ครอบครัวคือสถาบันพื้นฐานที่แสนสำคัญของสังคม แต่ในสหรัฐอเมริกามีครอบครัวมากมายที่ไม่สมบูรณ์เพราะสมาชิกติดอยู่ในเรือนจำ ประเทศนี้มีนักโทษอยู่มากถึง 2.3 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 1 ใน 4 ของประชากรนักโทษทั่วโลก ส่งผลให้เฉพาะในเมืองนิวยอร์กมีเด็ก 105,000 คนที่มีผู้ปกครองอยู่ในเรือนจำ ที่น่าสนใจคือ ในอเมริกามีระบบการเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาในเรือนจำผ่านวิดีโอคอล (Televisiting) ซึ่งทำให้ในบางครั้งผู้ต้องหาและญาติได้เจอกันผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ทั้งที่ทั้งคู่ห่างกันเพียงแค่กำแพงกั้น

ถ้าจะพูดกันตามจริงโปรแกรม Televisiting นี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้เท่าไหร่นัก เนื่องจากมีข้อจำกัดมาก อาทิ ต้องทำการนัดหมายล่วงหน้าโดยใช้เวลานาน (งานระบบราชการก็อย่างที่รู้กันน่ะนะ) นัดได้เพียงอาทิตย์ละ 1 ครั้ง นอกจากนั้น การเดินทางยังลำบากต่อญาติและมีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากทัณฑสถานมักอยู่ไกล และไม่มีระบบขนส่งสาธารณะไปถึง (ซึ่งส่วนมากครอบครัวของผู้ต้องหามักมีฐานะไม่ดี) อีกทั้งบรรยากาศไม่เหมาะสำหรับเด็ก และที่สำคัญคือ มีการตรวจ ID ซึ่งนับเป็นกำแพงกั้นสูงที่สุด เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าในอเมริกามีคนจำนวนมากที่ undocumented ทำให้มีญาติของผู้ต้องหาจำนวนมากไม่กล้าไปเยี่ยมพ่อแม่หรือลูกเพราะกลัวถูกจับไปด้วย

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว Nick Higgins (นิค ฮิกกินส์) ชายผู้หลงรักในพลังของการอ่านและงานบริการห้องสมุดเพื่อสาธารณะ ซึ่งทำงานให้กับห้องสมุดเมืองนิวยอร์ก เขามองเห็นโอกาสในการนำระบบ Televisiting มาให้บริการที่ห้องสมุด เพื่อส่งเสริมให้ห้องสมุดสาธารณะกลายเป็นพื้นที่ให้พ่อ แม่ ลูก ได้ใช้เวลาอ่านหนังสือร่วมกัน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะถูกกั้นด้วยลูกกรงก็ตามที

ห้องสมุดเมืองบรู๊กลิน ห้องสมุดเมืองบรู๊กลิน

นิคเสนอไอเดียนี้ให้ห้องสมุดเมืองนิวยอร์กเป็นที่แรก แต่กลับได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากห้องสมุดไม่อยากมีส่วนร่วมกับระบบยุติธรรมที่ยุ่งยากและซับซ้อน แต่การปฏิเสธครั้งนั้นกลับเป็นจุดเริ่มต้นให้นิคเอาจริงกับการผลักดันไอเดียนี้ เขาตัดสินใจลาออกเพื่อไปเริ่มงานที่ห้องสมุดเมืองบรู๊กลิน ห้องสมุดที่อ้าแขนรับไอเดียของเขา นิกเล่าให้ฟังว่า มีเจ้าหน้าที่ห้องสมุดเจอผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้องสมุด เพื่อขอให้ช่วยตามหาลูกชาย ตอนแรกเจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ไปแจ้งความกับตำรวจเรื่องคนหาย แต่เมื่อได้คุยรายละเอียด จึงพบว่าที่จริงแล้วลูกชายติดคุก เธออยากจะเขียนจดหมายถึงลูกชาย แต่ไม่รู้ว่าจะส่งให้ลูกชายได้ยังไง เหตุการณ์นี้ทำให้เขาประทับใจว่าห้องสมุดได้กลายเป็นพื้นที่ของทุกคน เป็นที่แรกที่ทุกคนจะกล้าเดินเข้ามาหาเพื่อขอความช่วยเหลืออย่างที่เขาตั้งใจ และเมื่อได้รับความไว้ใจขนาดนี้แล้วนั้น มันจึงเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้นิคมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ห้องสมุดที่เขารักได้เข้ามามีบทบาทในระบบยุติธรรมมากขึ้น

ในปี 2014 โครงการ Daddy & Me, Mommy & Me ได้เริ่มต้นขึ้นที่ Rikers Island (ไรเคอร์ส ไอส์แลนด์)

มันคือโปรแกรมเทรนนิ่งสำหรับพ่อแม่ที่อยู่ในเรือนจำ เปิดโอกาสให้พวกเขาร่วมพัฒนาการเรียนรู้ของลูก โดยห้องสมุดเมืองบรู๊กลินจะจัดสรรหนังสือเด็กไปให้ในเรือนจำและให้พวกเขาอัดวิดีโออ่านหนังสือ หลังจากนั้นลูกของพวกเขาจะได้มาดูวิดีโอนี้ที่ห้องสมุดเมืองบรู๊กลิน

หลังจากนั้น โครงการก็ได้พัฒนาสู่ TeleStory โปรแกรมที่เปิดให้ครอบครัวที่มีสมาชิกอยู่ในเรือนจำได้มาใช้งานระบบ Televisiting ที่ห้องสมุด โปรแกรมนี้เปิดโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ในเรือนจำได้มีเวลาอ่านหนังสือ พูดคุย ร้องเพลงกับลูกๆ โดยเมื่อเด็กมาถึงห้องสมุดจะได้เข้าห้องที่เป็นกึ่งส่วนตัว มีหนังสือเป็นเซ็ตเดียวกันกับที่ทางห้องสมุดจัดไว้ที่เรือนจำ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านหนังสือไปพร้อมๆ กับลูก มีของเล่น มีโทรทัศน์ที่เชื่อมต่อกับห้องที่ไรเคอร์ส ไอส์แลนด์ รวมถึงมีพี่เลี้ยงคอยดูแลในกรณีผู้ปกครองที่มาด้วยไม่ต้องการเข้าร่วม ห้องที่จัดให้มีผนังเป็นกระจก เพื่อให้คนอื่นมองเห็นกิจกรรมในห้องและกิจกรรมอื่นๆ ในห้องสมุดได้ นิคให้เหตุผลการออกแบบห้องไว้อย่างน่ารักว่า “ไม่สำคัญเลยว่าผู้ปกครองของคุณจะอยู่ที่ไหน คุณมาห้องสมุดเพื่อจะได้อ่านหนังสือร่วมกับคนอื่น” นอกจากนั้น ห้องสมุดยังเปิดให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในเรือนจำได้เจอลูกผ่านระบบ video conference เช่นกัน

TeleStory TeleStory TeleStory

 

ปัจจุบัน นิคดำรงตำแหน่ง Director of Outreach Services ที่ Brooklyn Public Library และเป็นแรงผลักดันสำคัญของโครงการ TeleStory เขากล่าวว่าตั้งใจออกแบบให้ TeleStory เป็นโปรแกรมสำหรับครอบครัว ส่งเสริมให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของห้องสมุดอยู่แล้ว เพียงแค่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครืองมือใหม่ และมีข้อแม้เพียงอย่างเดียวคือ เด็กทุกคนต้องรับรู้ว่าผู้ปกครองของเขานั้นอยู่ในเรือนจำ ไม่มีการโกหกเด็ก โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการมาลงทะเบียนและขอนัดใช้บริการได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เพียงแค่แจ้งล่วงหน้าภายใน 24 ชม. (เขาต้องการให้มันรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ วันนี้ถ้าแจ้งก่อนบ่าย 3 โมงจะเข้าพบวันรุ่งขึ้นได้เลย) และเป็นบริการฟรี นิคกล่าวเสริมว่า เวลาที่ดีที่สุดคือช่วงบ่าย เนื่องจากเป็นช่วงที่ระบบ Televisiting ไม่ค่อยมีคนใช้งาน (ในกรณีเพื่อติดต่อเรื่องกฎหมาย) ซึ่งตรงกับเวลาหลังเลิกเรียนของเด็กๆ พอดี ทำให้เด็กๆ ได้มีเวลาอยู่กับพ่อแม่โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องไปทำกิจกรรมอื่นต่อ และได้เจอผู้ปกครองหลังเลิกเรียนเหมือนเด็กทั่วไปอีกด้วย

ด้วยความที่ห้องสมุดเป็นพื้นที่สาธารณะ จึงยินดีต้อนรับทุกเชื้อชาติ ทุกสีผิว ทุกภาษา ไม่ว่าจะมีเอกสารหรือไม่ ทำให้โปรแกรมนี้เข้าถึงทุกคนได้อย่างแท้จริง โดยในปีนี้มีผู้ขอเข้าใช้บริการกว่า 600 ราย และภายในระยะเวลา 5 ปี โครงการ TeleStory ได้ขยายไปสู่ห้องสมุดทั้ง 12 สาขาทั่วเมืองบรู๊กลิน และเริ่มมี video booth ในห้องสมุดเมืองควีนส์ และห้องสมุดเมืองนิวยอร์ก (ห้องสมุดที่เคยปฏิเสธโปรเจกต์นี้) ในเขตแมนฮัตตัน บรองซ์ และสแตเทน ไอส์แลนด์ แล้ว  ก้าวต่อไปคือ การขยายไปสู่รัฐอื่นในอเมริกา และมากกว่านั้นคือ การต่อสู้ไม่ให้สัมปทานระบบวิดีโอนี้ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มนายทุน เพื่อปกป้องให้สิ่งที่ควรเป็นของทุกคนยังเป็นของทุกคนอย่างแท้จริง

TeleStory TeleStory

เป็นอีกครั้งที่ทำให้เราเชื่อว่า ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ หากคุณเชื่อมั่นและลงมือทำ โครงการนี้เปลี่ยนมุมมองของเราต่อนิยามคำว่าพื้นที่สาธารณะไปอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยมองว่าพื้นที่สาธาณะคือ สวน ทางเดิน พื้นที่เปิดให้ทุกคนได้มาใช้พื้นที่ร่วมกัน โครงการนี้ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า ในคำว่า “ทุกคน” น้ันมีใครรวมอยู่บ้าง และเมื่อพูดถึงห้องสมุดสำหรับทุกคน ใครบ้างที่มาห้องสมุดและมาทำอะไร ห้องสมุดบรู๊กลินเป็นโมเดลของการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมโดยการคิดผ่านปัญหา เปลี่ยนคำถามจาก “ห้องสมุดควรจะเป็นอะไร” มาเป็น “ห้องสมุดจะทำอะไรได้บ้าง” โดยการเริ่มฟังความต้องการจากคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

 

ห้องสมุดเมืองบรู๊กลินยังมีโปรแกรมอื่นอีกมากมาย จนการอ่านหนังสือแทบจะกลายเป็นเรื่องรองไปเลย อาทิ โปรแกรมคาราโอเกะสอนภาษาอังกฤษพื้นฐานสำหรับชาวต่างชาติ โปรแกรมโยนโบว์ลิงสำหรับผู้สูงอายุ โปรแกรมสอนการทำเอกสารราชการและการทำภาษี เป็นต้น สนใจติดตามต่อได้ที่ www.bklynlibrary.org

อ้างอิง: ocfs.ny.gov

Writer & Photographer

Avatar

ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

บัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังศึกษาต่อสาขา design for social innovation ที่สถาบัน School of Visual Art ในนิวยอร์ก สนใจงานศิลปะ และการออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องงานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสังคม