, นมฮอกไกโด, ฮอกไกโด ญี่ปุ่น, ประวัติ ฮอกไกโด

เมืองฮาโกดาเตะในปัจจุบัน (ถ่ายจากยอดเขาฮาโกดาเตะ)

ทุกวันนี้ นมฮอกไกโดเป็นที่รู้จักในไทยมากขึ้น มีร้านนมและขนมหวานหลายเจ้าในกรุงเทพฯ ช่วยเป็นพรีเซนเตอร์ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยโฆษณาว่าสินค้าของตนทำจากนมฮอกไกโด (ซึ่งโดยนัยก็คงจะบอกว่ามันไฮโซ มันอร่อยกว่าเจ้าอื่นนะจ๊ะ) แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าเจ้านมฮอกไกโดที่ว่านี้มันไม่ได้ญี่ปู๊นนน…ญี่ปุ่นที่เขาดื่มกันมาเป็นพันๆ ปี แต่เป็นธุรกิจที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาราวคริสต์ศตวรรษที่ 19

hokkaido, นมฮอกไกโด, ฮอกไกโด ญี่ปุ่น, ประวัติ ฮอกไกโด

ดังนั้น ถ้าถามว่าวัวฮอกไกโดมาจากไหน คงต้องเล่าย้อนไปถึงสมัยที่คนญี่ปุ่นเพิ่งหัดกินนม และเกาะฮอกไกโด (ซึ่งเดิมมีชื่อเรียกว่า ‘เอโสะ’ หรือ ‘เอโสะจิ’ ที่แปลอย่างง่ายๆ ว่า ‘แดนเถื่อน’ หรือดินแดนของพวกอนารยชน) ยังไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นจนกระทั่งญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาะนี้อย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1869 โดยเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ว่า ฮอกไกโด และสร้างเมืองซัปโปโรเป็นศูนย์กลางการปกครอง

hokkaido, นมฮอกไกโด, ฮอกไกโด ญี่ปุ่น, ประวัติ ฮอกไกโด

ผังเมืองซัปโปโรในสมัยเมจิ (ค.ศ. 1891)

ผังเมืองนี้แสดงให้เห็นว่าเมืองซัปโปโรถูกสร้างโดยมีแผนผังกำหนดไว้แต่แรก มีต้นแบบมาจากผังเมืองในยุโรปและอเมริกา ต่างจากเมืองอื่นๆ ในญี่ปุ่นที่พัฒนามาจากหมู่บ้านหรือเมืองท่า

นอกจากเมืองซัปโปโรก็มีเมืองนาราและเกียวโต (เฮอัน) ที่มีการวางผังเมืองก่อนสร้าง แต่นาราและเกียวโตมีต้นแบบมาจากผังเมืองของจีน

 

เมื่อฮอกไกโดกลายเป็นญี่ปุ่น (ที่ไม่ค่อยจะญี่ปุ่น)

ก่อน ค.ศ. 1869 ฮอกไกโดถือเป็นดินแดนอิสระที่แม้จะการติดต่อกับ ‘ชาวญี่ปุ่น’ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า ‘วะจิน’ ในเกาะฮอนชูมานานหลายศตวรรษ แต่ก็ไม่เคยอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง แผนที่ของประเทศญี่ปุ่นทั้งที่เขียนโดยชาวต่างชาติและชาวญี่ปุ่นก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 มักไม่มีเกาะฮอกไกโดปรากฏอยู่ด้วย หรือถ้าหากมีก็เป็นการวาดโดยความเข้าใจผิดๆ ว่าเกาะฮอกไกโดเป็นส่วนหนึ่งของทวีปหลัก แทนที่จะเป็นเกาะ

ถ้าจะว่ากันตรงๆ เกาะฮอกไกโดก็ไม่ได้มีคุณสมบัติอะไรเป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้ปกครองจากเกาะฮอนชูนัก เพราะหนาวก็หนาว ปลูกข้าวก็ไม่ได้ ไม่รู้จะส่งคนมายึดครองทำไมให้วุ่นวาย ส่วนที่พอจะทำมาหากินได้เลยมีอยู่แค่ทางใต้ที่พอมีหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองของชาววะจินอยู่บ้างอย่างเมืองมัตสึมาเอะ แต่ชุมชนพวกนี้ก็มักถือตนเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับผู้ปกครองชาววะจินอื่นๆ ในเกาะฮอนชู

นอกจากชุมชนชาววะจินเล็กๆ ทางตอนใต้ของเกาะแล้ว ดินแดนส่วนใหญ่ของเกาะฮอกไกโด โดยเฉพาะอย่างตอนในของเกาะเป็นที่อยู่ของกลุ่มคนอีกชาติพันธุ์ที่เรียกว่า ‘ชาวไอนุ’ ซึ่งส่วนใหญ่ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และตกปลา มักย้ายถิ่นฐานอยู่บ่อยๆ ไม่ได้ตั้งรกรากเป็นหลักเป็นแหล่งถาวร บางกลุ่มมีการเพาะปลูกบ้าง แต่ไม่ได้ทำอย่างเป็นล่ำเป็นสันเหมือนชาววะจินทางใต้

พูดง่ายๆ ก็คือ ก่อนหน้านี้ฮอกไกโดเป็นอิสระ เพราะผู้มีอำนาจในเกาะฮอนชูไม่รู้จะทำอะไรกับเกาะนี้

hokkaido, นมฮอกไกโด, ฮอกไกโด ญี่ปุ่น, ประวัติ ฮอกไกโด

hokkaido, นมฮอกไกโด, ฮอกไกโด ญี่ปุ่น, ประวัติ ฮอกไกโด

ผู้ชายชาวไอนุจะไว้หนวดเครา ส่วนผู้หญิงจะสักรอบปาก แต่วัฒนธรรมการสักนี้ถูกห้ามโดยรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการกลืนชาวไอนุให้เป็นคนญี่ปุ่นผ่านการบังคับทางภาษาและวัฒนธรรม และมองว่าวัฒนธรรมพื้นเมืองเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของความป่าเถื่อน

hokkaido, นมฮอกไกโด, ฮอกไกโด ญี่ปุ่น, ประวัติ ฮอกไกโด

ภาพเขียนแสดงชาวไอนุและอุปกรณ์การล่าสัตว์

สถานะของฮอกไกโดมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญหลังการปฏิรูปเมจิ (ค.ศ. 1868) เมื่อผู้ปกครองกลุ่มใหม่ที่ขอเรียกง่ายๆ ว่า ‘รัฐบาลเมจิ’ ได้เปลี่ยนนโยบายต่อเกาะฮอกไกโด โดยเริ่มส่งคณะ ‘ผู้บุกเบิก’ (หรือ ‘ผู้รุกราน’ ในสายตาของคนพื้นเมือง) เข้าไปสร้างบ้านเรือนบนเกาะฮอกไกโด แล้วประกาศเอาดื้อๆ ว่าดินแดนตรงนี้เป็นของญี่ปุ่น

ใน ค.ศ. 1869  ‘ผู้บุกเบิก’ ในระยะแรกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มซามูไรระดับล่าง เพราะรัฐบาลเมจิที่เข้ามาโค่นล้มรัฐบาลทหารของโชกุนตระกูลโทกุงะวะประกาศยกเลิกระบบชนชั้นและอภิสิทธิ์ของซามูไร ทำให้ซามูไรจำนวนมากตกงาน แถมยังไม่มีที่ทำกินเพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับซามูไรระดับสูงผู้เป็นเจ้านาย อีกส่วนหนึ่งเป็นชาวนาที่รัฐบาลญี่ปุ่นเกณฑ์เข้าไปตั้งถิ่นฐานในฮอกไกโดโดยแลกกับสวัสดิการและการสนับสนุนบางอย่างจากรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสมัยเมจิก็ประสบปัญหาเดิมคือไม่รู้จะทำอะไรกับที่ดินบนเกาะนี้ เพราะเกาะฮอกไกโดปลูกข้าวไม่ค่อยได้ จนกระทั่งรัฐบาลได้ส่งคนไปดูงานในอเมริกา แล้วเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ของฮอกไกโดคล้ายกับบริเวณภาคตะวันออกของอเมริกา น่าจะใช้ประโยชน์แบบเดียวกันได้ ยกตัวอย่างเช่น การทำฟาร์มปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งม้าและวัว

ที่จริงแล้ว การเลี้ยงม้าและวัวก็ไม่ใช่ของใหม่โดยสิ้นเชิง เพราะในญี่ปุ่นมีการเลี้ยงม้าและวัวมานานหลายศตวรรษแล้ว แต่ก็เป็นการเลี้ยงเพื่อใช้เป็นแรงงานลากคันไถในการเพาะปลูก ซึ่งจะพบการใช้วัวมากในแถบตะวันตกของเกาะฮอนชู ส่วนบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชูที่เรียกว่าภาคโทโฮกุนั้นนิยมใช้ม้ามากกว่า

แต่ถ้าพูดถึงการเลี้ยงวัวเพื่อนำนมและเนื้อมาบริโภค ทั้งชาววะจินและชาวไอนุบนเกาะฮอกไกโด และชาววะจินบนเกาะอื่นๆ ของญี่ปุ่นล้วนไม่มีวัฒนธรรมที่ว่านี้ จนกระทั่งญี่ปุ่นถูกบังคับให้เปิดเมืองท่าค้าขายกับชาวตะวันตก คริสต์ทศวรรษที่ 1850 จึงเริ่มมีชาวตะวันตกนำวัฒนธรรมการบริโภคนมและเนื้อวัวเข้ามา และเริ่มทำฟาร์มเลี้ยงวัวในที่ที่ชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อค้าขาย รวมถึงเมืองท่าฮาโกดาเตะบนเกาะฮอกไกโดด้วย แต่ก็เป็นเพียงฟาร์มขนาดเล็กๆ เพื่อป้อนความต้องการของผู้บริโภคชาวตะวันตกเท่านั้น

hokkaido, นมฮอกไกโด, ฮอกไกโด ญี่ปุ่น, ประวัติ ฮอกไกโด

ร้านค้าภายใน Trappist Monastery

Trappist Monastery ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองโฮะกุโตะ ทางตอนใต้ของเกาะฮอกไกโด เป็นที่อยู่ของนักบวชที่ดำรงชีวิตด้วยการทำการเกษตรและฟาร์มโคนม ภายในบริเวณวัดมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากนมซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของที่นี่ เช่น บัตเตอร์แคนดี้ คุกกี้ และซอฟต์ครีม

จนกระทั่งรัฐบาลเมจิออกนโยบายเปลี่ยนฮอกไกโดให้เป็นฟาร์มนี่เอง ที่ทำให้การเลี้ยงวัวแพร่หลายในฮอกไกโดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การนำของ นายคุโรดะ คิโยทากะ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการของไคตะกุชิ หน่วยงาน ‘ไคตะกุชิ’ นี้ ที่จริงแล้วมีสถานะเป็นเพียงหน่วยงานพัฒนาที่ดินในฮอกไกโด แต่ในทางปฏิบัตินั้นกลับมีบทบาทสำคัญเสมือนรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้นโยบายเปลี่ยนฮอกไกโดให้เป็นฟาร์มได้รับการดำเนินการอย่างเป็นจริงเป็นจัง หรือจะเรียกว่า การพัฒนาฟาร์มเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองฮอกไกโดโดยไคตะกุชิก็ว่าได้

เห็นได้จากนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรและปศุสัตว์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอเมริกา) การก่อตั้งฟาร์มทดลองในพื้นที่บุกเบิกต่างๆ และการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้ความรู้และส่งเสริมการทำการเกษตรแบบอเมริกัน

บุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาฟาร์มปศุสัตว์ในฮอกไกโด ได้แก่ เอ็ดวิน ดัน นักปศุสัตว์ชาวอเมริกัน เขามีส่วนในการสร้างฟาร์มวัวและม้าหลายแห่ง แต่ฟาร์มสำคัญที่ถือเป็นจุดรวมความสนใจของดันคือฟาร์มที่นีคัปปุ นอกจากผลงานการพัฒนาฟาร์มปศุสัตว์แล้ว ดันยังมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบการล่าหมาป่าในฮอกไกโดโดยการใช้ยาพิษ จนกระทั่งสัตว์ชนิดนี้สูญพันธุ์ไปใน ค.ศ. 1905

แม้แต่นโยบายการศึกษาก็ยังมุ่งพัฒนาการเกษตรในฮอกไกโด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อตั้งวิทยาลัยการเกษตรซัปโปโร (ซึ่งต่อมาได้ยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัยฮอกไกโด) วิทยาลัยแห่งนี้มีต้นแบบมาจากวิทยาลัยการเกษตรแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Agricultural College) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองแอมเฮิร์สต์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ในอเมริกา โดยนายคุโรดะได้ขอยืมตัว นายวิลเลียม คลาร์ก อธิการบดีของวิทยาลัยที่แมสซาชูเซตส์ในขณะนั้น ให้มาช่วยก่อตั้งวิทยาลัยแบบเดียวกันที่ซัปโปโรและให้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีคนแรกของวิทยาลัยที่ซัปโปโร

hokkaido, นมฮอกไกโด, ฮอกไกโด ญี่ปุ่น, ประวัติ ฮอกไกโด

รูปปั้นของวิลเลียม คลาร์ก ในมหาวิทยาลัยฮอกไกโด

อาจกล่าวได้ว่าการริเริ่มทำฟาร์มวัวในฮอกไกโดนี้เป็นส่วนสำคัญของความพยายามเปลี่ยน ‘แดนเถื่อน’ ทางเหนือให้กลายเป็นดินแดนของญี่ปุ่น แต่กลับเป็นญี่ปุ่นที่ Exotic เพราะนอกจากจะเป็นสโนว์แลนด์แดนหิมะ ผิดกับที่อื่นๆ ในญี่ปุ่นแล้ว ยังมีภาพลักษณ์เป็นมินิอเมริกา เพราะเพราะมุ่งเลี้ยงม้าเลี้ยงวัวแทนที่จะปลูกข้าวแบบที่คนยุ่นทางใต้เขาทำกันนั่นเอง

 

จะเลี้ยงวัวหรืออดตาย

hokkaido, นมฮอกไกโด, ฮอกไกโด ญี่ปุ่น, ประวัติ ฮอกไกโด

Former Hokkaido Government Office

ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1870 เป็นต้นมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกนโยบายต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่หันมาทำการเกษตรแบบที่รัฐสนับสนุน (นั่นคือการเลี้ยงวัวและปลูกพืชที่รัฐกำหนด เช่น มันฝรั่ง) ในรูปแบบของสวัสดิการและเงินช่วยเหลือ

ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดให้ผู้คนหันมาเป็นกำลังผลิตให้กับรัฐมากขึ้น ในแง่หนึ่งการพัฒนาการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟาร์มเลี้ยงวัวในฮอกไกโดมักถูกยกเป็นตัวอย่างของการพัฒนาประเทศให้เป็นสมัยใหม่ ซึ่งมองการกระทำดังกล่าวแต่ในด้านที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ แต่ที่จริงแล้ว ความสำเร็จดังกล่าวเป็นกระบวนการที่รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าไปเบียดเบียนและเอาเปรียบผู้ที่อาศัยอยู่ในฮอกไกโด โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไอนุ อย่างเป็นระบบ

หากมองจากผลประโยชน์ที่รัฐสัญญาว่าจะให้ บางคนอาจคิดว่า แล้วทำไมพวกเขาถึงไม่ทำๆ ตามนโยบายนั้นไปล่ะ ดีจะตาย มีทั้งที่ดิน สวัสดิการ เงินสนับสนุนต่างๆ ให้ ชีวิตจะได้ดีขึ้น

ถ้าจะมองในมุมนั้นก็อาจจะไม่ผิดอะไร แต่สมมติว่าคุณมีที่ดินผืนใหญ่ที่คุณรวมถึงปู่ย่าตาทวดของคุณใช้ชีวิตกันมาเป็นร้อยๆ พันๆ ปี ที่คุณล่าสัตว์ ตกปลา ทำมาหากินได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องเสียเงินเสียสตางค์ใดๆ แต่อยู่มาวันหนึ่งก็มี ‘ผู้ใหญ่’ จากไหนก็ไม่รู้มาบอกว่าเอาดื้อๆ ว่าที่ดินตรงนั้นไม่ใช่ของคุณอีกแล้ว ถ้าจะอยู่ก็ต้องใช้ชีวิต ต้องทำตามที่กฎกติกาที่เขาบอกโดยที่คุณไม่มีสิทธิ์ต่อรองใดๆ เลยแม้แต่นิดเดียว

‘คุณมีสิทธิ์อะไร’

ณ จุดๆ นั้น คุณอาจจะคิดเช่นนี้ และนั่นก็อาจเป็นความรู้สึกของชาวไอนุเช่นกัน ในมุมมองของชาวไอนุ นโยบายดังกล่าวไม่ต่างอะไรจากการขโมยที่ดินที่พวกเขาใช้ชีวิตแล้วมาชี้นิ้วสั่งนู่นสั่งนี่ตามอำเภอใจ

‘แล้วทำไมต้องทำตามล่ะ’

นั่นสิ แล้วทำไมต้องทำตามล่ะ ชาวไอนุเขาก็คงอยากจะพูดแบบนั้น

แต่พอดีว่านโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ออกมานั้นมิได้เป็นการเชิญชวนให้ทำโดยสมัครใจ แต่กลายเป็นเรื่องของความเป็นความตาย เพราะนอกเหนือไปจากกฎหมายแบบชี้นิ้วสั่งให้ทำนู่นนี่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังออกกฎหมายต่างๆ ที่ลิดรอนสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของชาวไอนุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล่าสัตว์การตกปลาซึ่งเป็นกิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพของชาวไอนุ ทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมเปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นชาวนา

นอกจากนี้ นโยบายส่งเสริมการเกษตรของการเกษตรยังแสดงให้เห็นนัยของการแบ่งแยกระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวไอนุ ซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่างๆ เช่น การยกที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผู้อพยพชาวญี่ปุ่น ในขณะที่ชาวไอนุได้แต่ที่ดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์และยากต่อการทำเกษตรกรรม ดังนั้น แม้ชาวไอนุจะเลือกเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นชาวนา ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นดังที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้โฆษณาไว้

ย้อนกลับมาที่ฮอกไกโดในปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้มีฐานะเป็นหน่วยการปกครองหนึ่งของญี่ปุ่น ด้วยสถานะของการเป็น ‘ส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น’ นี้เองที่ทำให้ประวัติศาสตร์บาดแผลที่ไม่ต่างอะไรจาก ‘การล่าอาณานิคม’ ถูกปิดบัง บิดเบือน และทำให้ลืมเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลัก ภาพจำของฮอกไกโดในปัจจุบันจึงเป็นพียงสิ่งที่ญี่ปุ่น (รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นในฮอกไกโดที่ก็เป็นชาวญี่ปุ่น) อยากให้จำ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่สวยงาม ทุ่งลาเวนเดอร์ที่ออกดอกบานสะพรั่ง และนมฮอกไกโดที่แสนอร่อย

 

สรุปแล้ววัวฮอกไกโดมาจากไหน?

ถ้าจะให้ตอบแบบสั้นๆ คงจะตอบได้ว่า วัวฮอกไกโดมาจากความพยายามของญี่ปุ่นที่จะยึดครองฮอกไกโดในฐานะอาณานิคมและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในเกาะนี้ แม้ว่าการยึดครองฮอกไกโดจะนำไปสู่การรวมฮอกไกโดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ญี่ปุ่น’ แต่รูปแบบการยึดครองนั้นมิได้เป็นการทำให้ฮอกไกโดเหมือนญี่ปุ่น หากแต่เป็นความพยายามเปลี่ยนฮอกไกโดให้กลายเป็นชนบทของอเมริกา ดังนั้น วัวฮอกไกโดจึงเป็นเหมือนเครื่องเตือนความจำถึงประวัติศาสตร์อาณานิคมที่มักถูกมองข้ามไปในการเล่าประวัติศาสตร์กระแสหลัก

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าจะให้ผู้อ่านทุกคนเลิกดื่มนมฮอกไกโดกันนะ แต่อยากเชิญชวนให้ผู้อ่านทุกท่านลองมอง Beyond สินค้า มองให้ลึกไปกว่าแค่เรื่องราคาหรือคุณภาพ ไปให้ถึงที่มาที่ไปของสิ่งที่เรากินใช้กันทุกวันนี้

ไม่ใช่แค่ว่านมฮอกไกโดราคาเท่าไหร่ หรือรสชาติเป็นอย่างไร แต่อยากให้ถามต่อไปด้วยว่า

วัวฮอกไกโดมาจากไหน?

แล้วชาวไอนุล่ะ… พวกเขาไปอยู่ที่ไหน?

ฝากทิ้งท้าย

ในปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) นี้ เป็นปีครบรอบ 150 ปีการสถาปนาฮอกไกโด ซึ่งจะมีการก่อตั้งกลุ่มอนุสรณ์สถานขนาดใหญ่สำหรับให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ฮอกไกโดและชาวไอนุ แต่เราก็ต้องมาดูกันว่าโครงการนี้จำเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับชาวไอนุมากขึ้น หรือเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่สำหรับหาเงินเข้ากระเป๋ารัฐบาลญี่ปุ่นใน Tokyo Olympics 2020 ในอีก 2 ปีข้างหน้านี้

Writer & Photographer

Avatar

ทินกฤต สิรีรัตน์

นักศึกษาสายประวัติศาสตร์ที่เรียนเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่นที่สหรัฐอเมริกา