เวลาพูดถึงอนาคต คุณเห็นภาพอะไร

โลกใบที่หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เหมือนมนุษย์มากจนแยกไม่ออก? โลกใบที่ยานพาหนะทั้งหมดล้วนแต่ลอยอยู่ในอากาศ? โลกใบที่ไม่มีต้นไม้เหลืออยู่ และมนุษย์ต้องกินแต่อาหารสังเคราะห์?

การคิดถึงอนาคตก็ว่ายากอยู่แล้ว แล้วการเสกสรรปั้นแต่งอนาคตให้เหมือนกับในความคิดนั้นล่ะ คุณว่าเป็นไปได้หรือเปล่า

SPACE10

ในวันสุดท้ายของงาน Bangkok Design Week 2018 ที่ไปรษณีย์กลางบางรัก บริษัท AP ร่วมกับ TCDC ได้พาชายหนุ่มจากอนาคตมาพบกับชาวไทย ชื่อของเขาคือ โคเวอร์ พัว (Kaave Pour) ผู้ทำหน้าที่เป็น Creative Director ของห้องทดลองนวัตกรรมสายสแกนดิเนเวียนามว่า SPACE10

ให้เขามาพาเราไปแอบแง้มดูภาพแห่งอนาคตด้วยกันเถอะ

Kaave PourKaave Pour

 

ปัญหาที่อยากฝ่าฟัน

SPACE10 เป็นห้องทดลองนวัตกรรมของบริษัทเฟอร์นิเจอร์ชื่อก้องโลกอย่าง IKEA สาเหตุในการแตกหน่อแห่งนี้ออกมา เพื่อให้อิสระที่จะทำทดลองอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องคอยคำนึงถึงข้อจำกัดในเชิงธุรกิจ

“เราอยากอยู่ในโลกแบบไหน และเราจะทำให้โลกกลายเป็นแบบนั้นได้อย่างไร” นี่คือคำถามที่พัวตั้งไว้เป็นตัวนิยาม ‘อนาคต’ ในบทสนทนาของเขา หากให้พูดอีกอย่าง การสร้างอนาคตแปลว่าการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง

แน่นอนว่าการจะคิดถึงทิศทางของอนาคต ต้องเริ่มจากการดูปัญหาในปัจจุบันก่อน พัวเสนอประเด็นต่างๆ ให้เราฟัง เริ่มจากพื้นที่เมืองซึ่งขยายใหญ่ขึ้นทุกที ในขณะที่ทรัพยากรก็เริ่มเหลือน้อยลงเรื่อยๆ รวมถึงประชากรก็มีทั้งเด็กเกิดใหม่มากและผู้อาวุโสเยอะไปพร้อมกัน ไล่ไปจนถึงการเติบโตของเทคโนโลยี ที่เริ่มแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันจนแทบแยกกันไม่ออก จากประเด็นปัญหาเหล่านี้ นำไปสู่การครุ่นคิดวิธีแก้ไข

“ผมเชื่อว่าในขณะที่ศิลปะตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหา การออกแบบจะต้องให้ทางออกแก่ปัญหา” พัวบอกเราด้วยสายตามุ่งมั่น ก่อนจะอธิบายว่า SPACE10 ตีความแนวคิดออกมาเป็น 3 ธีมหลักที่แต่ละผลงานที่ออกมาควรตอบได้ นั่นคือการสร้างสังคมหมุนเวียน (นั่นคือการอุปโภคบริโภคแบบเป็นวงกลม ไม่ได้เป็นแนวตรง เริ่มที่ผลิต จบที่ถังขยะ แต่ต้องหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ใหม่) การอยู่ร่วมกัน และการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตด้วยเครื่องมือทางดิจิทัล

เมื่อมีรากฐานการคิดเพื่ออนาคตเช่นนี้ จึงทำให้ผลงานแต่ละชิ้นจาก SPACE10 เต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้น แปลกประหลาด และนึกไม่ถึง ชวนให้ต้องฮือฮาเวลาได้ยินได้ชมทุกครั้ง

ตอนนี้คุณอาจยังนึกภาพไม่ออกว่าคำถามคำตอบพวกนี้จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ในเชิงรูปธรรมได้อย่างไร ไม่ต้องห่วง ให้เราได้พาคุณไปดู  

SPACE10

 

ห้องทดลองทั้งสี่

แม้จะเป็นบริษัทขนาดกะทัดรัดด้วยพนักงานเพียงประมาณ 30 คน แต่ในที่แห่งนี้ก็อัดแน่นไปด้วยงานหลายรูปแบบ ตั้งแต่ Playful Research ซึ่งเขย่าความเชื่อที่ว่างานวิจัยมักไกลตัว ด้วยการนำแนวคิดหรือทฤษฎีที่ได้จากการศึกษาวิจัยมาแปลงให้กลายเป็นสิ่งที่คนเข้าถึงเข้าใจได้ง่าย และทำให้คนมีส่วนร่วมในการทำงานวิจัยเหล่านั้น เช่น One Shared House 2030 ที่ชวนคนมาตอบคำถามว่าในปี 2030 เราจะอยู่ร่วมกันแบบไหน นอกจากนั้น SPACE10 ยังมี Space Program ที่ไม่ได้ส่งคนไปอวกาศ แต่ส่งคนไปเชื่อมต่อกับคนด้วยกันในชุมชนต่างๆ ทั่วโลก และที่พัวได้มาคุยกับเราก็เป็นหนึ่งในผลผลิตของโครงการนี้เช่นกัน

SPACE10

แต่ส่วนที่พัวภูมิใจนำเสนอที่สุดคือห้องปฏิบัติการวิจัย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลักคือ ช่วยร่นระยะเวลาในการคาดการณ์ทิศทางของการผลิตให้สั้นลง เทียบกับการปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทใหญ่ๆ ระยะทางจากกระบวนการเริ่มออกแบบจนถึงมือผู้ใช้งานจะสั้นกว่ามาก ทำให้มีโอกาสลองผิดลองถูกเยอะ สุดท้ายแล้ว ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นที่ปล่อยออกมาให้ใช้จริงก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ห้องทดลองมีทั้งหมดสี่ส่วน ประกอบด้วย

Digital Fabrication การใช้เทคโนโลยีช่วยในการผลิต ทำให้ ‘สร้าง’ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการพรินต์บ้านทั้งหลักด้วยการดาวน์โหลดผังบ้านจากออนไลน์ แล้วไปสั่งพรินต์ตามร้านที่มีเครื่องพรินต์ใกล้บ้านท่าน เครื่องตัดก็จะทำหน้าที่ตัดวัสดุออกมาเป็นชิ้นๆ พร้อมสำหรับประกอบ ไม่ต้องเหนื่อยรับส่งเคลื่อนย้ายแต่อย่างใด

Local Food การคิดวิธีบริโภคอาหารที่ยั่งยืน พร้อมคงความเป็นท้องถิ่น และมีรสชาติดีด้วย ตัวอย่างคือ LOKAL สลัดบาร์กลางลอนดอนที่มีวัตถุดิบงอกเงยเติบโตอยู่อีกด้านหนึ่งของบาร์ เป็นการปลูกผักแบบใหม่ที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงย่นระยะทางการขนส่งอย่างเห็นได้ชัด แถมยังมีกิมมิกเจ๋งๆ เรียกว่า Sprout ที่ติดตั้ง Google Home เข้ากับชั้นปลูกผัก ทำให้ผู้บริโภคพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบกับพืชผักบนชั้นได้อีกด้วย

SPACE10

Natural Interface การทำลายปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเทคโนโลยีแบบเก่าๆ ให้หมดสิ้น จากที่ตอนนี้เราต้องคอยก้มๆ เงยๆ เขี่ยจอมือถือเพื่อดูแผนที่ระหว่างเดินทาง ห้องทดลองนี้ชวนเราคิดถึงทางเลือกอื่น จุดมุ่งหมายหลักของทีม คือการทำให้มนุษย์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด โดยไม่ต้องเรียนรู้วิธีใช้ใดๆ เลย

IKEA

Shared Living การตั้งคำถามว่ามนุษย์จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างไรดี โดยใช้ข้อมูลจากการวิจัยในรูปแบบต่างๆ มาทดลองออกแบบพื้นที่อยู่อาศัย ภายใต้ข้อจำกัดว่าคนจะเยอะขึ้น พื้นที่และทรัพยากรจะน้อยลง ทำอย่างไรจึงจะใช้ได้อย่างคุ้มค่า เต็มประสิทธิภาพ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

Kaave Pour

สู่โลกความเป็นจริง

แม้ตอนอยู่ในห้องทดลองจะได้ทำอะไรแปลกๆ น่าสนใจมากมาย แต่เมื่อก้าวออกมาข้างนอก บางครั้งก็ต้องยอมรับว่าพลังในนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบโลกความจริงในระดับที่เห็นได้ทันทีสักเท่าไร “เราเริ่มจากอุดมคติ โดยมีเป้าหมายว่าจะทดสอบแนวความคิดอย่างไรให้ได้เร็วที่สุด ผลงานที่ออกมาจึงเป็นรุ่นทดลอง และจะยังเติบโตเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ในท้ายที่สุดแล้ว มันเลยอาจไม่ได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เสมอไป”

แต่ก็ไม่ใช่จะนั่งฝันถึงอนาคตกันเล่นๆ ไปอย่างเดียว เพราะนั่นคงไม่อาจส่งผลกระทบถึงโลกภายนอกได้ พัวบอกเราว่าหน้าที่สำคัญของ SPACE10 ประกอบด้วยการขุดคุ้ยเสาะหาความเป็นไปได้ใหม่จากสิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่ เมื่อพบความเป็นไปได้ที่น่าสนใจ จึงขยายต่อจนกลายเป็นตัวต้นแบบ (prototype) เพื่อทดลองใช้จริง หากดูมีศักยภาพให้น่าพัฒนาต่อ ก็ต้องผลักดันให้มีทีมที่ใหญ่ขึ้น นำแนวคิดและวิธีการไปใช้ในระดับที่ใหญ่ขึ้น

Bangkok Design Week 2018

“เราเชื่อในการร่วมมือเหนือการแข่งขัน เราเชื่อในการเผยแพร่เหนือการเก็บซ่อน เราศึกษาทดลองอย่างรวดเร็ว เรียนรู้จากมัน และขยายขนาดของงานให้กลายเป็นโครงการระยะยาว เราหวังให้ทีมงานที่เหมาะสมได้รับโจทย์ที่เหมาะสม ในสภาวะแบบนั้น เราถึงจะเปลี่ยนแปลงโลกได้”

พัวสรุปกับเราอีกครั้งว่า การทำงานของ SPACE10 คือการพยายามจัดระเบียบให้ความโกลาหล เขาอธิบายคำพูดนี้ด้วยการเปรียบอนาคตของโลกเป็นเส้นทางที่เป็นไปได้ แตกแยกย่อยออกไปมากมายไม่สิ้นสุด ไม่ว่าใครก็ไม่มีทางรู้ว่าสุดท้ายแล้วเส้นทางไหนจะเป็นเส้นทางที่โลกดำเนินไปจริงๆ แต่สิ่งที่เราซึ่งอยู่ในปัจจุบันพอจะทำได้คือ การมองความเป็นไปได้เหล่านั้น และเลือกหยิบมาต่อยอด เพื่อให้มันกลายเป็นอนาคตของโลกใบนี้ โดยที่ไม่คิดเพื่อตัวเราคนเดียว แต่คิดในฐานะผู้ที่ต้องแบ่งปันโลกกับมนุษย์คนอื่นอีกเกือบหมื่นล้านคน

หากเป็นเช่นนี้ จึงจะเรียกได้ว่าผู้ร่วมสร้างอนาคตที่แท้จริง

แผนผัง

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SPACE10 ที่ space10.io

Writer & Photographer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ