22 ธันวาคม 2017
15 K

ปี 1980 แบรนด์เสื้อผ้ามินิมอลเรียบเก๋สำหรับผู้ชายถือกำเนิดขึ้นใจกลางสยามเซ็นเตอร์

ภาณุ อิงคะวัต และกลุ่มเพื่อนที่ช่วยกันก่อตั้งร้านเล็กๆ ไม่ใช่แฟชั่นดีไซเนอร์ด้วยซ้ำ แต่พวกเขาเข้าใจศิลปะ วงการโฆษณา และเข้าใจลูกค้าเป็นอย่างดี ความคิดสร้างสรรค์ในทุกอณูของเสื้อผ้าที่เรียบง่าย กระตุกให้วัยรุ่นและคนทั้งวงการเสื้อผ้าหันมามอง Greyhound สิ่งมีชีวิตงามสง่าแห่งโลกการแต่งกาย

Greyhound Original

ปี 1998 สุนัขปราดเปรียวโดดออกจากตู้เสื้อผ้ามาเปิด Greyhound Café ทีมงานเบื้องหลังไม่ใช่เชฟกระทะเหล็ก ไม่ใช่คนในแวดวงอาหาร แต่พวกเขารู้ว่าประสบการณ์ดีๆ ที่มอบให้ลูกค้าได้คืออะไร ร้านอาหารสุดชิคสีขาวเทาดำเสิร์ฟอาหารแบบ Basic with a twist อร่อย เข้าใจง่าย แต่มีลูกเล่นสนุกๆ บนโต๊ะกินข้าว มากว่า 20 ปี ระหว่างทางมีบริษัทต่างชาติซื้อเฟรนไชส์ร้านรสนิยมเลิศล้ำนี้ไปเปิดสาขาที่มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน และฮ่องกง

ปี 2017 หลังก้าวเท้าไปทั่วเอเชีย Greyhound Café ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Mudman Public Company Limited ตัดสินใจกระโจนข้ามโลกด้วยตัวเอง โดยก้าวออกไปเปิดสาขาใหม่ที่ลอนดอน เมืองแปลกหน้าที่มีร้านอาหารไทยมากมายเป็นคู่แข่ง แถมร้านคาเฟ่เก๋โมเดิร์น ตกแต่งเรียบง่ายแบบเดียวกันก็มีอยู่เพียบ

“ตลาดอังกฤษลึกลับซับซ้อนมาก อยู่เมืองไทยเราทันสมัย ไปนู่นทุกที่มีเหมือนเรา แล้วเราจะพิเศษยังไง เราต้องการเป็นร้านไทยร้านแรกในลอนดอนที่แตกต่างจากร้านไทยที่เปิดอยู่เยอะแยะ ต้องกลับมานั่งคิดใหม่ว่าจะไปทางไหนดี”

ภาณุ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Greyhound เอ่ยปากเล่า

Greyhound Café ไม่เป็นที่รู้จักในลอนดอน ไม่เคยออกจากบ้านไกลขนาดนี้ ไม่เคยแตะธุรกิจร้านอาหารที่ยุโรป ถ้าเปรียบเป็นทีมกีฬา พวกเขาคือทีมท้องถิ่นที่ย้ายไปเล่นในเวทีระดับโลก การปักธงที่เมืองหลวงอังกฤษทำให้พวกเขาต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์

นี่ไม่ใช่การตัดสินใจที่บ้าบิ่นตุปัดตุเป๋ พวกเขาทำการบ้านอย่างหนักหน่วงเพื่อตะครุบเป้าหมายใจกลางยุโรป

การวางหมากพิชิตลอนดอนนี้ใช้เวลาถึง 3 ปีเต็ม

Greyhound Café

บุกลอนดอน

สเต็ปแรก Greyhound Café เปิดบริษัทใหม่ที่ประเทศอังกฤษ และจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการทำร้านอาหารไทยมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ พร้อมออกตามหาทำเลสำหรับคาเฟ่สัญชาติไทย

“เราคุยกับฝรั่งและคนไทยที่อยู่ลอนดอนนานๆ ถึงรู้ว่าถ้าอยากเก๋ ห้ามอยู่บนถนนใหญ่ ถนนดังๆ อย่าง Oxford, Regent, Bond มีแต่ร้านอาหารแมส ร้านเล็กๆ ฮิปเก๋คิวยาวที่นักกินสนใจต้องอยู่ซอยหลัก เอาล่ะ งั้นเราต้องไปอยู่ตามซอกตามซอย แล้วต้องไปอยู่ถิ่นไหน” ภาณุเล่าต่อ

ภาณุ อิงคะวัต

การตามหาโลเคชันที่เหมาะสมสำหรับคาเฟ่ต้องไม่ใช่ย่านท่องเที่ยวจ๋าและต้องแสดงตัวตนของแบรนด์ออกมาให้ได้ หมอก-ณัฐพร รุ่งขจรกลิ่น ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศและผู้นำโปรเจกต์บุกเมืองหลวงอังกฤษเล่าว่าโจทย์ใหญ่นี้ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 2 ปี

“ความยากคือเราเพิ่งไปครั้งแรก ไม่มีใครรู้จักเรา ลอนดอนค่อนข้างรัดกุมมากเรื่องการทำธุรกิจ เขาสืบประวัติกันเยอะ เราต้องใช้เวลาสร้างความเชื่อใจกับแลนด์ลอร์ดว่าจะสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นบนพื้นที่นี้ แล้วอสังหาริมทรัพย์ที่นั่นแพงมาก และเคลื่อนไหวเร็วมาก ดูวันนี้ อีกสองสามวันไม่เอานี่ไปแล้ว แล้วไม่ใช่ว่าอยากได้ที่แล้วได้เลย ที่นั่นแบ่งเมืองเป็นโซน A1- A5 ที่ตรงนี้ดี มีคลาส แต่ไม่อนุญาตให้ทำร้านอาหารก็จบ แล้วเขาต้องไปถามเพื่อนบ้านว่าถ้ามีร้านอาหารแล้วโอเคกันรึเปล่า ถ้าชุมชนไม่รับ เราก็ทำไม่ได้”

ประชุม

ในที่สุด Greyhound Café ก็ได้อดีตร้านสเต็กที่มุมถนน Berners ย่าน Fitzrovia มาสร้างอาณาจักรของตัวเอง พวกเขาเลือกพื้นที่ในเขต Westminster เพราะเป็นย่านทำงานสร้างสรรค์ มีบริษัทโฆษณา เอเจนซี่ ร้านรวงต่างๆ ซึ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมายของ Greyhound ลูกค้าจากบริเวณนี้มากินอาหารกลางวันหรือสังสรรค์ยามเย็นที่คาเฟ่ได้ และการอยู่ใกล้ย่านของกินอย่างถนน Charlotte และย่านช้อปปิ้งอย่าง Oxford ทำให้บริเวณนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวขึ้นอีกในอนาคต

ปรุงกรุงเทพฯ ใส่จาน

กาลเวลาและโลกาภิวัตน์เปลี่ยนลอนดอนให้เติบโตจากเมืองที่มีแต่อาหารท้องถิ่นให้กลายเป็นแหล่งรวมรสชาติแปลกใหม่ ธุรกิจอาหารเครื่องดื่มและ Casual Restaurant ของลอนดอนเป็นเมืองอันดับต้นๆ ของโลก แบรนด์ดังจากเอเชียหรืออเมริกาก็มักมาเปิดสาขาต่างประเทศที่นี่ และชาวลอนดอนรู้จักและชอบกินอาหารไทยมานาน เป็นรองแค่อาหารอังกฤษและอาหารอินเดีย

“ร้านอาหารไทยในลอนดอนมี 3 แบบ แบบแรกคือ Traditional เข้าไปแล้วเห็นตุ๊กตาไม้สวมชุดไทยยืนไหว้ พนักงานนุ่งสไบยืนสวัสดี แบบต่อมาคือ ไทยแบบฟิวชัน อย่างร้าน Patara, ร้าน Thai Square แบบที่สามคือ กลับไปหาความ authentic เมื่อก่อนเห็นส้มตำเสิร์ฟใส่จานสวยๆ ในต่างประเทศ แต่ร้านอย่าง Smoking Goat, ส้มซ่า หรือ Kiln เสิร์ฟใส่จานเมลามีนสีฟ้า รสชาติเผ็ดจริงแบบที่เราเคยกินตามปั๊มน้ำมัน มีปลาดุก มีเตาถ่าน ทั้งที่เชฟก็เป็นฝรั่ง แต่ได้รับการเทรนอย่างดีจากเมืองไทย” หมอกอธิบายวิวัฒนาการร้านอาหารในเมืองหลวงสหราชอาณาจักร ตอนนี้อาหารไทย อาหารลาว อาหารพม่า ร้าน authentic กำลังฮิตมากในกลุ่มนักกิน ความแปลกใหม่ที่คนลอนดอนไม่รู้จักเป็นเสน่ห์จากแดนไกล

ประชุม

เหม่ง-อังสนา พวงมะลิต ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เสริมว่าจุดเปลี่ยนน่าจะเกิดจากเชฟเดวิด ทอมป์สัน ร้าน Nahm ที่กรุงเทพฯ เป็นอาจารย์ฝรั่งที่รู้เรื่องอาหารไทยดีมากและสอนลูกศิษย์เยอะมาก ส่งผลให้บรรดาลูกศิษย์ฝรั่งแยกย้ายไปเปิดร้านอาหารไทยดั้งเดิมที่ลอนดอน

“อาหารไทยดั้งเดิมเป็นที่นิยม แต่ Greyhound ดันเป็นแบรนด์โมเดิร์น ตอนเราขายคนไทย คนไทยไม่ได้ต้องการของ authentic แล้ว เรากินของจริงกันอยู่ทุกวัน เพราะฉะนั้น เราขายของโมเดิร์น ขายไอเดียใหม่ Basic with creative twists แต่ถ้าจะไปแข่งกับร้านที่ลอนดอน เราต้องเปลี่ยนการทวิสต์ใหม่

“คำว่าทวิสต์กับคำว่า fake มันใกล้กันมากนะ ถ้าล้มเหลวมันเฟก ถ้าเจ๋งมันทวิสต์ จะทำยังไงให้เราทำถึง ดูแล้วไม่เสแสร้ง แสดงตัวตนให้อาหารเราออกมา เฮ้ย ไทย แต่ไม่ไทย เฮ้ย สนุกว่ะ แปลกว่ะ ไม่เคยกิน ไม่เคยเห็น” ภาณุเล่าความท้าทายของการปลุกความเรียบง่ายให้ดึงดูดสายตาคนอีกซีกโลก

Greyhound Café จึงไม่เสิร์ฟความจริงดิบๆ หรือใส่แซลมอนในแกงเหลืองเพื่อประนีประนอม แต่เลือกเสิร์ฟรสชาติของบางกอกในจานของคุณ

บางกอกโกลาหล

จาก Fashion Café สไตล์จัดที่มีรากฐานมาจากแบรนด์เสื้อผ้าเรียบๆ แต่มีบางอย่างน่าสนใจ เมื่อแบรนด์ Greyhound กลายเป็นอาหารก็พัฒนาสูตรและการนำเสนอเต็มที่ เช่น เปลี่ยนข้าวผัดปูที่ข้าวเยอะปูน้อยเป็นปูผัดข้าวที่ข้าวน้อยปูเยอะ ก๋วยเตี๋ยวห่อหมูสับก็ทำเส้น หมูสับ น้ำจิ้มแยกกันให้คลุกเองตามสบาย อาหารมีหลากหลาย ตั้งแต่ผัดไทย ข้าวผัดปลาสลิด ก๋วยเตี๋ยว ไปถึงเบอร์เกอร์ สปาเกตตี้ ทั้งที่กรุงเทพฯ และทั่วเอเชียเข้าใจวัฒนธรรมคาเฟ่แบบนี้

“แต่ลอนดอนแตกต่างจากตลาดเอเชียโดยสิ้นเชิง เรายกเมนูแบบกรุงเทพฯ ไปไม่ได้ ฝรั่งงง ร้านที่กรุงเทพฯ มีอาหาร 90 เมนู ทั้งอาหารไทย จีน ฝรั่ง มีเครื่องดื่ม 70 เมนู ขนม 50 เมนู แต่เมนูร้านอาหารที่ลอนดอนสเกลเล็ก ทั้งร้านมีอาหารไม่เกิน 40 เมนู เราต้องปรับ” เหม่งเล่าคอนเซปต์ Bangkok Café อย่างออกรสชาติ

ต้มยำกุ้ง อาหารอีสาน

“Bangkok แปลว่าอะไร ความวุ่นวาย beautiful chaotic way เละ แต่หัวเราะร่าเริง มีเสน่ห์ เรามีตั้งแต่แบรนด์หรูยันประตูน้ำ อาหารก็มีตั้งแต่ fine dining ยัน street food นี่คือสิ่งที่เรานำเสนอที่ลอนดอน คนกรุงเทพฯ กินอาหารไม่เหมือนคนไทยจังหวัดอื่นๆ เรากินเบอร์เกอร์ปูนิ่ม สปาเกตตี้ปลาเค็ม ผัดขี้เมา หรือสปาเกตตี้คาร์โบนาร่าที่จัดจ้าน ไม่เหมือนฝรั่งกิน เรามี twist อยู่แล้ว นี่คือการนำเสนออาหารที่คนกรุงเทพฯ ชอบและคุ้นเคย นี่คือเรา คอนเซปต์นี้ทำให้เมนูย่นย่อลง จากเมนูอาหาร 90 จาน เหลือแค่ 40 เมนู เครื่องดื่ม 70 เมนู เหลือแค่ 20 และของหวานก็เหลือไม่ถึง 10 เมนู”

ปูผัดข้าว

อาหารไทยฟิวชัน

สร้างรสสร้างชาติ

เมื่อคอนเซปต์ของร้านแข็งแรง หน้าที่เสกความอร่อยต่อมาเป็นของ เชฟโอ๊ะ-หฤษฎ์ เวชากุล Executive Chef แห่ง Greyhound Café ประจำประเทศไทยที่ต้องแบ่งหมวดอาหารใหม่ทั้งหมด คนไทยแบ่งหมวดอาหารเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ ก็ปรับเป็นเมนู small plates เรียกน้ำย่อยจานเล็กๆ ซุปและสลัด เนื้อ อาหารจานเดียว อาหารมังสวิรัติ และของหวาน

อาหารไทยฟิวชัน

อาหารไทยฟิวชัน

อาหารไทยฟิวชัน

“คนกรุงเทพฯ อาจกินผัดกะเพราวันทำงาน วันหยุดอยากหรูหน่อย ไปกินในห้าง เพราะฉะนั้น เมนูของเราจึงมีตั้งแต่ผัดกะเพรายันล็อบสเตอร์ คือมีตั้งแต่สตรีทฟู้ดจนถึงอาหารหรู แล้วเราก็พยายามหาวัตถุดิบที่เหมือนกรุงเทพฯ มากที่สุด ทำให้รสชาติเหมือนที่กรุงเทพฯ มากที่สุด แต่การนำเสนอเปลี่ยนไป”

ประชุม

เชฟโอ๊ะอธิบายความแตกต่างระหว่างการสร้างเมนูที่เมืองไทยและอังกฤษ เมนูเมืองผู้ดีได้รับการปรับให้เป็นอาหารไทยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ บางอย่างฝรั่งไม่เข้าใจต้องปรับให้เรียบง่าย เช่น ทอดมันกลมๆ ฝรั่งกินแนมแตงกวา อาจาด ไม่เป็น ก็ทำให้เป็นทอดมันลูกเล็กๆ จานเดียวที่ราดอาจาดลงไปให้กินได้ทันที แต่ก็แบ่งส่วนสำหรับทดลองประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อหยอดเมนูสนุกๆ ว่าฝรั่งจะเข้าใจมั้ย เช่น สปาเกตตี้ผัดปลาเค็ม เนื้อแกะปรุงแบบไทย ดักแด้ทอด สลัดยำเนื้อที่ใช้ผักฝรั่ง บรูเชตต้าใส่น้ำส้มตำแทนน้ำซัลซ่า

ประชุม

อู้ดดี้-อุทยาน ศุภสุข ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและการขายที่พ่วงตำแหน่งออกแบบเครื่องดื่ม อธิบายเพิ่มว่า Greyhound Café มีบาร์เครื่องดื่มในตัวให้ชาวลอนดอนมาสังสรรค์ทั้งในวันทำงานและวันหยุด การออกแบบเครื่องดื่มเลยต้องพิถีพิถัน ทั้งชา กาแฟ น้ำโซดา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เติมวัตถุดิบจากเมืองไทยให้โดดเด่น เช่น กาแฟที่แบรนด์ ‘มีวนา’ เบลนด์ให้ Greyhound โดยเฉพาะมาร์การิต้าใส่ตะไคร้ หรือการนำ ‘ชาละวัน’ คราฟต์เบียร์ไทยไปลอนดอน

“ที่ยากที่สุดคือเครื่ิองดื่มแอลกอฮอล์ เพราะคนลอนดอนดื่มหนัก การทำเองให้ถูกใจคงยาก ทำยังไงจะใส่ความเป็นไทยลงไปให้คนลอนดอนเข้าใจ เราเลยต้องเอาวัตถุดิบอย่างแม่โขงคุยกับ mixologist ชาวอังกฤษ ให้ครีเอทีฟคุยคอนเซปต์ให้ฟังแล้วให้เขาไปพัฒนาค็อกเทลแม่โขงต่อเพื่อนำเสนอความเป็น Greyhound มากที่สุดและถูกใจคนลอนดอนด้วย”

เครื่องดื่ม

แฟชั่นแมกกาซีน

เมื่อความเก๋จากในครัวมาเต็มพิกัด ฝ่ายสร้างสรรค์เล่มเมนูอาหารก็ต้องไม่ยอมแพ้ ยิ่งมีโจทย์สำคัญว่าคนลอนดอนไม่ชอบเมนูอาหารที่มีรูปภาพ ร้านอาหารเก๋ๆ จะมีแต่ตัวหนังสืือ เพราะลอนดอนเนอร์คิดว่าเมนูอาหารที่มีรูปเป็นของเชย เหมือนร้านอาหารไชน่าทาวน์ที่ไดคัตรูปมาแปะต่อๆ กัน ชาว Greyhound ยิ่งทุ่มเทกับศิลปะการออกแบบกราฟิกและถ่ายภาพ โดยให้ช่างภาพสายตาเฉียบอย่าง จุ๊-จุฑารัตน์ พรมณีสุนทร เป็นผู้ลั่นชัตเตอร์ ผลที่ได้รับคือฝรั่งบอกว่านี่มันไม่ใช่เมนูอาหาร นี่มันแฟชั่นแมกกาซีนชัดๆ

เมนูอาหาร

เมนูอาหาร

เมนูอาหาร

เมนูอาหาร

หนึ่ง-พิสุทธิ์ ขวัญพูลศรี ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ เปิดเมนูอาหารเก๋ไก๋ที่เพิ่งออกจากโรงพิมพ์สดๆ ร้อนๆ ให้ดู

“สำหรับคนอังกฤษ การถ่ายรูปพวกนี้เป็นเรื่องใหญ่ ใช้เงินมหาศาลมาก แบรนด์เราทำงานแฟชั่นอยู่แล้ว เรามั่นใจว่าเราทำสวย เราขอลองทำเมนูเล่มให้คนเห็นหน้าตาอาหารสไตล์ beautiful chaos เราเอาโต๊ะเหล็ก เก้าอี้พลาสติก เสื่อน้ำมัน ลอตเตอรี่ จนถึงเช่าตุ๊กตุ๊กมาถ่าย เล่าเรื่องว่าอาหารกรุงเทพฯ คืออะไร ถ้าเราต้องพาคนอังกฤษที่ไม่เคยมาเมืองไทยไปเที่ยวกินตั้งแต่เช้ายันเย็น เช้าไปกินอาหารเช้าที่ออน ล็อก หยุ่น สายไปเดินโอเดียน เที่ยงไปจตุจักร เย็นไปเยาวราช ดึกๆ ไปหาขนมกิน โดยนำเสนอสถานที่ต่างๆ ที่เราคุ้นเคยแบบแฟชั่น”

ประชุม

อาร์ตเวิร์ค

“คอนเซปต์ทั้งหมดร้อยเข้าด้วยกัน เห็นพนักงานเสิร์ฟใส่กางเกงแดงเหลือง ฝรั่งอาจจะงงว่านุ่งอะไร แต่จะเจออาหารที่มันร้อนแรง เผ็ดจัด สนุก เปิดเมนูจะบอกว่ามาเมืองไทยคุณได้อะไรบ้าง กางเกงชาวเล รอยสัก ถักผม จริงๆ แล้วมันมีเรื่องอาหารด้วย เราเอามาเสิร์ฟคุณที่นี่แล้ว”

เข้าฉากบางกอก

ด้านการแต่งร้าน ครีเอทีฟของ Greyhound Café ร่วมกับ B3 Designers กลุ่มสถาปนิกในลอนดอนเพื่อเสกกรุงเทพฯ ขนาดย่อมที่มีกลิ่นอาย Industrial Chic แบบเฉพาะตัวของ Greyhound Café ออกมา

บาร์

“คนลอนดอนไม่ได้มีความรู้เรื่องกรุงเทพฯ มากนัก เขาอาจเคยเห็นภาพสตรีทฟู้ดเยาวราชในสารคดี เราต้องผสมผสานสิ่งที่เขามองกับสิ่งที่เราเป็น เราไม่ใช่สตรีทฟู้ดผัดกระทะข้างทางตลอดเวลานะ ฉันกินอาหารสไตล์อื่นเหมือนกัน มีเก้าอี้พลาสติก แต่ก็มีอย่างอื่นด้วย” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดอธิบาย

ประชุม

พิมฝัน ใจสงเคราะห์ Shop Image Creative ที่ดูแลการตกแต่งร้านร่วมกับดีไซเนอร์ขยายความต่อว่าการออกแบบร้านสาขาลอนดอนจะเพิ่มความเป็นไทยให้ชัดขึ้น เช่น แต่งร้านด้วยกระเบื้องลายตัวอักษรไทย กำแพงลายวินมอเตอร์ไซค์ แผ่นสังกะสี ถังน้ำมัน ใส่บรรยากาศรกแต่เป็นระเบียบของร้านโชห่วย และแขวนไซดักปลาขนาดยักษ์ทำจากทองเหลืืองไว้กลางร้าน ให้แสดงความเป็นไทยและเอาฤกษ์เอาชัยให้เต็มที่

Greyhound Café

อักษรไทย

ศิลปะบนกำแพง

 ฝน-ศุทธินี อัมพุช และ ฟุ่ง-สุภาพร คงวิวัฒน์ไมตรี ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและ International F&B Manager เล่าต่อว่าของตกแต่งและอุปกรณ์ทั้งหมดขนไปจากเมืองไทย แม้กระทั่งจานชาม ปิ่นโต ถาดไข่กระทะ ไปจนถึงยูนิฟอร์มพนักงานก็ออกแบบและทำในไทยก่อนส่งไปยุโรป พนักงานฝ่าย Operation ในร้านที่เป็นชาวต่างชาติก็ถูกส่งตัวมาเมืองไทยเพื่อเทรนความเข้าใจการบริการแบบ Greyhound ก่อนเปิดร้านจริง

อาหารไทยฟิวชัน อาหารไทยฟิวชัน

เปิดประตูร้าน

Greyhound Café เปิดตัวที่ลอนดอนในวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2017 ในฐานะร้านอาหารไทยที่ไม่เหมือนร้านไหนๆ ในลอนดอน บรรยากาศร้านยังคงแสดงความเป็นไทยเต็มเปี่ยม แต่สลัดภาพจำของความเป็นไทยในสายตาฝรั่งแบบเดิมไปโดยสิ้นเชิง

หลังการทำการบ้านอย่างหนักหน่วงทุกภาคส่วน สำรวจ casual restaurant คู่แข่งในตลาดแล้ว Greyhound เลือกเปิดร้าน 2 ชั้นที่มีที่นั่งร้อยกว่าที่นั่ง เพื่อเปิดประตูต้อนรับผู้คน ไม่ใช่แค่กลุ่ม niche ของนักกินที่แสวงหาความแปลกใหม่ แต่ยังรวมถึงลอนดอนเนอร์ผู้ต้องการประสบการณ์ประทับใจในร้านอาหาร คาเฟ่เลือกใช้กลยุทธ์ราคากลางๆ ไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป เพื่อให้ผู้คนแวะเวียนมานั่งได้ทั้งช่วงพักกลางวันไปจนถึงตลอดค่ำคืน

“เวลาเราคุยกับคนอังกฤษ เขาก็ชื่นชมนะว่าเราทำการบ้านกันเยอะมาก คิดมาทุกส่วน ทุกตารางนิ้วของร้านที่นั่น เราคิดมาแล้ว ผ่านการกลั่นกรองทั้งจากคนที่นี่และที่โน่นเพื่อส่งต่อสิ่งที่ดีที่สุดไปลอนดอน”

หมอกตบท้าย ไม่มีความบังเอิญอยู่ในการทำงานหนัก หลังจากร้านแรกที่เมืองหลวงอังกฤษ Greyhound Café ตั้งใจจะเปิดสาขาใหม่ในปีถัดๆ ไปที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรป ความเรียบง่ายแฝงลูกเล่นหรือ Basic with a twist เป็นรากฐานแข็งแรงที่สื่อสารกับสากลโลก

แบรนด์คาเฟ่สัญชาติไทยเพิ่งเริ่มต้นลงสนามในทวีปใหม่ แม้ข้อจำกัดมากมายกลายเป็นโจทย์สุดหิน แต่ด้วยทุกกระบวนท่าที่มาจากประสบการณ์เกือบ 40 ปี

พวกเขาสร้างเกมของตัวเองขึ้นมาแล้ว

ทีม

ภาพ  Greyhound
www.greyhoundcafe.co.th

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan