โนโลกที่หมุนเร็วกว่าความเร็วอินเทอร์เน็ตที่เราใช้งาน หลายๆ วงการถูกความเร็วและการเปลี่ยนแปลงของโลก Disrupt จนปรับตัวไม่ทัน

วงการออกแบบก็เช่นกัน

ในยุคที่เครื่องมือต่างๆ เอื้อให้ทุกคนไม่ว่าสาขาอาชีพใดสามารถเข้าถึงการออกแบบได้และความต้องการของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป คำถามที่เกิดขึ้นคือแล้วคุณค่าที่แท้จริงของนักออกแบบคืออะไร-ทำไมยังจำเป็นต้องมีอาชีพนี้อยู่บนโลก

นอกจากในภาควิชาชีพ ภาคการศึกษาด้านการออกแบบก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่ากัน แม้เป็นเรื่องน่าเศร้าปนหวั่นวิตก แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า หลายๆ อย่างที่เราเรียนรู้กันในช่วงเวลา 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย พอจบออกไปโลกภายนอกก็เปลี่ยนหมดแล้ว

สิ่งที่น่าคิดต่อจากนี้คือเมื่อโลกหมุนไปโดยไม่สนใจแผนการสอนของอาจารย์หรือหลักสูตรที่เพิ่งร่างเมื่อปีก่อน สถานศึกษาจะปรับตัวอย่างไร ไม่ให้ช่วงเวลา 4 ปีของคนคนหนึ่งต้องเสียไปเปล่าๆ

จากคำถามสำคัญต่างๆ จึงเป็นที่มาให้ สันติ ลอรัชวี นักออกแบบและผู้ก่อตั้ง PRACTICAL Design Studio ลุกขึ้นมาปลูกปั้นโครงการ M>O>V>E> เพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้คนในวงการออกแบบ ทั้งในส่วนของวิชาชีพ สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และภาคเอกชน ได้มาแลกเปลี่ยนถึงความเคลื่อนไหวในวงการ และคุยกันทิศทางที่เหล่านักออกแบบไทยจะมุ่งหน้าเดินไป

“สิ่งที่พวกเราเจอวันนี้จะเรียกว่าปัญหาหรือจะเรียกว่าเงื่อนไขก็ได้ แต่เราหลับตาแก้ไม่ได้แล้ว เราต้องมอง ต้องจ้องมัน” สันติว่าอย่างนั้นเมื่อเราพบกัน

ในอีกบทบาทหนึ่ง สันติคืออาจารย์พิเศษ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผมจึงตั้งใจชวนเขา รวมถึง ดร.ปิยลักษณ์ เบญจดล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ และหัวหน้าภาควิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ ผศ. ดร.จุฑามาศ ตั้งสันติกุล หัวหน้าโครงการ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ (หลักสูตรนานาชาติ) (CommMA) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยกันถึงทิศทางการศึกษาด้านการออกแบบเป็นการอุ่นเครื่อง ก่อนที่เรื่องนี้จะเป็นหนึ่งในหัวข้อบนเวทีงาน ‘M>O>V>E> 2018 Design Conference’ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 17 ธันวาคม ณ TCDC Commons

ท่ามกลางความขมุกขมัวจากหมอกควันแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ผมคล้ายเห็นแสงสว่างรางๆ ในวงสนทนา

นักออกแบบ

นักออกแบบ

จากการเฝ้ามองในฐานะอาจารย์ มีการเปลี่ยนแปลงใดที่น่าสนใจหรือส่งผลต่อการศึกษาด้านการออกแบบบ้างไหม

อ.ปิยลักษณ์ : ถ้ามองการศึกษาด้านการออกแบบมันก็มีพวกสาขาใหม่ๆ เกิดขึ้นในต่างประเทศที่เราได้ยินมา เช่น Services Design มันก็ค่อนข้างใหม่พอสมควร หรือ UX UI Design ซึ่งตอนรุ่นของเราเองหรือว่ารุ่นที่เราจัดการศึกษาอยู่ยังไม่ได้มีสาขาแบบนี้มากนัก มันก็สะท้อนกลับมาว่ามีสาขาอย่างนี้ด้วยเหรอ แล้วก็เข้าใจว่า ณ ปัจจุบันนี้ชื่อสาขาต่างๆ เหล่านี้ยังไม่น่าจะเปิดเป็นหลักสูตรในมหาวิทยาลัยในไทยได้เลย มันก็เลยเหมือนเป็นการปะทะกันอยู่ว่าสิ่งที่เราเสนอในเชิงหลักสูตร กับสิ่งที่โลกหรือต่างประเทศเขามุ่งไปแล้ว

แล้วแต่ละหลักสูตรในบ้านเรา อย่างน้อยๆ ต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปีถึงจะมีโอกาสเปลี่ยน อย่างที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพิ่งเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อ 2560 แต่สิ่งที่เคยถูกเซ็ตเอาไว้จากองค์ความรู้หรือ Knowledge Skill ที่เราเคยคาดว่านักออกแบบจะต้องมีในกระบวนการเรียนรู้ 4 ปี มันไม่ใช่อีกแล้ว เพราะฉะนั้น พอเจอ Disrupt แบบนี้แล้วเราเปลี่ยนหลักสูตรไม่ทันแน่นอน

อ.สันติ : อย่างที่อาจารย์ปิยลักษณ์ว่า ถ้าเขาลงหลักปักฐานไปแล้ว อย่างหลักสูตรมัน 5 ปี แต่ใช้ปีแรกก็รู้ว่าไม่เวิร์ค ซึ่งกว่าจะถึงรอบเปลี่ยนหลักสูตรเราไม่เฉาตายกันหมดแล้วเหรอ เด็กต้องตายไปกี่รุ่น นี่คือสิ่งที่มันเข้ามา ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่พวกเราเจอวันนี้จะเรียกว่าปัญหาหรือจะเรียกว่าเงื่อนไขก็ได้ แต่เราหลับตาแก้ไม่ได้แล้ว เราต้องมอง ต้องจ้องมัน

แล้ววิธีแก้ปัญหานี้คืออะไรพอจะมองออกไหม

อ.ปิยลักษณ์ : เรามองว่าถ้าไปยึดติดกับหลักสูตร มันก็ไม่มีอะไรขยับ เพราะฉะนั้น เราอาจจะมองมันแค่ว่ามันเป็นกรอบที่เคยถูกเขียนเอาไว้ แต่ตอนนี้มันยึดตามนั้นแบบเป๊ะๆ ไม่ได้แล้ว เพราะว่าถ้าเป๊ะเราก็อยู่กับที่แน่นอน

อ.สันติ : หลักสูตรมันเหมือนแผนการเล่น เหมือนเวลาเล่นบอล ก่อนลงสนามโค้ชสั่งให้เล่นเกมรับ ก็ลงไปเล่นเกมรับ แต่ถ้าคุณดันโดนยิงนาทีแรก คุณก็ต้องเปลี่ยนแผน

ย้อนกลับไปที่ อ.ปิยลักษณ์ เล่าว่า มีการเกิดขึ้นของสาขาใหม่ๆ ในระดับโลก สิ่งนี้มันสะท้อนอะไรบ้าง

อ.จุฑามาศ : ส่วนตัวเราคิดว่า Design เป็นเรื่องที่ยึดโยงอยู่กับชีวิตมนุษย์ เพราะฉะนั้น เมื่อชีวิตของเรามันไม่ได้ถูกล็อกอยู่กับมุมใดมุมหนึ่ง มันจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สิ่งต่างๆ มันจะพยายามกระโดดเข้าหากันไปมาเพื่อทำให้มันตอบสนองกับชีวิตของคน เพราะฉะนั้น การเกิดศาสตร์ใหม่ๆ คิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้น เนื่องจากว่ามนุษย์ก็จะต้องพยายามหาหนทางตอบสนองชีวิตที่มันเปลี่ยนแปลงไป

อ.สันติ : จริงๆ ในบ้านเรามันใหม่มากในทางการศึกษาการออกแบบ น่าจะไม่เกิน 50 ปี แต่จริงๆ แล้วรากฐานตัว Design ที่มันอยู่ในตะวันตกที่เรารับมายาวกว่านั้นเยอะมาก ถ้าเทียบง่ายๆ คือเขาลองมาหมดแล้ว อันนั้นดีไหม อันนี้ดีไหม จะเวิร์กไม่เวิร์กก็แล้วแต่ แล้วมีการข้ามไปที่อเมริกาอีก เขาลองกันเป็นศตวรรษ เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นสิ่งของใหม่ๆ มันก็อยู่ในสังคมที่มันอิ่มตัวในการทดลอง

แล้วในบ้านเราที่รับของเขามาช้ามากก็กำลังลองกันอยู่ แต่ว่าเราซวย คือเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเอายังไง ควรจะเป็นยังไงถึงจะรอด ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง กระบวนการทดลองเรายังสั้นแต่อยู่ดีๆ โลกมันก็เร็วขึ้นมา แล้วก็บอกว่า เฮ้ย นายต้องเปลี่ยน แล้วคราวนี้มันเปลี่ยน มันไม่ใช่แค่ปรับ

เมื่อก่อนอาจจะ 50 ปีถึงจะมีอาชีพหนึ่งหายไป แล้วก็ 10 ปี แล้วก็ 5 ปี ตอนนี้อาจจะไม่ถึง นั่นแปลว่ามหาวิทยาลัยถูกเร่งโดยอัตราการเปลี่ยนแปลงของโลก ของสังคมที่มีความเร็วขึ้น ซึ่งเราไม่ใช่ไปโทษว่าอาจารย์เก่งหรือไม่เก่ง แต่ว่าสถานการณ์ของประเทศนี้มันเป็นแบบนี้ แล้วเราจะยอมจำนนหรือว่าจะทำยังไง ในโลกที่เราเห็นว่ามันเปลี่ยนอีกแล้ว มันมีวิชาใหม่อีกแล้ว อย่างเช่น Experience Designer บางคนยังถามว่ามันทำอะไรวะ ซึ่งบางทีบ้านเราติดอยู่กับคำถามว่าทำมาหากินอะไร

อ.จุฑามาศ : ใช่ เรายังต้องบอกว่าจบไปแล้วจะประกอบอาชีพอะไรได้

นักออกแบบ นักออกแบบ นักออกแบบ

การติดอยู่กับคำถามว่า ‘จบไปจะประกอบอาชีพอะไร’ เป็นปัญหายังไง

อ.ปิยลักษณ์ : เพราะโลกเขาไม่ได้สอนแบบนั้นอีกแล้ว เด็กไม่สามารถตอบได้แล้วว่าเขาจะเป็นอะไร เพราะบางทีในหัวเขามันมิกซ์กัน เพราะฉะนั้น Job Domain ที่เขียนไว้ว่าจบไปแล้วจะประกอบอาชีพอะไรได้มันไม่มีตัวเลือกให้เขา หรือไม่เขาก็คิดว่าฉันทำได้ตั้ง 3 – 4 อย่าง ทำไมต้องมาให้เลือก 1 อย่าง

อ.สันติ : คือว่าคุณเอาอดีตไปตอบอนาคตไง เหมือนที่ผมเคยคุยกับพี่สุรชัย พุฒิกุลางกูร เรายังถามเด็กว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร แสดงว่าคุณเอาอดีตให้เด็กเขาเลือกไง แต่เราไม่ได้ถามว่าเขาชอบทำอะไร

อ.จุฑามาศ : กลับไปที่เมื่อสักครู่ที่บอกว่ามันมีการเกิดสาขาวิชาใหม่ๆ มุมมองหนึ่งของเราคือเรารู้สึกว่า จริงๆ แล้วเวลาเรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เราไม่ได้แยกศาสตร์ในการดำรงชีวิตของเรา มากเท่ากับเวลาที่เราเรียนหนังสือ

วิธีการศึกษามันถูกแบ่งออกให้เป็นศาสตร์นั้นศาสตร์นี้ แล้วก็สร้างกรอบขึ้นมา ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของผลจากวัฒนธรรม วัฒนธรรมคือตัวที่มาบ่งบอกว่าเราจะต้องแยกออกเป็นกรุ๊ปเป็นวิถีของการเรียนรู้ แต่ถ้าเราย้อนกลับมานึกถึงชีวิตของเราใน 1 วัน เรายึดโยงอยู่กับสิ่งต่างๆ มากมาย คือชีวิตของเราไม่ได้อยู่ภายใต้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง ทุกๆ ศาสตร์มันผสมผสานกันเข้ามาเป็นชีวิตของเรา แต่ว่าการศึกษาเป็นตัวแบ่ง นี่คือ Science นี่คือ Art นี่คือกฎหมาย แล้วถามว่ากฎหมายไม่เกี่ยวกับทุกคนเหรอ

แล้วไม่ใช่แค่แยกศาสตร์อย่างเดียว ไม่รู้ว่ารุ่นนี้โตมาเหมือนรุ่นเราหรือเปล่า แต่มีการให้คุณค่ากับศาสตร์ต่างๆ ไม่เท่ากัน ถ้าเรียนเก่งก็ต้องเรียนสายวิทย์สิ ถ้าเรียนไม่เก่งก็ไปเรียนสายศิลป์สิ แล้วทักษะการใช้ชีวิตจริงๆ สายศิลป์นี้ไม่สำคัญเหรอคะ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่นะ มนุษยศาสตร์คนก็จะมองอย่างหนึ่ง สายวิทยาศาสตร์ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง

อ. สันติ : จริงๆ เรื่องการแยกมันเป็นการติดกับ เป็นปัญหาใหญ่มากๆ ในการเรียน แล้วในแต่ละภาคเรียน ในแต่ละสาขาวิชาที่เด็กเรียนก็แทบไม่ได้ทำอะไรที่ลงลึก ผมเพิ่งคุยกับเด็กในห้อง สมมติคุณเรียน 5 วิชา คุณใช้พลังแบ่งเป็น 20 20 20 20 20 ในการเรียน 5 วิชานี้ คุณใช้พลังแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ในการทำงานวิชาของผม แต่เผอิญว่าทั้งหมดมันไม่ได้รวมกันเป็น 100 นะ สุดท้ายคุณก็ได้แค่ 20 คุณยังเป็นไอ้ห่วยอยู่ ซึ่งผมไม่ได้โทษเขา แต่ผมหมายถึงว่าอาจารย์แต่ละคนแย่งความสนใจคุณโดยที่ไม่คุยกันว่าเด็กมีเวลาแค่นี้ แล้วไหนเขายังจะต้องเล่นเกมอีก ต้องทำอะไรอีกหลายอย่าง เขาจะทำได้ยังไง คือคุณสร้างโจทย์ที่มันเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่แรกแล้ว

แล้วถามว่า สุดท้ายใน 5 วิชาเด็กทำวิชาอะไร เด็กก็ทำวิชาที่อาจารย์โหดกว่า อาจารย์คนนี้ดุกว่า เขี้ยวกว่า มันเอาตกจริงๆ นะ หรือวิชาที่ต้องส่งพรุ่งนี้ สุดท้ายคือคุณเรียนเชิงเอาตัวรอดหมดเลย คุณไม่ได้เรียนเพื่อความเป็นเลิศเลย แล้วเราก็เลยผลิตนักเอาตัวรอดเข้าสังคม แทนที่จะเป็นผู้เป็นเลิศในสิ่งที่ตัวเองทำ ซึ่งพอเป็นแบบนี้เดี๋ยวคุณก็ลืมวิชาที่เรียน เพราะว่ารอดแล้วไง มันก็เหมือนห่วงยาง คุณพกห่วงยางไปตลอดเหรอ พอคุณขึ้นเรือคุณก็ทิ้งห่วงยางแล้ว เพราะฉะนั้นวิชามันก็กลายเป็นห่วงยาง แทนที่จะเป็นทักษะการว่ายน้ำ

นักออกแบบ นักออกแบบ

แล้วในภาพกว้าง ความเปลี่ยนแปลงของโลกกระทบกับนักออกแบบในภาควิชาชีพยังไงบ้าง

อ.สันติ : ผมพูดสรุปคำหนึ่งใหญ่ๆ เลยก็คือคำว่า ‘คุณค่า’ แต่ทีนี้จะตีความคุณค่าว่าคืออะไรก็แล้วแต่

เทคโนโลยีมันทำให้เกิดตลาดอีกแบบหนึ่งใน e-Commerce ซึ่งเป็นธุรกิจที่เย้ายวนของคนที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านออกแบบ เราจะเห็นว่ามีคนที่จบวิศวะคอมพิวเตอร์ คนที่จบการตลาด แล้วมาเทกคอร์ส Graphic Design เพื่อที่จะเปิดบริษัททำ Facebook Banner ทำอะไรต่างๆ นานา เพราะฉะนั้น เดิมที่งานพวกนี้ที่เด็กเรียนออกแบบที่จบใหม่จะได้ทำ เขาก็ไม่ได้ทำแล้วนะ เพราะฉะนั้น จริงๆ ตอนนี้ทุกอย่างมันถูกลดคุณค่าของการทำงานลงไป คุณอาจจะได้รายได้ไม่มากเท่าที่คุณคิดหรือเท่าที่คุณลงทุนตอนเรียนไปด้วยซ้ำ เพราะว่าคุณค่าของงานในตลาดมันต่ำลง ถามว่าต่ำลงเพราะอะไร มันก็ตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือมันมี Supply เยอะ การเข้าถึงงานบริการบางอย่างหรือทักษะบางอย่างคนเขาเข้าถึงได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นก็เป็นธรรมดา ในเมื่อหน้าที่บางอย่างคุณหมดแล้ว คุณจะขอเงินเยอะๆ ได้ยังไง

แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องตีโพยตีพาย มันแค่เป็นเงื่อนไขของความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น การยึดถือคุณค่าบางอย่างมันก็ต้องเปลี่ยนไป สมมติคุณสอนทำโลโก้ 1 เทอม เด็กถูกให้เวลา 15 สัปดาห์สำหรับการเรียนทำโลโก้ นั่นแปลว่าเด็กถูกทำให้คิดว่าเรื่องนี้สำคัญ คิดว่าที่เรียนมาเป็นเรื่องใหญ่ ในขณะที่จบออกไปทุกวันนี้มีคนรับออกแบบโลโก้ในราคา 3,000 บาท แถมยังโดนแก้เละแล้วบอกว่าแพงด้วย

คือคุณสอนอะไรอยู่ก็ต้องทบทวนกันอีก มันเป็นเรื่องที่เราน่าจะตั้งหลักแล้วจับตามองมัน เราต้องย้อนกลับมาถามว่าทำไมเราสอนกันอย่างนี้ ต้องเอามาวางให้หมดแล้วจะเห็นความสัมพันธ์ แล้วจึงจะรู้ว่าอะไรควรทำ

นักออกแบบ นักออกแบบ

แล้วมหาวิทยาลัยปรับตัวกับเรื่องคุณค่าที่เปลี่ยนแปลงไปยังไง

อ.ปิยลักษณ์ : พอเรารู้ว่าตัวคุณค่าของงานออกแบบมันต่ำลง เราก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้เด็กในคลาสเขาคิดได้ว่า จะทำยังไงให้คุณค่างานออกแบบของตัวเขาเองมันสูงขึ้น ภาพกว้างของสิ่งที่เขาต้องออกไปในอุตสาหกรรมมันเป็นแบบนี้ แล้วเขาจะเลือกเข้าไปอยู่ตรงไหน หรือเขายินดีจะอยู่แค่ตรงฐานล่าง

ซึ่งจริงๆ มันยากมากที่คุณจบแล้วจะขึ้นไปอยู่ยอดของพีระมิดเลย มันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเขารู้ว่ามันมีตรงนั้นอยู่ เขาจะสร้างเสริมประสบการณ์ยังไงให้มันขึ้นไประดับนั้นได้ เพื่อที่จะให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ขึ้น เรารู้สึกว่าถ้าไม่ให้ภาพเขาจะไม่เห็น เขาจะเห็นแต่สิ่งที่อยู่ตรงฐานอย่างเดียว

อ.จุฑามาศ : ถ้าสมมติว่าเรามองการออกแบบแค่ที่ผลลัพธ์แบบเดิมๆ มันก็จะเป็นข้อจำกัดในการมองว่าการออกแบบทำอะไรได้บ้าง สมมติว่าเราล็อกว่าจบออกมาก็ต้องออกแบบโลโก้สิ มันก็จะไม่มีวันเป็นอะไรไปได้นอกจากออกแบบโลโก้ แล้วพอตลาดเขาไม่อยากได้โลโก้แล้ว หรือเขาไม่อยากได้โลโก้จากเราแล้ว เราก็ทำอะไรไม่ได้อีก แต่เราควรมองย้อนกลับมาว่าการออกแบบมันคืออะไร ผู้เรียนหรือว่าดีไซเนอร์เองก็จะต้องมีความสามารถในการที่จะเสนอว่าผลลัพธ์ของมันเป็นอะไรได้อีกบ้าง

เหมือนตอนแรกที่เราทำ CommDe (Communication Design) ก็ไม่มีสอนออกแบบโลโก้เลย แล้วก็โดนปรามาสว่าเด็ก CommDe จบแล้วจะไปทำอะไรได้ โลโก้ก็ไม่ได้เรียน แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ เราไม่ได้สอนออกแบบโลโก้ แต่เราสอนวิธีการออกแบบ ซึ่งเขาอาจจะเอาไปประยุกต์ออกแบบโลโก้ก็ได้ถ้าเขาได้รับมอบหมายให้ออกแบบโลโก้ หรือเขาจะไปประยุกต์ออกแบบอื่นๆ ก็ได้อีก ที่สำคัญคือเราสอนให้เขาคิดว่าในบริบทที่เขากำลังพิจารณาอยู่ งานออกแบบแบบไหนที่เป็นที่ต้องการของบริบทนั้น เพราะฉะนั้น มันก็จะไม่ไปกำหนดตายตัวที่ผลลัพธ์ การออกแบบคือการทำความเข้าใจกับบริบทที่เรากำลังพิจารณา แล้วก็จัดการสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในบริบทนั้น เพราะฉะนั้นหน้าที่ของนักออกแบบคือ ออกแบบสิ่งที่มันจะสอดคล้องไปกับตัวบริบท แต่ผลลัพธ์จะเป็นอะไรนั่นเป็นหน้าที่ของนักออกแบบ

ย้อนกลับไปที่เรื่องคุณค่า มันต้องทำให้ผู้เรียนรู้ว่าคุณค่าในการออกแบบมันอยู่ที่ไหน แล้วเขาจะนิยามคุณค่ามาจากตัวเขาได้ยังไง มากกว่าจะไปวิ่งไล่ตามคุณค่าจากคนอื่นๆ หรือที่เขานิยามเรามา ตรงนี้เป็นจุดที่จำเป็นและสำคัญมาก

นักออกแบบ

นอกจากผู้เรียนที่ต้องปรับตัว อาจารย์ปรับตัวอย่างไรกันบ้างไหม

อ.จุฑามาศ : ไม่รู้สินะ เราก็ยังเชื่อในคัมภีร์คำสอนของ John Dewey ที่พูดเรื่องของ Educative Experience คือเขาว่า ถ้าผู้เรียนสามารถที่จะเชื่อมโยงความรู้ได้ด้วยตัวของเขาเอง ความรู้นั้นก็จะเป็นของคนคนนั้นตลอดไป แทนที่เขาจะมาเชื่อเราและทำตามสิ่งที่เราบอก ถ้าเขาเอากลับไปคิดแล้วสังเคราะห์ความรู้ออกมาได้เป็นของเขาเอง ความรู้นั้นก็จะอยู่กับเขาตลอดไป

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะสอนวิชาใดก็จะพยายามยึดตรงนี้เป็นหลักแล้วก็มาออกแบบวิธีการสอน ว่าทำยังไงเขาถึงจะสร้างสรรค์หรือสังเคราะห์ความรู้ออกมาด้วยตัวของเขาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำยังไงเขาถึงจะมี Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์) มี Reflective Thinking (การสะท้อนคิด) เพราะถ้าเขามีทักษะ 2 ตัวนี้ ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ในบริบทแบบไหน เขาก็จะสามารถประมวลหาวิธีการที่จะแก้ปัญหาหรือว่าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองโจทย์ตรงนั้นได้ ซึ่งส่วนตัวคิดว่ามันเป็นวิธีการเรียนการสอนที่ได้ผล

การสอนให้คิด ให้เชื่อมโยงความรู้ได้ด้วยตัวเอง ยากยังไง ทำไมจึงยังไม่แพร่หลายในบ้านเรา

อ.จุฑามาศ : มันเป็นวิธีการเรียนการสอนที่ต้องใช้เวลามากๆ แล้วก็ต้องใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์มากๆ มันจะต้องมีการปฏิสัมพันธ์กัน มีฟีดแบ็กกันอยู่ตลอดเวลา แล้วนิสิตที่มีแพสชันในการเรียนเขาจะสามารถเรียนได้ แต่ถ้านิสิตที่เขาแค่มาทำแล้วก็ส่งโดยที่ใจเขาอยากไปทำอย่างอื่น เขาก็จะไม่ค่อยได้ แล้วบางครั้งเขาก็จะโกรธเรา ว่าทำไมเราไม่สอนเขา เราก็ต้องใช้ความพยายามมากๆ เพื่อจะบอกว่า ถ้าความรู้เราเอาไปใส่หัวเขามันก็จบ เดี๋ยวมันก็เชย แล้ววันหน้าความรู้นั้นมันก็ไม่ใช่ แต่ทำยังไงเขาถึงจะมีวิธีการในการเรียนรู้ และเข้าใจในการเรียนรู้เพื่อที่วันหน้าเขาจะเอาไปใช้ทำอย่างอื่นได้

อย่างที่อาจารย์สันติบอก สมมติวันหนึ่งเขามีทักษะในการว่ายน้ำ เขาจะว่ายในสระน้ำ หรือเขาจะว่ายในแม่น้ำ หรือเขาจะว่ายในทะเล เขาก็พอที่จะรู้ด้วยตัวเองว่าเขาจะเลือกว่ายท่าไหน ในน้ำแบบไหน มีเวลาให้ว่ายมากแค่ไหน

เหมือนว่าแม้โลกจะเปลี่ยนไป อาจารย์จะสอนสิ่งที่ยังไงมันก็จะไม่เปลี่ยน

อ.จุฑามาศ : คือเครื่องมือมันเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน แต่ความสามารถของมนุษย์ที่พยายามสร้างสรรค์อะไรออกมาเพื่อตอบปัญหานั้น เราคิดว่ามันต้องมีตลอด

นักออกแบบ

อะไรคือสิ่งสำคัญที่พวกคุณมักจะบอกหรือปลูกฝังกับเด็กรุ่นใหม่ที่ได้เจอ

อ.จุฑามาศ : อย่างที่บอกไป ให้เขามีทักษะในการคิด ให้เขาหัดพิจารณาบริบท

อ.ปิยลักษณ์ : คณะเราพยายามคิดว่าทำยังไงที่จะออกแบบวิธีการการเรียนรู้หรืออะไรก็ตามให้ตอนนี้เขาสามารถที่จะรู้ว่าเพื่อนในสายที่อาจจะไม่ใช่สาขาวิชาเอกเดียวกันเขาทำอะไรกันอยู่ เพราะในโลกข้างนอกเขามีความเชื่อมโยงกันอยู่ในเชิงอุตสาหกรรม ถ้าจบออกไปพวกเขาก็จะต้องทำงานด้วยกันอยู่ดี

อ.สันติ : ผมพยายามให้เด็กขับเคลื่อนด้วยคำถาม หมายถึงว่าพยายามให้ทุกคนเป็นนักถาม นักสงสัย สงสัยเพื่อเท่าทัน ซึ่งเท่าทันมันมี 2 เรื่องคือ เท่าทันข้างใน กับเท่าทันข้างนอก ซึ่งมันเป็นเรื่องยากสำหรับเขา ผมก็เลยบอกว่าให้เขาลองทำในระดับชีวิตประจำวัน ไม่อย่างนั้นไม่สำเร็จ เพราะไม่มีใครสอนให้คุณทำเรื่องนี้ได้ ต้องทำด้วยตัวคุณเอง เพราะฉะนั้น ผมก็พยายามสร้างบรรยากาศให้นักศึกษาได้ถาม จะถามโง่ๆ ก็ได้ แต่ให้ถาม

การถามคำถามสำคัญอย่างไรกับนักศึกษา

อ.สันติ : คำถามสำคัญกับคน สำคัญกับมนุษย์ เพราะมนุษย์จำเป็นต้องมีคำถาม ยิ่งทุกวันนี้มันมีเรื่องรอบตัวเราเต็มไปหมด เราจะตอบได้ดีก็ต่อเมื่อเราตั้งคำถามได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น การฝึกถามมันจึงเป็นทักษะหนึ่งที่จำเป็นมากๆ ทุกวันนี้เราเปิดกูเกิลเข้าไปหาข้อมูลคำตอบเต็มไปหมดเลยนะ จะเอาอะไรล่ะ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องถามให้ถูกก่อน

นักออกแบบ

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล