22 สิงหาคม 2018
57 K

“แนนโน๊ะ แค่ชื่อก็รู้ว่าแรด”

ยอมรับว่าเราสนใจ เด็กใหม่ THE SERIES GIRL FROM NO WHERE จากถ้อยคำแรงๆ ในตัวอย่างภาพยนตร์ชุดนี้ ยิ่งติดตามผ่านการออกอากาศสดทางช่อง GMM 25 ทุกวันพุธ เวลา 22.25 – 23.25 น. เรายิ่งเจอเรื่องที่น่าสนใจมากมายเต็มไปหมด

เด็กใหม่, THE SERIES GIRL FROM NO WHERE, คิทตี้ ชิชา, Netflix

ทั้งพล็อตเรื่องเด็กผู้หญิงบุคลิกแปลกประหลาดที่ไม่มีใครรู้ว่าเธอเป็นใครมาจากไหน แต่ย้ายโรงเรียนใหม่ในทุกๆ ตอน การหาดูย้อนหลังไม่ได้ ซึ่งถ้าพลาดตอนไหนไปต้องรอชมใน Netflix พร้อมคนทั้งโลกหลังออกอากาศครบทั้ง 13 ตอน

ความสนุกของเบื้องหลังภาพยนตร์ชุดเรื่องนี้เกิดจากทีมงานทั้งหมดที่เป็นเด็กใหม่ในวงการละครชุด และส่วนใหญ่เป็นคนในวงการโฆษณา น่าสนใจว่ากลุ่มคนที่เคยสื่อสารทุกอย่างตามโจทย์ภายใน 30 วินาที กับการทำภาพยนตร์ชุดความยาว 13 ตอน หรือคิดเป็น 35,100 วินาที จะมีวิธีคิดและสร้างสรรค์ที่สนุกและล้ำลึกแค่ไหน

ผู้สร้าง ‘เด็กใหม่’ เล่าวิธีตีโจทย์ทำซีรีส์ให้ Netflix ซื้อ และทำให้ ‘แนนโน๊ะ’ ดังในข้ามคืน

ตามเราไปพบเพื่อนนักเรียนใหม่ที่ชื่อ พี่เจ๋อ-ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค แห่ง GMM Grammy และ เล็ก-ดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา Co-founder and Executive Creative Director แห่ง SOUR Bangkok เอเจนซี่โฆษณาที่ทำเนื้อหาเรื่องผู้หญิงโดยเฉพาะ พร้อมกัน

โจทย์คือเนื้อหาที่สื่อสารกับคนทั้งโลก

หลายปีก่อน คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม มองเห็นโอกาสในตลาดว่า หากแกรมมี่อยากเป็น Content Provider ก็ต้องกระโดดลงไปใน Blue Ocean นั่นคือการทำคอนเทนท์ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะออกอากาศในต่างประเทศ ไม่ใช่การทำเพื่อป้อนสถานีโทรทัศน์ของบริษัทอย่างที่เคยเป็น จึงมอบหมายให้ผู้บริหารในสายธุรกิจต่างๆ แยกย้ายไปดำเนินการ ซึ่งรวมถึงพี่เจ๋อ ผู้มาเริ่มดูแลธุรกิจเพลงของบริษัทได้ไม่นาน

แม้โจทย์ที่ได้รับจะไม่เกี่ยวข้องกับเนื้องานในความรับผิดชอบโดยตรง แต่โจทย์นี้กลับติดอยู่ในใจ เพราะช่างท้าทายอดีตคนโฆษณาอย่างเขา

“เพราะทำงานโฆษณามาก่อน เราจึงรู้ว่างานแบบไหนจะเข้าสู่ใจคนทั้งโลกได้ นั่นคือการหาสิ่งที่เรียกว่า Universal Insight ไม่เกี่ยวว่าภาษาที่ใช้คือภาษาอะไร แต่เป็นเรื่องปัจเจกที่ทำให้คนเข้าใจว่า เรามีจุดร่วมเดียวกันที่จะเห็นมุมมองนั้น เราเคยทำโฆษณาเลิกบุหรี่ เรารู้ว่าคนสูบบุหรี่ทั้งโลกมีจุดร่วมตรงไหนที่เหมือน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนชาติไหน คุณดูแล้วต้องอยากเลิกสูบบุหรี่

“ผมรู้ตัวว่าผมทำคนเดียวไม่ได้ ต่อให้มีความรู้ มีองคาพยพ มีองค์ประกอบทั้งหลาย พร้อมแค่ไหน เราต้องมีพาร์ตเนอร์” พี่เจ๋อเก็บความคิดนี้ไว้ในใจจนพบผู้ร่วมอุดมการณ์ที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม

เด็กใหม่ทั้งหมด

ก่อนที่จะกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในโปรเจกต์ เด็กใหม่ ทั้งพี่เจ๋อและเล็กเคยทำงานในบริษัทเดียวกันมาก่อน และคิดอยากทำ Branded Entertainment ตั้งแต่สมัยที่เรื่องนี้ยังไม่เป็นที่นิยม จนวันที่พี่เจ๋อรู้ว่าเล็กกำลังปลุกปั้นความฝันใหม่ของเธอในนาม SOUR Bangkok เอเจนซี่ที่ทำการตลาดบนกลุ่มลูกค้าผู้หญิงในมุมต่างๆ

“พอได้ยินคำว่า Entertainment Series for Women จากพี่เจ๋อ ใจเราอยากทำ 100,000 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่ลังเลเพราะทีมเรามีกันอยู่แค่ 6 คนเท่านั้น ซึ่งจากที่ฟังพี่เจ๋อ เราอาจจะต้องการทีมงานที่ใหญ่ขึ้นในกระบวนการผลิต ขณะที่ไอเดีย สคริปต์ และวิธีการเล่าเรื่อง น่าจะไม่ต่างจากงานโฆษณาที่เคยทำมา” ในวันที่เล็กตัดสินใจร่วมอุดมการณ์กับพี่เจ๋อ เธอบอกกับทุกคนในออฟฟิศว่า “ปีนี้จะเหนื่อยหน่อยนะ แต่สนุกแน่นอน”

ใช่! สนุกแน่นอน

ไม่ใช่แค่เรื่องราวของแนนโน๊ะเท่านั้นที่เป็น ‘เด็กใหม่’ ทีมงานเบื้องหลังของโปรเจกต์นี้ก็ล้วนเป็นเด็กใหม่ในสนามนี้ โดยเฉพาะพี่เจ๋อที่เข้าเรียนพิเศษวิชาการทำละครชุด 101 กับครูพี่ฉอด (สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา) และครูพี่บอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) เพื่อเข้าใจองค์ประกอบการทำละครและสนับสนุนให้ทุกอย่างในโปรเจกต์นี้ราบรื่น

ผู้สร้าง ‘เด็กใหม่’ เล่าวิธีตีโจทย์ทำซีรีส์ให้ Netflix ซื้อ และทำให้ ‘แนนโน๊ะ’ ดังในข้ามคืน
เด็กใหม่, THE SERIES GIRL FROM NO WHERE, คิทตี้ ชิชา, Netflix

เมื่อคนทำงานโฆษณาต้องมาทำซีรีส์

ขั้นตอนต่อไปคือ การเสนอพล็อตเรื่องย่อและคอนเซปต์

เมื่อกลุ่มเป้าหมายคือ เด็กผู้หญิง

คนที่เติบโตมาในโลกโฆษณาที่ต้องสื่อสารใจความทุกอย่างภายใน 30 วินาที รู้ตัวดีว่าการทำละครชุด 13 ตอนต่อเนื่องกันเป็นสิ่งที่ไม่ถนัด จึงลงเอยที่ภาพยนตร์ชุดกับเรื่องราวที่จบในตอน มอบหมายให้ตัวละครซึ่งเป็นนักเรียนหญิงเชื่อม 13 ตอนเข้าด้วยกัน ด้วยการเป็นเด็กใหม่เสมอ เปลี่ยนโรงเรียนใหม่ในทุกตอน

โปรดระวัง เด็กใหม่คนนี้จะเข้าไปดึงด้านมืดของคนที่อยู่รอบตัวเธอออกมา ถ้าคุณเผลอทำสิ่งที่ไม่ดี ก็จะได้รับบทลงโทษบางอย่าง โดยไม่ทำให้รู้สึกว่าภาพยนตร์ชุดนี้กำลังสอนสั่ง

“เราใช้วิธีคิดเดียวกับงานโฆษณาเลย มีโจทย์เป็นที่ตั้งแล้วหาไอเดียมาครอบ”

“มีคนบอกว่าเรื่องราวในรั้วโรงเรียนผู้ชายโหดร้าย สิ่งที่คนไม่รู้คือ ในรั้วโรงเรียนหญิงนั้นโหดร้ายกว่า เต็มไปด้วยความอิจฉา ข่าวคาวเรื่องครูกับนักเรียน จะเห็นว่าใน 13 ตอนมีเรื่องให้เล่าเต็มไปหมด” เล็กเล่าข้อมูลอินไซด์ที่เราทุกคนล้วนมีประสบการณ์ร่วม  

“ตอนที่มาเสนอเราชอบทั้ง 3 เรื่องเลย จำได้ว่าผมบอกเล็กว่าเหตุผลที่เลือก ‘เด็กใหม่’ เพราะน่าจะเป็นทางเดินที่ไม่ลำบากนัก แค่ฟังเรื่องก็น่าสนใจ เพียงแต่มีเรื่องหนึ่งที่รู้อยู่ในใจแต่ไม่ได้บอกเล็กคือ เราไม่มีทางได้นักแสดงชื่อดังมาร่วมงาน” สำหรับพี่เจ๋อ เขาเชื่อมั่นในไอเดียที่ดีมากกว่าทีมนักแสดงที่ดัง

ในขณะที่งานโฆษณามีลูกค้าคอยตรวจ การทำละครหรือภาพยนตร์ชุดนั้นแตกต่างออกไป หากงานออกมาไม่ดี คนจะวิพากย์วิจารณ์ครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นโดยตรง

“ผมบอกเล็กว่า ‘จะกลัวอะไร ในเมื่อเราคิดว่ามันดี มันก็ต้องออกมาดีสิ’ แม้จะเป็นพาร์ตเนอร์ในการลงทุนสร้าง แต่เราเชื่อในความคิดสร้างสรรค์ เชื่อในงานที่แตกต่างและตั้งใจของทีม เราจะไม่ขอแก้ไขงานส่วนนั้นเลย เพราะเราเชื่อใน Positioning ของแบรนด์ ต่อให้ไม่ใช่เรื่องนี้ เราก็จะซื้อเรื่องอื่นของ SOUR อยู่ดี”

ความคิดแฟนตาซีในแบบผู้หญิง

ในบ้านเมืองที่มีภาพยนตร์หรือละครชุดแนวนักเรียนออกอากาศอยู่เต็มไปหมด อะไรคือความแตกต่างหรือเป็นสิ่งใหม่ที่ เด็กใหม่ กำลังจะบอกสังคม เราถาม

“หนึ่ง สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือภาพยนตร์ชุดที่มีเนื้อหาสื่อสารกับคนดูทั่วโลก เพราะฉะนั้น ผมไม่คาดหวังให้มันเหมือนของที่มีอยู่ทั่วไปในบ้านเรา สอง เรื่องนักแสดง ผมเชื่อเสมอว่า หากใช้วัตถุดิบเหมือนชาวบ้าน เราก็จะได้งานคล้ายชาวบ้าน ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องดีนัก ถ้างานที่ออกมาคนดูดูแล้วบอกว่าเหมือนเรื่องนั้น เรื่องนี้เลย เพราะเราใช้นักแสดงชุดเดิม

“สาม ผมพูดเรื่องนี้กับเล็กตั้งแต่วันแรกที่ชวนเขาว่า ผมเชื่อมั่นในตัวเล็ก เนื่องจากเขาเป็นสาย Art Director อยู่แล้ว มีความอาร์ตผิดมนุษย์ปกติ ทุกงานจากเล็กจึงเนี้ยบมากๆ ผมก็คิดว่าอยากให้งานที่ออกมามีสไตล์ที่ดี สวยอย่างงานของต่างประเทศ ในฐานะเป็นผู้ฟังที่ซื้อไอเดีย มันไม่มีภาพยนตร์หรือละครชุดเรื่องไหนจบในตอนเดียว หรือมีตัวละครย้ายโรงเรียนตลอด 13 ตอนในประเทศเลย ที่สำคัญ ตัวละครนี้มีทั้งคนรักและคนเกลียด ซึ่งทีมทำบทใช้คำว่า ‘จนถึงขั้นอยากจะฆ่าหรือข่มขืน’ แค่เอาหัวใจหลักของสิ่งที่เขาคิด แค่นี้ก็แตกต่างแล้ว” พี่เจ๋อเล่าความแตกต่างจากมุมของเขา

“สิ่งที่ทำให้เราตกลงร่วมงานทันทีคือ อิสระที่ทาง GMM Grammy ยอมให้เราใส่สิ่งที่เราเชื่อลงไป เรื่องเล่าที่มีความผู้หญิงๆ ทั้งห้วงความคิดและการอยู่กับตัวเองจนเกิดความคิดแฟนตาซีในแบบผู้หญิง เช่น บางทีเราอยากลุกขึ้นมาเต้นในห้องประชุม” คำตอบของเล็กทำให้เราอดตื่นเต้นตามไม่ได้

ผู้สร้าง ‘เด็กใหม่’ เล่าวิธีตีโจทย์ทำซีรีส์ให้ Netflix ซื้อ และทำให้ ‘แนนโน๊ะ’ ดังในข้ามคืน
ผู้สร้าง ‘เด็กใหม่’ เล่าวิธีตีโจทย์ทำซีรีส์ให้ Netflix ซื้อ และทำให้ ‘แนนโน๊ะ’ ดังในข้ามคืน

ชื่อดี

ในการทำงานโปรเจกต์นี้ พี่เจ๋อมีบันได 4 ขั้นที่เขาตั้งขึ้นมาในใจ ขั้นแรกคือ คุณไพบูลย์ผู้มอบโจทย์ต้องซื้อ ขั้นที่สองคือ พี่ฉอดผู้เป็นนายสถานีต้องซื้อ ขั้นที่สามคือ Netflix ต้องซื้อ และขั้นที่สี่ ประชาชนต้องรัก

“บรรยากาศวันขายงานให้คุณไพบูลย์ เพราะติดนิสัยคนโฆษณา มาถึงเราก็เกริ่นที่มาที่ไปเรื่องราว แกก็ฟังดูเบื่อๆ แล้วต่อด้วยเปิดตัวอย่างโทนของวิดีโอ พอจบแล้วห้องเงียบมาก ตอนนั้นอึ้งไปเลย คุณไพบูลย์พูดประโยคหนึ่งว่า ‘ชื่อดี’ แต่ยังไม่เข้าใจว่าเด็กใหม่เข้าไปทำอะไรในโรงเรียน ยังไม่เห็นเนื้อเรื่องเท่าไหร่ และฝากให้คิดว่า การจะทำละครจบในตอนนั้นยากมาก ใน 1 ตอนที่ประชาชนต้องรัก แล้วคนยังไม่ทันรักก็เปลี่ยนโรงเรียนเปลี่ยนเรื่องใหม่เสียแล้ว เป็นห่วงว่าจะยากเกินไปมั้ย ตอนนั้นเราคิดเองว่า แกคงไม่ซื้อไอเดีย แต่ก็จบด้วยการบอกว่า ให้ไปทำ Pilot มา 1 ตอน” เล็กเล่าสิ่งที่รู้สึกในวันขายงานต่อหน้าคุณไพบูลย์

“ผมทำงานกับคุณไพบูลย์มาระยะหนึ่ง จะรู้ว่ามี 3 โหมด ซื้อเลย ไม่ซื้อ และสนใจ และเด็กใหม่อยู่ในข่ายของ ‘สนใจ’ เพราะคุณไพบูลย์เองก็อยากได้อะไรแปลกใหม่ แกบอกเสมอว่า ถ้าแกซื้อเลยก็อาจจะผิดนะ เพราะแกไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย และปกติคนทำละครชุดจะขายไอเดียด้วยประโยค 10 ประโยค แต่เล็กมาด้วยพรีเซนเทชันแบบเอเจนซี่ เล่าทุกอย่าง ใจความสำคัญคือ คุณไพบูลย​เชื่อว่ามีทางที่น่าสนใจ และสำหรับคนแกรมมี่การได้ยินว่า ‘ไปทำ Pilot’ เป็นคำที่ชัดมากว่าสนใจ เพียงแค่ยังไม่แน่ใจว่าจะขาดทุนหรือเปล่า” เมื่อขั้นแรกเริ่มเห็นทางสว่าง พี่เจ๋อก็พาเล็กและโปรเจกต์สู่บันใดขั้นที่ 2 ทันที เพียงแต่วิธีการต่างไปจากเดิม ไม่ให้เล็กรู้ตัวว่ากำลังขายงานนายสถานีอยู่

พบนายสถานี

“ถ้าบอกเล็กว่าพามาขายงานอีกเล็กจะต้องเกร็งแน่ เลยหลอกว่า ‘เดี๋ยวพี่ฉอดจะทำเทรนนิ่งให้’ บอกให้เล็กเล่าเรื่องให้ฉอดฟัง แล้วเดี๋ยวเขาจะบอกว่าการวิธีการและข้อควรระวังในทำละครชุด ผลก็คือ วันนั้นเล็กมาแบบไม่มีสไลด์หรือเตรียมพิชชิ่งเหมือนเดิม แต่เล่าสิ่งที่ตัวเองรู้สึกและตั้งใจอยากจะทำอย่างธรรมชาติ

“ขณะที่พี่ฉอดสอบถามและให้คำแนะนำที่มีค่าหลายเรื่องมาก ผมจึงได้เห็นและเข้าใจสิ่งที่อาจจะยากสำหรับเล็ก ทำให้รู้ว่าต้องวางตัวช่วยสนับสนุนเล็กในส่วนไหนบ้าง สิ่งที่พี่ฉอดทักท้วง และเราต้องระวังมากที่สุดคือ Time Frame และคนเขียนบท หรือการทรงโครงเรื่องเดิมไว้ให้ได้ เพราะหากคนเขียนบทไม่เข้าใจโปรดักชันก็จะเขียนบทไปเรื่อยๆ จนออกทะเล เราเป็นเด็กใหม่ทั้งคู่ เรารู้แค่ว่าเรามีไอเดียที่น่าจะดี” พี่เจ๋อเล่าความลับที่เล็กก็เพิ่งรู้ความจริงพร้อมเราในวันนี้

เมื่อได้รับไฟเขียวจากนายสถานีโทรทัศน์ให้พื้นที่เวลา ลำดับต่อไปคือ กระบวนการผลิตแท้จริง

เจ๋อ ภาวิต CEO จาก GMM Grammy และ เล็ก ดมิสาฐ์ จาก SOUR Bangkok เฉลยสูตรสร้างซีรีส์ด้วยวิธีคิดแบบคนโฆษณา
ผู้สร้าง ‘เด็กใหม่’ เล่าวิธีตีโจทย์ทำซีรีส์ให้ Netflix ซื้อ และทำให้ ‘แนนโน๊ะ’ ดังในข้ามคืน

มองหน้า หาเรื่อง

“อย่างที่บอก เราไม่ตรวจเพื่อจะขอแก้งาน แต่เรารออ่าน สิ่งที่กังวลคือ ผ่านไป 3 เดือนแล้วแต่ยังไม่มีทรีตเมนท์มาสักที” เมื่อรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทางจากเล็ก พี่เจ๋อก็รีบติดต่อพี่คงเดช จาตุรันต์รัศมี ให้มาเสริมทัพในส่วนบทภาพยนตร์ทั้งหมด

“วันที่เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พี่คงเดชฟัง เขาอินมาก พูดมาคำเดียวว่า ‘อย่าทำให้ผมอกหักนะ’ เพราะเขามีหลายสิ่งที่อยากใส่เข้าไปในบทเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมาทำไม่ได้ เพราะระหว่างทางถูกปรับเปลี่ยนจนสิ่งที่ตั้งใจไม่อาจเกิดขึ้นจริง”

ในกระบวนการกว่าจะได้มาของทั้ง 13 เรื่อง เริ่มต้นจากทีมครีเอเตอร์ของ SOUR เตรียมพล็อตเรื่องสั้นไม่ต่ำกว่า 30 เรื่อง และให้พี่คงเดชเลือก 13 เลือกที่สนใจ พร้อมกับแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างทางเพื่อให้บทมีมิติที่เข้าใจความเป็นผู้หญิง แม้ผู้เขียนบทจะเป็นผู้ชาย

“ไม่ต่างจากการทำงานโฆษณานะ ตั้งต้นจากข่าวที่เราสนใจ แล้วเราจะบิดมันยังไง ฝากแง่คิดแก่คนดูยังไงโดยที่ไม่ทำให้รู้สึกสอนสั่ง

“ในมุมพี่คงเดช เขาจะมองว่าเรื่องนั้นๆ นำไปเล่าต่อในความยาว 40 กว่านาทีมั้ย เพราะกับบางเรื่องเหมาะแก่การเล่าจบภายใน 10 นาที หรือบางทีน่าจะดีกว่าถ้าเล่าเป็นภาพยนตร์ความยาว 2 ชั่วโมง และใน 40 นาทีตามโจทย์ เมื่อแตกเป็นบทแล้ว ตัวละครมีความน่าสนใจมากพอหรือยัง แนนโน๊ะยังอยู่ในนั้นไหม และคนที่แนนโน๊ะในตอนนั้นๆ เข้าไปเกี่ยวข้องทำให้เรื่องเข้มข้นจริงมั้ย” เล็กเล่าขั้นตอนการพัฒนาบทที่ใช้เวลามากสุดในกระบวนการผลิต

Niche Inspired Mass

ในขั้นตอนเลือกเรื่องและพัฒนาบท เรื่องเดียวที่พี่เจ๋อมักจะย้ำกับเล็กเสมอคือ Niche Inspired Mass “ถ้าโจทย์คือการไปสู่ตลาดโลก เราไม่ได้บอกว่าเราจะต้อง Mass ตามนะ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เราถนัด แต่ประสบการณ์จากงานโฆษณาทำให้รู้ว่า Niche แบบที่คนหมู่มากยอมรับได้นั้นเป็นยังไง

“ผมเคยอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่งว่า บางครั้งรางวัลที่ได้จากเวทีใหญ่โตก็ไม่มีความหมายเท่า การที่เรานั่งกินข้าวอยู่แล้วโต๊ะข้างๆ พูดถึงงานของเรา สิ่งที่ผมพยายามบอกเล็กเสมอว่า ไม่ว่าจะเลือกหยิบเรื่องไหนมาทำ สิ่งที่ควรจะเป็นคือกุมหัวใจของคนส่วนใหญ่ให้ได้” คำแนะนำจากพี่เจ๋อทำให้เล็กและทีมงานละเอียดกับบทมากขึ้น

เล็กเสริมว่า Niche ในความหมายของครีเอทีฟคือการกันคนดูออกไป นั่นคือคนดูรู้สึกไม่มีส่วนร่วมกับเรื่อง ไม่รู้ว่าภาพยนตร์ตรงหน้ากำลังจะบอกอะไร “เราพบว่าถ้าอยู่ในเรื่องรัก-โลภ-โกรธ-หลง ยังไงก็รอด เพียงแต่คงไม่ถึงขั้นตบจูบ เพราะเราเองก็ไม่ถนัด จึงตกลงกับทีมงานและผู้กำกับทุกคนว่าเราจะต้องแมสที่สุดเท่าที่จะทำได้”

เป็นที่มาของภาพยนตร์ชุดที่มีสไตล์ที่แตกต่าง แต่ก็กว้างพอที่คนหมู่มากจะเข้าใจและเปิดหัวใจยอมรับ

เด็กใหม่, THE SERIES GIRL FROM NO WHERE, คิทตี้ ชิชา, Netflix
เด็กใหม่, THE SERIES GIRL FROM NO WHERE, คิทตี้ ชิชา, Netflix

ผู้กำกับ 9 ชีวิต

“เราขอเรียก เด็กใหม่ ว่าภาพยนตร์ชุด เพราะตั้งใจควบคุมคุณภาพอย่างภาพยนตร์” เล็กเล่าความตั้งใจ ซึ่งหนึ่งในความแตกต่างของคุณภาพการผลิตภาพยนตร์กับละครคือ แสงและการจัดไฟ รวมถึงองค์ประกอบศิลป์อื่นๆ เช่น ฉากหลุมศพที่ทีมงานจัดแสงด้วยไฟหน้าของรถยนต์แทนการใช้ไฟดวงใหญ่แบบกองถ่ายหนังฟอร์มยักษ์

และในการทำงาน ต่อให้ทำงานร่วมกับผู้กำกับคนเดียวจะง่ายกว่า เล็กก็ยังยืนยันขอเลือกทำงานกับผู้กำกับทั้ง 9 คนในโปรเจกต์นี้

“งานนี้ยากตรงที่หลังจากจบ 1 ตอน เราต้องเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นทุกอย่างตั้งแต่วันแรกให้ผู้กำกับท่านอื่นๆ ฟังใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เห็นว่าคนก่อนหน้าทำอะไรไปแล้ว เพื่อให้ผู้กำกับคนต่อไปทำสิ่งที่แตกต่างแต่ไม่ออกทะเลจนเป็นหนังคนละเรื่อง ซึ่งข้อดีคือ ทำให้เจอคนเก่งๆ เยอะมาก บางคนเป็นตากล้องระดับประเทศมาก่อน บางคนเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่น่าจับตามอง และหลายคนเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอมาก่อน สนใจงานกำกับภาพยนตร์แต่ยังไม่มีโอกาส รวมถึงผู้กำกับรุ่นใหญ่ที่อ่านบทแล้วชอบ อยากทำ เช่น พี่เอส (คมกฤษ ตรีวิมล) ที่น่าสนใจคือ ปกติคนจะชอบให้พี่เอสทำหนังรัก ทีมงานเองส่งเรื่องไปให้เลือกยังเชื่อว่าเขาจะเลือกกำกับ เด็กใหม่ ตอนที่เกี่ยวกับความรัก แต่เขาก็ตอบกลับมาว่านี่เป็นครั้งแรกที่จะได้ลองทำหนังแนวอื่นๆ ในที่สุดก็เลือกกำกับตอนที่โหดที่สุดของภาพยนตร์ชุดเรื่องนี้” เล็กเล่า

“จำได้ว่าเป็นตอนที่ดูจบแล้วโทรหาเล็กเลย กินข้าวไม่ลง นั่งคิดตลอดทางที่กลับจากพัทยาว่า สิ่งที่เรากำลังจะบอกสังคมนี่ถูกหรือผิด” รีวิวสั้นๆ จากพี่เจ๋อ ทำให้เราอดใจรอไม่ไหว

จาก 4 นาที เป็น 45 นาที

เล็กเล่าว่า พี่เจ๋อเป็นคนบอกเองว่า ถ้าสคริปต์ดีอยู่แล้ว ต่อให้เป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอก็ต้องทำได้

“คิดอย่างง่ายสุด คนที่จะเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอได้ เขาต้องอ่านพล็อตของภาพและเสียง เข้าใจให้ได้ว่ากำลังจะเล่าอะไร เล่าให้คนรู้สึกว่าฉันมีความสุขกับเพลงนะ และมีความสุขที่เล่าเรื่องนี้ออกมาเป็นภาพ เคยเห็นมั้ยว่ามิวสิกวิดีโอบางตัวไม่เป็นเรื่องนะ เป็นเพียงมวลอารมณ์ แต่ทำให้เรามีความสุข เราจึงอยากให้โอกาสเขา เพราะเราเชื่อเสมอว่าไม่ว่าใครก็ตาม ในวันที่เขาได้รับโอกาสที่ใหญ่ขึ้น เขาจะระเบิดฟอร์มดีออกมา เราใช้วิธีนี้คิดแบบเดียวกับตอนเลือกนักแสดง คนที่ยืนแถวสองมาตลอด ในวันที่ได้รับโอกาสเขาจะระเบิดฟอร์ม”

สวยเลือกได้

สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ชุดเรื่องนี้เป็นที่พูดถึงมากมายคือ นักแสดงนำที่จะพาคนดูไปพบกับเรื่องราวทั้ง 13 ตอนโดยที่รู้สึกทั้งรักและเกลียด ทั้งเอาใจช่วยและคอยสมน้ำหน้า

เด็กใหม่, THE SERIES GIRL FROM NO WHERE, คิทตี้ ชิชา, Netflix

“เราไม่ได้ทำให้แนนโน๊ะเป็นผู้หญิงปกติธรรมดา ดังนั้น เราจึงไม่เลือกเด็กผู้หญิงที่สวยปกติ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคงคาแรกเตอร์พิเศษของตัวละครนี้ได้ สำหรับเหตุผลที่เลือก คิทตี้ (ชิชา อมาตยกุล) เพราะเขามีการอิมโพรไวซ์ที่น่าสนใจ เขาเข้าใจตัวละครจริงๆ และเราเชื่อว่าเขาอ่านบทจนแตก ในบทช่วงที่แรงที่สุด ยากที่สุด เป็นบทที่แนนโน๊ะกำลังจะโดนข่มขืนและถูกฆ่า สิ่งที่คิทตี้ตีความออกมาจากบทและเล่าให้เราฟังคือ เขาคิดอย่างเดียวเลยว่าทำยังไงก็ได้ให้ตอนถูกข่มขืนจะต้องถูกฆ่าให้ได้

“ขณะที่คนอื่นๆ แสดงตามบท บางคนก็มองหน้า บางคนก็นิ่ง ซึ่งนิ่งก็ทำให้เซอร์ไพรส์มากแล้วนะ การแสดงว่าไม่รู้สึกอะไรกับเมื่อถูกข่มขืน แต่คิทตี้ช็อกทีมงานทุกคน ระหว่างที่ถูกข่มขืน จู่ๆ ก็ร้องเพลงออกมา ‘ลา ล้าลา ลาล่าลาลา’ แม้แต่ผู้ชายที่ลองแสดงบทนี้ด้วยกันยังตกใจจริงๆ จนพูดว่า “ร้องเพลงทำเ-ี้ยอะไร” แล้วบีบคอเพื่อฆ่า” เล็กเล่ากระบวนการคัดเลือกแนนโน๊ะ

Netflix Original Series

ไม่ใช่แค่แพลตฟอร์ม แต่ Netflix ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ หรือพูดอย่างเห็นภาพกว่านั้น Netflix กำลังล่าอาณานิคมคอนเทนต์ดีๆ จากทั่วโลก ต้องการทั้งครีเอเตอร์ในฝั่งสร้างสรรค์ และโปรดักชันในฝั่งผลิต โดยมีการจัดสรรและแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ระดับ (Tier)

ระดับแรก หรือ Tier 1 คือภาพยนตร์หรือละครชุดที่มีโปรดักชันยิ่งใหญ่ระดับร้อยล้าน มีผู้กำกับระดับโลก มีข้อกำหนดมากมายแม้กระทั้งกล้องที่ใช้ถ่าย ตัวอย่างละครชุดในเทียร์นี้คือ Stranger Things ระดับสอง หรือ Tier 2 คือการซื้อเนื้อหาจากผู้ผลิตประเทศต่างๆ เพื่อออกอากาศพร้อมกัน ไม่มีข้อกำหนดเรื่องเนื้อหาหรือการผลิตเยอะมากมาย มีเพียงข้อกำหนดเรื่องขนาดและความละเอียดของงานที่สำเร็จ เช่น เด็กใหม่ มีขนาดไฟล์ต่อตอนอยู่ที่ 200 – 300 GB และระดับสาม หรือ Tier 3 คือการซื้อเนื้อหาที่ผ่านการออกอากาศเรียบร้อยแล้ว โดยเลือกจากภาพยนตร์หรือละครชุดที่ประสบความสำเร็จ เช่น Hormones The Series

แม้จะเป็น Teir 2 แต่ เด็กใหม่ จะออกอากาศครบทั้ง 13 ตอนใน Netflix หลังอากาศสดครบทุกตอนที่ช่อง GMM 25 เพราะเนื้อหาจบในตอน การปล่อยให้ผู้ชมทั่วโลกรอคอยถึง 7 วันอาจจะส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ เพราะแฟนคลับจากอีกฝั่งหนึ่งของโลกอาจทนรอดูตอนต่อไปไม่ไหว มีอันต้องบุกไทยเป็นแน่

เล็กแอบกระซิบกับเราว่า ฉบับ Netflix จะสั้นกว่าแม้จะมีเนื้อหาเดียวกัน แต่วิธีการเล่าเรื่องจะแตกต่างเล็กน้อย เนื่องจากทีมงานต้องตัดต่อบางตอนใหม่สำหรับฉายในประเทศเพื่อให้ผ่านกองเซนเซอร์

เด็กใหม่, THE SERIES GIRL FROM NO WHERE, คิทตี้ ชิชา, Netflix
เจ๋อ ภาวิต CEO จาก GMM Grammy และ เล็ก ดมิสาฐ์ จาก SOUR Bangkok เฉลยสูตรสร้างซีรีส์ด้วยวิธีคิดแบบคนโฆษณา

ไม่ได้ชี้นำ แค่อยากให้ตั้งคำถาม

ตลอดระยะเวลาที่สนทนา ทั้งพี่เจ๋อและเล็กย้ำเสมอว่า พวกเขามีสายเลือดมนุษย์โฆษณา นั่นคือ ในงานโฆษณา 30 วินาที เขาอยากให้มันทำงานในวินาทีที่ 31

“ในช่วง 30 วินาทีนั้นเขาอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรกับเราเลย แต่ในวินาทีที่ 31 เขาจะต้องยังรู้สึกถึงเราอยู่ ‘ประกันชีวิตเจ้านี้ดีจัง เพราะทำให้เรารู้สึกคุณค่าของชีวิต’ หรือ ‘เครื่องสำอางยี่ห้อนี้ดีจัง ทำไมถึงเข้าใจหัวอกผู้หญิงขนาดนี้’ นี่คือการทำงานหลังวินาทีที่พื้นที่งานเราจบ เช่นเดียวกับงานที่เล็กทำ ผมพูดในฐานะแกรมมี่ เรามองเห็นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี ทำให้คนในสังคมพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็น มากกว่าชี้นำว่าสังคมควรจะตัดสินเรื่องนี้ว่าอย่างไร” พี่เจ๋อตอบเรื่องที่เราสงสัย ว่าในสังคมที่ไม่กระตือรือร้นกับการตั้งคำถาม อะไรทำให้ทีมงานทุกคนมั่นใจว่าสิ่งนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลง

คล้ายกับการทำงานในวินาที่ 31 ของหนังโฆษณา

ในเมื่อ 13 เรื่องนี้เกิดขึ้นจากเรื่องจริงที่เราเห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน เห็นมันอยู่บ่อยๆ คล้ายกับเป็นสังคมด้านเดียว ที่รับรู้แต่ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไร ไม่มีการพูดคุยกัน

“เราไม่ได้อยากตัดสินเลยว่าสิ่งที่แนนโน๊ะทำนั้นถูก หรือตัดสินว่าคุณครูผิด เรากำลังสะท้อนว่านี่คือสิ่งที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ เห็นได้ชัดขึ้นในตอนที่ 2 ซึ่งเราจบแบบปลายเปิดว่า กลุ่มเด็กที่ทำไม่ดีต้องอยู่ในวังวนของการเจอเด็กใหม่คนนี้ไปเรื่อยๆ มีหลายเสียงเข้ามาตอบว่า ‘จบแล้วหรอ ใครได้รับกรรมอะไร ยังไง’ และก็มีหลายเสียงอีกเช่นกันที่ช่วยตอบแทนว่า ‘การที่คุณต้องตื่นมาเจอเรื่องแย่ๆ โดยที่คุณไม่ตาย มันหนักกว่ารับกรรมด้วยการตายเสียอีก’” เล็กเสริม

ประเมินการเรียนการสอน

ถ้าวัดผลความสำเร็จของ เด็กใหม่ ในแง่ธุรกิจ นอกจากมีแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Netflix ขอซื้อไปออกอากาศทันทีที่จบทั้ง 13 ตอน ผลประกอบการที่มาจากผู้สนับสนุนในช่วงเวลาออกอากาศยังเป็นที่น่าพอใจ

ในขณะที่ความคาดหวังทางสังคม พี่เจ๋อบอกว่า เขานับความสำเร็จของภาพยนตร์ชุดเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกที่ปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์แล้ว

สำหรับผลทางตัวเลขที่เป็นรูปธรรมจากโซเชียลมีเดีย ภายใน 2 ตอนที่ออกอากาศ เด็กใหม่ มีฐานแฟนเพจถึง 60,000 คน มียอด Reach กว่า 4 ล้านและยอด Engagement 2.6 ล้าน ด้วยระบบออร์แกนิกล้วนๆ รวมถึงจำนวนผู้ชมสดในเว็บไซต์ที่มีมากกว่า 2 แสนคนจนเว็บล่ม 2 สัปดาห์ติดกัน ขณะที่เรตติ้งการชมสดทางโทรทัศน์ ช่อง GMM 25 มียอดการเติบโตเพิ่มขึ้นจากตอนแรกถึง 2 เท่า

ที่สำคัญ ขึ้นอันดับ 1 Top 10 Twitter 2 สัปดาห์ติดกันในช่วงเวลาที่ออกอากาศ นับเป็นความน่าภูมิใจสำหรับภาพยนตร์ชุดฟอร์มเล็กที่ตั้งใจสร้างการเปลี่ยนแปลงจากการนำเสนอเรื่องจริงในสังคม

“จากการติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมหลังจากละครออกอากาศ เราพบว่า เริ่มมีผู้ชมที่เป็นเด็กผู้หญิงเข้ามาแชร์ว่าตัวเองเคยโดนบุลลี่ยังไง มีคนในแฟนเพจเข้ามาตอบ แนะนำ ให้กำลังใจ ซึ่งสิ่งที่แนนโน๊ะทำอาจจะรุนแรง ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องเป็นตัวอย่างของความรุนแรง แต่ทำให้เด็กสาวหรือคนทั่วไปตระหนักว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นเหยื่อ” เล็กทิ้งท้าย ก่อนที่พี่เจ๋อจะเสริมว่า

“นอกจากเรา 2 คน มีคนอีกเป็นร้อยชีวิตที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ชุดเรื่องนี้ ไม่ว่ายังไงก็ตาม อยากขอให้คุณลองดูสักตอนหนึ่ง ดูแค่ตอนที่ชอบก็ได้ คุณอาจจะได้เห็นมุมมองที่แตกต่างไปจากชีวิตปกติของคุณ”

เจ๋อ ภาวิต CEO จาก GMM Grammy และ เล็ก ดมิสาฐ์ จาก SOUR Bangkok เฉลยสูตรสร้างซีรีส์ด้วยวิธีคิดแบบคนโฆษณา
 

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan