*โปรดระวัง ข้อความด้านล่างนี้อาจกระตุ้นหัวใจนักช้อปผู้อ่อนแอ ให้เสียทรัพย์อย่างหักห้ามใจไม่ไหว*
ขอเตือนก่อนว่างาน Crafts Bangkok 2018 ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ครั้งนี้ร้ายกาจมาก รวมงานฝีมือทั่วแดนไทยและต่างประเทศมาไว้ที่เดียวกัน ทั้งงานเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของใช้ ของตกแต่งจุกจิก แต่ละชิ้นคัดมาแล้วว่าดีไซน์เลิศล้ำ งามปะล้ำปะเหลือจนผู้เขียนเสียสตางค์อย่างไร้สติ
ก่อนทุกท่านไป Hall 103 – 104 ที่ไบเทค บางนา วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม – วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายนนี้ เราไปสำรวจ ร้านดีที่คัดมาจากทั่วไทยให้ดูเป็นน้ำจิ้ม โปรดกอดความยับยั้งชั่งใจไว้กับตัว อ่านรายชื่อด้านล่างนี้ แล้วไปสนับสนุนผลงานคราฟต์ดีๆ ที่ทำให้เรามีความสุขกันเถอะ
1. เบญจเมธา



“ความวิจิตรแบบนี้จะมาจากความรุนแรงได้ยังไง”
เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา ช่างปั้นเซรามิกจากปัตตานีเอ่ยอย่างนุ่มนวลหลังโต๊ะวางเครื่องปั้นบอบบาง พ่อของเอ็มโซเฟียนเป็นเจ้าของธุรกิจโรงอิฐมอญ ใช้ดินจากท้องนาปัตตานีปั้นอิฐราคาย่อมเยา หลังเรียนจบกลับบ้าน บัณฑิตสถาปัตย์อยากพัฒนาของฝากจากภาคใต้รูปแบบใหม่ ใช้วัตถุดิบในบ้านเกิดสร้างสรรค์ของที่ระลึกอ่อนโยนที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติและสันติภาพ ไม่ว่าจะเป็นชุดถ้วยชามที่ได้แรงบันดาลใจจากหาดแฆแฆที่มีโขดหินเรียงราย จานเลยมีก้อนหินตะปุ่มตะป่ำแสนเก๋ หรือลูกข่างไม้ ที่ถอดยอดกรงนกเขาชวามาปรับเป็นลูกข่างสำหรับเล่นหรือตกแต่งบ้าน ทุกชิ้นน่ารักน่ามองและราคาสมเหตุสมผล จนเรายอมจำนนราบคาบ ซื้อห่อกลับบ้านแต่โดยดี
Facebook : Benjametha Ceramic
2. Farmer Rangers
สายลุยดิบเถื่อนขอเชิญที่ร้าน Farmer Rangers ร้านใหม่เอี่ยมของอดีตเจ้าของร้านหนังสือที่เชียงคาน ผู้ผันตัวมาทำร้านเสื้อผ้า และเปิดแบรนด์ล่าสุดนี้ได้เพียง 8 – 9 เดือน เหตุเกิดจากชอบงานสไตล์ธรรมชาติ ปักมือ ด้นมือ การปะชุนผ้าแบบโบราณ ผสมเครื่องหนังและความดิบเร้าใจ เลยตามหาคราม ฝ้าย และวัตถุดิบจากภาคอีสานและภาคเหนือมาทำงานที่ไม่เหมือนกันสักชิ้น มีทั้งเสื้อ กางเกง กระเป๋าหนัง กระเป๋าสะพายใยกัญชง ไปจนถึงสมุดปกครามต่อผ้าแบบต่างๆ ทุกชิ้นทำมือและมีชิ้นเดียวในโลก สำหรับคนชอบงานสไตล์คอลลาจ บอกเลยว่าสวยจนตาลายเลือกไม่ถูก รีบซื้อตอนที่พี่เขายังอยู่กรุงเทพฯ นะ
Facebook : Farmer Rangers
3. Borriboon
ใจกลางงานแฟร์ที่รวมผลิตภัณฑ์ชุมชน หนึ่งในงานที่สวยสะดุดตาคือกระเป๋าจักสานไม้ไผ่จากแบรนด์บริบูรณ์ คมกฤช บริบูรณ์ ทายาทช่างฝีมือชาวอำเภอพนัสนิคมปรับปรุงดีไซน์งานสานให้ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ของชลบุรีนำไม้ไผ่จากภาคตะวันออก เช่น ระยอง จัน ตราด มาสานเป็นกระเป๋าถือเล็กๆ มินิมอล บุผ้าฝ้ายธรรมชาติที่เก๋ถูกอกถูกใจชาวญี่ปุ่นและยุโรป ไอเท็มเด็ดเป็นงานอัตลักษณ์ไทยคือกระเป๋ารูปไข่ใบจิ๋ว ยอนดอกพิกุลละเอียดยิบน่าเอ็นดู สวยสะอาดจนตกหลุมรักแต่แรกเห็น
Facebook : ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่
4. COTH studio
ใครจะคิดว่าบาตรพระและสนิมจะสร้างไอเดียของใช้ที่สนุกขนาดนี้ เฉลิมเกียรติ สมดุลยาวาทย์ และ กวิสรา อนันต์ศฤงคาร สองดีไซเนอร์ที่ชนะเลิศการประกวด Innovative Craft Award 2017 สร้างแบรนด์จริงจังหลังการแข่งขัน พวกเขาสังเกตว่างานประติมากรรมโลหะมักเปลี่ยนสีเป็นสนิมเขียวหรือแดง (patina) หลังทิ้งไว้นานๆ เลยหาเทคนิคดึงระยะเวลาเกิดสนิมให้ไวขึ้น ใช้เคมีกัดกรดโลหะ ต้มหรือเผาถ้วยทองเหลืองและทองแดงทรงบาตรกลมๆ ให้เป็นสีสนิมต่างๆ เช่น เขียว ฟ้า ส้ม น้ำตาล กลายเป็นของประดับบ้านที่สวยเก๋ไม่หยอก แถมในงานยังมีเครื่องเขียนสนุกๆ คอลเล็กชัน ‘ศรีเรือน’ ของแบรนด์ Sumthing ร่วมวางเคียงข้าง มีกระต่ายขูดมะพร้าวที่กลายเป็นที่ใส่สก็อตเทป โม่หินบดข้าวกลายเป็นที่ใส่ของจุกจิก คงคอนเซปต์เอาของใช้ไทยเดิมมาปรับให้ร่วมสมัยได้ลงตัวและน่าซื้อมากๆ
Facebook : COTH studio
5. C-sense
ถ้าอยากได้ของเก๋และรักษ์โลกไปพร้อมกัน ขอเสนอ C-sense ภาชนะจากธรรมชาติจากลำพูนที่นำเอากาบกล้วยมาฉีกแล้วแช่น้ำแบบเปเปอร์มาเช่ แต่เป็นบานาน่ามาเช่ นำมาขึ้นรูปกับแป้งเปียก ตากแห้งเป็นถ้วย จานชาม ไปจนถึงโคมไฟ เชิงเทียน ของแต่งบ้านสารพัดที่ติดทองคำเปลวหรูหรา จะใส่กับข้าวก็ปลอดภัย ทิ้งไว้ก็ย่อยสลายได้ไม่เป็นขยะ แบรนด์ภาคเหนือนี้ทำงานมาสิบกว่าปีจนส่งออกยุโรป เคล็ดลับการทำสีภาชนะกาบกล้วยของที่นี่ คือกาบกล้วยป่าจะให้สีอ่อน ส่วนกล้วยน้ำว้าจะให้สีเข้ม ถ้าอยากให้สีอ่อนลงก็ผสมใยสับปะรดให้เป็นสีครีมนวลตา ดูสิ เบื้องหลังสนุกขนาดนี้จะอดใจไม่ซื้อไหวได้ยังไง
Facebook : C-sense Bananamache’
6. Neighbor craft
แจกันสดใสที่สวยตั้งแต่ยังไม่มีดอกไม้ประดับนี้เป็นฝีมือสองสาวจากศิลปากร โย-ปฏิมา มินหะรีสุไรมาน ที่เชี่ยวชาญเรื่องภาพพิมพ์ และ มิ้น-กนกพร สู่เสรีดำรง ที่ชำนาญเรื่องเซรามิก ทั้งคู่ร่วมมือกันเปิดแบรนด์ใหม่เอี่ยมอ่องที่ใช้เทกนิกสกรีนลายลงบนเครื่องปั้น แถมยังมีงานเพนต์โชว์ฝีแปรงสดดิบบนแจกัน ไปจนถึงภาชนะปั้นมือทรงฟรีฟอร์มให้เลือกช้อป แต่ละชิ้นสวยงามตั้งใจทำมากๆ ไปเลือกซื้อคอลเลกชันแรกของสองสาวเพื่อนบ้านอนาคตไกลนี้เก็บไว้กันเถอะ
Facebook : Neighbor craft
7. คราม-ฮัก
เห็นสีครามและส้มสดของร้านคราม-ฮักแล้ว ต้องวิ่งสี่คูณร้อยเข้าหาอย่างหักห้ามใจไม่อยู่ แบรนด์เสื้อผ้าแสนเก๋จากเชียงใหม่นี้จับเอาวัตถุดิบและวััฒนธรรมล้านนามาปรับใส่กราฟิกกลิ่นอายญีี่ปุ่น โดย Summer Collection นี้ เขาตีความว่าฤดูร้อนเป็นช่วงเวลามงคลที่เราจะกลับบ้านไปรับศีลรับพรจากญาติผู้ใหญ่ เลยใส่คำว่าโชคดีภาษาล้านนาบนเสื้อ ผนวกกับลวดลายฝาผนังวัด ลายจักสานเข่ง ลายกระเบื้อง ลายน้ำ ลายดอกคำแสด ที่ถอดทรงมาเป็นกราฟิกแสนเก๋ ใช้สีครามที่ใช้ประจำกับสีส้มจี๊ดของดอกคำแสดเป็นลูกเล่นหลัก สวยจนต้องขอซื้อทันที เพราะมีแค่ไม่กี่ชิ้นเท่านั้นเอง รีบหน่อยนะ
Facebook : คราม-ฮัก
8. Pica
จากความชอบปากกาวินเทจและการเขียน Calligraphy พิชชากร มีเดช และ มัลลิกา อินทจินดา ศิลปินรุ่นใหม่เปิดแบรนด์เครื่องเขียนเล็กๆ ตั้งแต่ปี 2015 พวกเขาดึงบรรยากาศจิ้มจุ่มหมึกเก่าเชยมาปัดฝุ่นใหม่จนเอี่ยมอ่อง โดยออกแบบปากกาคอแร้งโลหะแสนสวยที่ทำจากจากทองเหลือง ทองแดง สแตนเลส น้ำหนักมากเหมาะมือทำให้ผู้ใช้ลงหมึกได้หนักแน่นยิ่งขึ้น แบ่งเป็น 2 แบบคือแบบ Dip Pen จุ่มหมึกตรงๆ กับ Oblique Calligraphy Pen หัวข้างเอียงๆ ที่ทำให้การคัดลายมือสนุกขึ้นเป็นกอง แถมตอนนี้แบรนด์ร่วมมือกับ Sip Leather ออกสินค้ากระเป๋าหนังใส่เครื่องเขียนที่น่ารักหมดจด น่าขนกลับบ้านยกเซ็ตเลย
Facebook : Pica pen
9. แพร่คราฟต์
นี่สินิยามของคำว่าชุมชนเข้มแข็ง! 12 แบรนด์เสื้อผ้าวัยรุ่นของแพร่จับมือกันจัดเทศกาล ‘แพร่คราฟต์’ ที่รวมงานฝีมือจากธรรมชาติเน้นโทนน้ำเงินด้วยกัน ตามมาด้วยการออกงานที่คัดสุดยอดผลงานของดีไซเนอร์แต่ละคนมาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อฝ้ายม่อฮ่อม กิโมโนครามฟ้าอ่อน เสื้อคลุมเศษผ้าครามปะติดปะต่อ เสื้อโค้ทใยกัญชงย้อมครั่ง ผ้าพันคอสีเปลือกไม้ แต่ละอย่างสวยบาดตาบาดใจจนคนขายบอกว่าเคยใส่เดินอยู่แล้วฝรั่งมาขอซื้อ! เห็นงานแล้วต้องซูฮกให้พลังคราฟต์แห่งภาคเหนือ ของเขาดีจริงๆ
Facebook : แพร่คราฟต์
10. Vassana
เครื่องแขวน พวงมาลัย และกระเป๋าสานจากไม้ไผ่ที่จับเอางานดอกไม้สดมาแปลงร่างได้สวยสนุก และอยู่ทนนานนี้เป็นฝีมือออกแบบของ รศ.วาสนา สายมา อาจารย์สอนหลักสูตรออกแบบอุตสาหกรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หลังจากออกแบบโคมไฟและสารพัดข้าวของที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนมาเนิ่นนาน ครั้งนี้อาจารย์วาสนาหยิบงานไทยๆ ที่เราคุ้นตามาให้ชาวบ้านจากแม่แตง ไชยปราการ สันป่าตอง และสารภี สานไม้ไผ่เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ใครมองหาของฝากให้ผู้ใหญ่ในวาระสงกรานต์ นี่เป็นตัวเลือกที่เก๋ไม่แพ้ใครแน่นอน