ชุดดำล้วน เสื้อคอเต่า หมวกเบเรต์ แว่นกันแดด เพลงแจ๊ส คาเฟ่อวลควันบุหรี่ บทกวี และการเต้นระบำ

คือภาพจำของขบถกลุ่มหนึ่งในช่วงราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1940 อันเป็นช่วงเวลาที่ชาวตะวันตกกำลังดื่มด่ำกับความหวังใหม่หลังสงครามโลก แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นยุคแห่งความฟุ้งเฟื้อและความนิยมในวัตถุ จนเกิดคนกลุ่มที่ว่านี้เริ่มต่อต้าน

โดยเรียกกันว่าเป็นคน ‘Beat Generation’ หรือ ‘Beatnik’ ซึ่งมีแนวคิดและความเชื่อร่วมกันคือการกลับไปหาค้นความสำคัญต่อคุณค่าที่ถูกลืมอย่างเรื่องจิตวิญญาณและความหมายของชีวิต พวกเขาต่างคลั่งไคล้ในศิลปะ แฟชั่น และดนตรี ต่างดำเนินชีวิตแบบอิสรเสรี รวมกลุ่มกันเฉพาะที่ และใช้ชีวิตอยู่ ‘นอกกระแส’ ของสังคม

Beatnik จึงเป็นกลุ่มคนที่ตั้งต้นจากความขบถและความแตกต่าง และด้วยไลฟ์สไตล์และการแต่งตัวที่มีเอกลักษณ์ ชาว Beatniks จึงยังถูกพูดถึงและถูกหยิบยกให้เป็นต้นแบบของความโลดโผนและการปลีกตัวออกจากค่านิยมเดิมๆ อยู่เสมอ

ในกรุงเทพฯ ถ้าให้นึกถึงย่านที่เต็มไปด้วยบรรยากาศโก้เก๋ที่ว่า คงหนีไม่พ้นถนนสุขุมวิท และหนึ่งในสถานที่ไอคอนบนถนนสุขุมวิท แหล่งแฮงค์เอ้าท์ของคนรุ่นเก่าแต่เก๋าคือ Rex Hotel โรงแรมสุดโก้ ที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบและกลิ่นอายของยุค 50s

ภาพ:  ชัชวาล จันทโชติบุตร

เวลาเปลี่ยนไป เมืองขยายและเติบโต ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น จาก Rex Hotel สู่ Beatniq คอนโดมิเนียมแห่งใหม่ที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาอย่างประณีต เพื่อคงสเน่ห์และบรรยากาศโก้เก๋คลาสสิคบนถนนสุขุมวิทเอาไว้ 

เชินชิน เชิดชูชุย Brand Consultant แห่ง Ketchup IMC, ศุภสิริ ไพรสานฑ์กุล ผู้ควบคุมคอนเซ็ปต์งานออกแบบ และ อรรถพร คบคงสันติ Design Director บริษัท T.R.O.P คือผู้อยู่เบื้องหลังความตั้งใจในการส่งต่อรหัสสถาปัตยกรรมในครั้งนี้

พวกเขาเล่าให้ฟังว่าถึงความพยายามเชื่อมโยงเรื่องราวของสถาปัตยกรรมใหม่ให้ต่อเนื่องไปกับ Sense of Place ของสถานที่ตั้ง และยังคงเคารพรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของ Rex Hotel โดยมีการรีเสิร์ชอย่างหนักเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมยุคในนั้น ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ งานศิลปะ และงานภูมิสถาปัตยกรรม

นอกจากจะหยิบเอาความสนุกและความเรียบเท่ของขบถแห่งยุค 50 มาเล่าใหม่ผ่านคอนเซ็ปต์และชื่อ รูปลักษณ์ของคอนโดมิเนียม Beatniq โดย SC ASSET ยังได้แรงบันดาลใจมาจากบรรดาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่คาบเกี่ยวอยู่ในยุคสมัยเดียวกันนั้นหรือที่เรียกว่า Mid-Century Modern มาออกแบบอีกด้วย

Beatniq

จาก Mid-Century Modern

คำว่า Mid-Century Modern เป็นคำเรียกรูปแบบงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ แฟชั่น กราฟิกดีไซน์ รวมถึงสถาปัตยกรรมในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งได้รับอิทธิพลความเป็นสมัยใหม่ (Modernism) ตามสังคมโดยรวม

นักออกแบบที่เป็นผู้นำแนวคิดที่สำคัญในช่วงนี้ล้วนเป็นเหล่ามาสเตอร์ที่แนวคิดและผลงานยังส่งผลถึงคนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสอนสถาปัตยกรรม Bauhaus ที่นำพาศิลปะและสถาปัตยกรรมไปสู่แนวคิดและคติความงามแบบใหม่ๆ หรือเก้าอี้ของ Charles and Ray Eames ที่แต่ละตัวนั้นล้วนเป็นไอคอนที่ชวนให้นึกถึงยุค Mid-Century อยู่เสมอ

Beatniq Beatniq

ในส่วนของสถาปัตยกรรมก็เป็นช่วงที่แนวคิดการออกแบบได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก Modernism มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีลักษณะร่วมกันหลักๆ คือ การใช้วัสดุสมัยใหม่อย่างคอนกรีต เหล็ก กระจก ไม่ประดับตกแต่ง เน้นความเป็นเหตุเป็นผล

โดยใช้การแสดงออกของรูปลักษณ์อาคารผ่านการใช้วัสดุและโครงสร้างอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการคิดคำนึงถึงหน้าที่ใช้สอยเป็นสำคัญ แนวคิดเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมในยุคสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ดังที่เราจะเห็นได้จากใน Beatniq ที่ก็โดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ทรงกล่องสี่เหลี่ยมและแพตเทิร์นของช่องลมที่ดึงดูดและเตะตามาจากที่ไกล ซึ่งทั้งหมดล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบสถาปัตยกรรมอันทรงพลังจากอดีตทั้งสิ้น

Beatniq

Beatniq

สู่เอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมชิ้นใหม่

Beatniq มีแพตเทิร์นสี่เหลี่ยมของแผงกันแดดช่องลมเป็นจุดเด่นที่สุดบนเปลือกอาคาร โดยใช้วิธีการออกแบบที่เรียบง่าย แต่ได้สร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่นจนกลายเป็นภาพจำ ด้วยการเพิ่มมิติให้กับด้านของผนังที่ใหญ่โต

ไม่ว่าจะด้วยการสร้างความลึก หรือเพิ่มมิติของแสงและเงาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการใช้วัสดุและรูปทรงเรขาคณิตที่ออกแบบอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนเรื่องราวและแนวคิดจากสถาปัตยกรรมในยุค Mid-Century ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น การออกแบบภายในก็ยังสะท้อนเรื่องราวของ Mid-Century Modern โดยเฉพาะในล็อบบี้ที่ใช้หินอ่อนและกระจกเรียงแพตเทิร์นตามอย่างเปลือกด้านนอกของอาคาร อันเป็นการสื่อสารเรื่องราวระหว่างภายนอกและภายในอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียว

Beatniq Beatniq

อีกส่วนหนึ่งที่มีความโดดเด่น คือ Floating Pavilion ที่ผู้ออกแบบกล่าวว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมของมาสเตอร์ในอดีต-Mies Van de Rohe โดยพาวิลเลียนนี้ทำหน้าที่เป็นทางเดินเชื่อมที่ลอยตัวอยู่เหนือสระว่ายน้ำ เพื่อให้ผู้ใช้สระสามารถว่ายไปจนสุดขอบอาคารได้

ในขณะที่ผู้ใช้งานอื่นก็สามารถเดินใช้พื้นที่โดยรอบได้โดยไม่กีดขวางกัน รูปแบบของสถาปัตยกรรมนั้นก็เน้นที่ความโปร่งเบา โดยใช้กระจกและโครงสร้างที่เล็กบางเพื่อลดความหนาหนักของกล่องอาคารที่ลอยอยู่ เมื่ออาคารเสร็จ ลักษณะสถาปัตยกรรมบนชั้นนี้จึงคล้ายเป็นการหวนคืนไปสู่รูปแบบการออกแบบอย่างผลงานในอดีตของมาสเตอร์ท่านนี้ตามที่ตั้งใจ

Beatniq

ในบริบทอันรื่นรมย์ของสุขุมวิท

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สุขุมวิทนั้นเป็นย่านที่รู้กันอยู่ว่าคึกคักอยู่เสมอด้วยที่กินที่เที่ยวที่มีมากมาย เต็มไปด้วยเรื่องราวของความรื่นเริง และสีสันของชีวิตคนเมืองตามอย่างยุคสมัย ยังไม่นับรวมสมัยตัดถนนในยุคแรก ที่สุขุมวิทก็ยังเป็นเส้นถนนที่พาคนกรุงฯ ออกไปที่ตากอากาศเช่นสถานที่ยอดฮิตอย่างบางปู หรือแม้แต่บางแสน

Beatniq

บนถนนสุขุมวิท 32 แห่งนี้ นอกจากบรรยากาศความโก้เก๋ที่ถูกส่งตรงมาจากยุคเก่า และข้าวต้มรอบดึกที่คนยังคอยไปรับประทานใน Rex Hotel จนวันสุดท้าย องค์ประกอบของอาคาร Rex Hotel หรือแม้แต่ตึกแถวโดยรอบถนนสุขุมวิทเองก็ล้วนมีรูปแบบและกลิ่นอายของความเป็น Mid-Century Modern อยู่ในตัวเป็นคุณสมบัติ

จึงกล่าวได้ว่า เรื่องราว Mid-Century Modern ใน Beatniq นั้นเกิดจากบริบทดั้งเดิมมีส่วนช่วยสร้าง หรือในทางกลับกัน แม้ที่ดินจะถูกเปลี่ยนเป็นอาคารสูงใหญ่ แต่ Beatniq ก็ยังคงช่วยส่งต่อบรรยากาศของบริบทเก่าต่อไป อย่างไม่ขาด

เป็นบรรยากาศของความรื่นรมย์ ที่คงยากจะหาที่อื่นเทียบเคียง

ภาพ : พรพจน์ กาญจนหัตถกิจ

รายละเอียดเพิ่มเติมของ Beatniq ติดตามได้ที่ : www.Beatniq32.com

Writer

Avatar

กรกฎ หลอดคำ

เขียนเรื่องบ้านและงานออกแบบเป็นงานประจำ สนใจเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ