3 กุมภาพันธ์ 2018
13 K

Scene 1

“ชวนฉันมากินข้าว จะจีบฉันเหรอ?”

หญิงสาวพูดหน้าตาเรียบเฉย ชายหนุ่มตักข้าวเข้าปาก สบตาเธอยิ้มๆ เหนือโต๊ะดินเนอร์บรรยากาศโรแมนติก

“ไง จีบได้ป้ะ?”

เธอยิ้มขวยเขิน เขายิ้มตาม รอยยิ้มทั้งคู่สว่างเจิดจ้าบนหน้าจอขนาด 8 เมตรข้างศาลหลักเมืองขอนแก่น พาเอาคนดูที่เงยหน้ามองจากลานฉายหนังกลางแปลงยิ้มตามไปด้วย ค่ำคืนนี้ความรักหนุ่มสาวผลิบานจากเครื่องฉายไฟล์ดิจิทัลบนรถกระบะสีสดฉูดฉาด ข้างรถเพนต์ชื่อ ‘ประดิษฐ์ฟิล์ม’ ตัวเบ้อเริ่ม

หนังกลางแปลง

ประดิษฐ์ฟิล์ม

ประดิษฐ์ แก้วสิมมา เจ้าของบริการฉายหนังเร่และหนังกลางแปลงยืนดูหนังอยู่ข้าง หมวย ผู้เป็นภรรยา ทีมงานพร้อมสรรพรวมตัวกันอยู่รอบรถกระบะ หน่วยหนังเคลื่อนที่นี้ประจำอยู่ที่ศาลหลักเมืองขอนแก่น เพราะคนที่นี่ชอบบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยการฉายหนังกลางแปลงให้เจ้าพ่อศาลหลักเมือง มีตั้งแต่สัญญาว่าจะฉาย 2 – 3 เรื่องยามหัวค่ำ ไปจนยิงยาว 9 เรื่องยันสว่าง เหตุการณ์สมหวังน่ายินดีอย่างเจ้านายเลื่อนตำแหน่งให้ ลูกสาวสอบได้ ลูกชายติดตำรวจ ทำให้ข้างศาลเจ้ามีความบันเทิงจากไทย จีน ฝรั่ง มาฉายฟรีอย่างสม่ำเสมอ

คืนนี้เป็นคิวของหนังรักไทย ฝนโปรยบางๆ ส่งผลให้ผู้ชมบางตา แสงจากหน้าจอสะท้อนลงบนใบหน้าเด็กและผู้ใหญ่ที่ดูหนังอย่างตั้งอกตั้งใจ

“ปูเสื่อดูด้วยกัน สนุกกว่าดูคนเดียวนะ”

ชายวัยกลางคนมองกลุ่มผู้ชมแล้วเอ่ยเบาๆ

วันนี้ไม่ใช่วันที่คึกคักสุดของบริษัทหนังกลางแปลง พูดกันตามตรง ยุคเรืองรองของคาราวานหนังเคลื่อนที่จบลงไปแล้ว ในวันที่ความบันเทิงมหาศาลบรรจุตัวอยู่ในโทรศัพท์มือถือเครื่องเล็ก ธุรกิจฉายภาพเคลื่อนไหวขนาดยักษ์ปรับตัวไปเดินสายฉายตามงานเทศกาล งานบุญ และตำบลเล็กๆ ทั่วภาคอีสาน เสน่ห์หนังกลางแปลงไม่ได้อยู่ที่ความสะดวกสบาย กลิ่นอายอดีตและบรรยากาศชุมนุมดูหนังกลางแจ้งต่างหากที่ทำให้กิจกรรมนี้ชวนถวิลหา

เหลือบตามองในจอ เรื่องรักหวานฉ่ำดำเนินต่อไป แต่ตอนนี้ขอตัดฉากปิดเครื่องฉาย แล้วเปิดซีนใหม่ที่ม้วนฟิล์มกรอกลับ ยามกลางวันที่สำนักงานใหญ่ของประดิษฐ์ฟิล์ม สองสามีภรรยาถ่ายทอดความรุ่งโรจน์ของหนังเร่ทั่วอีสานตั้งแต่ยุค 70 ผ่านเรื่องราวของประดิษฐ์ในวัยหนุ่มคะนอง

ประดิษฐ์ฟิล์ม

 

Scene 2

“ก่อนมาฉายหนัง ผมเป็นคนคุมเสียงหนังเงียบตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ทำหน้าที่เปิดเสียงพากย์ให้ตรงกับปากตัวละคร เราจะมีม้วนเทปคาสเซตต์ โรงหนังทุกโรงจะมีเครื่องเปิดเทปนี้คู่กับเครื่องฉายฟิล์ม 16 มม. บริษัทจะทำตารางให้เราเดินสาย ขอนแก่นรามา ราชา ปริ๊นซ์ เพชรสยาม บันเทิงจิต ไปอุดร นครพนม มุกดาหาร พูดง่ายๆ ว่าภาคอีสานมีโรงหนังที่ไหน ผมไปหมด”

เจ้าของบริการฉายหนังกล่าว ดวงตาเป็นประกาย น้ำเสียงสนุกสนาน

โปสเตอร์หนัง

โปสเตอร์หนัง

“เมื่อก่อนคนดูหนังดี ที่กันดารแค่ไหนก็มีโรงหนังเสมอ ไปไหนคนก็อยากมาดูหนังกับเรา อย่างหนังชอว์บราเดอร์สมาไทยแล้วเต็มทุกโรง ตั๋วราคาสิบบาท สิบห้าบาท ต่อมาก็หนังเฉินหลง คนนี้เดินทางทั่วภาคอีสาน ผมก็เป็นคอหนังเฉินหลง ส่วนหนังไทยต้องยกให้สรพงษ์ ชาตรี เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน แผลเก่า ได้รับความนิยมมาก ไปที่ไหนก็โรงแตก”

ความสนุกจากการเดินทางไปสร้างความบันเทิงทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือดำเนินต่อเนื่องไปหลายปี จนกระทั่งเมื่อยุคหนังเงียบจบลงเพราะสู้ความนิยมเสียงในฟิล์มที่เข้ามากับฟิล์ม 35 มม. ไม่ไหว หน้าที่คุมเสียงพากย์ไม่จำเป็นอีกต่อไปเพราะนักแสดงพูดด้วยเสียงของตัวเอง ประดิษฐ์จึงหันมาเปิดบริการฉายหนังเคลื่อนที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2537

 

Scene 3

หนังกลางแปลง

หนังกลางแปลง

ยุคต่อมาคือยุคทองของประดิษฐ์ฟิล์มแห่งขอนแก่น และบริการฉายหนังฟิล์มทั่วภาคอีสาน เจ้าของกิจการแบ่งประเภทหนังเป็น 2 แบบ คือหนังเร่ที่เก็บเงินผู้ชม และหนังกลางแปลงที่เจ้าภาพจ้างเหมาให้คนดูฟรี

“โรงหนังเร่จะไปตั้งจอ ล้อมผ้า ปิดเป็นวิกตามหมู่บ้านนั้น อำเภอนี้ ใครอยากดูก็จ่ายเงินค่าตั๋วก่อนถึงจะเข้ามาดูในผ้าได้ เราฉายหนังอย่าง นางนาก พระนเรศวรฯ เรื่องที่ดังที่สุดของเราคือ องค์บาก หนังที่จา พนม แสดงเรื่องแรก เขาเกิดเพราะเรื่องนี้ คุณพนา ฤทธิไกร ผู้กำกับก็เกิดเพราะหนังเรื่องนี้ และผมก็ได้เกิด ได้ชื่อเสียงเงินทองก็เพราะหนังเรื่องนี้เหมือนกัน ผมซื้อสิทธิ์จากสหมงคลฟิล์มมาฉายที่ขอนแก่นกับมหาสารคาม ได้รับความนิยมมาก”

วิธีการทำงานของหนังเร่เริ่มจากการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 – 3 วัน ทีมงานจะติดป้ายโฆษณาหนัง บอกวัน เวลา และสถานที่ไว้ในหมู่บ้าน จากนั้นก็ใช้รถแห่ติดเครื่องเสียงออกไปวนประกาศ ระหว่างที่รถเร่ออกไปตั้งจอฉาย ช่วงขาขึ้นที่สุดอย่างองค์บาก ประดิษฐ์เล่าว่าเขาต้องใช้รถแห่ 2 – 3 คัน และออกรถเร่ 4 – 5 หน่วยในคืนเดียว แม้เก็บค่าตั๋วราคาถูก แต่หนังแอ็กชั่นไทยใน พ.ศ. 2546 เรื่องนี้ทำให้เงินให้เขาถึงหลักล้านบาท

รูปถ่าย

รูปถ่าย

“หนังเร่จบไปก่อนหนังกลางแปลง สมัยนี้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่รายได้จากค่าตั๋วลดลง แต่ถ้าหนังเร่แรงจริง รายได้จะดีกว่าหนังกลางแปลงมาก เพราะหนังทำเงินฉายได้หลายๆ รอบในคืนเดียว สมมติเราเร่ 5 หน่วย เงินก็เข้ามาจากทุกจอ ตกเย็นผมไปขายตั๋วจอหนึ่ง คุณนายไปจอหนึ่ง ลูกไปอีกจอ วิถีหนังเร่เป็นแบบนี้”

ประดิษฐ์เล่าว่าบางจังหวัด เช่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยังมีการเร่หนังอยู่บ้างในปัจจุบัน แต่ก็เหลือน้อยเต็มที ส่วนใหญ่จะเหลือแต่หนังกลางแปลงที่เจ้าภาพจ้างบริการหนังไปฉายตามงานเทศกาล งานบวช งานบุญแจกข้าว งานงิ้ว โดยหนังที่ถูกใจเจ้าภาพยุคก่อนคือหนังที่เฉินหลงหรือหลิวเต๋อหัวร่วมแสดง แต่ยุคนี้เน้นหนังฮอลลีวูด

พื้นที่ลิขสิทธิ์ของประดิษฐ์ฟิล์มคือจังหวัดขอนแก่นและกาฬสินธุ์ มีบริการจอให้เลือกตั้งแต่ขนาด 8 – 16 เมตร ให้ดูกันอย่างจุใจ ส่วนใหญ่แล้วธุรกิจนี้จะมีงานชุกชุมช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และช่วงปลายปี

“ตอนนี้ทั้งอีสานมีบริการหนังทั้งเล็กทั้งใหญ่หลายร้อยบริการ เฉพาะในขอนแก่นก็ราวๆ 20 บริการ ดูเหมือนเยอะ แต่ส่วนใหญ่เป็นเจ้าเล็กๆ ฉายในพื้นที่ใกล้บ้านเขา คนเลิกกิจการไปเยอะมาก”

สมุด

ประดิษฐ์ฟิล์ม

เจ้าของบริการหนังเก่าแก่อธิบายว่ายุคฟิล์มจบลงใน พ.ศ. 2556 ไม่ใช่เพราะอุปกรณ์เก่าแก่เสียหาย แต่เพราะวงการภาพยนตร์เลิกใช้ฟิล์ม แล้วหันไปใช้การถ่ายทำแบบดิจิทัลแทน ทำให้ไม่มีฟิล์มหนังใหม่ๆ มาฉายอีกต่อไป แต่ถ้าเจ้าภาพยังต้องการดูหนังจากฟิล์มอยู่ ประดิษฐ์ฟิล์มก็จัดฉายหนังเก่าๆ ให้ได้ ม้วนฟิล์มหนังมากมายที่เคยสั่งซื้อจากกรุงเทพฯ บรรจุอยู่ในกล่องสีเขียวมากมายในออฟฟิศ ซึ่งตัวเขาเคยนำมาฉายเองและแบ่งปันให้คนอื่นเช่าฉาย

“สมัยก่อน 2 อาทิตย์หลังหนังฉายที่กรุงเทพฯ เราจะได้ก็อปปี้หนังใส่ลังกระดาษมา เราก็มาตัดต่อใส่กล่องสีเขียว แล้วก็กรอหนัง ม้วนใส่ลีนขาว สมมติหนังเฉินหลงมี 5 ม้วนก็ตัดต่อใส่ 5 ลีน”

ฟิล์มหนัง

เครื่องฉายหนัง

“ฟิล์มยุคเก่าถ้าตัดต่อไม่ดี ตอนสาวหน้างานจะขาด ภาพจะสะดุด แต่ในยุคฟิล์มทองก็ไม่ค่อยขาดแล้วนะครับ ถ้าขาดก็ซ่อมกันหน้างาน”

ประดิษฐ์สาธิตการใช้อุปกรณ์อย่างทะนุถนอม แล้วยกเครื่องฉายหนังกลมๆ รุ่นเก่าแบบใส่ถ่านออกมาให้ดู อุปกรณ์ฉายฟิล์มลงบนหน้าจอยังคงสภาพดี และยังเป็นเครื่องเตือนความทรงจำถึงวันเวลาเก่าๆ ที่งดงาม

“ตอนหนังดังๆ เข้ามาสนุกน่าดูครับ คนดูเต็มโรง เราก็มีความสุข”

เครื่องฉายหนัง

โปสเตอร์หนัง

 

Scene 4

นอกจากคาราวานหนังเร่ ประดิษฐ์ยังลงทุนกับธุรกิจโรงหนังสแตนด์อะโลนหลายแห่งในภาคอีสาน โดยสำรวจสภาพโรงหนังเก่า กระบวนการซื้อฟิล์มจากสายหนัง และจำนวนประชากร ก่อนจะตัดสินใจซื้อโรงหนังมาปรับปรุง เช่น โรงหนังเจ้าพระยาขนาด 400 กว่าที่นั่งที่จังหวัดชัยภูมิ โรงหนังปารีสขนาด 500 กว่าที่นั่งที่จังหวัดสกลนคร และโรงภาพยนตร์ปิรามิด อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ที่เสริมเก้าอี้ได้ถึง 700 ที่นั่ง

“โรงหนังเฉลิม ป. ที่อำเภอปากช่อง เป็นโรงเดี่ยว 500 กว่าที่นั่ง ตอนแรกเป็นเก้าอี้ไม้ ผมไปปรับปรุงใหม่ ลงทุนสองสามล้าน เปลี่ยนเป็นเก้าอี้กำมะหยี่ใหม่หมดและติดแอร์ คนปากช่องชอบดูหนังครับ ที่นี่มีโรงงานเยอะ โรงหนังเฉลิม ป. เป็นที่สุดท้ายที่ผมเลิกทำ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ราคาตั๋วสุดท้ายอยู่ที่ 30 บาท”

รูปถ่าย

รูปถ่าย

ตั๋วหนัง

อดีตเจ้าของโรงหนังเปิดอัลบั้มภาพถ่ายฟิล์มประกอบเรื่องเล่า คู่แข่งสำคัญของโรงหนังเดี่ยวคือห้างสรรพสินค้าที่มีโรงหนังหลายโรง ได้ปันส่วนก๊อปปี้หนังมากกว่าและเร็วกว่ามาก ในช่วงท้ายๆ ของยุคฟิล์มที่จำนวนฟิล์มน้อยลงทุกที โรงหนังเดี่ยวจึงทยอยปิดตัวลงไปโดยปริยาย

แม้ไม่คุ้นเคย ประดิษฐ์ฟิล์มและบริการหนังรายย่อยอื่นๆ ได้ก้าวเท้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว

โปสเตอร์หนัง

Scene 5

ในยุคเทคโนโลยีใหม่ การอคอยภาพยนตร์ต้องใช้เวลานานขึ้นเป็น 2 – 3 เดือน หลังหนังลาโรงทั่วประเทศแล้ว บริการฉายหนังจึงได้สิทธิ์ซื้อหนังใส่ hard disk จากสายหนังมาฉาย ปัจจุบันประดิษฐ์ฟิล์มจะซื้อหนังราว 20 กว่าเรื่องต่อปี ไม่มากมายเท่ายุคฟิล์มที่ซื้อหนังนับร้อยๆ เรื่อง แต่เพียงพอสำหรับขบวนความสุขเล็กๆ ที่เดินทางไปจอดฉายให้เจ้าภาพยามค่ำคืน เคล็ดลับของนักฉายหนังคือจัดหนังตลกไว้เรื่องแรกๆ เพื่อให้คนหัวเราะให้หนำใจ ก่อนจะฉายเรื่องที่อ่อนกว่าในช่วงที่ผู้ชมเริ่มทยอยกลับบ้านกันแล้ว

แดดที่สาดเข้ามาย้อมโปสเตอร์หนังเต็มกำแพงสำนักงานจางลงทุกที ทีมงานเตรียมอุปกรณ์ขึ้นกระบะเพื่อไปฉายหนังที่ศาลหลักเมืองขอนแก่นตามเวลาที่กำหนดไว้ ก่อนแยกย้ายกันเดินทางไปดูหนังในฐานะคนฉายและคนดู ประดิษฐ์เล่าเรื่องที่น่าดีใจเรื่องหนึ่งให้ฟัง

ประดิษฐ์ฟิล์ม

หลังจากเห็นความสำเร็จของหนังท้องถิ่นที่โดนใจตลาดอีสานอย่าง ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ กลุ่มบริการหนังแห่งภาคอีสานก็จับมือกันสนับสนุนการทำหนังเรื่อง ‘ยองบ่าง’ จากวงดนตรีชื่อเดียวกัน และจัดฉายหนังเรื่องนี้ในเดือนพฤศจิกายน 2560

หนังเล็กๆ เรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย แต่สำหรับคนฉายหนังรายย่อยในภาคอีสาน มันเป็นสัญญาณว่าพวกเขายังคงมีชีวิต และภาพในจอหนังของพวกเขายังคงเคลื่อนไหว

โปสเตอร์หนัง

เครื่องฉายหนัง

 

ประดิษฐ์ฟิล์ม

ติดต่อ 081-708-5696, 089-274-0990

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล