จากการชวนเชิญของ คุณตามกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อและสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ ทำให้ The Cloud มีโอกาสร่วมนั่งเป็นสักขีพยานของการประชุมนักเขียนเด็กเป็นครั้งแรกในโลกและในประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา การประชุมครั้งนี้เป็นการรวบรวมนักเขียน นักกวี นักแปล และนักวาดภาพประกอบ จากสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ อายุระหว่าง 8 – 13 ปี ที่เคยได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นระดับชาติ อย่างเด็กหญิงซายูริ ซากาโมโตะ (ซายูริ) เขียนหนังสือ บันทึกของซายูริ ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น พ.ศ. 2559 ของกระทรวงศึกษาธิการ เด็กหญิงติณณา แดนเขตต์ (ตินติน) เขียนหนังสือ กราบ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9  ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น พ.ศ. 2560 ของกระทรวงศึกษาธิการ และ เด็กหญิงในใจ เม็ทซกะ (ในใจ) เขียนหนังสือ ความในใจ ได้รับรางวัลชมเชยการประกวดหนังสือดีเด่น พ.ศ. 2560 ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กอายุ 6 – 11 ปี ของกระทรวงศึกษาธิการ

ยังมีนักเขียน นักกวี นักแปล นักวาดภาพประกอบ ที่กำลังจะมีผลงานจัดพิมพ์เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 11 คน ในหัวข้อว่าด้วย

  • พจนานุกรมสำหรับเด็ก
  • วิชาที่โรงเรียนไม่ได้สอน  
  • หุ่นยนต์ทำแทนมนุษย์ไม่ได้
  • กวีและนักเขียนเด็กจะดูแลโลกได้อย่างไร
  • และสารพัดหัวข้อสนุกที่เผยจินตนาการของเด็กตัวจิ๋ว แต่ความคิดความอ่านไม่จิ๋วตามตัว

การประชุมนักเขียนจัดขึ้น ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นการร่วมมือกันระหว่างสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ และคุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน นอกจากเด็กๆ จะได้รับความรู้จากการเดินชมสถาปัตยกรรมรอบบริเวณ ยังถือเป็นการมาเคารพและรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปรียบเสมือนต้นแบบของเหล่านักบันทึกตัวน้อย เพราะพระองค์ทรงเป็นนักทำหนังสือ กวี นักประพันธ์บทละคร และนักแปล

 

1. การประชุมครั้งนี้เป็นการรวมนักเขียน กวี นักแปล และนักวาดภาพประกอบเด็ก มาประชุมกันมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และนัยว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลก

สถานที่จัดการประชุมอยู่บนเรือนไม้หลังสวยของเจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งคุณเกล้ามาศจัดบรรยากาศให้เหมือนห้องทรงพระอักษรของรัชกาลที่ 6 ด้านหนึ่งเป็นทิวไม้ ด้านหนึ่งเป็นท้องทะเล โต๊ะยาวกลางห้องจึงถูกล้อมด้วยเด็กๆ และคุณตามกุฏ หากมองออกไปยังหน้าต่างด้านขวาจะเห็นสีเขียวขจีของต้นไม้ หน้าต่างด้านซ้ายเห็นหาดทรายและแสงแดดกระทบน้ำทะเลเปล่งแสงระยิบระยับ

  2. นักเขียน กวี นักแปล และนักวาดภาพประกอบ ทั้ง 11+1 คน มีจุดเริ่มต้นและรู้จักกันผ่านการเขียนสมุดบันทึกไม่มีเส้นของสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ ได้แก่ ซายูริ (นักเขียน นักวาดรูป) ตินติน (นักเขียน นักวาดรูป) ในใจ (นักเขียน นักแปล นักวาดรูป) ปริม (กวี นักวาดรูป) พิณ (กวี นักวาดรูป) ขวัญข้าว (นักเขียน นักวาดรูป) ภูมิ (นักแปล นักวาดรูป) ลายคราม (นักพับกระดาษเล่าเรื่อง) ดิน (นักเขียน นักวาดรูป) ปั้น (นักเขียน นักวาดรูป) เบญ่า (นักเขียน นักวาดรูป) และ พลอย หัวหิน (อดีตนักเขียนบันทึก ปัจจุบันหันมาเอาดีทางด้านกีฬา)

 

3. หลังจากเปิดงานและแนะนำตัว คุณตามกุฏเปิดการประชุมด้วยการถามความเห็นว่า การเขียนบันทึกให้ดีต้องทำอย่างไรบ้าง สรุปใจความของคำตอบได้ว่า การเขียนให้ดีต้องมาจากจินตนาการ ใช้ความคิดและประสบการณ์ของผู้เขียนถ่ายทอดไปยังผู้อ่าน การเขียนยังทำให้ดินสร้างคำใหม่ได้อย่างมีความมั่นใจ เช่น คำว่า ‘สุริยะอาทิตย์’ แปลว่า อาทิตย์อาทิตย์ เป็นการย้ำคำว่าอาทิตย์ให้หนักแน่นขึ้นกว่าเดิม

4. การเขียนบันทึกนำไปสู่คำถามก่อนเขียนบันทึก ก่อนที่นักเขียนจะลงมือเขียน เขาจะนึกถึงประสบการณ์ สิ่งที่พบที่เจอในแต่ละวัน ทั้งน่าจดและไม่น่าจำ แต่ก็นำกลับมาจดลงบนสมุดบันทึก ก่อนที่นักวาดภาพประกอบจะจรดปลายดินสอพวกเขามักจินตนาการ

ขวัญข้าวนักวาดวัย 10 ขวบจะนึกถึงสัตว์ที่ไม่มีในโลกนี้ แต่มีในโลกจินตนาการของเธอ เพราะเธอชอบวาดสัตว์ประหลาด ในใจจะนึกถึงประสบการณ์ดีๆ ในแต่ละวันแล้วนำกลับมาเขียน เมื่ออ่านแล้วจะได้กลับมาคิดถึง

ส่วนตินตินขอเขียนบันทึกเฉพาะวันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันจันทร์ เพราะวันอังคาร วันพุธ และวันพฤหัสบดี เอาไว้วาดรูป

สุดท้ายดินตอบว่า ก่อนจะลงมือเขียนเขาจะคิดว่า “ผมจะทำให้ตัวเองมีความสุขได้อย่างไรในแต่ละวัน” เป็นคำตอบที่คุณตามกุฏบอกให้ทุกคนจดลงไปบนสมุดบันทึก แม้แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจด

 

5. เด็กๆ ลงความเห็นว่าสมุดบันทึกของพวกเขาควรมีขนาดกะทะรัด พกพกง่าย สะดวกต่อการหยิบขึ้นมาเขียน หยิบขึ้นมาวาด ปกแข็งจะดีกว่าเพราะทนทาน

ดินอยากให้สมุดบันทึกใช้กระดาษปอนด์ผสมสี (กระดาษถนอมสายตา)

ส่วนปั้นอยากได้สมุดบันทึกที่ด้านหน้าโล่ง ให้เจ้าของสมุดบันทึกเป็นคนออกแบบหน้าปกเอง ซึ่งในใจเองก็เห็นด้วย

คุณตามกุฏรับข้อเสนอของเด็กๆ ไว้ และชวนตินตินให้ออกแบบสมุดเป็นรูปทรงอื่นแทนสี่เหลี่ยม เพราะตินตินอยากมีสมุดบันทึกรูปไอศกรีม

6. การจะเป็นนักเขียน คลังคำศัพท์เป็นเรื่องสำคัญ ถ้ารู้คำน้อยก็จะเขียนได้น้อย แน่นอนว่าการสะสมคำจะต้องมาจากการอ่าน อ่านมากคลังก็จะสะสมคำมาก การเปิดพจนานุกรมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแต่ก็ยังเป็นปัญหาสำหรับเด็ก ด้วยขนาดใหญ่โตมโหฬาร พกติดตัวลำบาก หรือบางครั้งใช้งานยากจนทำให้เด็กไม่อยากใช้ อย่างกรณีของในใจ เวลาเธอไม่เข้าใจคำศัพท์ก็จะเปิดหาความหมาย พออ่านความหมายแล้วมีบางคำไม่เข้าใจ ก็ต้องเปิดพจนานุกรมไปหาความหมายของคำนั้น หาไปหามาจนลืมไปแล้วว่าคำแรกหมายความว่าอะไร

คุณตามกุฏจึงเสนอว่า ถ้ามีพจนานุกรมสำหรับเด็ก มีใครเห็นด้วยและอยากใช้บ้าง มติเป็นเอกฉันท์จากการยกแขนขึ้นสูงมากกว่าครึ่งของผู้เข้าประชุมว่า เด็กอยากมีพจนานุกรมสำหรับเด็ก แต่ต้องมีขนาดเล็กพกพาได้ สีสันสวยงามให้เด็กอยากหยิบใช้งาน มีภาพประกอบคำศัพท์ มีสำนวนไทย และมีคำอ่านออกเสียง คล้ายภาษาอังกฤษที่มีการอ่านออกเสียงตามโฟเนติกส์ เพราะเวลาเด็กอ่านไม่ออก ก็จะทำให้เขียนคำผิด

 

7. จากการสังเกตเด็กๆ ทั้ง 11+1 คนมีรูปแบบการศึกษาค่อนข้างหลากหลาย ทั้งโรงเรียนนานาชาติ  โรงเรียนทางเลือก โรงเรียนในประเทศญี่ปุ่น และโฮมสคูล ไม่ว่าแต่ละสถาบันจะมีรูปแบบการสอนอย่างไร ก็ยังมีวิชาที่เด็กๆ อยากให้โรงเรียนสอน เพราะพวกเขาอยากเรียนตามความชอบและความถนัดของตนเอง ในขณะเดียวก็เรียนวิชาหลักควบคู่กันไปด้วย

พิณ เด็กหญิงผู้รักภาษาไทย เสนอว่า เธอขอเวลาว่างวันละ 1 ชั่วโมงเพื่อเรียนสิ่งที่ชอบ ดินบอกว่า เด็กควรเรียนวิชาหลักและวิชาหลักๆ วิชาหลักๆ คือภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ส่วนภาษาไทยและสังคมศาสตร์เป็นวิชาหลัก เพิ่มเติมวิชาศิลปะและดนตรีด้วย ปริมยกมือเสนอวิชาเกษตร เพราะเด็กจะได้ไม่อดตาย ได้อยู่กับธรรมชาติ และเป็นการฝึกอาชีพ

8. พิณแสดงความเห็นในหัวข้อวิชาที่อยากให้โรงเรียนสอนอีกครั้งหลังจากฟังเพื่อนๆ ตอบ เธอบอกว่า ควรเรียนในสิ่งที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ เพราะในอนาคตหุ่นยนต์จะมาแทนที่มนุษย์ทั้งหมด คุณตามกุฏได้ที ถามเด็กๆ ต่อว่า แล้วอะไรบ้างที่หุ่นยนต์ทำแทนมนุษย์ไม่ได้ เด็กๆ นิ่งคิดสักครู่ก่อนจะแย่งกันยกมือพร้อมตอบว่า การเรียน การใช้จินตนาการก็เป็นคำตอบยอดฮิต และที่สำคัญ การเขียนเป็นคำตอบสำคัญของคำถาม แต่ซายูริกระซิบบอกคุณตามกุฏว่า “ความอ่อนโยนแบบมนุษย์ หุ่นยนต์ทำไม่ได้”

 

  9. การประชุมเดินทางมาถึงคำถามสุดท้าย พลังของเด็กๆ ยังคงเต็มปรอท คุณตามกุฏถามเด็กๆ ว่า ในฐานะนักเขียน กวี นักแปล และนักวาดภาพประกอบ เราจะดูแลโลกดวงนี้อย่างไร แน่นอนว่าหน้าที่สำคัญของนักเขียนคือ เขียนแล้วต้องคิดถึงผู้อื่น การช่วยโลกในฐานะนักเขียนก็คือการเขียน เขียนเพื่อบอกเล่าวิธีการดูแลรักษาโลกในแบบของเราเอง จากความคิด จากจินตนาการ และจากจิตวิญญาณของนักเขียน กวี นักแปล และนักวาดภาพประกอบ

 

10. จากคำถามนักเขียนและกวีเด็กจะช่วยโลกได้อย่างไร คุณตามกุฏฝากเด็กๆ ไปคิดต่อเป็นการบ้าน แต่บางคนขยันขอยกมือตอบก่อน

ดินบอกว่า ไม่ควรปล่อยสารพิษอย่างก๊าซมีเทน และพยายามไม่ทำให้เกิดควัน ลายครามของดรับถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อ ซายูริก็ของดใช้ถุงพลาสติกด้วย และจะเขียนบอกให้ทุกคนรู้ว่าไม่ควรทำร้ายโลก

ปริมจะเขียนโคลงให้คนหันมาดูแลธรรมชาติ ภูมิ เด็กชายผู้ทำหนังสือเล่มแรกขายด้วยตนเอง เสนอว่า “ผมควรจะแปลหนังสือความรู้เป็นภาษาไทย เพราะมีหนังสือดีๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษเยอะมาก และหลายคนอาจจะคิดว่าการช่วยโลกมันยากเกินไป ผมเลยจะเขียนหนังสือวิธีดูแลโลก บางคนไม่เชื่อว่าผมจะทำได้ แต่ผมจะพยายาม เพื่อจะบอกกับทุกคนว่าการช่วยโลกไม่ยาก ถ้าเราเริ่มจากสิ่งง่ายๆ”

11. การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ท่านกล่าวชื่นชมและรับข้อเสนอของเด็กๆ ไว้พิจารณา ทั้งพจนานุกรมสำหรับเด็ก การจดบันทึก และการเรียนตามความชอบ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน กล่าวว่า น่าจะให้มีห้องเรียน On Demand สำหรับเรียนตามความสนใจผ่านสื่อออนไลน์ แต่คุณตามกุฏบอกว่า เคยมีการเรียนแบบนี้กับเด็กในประเทศสิงคโปร์ ปรากฏว่าเด็กเหล่านั้นมีจิตใจแข็งกระด้าง นับเป็นการเรียนที่ขาดความเป็นชีวิต อย่างไรก็ตาม เราหวังว่าข้อเสนอของเด็กทั้ง 11+1 คนจะเห็นผลชัดเจนแจ่มแจ้งไม่วันใดก็วันหนึ่ง

 

11+1. ก่อนจบการประชุม เด็กๆ มีข้อความสั้นๆ ฝากถึงรัฐบาล พิณอาสายืนขึ้นคนแรก “ฝากถึงรัฐบาล ให้ลดการบ้านลงหน่อยนะคะ จะได้มีเวลาเพิ่มไปทำสิ่งที่ชอบ”

ส่วนดินก็เอาด้วย ดินขอเวลาเพิ่มจากการเรียนวันละ 30 นาทีเอาไว้อ่านหนังสือ และเสนอว่าไม่ควรมีกวดวิชา เพราะเรียนรู้จากหนังสือก็ได้

ปริมอยากให้มีโรงเรียนสอนวิชาหนังสือโดยเฉพาะ คำตอบของเธอทำเอาคุณตามกุฏเอ่ยปากชม เพราะรอคำตอบนี้อยู่พอดี

สุดท้ายภูมิบอกว่า ควรเน้นวิชาภาษาอังกฤษ และวิธีสอนภาษาอังกฤษที่ดีคือการพูดคุยกัน ไม่ใช่การเรียนแกรมม่าเพียงอย่างเดียว และเปลี่ยนการสอนให้นักเรียนเลือกวิชาที่อยากจะเรียนด้วยตนเอง แต่ก็ต้องมีวิชาที่ควรเรียนด้วย เพราะถ้าโฟกัสเพียงวิชาเดียว เขาก็จะไม่มีความรู้ด้านอื่นเลย

มากกว่าการประชุม เป็นการสะท้อนความคิด จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ของเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี สิ่งที่พวกเขาคิด พวกเขาพูด พวกเขาทำ ไม่ด้อยไปกว่าใคร เด็กเหล่านี้เริ่มต้นจากความชอบ ชอบบันทึก ชอบเขียน ชอบวาด ชอบแปล ชอบภาษา และสารพัดความชอบ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ความชอบของพวกเขาเป็นจริง คือคุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญกับความชอบของพวกเขาด้วย

สุดท้าย คุณตามกุฏฝากคุณพ่อคุณแม่เก็บการบ้าน ผลงานเขียน หรือผลงานภาพ ของเด็กไว้  เพราะประเทศของเรายังขาดคนพิจารณาว่างานเขียนของเด็กนั้นเป็นเพชรหรือก้อนกรวด อย่างต้นฉบับของตินติน เป็นการบ้านจากโรงเรียนที่ฉายแววนักเขียน จนได้รับการอนุมัติเป็นหนึ่งในนักเขียนของสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ และคว้ารางวัลดีเด่นระดับชาติ ฉะนั้น งานเขียนเพียง 1 หน้าเป็นเข็มทิศกำหนดชีวิตของพวกเขาได้

ขอบคุณสมุดบันทึกไม่มีเส้นที่ทำให้เด็กทั้ง 11+1 คนมาเจอกัน

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก