คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่น่าจะรื่นรมย์กับการเดินเท้าเท่าใดนัก

ทั้งที่ในศตวรรษนี้เมืองต่างๆ ทั่วโลกต่างกระตุ้นบรรดานักวางผังเมืองและสถาปนิกให้ร่วมขับเคลื่อนแนวคิด ‘การเดินเท้านิยม’ อย่างเต็มที่ แนวคิดที่ว่าคือ นโยบายทางด้านเมืองที่เชื้อเชิญให้ผู้คนออกมาเดินถนน ปั่นจักรยาน และอยู่ในพื้นที่สาธารณะของเมือง เป็นการพัฒนาเมืองให้มีชีวิตชีวา ปลอดภัย ยั่งยืน และมีสุขภาวะที่ดี

มหานครนิวยอร์กมีเป้าประสงค์สูงสุดเป็นหมุดหมายที่ว่า และเริ่มพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2007

ชาวกรุงเทพฯ อย่างเราอย่าเพิ่งถอดใจ เพราะตอนนี้มีองค์กรเล็กๆ แห่งหนึ่งกำลังเร่งศึกษาหาหนทางฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ทีละเล็กทีละน้อย เพื่อไปสู่ปลายทางการเป็นเมืองแห่งสุขภาวะที่ผู้คนมีความสุขกับการเดินเท้าในชีวิตประจำวัน

องค์กรนี้มีชื่อว่า ‘ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง’

คุณอาจแปลกใจ เมื่อรู้ว่าหนึ่งในโครงการแรกๆ ที่พวกเขาทำคือการสร้าง ‘ทางม้าลายต้นแบบ’ ที่เป็นมิตรกับเมืองและผู้คน

ทางม้าลาย, Art and Crossing, สยาม ทางม้าลาย, Art and Crossing, สยาม

เมื่อพูดถึงพื้นที่สาธารณะ คนส่วนมากคงนึกถึงสวนสาธารณะเป็นอันดับแรก ทั้งที่พื้นที่สาธารณะไม่จำเป็นต้องเป็นสวน ไม่ต้องใหญ่โต และไม่ต้องเป็นอาคาร พื้นที่สาธารณะของเมืองที่ใกล้ชิดผู้คนมากที่สุดอยู่ในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ แต่มักจะถูกละเลยอย่างน่าน้อยใจก็คือ ทางผ่านอย่างถนน ทางเท้า ป้ายรถเมล์ ไปจนถึงใต้ทางด่วน

‘ทางม้าลาย’ เป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะทางผ่านที่ถูกหลงลืมเหล่านั้น

นี่คือที่มาของ ‘Art and Crossing ศิลปะ พา ข้าม’ ทางม้าลายกราฟฟิตี้สีสันสดใสที่พาดผ่านระหว่างสยามสแควร์ซอย 1 ไปจนถึงซอย 3 ซึ่งศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมืองทำขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทางม้าลาย, Art and Crossing, สยาม

โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาแนวทางการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่มีความยืดหยุ่นต่อกิจกรรมที่หลากหลาย (Flexible Public Space) พูดง่ายๆ ให้เห็นภาพก็คือ นอกจากหน้าที่หลักแล้ว เรายังปรับเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะนั้นๆ ให้ใช้งานในรูปแบบอื่นได้ด้วย ถือเป็นการฟื้นฟูและเพิ่มความหลากหลายให้กับการใช้งานพื้นที่

ทางม้าลายกลายพันธุ์แห่งนี้ นอกเหนือจากการทำหน้าที่เป็นทางข้ามให้ความปลอดภัยกับคนเดินเท้าแล้ว ยังถือเป็นศิลปะสาธารณะประจำท้องถนน ซึ่งทำให้มองเห็นทางข้ามได้ชัดเจน เป็นสัญลักษณ์เตือนผู้ขับขี่ ช่วยสานต่อให้ทางม้าลายและทางเท้ากลายเป็นพื้นที่เดียวกัน ซ้ำยังแฝงนัยว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นมิตรและให้ความสำคัญกับคนเดินเท้าเป็นลำดับแรก

2choey หรือ บอม-เชิดศักดิ์ เม้ยขันหมาก ศิลปินผู้ที่มาร่วมงานกับศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง เล่าให้เราฟังถึงความท้าทายในการออกแบบผลงานที่ต้องเป็นทั้งงานศิลปะและเครื่องการันตีความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน

ทางม้าลาย, Art and Crossing, สยาม ทางม้าลาย, Art and Crossing, สยาม

สยามสแควร์ คือพื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์ของวัยรุ่น ทางม้าลายจึงถูกตีความออกมาภายใต้แนวคิด ‘สนามเด็กเล่น’ ในการออกแบบต้องพยายามเก็บลายเส้นทางม้าลายเดิมของพื้นที่เอาไว้ เพื่อให้คนขับรถและคนเดินเท้ารับรู้ เข้าใจ ได้ทันทีว่า บริเวณนี้คือทางม้าลาย ผ่านการใช้สีสันสดใสช่วยให้มองเห็นได้สะดุดตาและชัดเจนในระยะไกล”

โจทย์ใหญ่ที่สุดของบอมจึงไม่ใช่แค่การออกแบบลวดลายและระบายถนนให้สวยงาม แต่ต้องเป็นงานศิลปะที่กลมกลืน สอดคล้องไปกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ เพราะถนนที่เปรียบเหมือนผืนผ้าใบของผลงานชิ้นนี้คือ ส่วนหนึ่งของเมืองที่มีองค์ประกอบอื่นๆ ในพื้นที่อีกมากมายซึ่งต้องคำนึงถึง

บอมอธิบายว่า อุปสรรคใหญ่ในการออกแบบทางม้าลายที่สยามแสควร์ซอย 1 คือ ต้องมีพื้นที่วางขยะขนาดใหญ่ในบริเวณทางม้าลายด้วย เขาเลยแก้ปัญหาออกแบบจุดวางขยะเป็นฐานของสปริงบอร์ดกระโดดน้ำ ซึ่งกลมกลืนไปกับผลงานทั้งชิ้นเสียเลย

แล้วทำไมต้องมาทำที่สยามแสควร์ ไปอยู่เอกมัยหรือปิ่นเกล้าได้ไหม

ทางม้าลาย, Art and Crossing, สยาม ทางม้าลาย, Art and Crossing, สยาม

ได้แน่นอนครับ” บอมตอบด้วยเสียงหนักแน่น “คณะทำงานเลือกสยามสแควร์เป็นพื้นที่นำร่อง เพราะเป็นย่านพาณิชย์หลักใจกลางเมือง เต็มไปด้วยผู้คนและรถสัญจรผ่านไปมามากที่สุดจุดหนึ่งของกรุงเทพฯ ตามหลักการออกแบบเมืองแล้ว พื้นที่พาณิชย์ที่คนพลุกพล่านแบบนี้ ควรออกแบบเพื่อให้คนเดินเท้าสะดวกสบายกว่าผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่นๆ”

บอมเล่าต่อถึงปัญหาที่คนเดินเท้าหลายคนรู้สึก “หลายครั้งเราโทษมารยาทของคนขับขี่ แต่ปัญหาที่แท้จริงอาจเกิดจากการออกแบบพื้นที่เมืองที่ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้าไม่มากพอ

บอมทิ้งท้ายว่า “นอกจากความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว เจ้าทางม้าลายที่รับหน้าที่เป็นศิลปะสาธารณะประจำท้องถนนชิ้นนี้ยังช่วยดึงดูดให้ผู้คนเดินเท้าเข้ามายังพื้นที่ เป็นการเพิ่มความคึกคักให้ย่าน และปลูกฝังให้คนในเมืองเริ่มรักการเดินมากขึ้นด้วย”

ทางม้าลาย, Art and Crossing, สยาม ทางม้าลาย, Art and Crossing, สยาม

เมืองที่เชื้อเชิญให้ผู้คนออกมาเดิน ปั่นจักรยาน และใช้พื้นที่สาธารณะ อย่างเต็มอกเต็มใจได้นั้น ต้องมีโครงสร้างที่เหมาะสม มีระบบขนส่งสาธารณะดีๆ และมีการใช้งานของเมืองที่หลากหลาย องค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยเพิ่มปริมาณกิจกรรมและรู้สึกได้ถึงความปลอดภัยในการใช้งาน

ดังนั้น ‘ทางม้าลายต้นแบบ’ ที่เป็นมิตรกับเมืองและผู้คนนี้จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ บนเส้นทางการพัฒนากรุงเทพฯ ไปสู่การเป็นเมืองสุขภาวะ อันหมายถึง เมืองอยู่ดีมีสุขที่ชีวิตของผู้คนในเมืองงอกงาม

ภาพ: ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum)