คนไทยอ่านนิยายแชตวันละ 1 พันล้านจอย

เป็นสถิติใหม่ที่ทำให้เราทั้งอึ้งทั้งงง เพราะพันล้านนี่ไม่ใช่ตัวเลขน้อยๆ แล้วอะไรคือจอย? นิยายแชตที่ว่าคืออะไร? ถ้าคุณผู้อ่านกำลังตกอยู่ในภาวะอึ้งและงงแบบเดียวกัน เราขอแนะนำให้ไปที่ App Store แล้วกดโหลดแอพพลิเคชันชื่อ ‘JOYLADA – จอยลดา’

นี่คือแอพอ่านนิยายแชตเจ้าแรกของเมืองไทยจากค่ายอุ๊กบี (OOKBEE) ถ้ากดเข้าไปจะเจอ ‘นิยาย’ ที่รอให้คุณอ่านในรูปแบบนี้

JOYLADA

นิยายออนไลน์

แอพนี้สร้างสรรค์พื้นที่รูปแบบใหม่ในการอ่านนิยายแก่เรา จากที่เคยอ่านนิยายผ่าน ‘หน้าหนังสือ’ มาเป็นการอ่านผ่าน ‘ห้องแชต’ จำลองด้วยการกดอ่านทีละ ‘จอย’ หรือทีละประโยค ความสนุกของการอ่านแบบนี้คือเหมือนเราได้แอบอ่านแชตชาวบ้าน ต้องลุ้นว่าจะมีใครหักมุมอะไรตรงไหน

ถ้าถามว่าเวิร์กมั้ย คงต้องขอตอบด้วยสถิติที่มาแรงแซงทุกโค้งจากยอดสมาชิกกว่า 1 ล้านคน เป็นนักเขียน 180,000 คนที่สร้างสรรค์นิยายไปแล้วกว่า 250,000 เรื่อง รวมกันกว่า 1 ล้านตอนภายใน 4 เดือน แถมนิยายแชตเรื่องไหนมีคนจอยมาก นักเขียนก็มีรายได้มากขึ้นตามไปด้วย

เรามีได้โอกาสคุยกับ เมย์-ธิดาพร พฤกษมาศวงศ์ คอมมูนิตี้เมเนเจอร์ ผู้ดูแลแอพจอยลดา ถึงเรื่องราวความสำเร็จเกินคาดตลอด 4 เดือนนี้ รวมถึงเทรนด์การอ่านที่น่าสนใจของคนไทย ผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่แก่ยุคสมัยด้วยหลัก ‘เรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกัน’

เมย์-ธิดาพร พฤกษมาศวงศ์

 

‘จอยลดา’ แอพการอ่านแนวใหม่ที่เข้าใจอินไซต์คนไทย

เมย์เล่าว่า จอยลดาคือแอพของ OOKBEE ที่เริ่มต้นมาจาก หมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ชอบศึกษาแอพอื่นๆ จากทั่วโลก เมื่อไปเจอแอพอ่านหนังสือรูปแบบใหม่ๆ ของต่างประเทศ ณัฐวุฒิก็หันมามองตลาดเมืองไทยและพบว่ายังไม่มีใครทำ เขาเกิดไอเดียทำแอพการอ่านแปลกใหม่ และที่สำคัญคือ เข้ากับคนไทย

“เราแยกย้ายกันไปรีเสิร์ชและพบว่าคนไทยชอบพวกกระทู้สืบสวน ชอบอ่านเรื่องชีวิตคนอื่นที่แคปมาจากไลน์ เราเลยคิดว่าแอพอ่านนิยายรูปแบบแชตน่าจะทำได้ และคุยต่อว่าต้องเป็นนิยายแนวไหนถึงเหมาะกับประเทศเรา จนสรุปได้ว่าต้องเป็นแนวผีหรือสยองขวัญ เพราะมันหักมุมได้ เหมาะกับแชตที่อาจจะตัดจบหักมุมยังไงก็ได้” เมย์เล่า

จอยลดาจึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีชื่อที่สะท้อนบุคลิกความเป็นผู้หญิงสนุกสนาน มีความเป็นไทยผสมอยู่  และมีจุดขายคือนิยายสยองขวัญหักมุม แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่ทีมงานค้นพบคือ นิยายแนว Fan Fiction เกาหลี กลับมาแรงที่สุด ซึ่งถ้าดูกระแสติ่งเกาหลีก็สอดคล้องกันใช้ได้ทีเดียว

 จอยลดา

แอพนิยายออนไลน์

แอพอ่านหนังสือที่แคร์คนอ่าน  

จอยลดาเปิดตัวมาได้ 4 เดือน ถ้าพูดถึงการเติบโต ก็เรียกว่าประสบความสำเร็จจนทีมงานตกใจ

“ทุกวันนี้มีคนเข้าใช้ประมาณเดือนละ 1 ล้านคน มีนิยายจากจอยลดาผลัดกันขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์เป็นระยะ จนคนต้องไปตามหาว่ามันคืออะไร” เมย์เล่าถึงการโตแบบก้าวกระโดด และเมื่อเราขอให้เธอลองมองย้อนไปดูเคล็ดความสำเร็จ

เมย์บอกว่า น่าจะเป็นเพราะ ‘การตั้งใจฟัง’

“ถ้าย้อนไปมองว่า ทำไมเราถึงสำเร็จขนาดนี้ เมย์คิดว่าน่าจะเป็นรูปแบบแปลกใหม่ และน่าจะเป็นเพราะเราพยายามฟังทุกคนว่า เขาอยากได้อะไรและปรับไปตามนั้น คนอ่านอยู่ในทวิตเตอร์ เราก็ไปอยู่ที่นั่น ไปดูว่าเขาคุยอะไร พยายามตามเทรนด์ เรียนรู้ไปพร้อมกับผู้ใช้งานในทุกวัน ตั้งแต่เปิดตัวจอยลดามา 4 เดือนมีอะไรให้ตื่นเต้นตลอดทาง”จอยลดา

จอยลดา

 

แอพที่ทำลายการอ่าน?

ตอนแรกที่รู้จักแอพนี้ เราที่เติบโตจากการอ่านเรื่องราวจากหนังสือยังอดตกใจไม่ได้ว่า โลกยุคใหม่ (หรือเรียกอีกอย่างว่าโลกวัยรุ่นยุคนี้) หมุนไปถึงขนาดนี้แล้วเหรอ ไม่น่าแปลกที่จะมีคนสงสัยว่า จอยลดาพลิกหรือถึงขั้นทำลายวงการการอ่านดั้งเดิมหรือเปล่า แต่เมย์บอกว่า สำหรับเธอ นี่น่าจะเป็นการเปลี่ยนในเชิงบวก

“เราคิดว่าเป็นการเปลี่ยนไปในทางสร้างสรรค์มากกว่าทำลาย นิยายควรเก็บความเป็นแต่ละยุคไปเรื่อยๆ ส่วนเก็บไว้ที่ไหน รูปแบบไหน ก็เป็นเรื่องของแต่ละยุค อย่างยุคก่อนหน้านี้ เราเก็บนิยายไว้ในหนังสือ ในละครวิทยุ จอยลดาเป็นสิ่งที่บอกว่า ยุคของเราเก็บนิยายไว้ในแอพพลิเคชัน เป็นเรื่องราวของพวกเรา มันจึงไม่ใช่การทำให้สิ่งดีๆ ที่มีหายไป แต่เพิ่มทางเลือกการอ่านแบบใหม่มากกว่า”

และนั่นหมายถึงไม่ใช่แค่เปลี่ยนวิธีอ่าน แต่ยังเปลี่ยนวิธีเขียนด้วย

“เรามีโอกาสคุยกับนักเขียนบางคนของจอยลดา โดยเฉพาะคนที่เคยเขียนนิยายเป็นเล่มมาก่อน เขาเล่าว่านี่เป็นการเขียนที่ต่างกันมาก ท้าทายมาก เพราะถูกจำกัดในการเล่าแบบแชตว่า เล่ายังไงให้คนรู้เรื่องทุกอย่าง ให้เห็นภาพว่าเรื่องเกิดที่ไหน ตัวละครเป็นยังไง” เมย์เล่า “ดังนั้นบุคลิกของเรื่องแบบแชตต้องชัดกว่าในหนังสือเพื่อให้คนจำได้ น้องบางคนถึงกับมีสมุดจดว่าตัวละครจะพิมพ์แชตแบบไหน ที่สำคัญคือ นักเขียนส่วนใหญ่ยังเป็นวัยรุ่น จอยลดาทำให้เราได้เห็นว่าน้องรุ่นนี้มีศักยภาพมากแต่อาจไม่มีพื้นที่ให้ปล่อยของ แอพนี้เลยเปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ได้โชว์ฝีมือ”

เมื่อถามถึงแนวโน้มการอ่านจากหนึ่งในทีมที่พลิกโฉมวิธีอ่านเขียนนิยายของคนไทยยุคนี้ เมย์ทิ้งท้ายว่า เนื้อหาบางอย่างน่าจะปรับให้เข้ากับเทคโนโลยี แต่ขนาดเดียวกัน เธอก็ไม่คิดว่า หนังสือจะสูญหาย

“เนื้อหาการอ่านน่าจะถูกปรับเข้ากับเทคโนโลยี มีแนวโน้มเหมาะกับการอ่านบนมือถือมากขึ้น แต่เมย์ไม่ได้มองว่าสิ่งนี้จะทำให้หนังสือหายไป แต่คอนเทนต์ที่รวดเร็วอย่างข่าว บทความ หรือนิยายเป็นตอนๆ อาจจะเหมาะอยู่บนอะไรที่รวดเร็วอย่างแอพพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ส่วนหนังสือเหมาะกับเนื้อหาที่เราอยากเก็บ สิ่งที่คลาสสิก  มันน่าจะคงอยู่คู่กันไป”

 

 

 

Writer

Avatar

วิภาดา แหวนเพชร

ขึ้นรถไฟฟ้าหรือไปไหนจะชอบสังเกตคน ชอบคุยกับคนแปลกหน้าโดยเฉพาะ homeless ชีวิตมนุษย์นี่มหัศจรรย์มากๆ เลย ชอบจัง

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ