16 สิงหาคม 2017
23 K

ถึงนิสิต นักศึกษา ไม่ว่าคุณจะรักหรือเกลียดสถานะของคุณในตอนนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเวลาอุดมศึกษาเป็นช่วงเวลาพิเศษในชีวิต เป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะส่งผลกับคุณก่อนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นพื้นที่ให้คุณได้ลองผิดลองถูกเพื่อค้นหาตัวเอง และจะกลายเป็นความทรงจำของวัยเยาว์ที่มีความหมายกับกับคุณ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

The Cloud รวบรวมคำแนะนำหลากหลายของบรรดาบัณฑิตมาไว้ที่นี่ บางคนอาจเพิ่งเรียนจบมาไม่นาน บางคนก็พ้นเครื่องแบบนักศึกษามานานแล้ว นิยามของ ‘การใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยให้คุ้มค่า’ ของแต่ละคนก็แตกต่างกัน เราเชื่อว่าทุกสิ่งควรมีทางเลือก และอยากจะฝากตัวเลือกที่คุณอาจนำไปปรับใช้ก่อนก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไว้ที่นี่

1. ลงเรียนวิชาที่อยากเรียนจริงๆ โดยไม่สนใจเรื่องอื่น

เกรด อาจารย์ เพื่อน และตัวแปรอีกหลายประการ อาจทำให้คุณตัดสินใจเลือกเรียนหรือไม่เรียนวิชาใดวิชาหนึ่ง ขอแนะนำให้ลงทะเบียนหรือเข้าไป sit in วิชาที่อยากรู้จริงๆ โดยไม่สนว่าวิชานั้นจะง่ายหรือยาก หรือมีข้อแม้ว่าต้องมีเพื่อนเรียนด้วย ลองให้คลาสนั้นเป็นช่วงเวลาที่ตัวคุณจะได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ และตอบคำถามตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบศาสตร์ที่ศึกษาอยู่ ดีกว่ามาสมัครคอร์สเรียนภายหลัง เพราะค่าเรียนสำหรับผู้ใหญ่อาจแพงกว่ามาก

2. ทำความรู้จักมหาวิทยาลัยในแบบของตัวเอง

นอกจากทำความรู้จักตัวเอง การทำความรู้จักสิ่งแวดล้อมรอบตัวก็สำคัญ ลองเปิดใจเรียนรู้เรื่องราวของคณะและมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะอ่านประวัติ ตำนาน หรือออกสำรวจพื้นที่ต่างๆ ทั้งในและรอบมหาวิทยาลัย คุณอาจค้นพบความสนุกบางอย่างที่ซ่อนอยู่ เช่น ชมรมน่าสนใจ ห้องสมุดน่านั่งทำงาน ร้านอาหารอร่อยนอกคณะ และมุมในสวนแสนสงบ อย่าปล่อยให้สถานที่เรียนที่ต้องไปแทบทุกวันเป็นแค่ความเคยชิน แต่ทำให้มหาวิทยาลัยมีความหมายมากกว่าเดิม

3. ทำกิจกรรมทั้งในและนอกคณะ

ใครๆ คงบอกคุณแล้วแหละว่าควรทำกิจกรรม ก็ความทรงจำที่เราไม่อาจลืมหรือเพื่อนที่คบหาตอนนี้ก็ได้มาจากการเข้าชมรม เข้าค่าย เล่นกีฬา เล่นละครเวที และกิจกรรมนานาในรั้วมหาวิทยาลัยทั้งนั้น การทุ่มใจ กาย และเวลา ให้กลุ่มคนที่มีเป้าหมายร่วมกัน เป็นประสบการณ์พิเศษที่คัดสรรคนบางคนให้เข้ามาในชีวิต แถมยังได้เรียนรู้ทักษะการทำงาน การเข้าสังคม และความเชี่ยวชาญบางอย่างที่ส่งผลต่อการทำงาน

4. มีเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องและเพื่อนต่างคณะ

เพื่อนสนิทคอเดียวกันกับคุณอาจไม่ได้อยู่แค่ในคณะหรือชั้นเรียนเดียวกัน ลองทำความรู้จักรุ่นพี่รุ่นน้อง และเพื่อนๆ ที่มีตรรกะและความเชี่ยวชาญต่างออกไป บทสนทนาของพวกคุณจะมีอรรถรสแปลกใหม่ เพราะการแลกเปลี่ยนความคิดช่วยขยายมุมมอง ยิ่งรู้จักคนหลากหลาย ยิ่งได้มิตรภาพ ข้อมูลใหม่ๆ และ connection ที่อาจใช้ได้ในอนาคต

5. สนิทกับอาจารย์สักคน

สำหรับคนที่สนใจด้านวิชาการ อยากเข้าใจสิ่งที่เรียนให้ลึกซึ่งยิ่งขึ้น หรือต้องการปรึกษาผู้ใหญ่สักคน การคุยกับครูบาอาจารย์เป็นสิ่งสำคัญมาก คำแนะนำหรือความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ อาจทำให้เรามองเห็นเส้นทางการเรียนชัดเจนขึ้น รับมือกับอุปสรรคได้ดีขึ้น รวมถึงได้ข้อมูลต่างๆ ที่มีประโยชน์ เช่น แหล่งข้อมูลนอกห้องเรียน ทุนการศึกษาต่างประเทศ และสถานที่ฝึกงาน

6. สร้างกิจกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน

เมื่อค้นพบที่ทางของตัวเองในมหาวิทยาลัย อย่าปล่อยให้โอกาสนั้นผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ลองสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ถ้าเป็นหัวหน้าชมรม ลองคิดกิจกรรมใหม่ๆ ไปเสนออาจารย์ที่ปรึกษา ถ้าได้โอกาสทำค่าย มองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ นอกเหนือจากที่รุ่นพี่เคยทำไว้ คุณอาจได้ฝากชื่อไว้เป็นตำนาน หรืออย่างน้อยก็ได้ท้าทายความคิดสร้างสรรค์และความสามารถของตัวเอง

7. ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในมหาวิทยาลัยให้คุ้ม

การเป็นนิสิต นักศึกษา มีสิทธิประโยชน์มากมาย ลองศึกษาเอกสารที่ได้รับแจกตอนเข้าเรียนใหม่ เว็บไซต์ หรือสอบถามผู้รู้ คุณจะประหลาดใจเมื่อพบว่าได้สิทธิรักษาพยาบาล สิทธิทำฟัน รหัสอินเทอร์เน็ต โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ แถมยังยืมหนังสือห้องสมุดกับเข้าโรงยิมฟรีอีกต่างหาก (*สิทธิประโยชน์นี้แตกต่างกันไปตามสถาบันการศึกษา)

8. ใช้บัตรนิสิต นักศึกษา ให้คุ้มค่า

นอกมหาวิทยาลัย โลกใบนี้ก็ยังมอบสิทธิพิเศษให้เยาวชน นักศึกษาจะได้รับการลดหย่อนค่าบัตรโดยสาร ค่าเยี่ยมชมพิพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งในไทยและทั่วโลก หรือบางครั้งอาจได้สิทธิประโยชน์มาฟรีๆ เลยด้วยซ้ำ ร้านอาหารต่างๆ ก็ชอบจัดโปรโมชันสำหรับคนในวัยเรียน ตักตวงช่วงเวลาที่บัตรนักเรียนนักศึกษายังไม่หมดอายุไว้ให้เต็มที่ เพราะกว่าจะได้สิทธิแบบนี้อีกก็ต้องรอวัยหลังเกษียณ

9. ตามไปกินร้านอร่อยทั่วมหาวิทยาลัย

อย่าปล่อยให้ความจำเจครอบงำช่วงเวลาจับช้อนส้อม มีร้านอร่อยเจ้าประจำน่ะถูกแล้ว แต่การแสวงหาเมนูเด็ดใหม่ๆ เป็นหน้าที่ที่นักผจญภัยทางอาหารพึงกระทำ ลองพัฒนาผัสสะของลิ้นด้วยการออกไปชิมร้านเด็ดเจ้าใหม่ ข้อดีของร้านอาหารในหรือใกล้มหาวิทยาลัยคือความหลากหลายและราคาไม่แพง ชิมแกงของป้าที่คณะแล้ว อย่าลืมก๋วยเตี๋ยวของลุงคณะฝั่งตรงข้าม ผัดไทยของคณะไกลโพ้น หรือขนมหวานของพี่สาวใกล้หอพักนักเรียน เอนจอยชีวิตในมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ควรมีความสุขกับมื้ออาหารที่นี่ด้วย

10. รู้จักบุคลากรในคณะ

นอกจากอาจารย์กับนิสิต นักศึกษา มหาวิทยาลัยยังมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่ขับเคลื่อนสถาบัน การทำความรู้จักสมาชิกในรั้วเดียวกัน ทำให้ชีวิตในมหาวิทยาลัยไม่รายล้อมด้วยคนแปลกหน้า เมื่อรู้จักบรรณารักษ์ พี่ห้องธุรการ น้าร้านถ่ายเอกสาร ป้าแม่บ้าน หรือพี่ รปภ. บรรยากาศในสถาบันก็ไม่แห้งแล้งเย็นชาจนเกินไปนัก แถมยังอุ่นใจได้ว่าคณะที่เรียนปลอดภัยและอบอุ่น

11. ฝึกงาน

นอกตำราเรียนยังมีประสบการณ์มากมายให้ทดลองเรียนรู้ ไม่ว่าแผนการเรียนจะบังคับให้คุณฝึกงานหรือไม่ ขอแนะนำให้ออกไปฝึกงานที่ๆ ฝันใฝ่อยากทำงานด้วย และขยันทำหลายสิ่งหลายอย่างให้เต็มที่ ถ้าใจรักชอบก็จะได้ตัดสินใจเดินเส้นทางสายนี้ต่อ ถ้าไม่ชอบ จะได้เตรียมหาลู่ทางเดินต่อไปหลังเรียนจบ รับประกันได้ว่าประสบการณ์ทำงานจะเป็นพอร์ตยอดเยี่ยมสำหรับการสมัครงานครั้งแรก และสอนอะไรมากมายเกี่ยวกับการทำงานในโลกของผู้ใหญ่

12. ทำงานพิเศษ

อีกขั้นของการฝึกงานคือการหาเงินด้วยตนเอง นี่ล่ะความท้าทายของจริงที่จะทำให้เติบโตไปอีกขั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร้านค้าหลังเลิกเรียน ช่วยอาจารย์ทำงานวิจัย หรือสอนพิเศษเด็กในวันเสาร์-อาทิตย์ ทุกอย่างคือบทเรียนที่จะทำให้คุณเก่งขึ้น อดทนขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น เข้าใจหลายสิ่งได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องรอใครมาสอน ที่สำคัญยังช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว ได้เก็บเงินเพื่อซื้อหาสิ่งต่างๆ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง และเปิดโอกาสให้คุณเข้าใจผู้ปกครองมากขึ้นในวันที่ใกล้เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว

13. ไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อน

ไม่ว่าจะทำงานออฟฟิศหรือเป็นฟรีแลนซ์ โอกาสลาหยุดไปเที่ยวมีจำกัด และอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายรับ ช่วงวันหยุดยาวหรือปิดเทอม ลองออกไปเที่ยวพักผ่อน สร้างความทรงจำดีๆ กับเพื่อนที่ทะเล ป่าเขา หรือไปไกลกว่านั้นก็ได้ถ้าทุนทรัพย์เอื้ออำนวย ใช้เวลาสนุกสดใสให้เต็มที่ ก่อนที่การพบปะเพื่อนฝูงจะกลายเป็นการปรับทุกข์เรื่องงาน

14. มีความรัก*

ข้อนี้สำคัญจนต้องดอกจัน มีรักในวัยเรียนมหาวิทยาลัย ไม่เหมือนจุดเทียนกลางสายฝน (ในวงเล็บว่าต้องมีสติ) ก่อนออกไปสู่สนามจริงในโลกของผู้ใหญ่ สนามซ้อมเล็กๆ ในวิชาความรักจะทำให้คุณเข้าใจความสัมพันธ์ได้ดีขึ้น เรียนรู้การจัดสรรเงิน เวลา และพลังกายใจให้กับคนสำคัญที่ก้าวเข้ามาในชีวิต ถ้าความรักจบลง คุณก็ได้ประสบการณ์ ถ้ายังแน่นแฟ้นผูกพัน คุณอาจได้คนร่วมชีวิตต่อไปในอนาคต

15. ทำ thesis ที่รัก

ก่อนจบการศึกษา อย่าทำให้ปีสุดท้ายของการเรียนขื่นขม เลือกหัวข้อธีสิสที่สนใจศึกษาจริงๆ มากกว่าเรื่องที่น่าจะทำง่ายหรือถูกใจอาจารย์ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ต้องอยู่กับโครงงานคือตัวคุณเอง ลองคิดว่าการเลือกธีสิสเหมือนเลือกเนื้อคู่ ถ้าได้คนที่ถูกใจ แม้ต้องตกระกำลำบาก ก็ยังฝืนทำงานให้ลุล่วงได้อย่างไม่ทุกข์ระทม

ขอให้คุณใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่,

ด้วยความปรารถนาดีจาก The Cloud

Writer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน

Photographer