1 พฤศจิกายน 2017
5 K

ใครจะคิดว่ากลางเอกมัยมีโรงเรียนร้าง’

ฉันคิดในใจ เมื่อเดินทะลุ Acmen Complex เวิ้งคอมมูนิตี้มอลล์ระหว่างซอยเอกมัย 13 – 15 ที่ประกอบด้วยร้านเฟอร์นิเจอร์หรู ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านบิงซู และสารพัดร้านรวงที่เป็นสีสันย่านสุขุมวิท

เบื้องหลังหน้าฉากสดใส อาคารเรียน 3 ชั้นสีขาวล้อมสนามสี่เหลี่ยมผืนผ้ายืนนิ่งสงบ ชอล์กขาวบนกระดานดำยังบอกตารางสอบและข้อความอำลาเพื่อน แม้โรงเรียนโรจน์เสรีอนุสรณ์จะยุติการเรียนการสอนไปเกือบ 20 ปี กลิ่นอายของความทรงจำและทำเลงดงามทำให้ที่นี่น่าสนใจ น่าเสียดายเกินกว่าจะปล่อยให้ผุพังไปตามกาลเวลา

โรงเรียน โรงเรียนร้าง

“แวบแรกที่เข้ามาคือ เฮ้ย มีที่แบบนี้ในเอกมัยด้วยเหรอ เรารู้สึกว่าสเปซมันพอดีมาก มันไม่เล็กเกินไป ไม่ใหญ่เกินไป เราทำงานไหว แล้วก็สามารถรวมกลุ่มคนที่มีความคิดแบบเดียวกันได้แบบพอดี”

พี-รวมพร ถาวรอธิวาสน์ เจ้าของบริษัทครีเอทีฟเอเจนซี่เล่าจุดเริ่มต้นของการแปลงโฉมโรงเรียนร้างให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ผู้ก่อตั้งและ Managing Director ของบริษัทติโตติโต และ อู๋-ภฤศธร สกุลไทย Design Director บริษัท PIA interior ค้นพบสถานที่นี้ระหว่างมองหาสถานที่ใหม่ๆ นอกห้างสรรพสินค้าเพื่อจัดอีเวนต์ให้ลูกค้า แต่ความเหมาะเจาะของสถานที่ทำให้คนทั้งคู่ตัดสินใจใช้พื้นที่นี้จัดงานตามไอเดียของตัวเอง

Freeform Festival

“เราคิดถึงเรื่องนี้นานแล้ว เราเป็นแม่ เรามีลูก เราสงสัยมานานมากตั้งแต่ตอนเป็นเด็กแล้วว่าทำไมการใช้เวลาของผู้ใหญ่ต้องแยกกับเด็ก ตอนเป็นเด็กเราไม่ได้รับเสรีในการเล่น ไม่ได้ดูงานสร้างสรรค์ต่างๆ แบบผู้ใหญ่ แล้วปัจจุบันก็ไม่ค่อยมีอะไรให้เด็กกับผู้ใหญ่เสพร่วมกันเท่าไหร่ เราไปคอนเสิร์ต Fuji Rock ที่ญี่ปุ่น งานดนตรียิ่งใหญ่ แต่มี kid zone ใหญ่มาก ลูกๆ ขี่คอพ่อแม่ดูคอนเสิร์ต เห็นแล้วรู้สึกว่าเด็กควรได้ใช้เวลากับพ่อแม่ ต้องมีที่ทางให้เขาอยู่ด้วยกัน แล้วเด็กกับผู้ใหญ่ก็เป็นเพื่อนกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่ใช่ต้องเอาเด็กไปฝาก ไม่งั้นเด็กก็จะเบื่อเพื่อรอพ่อแม่ หรือพ่อแม่ต้องเบื่อที่ต้องรอลูก”

พีเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง

“เราอยากทำพื้นที่ที่ทุกคน โดยเฉพาะครอบครัวได้มาสนุกร่วมกัน”

โมเดลในฝัน

“อาร์ตสเปซถูกกำหนดโดยกลุ่มหรือบุคคลที่เป็นเจ้าของ ทุกคนตั้งใจดีที่จะสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ ความแตกต่างอยู่ที่รสนิยมและโลเคชัน ซึ่งจะกำหนดกลุ่มคนที่มาด้วย ที่นี่พอมีศักยภาพเพราะมันอยู่ใจกลางเมือง คนอยู่คอนโดหรืออยู่ในพื้นที่จำกัดแถบเส้นรถไฟฟ้า โดยเฉพาะครอบครัวเจนวายที่ไม่มีพื้นที่ทำกิจกรรมด้วยกัน ถ้าอยากไปไหนก็ต้องเข้าห้าง ก็มาที่นี่ได้ง่ายๆ”

หญิงสาวเล่าว่า เมื่อเอ่ยถึงโปรเจกต์นี้ให้ใครๆ ฟัง หลายคนบอกว่าโมเดลที่เธอสนใจคล้ายคลึงกับ PMQ พื้นที่สร้างสรรค์ที่ฮ่องกงซึ่งเคยเป็นโรงเรียนและที่พักตำรวจ (Police Married Quarters) ก่อนที่รัฐจะสนับสนุนให้เปลี่ยนอาคารเก่านี้เป็นพื้นที่สำหรับแวดวงออกแบบและศิลปะ ชั้นบนเป็นออฟฟิศนักออกแบบ ชั้นล่างเป็นร้านรวง ร้านอาหาร ร้านกาแฟเล็กๆ มาเปิดร่วมกัน และมีการจัดอีเวนต์ดีๆ อย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้เข้าร่วมใหม่ๆ ได้ตลอด

พี-รวมพร ถาวรอธิวาสน์

Freeform Festival

“พอค้นหาข้อมูลดูก็คิดว่า PMQ คล้ายคลึงกับสิ่งที่เราอยากทำมากที่สุด ตัวตึกเราแบ่งเป็นห้องๆ ง่ายที่จะเรียกกลุ่มก้อนคนที่เราชอบงานของเขามาลง เพราะเราไม่ได้ชอบงานใหญ่ๆ จุคนเป็นหมื่น แต่เป็นงานที่ศิลปินยินดีจะใช้พื้นที่เล็กๆ และมันเป็น courtyard ที่มองเห็นกันได้ ในหัวเราคิดว่ามันสวยแน่นอน

“ตอนไปหาเงิน เราเล่าเรื่องนี้ให้กลุ่มผู้สนับสนุนฟัง จะมีปฏิกิริยาแค่ 2 ประเภท คือ ไม่เข้าใจเลย งง จะมีคนมากี่คน กับแบบบอกเช้า ตอบเย็น โอเค ตาเป็นประกาย เข้าใจเลย เราเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ขาดอยู่และน่าจะเกิดขึ้นได้ในระยะยาว ซึ่งต้องใช้เงินอีกเยอะมาก เลยทดลองทำชั่วคราว 1 เดือนก่อนว่าคอมมูนิตี้แบบนี้จะอยู่ได้มั้ย”

ก่อร่างสร้างเทศกาล

ปัจจุบันพื้นที่โรงเรียนและสนามเปิดให้เช่า แต่ไม่มีการใช้งานถาวรในเชิงพาณิชย์ สภาพโรงเรียนค่อนข้างทรุดโทรมจึงต้องเดินระบบไฟใหม่ จัดการซ่อมแซมหรือกั้นจุดอันตราย เพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้าใช้พื้นที่ได้อย่างปลอดภัย โดยอู๋รับหน้าที่หลักในการออกแบบเทศกาลชั่วคราว

“อู๋เป็นมัณฑนากรที่ีมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว ปกติงานเขาคือออกแบบให้โรงแรมใหญ่ๆ แต่งานนี้เขาอยากทดลอง ทำงานสนุกๆ ที่ลดอีโก้ เขาชอบไอเดียการรวมคนสร้างสรรค์อยู่ด้วยกัน  เราสองคนเลยคิวเรตศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์มาที่นี่ ตัวเราถนัดทำเนื้อหา การตลาด การจัดการ และชักชวนเพื่อนๆ ที่ทำงานวงการแฟชั่น เพลง ละครเวที ส่วนเขาคลุกคลีอยู่ในแวดวงสถาปนิก เลยออกแบบพื้นที่และชวนเพื่อนๆ ที่ทำโปรดักดีไซน์ ประติมากร สถาปนิก มาช่วยกันทำงานโดยไม่จำกัดรูปแบบ”

อาคาร ศิลปะ นิทรรศการ งานศิลปะ

“กลุ่มคนที่รวมตัวกันครั้งนี้หลากหลายมาก เราชวนทุกคนมาสนุกกัน ขอให้มาลองผิดลองถูก มาแสดงออกฟรี ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่ต้องกลัวว่ามันจะหล่อไม่หล่อ และงานนี้มีเด็กๆ มาร่วม มาลองดูว่าเด็กจะเข้าใจไหม งานของทุกคนต้องโดนเด็กบอมบ์ได้ เด็กจับได้ทุกอย่าง ละครที่เล่นก็เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี ได้สารคนละอย่าง มีความยาวพอเหมาะที่เด็กจะทนไหวไม่ลุกออก คนที่เข้ามาจะไม่ใช่แค่กลุ่มคนสร้างสรรค์ เรารวม expat และครอบครัวที่ิอยากใช้เวลาร่วมกันด้วย ดังนั้นจะไม่ทำอะไรที่เขาจะไม่กล้าเข้ามาที่นี่”

ชื่อของเทศกาลนี้จึงเป็น Freeform Festival เทศกาลอิสระที่มีโลโก้เป็นรูปนกแบบง่ายๆ ที่เด็กทุกคน รวมถึงผู้ใหญ่ในวันนี้เคยวาดมาก่อน ภายในเทศกาลศิลปะมีละคร หนังสั้น เต้นสวิง เวิร์กช็อป งานดีไซน์ ร้านอาหารเครื่องดื่ม และกิจกรรมหมุนเวียนตลอด 4 สัปดาห์

เติบโตไปด้วยกัน

“Celebrate mistake คำนี้ได้มาจากครูฝรั่งที่โรงเรียนลูก เขาบอกว่าถ้าเด็กๆ ก้าวผ่านความผิดพลาดแล้วสมองจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ล้มก็ฉลองแล้วลุกใหม่ คนโตๆ ที่ทำงานแล้วก็เจออุปสรรคทั้งนั้น ดังนั้น งานนี้มาฉลองกันดีกว่า”

พีตั้งใจว่าระหว่างการจัดงานทั้งสี่สัปดาห์ เธอคาดหวังว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงและเติบโตของกิจกรรมและผู้เข้าร่วม ถ้ามีเด็กมาละเลงสีงานของศิลปินสักคน ก็ถือว่าเป็นเรื่องระหว่างทาง อาจจะเอางานนั้นมาจัดแสดงหรือทำนิทรรศการใหม่ หรือเอาลายเส้นนั้นมาทำเสื้อขายเพื่อบริจาค และมีความหวังเหมือนนักจัดงานคนอื่นๆ ว่าทุกคนจะรักเทศกาลนี้จนไม่ยอมปล่อยให้มันเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย

ศิลปะ นิทรรศการ ปั้นดิน

“เราอยากให้เดเวลอปเปอร์มากมายได้เห็นว่าคอมมูนิตี้เกิดจากกลุ่มคน ไม่ใช่เกิดจากการสร้างสิ่งใหญ่โตมหึมาสวยงาม แล้วคิดว่าจะดึงคนไปที่นั่นทีหลัง กลุ่มคนจะกำหนดคาแรกเตอร์และแอททิจูดของสถานที่ เราต้องคำนึงถึงครอบครัว คำนึงถึงเด็กมากกว่านี้ ที่ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เขามีสเปซที่เอื้อให้เด็กและคนแก่ใช้พื้นที่ิอยู่ร่วมกันได้ แต่เมืองไทยยังไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้”

คุณแม่ที่มีลูกสาวทิ้งท้าย ฉันกวาดตามองรอบๆ อาคารร้างที่กลิ่นอายโรงเรียนยังไม่จางหาย นึกดีใจว่าในที่สุดพื้นที่นี้จะเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและการเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างที่มันเคยเป็น

โรงเรียน โรงเรียนร้าง

ภาพ: Freeform Festival

Freeform Festival จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2017 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ Acmen Complex เอกมัย (ระหว่างซอยเอกมัย 13 และ 15) บัตรเข้างาน Freeform Festival ราคา 100 บาท/สัปดาห์ เข้าไปดูตารางจัดงานและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Freeform Festival

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan