3 กุมภาพันธ์ 2018
3 K

ในยุคที่การเล่นบอร์ดเกมหรือเกมกระดานกำลังเฟื่องฟู พวกเราซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มชื่อ Transformation Game Thailand ได้นำ Planetary Game บอร์ดเกมที่มีคอนเซปต์น่าสนใจมากจากสกอตแลนด์มาให้คนในเมืองไทยได้เล่นเป็นครั้งแรก

ความพิเศษของ Planetary Game คือ มันเป็นบอร์ดเกมที่มีกระดานใหญ่ชนิดปูได้เต็ม 1 ห้องประชุม ใช้ตัวของผู้เล่นแต่ละคนแทนหมาก และการเล่นเกมจะช่วยให้คนเล่นได้รู้จักตัวตนและศักยภาพของตัวเองมากขึ้น นำไปสู่การช่วยเหลือให้ตัวเองและโลกดีกว่าเดิมได้

Planetary Game Planetary Game

Planetary Game ถือกำเนิดขึ้นบนโลกมานานกว่า 40 ปีแล้ว เป็นภาคขยายของ Transformation Game ซึ่งปัจจุบันมีการแปลไปเป็นภาษาต่างๆ กว่า 10 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย มันถูกคิดค้นโดยชุมชนชื่อ ฟินฮอร์น ในสกอตแลนด์ ซึ่งสนใจการเติบโตเชิงจิตวิญญานและการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกมนี้ถูกออกแบบให้มีผู้ร่วมเล่นได้ตั้งแต่ 60-120 คนในแต่ละรอบ เพราะต้องการให้คนทั้งชุมชนร่วมเล่นเกมเดียวกันได้

การเล่นเกมเริ่มจากการตั้งเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วเชื่อมโยงไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายนอก  เช่น ในการเล่นที่เมืองไทยครั้งนี้มีเป้าหมายว่า ด้วยพลังแห่งความร่วมมือ ผู้เล่นทุกคนตั้งใจจะเป็นหนึ่งเดียวกับตัวตนที่แท้จริง การแสดงออก และการดำรงอยู่ของตัวเอง ตั้งใจจะเชื่อมสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับจิตวิญญาณของโลกและประเทศชาติ และตั้งใจจะสร้างความเป็นไปได้ที่จะเกิดการฟื้นคืนสภาพ ความไว้วางใจ และความหวัง (In a spirit of partnership we intend to become coherent in our authenticity, expression and presence, to deepen our engagement with the Soul of the World and the Souls of our Nations, and to shape a future of resilience, trust and hope.)

จากนั้น ผู้เล่นจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อย เช่น ‘ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’  ‘ความสัมพันธ์และครอบครัว’ และ ‘ความเป็นผู้นำและการปกครอง’ ก่อนจะตั้งเป้าหมายส่วนตัวที่อยากได้จากเกมนี้ แล้วเลือกรับบทบาทที่ต่างกันออกไป เช่น เป็นผู้เล่น เป็น ‘ความเข้าใจ’ (insight) ซึ่งทำหน้าที่ช่วยให้ผู้ที่ร่วมเล่นอยู่เข้าใจประเด็นในแต่ละช่วงของเกมมากขึ้น เป็น ‘ความถดถอย’ (setback) ที่ช่วยให้ผู้เล่นคนอื่นมองเห็นอุปสรรคในแต่ละช่วงของเกม หรือเป็นนางฟ้า (angel) ที่ช่วยนั่งส่งพลังสนับสนุนคนอื่นในกลุ่ม

Planetary Game Planetary Game

เมื่อเริ่มเกม ผู้เล่นแต่ละคนจะทอยลูกเต๋ายักษ์ หรือใช้สัญชาตญาน (intuition) และเจตจำนงเสรี (freewill) ในการเลือกเดิน เมื่อไปตกช่องไหน แต่ละช่องจะมีกิจกรรมให้ผู้เล่นคนนั้นหรือผู้เล่นทั้งหมดทำ เช่น เมื่อเดินมาถึงช่อง ‘ความเข้าใจ’ ที่บอกให้ผู้เล่นเล่าเหตุการณ์ที่ตัวเองได้เปิดใจ (openness) ผู้เล่นก็จะได้ย้อนกลับไปนึกถึงช่วงเวลานั้น มองหาว่าตัวเองได้เรียนรู้เข้าใจอะไรจากสิ่งที่เกิด และความเข้าใจนั้นเป็นประโยชน์ยังไงกับเป้าหมายของกลุ่มและเป้าหมายส่วนตัวที่ตั้งไว้ก่อนเริ่มเล่น วิธีนี้ช่วยให้ไม่ว่าช่องที่ผู้เล่นคนนั้นเดินไปตกจะเป็นช่องสำหรับกิจกรรมเดี่ยวหรือกลุ่ม ทุกคนก็จะได้ทบทวน ค้นพบสิ่งต่างๆ จากโจทย์ที่ผู้เล่นคนนั้นได้รับ

ขณะที่บอร์ดเกมอื่นๆ อาจชวนคุณเล่นเพื่อสนุก พาสำรวจเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ หรือจำลองการบริหารทรัพยากร การเล่น Planetary Game แต่ละครั้ง (ซึ่งใช้เวลานานหลายวัน) เป็นเหมือนการจำลองภาพชีวิตให้เราได้เอาแว่นขยายส่องดูแต่ละส่วน ได้ทบทวนว่าในการเดินบนเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา เราได้สั่งสมทรัพยากร ความเข้าใจอะไรบ้าง เพราะบางทีเมื่อชีวิตราบรื่นดี เราก็ไม่ทันได้สังเกตว่าตัวเองมาถึงตรงนี้ได้อย่างไร หรือเมื่อตกหลุมก็มืดมนเกินกว่าจะมองเห็นอะไร

การได้มาค่อยๆ ทบทวนชีวิตตัวเองผ่านเกมทำให้สิ่งต่างๆ กระจ่างชัดขึ้น บทเรียนที่ชีวิตมอบให้ร้อยเรียงกันเป็นความหมายใหม่ที่ช่วยให้เราเอาไปใช้ต่อได้ในอนาคต

Planetary Game Planetary Game

Planetary Game รอบที่พวกเรานำเข้ามาในเมืองไทยใช้เวลาเล่น 7 วัน มีผู้เข้าร่วมทั่วโลกรวมผู้จัดทั้งหมด 46 ชีวิต มาจากทั้งจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ อิตาลี สกอตแลนด์ อเมริกา และแน่นอน เมืองไทยบ้านเรา (ความพิเศษที่เพิ่มมาคือ เรามี Joy Drake Kathy Tyler และ Mary Inglis ผู้สร้างเกมนี้และเวอร์ชันอื่นๆ ของเกมมาร่วมนำเล่นด้วย)

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่น่าสนใจในการเล่นเกมรอบนี้คือ มีผู้เล่นคนหนึ่งตกลงในช่อง ‘ภาวะซึมเศร้า’ (depression) เธอได้ทบทวนและแบ่งปันประสบการณ์ความซึมเศร้าของตัวเองที่ผ่านมา โดยพูดถึงช่วงที่เธอป่วยเป็นมะเร็ง จนถึงวันหนึ่งที่เคยคิดอยากจบชีวิต เธอเล่าว่า เมื่อถึงจุดนั้นเธอตกใจในสิ่งที่คิดและหาทางป้องกันไม่ให้ตัวเองทำตามสิ่งที่อยู่ในหัว จากนั้น เกมดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงที่ผู้เล่นคนนี้มีโอกาสชำระล้างความซึมเศร้าของตัวเอง ด้วยการใช้เข็มกลัด ‘ความเชื่อมโยงทางใจ’ (heart connections) ที่ได้รับระหว่างการเล่นเกม เธอได้ลองนึกทบทวนว่า ความเชื่อมโยงทางจิตใจช่วยให้เธอออกมาจากความซึมเศร้าได้อย่างไร แล้วเล่าว่าเธอรอดพ้นจากภาวะหดหู่อยากฆ่าตัวตายได้ด้วยการกลับมาอยู่กับตัวเอง รับรู้ถึงคุณค่าของชีวิต ตระหนักว่าการยังมีลมหายใจอยู่นั้นมีคุณค่ามาก

จากนั้น เธอก็ชวนให้ทุกคนลุกขึ้นมาเต้นรำเพื่อเฉลิมฉลองชีวิต! เป็นหนึ่งในช่วงไฮไลต์ที่ทุกคนได้ลุกขึ้นมาร่วมกันเต้นรำ เชื่อมสัมพันธ์กับตัวเอง กับผู้คนรอบตัว และกับสิ่งที่เรามองเห็นว่ามีคุณค่าและมีความหมาย

Planetary Game Planetary Game

แน่นอนว่า สุดท้ายแล้วการเล่น Planetary Game ทุกครั้งจะต้องจบลง แต่ประสบการณ์การเล่นเกมนี้น่าจะยังคงอยู่กับผู้เล่นทุกคน และที่จริงแล้ว ชีวิตก็เป็นเหมือนเกมที่ดำเนินไป มีสถานการณ์ โอกาส และอุปสรรค ให้ได้พบเจออยู่ทุกวัน มีทางเลือกมากมายอยู่ตรงหน้า

อยู่ที่ว่าเราจะเลือกอะไร และจะนำบทเรียนที่ได้ไปร่วมสร้างอนาคตแบบไหนให้เกิดขึ้น

Planetary Game

www.facebook.com/TransformationGameThailand/
planetarygamethailand.com/

Writer & Photographer

Avatar

กฤตยา ศรีสรรพกิจ

กระบวนกร Transformation Game และเครื่องมืออื่นๆ ในการเข้าใจตัวเอง เพื่อค้นพบชีวิตที่มีความสุขและเป็นประโยชน์ เพื่อให้เรารักตัวเองและโลกได้มากขึ้น