ผู้เขียนมีประสบการณ์พาเพื่อนหรือครูชาวต่างชาติไปเที่ยววัดโพธิ์ วัดพระแก้ว วัดอรุณฯ รวมกันราวสิบกว่าครั้ง วัดโพธิ์นี่ไปบ่อยเพราะฝรั่งชอบนวดแผนไทย คนพาไปก็เข้าไปนวดด้วยเสียเลย สบายดี แต่จะยุ่งยากใจเมื่อเพื่อนฝรั่งถามข้อมูลต่างๆ ลึกมากจนตอบไม่ถูก เพราะแต่ละคนล้วนคงแก่เรียน อยากรู้อยากเข้าใจไปเสียหมด
ไม่นานมานี้ได้ไปฟังเสวนาเรื่อง ‘วัดโพธิ์ มรดกความทรงจำแห่งโลกกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม’ โดยอาจารย์ ดร . เสาวณิต วิงวอน และคุณจุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ทั้งสองท่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดีเกี่ยวกับวัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
เพื่อนฝรั่งได้ยินชื่อนี้ครั้งแรกจะเหวอในความยากและยาว Andrea หนุ่มอิตาลีเคยถามผู้เขียนว่า ทำไมมี 2 ชื่อ ผู้เขียนเกาหัวแกรกเพราะไม่รู้ แต่วันนี้ตอบได้แล้ว พร้อมกับที่รู้ว่าไฮไลต์สำคัญ (ที่ไม่ค่อยมีคนทราบเรื่องราวเบื้องหลัง) ของวัดโพธิ์ 2 อย่างคือ จารึกวัดโพธิ์ กับตุ๊กตาศิลาจีน นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมความเข้าใจว่ารูปปั้นจีนขนาดใหญ่ที่ประดับประตูคืออับเฉาถ่วงเรือนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด
รู้จักวัดโพธิ์
“กษัตริย์สมัยโบราณชอบสร้างวัด อย่างวัดโพธิ์นี่เก่าแก่ตั้งแต่สมัยพระเพทราชา” อาจารย์ ดร. เสาวณิต กล่าว
อาจารย์เล่าว่าตอนแรกวัดโพธิ์ไม่ได้ใหญ่ขนาดนี้ แต่เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงอุปถัมภ์ทำนุบำรุง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ทรงบูรณะจนโอ่อ่างดงาม
ที่เรียก ‘วัดโพธิ์’ เพราะแต่เดิมวัดนี้ชื่อ ‘วัดโพธาราม’ สันนิษฐานว่าเพราะเป็นที่ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ แต่ต่อมาคติความเชื่อเรื่องการบูชาพระศรีมหาโพธิ์เสื่อมคลายลงไป ไม่ได้รับความนิยมเหมือนครั้งอดีต จึงคงเหลือแต่ชื่อเรียกสืบต่อมา จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดโพธารามเสียใหม่เมื่อ พ.ศ. 2332 และพระราชทานนามใหม่ว่า ‘วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ’ แปลว่า ‘ที่อยู่อันงามของพระพุทธเจ้า’ (คำว่า ‘พระเชตุพน’ หมายถึง ที่อยู่ของพระพุทธเจ้า) และกลายเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เปลี่ยนคำสร้อยท้ายนามวัดเป็น ‘วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม’
ในสมัยรัชกาลที่ 3 สยามเศรษฐกิจดี มีเงินกำไรเป็นอันมากจากการค้าสำเภา จึงทรงสร้างวัดใหม่รวมถึงบูรณะวัดเก่ามากมาย เนื่องจากพ่อค้าวาณิชชาวไทยที่เดินทางไปยังจีนมีโอกาสเห็นงานศิลปะสวยงามของจีน ทั้งในราชสำนักและบ้านเศรษฐีชาวจีนที่ติดต่อค้าขายด้วย (ตัวอย่างเช่น เขามอ เป็นสิ่งหนึ่งที่พ่อค้าชาวไทยไปเห็นแล้วนำกลับมาทูลรัชกาลที่ 3) จึงเห็นว่าการสร้างและบูรณะวัดในยุครัชกาลที่ 3 มีการนำศิลปะจีนมาใช้อย่างเต็มที่ โดยใช้ช่างไทย ช่างจีน ปนกัน และในรัชสมัยของพระองค์นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นการทำ ‘จารึกวัดโพธิ์’ มรดกทรงคุณค่าของชาติ
จารึกวัดโพธิ์: มรดกความทรงจำแห่งโลก
จารึกวัดโพธิ์จัดทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จารึกสรรพตำราต่างๆ ทั้งหมด 8 หมวดบนแผ่นหินอ่อน ประดับไว้ตามศาลาราย ผู้แต่งจารึกเหล่านั้นมีตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ขุนนาง พระ และไพร่ รวม 53 ท่าน เป็นความรู้ต่างๆ เช่น ศาสนา ภาษา วรรณกรรม วัฒนธรรมประเพณี จิตรกรรม ประติมากรรม และการแพทย์
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ประกาศขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในทะเบียนนานาชาติเมื่อ 27 พฤษภาคม 2554
‘ มรดกความทรงจำ ‘ เป็นคำที่ UNESCO กำหนดขึ้น หมายถึง ข้อมูล ความรู้ ความคิด ที่เป็นภูมิปัญญาของแต่ละกลุ่มชน บันทึกไว้ในวัสดุ (เช่น กระดาษ หิน เยื่อไม้ไผ่) หากเป็นสถานที่ เช่น โบราณสถาน สถานที่เที่ยวทางธรรมชาติ UNESCO จะเรียกว่า ‘มรดกโลก ‘
อาจารย์ ดร.เสาวณิต ระบุว่า คุณสมบัติที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเป็น ‘มรดกความทรงจำ’ ได้ คือต้องเป็นสิ่งเดียว ไม่มีสำเนา ถ้าสูญหายไปจะเกิดความเสียหาย และต้องแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชนนั้นๆ
ในช่วงที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างจารึกวัดโพธิ์ เป็นช่วงที่ชาติตะวันตกเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามา และนำวิทยาการใหม่ๆ มาเผยแพร่ พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ในการบันทึกความรู้ของไทยไว้ มิให้สูญหายไปกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
สมัยก่อนความรู้ต่างๆ อยู่ในสำนักใครสำนักมัน อยู่ในที่มิดชิด เช่น พวกตำรายา แต่รัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้รวบรวมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เป็นของสาธารณะ ใครจะมาศึกษาก็ได้ เป็นการบันทึกความรู้โบราณให้คงอยู่ ท่านจึงเลือกให้สลักลงหิน มีเรื่องเล่าว่าทรงบังคับให้เจ้าของความรู้ต่างๆ สาบานว่าจะบอกความจริง ก่อนบันทึกลงจารึกวัดโพธิ์
พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 3 คือ ให้วัดโพธิ์เป็นคลังความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม วัดโพธิ์จึงเปรียบเสมือน ‘มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของคนไทย’
“ ช่วงรอยต่อรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 สภาพของเราในขณะนั้นเสี่ยงต่อการเสียบ้านเสียเมือง เรารอดมาได้เพราะพระมหากษัตริย์ของเราทรงมีโลกทัศน์กว้างไกล” อาจารย์ ดร.เสาวณิต กล่าว “ถ้าอ่านจารึกครบทุกหมวด จะเห็นทันทีว่าประเทศนี้ไม่ได้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ดูแลตัวเองได้ มียา มีภาษา มีวรรณกรรม และเราบันทึกความรู้เหล่านี้ไว้เป็นเรื่องเป็นราว และการที่ทรงเลือกบันทึกที่วัดนี้ ก็เพราะอยู่ใกล้วัง ใกล้เหล่าทูตานุทูตทั้งหลาย ไม่ได้เลือกไปทำที่วัดไกลๆ เป็นการทำตัวเองให้ดูมีคุณค่าในสายตาฝรั่ง อย่างน้อยจะมาข่มกันก็ทำไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์”
ลั่นถันและเขามอ
หนังสือ ตุ๊กตาศิลาจีนวัดโพธิ์ กล่าวว่า จากจารึกเรื่องรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ ทำให้ทราบว่าได้สร้างรูปอสูรหรือรูปยักษ์ปูนปั้นถือกระบองขนาดใหญ่ไว้ประดับซุ้มประตูประตูละคู่ แต่เมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 ทรงบูรณะนั้นทรงรื้อลงหมด แล้วตั้งรูปลั่นถันประตูละคู่แทน ลั่นถันหรือตุ๊กตาจีนประดับซุ้มประตูเป็นรูปขุนนางฝ่ายบู๊ ซึ่งมีรูปร่างขนาดใหญ่ใกล้เคียงกัน และมีหน้าตาดุร้ายคล้ายยักษ์ เพราะคงเห็นว่าจะทำให้ดูต่างไปจากวัดอรุณราชวรารามและวัดพระแก้วที่มีรูปยักษ์อยู่แล้ว
‘ลั่นถัน’ ที่เห็นในวัดโพธิ์ก็คือบรรดาตุ๊กตาศิลาจีนทั้งหลาย มีทั้งขุนนางฝ่ายบุ๋นและบู๊ รูปสัตว์ และรูปประชาชนทั่วไป ส่วนเขามอคือภูเขาจำลองที่ประดับด้วยต้นไม้ ตุ๊กตาจีน เจดีย์จีน ตึกจีน
คุณจุลภัสสรกล่าวว่าความเข้าใจผิดใหญ่หลวงของคนทั่วไปรวมถึงมัคคุเทศก์จำนวนหนึ่งคือ ตุ๊กตาตัวใหญ่นั่นแหละคือ ‘อับเฉา’ ที่ใส่ใต้ท้องเรือกันโคลงเมื่อเดินทางมาจากเมืองจีน
“ขาไปเราขนของหนักไปขาย เช่น ของป่าต่างๆ แต่ขากลับของที่นำกลับเข้ามาเป็นของเบา เช่น เครื่องถ้วย แพรพรรณ จึงต้องมีหินถ่วง แต่ตุ๊กตาตัวใหญ่ไม่ใช่อับเฉานะครับ กินที่ด้วย หนักก็หนัก ใครจะยกใส่เรือ อีกทั้งถ้าตุ๊กตาล้มทีฟาดเครื่องถ้วยแตกหมด ตุ๊กตาที่เป็นอับเฉาตัวจริงคือศิลาจีนขนาดเล็กที่ประดับตามเขามอ ”
ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกันใหม่ว่า ไม่ใช่ว่าตุ๊กตาศิลาจีนที่เห็นทุกตัวจะนำมาจากเมืองจีน
พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน กล่าวไว้ว่า ศิลาที่นำมาก่อสร้างวัด ทั้งอาคาร สถาปัตยกรรม สิ่งของเครื่องใช้ และตุ๊กตาศิลาจีน นำมาจากราชบุรี เพชรบุรี สุโขทัย ลพบุรี สระบุรี และชลบุรี (เกาะสีชัง อ่างศิลา) โดยใช้เงินกำไรจากการค้าสำเภา จ้างช่างจีนมาแกะสลักขึ้นในเมืองไทยนี่เอง หลักฐานนี้จึงสอดคล้องกับที่คุณจุลภัสสรบอกว่า “อับเฉาของจริงคือเฉพาะตุ๊กตาศิลาจีนตัวเล็ก ใช้วางแทรกตามกล่องบรรจุเครื่องถ้วยเพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกัน”
คุณจุลภัสสรเล่าว่า ลั่นถันและเขามอเป็นของประกอบกันมาแต่ก่อน เมืองจีนหนาวมีหิมะปกคลุม ประชาชนอยาก ‘เก็บ’ บรรยากาศภูเขาไว้ในบ้าน จึงสร้างเครื่องประดับชนิดนี้ขึ้นมา มีต้นไม้กับศิลาจีนประดับ และต่อมาแนวคิดนี้แพร่หลายไปยังญี่ปุ่นและเกาหลี
พ่อค้าชาวไทยที่ไปค้าขายไปเห็นสิ่งนี้ตามบ้านเศรษฐีจีนก็กลับมาทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่พระองค์ทรงมีสวนไทยอยู่แล้ว เลยทรงให้เพิ่มสวนจีนตามแบบที่ว่ามาเข้าไปด้วย โดยประดับด้วยก้อนหิน ขุดเกาะแก่ง และมีน้ำไหล และมีรับสั่งให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรส (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ว่า เมื่อเดินทางไปค้าขายที่ไหนก็จงหาหินสวยๆ กลับมาทำตุ๊กตาศิลาจีนด้วย
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดเรื่องซุบซิบว่าเหตุที่เจ้านายสิ้นกันหลายองค์เป็นเพราะพระองค์ทรงเอาหินจากที่ต่างๆ มามาก รัชกาลที่ 3 จึงกริ้วและรับสั่งให้ย้ายหินออกไปให้หมด แล้วคนสมัยก่อนจะเอาไปไว้ไหน ก็ไว้ที่วัดนั่นไง ดังนั้น 4 วัด (วัดโพธิ์ วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดอรุณราชวราราม และวัดราชโอรส) จึงมีเขามอและตุ๊กตาศิลาจีนอยู่ เพราะเป็นวัดใกล้วังทั้งสิ้น ส่วนวัดราชโอรส เป็นวัดของพระองค์เอง
เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่ฟังมาจากอาจารย์ ดร. เสาวณิต และ คุณจุลภัสสร ทำให้ผู้เขียนมีข้อมูลที่ถูกต้องไปเล่าให้เพื่อนฝรั่งฟังต่อ เพราะเคยเข้าใจผิดมาก่อน ชี้บอกเขาใหญ่เลยว่านั่นแหละอับเฉา อธิบายอย่างดีว่าอับเฉาคืออะไร ทำไมเราจึงติดต่อกับเมืองจีนในช่วงนั้น เพื่อนฝรั่งก็ โอ ไอซี กันไป
แต่นี่เป็นความรู้ใหม่ที่ต้องเขียนอีเมลกลับไปแก้ไขให้บรรดาเพื่อนฝรั่ง (ที่เคยผ่านมือผู้เขียนพาเที่ยววัดโพธิ์) แม้เขาไม่ได้จ่ายเงินจ้างเป็นทางการ แค่ไปเที่ยวกันสนุกๆ แต่เพราะเราเป็นคนไทย และนี่คือสถานที่สำคัญที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เราจึงไม่ควรให้ข้อมูลเขาแบบผิดๆ
มาฟังเสวนาและเดินชมวัดโพธิ์กลางแดดร้อนเปรี้ยงคราวนี้จึงไม่เสียเที่ยว มีเรื่องราวไปเล่าต่อได้ว่า วัดโพธิ์ไม่ได้มีดีแค่ Thai Massage กับ Reclining Buddha นะยู