27 กุมภาพันธ์ 2018
2 K

วันหนึ่งต้นเดือนกันยายน เชฟแบล็ค-ภานุภน บุลสุวรรณ จากร้านอาหาร Blackitch มาชวนผมว่าไปงาน ‘We Feed The Planet’  ที่ญี่ปุ่นช่วงวันที่ 3 – 5 พฤศจิกายนกันมั้ย? ผมเองก็งงๆ ว่ามันคืองานอะไร ใครจัด แล้วต้องไปทำอะไร จนหลังจากได้คุยกัน ก็ได้ความว่าเป็นงานของกลุ่ม Slow Food Youth Network ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโกเบของประเทศญี่ปุ่น

ต้องเท้าความแบบง่ายๆ ก่อนว่า Slow Food คือองค์กรระดับโลกที่มีเครือข่ายทั่วโลก เรื่องสำคัญที่องค์กรนี้ร่วมกันขับเคลื่อนคือเรื่องเกี่ยวกับอาหารและความยั่งยืน ภายใต้อุดมการณ์ ‘good, clean, and fair’ ส่วน Slow Food Youth Network ที่จัดงานนี้ก็อยู่ภายใต้องค์กร Slow Food แต่เป็นกลุ่มสำหรับคนที่อายุไม่เกิน 40 ปี รายละเอียดเต็มๆ ถ้าสนใจก็ลองเข้าไปดูได้ในเว็บ www.slowfood.com

We Feed The Planet เวิร์กช็อป

งานนี้จะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าในวันที่ 3 ส่วนวันที่ 4 – 5 เป็นการทำเวิร์กช็อปสำหรับผู้ที่ถูกคัดเลือก (deligate) เท่านั้น โดยรับแค่ 50 คนจากทั่วทวีปเอเชีย ต้องเสียค่าเครื่องบินไปเอง แต่นอกนั้นเขาออกให้หมดตั้งแต่เท้าแตะพื้นประเทศญี่ปุ่น

ฟังแล้วดูดีมาก ผมเลยลองสมัครไป โดยต้องสมัครเป็นสมาชิกของ Slow Food Youth Network ก่อน ซึ่งถ้าจำไม่ผิดก็แค่จ่ายค่าสมัครจำนวน 15 ดอลลาร์ฯ แต่พอไปกรอกใบสมัครของงานที่เป็นแบบฟอร์มออนไลน์ ปรากฏว่าใบสมัครของช่วงเวิร์กช็อปวันที่ 4 และ 5 มีคำถามเยอะมาก ถามแบบเป็นเรียงความเลย ตั้งแต่ว่าทำไมถึงอยากไป ไปแล้วคิดว่าจะได้อะไร กลับประเทศแล้วจะทำอะไรกับสิ่งที่ได้ และอีกหลายคำถาม ผมก็กรอกไปด้วยใจที่ค่อนข้างสิ้นหวัง เพราะคิดว่า เฮ้ย นี่คือสมัครมาทั้งเอเชีย ใครมันจะเลือกกู แต่ก็กรอกไปจนจบตามความจริง

เชฟแวน Slow Food Youth Network

ผมกับเพื่อนๆ ส่งใบสมัครไปหลายคน สุดท้ายประเทศไทยได้ไปกัน 5 คน มีผม เชฟแบล็ค คุณลี-อายุ จือปา (ผู้ก่อตั้งแบรนด์กาแฟเพื่อสังคม อาข่า อ่ามา) เชฟน้ำหวาน (เจ้าของร้านอาหารเชฟส์เทเบิ้ล Locus ที่จังหวัดเชียงรายและเจ้าของแบรนด์ขนมเปี๊ยะ Rabbit & Goat) และคุณแพร (เจ้าของคาเฟ่ The Fox and The Moon)

วันแรกที่เปิดให้คนทั่วไปเข้านั้น มีลักษณะเป็นงานคล้ายงานสัมมนาปกติ มีเวิร์กช็อปต่างๆ รวมถึง coffee cupping ซึ่งเป็นเวิร์กช็อปของคุณลี โดยรวมไม่ค่อยมีอะไรมาก จนถึงตอนเย็น พวกเราก็มุ่งหน้าไปที่ Aina Santoyama Park ซึ่งเป็นเหมือนอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่บนภูเขา เราจะพักที่นี่และทำ Intensive Workshop กันในอีก 2 วันที่เหลือ

We Feed The Planet We Feed The Planet

วันที่สองเป็นการทำเวิร์กช็อปยาว ย้ำว่ายาว ตั้งแต่เช้ายันดึก ผู้ร่วมเวิร์กช็อปส่วนใหญ่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ มีทั้งเกษตรกร นักการตลาด เจ้าของตลาด มีแค่ทีมพวกเราที่เป็นเชฟ พวกเราโดนแบ่งเป็นกลุ่มตามหัวข้อซึ่งทางทีมงานให้เราเลือกตั้งแต่ตอนส่งอีเมลตอบรับ เป็นหัวข้อที่องค์กรนี้มองว่าเป็นปัญหาที่สากลและมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหาซึ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ผมเลือกหัวข้อ ‘Biodiversity of Our Food’ เชฟแบล็คกับคุณแพรได้เรื่อง ‘Food Service Industry’ คุณลีกับเชฟน้ำหวานได้เรื่อง ‘Food Identity’ หลักๆ ที่เขาให้เราทำคือ ให้ตั้งเป้าหมายตามหัวข้อที่เลือกมาเพื่อเป็นนโยบายขององค์กร Slow Food ใน ค.ศ. 2020 โดยให้เน้นเรื่องที่เราคิดว่าเป็นไปได้บนพื้นฐานของความจริง

ในกลุ่มความหลากหลายทางอาหารที่ผมเข้าร่วม ทุกประเทศต่างบอกว่ามีปัญหาเดียวกันคือ พืชท้องถิ่นสูญหายไป เพราะเกษตรกรปลูกแล้วไม่รู้จะไปขายให้ตลาดส่วนไหน สุดท้ายพืชเหล่านั้นจึงถูกแทนที่ด้วยพืชที่ถูกทำให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด และมะเขือเทศ

ผมพบว่าเพื่อนร่วมทีมต่างชาติมักวางแผนแก้ปัญหาในภาพใหญ่ เช่น การไปบอกรัฐบาลให้ออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหา แต่เมื่อถามเขาว่ารัฐบาลประเทศของยูเขาคุยง่ายและรับฟังขนาดนั้นเลยเหรอ คำตอบคือ ‘โน’

เวิร์กช็อป

เชฟแบล็ค เชฟแวน

ผมเลยลองแชร์คอนเซปต์ไปว่า เราน่าจะเริ่มเปลี่ยนจากภาพเล็กก่อน และเริ่มที่การให้ธรรมชาติได้พักและฟื้นฟูตัวเอง หรือ Give Nature a Break แล้วยกตัวอย่างที่เคยรู้มา อย่างกรณีที่ Yellowstone National Park ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งปล่อยหมาป่าคืนสู่ระบบนิเวศ แล้วหมาป่าก็ช่วยให้ธรรมชาติในภาพใหญ่ฟื้นฟูจนได้ เช่น เข้าไปกินกวางจนกวางหลีกเลี่ยงไม่ไปบางพื้นที่ที่จะถูกต้อนจนมุมง่าย ผลคือต้นไม้ในพื้นที่นั้นซึ่งเคยถูกกวางกินเรียบกลับงอกงาม รวมถึงกรณีการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนชาวปกาเกอะญอหินลาดในที่เชียงราย ซึ่งปลูกพืชพื้นถิ่นหลากหลายโดยไม่อิงกับระบบเศรษฐกิจภาพใหญ่ แต่เริ่มจากการปลูกเอง กินเองก่อน แทนที่จะปลูกโดยเน้นมองไปที่ตลาด

อีกอย่างที่ผมลองเสนอความเห็นไปคือ เราน่าจะเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองถนัด เช่น ผมเป็นเชฟ ผมจึงเริ่มเล่าเรื่องปัญหาเหล่านี้ผ่านอาหาร

หลักจากการนั่งแลกเปลี่ยนความรู้กัน เราก็มาถึงวันสุดท้ายของเวิร์กช็อป ตัวกิจกรรมหลักคือการนำเสนอสิ่งที่เราได้คุยกันเมื่อวาน แต่ที่พิเศษคือ ในวันนี้ทีมไทยเราได้เป็นคนทำอาหารกลางวันซึ่งมาจากวัตถุดิบที่เหลือของงานนี้ให้กับผู้เข้าร่วมและทีมงานรวมแล้วประมาณ 70 คน เพื่อป้องกันปัญหาเรื่อง food waste ผมทำสตูว์เนื้อโกเบใส่เคย และจับฉ่ายที่รวมจากวัตถุดิบที่เหลือ เชฟแบล็คทำมึซาโต๊ะหรือน้ำพริกมะเขือเทศของปกาเกอะญอ น้ำหวานทำข้าวก่ำของโครงการหลวงคลุกงากับน้ำผึ้งโครงการหลวง และยังมีข้าวที่เหลือจากมื้ออื่นๆ เอามาอบมันวัวกับมันเทศ จิ้งหรีดทอด

อาหาร ข้าวก่ำ

อาหารทั้งหมดได้รับความสนใจจากผู้ร่วมเวิร์กช็อปจากชาติอื่นๆ กินกันจนเกลี้ยงไม่เหลือทิ้งเลย

ถ้ามองในภาพรวมการมาเวิร์กช็อปรอบนี้ ผมชอบการ ‘ไม่โอ๋’ ของระบบงาน เพราะมันคือการที่เราต้องโคตรดูแลตัวเอง แบกที่นอนเอง ปูเอง กินเอง เดินขึ้นเขา ลุยสวนสารพัด ซึ่งต่างจากการสัมมนาบ้านเราที่ชอบประคบประหงมผู้เข้าร่วมราวกับลูกเทพ

Slow Food Youth Network แพร พิมพ์ลดา

และนอกจากส่วนเนื้อหาการเข้าร่วมพูดคุยกับเพื่อนประเทศอื่น อีกส่วนที่ผมอยากเล่าคือ ส่วนของ ‘ความรู้สึก’

สิ่งที่แปลกและน่ายินดีที่สุดสำหรับผมคือ พวกเราที่ได้รับหัวข้อต่างกันทั้งสามกลุ่ม แต่เราพูดเรื่องเดียวกันหมดเลย นั่นคือ ‘การเริ่มที่ตนเอง’

พวกเราเชื่อว่าการจะเริ่มอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต้องเริ่มที่ตัวเรา ใช้ตนเองเป็นรากที่มั่นคงของการทดลอง และใช้ตนเองเป็นแบบอย่างเมื่อกาลมันควร ใช้การ ‘ทำ’ สิ่งที่ถูกต้องด้วยศรัทธาไปเรื่อยๆ แทนการผลักดันและเรียกร้องจากปัจจัยภายนอกทั้งหลายทั้งปวง อย่างต้นแบบของพวกเรา เช่น พ่อหลวงชัยประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้านแห่งบ้านห้วยหินลาดใน ผู้เป็นครูของพวกเราหลายๆ คน สอนให้เราเริ่มเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างจากสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ ส่วนที่ไม่ถูกจริตพวกเราก็มีบ้างแต่ขอไม่เล่า เพราะดีของใครก็ดีของมัน มันต่างกันอยู่แล้ว เพราะเราไม่ควรใช้ความเห็นต่างไปตีความว่าความต่างนั้นผิด

Slow Food Youth Network We Feed The Planet

จนถึงวันนี้ก็ผ่านมาเป็นเวลาพอประมาณ ทีมไทยของเราก็ยังคงพูดถึงแรงบันดาลใจจากการสนทนาดีๆ ที่ได้รับมาจากการไปโกเบครั้งนี้อยู่เสมอ คุณแพรบอกว่าทริปนี้มันเหมือนเป็นการส่งพลังและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ให้รู้ว่าเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว

เมื่อได้รับพลังที่ดีมา เราก็ได้นำหลายสิ่งหลายอย่างมาต่อยอดทั้งทางกายภาพและมโนภาพ เราได้มีมิตรสหายร่วมทางแห่งร่องความเชื่อเล็กๆ เพิ่มขึ้นมากมายทั้งไทยและเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมิตรภาพที่ดีที่สุดของเรา 5 คน และเริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงทุกอย่างจากสิ่งที่พวกเราถนัด คือวิถีแห่งอาหาร

ผมคงไม่กล้าปฏิเสธว่า ทริปนี้คือหนึ่งในทริปงดงามที่สุดในชีวิตผม

โกเบ

Writer & Photographer

Avatar

เชฟแวน-เฉลิมพล โรหิตรัตนะ

เชฟผู้สนใจการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น และต้องการสร้างวิถีการกินที่ดีผ่านสิ่งที่ตัวเองถนัดคือการทำอาหาร ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้าน Navan Navan