20 กุมภาพันธ์ 2018
1 K

วันนี้ ในผืนน้ำขั้วโลกใต้อันไกลโพ้นไร้ผู้คน อนุภาคพลาสติกถูกพบลอยอยู่ในมหาสมุทรแอนตาร์กติก

ทุกวัน เราสั่งกาแฟจากร้านโปรดที่คนชงใจดีเขียนชื่อพร้อมรูปยิ้มรู้ใจให้เราเริ่มต้นวันแบบสดใสเหมือนลายเส้นง่ายๆ ชวนอารมณ์ดี

365 วัน เราใช้แก้วพลาสติก 365 ใบ หลอดดูด 365 หลอด

เพียงกิจกรรมเดียวที่เราทำในแต่ละวัน เราได้สะสมขยะพลาสติกไปแล้วนับไม่ถ้วน มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Science ชี้ว่า ปริมาณขยะพลาสติกที่เล็ดลอดออกสู่มหาสมุทรในแต่ละปีมีมากถึง 8 ล้านตัน แถมยังมีรายงานจาก World Economic Forum อีกชิ้นทำนายว่า ถ้าเราทุกคนต่างนิ่งดูดาย ภายในปี 2050 โลกจะมีพลาสติกมากกว่าปลาในมหาสมุทรทั้งหมดรวมกันเสียอีก

พลาสติกบุกขั้วโลกใต้

ไม่แปลก ที่ล่าสุดพบว่ามีอนุภาคพลาสติกลอยอยู่ในมหาสมุทรแอนตาร์กติกแล้ว

ขั้วโลกใต้ ดินแดนร้างที่ไร้มนุษย์ตั้งรกราก จะมีก็แต่สถานีวิจัย เพนกวิน แมวน้ำ และสาหร่าย นั่นแหละ

การค้นพบดังกล่าวเป็นข้อมูลใหม่ในวงการวิทยาศาสตร์ซึ่งถูกค้นพบระหว่างการแข่งขัน Volvo Ocean Race การแข่งขันเรือยอชต์ในตำนานที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1973 ‘การตรวจสุขภาพน้ำ’ เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว จากตัวอย่างน้ำในมหาสมุทรระหว่าง 2 ช่วงการแข่งขัน จากลิสบอนไปเคปทาวน์ และจากเคปทาวน์มาถึงเมลเบิร์น

นั่นหมายความว่า ปัญหาขยะพลาสติกไปไกลและไปเร็วกว่าที่เราคิด

 

ตรวจสุขภาพน้ำในมหาสมุทร

Volvo Ocean Race

นับเป็นการริเริ่มที่ดี เพราะไหนๆ การแข่งขันเรือยอชต์รอบโลกสุดทรหดที่เดินทางกว่า 45,000 ไมล์ทะเล หรือกว่า 83,000 กิโลเมตรก็ต้องผ่าน 4 มหาสมุทรใน 6 ทวีปอยู่แล้ว แน่นอนว่า การล่องเรือบนเส้นทางอันยาวนานต้องผ่านน่านน้ำที่ไม่เคยมีผู้ใดแตะต้องมาก่อน ในปีนี้ Volvo Ocean Race จึงริเริ่มโครงการเพื่อความยั่งยืน โดยร่วมมือกับแคมเปญ Cleanseas ของ UN Environment ในการส่งต่อสัญญานอันตรายของยุคพลาสติกสู่ผู้คนทั่วโลก

Turn the Tide on Plastic คือหนึ่งในเรือที่เข้าร่วมการแข่งขัน ชื่อเรือที่ปรากฏชัดเจนอยู่บนใบเรือขนาดมหึมาพื้นที่กว่า 296 ตารางเมตร ปรากฏข้อความ ‘It’s Time to Turn the Tide’ เพื่อกระตุ้นเตือนว่า กลับลำเสีย เลิกใช้พลาสติกกันเถอะ นอกจากเรือลำนี้มีพันธกิจในการรณรงค์เรื่องการลดการใช้พลาสติก ให้ผู้คนตระหนักถึงวิกฤตการณ์ทางทะเลแล้ว ยังติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสภาพน้ำ วัดความเค็ม ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และสาหร่ายในน้ำทะเล รวมถึงเซนเซอร์จับปริมาณอนุภาคพลาสติก เพื่อส่งข้อมูลที่บันทึกได้ในแต่ละจุดที่ระบุตำแหน่งด้วยจีพีเอส ให้กับ GEOMAR Helmholtz Centre for Ocean Research Kiel สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลในเมืองคีล (Kiel) ประเทศเยอรมนี เพื่อศึกษาต่อในเชิงลึก ไม่นานมานี้ เรือ AkzoNobel อีกลำก็เพิ่งได้รับการติดตั้งเครื่องมือแบบเดียวกันเพื่อช่วยตรวจคุณภาพน้ำทะเลอีกแรง

Volvo Ocean Race Volvo Ocean Race

มากกว่านั้น ตลอดระยะทางที่เริ่มต้นจากอลิกันเต้ (Alicante) เมืองท่าในสเปน ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา เรือที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 7 ลำยังมีภารกิจในการปล่อยทุ่นตามที่ต่างๆ ระหว่างทางจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางที่กรุงเฮก (Hague) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในเดือนมิถุนายน ทุ่นนี้ทำหน้าที่ตรวจสภาพน้ำและข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ก่อนส่งต่อข้อมูลไปยังดาวเทียม ณ เวลาจริง แล้วรายงานผลให้นักวิทยาศาสตร์ใช้ประกอบการพยากรณ์อากาศและสภาพภูมิอากาศในอนาคต นับเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเห็นภาพของมลภาวะในทะเลในปัจจุบัน

มีข้อมูลสนุกๆ ที่ทีมงาน Volvo Ocean Race เล่าให้เราฟังว่า มีทุ่นบางอันถูกปล่อยลงในบริเวณร้างอ้างว้างสุดๆ อย่าง Point Nemo จุดที่ห่างไกลผืนดินและเกาะใดๆ ในโลก ถ้าจะหาเพื่อนสักคน มนุษย์ที่อยู่ใกล้บริเวณนั้นที่สุด คือเจ้าหน้าที่ที่ประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติ

Volvo Ocean Race

Volvo Ocean Race

จากการบันทึกข้อมูลระหว่างการแข่งขัน มหาสมุทรใหญ่ในโลกเราต่างอยู่ในภาวะย่ำแย่ เพราะพบว่ามีอนุภาคพลาสติกเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมจนน่ากังวล 152, 115 และ 89 คือ จำนวนอนุภาคพลาสติกที่พบปะปนในน้ำต่อลูกบาศก์เมตร ในบริเวณตะวันออกของแอฟริกาใต้ น่านน้ำออสเตรเลียใกล้เมลเบิร์น และมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ไม่ไกลจากเคปทาวน์ ตามลำดับ

ส่วนในผืนน้ำกว้างใหญ่สุดขั้วโลกใต้ พบว่ามีอนุภาคพลาสติก 4 อนุภาคในน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร แม้เมื่อเทียบกับมหาสมุทรแห่งอื่นๆ แอนตาร์กติกจะมีจำนวนอนุภาคพลาสติกน้อยกว่า แต่ข้อมูลใหม่สดชิ้นนี้ฟ้องว่าพลาสติกได้เดินทางไปสู่พื้นที่อันไกลโพ้นไร้ผู้คนแล้ว นั่นคือสัญญาณที่เราไม่ควรละเลย

 

 

พฤติกรรมเล็กๆ ที่ส่งผลยิ่งใหญ่

อนุภาคพลาสติกที่ว่าก็มาจากพลาสติกที่เราต่างใช้ในชีวิตประจำวัน ที่แตกย่อยจากชิ้นใหญ่กลายเป็นเศษขนาดเล็กจิ๋วเกินกว่าตาเปล่าจะมองเห็น แล้วไหลลงมหาสมุทรในปลายทาง

Volvo Ocean Race

ชีวิตบนเรือตลอด 24 ชั่วโมงกว่านานกว่า 9 เดือนของนักแข่ง 7 ทีม 78 คน ทำให้พวกเขาได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพน้ำทะเลโดยตรง นอกจากจะต้องใช้ชีวิตสุดทรหด เบียดเสียดกันบนเรือขนาด 65 ฟุต ผลัดเวรกันเดินเรือในทุกสภาพอากาศที่ธรรมชาติจัดสรรให้ พวกเขายังมีวิถีที่ต้องใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

พวกเขาใช้แปรงสีฟันไม้ไผ่ พวกเขาไม่ใช้หลอดดูดหรือพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง พวกเขาดื่มน้ำจากเครื่องทำน้ำจืดเพื่อลดการใช้ขวดน้ำขนาด 1 ลิตรราว 13,500 ขวด พวกเขาเก็บหีบห่ออาหารแช่แข็งที่นำไปบริโภคบนเรือเพื่อกลับมารีไซเคิล พวกเขาจดการใช้ไฟฟ้า น้ำ ขยะ ที่เกิดขึ้นตลอดการแข่งขันเพื่อวัดผลกระทบที่สร้างต่อสิ่งแวดล้อม พวกเขาใส่แว่นกันแดดทำจากตาข่ายจับปลารีไซเคิล พวกเขาทาครีมกันแดดที่ปราศจากส่วนประกอบที่เป็นอันตรายต่อแนวปะการังใต้ทะเล

Volvo Ocean Race

Volvo Ocean Race

สำหรับคนเมืองอย่างเรา ปัญหาพลาสติกล้นโลกเป็นประเด็นที่ (ดูเหมือน) ทุกคนจะกังวล แต่ในทางปฏิบัติ เราก็ยังไม่ได้ลด-ละ-เลิกใช้พลาสติกกันอย่างจริงจัง ในระหว่างการแวะพักใน 12 เมืองใหญ่ทั่วโลกตลอดการแข่งขัน Volvo Ocean Race มีการจัดเทศกาลกลางแจ้ง โดยตั้งชื่อพื้นที่จัดงานว่า Race Village ในหมู่บ้านนักแข่งเรือจำลองแห่งนี้มีหลากหลายกิจกรรมให้คนทุกวัยได้มาร่วมสนุก

ที่ Race Village ที่ฮ่องกง เราได้เห็นการรณรงค์เรื่องความยั่งยืนและลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งผ่านทุกรายละเอียดในงานอย่างจริงจัง ตู้กดน้ำกระจายอยู่ทั่วงานเป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่เราชื่นชอบและชื่นชม เพราะนั่นหมายความว่าในงานจะไม่มีน้ำบรรจุขวดพลาสติกขาย เป็นกุศโลบายเชิญชวนให้ทุกคนพกขวดน้ำมาเอง ผู้จัดงานบอกว่าระหว่างการจัดงานที่ผ่านมาใน 3 เมืองสามารถลดการใช้ขวดพลาสติกได้กว่า 80,000 ขวด

ใช่ การพกขวดน้ำติดตัวไปไหนต่อไหนด้วยก็ไม่ได้ลำบากอะไรนี่นา

Volvo Ocean Race

ภาชนะและช้อนส้อมที่ย่อยสลายได้ ถังขยะแยกประเภท โครงสร้างและเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในการจัดงาน มาจากปีก่อนและจะถูกนำไปใช้ในเมืองต่อๆ ไป สารคดีเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติให้ความรู้แฝงความบันเทิง ต่างช่วยฝังเมล็ดพันธ์ุแห่งจิตสำนึกไว้ให้ผู้ร่วมงาน

แม้จะดูไม่มากมาย แต่การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทีละน้อยของคนเล็กๆ เมื่อรวมกันก็มีผลยิ่งใหญ่ต่อโลกได้ อาจเรียกว่า Volvo Ocean Race เป็นแบบอย่างของการรณรงค์ที่ไม่เพียงแต่ป่าวประกาศ แต่ทำให้ดู

 

สอนและสื่อสารความยั่งยืน

ในงานเราได้พบกับลูซี่ ฮันท์ (Lucy Hunt) ผู้เป็น Sustainability Education Manager ประจำ Volvo Ocean Race เธอเป็นแกนนำในการส่งต่อแนวคิดเรื่องความยั่งยืนผ่านโปรแกรมการศึกษาออนไลน์ ควบคู่ไปกับการจัดเวิร์กช็อปตามเมืองต่างๆ ที่การแข่งขันแวะพัก

Wisdom คือมาสคอตประจำการแข่งขันที่เธอมักพาไปไหนต่อไหนด้วย เธอชี้ชวนให้เราเอามือล้วงเข้าไปในท้องของเจ้าตุ๊กตานกทะเลหน้าตาเป็นมิตร ในท้องของมันเต็มไปด้วยพลาสติก ฝาขวด แปรงสีฟัน เศษตาข่าย ท่อพีวีซี

อ๋อ เราเข้าใจผลกระทบที่พลาสติกมีต่อระบบนิเวศได้ทันที

Lucy Hunt

ด้วยปูมหลังการเป็นนักชีววิทยาทางทะเล ลูซี่พัฒนาหลักสูตรสนุกที่เข้าใจและเข้าถึงง่าย การงดหรือลดการใช้พลาสติกเป็นหัวใจของโปรแกรม ตามแนวคิด Turn the Tide on Plastic เช่นเดียวกับการแข่งขันในปีนี้ สื่อการสอนของเธอมุ่งไปยังเด็กอายุ 6 – 12 ปี มีการแปลแล้ว 6 ภาษา ถูกนำไปใช้โดยครูใน 30 ประเทศ เข้าถึงเด็กทั่วโลกแล้วกว่า 35,000 คน แม้เพิ่งเริ่มโครงการเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ผลตอบรับดีเกินคาด เพราะ “มีเด็กหญิงคนหนึ่งลุกขึ้นเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีอังกฤษว่าให้แบนพลาสติก” ลูซี่หัวเราะ

“ครูหลายคนมาเล่าให้ฟังว่า เด็กๆ กระตือรือร้นมากในการช่วยลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน พวกเขาเป็นคนบอกพ่อแม่ให้แยกขยะและรีไซเคิล”

Lucy Hunt

บทเรียนสำคัญ มหาสมุทรมีความสำคัญอย่างไร พลาสติกทำร้ายโลกเราอย่างไร เราจะช่วยกันลดขยะพลาสติกได้อย่างไร ทั้งหมดมาในรูปแบบการสอนหลากหลาย พร้อมกิจกรรมให้เด็กๆ ลงมือทำ สอดแทรกไปกับความรู้วิชาต่างสาขา ไม่ว่าจะภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษา ศิลปะ สเต็มศึกษา (STEM: Science, Technology, Engineering, Math) ไปจนถึงวิชาความเป็นพลเมืองโลก

 

หว่านเมล็ดพันธ์ุแห่งความหวัง

การทิ้งมรดกและแนวคิดที่ดีไว้ให้กับคนรุ่นหลังเป็นเป้าหมายของโครงการเพื่อความยั่งยืน หนึ่งในสื่อการสอนที่ลูซี่ใช้กับเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาตระหนักถึงผลกระทบจากกิจกรรมประจำวันที่มีต่อระบบสิ่งแวดล้อมอย่างง่ายๆ คือการจดปริมาณการใช้พลาสติกในแต่ละวัน พอเด็กๆ รู้ว่ามีส่วนสร้างขยะพลาสติกในชีวิตประจำวันมากน้อยเพียงใด ทำให้พวกเขาอยากลดและงดการใช้พลาสติกไปโดยอัตโนมัติ

Race Village Hong Kong

บทเรียนสุดท้ายในโปรแกรมเรียกว่า พลาสติกฟุตพรินต์เชิงบวก ที่ทำให้เด็กๆ ได้ทำความรู้จักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ระบบเศรษฐกิจที่ต่อวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่เพื่อลดการใช้วัตถุดิบและนำขยะกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด บทนี้ยังรวมไปถึงการสอนให้เด็กๆ ใช้พลาสติกตามหลัก 5 R อันได้แก่ Rethink (คิดก่อนใช้), Refuse (งด), Reduce (ลด), Reuse (นำกลับมาใช้ซ้ำ) และ Recycle (รีไซเคิล) ด้วย

Race Village Hong Kong Race Village Hong Kong

แล้วทำอย่างไรดีถ้าทั้งห่วงโซ่การผลิตยังใช้พลาสติกอย่างบ้าคลั่ง “เราเริ่มได้ที่ตัวเรา” ลูซี่ยิ้ม “โดยส่วนตัว ฉันไม่ใช้หลอด เวลาไปไหนก็จะบอกว่า ‘ไม่เอาหลอดค่ะ’ แต่บางทีก็ลืมพูด ทำให้แอบโมโหตัวเองอยู่บ่อยๆ พอบอกไม่เอาหลอด บางทีก็โดนมองแปลกๆ อีกอย่างคือฉันพกแก้วและขวดน้ำส่วนตัวพกไปด้วยทุกที่ แค่ 2 อย่างง่ายๆ ก็ช่วยลดขยะพลาสติกได้มาก”

Race Village Hong Kong Race Village Hong Kong

พรุ่งนี้ เราสั่งกาแฟจากร้านโปรดที่คนชงใจดีเขียนชื่อพร้อมรูปยิ้มรู้ใจให้เราเริ่มต้นวันแบบสดใสเหมือนลายเส้นง่ายๆ ชวนอารมณ์ดี

อีก 1 ปีผ่านไป เราไม่เปลี่ยนพฤติกรรม เราใช้แก้วพลาสติกอีก 365 ใบ หลอดดูดอีก 365 หลอด

อีกไม่นาน เราสั่งซุปปลาเลิศรส แต่อาจได้ซด ‘ซุปพลาสติก’ แทน เพราะในวงล้อของวัฏฏะ ทุกสิ่งจะวนกลับมาหาเราเอง

ภาพ: Volvo Ocean Race, Volvo Car Thailand

Writer

Avatar

พิมชนก พึ่งบุญ ณ อยุธยา

อินโทรเวิร์ด ที่ชอบ 'คุย' กับคน เพื่อสำรวจความคิดและถ่ายทอดเรื่องราวบันดาลใจ