ถึงรักกรุงเทพฯ มากแค่ไหน ฉันก็อดไม่ได้ที่จะอิจฉาสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่น ที่มีระบบคมนาคมสาธารณะสะดวกสบาย รถประจำทางทันสมัยและรถไฟพรั่งพร้อมยกระดับชีวิตดีๆ ในเมืองให้ลงตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คิดแล้วก็ฝันหวานว่ารถเมล์ไทยทุกคันทันสมัย สะอาด สะดวก ปลอดภัย และพร้อมส่งเราถึงจุดหมายอย่างนิ่มนวล

วันนี้รถเมล์แบบนั้นออกวิ่งแล้วในเมืองไทย แต่ไม่ใช่ในกรุงเทพฯ ขนส่งมวลชนใหม่เอี่ยมแล่นอยู่ในใจกลางอีสาน ‘ขอนแก่นซิตี้บัส’ ติดแอร์เย็นฉ่ำ ยืนราคา 15 บาททั้งสาย วิ่งตลอด 24 ชั่วโมง คนขับใส่สูทผูกไท ในรถติดกล้อง CCTV และมี Wi-Fi ให้เล่นฟรี มีบัตรเติมเงินไดโน่บัส (RFID) ให้ตี๊ดจ่ายค่าโดยสาร แถมยังมีแอพพลิเคชันในมือถือบอกข้อมูลและตำแหน่งรถพร้อมสรรพอีกต่างหาก

ขอนแก่นซิตี้บัส

ขอนแก่นซิตี้บัส ขอนแก่นซิตี้บัส

“นี่แค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น”

กังวาน เหล่าวิโรจนกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง หรือ Khon Kaen Think Tank (KKTT) กล่าว ฉันนั่งอึ้งเมื่อรับรู้ว่ารถประจำทางยอดเยี่ยมที่วิ่งอยู่ในตัวเมืองและรถบัสฟรีในมหาวิทยาลัยเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง ใต้ระบบขนส่งมวลชนพื้นฐาน คือแผนการสร้างขอนแก่นเป็น Smart City โดยไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐ แต่คนในบ้านจะร่วมผลักดันขึ้นมาเอง

ขอนแก่นสามัคคี

“ขอนแก่นเป็นเมืองที่ไม่มีความพิเศษ ไม่มีเจ้าพ่อ ไม่มีมาเฟีย ไม่มีนักการเมืองที่สามารถดึงโครงการใหญ่ๆ พันล้านมาตั้งได้ตั้งแต่อดีตยันปัจจุบัน สถานที่ท่องเที่ยวก็ไม่มี แต่เผอิญโชคดีที่มีสภาพภูมิศาสตร์ดี อยู่ใจกลางภูมิภาคอีสาน เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือ พม่า ลาว จีน ฉะนั้นจึงเติบโตได้ตามสภาพ พอเดินไหว แต่ไม่โดดเด่น

“ความไม่มีทำให้มีความร่วมมือ สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากที่อื่น คือเรารู้ว่าถ้าจับมือกันขอนแก่นจะพัฒนาไปได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษาคือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคราชการคือจังหวัด หรือว่าองค์กรปกครองท้องถิ่น เทศบาลนคร เราจับมือเติบโตด้วยกันมาตลอด”

ขอนแก่นซิตี้บัส ขอนแก่นซิตี้บัส

ผู้บริหาร KKTT เผยเคล็ดลับความก้าวหน้าของเมืองตั้งแต่เริ่มต้น กังวานเล่าว่า ใครต่อใครมักถามว่าจุดเด่นของขอนแก่นที่ทำให้ประสบความสำเร็จคืออะไร เขายืนยันซ้ำๆ เสมอว่าไม่มี หากจะมีก็มีเพียงอย่างเดียว คือพลังความร่วมมือที่แข็งแรง

เมื่อตัวแทนภาคเอกชนกลุ่มหนึ่งอยากพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองให้มีคุณภาพ พวกเขารู้ดีว่างบประมาณของภาครัฐมีจำกัด (และส่วนใหญ่ตกอยู่กับกรุงเทพฯ) งบของขอนแก่นเพียงพอจะศึกษาหาวิธีเดินทางสาธารณะที่ดีขึ้น แต่การปรับปรุงการคมนาคมบนพื้นที่จริงต้องใช้เงินทุนมหาศาล ดังนั้นกว่ายี่สิบบริษัทที่เห็นพ้องต้องกันในจังหวัดจึงตั้งบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมืองขึ้นมา ระดมทุนกันเองสำหรับพัฒนาบ้านเกิดอย่างเป็นรูปธรรม ผลงานแรกที่ประจักษ์ให้เราได้ยลโฉมและใช้งานเต็มที่คือ รถโดยสารประจำทาง

ขอนแก่นซิตี้บัส ขอนแก่นซิตี้บัส ขอนแก่นซิตี้บัส

วันนี้สะดวก

ขอนแก่นซิตี้บัส (Khon Kaen City Bus) 10 คัน และรถบัสประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 คัน เป็นดอกผลงดงามของการร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาครัฐท้องถิ่น จุดเริ่มต้นมาจากการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่น แห่งที่ 3 (บขส. 3) ไปอยู่นอกเมือง การเดินทางเข้าเมืองด้วยรถสาธารณะจำเป็นต้องใช้รถสองแถวที่วิ่งตามเส้นทางมากมาย แต่ซับซ้อน ใช้ยากพอสมควรสำหรับผู้มาใหม่ และไม่มีตารางเวลาวิ่งที่แน่นอน ส่วนแท็กซี่ก็ราคาแพงและมักต้องโดยสารในราคาเหมา บริษัทรถประจำทางใหม่เอี่ยมจึงเจรจาตกลงเส้นทางกับรถสองแถวเดิม โดยรับ-ส่งผู้โดยสารจาก บขส. สู่จุดหลักๆ ในตัวเมืองตลอด 24 ชั่วโมงด้วยราคาถูก ต่อจากรถทัวร์ก็เกิดเส้นทางไป-กลับสนามบิน ชาวขอนแก่นและแขกผู้มาเยือนจึงได้ตัวเลือกการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น

“แกนของเมืองคือระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ คือสองแถวที่ขึ้นอยู่ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่มันมีที่ดีกว่า ปลอดภัย ไม่ต้องกลัวฝนตก และได้ลองจ่ายเงินด้วยบัตร พอวันนึงที่รถไฟเสร็จมันก็จะเชื่อมต่อกันและใช้บัตรใบเดียว ลงรถไฟมามีจุดเชื่อมต่อ city bus เข้าไปในถนนเส้นหลัก ไปตามห้าง โรงเรียนต่างๆ คุณเดินทางแล้วกะเวลาได้ ต่อให้ใช้รถส่วนตัว ก็ไม่ต้องขับออกมาวนหาที่จอดกินข้าวระหว่างวัน ใช้ยามจำเป็นก็พอ”

ทีมงานเบื้องหลังขอนแก่นซิตี้บัสล้วนเป็นคนขอนแก่น ตั้งแต่ฝ่ายรถบัสยันฝ่ายพัฒนาแอพพลิเคชัน เนื่องจากสมาชิก KKTT หลายคนมีพื้นฐานด้านธุรกิจยานยนต์อยู่แล้วเป็นทุนเดิม การบุกเบิกสร้างระบบขนส่งที่ดีกว่าจึงเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นโมเดลหลักที่หลายจังหวัดต้องตามมาศึกษาดูงาน ไม่เว้นกระทั่งกรุงเทพฯ

พรุ่งนี้สบาย

อย่างที่เกริ่นไปว่ารถบัสเป็นแค่ออเดิร์ฟเริ่มต้น ภารกิจจานหลักของชาวขอนแก่นคือรถไฟฟ้า light rail หรือรถไฟฟ้ารางเบาที่ขนาดย่อมกว่า BTS แต่ทรงประสิทธิภาพ วิ่งผ่านถนนมิตรภาพด้วยระยะมากกว่า 20 กิโลเมตร

การทำสิ่งที่ไม่เคยทีใครทำมาก่อนในประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย KKTT จำเป็นต้องใช้ผลการศึกษาโครงการและสิทธิการเดินรถไฟ กลุ่มนักธุรกิจขอนแก่นจึงจับมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นและภาคราชการท้องถิ่นเพื่อปูรางแห่งอนาคตไปด้วยกัน เป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่เทศบาลท้องถิ่น 5 เทศบาลจดทะเบียนเป็นบริษัทวิสาหกิจ Khon Kaen Transit System (KKTS) เพื่อรองรับการดำเนินงานเส้นทางรถไฟฟ้าที่จะวิ่งผ่านเนื้อที่ของตน และขยายเมืองแบบก้าวกระโดด

“เราไม่ได้มองแค่อยากมีรถไฟฟ้าเท่ๆ แต่เรามองการเปลี่ยนแปลงระยะยาวด้านการลงทุน ธุรกิจ และการพัฒนาบ้านเมืองด้วย เพราะถ้าจะทำมันต้องเกิดประโยชน์กว่าแก้ปัญหารถติด การจราจรเป็นเรื่องเบื้องต้น จริงๆ แล้วมันคือการรองรับการเคลื่อนธุรกิจ การเดินทางของคนในเมือง”

กังวานยืนยันว่าต่อจากนี้ วิสาหกิจ KKTS คือผู้ดำเนินการเรื่องรถไฟฟ้ารางเบา โดยโครงการจะได้เริ่มต้นบริหารจัดจ้างภายในปลายปีนี้ ส่วน KKTT กำลังมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายถัดไป คือการมองหาความเป็นไปได้ทุกทางที่จะเปลี่ยนขอนแก่นให้เป็น Smart City
ขอนแก่นซิตี้บัส ขอนแก่นซิตี้บัส

ต่อเติมบ้านใหม่

“เราต้องทำให้ขอนแก่นเป็นเมือง Smart City มากกว่าเมืองลงทุน”

ผู้บริหารชาวขอนแก่นเฉลยอนาคตบทต่อไปของเมืองอีสาน รถบัสทันสมัย รถไฟฟ้ารางเบา ศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ คือตัวต่อที่พวกเขาผลักดันให้เกิดขึ้นทีละชิ้น เมื่อนำมาจัดเรียงกัน ภาพรวมแท้จริงของเมืองใหญ่นี้จึงปรากฏ

“Smart City ไม่ใช่เมือง IT มี Wi-Fi สะดวกสบาย มันเป็นองค์ประกอบหนึ่ง แต่จริงๆ คือเมืองที่คนอยู่จ่ายน้อยได้มาก คนที่อยู่ขอนแก่นแม้เงินเดือนเท่าเดิม แต่คุณภาพชีวิตสูงขึ้น มีเวลาใช้ชีวิตกับครอบครัวมากขึ้น ไม่ต้องรถติด 2 ชั่วโมงตอนเช้า 2 ชั่วโมงตอนเย็น ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือน กทม. คนที่อยากมีบ้านต้องไปอยู่ชานเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนงานอยู่กลางเมือง สิ่งที่ต้องทำคือเดินทางวิ่งเข้าไปแล้ววิ่งออกมา กลายเป็นปัญหาจราจร ขอนแก่นเลยทำล่วงหน้าก่อนปัญหาจะเกิด เราอยากให้เมืองเป็นเมืองกระชับ คนที่อยู่ในเมืองจะคงอยู่ในเมืองได้ เดินทางในเมืองโดยขนส่งมวลชนได้สะดวกกว่ารถยนต์ ค่าครองชีพในการเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัยก็ต้องไม่สูง ใครมาอยู่ที่นี่ก็มีความสุขโดยปกติ”

“รถสมาร์ทบัส รถไฟรางเบา เป็นพื้นฐาน พอเสร็จเราก็มองเรื่อง IT ถ้าเรามีระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ พวกไวไฟเซนเซอร์ครอบคลุมทั่วเมือง สิ่งที่ตามมาคือ smart economic, smart citizen, smart environment, smart governance ด้านบนรัฐบาลสนับสนุนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่พวกเราขอนแก่นทำ เราทำจากด้านล่าง เรื่องพวกนี้จะเกิดขึ้นแน่นอนตามสถานการณ์ ตามยุค ตามภาวะ แต่พอเราทำระบบขนส่งมวลชนที่ดี ระบบเซนเซอร์หรือ infrastructure ให้ดี มันจะเป็นฐานข้อมูลให้เรา สิ่งที่จะเชื่อมระหว่างด้านบนกับด้านล่างคือศูนย์ข้อมูลเก็บ Big Data ถ้าขอนแก่นทำได้ คนที่มาลงทุนก็สะดวก เราไม่ได้บอกว่าเราจะไปชนะเด่นเกินใครนะครับ เราแค่ทำให้เมืองเราอยู่ได้ และคนก็อยากมาอยู่”

กังวานอธิบายเสริมว่าขอนแก่นถูกจัดเป็น MICE City หรือเมืองที่ใช้จัดสัมนาประชุมระดับนานาชาติ เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่ แต่เสียเปรียบที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวอย่างจังหวัดอื่นๆ เมื่อเปลี่ยนอดีตที่เมืองมีไม่ได้ สิ่งที่พวกเขาทำได้คือลงมือเตรียมความพร้อมในปัจจุบัน เพื่อสร้างอนาคตใหม่ของบ้านร่วมกัน

กำไรทุกคน

เราถูกถามบ่อยๆ ว่าทำทั้งหมดนี้เพื่ออะไร?”

สมาชิก KKTT ผู้สวมหมวกเลขาธิการหอการค้าจังหวัดขอนแก่นอีกใบเอ่ยขึ้นในช่วงท้ายของการสนทนา

“บางคนเชื่อมั่นว่า mindset ของนักธุรกิจคือทำแล้วต้องได้กำไรอย่างเดียว คุณต้องคาดหวังกำไรสูงๆ เราตอบได้ว่าคงไม่มีคำว่าไม่กำไร เพราะไม่ได้กำไรคือเจ๊ง แล้วคงไม่ได้ทำต่อ แต่การลงทุนแบบนี้ไม่ได้กำไรหอมหวานเลยนะ ฉะนั้นคนที่มองเรื่องของผลประโยชน์ก่อนจะไม่ทำ ไม่งั้นโครงการแบบนี้คงเกิดขึ้นไปนานแล้ว วันนี้ทุกจังหวัดสามารถทำได้ ไม่ได้มีกฎห้ามขออนุญาติรัฐบาลทำระบบขนส่งมวลชนของคุณให้มีคุณภาพ ถูกไหมครับ ปัญหาคือการลงทุนต่างหาก ต้องเข้าใจว่าขนส่งมวลชนมีข้อจำกัดรายได้เรื่องค่าตั๋ว เราไม่สามารถเก็บเงินค่ารถเมล์ 30 – 40 บาทได้ ต้องเก็บแค่ 15 บาท และเรียนรู้ว่าจะปรับเข้ากับพฤติกรรมคนในเมืองอย่างไร มันต้องมีความเข้าใจ ความร่วมมือจริงๆ และความอดทน เมืองไหนมีครบก็น่าจะทำได้

“เรามองว่ากำไรคือทำแล้วเมืองพัฒนา คนมีความสุข ถ้ามองว่ากำไรคือเงินอย่างเดียวคงทำไม่ไหว  หลายๆ คนที่มารวมกันเป็นเจ้าของโรงงาน มีพนักงานที่นี่หลายพันหลายหมื่น เราก็อยากให้ประโยชน์ตกอยู่กับเมืองของเรา เป้าหมายคือเพิ่มดัชนีความสุข เพิ่มรายได้มวลรวมของจังหวัด อาจทำให้รายได้คุณสูงใกล้เคียงหรือเท่ากับ กทม. แต่รายจ่ายน้อยกว่า ในระยะยาวก็ยังใช้ชีวิตอยู่ในเมืองได้ ไม่ต้องกลายเป็นผู้อาศัยในบ้านตัวเอง

“ถ้ามีจังหวัดอื่นพร้อมจะทำ เราก็พร้อมให้ข้อมูลต่างๆ นะครับ เราไม่ได้มองว่าเราจะเป็นเมืองหลวงแบบกรุงเทพฯ แต่อยากเป็นพื้นที่ๆ พัฒนาแล้ว ถ้ามีสัก 10 เมือง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือประเทศเราจะได้ประโยชน์มหาศาลเลย ผมไปเที่ยวจังหวัดอื่นก็อยากนั่งรถสมาร์ทบัส รถแทรม หรือรถไฟเข้าเมือง คนก็จะอยากมาประเทศเรามากขึ้น และความสุขของพวกเราไม่ลดลง”

กังวานตบท้าย เราออกไปดูขอนแก่นซิตี้บัสคันใหญ่ ฉันมองรถเมล์ปรับอากาศที่วิ่งล่วงหน้าออกไปด้วยความหวัง สิ่งที่บรรจุอยู่ในรถประจำทางไม่ใช่แค่ผู้โดยสาร แต่เป็นความฝันอันเรืองรองของประชากรขอนแก่น

ขอนแก่นซิตี้บัส

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล