หากถามว่า เต้ ภาวิต คือใคร ผลงานของเขาน่าจะแทนคำตอบได้ดีที่สุด

เขาคือศิลปินเจ้าของฝีแปรงอันเป็นเอกลักษณ์ที่เห็นแล้วบอกได้ทันทีว่า ‘นี่งานเต้แน่ๆ’ ที่ผ่านมาเราเห็นงานของเขาในแกลเลอรี่หลายที่ ตั้งแต่งานแรกที่ Jam แถวเจริญราษฎร์ เต้แสดง Performance วาดรูปพร้อมเพื่อนที่มิกซ์เพลงประกอบ ไปจนถึงงานที่ Speedy Grandma และ Bridge Art Space แกลเลอรี่สุดจี๊ดทั้งสองที่ย่านเจริญกรุง จนกระทั่งล่าสุด ตอนนี้เขากำลังแสดงนิทรรศการส่วนตัวในชื่อ Afternoon Person ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ซึ่งถือเป็นแกลเลอรี่ขนาดใหญ่สุดเท่าที่เราเคยไปดูงานเขามา

แต่ครั้งนี้ เต้ไม่ได้แสดงแค่งานจิตรกรรม Painting ของเขา แต่ภายในนิทรรศการยังมีประติมากรรม Installation Art ไปจนถึงแอนิเมชันจัดแสดงด้วย

บ่ายวันเสาร์ เราเดินฝ่าฝนตกพรำๆ จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินีไปยัง BANGKOK CITYCITY GALLERY ตามนัด เมื่อไปถึงเต้นั่งฟังเพลงอยู่ที่โต๊ะหน้าทางเข้า ก่อนจะชวนเราเข้าไปดูงานข้างใน และพามานั่งบนโต๊ะหินที่มีกระดานหมากรุก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Installation ในนิทรรศการนี้ด้วย

แล้วบทสนทนาของเรากับเต้ก็เริ่มขึ้นท่ามกลางเสียงฝนพรำๆ และเสียงนกร้องประกอบ

เต้ ภาวิต

คุยกับ เต้ ภาวิต ศิลปินลายเส้นดิบ+ดี ถึงนิทรรศการล่าสุดที่ชื่อ ‘Afternoon Person’

14.00 น.
ยามบ่าย

รูปใหญ่ที่สุดในงานคือรูปด้านหลังของเขา เราเอ่ยถามถึงรูปนั้นก่อน เพราะดูจะโดดเด่นกว่าใครเพื่อน

“รูปนี้เราวาดที่นี่ วาดตรงนี้ล่ะ” เต้เริ่มเล่าถึงที่มา “มันค่อนข้าง Abstract แต่เราอยากให้ความรู้สึกว่ามันเป็นห้องหนึ่ง พอจัดแสดงทุกอย่างเสร็จ เราก็มาวาดรูปนี้ บรรยากาศช่วงนั้นก็น่าจะอยู่ในรูปนี้

“Afternoon Person ในความหมายของเรา น่าจะเป็นคนที่ผ่อนคลายๆ รีแลกซ์สำหรับเรา ช่วงเวลา Afternoon’ เป็นช่วงเวลาที่เพิ่งเสร็จภารกิจอะไรบางอย่างของแต่ละวัน แล้วช่วงเย็นหลังจากนั้น คือเวลาพักผ่อนจริงจัง สำหรับงานนี้ เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างฝันๆ หน่อย เหมือนนอนลงไปกับพื้น หรือลอยๆ อยู่บนอะไรก็ได้” เต้พูดพลางเขี่ยเบี้ยหมากรุกหน้าตาบูดๆ เบี้ยวๆ ของเขา

“แล้วอย่างโต๊ะนี้ ทำไมต้องเป็นโต๊ะหมากรุก” เราถามเจ้าของนิทรรศการ

เต้ ภาวิต

Afternoon Person

เขาชี้ไปที่ม้าหินข้างๆ “โชว์นี้เราทำตอนอยู่ที่บ้าน ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน แถวบ้านเรามีสวนสาธารณะที่เราชอบไปวิ่งตอนเย็นๆ ในสวนมีม้าหินอยู่เต็มไปหมด ม้าหินพวกนี้เป็น Object ที่คนเอาไปใส่ไว้ในสวน เราก็ไม่รู้ว่าใครเอามาวางไว้หรอก แต่เราว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของสวน ถ้านึกถึงสวน ในสวนมีต้นไม้ มีบ่อน้ำ มีนกร้อง ม้านั่งพวกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศนั้น โต๊ะหมากรุกนี่ก็ด้วย เราเลยอยากดึงมันมาอยู่ในนี้ อยากให้คนที่มาดูงานเราได้มานั่งเล่น เหมือนได้บรรยากาศผ่อนคลายแบบนั้น”

“งั้นถ้ามาดูงานแล้วนอนตรงนี้เลยได้มั้ย” เราถามติดตลก

“ได้สิ” เต้ยิ้ม

14.17 น.
เป็นคนวาด แล้วก็เป็นคนดู

ถึงเขาจะเคยบอกว่า ‘ทำงานตามกระแสอารมณ์’ แต่กระบวนการทำงานของเต้ ก็มีการวางแผนมาก่อนระดับหนึ่ง

เขายกตัวอย่างประติมากรรมชิ้นใหญ่ แล้วเล่าว่าเขาทำชิ้นเล็กๆ เป็นโมเดลขึ้นมา 4 ตัว ก่อนจะเลือกอันที่ชอบมาขยายขนาด แต่ในขณะเดียวกันก็มีการ Improvise ไปด้วยในขณะทำงาน

“ปกติเราจะมีภาพอยู่ในหัว แต่บางทีก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดไว้ เราว่าพอได้อะไรเพิ่มขึ้นมา ผลลัพธ์มันน่าตื่นเต้นดี เพราะพอเราไม่รู้ว่ามันจะออกมาเป็นยังไง เวลาเราทำงานทำให้เราไม่ได้เป็นแค่ศิลปิน แต่เราจะกลายเป็นคนดูไปด้วย เหมือนเรากลับมามองดูตัวเองอีกทีว่า ‘เมื่อกี้เราทำอะไรลงไปวะ’ ทำให้เรารอว่าเมื่อไหร่มันจะเสร็จ”

สำหรับเต้ ศิลปะเป็นเหมือนการเล่าเรื่องอย่างหนึ่ง จะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งก็ได้ แต่เป็นเรื่องที่อยากเล่า เหมือนการจัดฉากขึ้นมาเพื่อถ่ายภาพยนตร์หรือถ่ายรูป แค่ศิลปะของเขาใช้เทคนิคที่แตกต่างออกไป สมัยเรียนที่เมลเบิร์น เต้เคยวาดรูปแบบดิจิทัลเพนต์ ก่อนจะหันไปทำภาพ Mural (จิตรกรรมฝาผนัง) จนกระทั่งเริ่มวาดบนแคนวาส

Afternoon Person

Afternoon Person

ระหว่างคุยกันเขายกตัวอย่างรูปคนกับแจกัน “เราอยากได้ซีนอะไรบางอย่าง มีคนนั่งตรงนี้ มีแจกัน มีแสงกระทบตรงนี้ ข้างหลังเป็นกระจก แต่แทนที่จะถ่ายหนังหรือถ่ายภาพ เราเปลี่ยนเทคนิคเป็นการเพนต์ ผลที่ออกมาก็ทำให้มีความเซอร์เรียลมากกว่า การวาดบนสื่อที่แตกต่าง ก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป พื้นผิว ขนาด อุปกรณ์ แต่ไม่ได้ลดคุณค่าของงาน ไม่ว่าจะทำแบบดิจิทัล หรือแคนวาส”

“แล้วคิดว่าคนดูเขารู้สึกยังไงบ้างเวลาดูงานของคุณ หรือเคยมีใครถามมั้ยว่าอันนี้มันสวยยังไงวะ” เราสงสัย

“เราแล้วแต่เขานะ เพราะเราก็ไม่ได้จำกัดว่าเขาดูแล้วจะต้องรู้สึกยังไง เราว่าแต่ละคนคงคิดไม่เหมือนกันหรอก มันไม่มีทางที่ทุกคนจะเข้าใจ ซึ่งเราก็ไม่ได้คาดหวังให้ทุกคนเข้าใจอยู่แล้ว ใครอยากเดินผ่าน แล้วนึกยังไงก็ได้ แต่ว่าถ้าดูแล้วรู้สึกอะไรบางอย่างก็คงมีความหมายล่ะ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกดีหรือความรู้สึกไม่ดี

“ส่วนความสวย ความชอบ เราไม่รู้จะอธิบายยังไง มันจำเป็นต้องมีหรือเปล่า เราก็ไม่รู้ แต่ถ้าดูแล้วเราพอใจ ก็คือจบ”

เต้ ภาวิต

Afternoon Person

14.30 น.
แอนิเมชัน บ้าน และคอนโด

เต้พาเราไปดูแอนิเมชันในแกลเลอรี่อีกห้อง พร้อมเล่าว่าเมื่อก่อนเขาเคยเรียนแอนิเมชันเป็นวิชาเลือกตอนอยู่เมลเบิร์น

“ค้นพบอะไรจากการทำแอนิเมชันบ้าง” เราถามตรงหน้างานศิลปะของเขา

“เราสร้างภาพเคลื่อนไหวได้” เต้ตอบนิ่งๆ พอเห็นเราเงียบไปหลังคำตอบ เต้จึงอธิบายต่อว่า “แอนิเมชันทำให้ได้อีกความรู้สึกหนึ่งในการดู มันได้ความชัดเจนและเล่าเรื่องได้มากขึ้น มันคล้ายการเพนต์ แต่ต้องใช้เวลามากกว่า ยากกว่า อย่างแอนิเมชันชิ้นนี้ชื่อ The Life Luxury Condominium พูดถึงเวลาที่เรามองเข้าไปในตึกที่เป็นคอนโดหรืออพาร์ตเมนต์ เราจะเห็นช่องที่เป็นกระจกต่อๆ กันหลายๆ ช่อง แต่ละช่องก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละห้อง หลายๆ ครอบครัว หลายเหตุการณ์ รวมอยู่ด้วยกัน สำหรับเราคอนโดฯ มันจะรู้สึกว่าใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านมากกว่านะ เพราะที่บ้านเราจะมีรั้วมีขอบเขตของมันอยู่”

เต้ ภาวิต

“ห้องนั้นต้องปาร์ตี้กันอยู่แน่เลย” เราชี้ไปที่ช่องที่มีสีสันที่สุดในตึก

“ใช่ อย่างที่บอก เรารับรู้เรื่องของคนรอบๆ ตัวมากกว่าเวลาอยู่คอนโดฯ” เขาตอบ

เท่าที่สังเกต เราพบว่าเต้ทำงานเกี่ยวกับสถานที่มาแล้วหลายชิ้น ก่อนหน้านี้ ทำงานเกี่ยวกับร้านอาหาร สระว่ายน้ำ หรือแม้แต่ตึกร้างตรงสาทร ที่เขาตั้งชื่องานครั้งนั้นว่า Ghost Tower

“ถ้าพูดถึงสถานที่ สถานที่ในฝันของเต้คือที่ไหน” เราสงสัย

“กำลังคิดถึงทะเลทราย เราอยากทำงานกับทะเลทราย มันดูร้อนๆ โล่งๆ” เต้ตอบขณะที่ฝนข้างนอกยังตกอยู่

Afternoon Person

เต้ ภาวิต

14.42 น.
อุบัติเหตที่เกิดเป็นการทดลอง

ในกระบวนการทำงานของเต้ เขาเล่าว่าโดยปกติจะเริ่มจากการจิ้มพู่กันลงไปบนแคนวาสหรือกระดาษเปล่าๆ แล้วก็วาดไป ถ้าพลาดก็วาดทับ

“คำว่า ‘พลาด’ คืออะไร” เราถามสิ่งที่สงสัย

“มันคืออุบัติเหตที่เราไม่คาดคิด หรือบางครั้งอาจเป็นอะไรที่เราไม่ได้ชอบมาก เห็นแล้วไม่พอใจ ถ้าสมมติว่าเราไม่ชอบสีที่ขีดไป เราก็แค่วาดทับมันไปอีกที เป็นการอิมโพรไวส์ แล้วก็พัฒนาต่อไป จากจุดนั้นที่เราทำขึ้นมา พอสิ่งนั้นเกิดขึ้น เราก็มาดูสิ่งที่เราไม่ได้ตั้งใจ หรืออย่างเช่นการที่สีหยดตามแคนวาส เราไม่สามารถควบคุมทิศทางได้ เราก็แค่ปล่อยมันไปตามธรรมชาติ หรือการเคลื่อนที่ของมือเรา บางทีเราก็ไม่ได้วางแผนว่าจะให้เคลื่อนไปทางไหน เราแค่ปล่อยไปตามนั้น พอเสร็จปุ๊บ เราก็ออกมาดูว่ามันเป็นยังไง เหมือนที่บอกว่าเป็นศิลปิน แล้วก็เป็นคนดูในเวลาเดียวกัน

“เราชอบให้เกิดอุบัติเหตในงานของเรา” เขาย้ำ

“คิดว่าอุบัติเหตสนุกเหรอ” เราถาม

“เราว่าอุบัติเหตมันก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะ แต่มันมีธรรมชาติปนอยู่ อย่างการหยดของสี มันเกิดจากสภาพแวดล้อมด้วย แล้วเรารู้สึกดีกับตรงนั้น”

เต้ตอบพลางมองไปที่ภาพบนจอมอนิเตอร์ภายในนิทรรศการของเขา ตอนนี้เสียงฝนพรำข้างนอกค่อยๆ เบาลง ทำให้รู้ว่าฝนใกล้หยุดแล้ว

เต้ ภาวิต

เต้ ภาวิต

Writer

Avatar

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ

เจ้าของเพจ ‘ศิลปะเข้าใจยากจริงหรือ’ อยากให้คนเข้าใจศิลปะ-วัฒนธรรมมากขึ้น แต่ก็อยากกินของอร่อยแล้วก็อยากมีเงินชอปปิ้งด้วย

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ