แปลกดีที่เวลาเราเห็นกราฟิกด้านหน้าช็อปแบรนด์ดังต่างๆ ปุ๊บ เราจะรู้ปั้บว่าเป็นร้านค้าจากประเทศอะไร เราสามารถแยกแยะระหว่างกราฟิกสัญชาติญี่ปุ่น สแกนดิเนเวีย อเมริกา ได้แทบจะทันทีที่เห็น แต่สิ่งนี้เห็นไม่ได้ชัดเจนนักในบ้านเรา เพราะงานกราฟิกสไตล์ไทยๆ นั้นมักจะไม่หนีไปจากภาพของวัด วัง ลายกระหนก สักเท่าไหร่ ซึ่งหลายๆ คนก็รู้สึกว่ามันเชย ไม่ทันสมัย งานกราฟิก ‘ไทยๆ’ นี้จึงไม่ค่อยได้เกิดขึ้น นานวันเข้าเราก็เลยแทบไม่เห็นกราฟิกไทยๆ พวกนี้

เราเพิ่งได้ยินข่าวว่านักออกแบบกลุ่มหนึ่งกำลังสร้างคลังกราฟิกแบบ Clip Art ด้วยสไตล์ไทยๆ เพื่อเปิดให้ทุกคนสามารถดาวน์โหลดไปใช้งานกันได้ฟรีๆ (ย้ำว่าฟรีจริงๆ) โดยแต่ละชิ้นนั้นไม่ได้เป็นลายกระหนกหรือวัดวังแบบที่เราคุ้นชิน แต่กลับกลายเป็นของรอบๆ ตัวในชีวิตประจำวันที่ถูกหยิบจับมาออกแบบใหม่จนกลายเป็น Clip Art ที่ดูเก๋ไก๋ถูกใจเรามากๆ โครงการนี้มีชื่อว่า ‘100 แรงบันดาลไทย’ ซึ่งมีจุดประสงค์หลักในการทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการกราฟิกไทย

กราฟิกไทย

ใครกันที่สนใจการทำกราฟิกแบบไทยๆ เหล่านี้ เขาทำไปเพื่ออะไร แล้วการทำงานหนักเพื่อแจกฟรีก็ดูไม่น่าเป็นไปได้ในโลกที่เงินเป็นใหญ่อย่างทุกวันนี้ ผมยอมรับจากใจจริงว่าตื่นเต้นมากที่ได้ยินเรื่องนี้ จนต้องติดต่อผู้ที่อยู่เบื้องหลังโครงการนี้ ก่อนจะพบว่ากลุ่มเซียมไล้’ คือคนคนนั้น

กลุ่มเซียมไล้คือใครกัน?

กลุ่มเซียมไล้คือการรวมตัวกันของนักออกแบบอิสระและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนด้านออกแบบ ทุกคนมีความสนใจและตั้งคำถามในการออกแบบกราฟิกที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งในกลุ่มนั้นประกอบไปด้วย ไพโรจน์ ธีระประภา ศิลปินศิลปาธร (เรขศิลป์), ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยากฤษดา วงศ์อารยะ ที่ปรึกษา TCC Group และอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ อาจารย์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญผศ.ศรีชนา เจริญเนตร อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางรศ.อาวิน อินทรังษี อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ปณต ทองประเสริฐ อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

เซียมไล้

เซียมไล้

คนรักความเป็นไทยๆ บ้านๆ

เห็นบรรดาสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิของกลุ่มนี้แล้ว แทบจะเรียกว่าเป็น Avengers แห่งวงการกราฟิก และด้วยความอยากรู้จักเรื่องราวของพวกเขาและโปรเจกต์ที่เขาทำกัน ผมเลยเดินทางมายังร้าน เดอะ ชนบท ที่รวมตัวของชาวเซียมไล้บนถนนสามเสน และร้านของที่ระลึกของ ไพโรจน์ ธีระประภา หรือ โรจ สยามรวย หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเซียมไล้ และหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของวงการกราฟิกแบบไทย เพื่อมาเจอและพูดคุยกับพวกเขา และเมื่อทักทายกันเป็นที่เรียบร้อย ผมก็อยากรู้ว่าพวกเขาเหล่านี้มารวมตัวกันได้ยังไง

พวกเราทุกคนเป็นอาจารย์ด้านกราฟิกดีไซน์ ซึ่งเคยมีโอกาสทำงานด้วยกัน แล้วก็พบว่ามีความชอบที่ค่อนข้างจะคล้ายกัน ชอบงานศิลปะไทยๆ แบบที่แวดล้อมตัวเรา หรือไทยแบบบ้านๆ ที่เราใช้ชีวิตกิน อยู่ เติบโตขึ้นมา ซึ่งด้วยอาชีพนักออกแบบและอาจารย์ก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองขึ้นมาว่ากราฟิกแบบไทยมันคืออะไร และพยายามหาคำตอบด้วยการทำงานออกแบบกราฟิกสไตล์ไทยบ้านๆ นี้

“มันเริ่มต้นมาจากที่พวกเราชื่นชอบและออกแบบฟอนต์ตัวอักษรไทยกัน แต่พออาจารย์หลายๆ คนไปตรวจงานของนักศึกษาก็พบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ฟอนต์มาใช้ ซึ่งสาเหตุก็มาจากที่นักศึกษาเหล่านั้นไม่มีทุนมากพอที่จะหาซื้อฟอนต์ในราคาลิขสิทธิ์มาใช้งาน เราเห็นว่ามันคือปัญหาที่พอจะแก้ได้ ก็เลยรวมตัวกันในชื่อ ‘เซียมไถ้’ เพื่อร่วมกันออกแบบทำฟอนต์ภาษาไทยและจัดจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยา (ราคาของฟอนต์หลายตัวอยู่ที่ 200 – 400 บาทเท่านั้น)

“พอตั้งกันเป็นกลุ่มก็ได้เจอกันบ่อยขึ้น จึงมีการรวมตัวไปทำกิจกรรมกันบ่อยๆ อย่างการเดินทางท่องเที่ยวไปดูงานศิลปกรรมตามวัดหรือตลาด ดูป้ายชื่อร้านเก่า งานกราฟิกไทยร่วมสมัย โดยเอามาโพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊กอยู่เรื่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งก็ถูกทาบทามให้ไปร่วมกิจกรรมในงานวิจัยตามที่ต่างๆ ทีนี้หลายๆ งานที่ไปมันก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวอักษร แต่เป็นงานออกแบบที่เกี่ยวกับความเป็นไทยและวิถีชีวิต ก็เลยคิดว่าควรจะต้องตั้งชื่อกลุ่มใหม่ขึ้นมา และมาลงตัวที่ชื่อ เซียมไล้

ถ้วยกาแฟ ลายไทย

ผมยอมรับจากใจจริงเลยว่าทีแรกสุดที่ได้ยินชื่อกลุ่มเซียมไล้ สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวก็คือ กลุ่มอะไรทำไมชื่อแปลกจัง ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นโรงเตี๊ยมหรือกิจการคนจีนมากๆ จริงๆ แล้วนั้นชื่อกลุ่มเซียมไล้มีที่มาจากคำว่า Siam Life ส่วนเซียมไถ้ก็คือคำว่า Siam Type โดยการออกเสียงแปลกๆ นี้มีที่มาจากกิจกรรมยอดนิยมของกลุ่มคือการไปเดินเที่ยวชมชุมชน ดูป้ายของร้านรวงข้างทาง ซึ่งโดยส่วนมากก็คือป้ายร้านของคนไทยเชื้อสายจีนนั่นเอง

คำว่า ‘เซียม’ ก็คือสยามในภาษาจีนแต้จิ๋ว ป้ายร้านต่างๆ ก็เรียก ‘สยาม’ ว่า ‘เซียม’ กันหมด เราก็ชอบเสน่ห์ตรงนี้ ประกอบกับในเวลานั้นมีกลุ่มหลายๆ กลุ่มที่ตั้งชื่อเท่ๆ ขึ้นมาเยอะ (หัวเราะ) เราเห็นว่าตัวเราเป็นนักออกแบบไทยก็ควรตั้งชื่อไทยๆ เราก็เลยตั้งชื่อกลุ่มโดยล้อกับสิ่งนี้ กลายเป็น ‘เซียมไล้’ ขึ้นมา เพื่อเน้นความเป็นไทยแบบบ้านๆ ที่เราชอบนี่แหละ

ทั้งฟังจากชื่อและจากงานที่ทำก็ทำให้ผมเชื่อจริงๆ ว่าชาวเซียมไล้ชอบอะไรที่เป็นไทยแบบบ้านๆ กันจริงๆ แล้วเสน่ห์ของความเป็นไทยแบบบ้านๆ นี้มันคืออะไรกัน

มันเป็นตัวเราน่ะครับ เพราะเราเกิดมาก็เห็นสิ่งเหล่านี้มาตลอด อยู่กับมันแล้วก็ผ่อนคลาย เป็นตัวของตัวเอง อย่างเวลาที่เราไปดูงานศิลปกรรมตามวัดเล็กๆ มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์และสวยงามมาก เพราะช่างที่ทำงานวาดเหล่านั้นเหมือนเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ในยุคหลายร้อยปีที่แล้วเลย เพราะมันคือการลดทอนสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติมาจัดวางใหม่จนกลายเป็นองค์ประกอบทางกราฟิก แต่คนสมัยนี้อาจจะมองแล้วเห็นว่ามันเชย ไม่ทันสมัย ก็เลยไม่สนใจ เราจึงอยากใช้ความสามารถด้านการออกแบบมาทำให้ของไทยบ้านๆ พวกนี้มันมีค่า มีเสน่ห์ มีความสวยงามขึ้น ให้คนอื่นๆ ชื่นชมในสิ่งที่เราเป็น แต่งานไทยแบบที่เป็นประเพณีอย่างลายไทย ลายกระหนก มันมีกฎ จารีต ประเพณี ครอบอยู่ การจะหยิบมาทำก็อาจจะไม่สามารถทำได้สะดวกมากนัก เราเลยไม่ค่อยได้ทำงานประเพณีบ่อยนัก

กราฟิกไทย 100 แรงบันดาลไทย

ร้อยแรงบันดาลไทย

ระหว่างที่คุยกันอยู่ สมาชิกคนอื่นๆ ของกลุ่มก็ยื่นตัวงาน ‘100 แรงบันดาลไทยที่เริ่มรวบรวมกันมาแล้วบางส่วนให้ผมเปิดดูไปด้วย แต่ละหน้านั้นประกอบไปด้วย Clip Art รูปสัตว์ในวรรณคดี งานลวดลาย แพตเทิร์น ข้าวของเครื่องใช้ ที่ถูกแปลงโฉมใหม่ให้ดูเก๋เท่จนทำให้ผมแทบจะลืมไปเลยว่ามันมีที่มาจากต้นทุนทางวัฒนธรรมของบ้านเรานี่เอง ผมจึงถามทางกลุ่มต่อว่าแล้วไอเดียการทำคลิปอาร์ตนี้มันมีที่มายังไงกัน

ตอนแรกสุดเราไม่ได้อยากตั้งกลุ่มรวมตัวกันเลย แค่ทำงานที่เราชอบกันเพราะอยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ๆ หันมาสนใจอยากทำงานกราฟิกแบบไทยๆ บ้าง พอมาเห็นนักออกแบบหลายๆ คนที่เรียนจบด้านกราฟิกทั้งในเมืองไทยหรือเมืองนอกพยายามจะเป็นฝรั่ง เป็นญี่ปุ่น เป็นอะไรก็ตามที่ไม่ใช่ตัวเอง โดยไม่เคยมีใครนึกถึงว่าเราก็ทำกราฟิกของไทยได้ เราเลยพยายามสร้างงานกราฟิกแบบไทยๆ โดยหยิบเอาลวดลายงานศิลปกรรมที่เห็นเวลาไปดูวัด ดูตลาด มาถอดแบบออกมาเป็นกราฟิกคลิปอาร์ต พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนสีสันและองค์ประกอบใหม่ให้ดูร่วมสมัย และเผยแพร่ออกไปเพื่อหวังให้มันสร้างแรงบันดาลใจกับคนที่เห็นต่อๆ ไปบ้าง  

“ซึ่งพอทำงานถอดแบบลวดลายกราฟิกไทยไปเรื่อยๆ ก็มีคนเห็นสิ่งที่เราทำแล้วชวนไปทำนิทรรศการและร่วมงานด้วยอย่างไม่ได้ตั้งใจหลายครั้ง จนได้ไปร่วมงานของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ก็เลยลองคิดกันว่าถ้าเสนองานกราฟฟิกแบบไทยๆ ที่เราทำอยู่ให้ทางกระทรวงลองสนับสนุนดูจะเป็นยังไง เพราะที่ผ่านมาเราก็ใช้ทุนส่วนตัวในการเดินทางและทำงานทั้งหมด ถ้ามีทุนมาสนับสนุนเราก็น่าจะเดินทางไปรวบรวมงานได้ในขอบเขตที่ใหญ่ขึ้น และน่าจะเก็บรายละเอียดของหลายๆ เมืองทั้งเล็กและใหญ่ได้ครอบคลุม โดยมีเป้าหมายแฝงคือเราจะได้มีเงินไปเที่ยวได้ไกลและนานขึ้น (หัวเราะ) เพราะก่อนหน้านี้ก็เน้นไปแต่ละแวกกรุงเทพฯ ที่ไปได้ในวันเดียว ปรากฏว่าโครงการได้รับการอนุมัติ เลยต้องเริ่มดำเนินงานอย่างจริงจัง แล้วจากที่คิดว่าจะได้ไปเที่ยวไกลๆได้นั้นสุดท้ายก็กลายเป็นว่าไปไม่ได้แล้ว เพราะต้องมารับผิดชอบโปรเจกต์นี้ (หัวเราะ)” ทางกลุ่มอธิบายถึงที่มาของโปรเจกต์นี้

ลายไทย

กราฟิกไทย

แวดล้อมคือตัวตน

ผมสงสัยว่าทำไมต้องทำเป็นคลิปอาร์ต แล้วทำไมนักออกแบบไทยควรจะต้องทำงานออกแบบสไตล์ไทยๆ กันด้วย

และได้รับคำตอบว่าการทำคลิปอาร์ตนั้นจำเป็นต้องถ่ายรูปลวดลายหรือข้าวของที่มีอยู่จริงก่อน เป็นเหมือนการบันทึกหลักฐานทางศิลปกรรมไทยและข้าวของเครื่องใช้เก็บไว้ ก่อนที่ของพวกนี้จะหายไปในอนาคต รวมไปถึงลักษณะของคลิปอาร์ตที่เป็นไฟล์ ซึ่งสามารถย่อและขยายได้โดยคงลักษณะแบบเดิมโดยไม่สูญเสียรายละเอียดไปนั้นจะทำให้สามารถนำไปใช้งานต่อได้อย่างแพร่หลาย

คือเราคิดว่านักออกแบบไทยก็ควรต้องออกแบบกราฟิกแบบไทยๆ ได้ด้วย เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของงานกราฟิกแบบไทยขึ้นมา ซึ่งมันไม่ค่อยมีคนทำ เราก็อยากให้คนต่างชาติมาเห็นงานกราฟิกของบ้านเราแล้วแยกแยะออกว่านี่คืองานกราฟิกไทย เหมือนที่เราไปชี้ดูงานกราฟิกญี่ปุ่นอะไรแบบนั้น ทีนี้ความเป็นตัวตนของเรามันคืออะไรล่ะ ความเป็นเราก็คือของที่อยู่รอบๆ ตัวเรานั่นแหละ

“สมมติว่าคุณจะไปทำของขายหรือไปทำงานบริการ ถ้าคุณใช้ความเป็นตัวตนของคุณไปทำคุณก็น่าจะประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า โลกเขาอยากเห็นตัวเรามากกว่าตัวเราที่เป็นเหมือนคนอื่น เราก็เลยไม่ได้สนใจเฉพาะแต่ของที่เป็นลายไทย แต่เราสนใจทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา จะกระบุง รถสองแถว ต้นไม้ สัตว์ อาหาร อะไรก็หยิบมาใช้ได้ทั้งนั้น ตามคอนเซปต์ที่เราตั้งขึ้นมาคือแวดล้อมคือตัวตนซึ่งงานกราฟิกมันคือ 2 ส่วนผสมกันคือ เนื้อหา (Content) กับ การนำเสนอ (Presentation)  บางคนอาจจะเน้นเนื้อหาแบบไทยแต่นำเสนอแบบฝรั่งก็ไม่ผิด แต่เราแค่ชอบการนำเนื้อหาแบบไทยๆ มานำเสนอในแบบไทยๆ ที่มีความเป็นสากลขึ้น ร่วมสมัยขึ้น

100 แรงบันดาลไทย กราฟิกไทย

ผมนั่งไล่เปิดดูผลงานคลิปอาร์ตจนหมดทุกชิ้น ด้วยคุณภาพความสวยงามและความยากลำบากในการทำขึ้นมา เพราะต้องเดินทางไปถ่ายภาพ ก่อนจะนำภาพมาแปลงให้เป็นกราฟิกอีกครั้ง เรี่ยวแรงที่ใช้ไปในแต่ละชิ้นงานนั้นไม่ใช่น้อยๆ ผมถามทางกลุ่มว่าอะไรทำให้ตัดสินใจจะแจกคลิปอาร์ตเหล่านี้ให้ใช้กันฟรีๆ

ก็อย่างที่บอกไปว่าเราอยากให้งานกราฟิกของไทยมันมีอัตลักษณ์เหมือนกับของญี่ปุ่นหรือสแกนดิเนเวีย ก็เลยกลับมาที่คำถามว่าสไตล์ไทยนั้นเป็นยังไง เราเลยทดลองทำดู พอทำแล้วก็พบว่ามันมีความเป็นไปได้ และด้วยธรรมชาติของนักออกแบบที่ไม่ได้มีเวลาและงบประมาณมากพอ ก็อาจจะมีนักออกแบบจำนวนน้อยมากที่จะไปเดินทางเก็บข้อมูลจากสถานที่จริงเพื่อนำมาสร้างเป็นกราฟิกใช้งานเอง

“อย่างเช่นงานออกแบบแพ็กเกจจิ้งสินค้า OTOP มันก็ควรจะใช้อัตลักษณ์ของชุมชนนั้นๆ ในการออกแบบ ไม่ใช่หยิบลวดลายไทยแบบรัตนโกสินทร์มาใช้เหมือนกันหมดทั้งประเทศ เพราะกราฟิกพวกนั้นมันควรจะสะท้อนตัวตนของแต่ละภูมิภาคได้ ทางภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ต่างก็มีความเป็นไทยที่เฉพาะตัวไม่เหมือนกันอยู่ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วมีเคสหนึ่งเกิดขึ้นกับวงการออกแบบฟอนต์ คือเรามีฟอนต์ไทยที่หน้าตาโมเดิร์น เรียบๆ คล้ายกับตัวอักษรภาษาอังกฤษอยู่แค่ชุดเดียว โรงแรมก็ใช้ฟอนต์นี้ โรงพยาบาล ธนาคาร บริษัททุกประเภทก็ใช่ฟอนต์นี้ทั้งหมด เป็นเพราะมันไม่มีตัวเลือกให้ใช้ กราฟิกไทยก็อาจจะเป็นแบบเดียวกัน

“เราคิดว่าถ้าเราอยากจะเห็นงานออกแบบไทยๆ แบบนี้มากขึ้น เราก็ควรจะสร้างเครื่องมืออย่างเช่นคลังคลิปอาร์ตให้กับนักออกแบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นำไปใช้ได้ง่ายๆ และควรต้องให้ใช้ฟรี เป็นเหมือนสมบัติของชาติเพื่อให้แพร่หลายมากที่สุด การทำแบบนี้น่าจะทำให้เกิดกระแสการหยิบไปใช้งาน เมื่อนำคลิปอาร์ตที่ได้รับการคลี่คลายที่ดีไปใช้ทำงานต่อยอดในหลายๆ รูปแบบ ก็จะมีคนเห็น และน่าจะมีคนสร้างงานที่เป็นอัตลักษณ์ไทยแบบนี้จากหลายๆ ภูมิภาคขึ้นมา แล้วในวันนั้นเองงานกราฟิกแบบไทยสไตล์อาจจะกำเนิดขึ้นมาจริงๆ ก็ได้

100 แรงบันดาลไทย 100 แรงบันดาลไทย

พี่มีแต่ให้

ผมสังเกตว่าในเพจของกลุ่มสอนวิธีการทำการถอดแบบเพื่อสร้างคลิปอาร์ตด้วย ทำให้ในคลังคลิปอาร์ตชุดแรกที่จะปล่อยเดือนสิงหาคมนี้มีทั้งคลิปอาร์ตที่กลุ่มเซียมไล้ทำขึ้นมา ผสมกับผลงานจากคนทางบ้านที่ส่งมาร่วมด้วย เพื่อช่วยให้ความรู้ในการถอดแบบหรือการสร้างคลิปอาร์ตแบบนี้กระจายออกไปในวงกว้างและเข้าถึงง่ายกว่า

เดือนสิงหาคมนี้เราจะได้เห็นตัวงานไม่ต่ำกว่า 400 ชิ้นงานจาก 4 ภูมิภาค โดยไม่ได้มีแค่เพียงคลังคลิปอาร์ตเพียงอย่างเดียว แต่เราจะเตรียมวิธีการใช้คลิปอาร์ตเหล่านี้มาให้ดูด้วย เพราะถ้าไม่ทำให้ดูว่าจะนำไปใช้ต่อยอดได้ยังไง งานก็จะไม่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“เราจะทำตัวอย่างนี้เป็นจำนวน 100 ชิ้นงาน เพื่อให้นักออกแบบและเจ้าของกิจการสินค้าต่างๆ เห็นว่ามันมีความเป็นไทยในรูปแบบอื่นๆ อยู่ด้วย ไม่จำเป็นต้องเป็นวัดเพียงอย่างเดียว และเราก็ทำให้คนเห็นศักยภาพจากของที่มี เราอยากสร้างแรงบันดาลใจแบบนั้น เราไม่ได้จะสั่งให้ทุกคนหยิบเอาองค์ประกอบแบบไทยๆ มาใช้นะ แต่เราแค่เสนอว่ามันมีแนวทางนี้อยู่ เราแค่ชอบใช้วิธีนี้ นักออกแบบกราฟิกแบบไทยๆ คนอื่นเขาก็อาจจะมีแนวทางอื่นก็ได้

100 แรงบันดาลไทย 100 แรงบันดาลไทย

ผมสนใจว่าในสายตาของนักออกแบบที่เห็นและคลุกคลีกับความเป็นไทยมานานๆ พอจะเห็นลักษณะเฉพาะของงานกราฟิกแบบไทยๆ มั่งมั้ย

ความเป็นไทยแบบที่กลุ่มของเราสนใจคือ ความเป็นไทยแบบบ้านๆ พบเห็นได้ทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งเท่าที่สังเกตดูจะพบว่ามันมีเอกลักษณ์อยู่ที่ความยุ่ง วุ่นวาย ไร้ระเบียบ ซึ่งมันสะท้อนนิสัยและบ้านเมืองของพวกเรา งานกราฟิกแบบตะวันตกเป็นงานที่ชอบการจัดระบบระเบียบ เขาเลยคิดวิธีการจัดการกราฟิกอย่าง Grid ขึ้นมา แต่ถ้าดูงานศิลปะพื้นบ้านของเรา จะเห็นว่าไม่มีการจัดระเบียบแบบนั้น ซึ่งมันเอื้อให้เกิดอิสระในการทำงานมากกว่า เป็นการสะท้อนความเป็นคนไทยในอีกแบบหนึ่งชาวเซียมไล้อธิบายถึงสิ่งที่ได้สังเกตมา

แล้วจากการที่สมาชิกในกลุ่มเซียมไล้เป็นอาจารย์กันเป็นส่วนมาก ผมจึงอยากรู้ว่าแต่ละท่านได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการมาทำโครงการนี้

หลักๆ คือเราได้เห็นว่าแต่ละภูมิภาคมีสไตล์และรูปแบบที่แตกต่างกันมากขึ้น เหมือนเปิดประสบการณ์ให้พวกเรานั่นแหละ อย่างเรื่องห่อข้าวเหนียว ในบางท้องที่ใช้ใบพวงห่อข้าวเหนียว บางแห่งใช้ใบตอง อีกภาคหนึ่งใช้ใบตองตึง ซึ่งมันคือความแตกต่างที่มีเสน่ห์มาก อีกเรื่องก็คือเรามองเห็นรายละเอียดของสิ่งต่างๆ มากขึ้น ทำให้เราเห็นคุณค่าและความอัศจรรย์ของช่างฝีมือในสมัยก่อนมากขึ้น ทั้งความละเอียดและความตั้งใจสร้างงาน

ก่อนจะจากกันไป ผมถามถึงจุดหมายปลายทางที่ทางกลุ่มอยากเห็นหลังจากที่โปรเจกต์นี้เสร็จสิ้นลง

อยากให้คนเอาไปใช้ อยากให้คนเริ่มมีความคิดอยากทำกราฟิกแบบไทยๆ อยากให้คนได้เห็นว่าองค์ประกอบของไทยๆ บ้านๆ พวกนี้มันมีศักยภาพ งานหลายๆ งานที่เราเห็นว่าสวยมันก็ต้องมีพัฒนาการ มีเส้นทางกันทั้งนั้น ก็เหมือนว่าเราเตรียมพื้นฐานไว้ให้กับทุกคน เราก็หวังให้งานดีไซน์แบบไทยๆ มีพัฒนาการต่อไปชาวเซียมไล้ทิ้งท้าย

เซียมไล้

สำหรับผู้สนใจอยากติดตามผลงานหรือร่วมส่งผลงานเป้นส่วนหนึ่งของโครงการ 100 แรงบันดาลไทย สามารถเข้าไปได้ที่

https://www.facebook.com/100RBDT/

ส่วนผลงานคลัง clip art สาธารณะจะเปิดตัวในเดือนสิงหาคม 2561 นี้

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan