ในความพลุกพล่านของผู้คน เรามองข้ามไหล่ไปเห็นสิ่งสวยงามละลานตา ทั้งสีสันสดใสตัดกับการออกแบบภายในของห้างที่เน้นสีขาวแบบหินอ่อน ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ห้างฯ Emporium เปลี่ยนแนวคิดและสรรหาสิ่งใหม่ๆ อยู่เรื่อยมา เช่นในวันนี้ที่ห้างสรรพสินค้าได้กลายเป็นสะพานเชื่อมศิลปะกับชีวิตประจำวันไปแล้ว

ไม่ใช่แค่การเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาจัดนิทรรศการอย่างที่ทำกันทั่วไปเท่านั้น แต่ศิลปะได้เข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกส่วนของห้างฯ ภายใต้ร่มของแนวคิด Art Dialogue ที่ต้องการให้เกิดการสื่อสารกันระหว่างผู้ชมงาน ผู้สร้างงาน กับงานศิลปะประเภทต่างๆ เพื่อสนับสนุนศิลปินไทย และงอกเงยต่อยอดโลกแห่งศิลปะออกไป

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018 เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

สำหรับผู้รักงานศิลปะ อย่าลืมเผื่อเวลาไว้เดินชมงานสักหน่อย เพราะภายในงานแบ่งออกเป็น 4 ส่วนย่อย คือ Art Collaborations การร่วมมือจากศิลปินนักออกแบบจากแบรนด์ Cuscus the Cuckoos มาวาดลวดลายให้ห้างฯ มีสีสัน Art Creations การรวมคอลเลกชันพิเศษของดีไซเนอร์ชาวไทยกว่า 40 รายมาไว้ที่เดียวกัน Art Conversation การนำศิลปะมาทำให้เป็นเรื่องง่าย ผ่านกิจกรรม Let’s Talk Art ที่ให้คนธรรมดาอย่างเราๆ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะ และ ARTivities เวิร์กช็อปเกี่ยวกับศิลปะ แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ซึ่งจะเกิดขึ้นตลอดเดือน

ก่อนงานจะเริ่มขึ้น The Cloud มีโอกาสพูดคุยกับ เก๋-ปิยะพร สนิทวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสของห้างฯ และ กุ๊ก-ชนิดา วรพิทักษ์ ศิลปินและดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Cuscus the Cuckoos ถึงเรื่องราวเบื้องหลังของงานที่น่าสนใจ รวบรวมเป็น  20 หัวข้อน่าสนทนากันเมื่อพูดถึง Art Dialogue ซึ่งเราอยากให้คุณลองไปสนทนาต่อ มีอะไรบ้าง ไปฟังกัน

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

1 “สมมติว่าห้างสรรพสินค้าทั้งห้างเป็นผืนผ้าใบว่างๆ”

จุดเริ่มต้นของ Art Dialogue มาจากแนวคิดง่ายๆ ว่าห้างฯ เป็นศูนย์กลางในการใช้ชีวิตของคนอยู่แล้ว คงจะดีหากลองละลายขอบเขตของความเป็นศิลปะและห้างสรรพสินค้า จากเดิมที่ศิลปะมีไว้จัดแสดงในแกลเลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์เท่านั้น และห้างสรรพสินค้าก็มีไว้เดินจับจ่ายใช้สอยสินค้าเท่านั้น เมื่อนำทั้งสองสิ่งมาผสมรวมกัน จึงจะหลุดออกจากกรอบเดิมๆ แล้วเกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมาได้

“เราเป็นห้างสรรพสินค้า เป็นผืนผ้าใบว่างๆ ที่รอให้คนมาสรรค์สร้างผลงานศิลปะ เราเลยคิดว่าทำอย่างไรถึงจะสนับสนุน Thai Creative Community ให้คนรู้สึกว่าศิลปะเป็นเรื่องเข้าถึงง่ายและสนุกได้” เก๋บอกเราด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

2 “คงจะดี ถ้าศิลปะออกมามีชีวิตในห้างฯ”

หากมองย้อนกลับไปดู แนวคิดการทำศิลปะให้เข้าถึงง่ายไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับห้างฯ Emporium จากครั้งที่ทำ Museum of Me ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ด้วยแนวคิดคล้ายกันว่าแม้แต่คนทั่วไปที่มาเดินห้างก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะได้ โดยใช้เทคโนโลยีช่วย ทำให้คนที่มาเดินดูงานเข้าไปอยู่ในรูปภาพซึ่งแขวนอยู่บนผนัง ด้วยเสียงตอบรับเชิงบวกอันล้นหลามของงานครั้งนั้น เป็นเหมือนสัญญาณบอกให้ห้างรู้ว่าลูกค้าสนใจศิลปะมากกว่าที่คิด นอกจากนั้น หนึ่งในงานศิลปะที่คนชื่นชอบมาก ยังเป็นของ Cuscus the Cuckoos อีกด้วย

3 “อุ่นเครื่องก่อนงาน Bangkok Art Biennale”

เก๋บอกเราว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ห้างฯ Emporium หันมาสนใจเรื่องศิลปะเป็นพิเศษ นั่นเพราะปีนี้เป็นปีแรกที่กรุงเทพฯ มี Bangkok Art Biennale กับเขาบ้างแล้ว พวกเธอมองว่านี่เป็นหมุดหมายครั้งสำคัญในวงการศิลปะ และแสดงถึงกระแสที่เปลี่ยนไปในสังคมไทย ห้างสรรพสินค้าอย่าง Emporium เองก็อยากมีส่วนร่วมในกระแสนี้ด้วย

4 “คือการลงทุนกับประสบการณ์ชีวิต”

ทั้งเก๋และกุ๊กต่างเห็นพ้องต้องกันว่า พฤติกรรมของคนกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค ในโลกศตวรรษที่ 21 นี้ ทุกคนต่างรู้ชัดเจนว่าตัวเองต้องการอะไร และการจับจ่ายใช้สอยวัตถุเป็นชิ้นๆ อาจไม่สำคัญมากเท่าการลงทุนเพื่อให้ได้รับประสบการณ์

 “ตอนนี้ทุกอุตสาหกรรมมันเบลอไปหมด สมัยก่อนคนอาจให้คุณค่ากับการใช้แบรนด์เนม แต่สมัยนี้มันกลายเป็นเรื่องการใช้ชีวิตที่ดี การกิน การออกกำลังกาย หรือการเสพเรื่องราวที่มีคุณค่าทางใจมากกว่า” เก๋เล่าสิ่งที่เธอพบจากการทำงานนี้

5 “นาทีนี้ ต้องงานศิลปินนักออกแบบไทย”

ส่วนสำคัญหนึ่งของงานนี้คือการป่าวประกาศให้โลกรู้ว่าศิลปินและนักออกแบบไทยมีดี ผ่านการรวบรวมแบรนด์แฟชั่นของคนไทยมาไว้ที่เดียวกันกว่า 40 แบรนด์ และเพิ่มพื้นที่ในห้างฯ Emporium ภายใต้ชื่อโซน Thai Designers GF & 1F ซึ่งย้ายมาจากฝั่ง EmQuartier เพื่อสนับสนุนนักออกแบบชาวไทยให้มีโอกาสร่วมสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ไปกับลูกค้า

ศิลปินและนักออกแบบที่ส่งงานมารวมอยู่ในโซนนี้มาจากหลากหลายแบรนด์ที่มีความโดดเด่นต่างกันไป เช่น Asava, Disaya, Issue, Janesuda, Milin, Sretsis, Vatanika, Vickteerut และอีกมากมายที่ชาวไทยหลายคนอาจคุ้นเคยดี เมื่อมาอยู่ในบริเวณเข้าถึงสะดวกเช่นนี้ ก็จะช่วยเสนอให้ชาวต่างชาติมองเห็นง่ายขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีจุดกิจกรรม Creative Studio ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ สำหรับแจกกระเป๋าและเข็มกลัดแสนแหวกแนวที่ร่วมออกแบบโดยกุ๊ก ในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ จะมีศิลปินไทยแวะเวียนกันมาเพนต์งานลงบนกระเป๋าอีกด้วย

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

6 “มีงานศิลปะซ่อนอยู่ในโซนเครื่องครัว”

หากดูดีๆ จะพบว่ามีศิลปินอยู่ทุกที่ในห้างเลย หมายความว่านอกจากแผนก Thai Designers บริเวณชั้นหนึ่งที่จัดแสดงงานแฟชั่นในรูปแบบน่าดูชมอย่างชัดเจนแล้ว ยังมีงานศิลปะของ Cuscus the Cuckoos ซุกซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วห้างฯ ไม่ว่าจะเป็นตามทางเดิน หรือในโซนที่ขายสินค้าประเภทนั้นๆ เช่น บริเวณโซนขายถ้วยชามและเครื่องใช้ในครัวก็จะมีงานของแบรนด์ Cuscus the Cuckoos วางเนียนๆ อยู่เป็นหนึ่งในบูทเหล่านั้น

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

7 “สีสันสดใส น่ารัก และซื่อตรงในแบบ Cuscus the Cuckoos”

เนื่องจากแนวคิดหลักของงานคือการทำให้คนเข้าถึงศิลปะง่ายขึ้น Cuscus the Cuckoos จึงเป็นศิลปินที่เหมาะเจาะ เพราะสีสันสดใสและความน่ารักเข้าใจง่าย ไม่ว่าใครมองเห็นก็ต้องตกหลุมรัก และจากการทำงานร่วมกันมาก่อน ทำให้ห้างฯ Emporium มั่นใจว่าการร่วมงานครั้งนี้จะสร้างสีสัน รอยยิ้ม และแรงกระเพื่อมในใจคนที่แวะเวียนเข้ามาได้อย่างดี

8 “สิงสาราสัตว์ ประติมากรรมสามมิติขนาดใหญ่”

กุ๊กอธิบายการต่อยอดผลงานของตัวเองว่า “เราเป็นคนที่เวลาทำงานแล้วไม่เคยเอางานเก่ากลับมาดู เราต้องทำต่อเนื่องไปอีก ดังนั้น เวลางานใหม่ออกมา เราก็ต้องคิดอะไรใหม่ต่อๆ ไป”

สำหรับงานนี้ สิ่งหนึ่งที่แบรนด์ได้ลองทำ คือการนำสิงสาราสัตว์ที่เป็นลวดลายอยู่บนเสื้อผ้า กระเป๋า ผ้าพันคอ มาขึ้นรูปเป็นประติมากรรมสามมิติขนาดใหญ่ ทำให้เสือ นก ช้าง กวาง และสัตว์อีกมากมายของพวกเธอมีชีวิตขึ้นมา เมื่อเราเดินผ่านงานชิ้นไหน เธอก็จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายภาพไว้ พร้อมพูดว่ามันตลกและน่ารักดีที่งานศิลปะชิ้นใหญ่ๆ ของแบรนด์ได้มาประดับอยู่ในห้างใหญ่เช่นนี้

อีกอย่างหนึ่งที่กุ๊กและลูกศิษย์จัดให้เป็นพิเศษในวันเปิดงาน คือการเพนต์สดต่อหน้าประชาชน โดยใช้แปรงจุ่มสีสไตล์ Cuscus the Cuckoos ปาดป้ายไปตามผืนผ้าใบที่จัดไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่วางอยู่เฉยๆ หรือเป็นเสื้อผ้าที่นางแบบสวมใส่อยู่ก็ตาม เพื่อให้ศิลปะมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ หากอยากดูผลงานจากกิจกรรมนี้ มีโชว์อยู่บริเวณทางเข้าโซน Thai Designers ที่ชั้นหนึ่งของห้างฯ เลย

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์,Art Dialogue,Let’s Talk Art,bangkok art biennale 2018

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

9 “ศิลปินระดับโลกเห็นงาน Cuscus the Cuckoos แล้วถูกใจจนบุกขอดูงานเพิ่มเติมถึงบ้านศิลปิน”

แม้จะเป็นแบรนด์สัญชาติไทย แต่การมาร่วมจัดงานนี้กับ Emporium ก็ทำให้งานของ Cuscus the Cuckoos เป็นที่รู้จักมากขึ้น เช่น ชาวญี่ปุ่นในย่านพร้อมพงษ์ที่สนใจและติดต่อเข้ามา รวมถึงศิลปินจากทั่วโลกที่เดินทางมาร่วมงาน Bangkok Biannale เมื่อได้เห็นก็ถูกใจจนถึงกับบุกเข้าไปดูผลงานเพิ่มเติมที่บ้านของกุ๊กโดยตรง “กลายเป็นว่าเราได้เพื่อนใหม่มาเพียบเลย สนุกมาก” กุ๊กพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

10 “มิติความทรงจำในงานศิลปะยุค Interactive”

กุ๊กแอบแง้มโปรเจกต์ต่อไปให้เราฟัง “เราอยากทำเรื่องตุ๊กตาหมีในความทรงจำวัยเด็กของแต่ละคน ทั้งคนที่เคยมีและไม่เคยมี อยากให้คนวาดมาเยอะๆ แล้วเราจะมา Generate รวมกันให้ได้ 3 ตัว แล้วดูว่าความทรงจำของแต่ละคนเหมือนกันแค่ไหน แล้วทำเป็น Interactive นั่นคือมีหมีอยู่ในจอที่ทุกคนจะเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ แล้วทางตุ๊กตาจริงๆ ที่เราขาย จะทำมาจากเศษผ้าที่เหลือใช้ แล้วทุกตัวก็จะพิเศษ เพราะมีตัวเดียว”

11 “ที่มาของคู่สีแสบสัน กับสัตว์เลี้ยงมันๆ อย่าง งู หนู และจิ้งเหลน”

สิ่งที่โดดเด่นของแบรนด์ Cuscus the Cuckoos คือสีที่ฉูดฉาดสะดุดตา เป็นชุดสีที่เมื่อมองเห็นแล้วจะนึกออกทันทีว่ามาจากแบรนด์ไหน กุ๊กบอกกับเราว่า หลังจากร่ำเรียนศึกษาจากอาจารย์หลายสำนักและได้เข้าใจธรรมเนียมการใช้คู่สีที่สวยตามแบบฉบับ เธอจึงพบแนวทางใหม่ที่ฉีกกรอบ เมื่อเปิดแบรนด์ของตัวเอง เธอจึงตัดสินใจปลดปล่อยสีสันให้เป็นอิสระได้อย่างเต็มที่

ส่วนความผูกพันกับสัตว์ของกุ๊กก็ไม่ได้อยู่แค่ในงานเท่านั้น เธอเป็นคนที่ชอบสัตว์มากจริงๆ เพราะที่สตูดิโอของเธอเองก็มีสัตว์เลี้ยงแปลกๆ มากมาย เช่น งู หนู และจิ้งเหลน จึงไม่แปลกที่ความชอบนี้จะสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในงานศิลปะของเธอ แต่แน่นอนว่าเธอจะไม่ได้ติดอยู่แค่กับสัตว์ หากมีโอกาส เธอก็อยากทำงานเกี่ยวกับเนื้อหาอื่นด้วยเช่นกัน

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

12 “ไม่ต้องมีนิยามในงานศิลปะ”

งานแบบนี้ จะนิยามคนสร้างว่าเป็นศิลปินหรือนักออกแบบดี เราถาม

คำตอบที่ทั้งกุ๊กและเก๋เห็นด้วยกันคือ ไม่เห็นต้องนิยามเลย เพราะแม้แต่ตอนนี้กุ๊กก็ไม่ได้นิยามตัวเองว่าต้องเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เธอคิดว่าการปล่อยให้ผลงานเป็นตัวนิยาม น่าจะเป็นหนทางที่ชัดเจนที่สุดแล้ว

13 “การใช้ชีวิตทุกอย่างก้าวก็เป็นศิลปะ”

ในโลกใบนี้ที่ทุกอย่างอยู่ใกล้กันมากขึ้น และเชื่อมโยงถึงกันง่ายขึ้น เก๋และกุ๊กต่างมองว่าศิลปะได้แทรกซึมเข้ามาอยู่ในชีวิตแล้ว จนการใช้ชีวิตทุกอย่างก้าวก็เป็นศิลปะได้ “ตอนนี้มันอะไรก็ได้แล้ว มันไม่มีคำนิยามเลย” กุ๊กบอก “สิ่งสำคัญคือการหาตัวเองให้เจอ รู้ว่าตัวเองชอบอะไร และค้นพบคุณค่าของตัวเอง อันนี้แหละน่าจะเป็นศิลปะแห่งการใช้ชีวิต” เก๋เสริม

14 “ค้นพบพรสวรรค์ด้านศิลปะ”

ในงาน Art Dialogue มีพื้นที่เปิดให้ผู้คนซึ่งผ่านไปผ่านมาได้ทดลองสร้างศิลปะด้วยตัวเอง โดยเฉพาะกิจกรรม Let’s Talk Art ที่มีนิทรรศการ Instagram First Art Exhibition ซึ่งห้างฯ ร่วมมือกับ Farmgroup ชวนกลุ่มศิลปิน 12 คน ผู้มีชื่อเสียง 12 คน และ เหน่ง-ชิระ วิชัยสุทธิกุล ช่างภาพชื่อดัง มาถ่ายทอดศิลปะผ่าน Small Museum พิพิธภัณฑ์ศิลปะขนาดจิ๋วที่จัดแสดงงานให้ผู้ที่เดินผ่านไปมาแอบโผล่หัวเข้าไปดูได้

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

อีกส่วนหนึ่งคือกิจกรรม Draw On Your Reflection ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปวาดภาพสะท้อนใบหน้าตนเอง แล้วนำมาสกรีนลงบนเสื้อเชิ้ต โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ห้างฯ เลือกจะมอบให้มูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ (Art for All) หากใครอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่ง และได้เสื้อเชิ้ตที่ออกแบบเองกลับไปใส่เล่น เข้ามาทำได้เลยที่ซุ้มบริเวณทางเข้าโซน Thai Designers บนชั้นหนึ่งของห้างฯ

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

15 “สิ่งสวยงามที่แท้จริง ไม่เรียกร้องความสนใจ”

จากเป้าหมายของงาน ศิลปะที่จัดแสดงอยู่รอบตัวทุกทิศทางตลอดการเดินห้างเป็นตัวช่วยดึงคนเข้ามาสนใจและทำความเข้าใจศิลปะ แม้จะเป็นคนธรรมดา แต่ก็ชื่นชอบงานเหล่านี้ได้ง่ายๆ

เก๋เล่าประสบการณ์น่ารักให้เราฟัง ว่าด้วยการขนย้ายสิงสาราสัตว์ขนาดยักษ์เข้ามาวางตกแต่ง เนื่องจากตารางเวลาที่บังคับให้พวกเธอต้องขนย้ายระหว่างช่วงเปิดห้าง ทำให้มีลูกค้าของห้างหลายคนได้เป็นพยานรู้เห็น พวกเขาต่างตื่นเต้น หัวเราะ และถ่ายรูป เพราะดูแล้วคล้ายสัตว์เหล่านั้นมีชีวิตขึ้นมา ได้ท่องเที่ยวไปตามส่วนต่างๆ ของห้าง “นี่แหละคือความหมายของ ศิลปะมีชีวิต ที่เราพูดถึง” เก๋บอกพร้อมรอยยิ้ม

16 “ศิลปะที่เอื้อมแตะใจผู้ชม”

นอกเหนือจากการทำให้คนสนใจและชื่นชมศิลปะง่ายขึ้นแล้ว ทั้งเก๋และกุ๊กมองว่าปฏิกิริยาที่คนน่าจะได้มีต่องานศิลปะ คือการเกิดอารมณ์ความรู้สึก และการหวนคำนึงนึกถึงบางสิ่งในชีวิตของผู้ชม ไม่ว่างานศิลปะนั้นจะเป็นอะไร ถ้าเอื้อมมือเข้าไปแตะภายในใจคนได้ ก็น่าจะประสบความสำเร็จ

17 “คำแนะนำสำหรับการเดินดูงานศิลปะ ไม่ต้องจริงจังมากก็ได้”

สองสิ่งที่กุ๊กเสนอว่าจะเอื้อต่อการเดินดูศิลปะ หนึ่งคือ บรรยากาศที่สบายๆ ช่วยให้ไม่รู้สึกเกร็ง ไม่ต้องจริงจังมากก็ได้ เน้นปล่อยให้เป็นธรรมชาติ ซึ่งการนำงานมาจัดในห้างก็ช่วยเรื่องนี้ได้ ส่วนสองคือ ผู้ดูแลที่จะคอยเล่าเรื่อง และทำให้เกิดการพูดคุยสนทนาระหว่างการชมศิลปะนั้นๆ เพื่อสะท้อนสิ่งที่แต่ละคนมองเห็นและรู้สึกออกมา

ในอีกด้านหนึ่ง มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไปชมนิทรรศการศิลปะ เพราะอยากชมบรรยากาศ หรือแม้แต่ชมผู้คนที่มาชมศิลปะอีกทีหนึ่ง บางครั้งความสนุกของการชมงานศิลปะก็อยู่ที่บทสนทนาซึ่งผู้ชมพูดคุยกันนี่แหละ

18 “ไม่มีบทสนทนาใดถูกและผิด”

เวลาชมงานศิลปะ เราควรมีความรู้สึกแบบใดแบบหนึ่งหรือเปล่า เราสงสัย

ซึ่งกุ๊กเห็นว่า งานศิลปะอาจกระตุ้นสิ่งใดในตัวผู้ชมก็ได้ จึงไม่มีบทสนทนาที่ผิดหรือถูก เพราะปฏิกิริยานั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนอยู่แล้ว “สมมติไปดูรูปสีน้ำเงิน คนหนึ่งอาจรู้สึกจี้ แต่อีกคนหันไปอีกที อ้าว เศร้าไปแล้ว มันขึ้นอยู่ว่าสิ่งที่เขาเจอมากับก้อนประมาณนั้นคืออะไร” เธอยกตัวอย่าง

19 “ลองเปิดบทสนทนาด้วยสิ่งที่อาจดูไม่เข้ากัน”

สำหรับคนที่สงสัยว่าบทสนทนาที่ดีนั้นเกิดจากอะไรได้บ้าง เก๋บอกเราว่า วิธีการทำให้เกิดบทสนทนาทางศิลปะ ทางหนึ่งน่าจะเป็นการคูณกัน ระหว่างศิลปะ ห้างสรรพสินค้า งานออกแบบ แฟชั่น เมื่อนำสิ่งที่วางอยู่นิ่งๆ มาพบเจอกัน ก็อาจทำให้เกิดบทสนทนาอันสร้างสรรค์ ต่อยอดไปทั้งในแง่ประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ ทั้งของผู้ร่วมสร้างสรรค์งานและของผู้ร่วมเสพงาน

20 “แล้วบทสนทนานี้ถือเป็นศิลปะไหม”

จะตอบคำถามนี้ได้ คงต้องลองไปสนทนาถกเถียงกันดูเอง

เก๋ ปิยะพร สนิทวงศ์, Art Dialogue, bangkok art biennale 2018

Art Dialogue

มาร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลศิลปะและค้นหาศิลปะในการใช้ชีวิตในแบบของคุณเอง วันนี้ – 3 ตุลาคมนี้ ที่ Emporium Department Store #EmporiumArtDialogue #EmporiumLetsTalkArt #EmporiumDepartmentStore

Instagram : Emporium Department Store

Facebook : Emporium Department Store

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ