“หนูอ่านงานของพวกพี่มาตั้งแต่ประถมเลยค่ะ”

นี่คือประโยคแสดงความติ่งของฉัน-สาวกนิยาย-ต่อนักเขียนเจ้าของนามปากกา ‘พงศกร’ ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ และ ‘กิ่งฉัตร’ เมื่อเราได้เจอหน้ากันในบ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

เหล่าแฟนคลับคงรู้สรรพคุณของพวกเขาดีอยู่แล้ว แต่เผื่อใครไม่สันทัดวงการนิยาย นี่คือ 3 นักเขียนที่ถือกำเนิดและเติบโตจากนิตยสารผู้หญิงเก่าแก่อย่าง สกุลไทย ขวัญเรือน และ พลอยแกมเพชร เจ้าของนามปากกา ‘พงศกร’ คือ นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ คุณหมอนักเขียนผู้สร้างสรรค์นิยายว่าด้วยผ้าหลากชนิดอย่าง กลกิโมโน และ สาปภูษา ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ มีชื่อจริงว่า นันทพร ศานติเกษม เป็นนักเขียนหญิงเจ้าของนิยายอย่าง รากนครา และ ทรายสีเพลิง ส่วน ‘กิ่งฉัตร’ คือ ปาริฉัตร ศาลิคุปต์ นักเขียนเจ้าของผลงานอย่าง ด้วยแรงอธิษฐาน และ สูตรเสน่หา

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ฉันมาเจอพวกเขาวันนี้ไม่ใช่เพื่อขอลายเซ็นหรือคุยเรื่องหนังสือใหม่ แต่เพราะนักเขียนทั้งสามคนกำลังรวมตัวกันทำสิ่งน่าสนใจ

นั่นคือเว็บไซต์รวมนวนิยายและบทความที่ชื่อ anowl.co หรือ ‘อ่านเอา’ (ชื่อไทยนี้หมายถึงการอ่านในหลากมิติ เช่น อ่านเอารส และ อ่านเอาเรื่อง)

anowl.co : บ้านใหม่ออนไลน์ของนักเขียนนิตยสารที่สร้างโดย ‘พงศกร’ ’กิ่งฉัตร’ และ ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’

การสร้างเว็บรวมผลงานเขียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เว็บไซต์นี้สำคัญและน่าจับตาเป็นพิเศษ เพราะมันเปรียบเหมือน ‘บ้านใหม่’ ของนักเขียนนวนิยายและบทความจากโลกนิตยสาร ผู้ซึ่งกำลังสูญเสียบ้านที่อยู่มานานหลังแล้ว หลังเล่า เนื่องจากโลกหมุนเข้าสู่ยุคที่คนหันไปอยู่กับโลกออนไลน์มากกว่าสิ่งพิมพ์กระดาษ

ขณะเดียวกัน เว็บนี้ก็จะเป็นจุดหมายใหม่ให้คนอ่านอย่างฉันและอีกหลายคนที่ผูกพันกับนิตยสาร และกำลังใจหายว่าจากนี้จะพบนักเขียนที่รักและผลงานของพวกเขาจากที่ไหน

พงศกร ปิยะพรฯ และกิ่งฉัตร สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมาไม่ใช่แค่เพื่อรวมงานของพวกเขา แต่ยังเป็นบ้านของนักเขียนนิยายอีกหลายรุ่นหลายสไตล์ (ซึ่งผลงานทั้งหมดที่นี่จะใหม่เอี่ยม ไม่เคยตีพิมพ์ที่อื่น) ตั้งแต่ มาลา คำจันทร์ นักเขียนรางวัลซีไรต์จากผลงานอย่าง เจ้าจันทร์ผมหอม จนถึงรุ่นใหม่มาแรงอย่าง ปราบต์ เจ้าของนิยายสืบสวนอย่าง กาหลมหรทึก ที่กำลังเป็นละครดังอยู่ตอนนี้ รวมถึงต่อเติมห้องสำหรับคอลัมนิสต์ที่หลายคนติดใจ เช่น จินต์ชญา เจ้าของคอลัมน์ ‘เรื่องผีที่แม่เล่า’ ใน พลอยแกมเพชร และในอนาคตก็มีแผนจะเปิดบ้านให้นักเขียนรุ่นใหม่ หน้าใหม่ เข้ามาร่วมอาศัย

นอกจากนี้ พวกเขายังวางแผนต่อยอดสิ่งสนุกนอกตัวบ้าน เช่น ‘อ่านอร่อย’ รายการสอนทำอาหารตามสูตรในนิยาย คอร์สสอนเขียนนิยาย จนถึงทริปตามรอยนิยายสำหรับแฟนคลับพันธุ์แท้

เว็บไซต์ ‘อ่านเอา’ มีกำหนดตัดสายสะดือในวันที่ 2 เมษายน 2560 ในวันที่ฉันไปคุยทุกอย่างจึงค่อนข้างโกลาหล ฉันเห็นกิ่งฉัตรเปิดคอมฯ ปั่นนิยาย ขณะที่พงศกรและปิยะพรฯ ผลัดกันแต่งหน้าทำผม  เพราะต้องเตรียมถ่ายรูปไว้โปรโมตเว็บไซต์

จนเมื่อพอละมือจากบ้านใหม่ได้ ฉันจึงชวน 3 นักเขียนในบทบาทใหม่นั่งคุยถึงความคิด ความเชื่อที่อบอวลอยู่ในบ้านหลังนี้ รวมถึงมุมมองของพวกเขาต่อการงานที่รักและโลกวรรณกรรม

ในฐานะผู้ยังเลือกยืนหยัดอยู่กลางกระแสเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย

ในยุคสมัยที่นิตยสารทยอยปิดตัว พวกคุณซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้โดยตรงมองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

ปิยะพรฯ : ตอนที่นิตยสารเลิกไป สิ่งที่เรารู้สึกคือเสียดาย เสียดายว่าคนรุ่นใหม่จะไม่เคยได้รับรสชาติแบบที่เราเคยได้รับ รสชาติที่ได้นั่งรอ 1 สัปดาห์ แล้วมีนิตยสารใหม่มา ได้นั่งอ่านแล้วเขียนจดหมายติดต่อกับกองบรรณาธิการ แต่เราก็ไม่ตกใจเท่าไหร่ เพราะเราเปิดรับเทคโนโลยี รู้ว่าโลกมันเปลี่ยนไป แล้วก็ไม่กลัวด้วย มีหลายคนบอกว่าวัฒนธรรมการอ่านล่มสลาย นิตยสารพังไปเป็นแถวๆ เราไม่คิดอย่างนั้น เพราะรู้สึกว่าพลังการอ่านมันจะยังคงอยู่เสมอ Never Die  มันเพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบ

คิดมั้ยว่างานอย่างนวนิยายควรอยู่กับสิ่งพิมพ์ กับหน้ากระดาษ

กิ่งฉัตร : ไม่ ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว การที่เรายังมายึดอยู่ว่ามันจะต้องออกมาเป็นเล่ม ออกมาเป็นกระดาษ มันไม่ใช่แล้ว ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าหนังสือมันหนักมาก ในขณะที่ชีวิตคนรุ่นใหม่มันเปลี่ยน จากที่เรามีบ้านเดี่ยว บ้านต่างจังหวัด ตอนนี้เราอยู่คอนโด ถ้าคุณเอาหนังสือทั้งหมดทุกเล่มที่รักมาเรียง มันเยอะมากนะ แต่ถ้าเกิดว่าอ่านเป็นอีบุ๊กส์มันก็อยู่ใน E-Reader อันเดียว แล้วปัจจุบันคนเราเดินทางอยู่ตลอดเวลา มากกว่า 20 – 30 ปีก่อนเยอะ การพกหนังสือไปสักเล่มสองเล่มเป็นน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาก แล้วสุดท้ายเราก็ต้องไปสละหนังสือในต่างแดน แต่ถ้าเอาอีบุ๊กส์ไป อยู่บนเครื่องหรืออยู่ที่ไหนคุณก็อ่านได้

ปิยะพรฯ : แต่เราว่ายังไงหนังสือมันก็จะยังคงมีอยู่ คุณเห็นดินสอมั้ย เรามีปากกาแล้ว มีคอมพิวเตอร์แล้ว แต่ดินสอก็ยังอยู่ หนังสือก็เหมือนกัน ยังมีคนต้องการอ่าน เพียงแต่ว่ามันแตกไลน์ออกไปในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น ซึ่งเราที่เป็นผู้บริโภคก็เลือกได้

ทีนี้ในช่วงที่คนกรูกันไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตหมด ท่วมท้น ถ้าหากทุกคนแค่โดดลงไปก็หากันไม่เจอ เราเลยพยายามสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้เป็นที่พักของนักอ่านและนักเขียน เนื่องจากมองว่านักอ่านก็เหนื่อยกับการเข้าไปค้นหาเนื้อหาที่ต้องใจ นักเขียนเก่าๆ ก็ไม่มีที่จะแสดงผลงาน และนักเขียนรุ่นกลางที่มีชื่อเสียงอยู่บ้างรวมถึงนักเขียนใหม่ก็เคว้งคว้างเพราะไม่มีเวทีที่แน่นอน

พงศกร : เหมือนการสร้างเกาะ

ปิยะพรฯ : ใช่ เป็นเกาะที่เป็นประโยชน์ทั้งกับคนอ่านและคนเขียน พวกเรา 3 คนเติบโตมาได้เพราะนิตยสาร ทุกคนที่เป็นแฟนเรา อ่านงานเราเรื่องแรกแล้วติดใจ เขาก็ไม่ต้องไปหาที่อื่น ก็มาที่นิตยสารเล่มที่เราเขียนประจำอยู่ ซึ่งถ้าเขามาที่เว็บนี้ก็จะได้อ่านเรื่องของเราไปเรื่อยๆ เรากับผู้อ่านก็จะสัมพันธ์กัน ซึ่งพี่ก็อยากให้นักเขียนรุ่นใหม่ได้มีสถานีเชื่อมโยงกับนักอ่านของตัวเอง

แล้ว anowl.co จะต่างกับเว็บอ่านนิยายที่มีอยู่มากมายตรงไหน

ปิยะพรฯ : เราต้องการสร้างสิ่งที่แปลกใหม่โดยคิดว่าจะสร้างเว็บเหมือนอย่างที่ คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการนิตยสาร สกุลไทย ได้สร้างนิตยสาร สกุลไทย ท่านพูดเสมอว่านิตยสาร 1 เล่มก็เหมือนสำรับกับข้าว จะต้องมีต้ม มีผัด มีแกง มีขนมหวาน มีพริกน้ำปลา ซึ่งทุกอย่างจะต้องรวมเข้าด้วยกันเป็น 1 สำรับ เราก็จะพยายามให้เว็บมีงานเขียนหลายรสชาติ รสชาติที่เป็นจริงเป็นจังก็มี รสชาติที่เฮฮาก็มีสลับกันไป

กิ่งฉัตร : เราเป็นนิตยสารจริงๆ ด้วย บางคนอาจบอกว่านิตยสารออนไลน์เปิดกว้างให้นักเขียน พร้อมเมื่อไหร่ก็ลง แต่เราไม่ใช่ เราจะจัดเป็นระเบียบเลยว่าคุณต้องผ่านบรรณาธิการก่อน ต้องผ่านการพิสูจน์อักษรก่อน และต้องมีการออกแบบหน้าให้เหมือนนิตยสารจริงๆ เวลานั่งอยู่หน้าจอ คุณจะมีความรู้สึกว่ากำลังอ่านนิตยสารเล่มหนึ่ง ไม่ใช่อ่านนิยายที่ลงในเว็บทั่วไป

พงศกร : ผมเลยมองว่าเว็บนี้เป็นทางเลือก ไม่ใช่ว่าเว็บอื่นไม่ดี แต่เราวางตำแหน่งของตัวเองแบบนี้ และเราก็คุยกันว่าเว็บเราจะเป็น Free Content คือแค่สมัครสมาชิก ล็อกอินเข้ามา แล้วก็อ่านทุกอย่างได้หมดเลย ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร

ถ้าเปิดให้อ่านฟรีแล้วโมเดลหารายได้ของพวกคุณเป็นยังไง

พงศกร : นี่เป็นการบ้านของพวกเราที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้มีรายได้เข้ามาเลี้ยงเว็บ น้องๆ ที่ดูแล Business Model เขาวางแผนว่าจะทำเหมือนหลายเว็บที่มีสปอนเซอร์สนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งพวกเรามองว่ากิจกรรมของอ่านเอามันไม่ได้เป็นแค่นิยาย เรื่องสั้น หรือคอลัมน์ ในวันที่เราเปลี่ยนจากสิ่งพิมพ์ขึ้นมาเป็นดิจิทัลมันทำอะไรได้หลายอย่างมาก เราก็จะมีรายการชวนผู้อ่านมาลองทำอาหารจากนิยาย อย่างเรื่อง สูตรสเน่หา ของกิ่งฉัตรที่ตัวเอกกินซูเฟล่ (Soufflé) หรือมีเวิร์กช็อปการเขียนเพราะเราทำงานเขียนกันมานานก็มีประสบการณ์ที่อยากแชร์ให้ผู้อื่น

กิ่งฉัตร : เราไม่ใช่มืออาชีพกับการทำเว็บ ทำนิตยสาร และไม่ได้ถนัดด้านการทำธุรกิจ เราทำเพราะใจรักจริงๆ เราเลยอยากเป็นต้นไม้ที่ค่อยๆ โต ไม่อยากระเบิดตูมเหมือนโกโก้ครันช์ เราก็จะพยายามสู้ด้วยตัวเอง สู้ด้วยตัวงานก่อนว่าเราจะไปได้มั้ย จะไปได้ไกลขนาดไหน

 

ถ้าอย่างนั้นนักเขียนที่มาลงผลงานด้วยช่วงแรกนี้ได้ค่าต้นฉบับมั้ย

พงศกร ปิยะพรฯ และกิ่งฉัตร : ไม่ได้เลย

ทั้งที่ถ้าคิดเป็นจำนวนเงิน ค่าต้นฉบับของนักเขียนแต่ละคนก็ไม่ได้ถูก

พงศกร : อย่างอาจารย์มาลา คำจันทร์ ท่านเป็นทั้งศิลปินแห่งชาติ เป็นทั้งนักเขียนซีไรต์ ตอนที่เราทำเว็บ ผมเป็นแฟนหนังสืออาจารย์ก็ทราบว่าอาจารย์มีเรื่อง สร้อยหงส์แสง ที่เขียนเพื่อเตรียมจะนำเสนอนิตยสารฉบับหนึ่ง แต่นิตยสารฉบับนั้นบังเอิญปิดตัวไปก่อน เราก็คุยกันว่าอยากได้งานอาจารย์มาลงจังเลย แต่ว่าจะสู้ค่าต้นฉบับไหวมั้ย (หัวเราะ) แต่พอเล่าให้อาจารย์ฟังว่าเราอยากทำแบบนี้ ไม่กี่วันอาจารย์ก็ส่งมาให้แบบจบทั้งเรื่อง ผมก็บอกว่าอาจารย์ครับ ยังไม่มีค่าต้นฉบับให้ อาจารย์บอกว่าพูดอย่างนี้ดูถูกกันมาก ผมรู้ว่าตั้งใจทำ ผมอยากสนับสนุน และผมอยากให้แฟนหนังสือของผมได้ติดตามงานของผม แค่นี้เราก็มีกำลังใจแล้ว

กิ่งฉัตร : ฉะนั้น นิยายและคอลัมน์ล็อตแรกที่เห็นอยู่เป็นของนักเขียนและคอลัมนิสต์ที่ให้ด้วยใจกันทั้งสิ้น เราว่านี่เป็นการร่วมมือที่ไม่ใช่เฉพาะเรา 3 คน แต่เป็นการร่วมมือของนักเขียน แล้วก็มีหลายท่านที่บอกว่าพร้อมที่จะร่วมงานกับเราโดยไม่ได้มองเรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ ทุกคนพร้อมที่จะร่วมมือกันทำให้เว็บนี้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งแล้วก็น่าสนุก เป็นศูนย์รวมของนักอ่านและนักเขียนจริงๆ

พงศกร : แต่ถ้าวันหนึ่งเราแข็งแรง มีรายได้ในเว็บขึ้นมา เราจะไม่ลืมพวกคุณ (หัวเราะ)

แล้วถ้ามองในภาพกว้าง ยุคนี้นักเขียนรุ่นใหม่อยู่รอดได้ด้วยการเขียนมั้ย

กิ่งฉัตร : ทุกอย่างง่ายกว่าสมัยเก่าเยอะนะ สมัยเก่ากว่าจะมาเป็นนักเขียนต้องลงนิตยสารก่อน ไม่อย่างนั้นอาจไม่มีเครดิตสำหรับการทำหนังสือรวมเล่ม ฉะนั้น นักเขียนทุกคนต้องพยายามลงนิตยสารให้ได้ แต่ปัญหาคือนิตยสารมีน้อยมากและคิวยาวมากเพราะเขาก็มีนักเขียนประจำ ผิดกับปัจจุบันที่มีเว็บไซต์ดีๆ ให้นำเสนอผลงานได้อย่างรวดเร็ว นำเสนอแล้วเอาขึ้นเว็บไปในนาทีนั้น และมีการตอบรับจากคนอ่านในนาทีนั้นเหมือนกัน แล้วการที่มีตลาดกว้างก็ทำให้สำนักพิมพ์มีช่องทางเลือกหาเพชรได้

ปิยะพรฯ : ที่จริงมันคือคำถามเดียวกันกับที่คนเคยถามพวกเราตอนเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ ซึ่งมองอีกมุมหนึ่ง เราว่าการอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับงานด้วย นักเขียนรุ่นเก่ากว่าจะผ่านมือบรรณาธิการไปลงนิตยสารได้ มันคือถูกคัดมาแล้วว่าคนนี้ใช้ได้ ทีนี้พอมาถึงรุ่นนี้ การที่เขาเสนองานตัวเองได้บนแพลตฟอร์มที่กว้างมหาศาล มีคนเสนองานหมื่นคน งานของคุณต้องดีพอ ต้องเด่นพอที่จะทะลุขึ้นมาได้ ถ้าคุณทะลุขึ้นมาได้ อันนั้นก็คือคุณเลี้ยงตัวเองได้ด้วยการเขียน

ความหมายของงานที่ดีเปลี่ยนไปตามยุคสมัยหรือเปล่า

พงศกร : คำว่าดีหรือไม่ดีเป็นรสนิยมของคนด้วยส่วนหนึ่ง ถ้าคนชอบเรื่องแบบนี้ เขาก็ว่าดี ถ้าคนไม่ชอบเรื่องแบบนี้ เขาก็บอกว่าไม่ดี แต่โดยเนื้อแท้ของตัวเนื้อหา ส่วนใหญ่เขาบอกกันว่างานที่ดีต้องเป็นงานที่ให้อะไรกับผู้อ่าน กระตุ้นความคิด จินตนาการ

ปิยะพรฯ : และเมื่องานดีแล้ว อย่างที่สองคือต้องสร้างงานสม่ำเสมอ ถ้าเราลงนิยายเรื่องแรกที่ชื่อ ตะวันทอแสง แล้วหายไปเป็นสิบปี พอกลับมา เรื่องที่สองของเราก็ไม่มีใครอ่าน ช่วงแรกทุกคนต้องทำงานหนัก คือเขียนเรื่องต่อเรื่องจนกว่านักอ่านจะค้นพบเราแล้วรักเรา

กิ่งฉัตร : ต้องอดทนและมีวินัยในการทำงาน

ปิยะพรฯ : เพราะฉะนั้น การอยู่ได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราและงานของเรา ไม่ใช่ว่าทุกคนจับเขียนแล้วจะต้องอยู่ได้ อีกเรื่องหนึ่งคือ เราเห็นคนพูดกันมากถึงเรื่องที่บรรณาธิการเมืองนอกให้เงินมาเขียนก่อนแล้วตัวนักเขียนก็เป็นเศรษฐี เนื่องจากระบบเขาจะต่างกับเรา คือเอาเรื่องไปเสนอแล้วสำนักพิมพ์จะให้เงินมายังชีพเพื่อเขียนงานให้ แต่ทำยังไงถึงจะไปได้เงินจากสำนักพิมพ์มาล่ะ คุณต้องมีงานที่ดีพอ มีชื่อเสียงที่ดีพอ ต้องพิสูจน์ตัวเองได้ ไอ้คนที่อยู่ข้างล่างแล้วอยากเขียนแต่เขียนไม่ได้ก็มีอีกเยอะ เราไปเห็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง อย่าเพิ่งเอามาเปรียบเทียบ สรุปแล้ว เราว่ามันยากทุกรุ่น ทุกประเทศ เราต้องพิสูจน์ด้วยตัวเราเองและผลงานเท่านั้น

คำถามสุดท้าย อะไรทำให้พวกคุณยังเขียนหนังสืออยู่สม่ำเสมอ ทั้งที่อาจจะไม่ต้องเขียนเพื่อหาเลี้ยงชีพหรือเขียนเยอะขนาดนี้แล้วก็ได้

พงศกร : คำถามนี้เหมือนง่ายแต่ที่จริงตอบยากนะ สำหรับเราพอเริ่มเขียนแล้ว มีคนติดตามงาน ก็เหมือนมันอยู่ในสายเลือด ถึงขนาดว่าถ้าไม่มีคนอ่านอีกก็คงจะเขียนแล้วเก็บไว้อ่านเอง เป็นอะไรที่อยู่ในสายเลือด

กิ่งฉัตร : เวลาเขียนหนังสือมันก็ทุกข์ๆ สุขๆ แต่ต้องคนเขียนหนังสือน่ะถึงจะรู้ว่า เวลาเขียนได้แล้วลื่นมันเป็นความสุขจริงๆ เป็นความสุขเพราะเราภูมิใจในงานที่ออกมา มีความสุขที่ได้ถ่ายทอดความคิด ถ่ายทอดความรู้สึก และเวลาที่เราหัวเราะ ร้องไห้ กับตัวละครมันรู้สึกพิเศษจริงๆ ว่าเราสร้างสิ่งที่ประทับใจเราขึ้นได้และก็หวังว่ามันจะประทับใจคนอ่านด้วย เหมือนเรามีอภิสิทธิ์พิเศษ

ปิยะพรฯ : ที่เรายังเขียนอยู่เพราะรู้สึกว่ายังมีหลายเรื่องอยู่ในใจที่จะต้องเล่าให้คนอ่านฟัง แล้วก็รู้ว่ายังมีคนที่รออ่านงานของเรา แต่ต่อให้ถ้าไม่มีคนอ่าน เราก็คงยังเขียนอยู่ดี เหมือนตอนเขียนนิยายเรื่องแรก เราเขียนไปโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีใครพิมพ์มั้ย แต่ก็เขียนจนจบเรื่องด้วยความต้องการจะเขียนแค่นั้น ตอนนี้ก็เหมือนกัน ถึงยังไงก็คงต้องเขียนต่อไปแม้ว่าอาจจะไม่ได้ลง ถูกสาปเสียแล้ว (หัวเราะ)

Facebook l   อ่านเอา : anowl.co

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan