ตัวละคร
มกุฏ อรฤดี (ชายผู้รักการทำหนังสือ)
เกล้ามาศ ยิบอินซอย (หญิงผู้รักษ์พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน)
เปิดฉาก
พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูดสลับลำนำเรื่อง วิวาหพระสมุท เหตุเกิดที่เกาะอัลฟะเบตา ชาวเมืองเชื่อว่าทุก 100 ปีจะต้องส่งสาวพรหมจารีไปแต่งงานกับเจ้าแห่งท้องทะเล ท้าวมิดัสเจ้าเมืองตัดสินใจส่งอันโดรเมดา ลูกสาวผู้เป็นที่รัก ไปเป็นเจ้าสาวของพระสมุท แต่เรื่องไม่ได้จบเพียงนั้น เมื่อมีชายหนุ่มตกหลุมรักเธอถึง 2 คน ความรักสมปรารถนาจึงเกิดขึ้น เป็นบทละคร Romantic Comedy ที่นักแสดงล้วนชื่อเป็นฝรั่ง แต่พูดและขับร้องแบบไทยแท้
จากตอนนั้นจนถึงตอนนี้ครบ 100 ปีพอดิบพอดี ถึงเวลาต้องส่งของกำนัลเป็นสาวงามไปวิวาห์หวานชื่นกับพระสมุท แน่นอนว่าเราคงส่งอันโดรเมดาไปอีกครั้งไม่ได้ แต่จะขอส่งหนังสือรูปงามตามแบบฉบับดั้งเดิมของรัชกาลที่ 6 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเก่งฉกาจเรื่องการทำหนังสือไปแทน
สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษทั้งหลายเตรียมตัว เตรียมใจ ให้พร้อม มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการผู้รื้อฟื้นการทำหนังสือบทละครเก่าแก่ จะพาคุณท่องมหาสมุทรแห่งเรื่องราวเบื้องหลังของคนทำหนังสือเก่าในยุคสมัยใหม่ ตั้งแต่ปกหน้าตลอดจนกระดาษแผ่นสุดท้าย
ฉากที่ 1
ล่องเรือย้อนไปเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว
“เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ผมเข้าไปในหอสมุดแห่งชาติ ไปเห็นหนังสือของรัชกาลที่ 6 เรื่อง วิวาหพระสมุท แล้วสนใจมาก ทำไมรูปเล่มมันเล็กแบบนี้ มันเหมาะมือ ใส่กระเป๋าพกไปไหนก็ได้ ผมนั่งคิดตั้งแต่ตอนนั้นว่าอยากจะทำหนังสือแบบนี้บ้าง”
มกุฏเล่าพลางหยิบผลพลอยได้จากความ ‘อยากทำ’ เมื่อ 40 ปีที่แล้วให้เราดู หนังสือปกขาวของสำนักพิมพ์เล่มเล็ก เช่น ขวัญหนี , โยคะพบเซ็น รวมถึงหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อในปัจจุบัน เช่น บันทึกส่วนตัวซายูริ, จะเล่าให้คุณฟัง เป็นหนังสือเล่มเล็กที่ประหยัดกระดาษกว่าขนาดพ็อกเก็ตบุ๊กทั่วไป ในจำนวนหน้าและเนื้อหาที่ใกล้เคียงกัน แถมอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่อ่านหนังสือเล่มเล็กเหล่านี้บอกข้อดีอีกอย่างว่าใส่กระเป๋าเสื้อนอกได้ พกไปอ่านสะดวก
ชายผมสีขาวชวนเราตั้งข้อสังเกตและย้อนคิดกลับไป รัชกาลที่ 6 ทรงออกแบบหนังสือขนาดเล็กเพื่ออะไร ได้ฟังคำตอบก็ร้องอ๋อ เพราะขนาดหนังสือใส่ลงได้พอดีเป๊ะกับขนาดของกระเป๋าเสื้อราชปะแตน เหมาะกับเหล่าข้าราชการที่เวลาไปงานพระราชพิธี สามารถอ่านฆ่าเวลาได้
ฉากที่ 2
ปลุกชีพอันโดรเมดา
ต้นสายปลายเหตุที่มกุฎมาทำหนังสือ วิวาหพระสมุท เริ่มจากทำโครงการอ่านหนังสือพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันมาก่อน จนได้พบกับ เกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้อำนวยการสำนักงานพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
“คุณเกล้ามาศบอกว่าอยากพิมพ์หนังสือบางเรื่องของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และบอกชื่อหนังสือมาหลายรายการ เล่มหนึ่งคือ วิวาหพระสมุท ที่ผมเห็นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ผมชอบหนังสือไซส์นี้มาก จึงตกลงทำ และจะพยายามใช้วัสดุให้เหมือนอย่างเดิมทุกประการ เสมือนหนึ่งเป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นเมื่อ 100 ปีที่แล้ว”
มกุฏเล่าจบก็อวดโฉมหนังสือขนาดกะทัดรัดสีน้ำเงินสด ประดับลวดลายสีทองหรูหรา เพียงได้เห็นก็อดใจไม่ไหวที่จะอยากรู้ว่าชายคนนี้ทำหนังสือโบราณอย่างไรให้เหมือนเดิมแทบทุกประการ
ฉากที่ 3
ถอดแบบ วิวาหพระสมุท
วิธีการถอดแบบหนังสือเก่านั้นไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย เริ่มจากการหาต้นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดจากหอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ถ่ายภาพหน้าปกสุดเลือนรางมาตกแต่งเสียใหม่ในคอมพิวเตอร์ ทำบล็อกลวดลายตามแบบโบราณทุกประการ สำหรับเนื้อหาด้านในใช้เทคโนโลยีการสแกนภาพช่วยอีกแรง จากนั้นจึงนำไปทำเพลต ต่างจากแบบโบราณที่ใช้วิธีการเรียงพิมพ์ เมื่อใช้มือลูบไปบนตัวอักษรจะสัมผัสได้ถึงความนูนบนแผ่นกระดาษอย่างดีจากประเทศอังกฤษ
“วิธีการทำปก ทำอะไรต่างๆ ใช้วิธีเดิมหมด เมื่อโบราณใช้ผ้าคล้ายแบบนี้ แต่ไม่เหมือนซะทีเดียว ผ้าที่เราใช้ตอนนี้เนื้อเป็นกำมะหยี่มากกว่าเดิม แต่ว่าผิวสัมผัสคล้ายกัน สันโค้งเคาะด้วยมือ เย็บกี่ด้วยเชือก ใช้กระดาษที่ใกล้เคียงกันกับกระดาษสมัยก่อน ความหนาเท่ากัน สีสันใกล้เคียงกัน หมึกก็ใช้ใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่าไม่ใช้ตัวตะกั่วเท่านั้นเอง”
มกุฏเล่าให้เราฟังต่อถึงเรื่องราวความประทับใจในรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์งานเขียนหลากรูปแบบ และสนพระทัยการทำหนังสือด้วย พระองค์ทรงทดลองเล่นกับหนังสือแทบจะทุกรูปแบบ เพื่อผลิตหนังสือให้เหมาะกับคนทุกประเภท ขนาดหนังสือของพระองค์มีหลากหลาย ทั้งที่เป็นบทละครเหมือนกัน แต่กลับทำขนาดต่างกัน เช่น บทละครพูดคำกลอน พระร่วง มีขนาดใหญ่กว่าบทละครพูดสลับลำ วิวาหพระสมุท อยู่มาก ทั้งที่เป็นหนังสือประเภทเดียวกัน หนังสือเล่มเล็กก็เหมาะกับการพกติดตัวไปไหนมาไหน ใหญ่หน่อยขนาดประมาณ A4 ก็เหมาะมือและถนัดตาดีสำหรับกางอ่านเวลาซ้อมละคร
เอกลักษณ์สำคัญเจ้าของพระนามแฝง ‘ศรีอยุธยา’ คือ สันโค้ง พระองค์ทรงทำสันโค้งกับหนังสือทุกเล่ม แม้กระทั่งหนังสือที่มีจำนวนหน้าเพียง 48 หน้า! ริมของหนังสือก็ใช้ทองคำแท้มาตีเป็นแผ่นให้บาง ปาดเข้าไปที่ริมหนังสือทั้งสามด้าน นอกจะแวววาวสวยงามแล้ว ยังป้องกันเจ้าแมลงตัวเล็กที่ชอบกัดกินหนังสือแสนรักของเรา โดยปัจจุบันมกุฎใช้ฟอยล์สีทองอร่ามทดแทน
ภาพประกอบภายในเล่มของรัชกาลที่ 6 ก็วิจิตรไม่แพ้กัน อย่างหนังสือบทละคร ท้าวแสนปม ภาพประกอบภายในเล่มเขียนโดย ‘หลวงเจนจิตรยง’ กรมช่างมหาดเล็ก เขียนภาพพื้นสีดำ เลียนแบบสมุดดำแบบไทย ภาพและลวดแสนลายวิจิตรเขียนด้วยทองกับรงค์ขาว ทองชนิดที่ว่าแค่นิ้วมือลูบผ่าน ทองก็ติดขึ้นมาด้วย ส่วน หัวใจนักรบ ภาพประกอบทันสมัยขึ้นมาเสียหน่อย เป็นภาพถ่ายขาวดำ แทนภาพเขียนแบบเดิม
ชายผู้ทุ่มเทหัวใจให้กับการทำหนังสือใส่ทุกรายละเอียดข้างต้นไปทั้งหมดแบบไม่มีกั๊ก ไม่เว้นแต่คิ้วหนังสือทั้งสันด้านบนและด้านล่าง ที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อสั่งพิเศษมาจากประเทศอังกฤษ นอกจากจะมอบความสวยงามผ่านด้ายสลับสีขาวน้ำเงินแล้ว ยังช่วยปกป้องสันหนังสือให้คงทน ริบบิ้นคั่นหนังสือก็ผลิตเอง ที่เห็นแล้วต้องร้องว้าว! คือแผ่นปลิวหน้าคู่ลวดลายหินอ่อน ที่สมัยก่อนจะนำเข้ากระดาษอย่างดีจากประเทศอังกฤษ แต่มกุฏเลือกที่จะทำเอง คล้ายกับแผ่นปลิวใน มัทนะพาธา บทละครพูดคำฉันท์ 5 องก์ หนังสือรุ่นปัจจุบันพิเศษตรงเคลือบพีวีซีเพิ่มความทนทาน จากปกติเปิดหน้าหนังสือได้ 2,500 ครั้ง พอเคลือบพีวีซี ก็เปิดได้มากถึง 10,000 ครั้งเลย
อีกหนึ่งความน่ารักของปกหนังสือ วิวาหพระสมุท ที่รัชกาลที่ 6 ทรงเล่นกับสีสัน โดยเลือกใช้สีถึง 4 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สีเขียว สีน้ำตาลและสีส้ม ด้วยความรักพี่เสียดายสี มกุฏเลือกทำหนังสือบทละครสีน้ำเงิน และทำสมุดบันทึกเปล่าสีส้มที่หน้าตาเหมือนหนังสือทุกประการ ให้คนรักหนังสือสวยๆ ได้ซื้อไปใช้หรือสะสมด้วย
ฉากที่ 4
หันหัวเรือจากเกาะอัลฟะเบตากลับสู่สยาม
ถ้าอดใจรอเป็นเจ้าของไม่ไหว เราจะบอกพิกัดให้ท่านล่องเรือไปจับจองมาเป็นเจ้าของ เตรียมเข็มทิศและสังเกตทิศทางลมให้แม่นยำ เริ่มออกเดินทางจากเกาะอัลฟะเบตา ไปยังพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จุดจำหน่ายและจุดกำเนิดของบทละครพูดสลับขับร้อง นอกจากจะได้หนังสือไปครอบครอง ทางพระราชนิเวศน์จะจดรายชื่อผู้ซื้อหนังสือทั้งหมดเพื่อเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ สามารถเข้าพระราชนิเวศน์โดยไม่ต้องเสียบัตรผ่านประตูตลอดชีวิต ส่วนจุดจำหน่ายอีกหนึ่งที่คือ งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว งานมีถึงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ .2561 อย่ารอช้า ถ้าหมดจะหาว่าอันโดรเมดาไม่เตือนไม่ได้นะ
ส่วนใครที่อยากเห็นบทละครพูดสลับลำ วิวาหพระสมุท เล่มจริง สามารถไปดูด้วยตาและสัมผัสด้วยมือได้ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ ห้องบริการหนังสือหายาก อาคาร 2 ชั้น 3 หรือ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์
วิวาหพระสมุท ฉบับล่าสุดผลิตแค่ 3,000 เล่ม สามารถซื้อเป็นชุดหนังสือ สมุดบันทึก และซีดีเพลงที่ขับร้องโดยคณะดนตรีของพระราชนิเวศน์ได้ ข่าวดีอีกอย่างคือหนังสือของรัชกาลที่ 6 ที่จะนำมาทำใหม่ในรูปแบบดั้งเดิมโดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อมีอีก 2 เล่ม คือ พระร่วง และ ท้าวแสนปม
ในอนาคตอันใกล้โดยไม่ต้องรอวาระครบรอบวิวาห์ใดๆ สำนักพิมพ์ผีเสื้อจะร่วมกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จัดทำ‘พิพิธภัณฑ์และโรงเรียนที่ว่าด้วยวิชาหนังสือ’ เริ่มกันตั้งแต่ผลิตกระดาษ จนสามารถประกอบอาชีพได้จริง เน้นความเป็นหนังสือกระดาษด้วยกรรมวิธีโบราณอย่างครบถ้วนสมบูรณ์