22 กันยายน 2018
11 K

Awagami, เกาะชิโกกุ

ได้ยินชื่อ Awagami ครั้งแรกจากสมใจเมื่อหลายปีก่อน เพื่อนที่เป็นเจเนอเรชันสามของร้านสมใจเล่าว่า มีคนญี่ปุ่นเข้ามาซื้อของและเสนอขายกระดาษ ตอนนั้นเพื่อนเอากระดาษตัวอย่างมาให้เราดู ความประหลาดใจแรกของเราคือ เนื้อกระดาษเหมือนกระดาษสาที่เราเคยเห็น แต่ทำไมถึงบางได้ขนาดนี้

เมื่อปีที่แล้วเราได้ไปร่วมเวิร์กช็อปการย้อมสีลงกระดาษที่ Mrs.Mieko Fujimori บินมาสอนด้วยตัวเองที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็บินไปเรียนที่ญี่ปุ่น ตอนที่เราตัดสินใจสมัคร Paper Making Workshop นี้ อาจเป็นเพราะคำที่เขาบอกว่า ‘เปิดแค่ปีละครั้ง และเต็มเร็วมาก’ ทำให้เราอยากรู้จริงๆ ว่าเวิร์กช็อปที่ต้องสมัครล่วงหน้าเป็นปี และต้องบินไปเรียนนี่เป็นยังไง

เมือง Awa จังหวัด Tokushima เป็นหนึ่งในสี่จังหวัดของเกาะชิโกกุ เกาะที่เล็กที่สุดของญี่ปุ่น ความเงียบสงบ ภูเขาขึ้นซ้อนกันรอบด้าน และแม่น้ำใสสะอาด คือภาพแรกที่เราเห็นเมื่อเดินทางไปถึง

ระหว่างที่รอรถไฟต่อสุดท้ายเราเห็นโบรชัวร์ที่แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวรอบๆ บอกว่า Kawata River ที่อยู่ตรงนี้เป็นแม่น้ำที่ใสที่สุดของเกาะชิโกกุ ไม่น่าแปลกใจเลยที่ภาพตรงหน้าเป็นรถที่ขับลงมาจอด หลายๆ คนเอาเสื่อมากาง มีโต๊ะ เก้าอี้ นั่งปิกนิกกัน ในระหว่างที่ดูเด็กๆ วิ่งเล่นตรงแม่น้ำช่วงที่ตื้นด้านหน้า

Awagami, เกาะชิโกกุ Awagami, เกาะชิโกกุ

เมือง Awa จังหวัด Tokushima

วิธีการทำกระดาษเริ่มจากประเทศจีน ตั้งแต่ ค.ศ. 700 และเผยแพร่มาถึงญี่ปุ่นหลังจากนั้น ถ้าเล่าแบบย่อคือ Washi หรือกระดาษญี่ปุ่น (คำว่า ‘Wa’ คือญี่ปุ่น ‘Shi’ คือกระดาษ) ย้อนไปเมื่อ ค.ศ. 1870 เป็นยุคที่ความต้องการใช้กระดาษกำลังเฟื่องฟูมากในญี่ปุ่น ทำให้ใน Tokushima มีโรงงานกระดาษตั้งอยู่ถึง 500 แห่ง และแค่ตรงริมแม่น้ำนี้ก็มีโรงงานมากกว่า 100 แห่ง แต่หลังสงครามโลกก็ทยอยปิดตัวไปหลายโรงงานจนเหลือแค่ไม่กี่แห่ง

Awagami เองก็คือหนึ่งในโรงงานที่เหลืออยู่ ตระกูล Fujimori สืบทอดการทำกระดาษมากว่า 8 เจนเนอเรชัน นับจากวันที่เปิดจนถึงทุกวันนี้ก็ 300 ปีแล้ว กระดาษที่ยังทำอยู่มีทั้งแบบที่ยังใช้มือทีละแผ่น และแบบที่เป็นเครื่องจักร

กระดาษ Awagami มีมากกว่า 2,000 แบบ ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่ต่างกัน ตั้งแต่แบบพิเศษที่ทำให้ศิลปิน ซึ่งพิเศษทั้งวิธีการและขนาด ผนังของบ้านญี่ปุ่น โรงงานเฟอร์นิเจอร์ งานภาพพิมพ์ ไปจนถึงแบบที่ใช้พรินต์กับเครื่องอิงค์เจ็ตได้

Awagami, เกาะชิโกกุ

โรงงานฝั่งที่เราใช้เป็นที่เรียนตลอดคลาสนี้

ตลอด 5 วันเต็มของการเวิร์กช็อป พวกเราทำตั้งแต่ขูดเปลือกไม้ (Peeling) ต้ม (Cooking) ทำความสะอาด แยกสิ่งสกปรกด้วยมือ (Cleaning) ทุบให้เยื่อแยกออกจากกัน (Hand Beating) ทำกระดาษ (Paper Making) กดกระดาษ (Pressing) และ ตากกระดาษ (Drying)

จริงๆ ขั้นตอนเหมือนน้อย แต่การเรียนรู้ที่จะทำวิธีแบบ Traditional นี้ต้องทำทุกขั้นตอนด้วยมือ และแต่ละขั้นตอนก็ใช้เวลาหลายชั่วโมงเหมือนกัน

นอกจากนั้นยังมีเวิร์กช็อปอื่นๆ แทรกระหว่างวัน ทั้งช่วงบ่ายระหว่างรอกระดาษแห้ง ช่วงเย็น หรือแม้กระทั่งหลังมื้อเย็นที่โรงแรมต่อ อย่างเช่นการย้อมกระดาษด้วยคราม (Indigo Dyeing) การเย็บสมุด (Japanese Book Binding) การทำโปสการ์ดด้วยวิธีแบบตะวันตก (Western Style) การทำลายบนกระดาษ (Japanes Sekkazome Paper Dyeing) เรียกว่าบางวันก็เรียนตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มเลยทีเดียว

ในทุกคลาสที่จัดมาให้มีทั้งผู้สอนที่เป็นคนทำหน้าที่ส่วนนี้ของโรงงานอยู่แล้วและล่ามแปลอีก 1 คน ทำให้เราเห็นการแบ่งหน้าที่และความเชี่ยวชาญของแต่ละคนซึ่งทำหน้าที่นี้อยู่เป็นเวลานาน เพราะพอเราได้ลองลงมือทำเองแล้วถึงได้รู้ว่าไม่ง่ายเลย

Awagami, เกาะชิโกกุ Awagami, เกาะชิโกกุ Awagami, เกาะชิโกกุ Awagami, เกาะชิโกกุ

ภายในโรงงานฝั่งที่ยังทำกระดาษด้วยมือ เป็นพื้นที่สำหรับเวิร์กช็อป คนเยี่ยมชม และศิลปินที่มาทดลองทำงาน

ขั้นตอนการเตรียมเยื่อให้พร้อมสำหรับการทำกระดาษ จริงๆ มีต้นไม้หลายชนิดที่เอามาทำกระดาษได้ แต่ต้นที่พวกเราได้ใช้ครั้งนี้คือ ‘Kozo’ ช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวคือช่วงหน้าหนาวในเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ เพราะฉะนั้น ครั้งนี้เราเลยไม่ได้ไปดูการเก็บเกี่ยวด้วย

ทางโรงงานนำต้น Kozo ไปอบและแช่น้ำข้ามคืนเตรียมไว้ให้พวกเราแล้ว สิ่งที่เราทำในคลาสแรกคือการขูดเอาเปลือกไม้ออก ตอนแรกอาจารย์ให้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง เราก็คิดอยู่ว่าทำไมนาน แต่พอมานั่งเอามีดปาดเปลือกไม้ 2 ชั้นบนออกเพื่อให้เหลือแต่เยื่อขาวๆ ด้านในนั้นด้วยตัวเอง แม้ทุกคนในคลาสช่วยกันจนหมดเวลาก็ได้จำนวนไม่มาก หลังจากนั้นเอาเยื่อที่ขูดได้ไปต้มเพื่อให้น้ำตาลหรือยางไม้หลุดออกมา เหลือแต่เยื่อที่มีลักษณะเหมือนตาข่าย แล้วไปแยกสิ่งสกปรกออกจากเยื่อไม้อีกที 

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเดียวที่ยังต้องทำด้วยมือเท่านั้น ไม่ว่าจะเพื่อเอาไปผลิตด้วยมือหรือเครื่องจักร แต่พวกตาไม้หรือเศษเปลือกไม้ที่เราดึงออกทางโรงงานก็ไม่ได้เอาไปทิ้ง แต่เอาไปแยกเก็บไว้เพื่อตอนทำกระดาษจะนำกลับมาให้เราใช้อีกที เพราะการนำเศษพวกนี้ไปผสมกับเยื่อกระดาษจะทำให้ได้สีและลายที่ต่างออกไป

จากนั้นต้องเอาเยื่อที่สะอาดแล้วไปทุบด้วยมืออีก 2 – 3 ชั่วโมงเพื่อให้เยื่อนั้นยุ่ยที่สุด เรียกว่าต้องละลายไปกับน้ำเลยถึงจะใช้ได้ ตรงขั้นตอนนี้อาจารย์บอกว่ายังมีบางโรงงานในญี่ปุ่นที่ทำแบบนี้อยู่ แต่ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องตีหมดแล้ว

Awagami, เกาะชิโกกุ

เปลือกไม้ที่ผ่านการอบและแช่น้ำข้ามคืน

Awagami, เกาะชิโกกุ

ลอกเปลือกไม้

Awagami, เกาะชิโกกุ

เยื่อไม้ชั้นในสุดที่พร้อมเอาไปต้ม

Awagami, เกาะชิโกกุ

หลังจากต้ม กลิ่นของน้ำเหมือนน้ำตาลอ้อย

Awagami, เกาะชิโกกุ

เยื่อที่ต้มแล้วจะมีลักษณะเหมือนตาข่าย

Awagami, เกาะชิโกกุ

การแยกสิ่งสกปรกออกต้องทำในน้ำ

Awagami, เกาะชิโกกุ

ตาไม้และเศษไม้ที่ถูกแยกออก

Awagami, เกาะชิโกกุ

ทุบด้วยมือให้เยื่อกระจายตัวมากที่สุด

Awagami, เกาะชิโกกุ

เช็กว่าเยื่อที่ทุบยุ่ยพอแล้วจนละลายไปกับน้ำได้

มาถึงคลาสสำคัญที่ให้เวลาทำนานที่สุดคือ คลาสทำกระดาษ Mr.Fujimori ประธานของโรงงาน Awagami เป็นผู้สาธิตการทำกระดาษด้วยตัวเอง และเล่าตอนเริ่มคลาสว่า หัวใจที่สำคัญที่สุดของการทำกระดาษคือ ‘น้ำ’ นอกเหนือจากเรื่องน้ำสะอาดแล้วยังมีเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น และแร่ธาตุในน้ำด้วย

ตอนนั้นเองเราเลยได้คำตอบว่าทำไมเราต้องนั่งรถถึง 3 ต่อมาที่นี่ และทำไมโรงงานกระดาษถึงต้องตั้งอยู่ริมแม่น้ำ Kawata ที่เราเห็นจากโบรชัวร์

คุณ Fujimori สาธิตการทำโดยเอาเยื่อที่พวกเราทุบมาละลายในแท่นทำกระดาษพร้อมกับน้ำและเนริ (Neri) (ทำจากพืชชนิดหนึ่ง เป็นตัวทำให้เยื่อไม่จับกันเป็นก้อน) ขั้นตอนพื้นฐานของการทำกระดาษมี 3 ขั้นตอน คือ

1. การกวักน้ำขึ้นสกรีนครั้งแรกคือหน้ากระดาษ (Surface) 2. ครั้งต่อมาคือความหนา (Thickness) ตรงนี้แล้วแต่เราว่าจะทำกี่ครั้ง และ 3. ครั้งสุดท้ายก่อนจบคือหลังกระดาษ (Back) ใช้สกรีนไม้ตักน้ำขึ้นมาแล้วเขย่าให้เท่ากัน ทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนได้ความหนาที่เราพอใจ ความแม่นยำ จังหวะ และน้ำหนักมือ คือตัวแปรที่ทำให้กระดาษเรียบเสมอกัน รวมทั้งปริมาณเยื่อกระดาษที่กระจายไปทั่วสกรีนในจำนวนที่เท่าๆ กัน และความหนาที่เรียบเท่ากันทั้งแผ่น

Awagami, เกาะชิโกกุ

Mr.Yoichi Fujimori President of Awagami

Awagami, เกาะชิโกกุ Awagami, เกาะชิโกกุ Awagami, เกาะชิโกกุ Awagami, เกาะชิโกกุ

เครื่องมือที่ใช้ในการทำกระดาษเป็นเครื่องมือที่ใช้มาแต่โบราณและทำมาจากไม้ทั้งหมด

พอมาทำเองถึงได้รู้ว่าทุกจังหวะนั้นต้องพึ่งชั่วโมงการทำและประสบการณ์ที่ยาวนานของผู้ทำมาก เราทำเองครั้งแรกก็ไม่สามารถกะส่วนผสมหรือน้ำหนักมือได้เลย ยังไม่ทันได้แกะกระดาษออกมาจากเสื่อที่ยึดกับสกรีน เยื่อที่อยู่บนเสื่อก็ย่นไปทับกันหมด เพราะแรงน้ำที่เรากวักขึ้นมา แม้ย่นเพียงนิดเดียวก็ต้องเริ่มใหม่ กว่าจะได้กระดาษแผ่นแรกเราหมดไปเกินครึ่งวัน อาจารย์ที่ดูคลาสนี้ได้แต่มายืนยิ้มอยู่ข้างๆ ไม่รู้จะบอกยังไง นักเรียนแต่ละคนก็ค่อยๆ เข้าที่ด้วยเวลาที่ต่างกัน

แต่หลังจากเริ่มทำแผ่นแรกได้ด้วยความทุลักทุเล เราจะเริ่มจับน้ำหนัก การเขย่า หรือการกวักน้ำขึ้นมาบนสกรีนไม้ของเราได้แม่นขึ้น รู้เลยว่าคนที่สามารถทำให้กระดาษบางและเรียบเสมอกันนั้นต้องมีความชำนาญสูงมาก

Awagami, เกาะชิโกกุ Awagami, เกาะชิโกกุ Awagami, เกาะชิโกกุ Awagami, เกาะชิโกกุ Awagami, เกาะชิโกกุ Awagami, เกาะชิโกกุ

Awagami, เกาะชิโกกุ

ถังขาวสุดคือเอาเยื่อที่ทุบไปฟอกให้ขาว อีก 2 ถังคือผสมกับเศษไม้และตาไม้ที่เราลอกออก

Awagami, เกาะชิโกกุ

กระดาษที่เกิดจากเยื่อขาวและเยื่อผสมเศษตาไม้ที่ไม่ผ่านการฟอก

คลาสย้อมกระดาษด้วยครามที่สอนโดย Mrs.Mieko Fujimori ทำให้เรารู้ว่าครามไม่ได้มีไว้แค่ย้อมผ้าเท่านั้น แต่ใช้ย้อมกระดาษได้ด้วย กระดาษบิดไม่ได้เหมือนผ้า เราจึงต้องค่อยๆ จุ่มกระดาษลงไปในถังคราม และต้องทำอย่างช้าๆ ค่อยๆ ชักรอกลงไป ย้อมกระดาษแผ่นหนึ่งใช้เวลาประมาณ 15 นาที ทั้งจุ่มขึ้นและลง ต้องมีสมาธิและใจเย็นมาก

Awagami, เกาะชิโกกุ Awagami, เกาะชิโกกุ

การย้อมครามกระดาษ  (Paper Dyeing)

Awagami, เกาะชิโกกุ

การทำลายบนกระดาษ (Japanes Sekkazome Paper Dyeing)

Awagami, เกาะชิโกกุ

ประทับใจเครื่องมือตากกระดาษที่ใช้ลูกแก้วเป็นตัวหนีบ ซึ่งไม่ทำให้กระดาษเสีย

หลังจากที่เรียนไปทุกคลาส ความรู้พื้นฐานของเราที่ว่ากระดาษโดนน้ำไม่ได้ กลายเป็นความเข้าใจใหม่ว่าเกือบทุกขั้นตอนก่อนที่จะมาเป็นกระดาษล้วนใช้น้ำทำทั้งสิ้น เรียกว่ากระดาษเกิดและพังเพราะน้ำเลยก็ได้

Awagami, เกาะชิโกกุ

ในจำนวนผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม 23 คน มีทั้งชาวอเมริกัน อังกฤษ สเปน โปรตุเกส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์ ไทย และญี่ปุ่นเองที่มาจากเมืองอื่น ได้พักโรงแรมเดียวกัน (เป็นหนึ่งในโรงแรมที่มีอยู่ไม่กี่แห่งในเมือง) ทั้งโรงแรมก็จะมีแต่พวกเรา มีอาหารให้ทั้งมื้อเช้าและค่ำ คุณลุงเจ้าของโรงแรมเป็นคนขับรถออกไปส่งพวกเราที่โรงงานและตอนเย็นก็ไปรอรับกลับ จึงไม่แปลกที่การอยู่ด้วยกันแทบจะ 24 ชั่วโมงนี้ทำให้ทุกคนสนิทกันเร็วมาก

เราได้รู้จักเพื่อนร่วมคลาสหลากหลายอาชีพ และเกือบทุกคนก็ใช้กระดาษ Awagami เป็นส่วนหนึ่งของอาชีพทั้งนั้น หลายคนไม่เคยมาญี่ปุ่นด้วยซ้ำ แต่ก็นั่งเครื่องหลายต่อเพื่อมารู้จักกระดาษที่เมืองต่างจังหวัดนี้ นอกเหนือจากที่ชวนคุยระหว่างนั่งรถมาพร้อมกันหรือตอนนั่งติดกันในคลาสเรียน ช่วงพักทานข้าวเที่ยงที่โรงงานก็มีผู้เข้าร่วมบางคน (รวมทั้งเราด้วย) ออกมาพูดให้เพื่อนร่วมคลาสฟังว่าตัวเองทำอะไรมา ทำให้คนอื่นรู้จักเรามากขึ้น และที่สำคัญคือเห็นการนำกระดาษไปใช้ในแบบต่างๆ กัน

Awagami, เกาะชิโกกุ

ในคลาสนี้มีทั้งคนที่ทำงานในมิวเซียมที่นิวยอร์ก ฮ่องกง และโปรตุเกส มีตำแหน่งเป็นทั้งคนจัดการการเก็บงานและการแสดงงานศิลปะ หรือคนที่ซ่อมงานอยู่ในฝั่ง Archive ของมิวเซียม คนเหล่านี้ใช้กระดาษญี่ปุ่นเป็นตัวเชื่อมและซ่อมแซมพวกจดหมายเก่า หน้าปกหนังสือเก่า ที่แสดงอยู่ในมิวเซียมที่ตัวเองดูแล

มีอาจารย์สอน Print Making ที่มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียซึ่งทำสตูดิโอของตัวเอง และเคยไปเรียนทำกระดาษในเมือง Fabriano ที่ขึ้นชื่อด้านกระดาษของฝั่งอิตาลีมาแล้ว แต่ก็อยากรู้วิธีของญี่ปุ่นที่ต่างไป เขายังแอบกระซิบบอกเราว่า วิธีทำกระดาษของญี่ปุ่นนี้ต่างจากของตะวันตกมาก สำหรับเขา เรียกว่าเป็น Queen of Paper เลยก็ว่าได้

นอกจากนี้ ยังมีช่างภาพซึ่งอายุมากสุดในคลาสที่พรินต์ภาพถ่ายด้วยกระดาษของที่นี่ แล้วบอกว่าสวยที่สุดเท่าที่เคยพรินต์มา เขาอธิบายว่า สีที่ออกมาซึมลงไปในเนื้อกระดาษ และให้มิติที่ไม่เหมือนกับกระดาษพรินต์ภาพ  (Photo Paper) ทั่วไป ยังมีศิลปินญี่ปุ่นที่ทำงานภาพพิมพ์แบบพิมพ์โลหะ (Etching) ซึ่งทำสตูดิโอเล็กๆ ของตัวเองที่โตเกียว และก็มีอีกหลายคนที่ไม่ได้ทำอาชีพในสายที่เกี่ยวข้องมาก แต่ก็เคยใช้กระดาษ Awagami ที่ซื้อได้ในเมืองที่อยู่มาทำงานส่วนตัวบ้าง เลยอยากลองมาเห็นโรงงานที่นี่

Awagami, เกาะชิโกกุ Awagami, เกาะชิโกกุ

อาชีพที่หลากหลายของคนจากทั่วโลกทำให้เราเข้าใจว่า การที่เราใช้กระดาษมาตัดเป็นงาน Paper Craft นั้น เป็นเพียงหน่วยเล็กๆ ในหลายๆ หน่วยเท่านั้น ที่ผ่านมาเราเพียง ‘เลือก’ กระดาษที่มีอยู่ในตลาดมาใช้ สร้างงานใหม่ให้ตัวเอง แต่การมาเวิร์กช็อปครั้งนี้ เราได้ไปเห็นวิธีการและขั้นตอนที่ยุ่งยาก (แม้คุณ Fujimori จะบอกว่า สิ่งที่พวกเราได้ลองทำเป็นวิธีที่เบสิกมากๆ) ทำให้เราได้ความคิดใหม่ว่าจริงๆ แล้วคงเหมือนกับหลายๆ อย่างที่มี ‘ต้นทาง’ และ ‘ปลายทาง’

เราและคนที่มาเรียนครั้งนี้อาจจะเป็นคนปลายทางที่เอากระดาษที่ทำเสร็จแล้วไปใช้ และในทางกลับกัน คนต้นทางเองก็อยากรู้จักพวกเราด้วย เขาจะทำกระดาษได้ดีขึ้นถ้าเขารู้ว่าเราเอาไปกระดาษไปใช้ทำอะไรบ้าง เหมือนกับที่นี่ที่ทำกระดาษถึง 2,000 แบบโดยไม่เหมือนกัน เพื่อสนองความต้องการที่หลากหลาย หรือเปิดรับ Artist in Residence ทุกปี ทางหนึ่งก็เพื่อให้รู้ว่ากระดาษเขาทำอะไรได้อีก

และถ้ามองต่อไป พวกเราเองก็อาจจะเป็นคนต้นทางให้คนอื่นต่อไปด้วย ความสนุกของการมาเจอกับคนที่ใช้กระดาษแบบนี้ ไม่ว่าเราจะมองว่าเราเป็นต้นทางหรือปลายทาง แต่แค่ได้รู้ว่ามีคนแบบเราที่อีกหลายๆ คนก็ตื่นเต้นพอที่จะมีแรงกลับไปทำอะไรอีก แค่นี้การเดินทางของเราก็คุ้มแล้ว

Awagami, เกาะชิโกกุ

Writer & Photographer

Avatar

พิม จงเจริญ

ผู้ก่อตั้ง Teaspoon Studio สนุกกับการใช้มือทำงานมากกว่าทำในคอม ชอบหาประสบการณ์ใหม่ๆเพื่อเอากลับมาทดลองเล่นกับงานตัวเอง ติดตามงานได้ที่ IG:teaspoonstudio