จักรพันธุ์ โปษยกฤต คือใคร

เขาคือศิลปินผู้ได้รับยกย่องเป็น 1 ใน 52 นายช่างเอกในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพุทธศักราช 2543 รวมถึงได้รับยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย ประจำปีพุทธศักราช 2552 ผู้ฝากผลงานสวยงามอลังการราวเทวดารังสรรค์ไว้ตามสถานที่สำคัญของประเทศ

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

ยังไม่หมดแค่นั้น  

รูปแบบการทำงานศิลปะของอาจารย์จักรพันธุ์ไม่เหมือนใคร เขาก่อกำเนิดสกุลช่าง (School) ใหม่ เรียกขานกันว่า ‘สกุลช่างจักรพันธุ์’ เป็นที่รู้กันว่าสกุลช่างนี้นำเอาศิลปวิทยาที่ได้รับถ่ายทอดจากบูรพศิลปาจารย์ในแต่ละแขนงโดยตรง รวมทั้งที่ศึกษาวิจัยจากงานจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และประณีตศิลป์ของโบราณ มาประกอบร่วมสร้างงานศิลปะที่เป็นปัจจุบันสมัยในรูปแบบศิลปประเพณีขึ้นใหม่

อาจารย์จักรพันธุ์เคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาวิจัยศิลปไทยอยู่ในคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในช่วง พ.ศ. 2513 – 2516 ด้วยความเป็นผู้ทรงสรรพศิลปวิทยาหลายแขนง นักนิยมศิลปชาวตะวันตกจึงให้สมญาอาจารย์จักรพันธุ์ว่า ‘เรเนซองส์แมน’ (Renaissance Man) คือเหตุผลรองรับและให้ผลงานออกมาสวยงามที่สุด งานที่สกุลช่างจักรพันธุ์ฝากไว้ในแผ่นดิน มีทั้งงานจิตรกรรม งานประติมากรรมและประณีตศิลป์ รวมถึงงานสร้างและแสดงหุ่นกระบอก

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

หุ่นกระบอกสำนักนี้ใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะเปิดแสดงหนึ่งเรื่อง เพราะต้องใช้เวลาร่วมปีกว่าจะสร้างหุ่นกระบอกเพียงหนึ่งตัว ตั้งแต่ปั้น เขียนหน้า ทำกลไก ปักดิ้นเลื่อมเครื่องแต่งตัว และซ้อมเชิดหุ่น

เมื่อหุ่นเหล่านั้นโลดแล่นบนเวที คนดูจะได้ตระหนักว่าหุ่นกระบอกไทยพัฒนามาไกลเพียงใด เพราะได้เห็น ‘หุ่น’ ที่กรีดนิ้วจีบรำ ดึงดาบออกจากฝัก หลั่งทักษิโณทกจากสุวรรณภิงคารในการแสดงหุ่นกระบอกเรื่องตะเลงพ่าย

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

อาจารย์จักรพันธุ์เรียกการทำงานหุ่นกระบอกว่าเป็น ‘งานอดิเรก’ แต่คงเป็นงานอดิเรกแสนรักเหลือเกิน ตามที่อาจารย์เคยกล่าวว่า “ทำเพราะรักเพราะชอบ และอยากให้สวยวิจิตร…ให้คนดูตกตะลึงพรึงเพริด”

ในวัย 75 ปี อาจารย์จักรพันธุ์กรุณาเปิดบ้านย่านเอกมัยต้อนรับทีมงาน The Cloud แม้วันนี้อาจารย์ยังป่วยจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบที่เป็นมาร่วม 2 ปี แต่เราได้คุยกับคุณต๋อง หรือ คุณวัลลภิศร์ สดประเสริฐ ‘มือขวา’ ที่เป็นลูกศิษย์ร่วมงานที่ใกล้ชิดอาจารย์จักรพันธุ์มากที่สุดคนหนึ่งเป็นเวลาหลายสิบปี

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

เราคุยกันเรื่องเบื้องหลัง ‘นิทรรศการหมุนเวียนชุดแรก ผลงานอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต’ ที่จะจัดแสดงตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2561 นี้

รวมถึงวิธีคิดและวิธีทำงานแบบอาจารย์จักรพันธุ์ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน

วิธีทำงานสไตล์จักรพันธุ์ที่ไม่มีโอกาสได้ถ่ายทอด

“วิธีขึ้นรูปของอาจารย์จักรพันธุ์ไม่ค่อยเป็นสูตรตายตัว” คุณต๋องเล่า “บางทีแกเริ่มเขียนจากพื้นหลัง (Background) มา โดยยังไม่เขียนหน้าคนที่เป็นแบบ คือโครงสีพื้นหลังจากริมเฟรมผ้าใบด้วยฝีแปรงฉกาจฉกรรจ์ฉับไว แล้วทิ้งเว้นพื้นที่ขาวไว้เป็นทรงศีรษะ ไหล่ และท่อนตัว อย่างน่าอัศจรรย์ หากที่แท้แล้ว ถ้าใครเคยได้ยินท่านสอน จะเข้าใจว่านี่คือพื้นฐาน เพราะท่านสอนเสมอว่า จะดูรูปทรงบุคคลหรือวัตถุใดที่ต้องการเขียนให้แม่น ให้ดูจากขอบตัดของพื้นที่อากาศที่เป็นพื้นหลังของแบบก่อนว่าอย่าเพิ่งไปหลงส่วนละเอียด หู ตา จมูก ปาก สิ่งประกอบอื่น”  

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

ภาพกินรีนั่ง

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

ถ้านึกภาพผลงานเขียนของอาจารย์จักรพันธุ์ อย่างนางในวรรณคดีที่เราคุ้นกันบนบัตรอวยพรปีใหม่ จะพบว่า งานของอาจารย์สีสวยสะอาด ตัดเส้นละเอียดยิบ ดวงหน้าหญิงสาวสวยหวาน สัดส่วนถูกต้องตามหลักกายวิภาค และดูราวกับภาพนั้นมีชีวิตจิตใจ

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

“อาจารย์จักรพันธุ์เก่งที่สุดแล้วเรื่องเขียนภาพเหมือนคน เพราะเขียนได้ถึงข้างในอารมณ์รู้สึกของคนคนนั้น คนในรูปคิดอะไร สุขุมไหม วู่วามไหม มันออกมาหมด แต่เสียดายอาจารย์ไม่มีโอกาสสอนใครเลย เวลาได้รับเชิญไปสอน กลับเป็นหัวข้อ ‘เขียนรูปยังไงให้ขายได้’ อาจารย์ก็ไปให้นะ แต่จะพูดเรื่องที่เกี่ยวกับศิลปะ เพราะอาจารย์ทำงานด้วยความรัก ไม่ได้มุ่งเพื่อการค้า ถ้าอาจารย์มีโอกาสสอนนักศึกษา ประเทศเราจะมีคนเขียนภาพเหมือนเก่งๆ อีกหลายคน” คุณต๋องกล่าว

โดยทั่วไปช่างเขียนรูป ถ้าเป็นรูปสีน้ำมัน มักใช้น้ำมันสำหรับล้างสีออกจากพู่กันก่อนจุ่มสีใหม่ แต่อาจารย์จักรพันธุ์ไม่ใช้ ยกเว้นสีน้ำ แต่ก็ต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ คุณต๋องไขคำตอบว่า “พู่กันจะสกปรก สีจะเป็นโคลน น้ำมันที่ล้างพู่กันจะปนกับสี ทำให้สีสกปรก ไม่ใสสะอาด”

แล้วอาจารย์ทำอย่างไร ถ้าไม่ล้างด้วยวิธีนั้น

“เช็ดด้วยผ้าครับ สีน้ำมันเวลายังไม่แห้งเช็ดดีๆ ก็ออกแล้ว ง่ายกว่าเอายางลบลบรอยดินสออีก เวลาเขียนรูปที่ไม่ใช่จิตรกรรมไทยประเพณีอาจารย์ก็ไม่ร่างด้วยดินสอก่อน เขียนด้วยพู่กันสดๆ เลย ทำแบบนี้ตั้งแต่หนุ่ม เคยเห็นอาจารย์สอนหลานผมเขียนสีน้ำ เอาผลส้มมาตั้ง ให้บีบสี แล้วเขียนเลย

“อาจารย์บอกว่า พอดินสอละลายปนกับสีแล้วภาพจะไม่สะอาด ทุกภาพของอาจารย์จึงสวยสะอาดมาก นี่เป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขา การจะเขียนรูปได้แม่นไม่แม่น ก็ยังเป็นรองเรื่องความสะอาดของสี”

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

อาจารย์จักรพันธุ์เป็นคนสะอาดเรียบร้อยมาก หากเห็นบริเวณทำงานของลูกศิษย์คนใดสกปรกเลอะเทอะ จะติติงทันที ผมโดนประจำ เพราะชอบสุมกองกระดาษไว้ เลอะได้แค่สีในจาน แต่ก็ต้องสะอาดเรียบร้อย ไม่บีบสีเปะปะปนกันจนเป็นสีเน่าอย่างที่อาจารย์มีศัพท์เรียกเฉพาะตนให้เห็นภาพชัดว่า ‘น้ำปูเค็ม’  ส่วนตัวอาจารย์เองเป็นคนไม่กินไปเขียนรูปไป แม้แต่น้ำยังไม่วางไว้ใกล้ๆ แต่จะต้องลุกไปดื่มแล้วกลับมาทำงานต่อ เพราะกลัวจะหกเลอะเทอะงาน

“รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับการทำงานศิลปะ แต่ความจริงคือพื้นฐานที่เสริมการทำงาน ถ้าอาจารย์มีโอกาสสอนสิ่งเหล่านี้ เด็กรุ่นใหม่จะเข้าใจอะไรต่ออะไรขึ้นเยอะเลย ผมเสียดายมาก เพราะวันนี้อาจารย์ป่วยจนไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้กลับมาสอนหรือเปล่า วิชามันสูญไปกับตัวบุคคล เราอุตส่าห์มีบุคลากรที่เรียกว่าชั้นหนึ่งแล้ว” คุณต๋องพูดนิ่งๆ

ช่างปั้นช่างแกะ ช่างสลักช่างเขียน ช่างติช่างเตียน เวียนอยู่คู่กันไป

งานต่างๆ ของอาจารย์จักรพันธุ์ ทั้งงานจิตรกรรม งานสร้างหุ่นกระบอกและซ่อมหุ่นหลวง มีคนวิจารณ์ว่า ทำให้งานดั้งเดิม ‘วิบัติ’ เป็นงาน ‘แหวกขนบ’ เพราะทำอะไรที่เขาไม่ทำกัน อย่างการเขียนรูปเทพกัญญา (เทวดาผู้หญิง) ขนาดใหญ่ไว้ในวัด ใส่เกราะให้ยักษ์ตัวอื่นนอกจากทศกัณฐ์ หรือเปลี่ยนสีผ้านุ่งให้หุ่นหลวง ‘พระพรต’ เป็นสีม่วง แทนสีเขียวตามแบบแผน ฯลฯ

แต่หลายๆ กรณี งาน ‘สกุลช่างจักรพันธุ์’ กลับพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ไม่เป็นไปตามแบบแผน แต่กลับทำให้บังเกิดความงดงามยิ่งขึ้น อาจารย์จักรพันธุ์เคยกล่าวไว้ว่า ตนเองไม่ใช่ช่าง ‘ซ่อม’ แต่เป็นช่าง ‘สร้าง’ การซ่อมแซมงานดั้งเดิมนั้นต้องเคารพต้นแบบ แต่งานที่ออกมา “สุดแต่ฝีมือของช่างจะบันดาลให้เป็นไป” (จากคำให้สัมภาษณ์ ‘ชีวิตเพื่อศิลปะ ศิลปะคือชีวิต’ นิตยสาร สารคดี ฉบับกรกฎาคม 2552)

แล้วเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน ว่าสิ่งนี้ ‘ทำตามตำรา’ สิ่งนี้ ‘แหวก’ ได้

“อาจารย์เป็นคนเคร่งครัดวิชาการมากนะ อย่างงานซ่อมหุ่นหลวง (ปี 2526 – 2529) และซ่อมหุ่นวังหน้า (ปี 2536 – 2540) แกพยายามซ่อมให้ใกล้ต้นฉบับมากที่สุด แต่ลายเก่าบางชิ้นที่อาจารย์จับได้ว่าไม่ใช่เก่าจริง ผ่านการซ่อมมาโดยช่างฝีมือรุ่นใหม่ ที่ไม่สวย ก็จะเปลี่ยนเพื่อให้สวยขึ้น แต่ถ้าช่างเก่าฝีมือสูง สวยงาม อาจารย์จะให้คงไว้ ไม่แตะเลย” คุณต๋องอธิบาย

“เรื่องให้พระพรตนุ่งผ้าม่วงแทนที่จะนุ่งผ้าเขียว อาจารย์บอกผมว่า คนเรายังมีตั้งหลายชุด ทำไมพระพรตต้องนุ่งผ้าเขียวตลอด ท่านจะนุ่งสีอื่นบ้างไม่ได้หรือ คือสมัยก่อนบางทีคนทำละครจะเตรียมไว้หลายชุด ก็คงเป็นเรื่องเปลืองงบด้วยเหตุหนึ่ง”

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

อาจารย์จักรพันธุ์เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า นอกจากไม่ผิดตำราแล้ว เขาเห็นว่านุ่งผ้าม่วงดูดีกว่า เป็นการเลือกใช้สีตามทฤษฎีตามทฤษฎีของช่างเขียน เนื่องจากพระพรตมีใบหน้าและกายสีแดง อาจารย์จึงเลือกผ้าสีเหลืองทองมาปักเป็นเสื้อหุ่น เพราะเป็นข้างร้อนร่วมกันกับสีแดง ที่ไม่กลืนกันเหมือนสีแสด สีส้ม แต่ตัดกับสีแดงอย่างไม่กระโดดจนบาดตา แล้วเลือกผ้านุ่งสีม่วงซึ่งเป็นสีตรงกันข้ามกับกับสีเหลือง โดยทั้งสองสีตัดกันอย่างกลมกลืน เพราะถูกลดความแรงลงด้วยเส้นลวดลายเงิน แดง ของผ้าทอและดิ้นเลื่อม ไหมทอง แต่ที่สำคัญเหนือทฤษฎีใดๆ คือ ถ้าออกมางดงามวิจิตรก็คือถูกต้องตามปรารถนา เพราะศิลปะไม่ใช่กฎหมายหรือคณิตศาสตร์

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

กรณีอาจารย์จักรพันธุ์สวมเกราะให้หุ่นหลวง ‘พระพิราพ’ ซึ่งเป็นยักษ์ มีเสียงโต้แย้งจากคนในวงการว่า ในบรรดายักษ์ มีทศกัณฐ์เท่านั้นที่สวมเกราะ

คุณต๋องอธิบายว่า “ที่จริงมีเสียงติแค่คนเดียวเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันก็ไม่อยู่ค้านแล้ว ไม่รู้ท่านไปเอาตำราเล่มไหนมาอ้าง มันไม่ตรงกับแนวทางปฏิบัติที่ปรากฏร่ำเรียนสืบทอดกันมาโดยสิ้นเชิง ถ้าไปดูภาพจิตรกรรมไทย ทั้งจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระแก้ว หนังใหญ่ รูปปั้น รูปสลัก แม้แต่รูปถ่ายโขนเก่าๆ ของยักษ์ทุกตัวที่แต่งเครื่องครบ สวมเกราะทั้งนั้น มีทั้งเกราะอก เกราะข้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าถ้าเขียนหรือปั้นยักษ์ไม่ใส่เกราะแล้วจะผิด ที่เห็นกันว่าหุ่นหลวงหรือโขนตัวยักษ์ต้องไม่สวมเกราะ เดิมทีอาจจะเคยสวม แต่เกราะพังสูญหายแล้วไม่มีคนซ่อม เพราะเป็นชิ้นเล็กๆ หรือบางทีเป็นเพราะไม่มีงบ

“ยักษ์ตนอื่นถ้าใส่เกราะบ้างไม่ใส่บ้างก็ดูไม่สวย ให้ทศกัณฐ์ใส่เกราะตนเดียวแล้วกัน ไม่มีตำราไหนเขียนว่ายักษ์ต้องใส่หรือไม่ใส่เกราะนะครับ หุ่นวังหน้าอย่าว่าแต่ยักษ์จะใส่เกราะทุกตัวเลย มัจฉานุเป็นลิงท่านยังให้ใส่เกราะแต่งอย่างยักษ์ เพราะยักษ์เอาไปเลี้ยง ในขณะรูปเขียนหรือโขนทั่วไป มัจฉานุแต่งลิง มีหางเป็นปลา แต่กรมพระราชวังบวรฯ ท่านคงจะเห็นว่าไมยราพคงไม่ลำบากลงทุนไปหาซื้อชุดลิงมาให้มัจฉานุใส่หรอก มึงอยู่กับกูก็ต้องแต่งตัวเหมือนพวกกู อีกเรื่องหนึ่งซึ่งท่านผู้ค้านลืมก็คือ ตอนมังกรกัณฐ์แผลงศรไปต้องเกราะเพชรพระรามขาด นี่ยังไง พระรามแย่งเกราะทศกัณฐ์ไปใส่อีกองค์แล้ว ไม่ใช่แค่พระพิราพ”

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

แล้วที่อาจารย์จักรพันธุ์เป็นคนแรกที่เขียนรูปตัวนางให้มีสไบไว้ในอุโบสถวัดตรีทศเทพวรวิหาร (พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา)

“นี่ก็ถูกนักอ้างทฤษฎีค้านอีกว่าทำไมเขียนรูปผู้หญิงเป็นเทพธิดาองค์ใหญ่ๆ ไว้ในโบสถ์ เขาไม่ทำกัน อาจารย์จักรพันธุ์บอกว่า ผู้หญิงเข้าวัดไม่ได้หรือ มีมหาอุบาสิกาสร้างวัดถวายตั้งเยอะแยะ นางคณิกายังสร้างวัดเลย ทำไมไม่กตัญญูกับท่านบ้าง แม่เราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ที่สมัยโบราณเขาไม่เขียนรูปผู้หญิงไว้ที่ประตูเพราะนางในรูปโบราณถอดเสื้อ เขาก็กลัวพระจะไปเห็น อาจารย์เลยเขียนให้มีผ้าห่มนางอย่างละครคลุมไว้ เป็นเครื่องทรงนางกษัตริย์และเทพกัญญาในแบบศิลปประเพณีที่อาจารย์ออกแบบขึ้นใหม่

“ไม่มีทฤษฎีบอกว่าห้ามเขียนรูปผู้หญิงไว้ในวัด รูปโบราณที่วัดบางแคใหญ่ สกุลช่างมอญ รูปผู้หญิงเบ้อเริ่มเลยอยู่ที่บานประตู ถอดเสื้ออีกต่างหาก เขียนสวยมาก ฝีมือช่างมอญ ก็ยังมี

“อาจารย์บอกผมว่า มัวกำหนดทฤษฎีมากๆ ทำให้การทำงานตัน ไปทางโน้นก็ติด ไปทางนี้ก็ติด เราทำดนตรีประกอบหุ่นกระบอกเรื่องตะเลงพ่าย เมื่อก่อนมีคนบอกว่า เอานักร้องผู้ชายมาร้องหมู่ ไม่มีใครทำกันหรอก มีแต่นักร้องหญิง แต่วงเราทำ เดี๋ยวนี้นักร้องผู้ชายร้องหมู่นี่ทำกันเยอะแยะ

“หรือสำนวนที่ว่า เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย แต่ก่อนไม่มีหรอก เพราะในวงดนตรีไทย ปี่กับขลุ่ยเล่นพร้อมกันไม่ได้ คนละระดับเสียง แต่วงเรา ผมเอามาปรับเสียงหากัน ปรับเสียงขลุ่ยเพียงออให้ขึ้นมาสูงเท่าปี่ใน อาจารย์จักรพันธุ์ก็ไม่ว่าอะไร ขอให้ออกมาเพราะก็แล้วกัน เวลาทำงานอาจารย์ไม่ได้สนใจหรอกว่าถูกต้องตามตำราไหม แต่เอาที่คิดว่าเหมาะสม รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้สักหน่อยว่าห้ามฉีกตำรา ถ้ามัวคิดว่าไม่มีใครทำแล้วไม่ลองทำ ป่านนี้คนคงยังแก้ผ้าเดินโทงๆ เป็นมนุษย์ถ้ำอยู่แน่” คุณต๋องหัวเราะ

เจ้าตัวเคยให้คำตอบเรื่องนี้ไว้ชัดเจนสุดๆ ว่า

ตามที่ได้มีผู้เกิดความคับข้องใจขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูกในการซ่อมหุ่นและการเขียนรูปละครของข้าพเจ้านั้น แต่แรกคิดว่าจะไม่บอก เพราะพูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง… แต่เอาเถอะ ถึงจะบอกถูกหรือไม่ถูก ข้าพเจ้าก็ต้องถูกอยู่ดี” (จาก ‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต ตอบปัญหาเรื่องหุ่นหลวง และภาพเขียนนางละครอันวิบัติ’ จากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปี 2530)

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

ขึ้นชื่อว่าศิลปินแล้ว หากไม่ฉีกตำรา ก้าวย่ำอยู่บนทางเส้นเดิม ไฉนเลยจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า พัฒนาการ เมื่อนายช่างลงมือ ‘ซ่อม’ หรือ ‘สร้าง’ สิ่งใดแล้ว ย่อมต้องมีภาพผลลัพธ์อันงามที่สุดเป็นที่ตั้ง มิใช่มัวกังวลว่าจะขัดกับตำราหรือไม่

หากพิจารณาให้ถ่องแท้จะรู้ว่างานศิลปะในสกุลช่างจักรพันธุ์ นอกจากจะไม่เหินห่างจากวิชาการแล้ว ยังรองรับด้วยสรรพวิชาหลากหลายแขนง ทั้งตะวันออก ตะวันตก ที่ถูกนำมาผสมกันเพื่อให้บังเกิดสื่อกลางที่ทุกชาติ ทุกภาษา แสวงมาร่วมกัน คือ ‘ความงดงามวิจิตร’

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

ภาพทรงวาด-ราชวงศ์

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

ภาพสมิงพระรามรบกามนี

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

ภาพปรุงเวทย์

หลายปรมาจารย์ หลอมรวมเป็น ‘จักรพันธุ์’

อาจารย์จักรพันธุ์เป็นศิษย์มีครู และให้ความนับถือครูบาอาจารย์มาก แม้เขาเข้าเรียนคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมเพียงปีเดียว (14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505) แต่ ‘อาจารย์ฝรั่ง’ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์จักรพันธุ์เสมอมา นับตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยอาจารย์ศิลป์แนะนำวิธีวาดเส้นและสอนให้รู้จักสังเกตสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติด้วยสายตาศิลปิน

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

แน่นอน ข้าพเจ้ามิใช่ศิษย์คนสุดท้ายของท่าน และจะไม่มีใครได้เป็นศิษย์คนสุดท้าย เพราะลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ศิลป์จะต้องมีสืบต่อไปไม่จบสิ้น” อาจารย์จักรพันธุ์เคยกล่าวไว้ในงานปาฐกถา ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 3 ในปี 2541 ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

งานหุ่นกระบอกที่อาจารย์จักรพันธุ์เคยกล่าวว่า ทำเป็นงานอดิเรก ทำเพราะรักเพราะชอบ แต่เป็นงานอดิเรกที่เจ้าตัวจริงจังมาก ลงทุนลงแรงไปเสาะหาปรมาจารย์มาสอนและช่วยในด้านต่างๆ

การแสดงหุ่นกระบอกเป็นศิลปะที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญหลายด้าน อาทิ ความรู้วิชาทำหัวโขนซึ่งได้ความเมตตาจาก ครูชิด ดวงใหญ่ (ปรมาจารย์แห่งการทำหัวโขน) หัดเชิดหุ่นกระบอกกับ ครูชื้น สกุลแก้ว (ลูกสาวครูเปียก ประเสริฐกุล ปรมาจารย์การเชิดหุ่นกระบอก) และ ครูวงษ์ รวมสุข (เจ้าของหุ่นคณะชูเชิดชำนาญศิลป์ที่อำเภออัมพวา สมุทรสงคราม) เรียนปักดิ้นเลื่อมเพื่อทำชุดหุ่นกระบอกกับ ครูเยื้อน ภาณุทัต (ปรมาจารย์งานประณีตศิลป์)

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

การแสดงหุ่นกระบอกจะขาดดนตรีเสียมิได้ ถึงแม้อาจารย์จักรพันธุ์เล่นดนตรีไม่เป็น แต่ได้ความกรุณาในการบรรจุเพลงประกอบการแสดงหุ่นกระบอกทุกเรื่องจาก ครูบุญยงค์-บุญยัง เกตุคง (ครูบุญยงค์เป็นนักดนตรีปี่พาทย์เจ้าของฉายา ‘ระนาดเทวดา’ และได้รับคำชื่นชมจากโจวเอินไหล ผู้นำจีน ว่าตีระนาดได้ไพเราะดั่ง ‘ไข่มุกหล่นบนจานหยก’ ครูบุญยังเป็นนักระนาดทุ้มฝีมือเยี่ยมของยุคสมัย เจ้าของฉายา ‘บุญยัง ทุ้มยอด’) และ ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ (นักปี่ที่ได้รับการยอมรับว่ามีทักษะเป็นเลิศ) นอกจากนี้ ครูบุญยังยังมีทักษะด้านการรำละครและการแสดงลิเก จึงสอนวิชารำละครให้แก่อาจารย์จักรพันธุ์ด้วย

คุณต๋องเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์จักรพันธุ์กับครูบาอาจารย์ชั้นแนวหน้าแห่งยุคว่า อาจารย์จักรพันธุ์เป็นที่รักของบรรดาครูอย่างมาก เคารพนับถือและเห็นฝีมือกันมานานตั้งแต่เริ่มเล่นหุ่นกระบอกครั้งแรก พ.ศ. 2518

“คงเป็นบุญกุศลร่วมกันมา ครูบุญยงค์ ครูบุญยัง และครูจำเนียร 3 ท่านนี้เรียกว่าเป็นบรมครูผู้ให้ความรู้คำปรึกษาเรื่องของเพลงสำนักเราเลย ช่วยเหลือกันมาเรื่อยจนตายจากกันไป” คุณต๋องเล่าบรรยากาศให้ฟังว่า

“ครูบุญยงค์เป็นหัวหน้าวงปี่พาทย์กรุงเทพมหานคร สมัยเล่นหุ่นครั้งแรกท่านไม่ตีเองหรอก ให้ ครูพินิจ ฉายสุวรรณ ที่เป็นรุ่นน้องตีระนาดเอกตามตำแหน่งที่ประจำวง จนแสดงหุ่นกระบอกรอบสุดท้าย อาจารย์จักรพันธุ์บอกครูบุญยงค์ว่า อยากฟังฝีมือระนาดครู ช่วยตีให้ผมสักรอบ ครูบุญยงค์ก็บอก ‘เอาอย่างนั้นหรือครับ’ แล้วตีให้

“อาจารย์จักรพันธุ์ได้ฟังแล้วติดใจในฝีมือ ประทับใจในไหวพริบปฏิภาณ เพราะปกติครูบุญยงค์เป็นคนกำกับบท ครูพินิจตีระนาด วันนั้นท่านมาเป็นคนตี พอถึงเพลง น้ำลอดใต้ทราย ซึ่งครูจำเนียรเป็นคนร้อง ครูบุญยงค์เผลอสอดระนาดรับโดยตามบทไม่มีรับ แต่ด้วยไหวพริบ ประสบการณ์ ของบรมครูทั้งสองผู้เป็นเพื่อนรัก ร่วมเรียนเล่นกันมาตั้งแต่เด็กจนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน กลายเป็นเพราะกว่าเล่นปกติเสียอีก

“ครูบาอาจารย์เหล่านี้รักใคร่ชอบพอกับอาจารย์จักรพันธุ์มานานมาก เพราะเป็นคนแบบเดียวกัน คือไม่ยึดติดและพลิกแพลงวิชาได้ อย่างครูบุญยงค์ ท่านเล่นดนตรีกับ อาจารย์บรูซ แกสตัน ร่วมกันก่อตั้งวงฟองน้ำ เรียกว่าเล่นดนตรีไทยมาตรฐานก็ชั้นเยี่ยม เล่นดนตรีร่วมสมัยก็ได้ เลยคุยกันรู้เรื่อง เวลาทำเพลงให้อาจารย์จักรพันธุ์ท่านก็บอกว่า ‘คุณจักรพันธุ์…เพลงไทยมีเยอะแยะ ไม่ต้องไปใช้ตามเขาหรอก เดี๋ยวผมทำให้ใหม่’ คุณครูเยื้อน ภาณุทัต ที่สอนปักดิ้นเลื่อม ก็เคยกล่าวว่า วิชาของท่านนั้นพลิกแพลงแตกฉานออกไปได้ไม่รู้จบ”

เอาวิชาเป็นที่ตั้ง

นอกจากเป็นคนพลิกแพลงวิชาได้ตลอดแล้ว ช่างเขียนชื่อจักรพันธุ์ยังยอมทุกอย่างเพื่อให้ ‘เป็น’ วิชาที่ต้องการ

“อาจารย์จักรพันธุ์เป็นคนรักวิชามากกว่าชีวิต อย่างไปเรียนเชิดหุ่นกับ ลุงวงษ์ (ครูวงษ์ รวมสุข) อาจารย์ว่ายน้ำไม่เป็น แต่ไปหาลุงวงษ์นี่ต้องนั่งเรือจากอัมพวาข้ามไปแควอ้อม น้ำกว้างใหญ่ ท่านไม่สนใจเลย อยากได้วิชาท่านก็ไป” คุณต๋องเล่า

นักเรียนชื่อจักรพันธุ์เคยให้สัมภาษณ์ติดตลกว่า “ความจริงขี้เกียจเรียน…

จริงหรือเปล่า

คุณต๋องตอบว่า “ขี้เกียจเรียนหรือเปล่าไม่รู้ แต่ไม่ขี้เกียจซ้อมแน่นอน ผมยังเล่าเรื่องนี้ให้พวกที่หัดเชิดหุ่นรุ่นหลังๆ ฟัง อาจารย์ไปเรียนเชิดหุ่นกับครูชื้น กลับมาบ้าน ตื่นมากินข้าวเช้าเสร็จ เอาไม้กระบอกกับที่มีแค่ไหล่กับหัวหุ่นมา ถือด้วยมือซ้าย ตั้งองศาตามคุณป้าชื้นสอนอย่างไรอย่างนั้น ไม่ให้คลาดเคลื่อนนอกตำราแม้แต่น้อย ท่านจะกล่อมอยู่อย่างนี้ (ทำท่าเชิดหุ่น) กล่อมหนึ่ง กล่อมสอง ตีไหล่ไป พอเที่ยง ไปกินข้าว กินเสร็จซ้อมต่อ นั่งซ้อมอยู่คนเดียวจนเย็น กินข้าวเย็น ซ้อมต่อจน 4 ทุ่ม ทำอย่างนี้เป็นเดือนๆ เป็นปีๆ ถ้ามีงานเขียนรูปก็เขียน ถ้าไม่มีงานก็นั่งซ้อมอย่างที่ว่า

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

“อาจารย์เชิดหุ่นได้สวยมาก ที่ท่านนั่งซ้อมก็เพื่อดูองศาหน้ากับตัว ความที่เป็นช่างเขียนรูป จึงแม่นเรื่องสัดส่วน ขยับองศายังไงให้หุ่นดูเหมือนมนุษย์ ตอนนั้นท่านไม่ได้ตั้งกระจกดูนะ ดูจากเงาสะท้อนกระจกที่ตู้หนังสือ เหมือนคนกล่อมไหล่หรือยัง

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

“เป็นมนุษย์ที่มีความเพียรสูงมาก ถ้าชอบทำอะไรจะทำไม่เลิกราจนกว่าจะบรรลุเป้า แม้จะเก่งแล้วก็ซ้อมอยู่นั่นแหละ”

คุณต๋องยังเล่าเพิ่มว่า อาจารย์จักรพันธุ์ไม่สนใจว่าคนสอนจะเป็นศิลปินมีชื่อหรือไม่ ขอไปเรียนก่อน

“ท่านมีความรู้แตกฉานเพราะเป็นคนอ่อนน้อม ไม่ได้ทะนงตนว่าเป็นศิลปินใหญ่ แม้ว่าเขาเด็กกว่า ไม่ว่าเก่งจริงหรือไม่จริง เพราะแบบนี้ถึงได้วิชา ครูบาอาจารย์ทุกคนรักหมด แม้คนที่เขียนรูปไม่เป็นเลยมาติว่าหัวเล็กไป อาจารย์ฟังนะ ถ้าเล็กจริง แก้เลย ไม่โกรธด้วย เป็นคนไม่ค่อยโมโห”

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ปูชนียบุคคลแห่งวงการศิลปะไทย เคยกล่าวถึงลูกศิษย์ชื่อจักรพันธุ์ว่า เป็นม้าตีนปลาย เพราะไม่ได้จบจากโรงเรียนศิลปะก่อนเข้าศิลปากร แต่จบจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ช่วงแรกๆ ฝีมือเขียนรูปจึงยังสู้พวกที่จบช่างศิลป์หรือเพาะช่างไม่ได้ แต่ด้วยความเป็นคนนอบน้อมและไม่ดื้อกับครูบาอาจารย์ นักศึกษาหนุ่มชื่อจักรพันธุ์เข้าไปถามอาจารย์ชลูดว่า สู้เขาไม่ได้ ทำยังไงจึงจะเก่ง

คำตอบสั้นๆ จากอาจารย์ชลูดคือ “ทำให้มากๆ” เป็นคำตอบที่อาจารย์จักรพันธุ์ยึดถือและใช้ตลอดมา

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

คุณต๋องทิ้งท้ายบทสนทนาว่า อาจารย์จักรพันธุ์ทำงานและใช้ชีวิตตามหลักอิทธิบาท 4 ในพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว

“ฉันทะนี่มีเต็มร้อย เพราะถ้าไม่ใช่งานที่รักท่านไม่ทำ ชอบเขียนรูป ชอบเล่นหุ่น ก็เอาใจใส่ หมกมุ่นทำ คอยหาเหตุผลว่าตรงไหนดีไม่ดียังไง ทำอะไรขึ้นใหม่ก็ให้ดีกว่าเก่า ทุกอย่างนี้ประมวลออกมาเป็นตัวอาจารย์จักรพันธุ์ เป็นเหตุผลของความสามารถทั้งหมดที่อาจารย์มี”

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

ภาพคลองตะเคียน เขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี

หากต้องการเงินสักก้อนหนึ่ง เพียงอาจารย์จักรพันธุ์ยอมขายภาพเขียนสักชิ้น ก็มีนักสะสมยินดี แต่อาจารย์ไม่ยอมขาย เก็บรักษาไว้เพื่อทำ ‘พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ จักรพันธุ์ โปษยกฤต’ ย่านสายไหม กรุงเทพฯ ที่กำลังจะสร้างเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นที่รวบรวมผลงานทั้งชีวิตของอาจารย์ บางส่วนถูกคัดเลือกมาจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้เห็น ‘ของดี’ ที่อาจารย์รักและหวงแหนหลายต่อหลายชิ้น ท่านพูดเสมอว่า “ถ้าเราขายงานหมด ไม่เก็บเอาไว้บ้าง คนทั่วไปที่นิยมชมชอบก็จะไม่มีโอกาสได้เห็น”

คุณต๋องเล่าถึงแนวความคิดในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ว่า “เราไม่ได้ต้องการแสดงความเก่งของอาจารย์ ก็รู้อยู่แล้วว่าท่านเก่ง แต่เราต้องการสร้างเยาวชน ให้เขาเห็นงาน ประเทศเราจะได้มีบุคลากรที่เก่งเท่าหรือยิ่งกว่าอาจารย์จักรพันธุ์ ไม่ใช่ให้ทุกอย่างหยุดและตายอยู่แค่ยุคสมัยเดียว เพราะคลื่นลูกน้อยทยอยซัดตามคลื่นใหญ่ มหาสมุทรจึงดำรงอยู่ตลอดกาล”

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้เป็นประจักษ์พยานแห่งความหลงใหลในงานศิลป์ของช่างเขียนคนหนึ่งที่เขียนรูปได้งามราวเทวดา สร้างหุ่นกระบอกที่กรีดนิ้วจีบ จับหอกวาดดาบ เอี้ยวตัวได้เหมือนมนุษย์ ชนิดคนดูประทับใจจนน้ำตาไหล ศิลปินผู้มีความเคารพครูบาอาจารย์เป็นที่ตั้ง แต่พลิกแพลงหลักการและฉีกอกนอกตำราได้เสมอ ตราบใดที่ได้ผลลัพธ์เป็นของสวยของงาม เป็นงานที่เราคงไม่มีโอกาสได้เห็นจากใครอีกแล้ว

นอกจากฝีมือนายช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ช่างเขียนผู้เป็นต้นตำรับ ‘สกุลช่างจักรพันธุ์’

จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

รายละเอียดนิทรรศการ

นิทรรศการหมุนเวียนชุดแรก ผลงานอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต
เริ่มวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2561 – วันอังคารที่ 25 ธันวาคม 2561 เปิดทุกวัน เวลา 13.00 – 16.30 น. (หากมีกำหนดหยุดจะแจ้งให้ทราบทางเว็บไซต์มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต) ณ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต
เลขที่ 49/1 ซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ
โทร 023927754, 0873325467
Line ID | chakrabhand-ex


ค่าธรรมเนียมเข้าชม
– ประชาชนทั่วไปท่านละ 100 บาท
– นักเรียน นิสิต นักศึกษา ในเครื่องแบบหรือแสดงบัตรประจำตัว ท่านละ 50 บาท
– สถาบันการศึกษาขอเข้าชมเป็นหมู่คณะไม่เสียค่าธรรมเนียม กรุณาโทรศัพท์ติดต่อ และส่งหนังสือขออนุญาตเข้าชมล่วงหน้า 7 วัน มายังมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต โทร 023927754, 0873325467 (เฉพาะรอบ 10.00 – 12.00 น.)
– เด็กเล็กที่อยู่ในความดูแลของผู้ปกครองไม่เสียค่าธรรมเนียม

*หมายเหตุ เนื่องจากพื้นที่นิทรรศการหมุนเวียนนี้ปรับปรุงจากสถานที่ฝึกซ้อมหุ่นกระบอกภายในบ้านศิลปิน ดังนั้น ความจุพื้นที่ภายในโถงแสดงนิทรรศการสามารถรองรับผู้เข้าชมจำนวนจำกัด มูลนิธิฯ จึงขอสงวนสิทธิ์ที่จะกำหนดให้ผู้ชมทยอยเข้าชมตามความเหมาะสมของสถานที่

 

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล