ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมายาวนานทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เรามีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งป๊อปคัลเจอร์ อาหาร และการท่องเที่ยว ยิ่งปี 2017 นี้ถือเป็นช่วงที่เข้มข้นมาก ความนิยมของผักชีในญี่ปุ่นพุ่งทะลุจุดพีก วงไอดอลแฟรนไชส์ญี่ปุ่นอย่าง BNK48 ก็เปรี้ยงปังดังไปทั่วเมืองไทย

ปีนี้ยังมีความพิเศษอีกอย่างคือ ครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เราเลือกเรื่อง ‘ฮะนะโกะ’ ช้างไทยที่ทำหน้าที่ทูตเชื่อมเจริญไมตรีอย่างแข็งขันมาตลอดเกือบ 70 ปีมาเล่าให้ฟัง

“สำหรับคนญี่ปุ่น ช้างเป็นสัตว์ที่สื่อถึงความสุขนะ ใครๆ ก็รักช้างทั้งนั้นแหละ”

เจ้าของร้านกาแฟเคยอธิบายให้เราฟังถึงเหตุผลที่เลือกช้างเป็นโลโก้ร้าน ทั้งๆ ที่มันไม่น่าเกี่ยวข้องกับกาแฟสักนิด

คนญี่ปุ่นที่อายุ 50 – 60 ปีขึ้นไปน่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้กันทั้งนั้น เพราะฮะนะโกะในวัย 2 ขวบถูกส่งตัวไปอยู่สวนสัตว์อุเอะโนะตั้งแต่ปี 1949 ตามคำขอของรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อช่วยฟื้นฟูจิตใจของเด็กๆ และผู้คน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สมัยนั้นรูปแบบความบันเทิงยังมีจำกัด การได้เห็นช้างซึ่งเป็นสัตว์อิมพอร์ตจากต่างประเทศ ตัวใหญ่มหึมาแต่ยังคาวาอี้ จึงสร้างความสุขให้ชาวเมืองได้มาก เกิดกระแสช้างบูมที่ร้อนแรงไปทั่วประเทศ ฮะนะโกะและอินทิรา ช้างอีกเชือกที่รัฐบาลญี่ปุ่นขอมาจากอินเดีย กลายเป็นขวัญใจมหาชนที่มีพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่พร้อมแฟนคลับไปรอกรี๊ดตั้งแต่เท้าแตะแดนปลาดิบ

ความคลั่งไคล้นี้คงคล้ายกับการที่ชาวไทยให้ความรักและเอ็นดูช่วงช่วงและหลินฮุ่ยจากประเทศจีน จะต่างกันก็ตรงที่สมัยก่อนไม่มีการถ่ายทอดสดให้ดูได้จากที่บ้าน คนส่วนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่าช้างหน้าตาเป็นอย่างไร การได้มาเห็นของจริงที่สวนสัตว์เลยยิ่งเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่สร้างความประทับใจให้อย่างจัง มีคนมาดูปีละเป็นล้านคน ในที่สุดก็เกิดโครงการสวนสัตว์เคลื่อนที่เพื่อกระจายความสุขให้ทั่วถึง อินทิรารับหน้าที่เดินสายโชว์ตัวต่างจังหวัด ส่วนฮะนะโกะที่ยังเด็กรับผิดชอบงานอีเวนต์ในโตเกียว

ความป๊อปส่งผลให้สวนสัตว์ Inokashira Park Zoo ทำเรื่องขอตัวฮะนะโกะย้ายไปอยู่ที่นั่นถาวร ตั้งแต่อายุ 7 ขวบจวบจนวาระสุดท้ายในวัย 69 ปี ฮะนะโกะสร้างตำนานช้างเซเลบที่อายุยืนที่สุดในญี่ปุ่นและกลายเป็นสัญลักษณ์ของสวนสัตว์แห่งนี้

ชีวิตดาราจะขาดดราม่าไปได้ยังไง ฮะนะโกะเองก็เคยถูกสังคมโจมตีเช่นกัน เมื่อเกิดอุบัติเหตุเหยียบคนตายในโรงเลี้ยงช้าง รอบแรกเป็นคนเมาที่แอบบุกเข้าไปหากลางดึก แต่รอบที่ 2 เป็นคนเลี้ยงที่คุ้นเคยกันดี ฮะนะโกะจึงเริ่มถูกเกลียดชัง มีคนมาตะโกนว่าและเอาหินมาปา จนฮะนะโกะที่เคยขี้เล่น ชอบทักทายผู้คน ทานอาหารไม่ลง ไม่ร่าเริง ไม่ออกไปเจอผู้คนข้างนอกเช่นเคย จนกระทั่งได้คุณยะมะคะวะ คนเลี้ยงคนใหม่และทีมงานอีก 3 คนเข้ามาดูแลอย่างใส่ใจ ฮะนะโกะจึงค่อยๆ เริ่มเปิดใจให้มนุษย์อีกครั้งและกลับมาร่าเริงดังเดิม ทีมคุณยะมะคะวะและฮะนะโกะสนิทกันมาก ดูแลกันมาตลอด 30 ปีจนเขาเกษียณ เรื่องราวความผูกพันระหว่างคุณยะมะคะวะและฮะนะโกะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนประทับใจมาก ลูกชายของเขาซึ่งก็เคยตามพ่อมาช่วยดูแลฮะนะโกะเช่นกันถึงกับเขียนหนังสือเล่าเรื่องราวความรักที่พ่อมีให้กับช้างเชือกนี้ออกมาและได้รับความนิยมจน Fuji TV ซื้อลิขสิทธิ์ไปทำละครในปี 2007

นอกจากงานละคร ฮะนะโกะยังรับงานมาสคอตทีมฟุตบอล มีสารคดี งานนิทรรศการ สินค้าและของเล่นต่างๆ เป็นของตนเอง แม้แต่กรมขนส่งในท้องถิ่นทำป้ายทะเบียนรถรูปช้างออกมาด้วย นางมี follower เยอะที่สุดในสวนสัตว์ Inokashira Park Zoo (วัดจากยอดเงินบริจาคให้สวนสัตว์ซึ่งผู้บริจาคเลือกสัตว์ที่ตนเองต้องการซัพพอร์ตได้) แถมยังมีปาร์ตี้วันเกิดที่มีคนหลายวัยมาร่วมฉลองนับร้อย ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ถ้า Hachiko = สุนัขพันธุ์ชิบะ ฮะนะโกะ = ช้าง เช่นกัน ขนาดในหนังสือการ์ตูน โดราเอมอน ตอนหนึ่งที่กล่าวถึงช้าง ยังตั้งชื่อว่า ‘ฮะนะโอะ’ ให้พ้องกับฮะนะโกะเลย

ฮะนะโกะรับทั้งงานแมสและงานอาร์ต แอบไปสร้างแรงบันดาลใจในวงการศิลปะด้วย ‘I’m calling you. rebirth of humans and the elephant’ คือ photobook ที่จัดทำโดย Kichijoji Art Museum และทีม AHA! (Archive for Human Activities) ซึ่งรวบรวมภาพของผู้คนที่เคยถ่ายกับฮะนะโกะในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่เล็กจนโต เพื่อย้อนมองความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน มีคนร่วมส่งรูปถ่ายเข้ามาจำนวนมาก ตั้งแต่รูปฟิล์ม 8 ม.ม. ยันภาพจากสมาร์ทโฟน จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้คือ ทีมงานคนหนึ่งค้นพบว่า ในคลังรูปถ่ายที่พวกเขามี ฮะนะโกะมักจะปรากฏตัวอยู่ในช่วงชีวิตใดสักช่วงของคนในเมืองเสมอ

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ฮะนะโกะและผู้คนในเมืองนี้เติบโตไปพร้อมๆ กัน ตลอดระยะเวลาหกสิบกว่าปีที่อยู่ที่นี่ ฮะนะโกะคือสิ่งที่เชื่อมสัมพันธ์ของคนในครอบครัวแต่ละรุ่น ตั้งแต่คุณตาคุณยายยังเด็ก จนลูกโต พาแฟนมาเดตที่นี่ แต่งงานและมีหลานให้พามาเที่ยวสวนสัตว์อีกครั้ง

เจ้าหน้าที่สวนสัตว์เล่าให้ฟังว่า สำหรับบางคนการได้แวะมาที่สวนสัตว์แห่งนี้ คือการได้กลับมาเจอเพื่อนสมัยเด็ก คนจำนวนมากพาลูกหลานมาด้วยความประทับใจในอดีตที่ได้เจอช้างครั้งแรกที่นี่ แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแต่ช้างตัวนั้นก็ยังอยู่ การได้แชร์ความทรงจำที่ดีเหล่านั้นกับคนในครอบครัวถือเป็นเรื่องพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนเด็กๆ เองก็ตื่นเต้นที่ได้เจอสัตว์ตัวใหญ่ใจดีที่น่ารัก

เวลาผ่านไป เด็กมีจำนวนลดน้อยลง ความบันเทิงหลากหลายมากขึ้น คนหันไปนิยมเล่นกับสัตว์ตัวเล็กๆ น่ารักๆ ในสวนสัตว์อย่างหนูตะเภาหรือกระรอก สถานภาพทางสังคมของฮะนะโกะเปลี่ยนจากความบันเทิงระดับมหภาคของผู้คนในยุคหลังสงคราม เป็นเพียงความน่ารัก ความยิ่งใหญ่ของสัตว์โลกอีกชนิดในยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นใหญ่

แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ความผูกพันของชาวญี่ปุ่นกับฮะนะโกะลดน้อยลง

หนึ่งในวิธีที่จะวัดระดับความเป็นที่รัก คือความโศกเศร้าและความคิดถึงของคนที่ยังอยู่ทางนี้

ฮะนะโกะเสียชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ทางสวนสัตว์เปิดโอกาสให้คนมาวางดอกไม้ เขียนข้อความส่งถึงฮะนะโกะเป็นครั้งสุดท้าย มีคนนำดอกไม้มาวางมากกว่า 5,300 ช่อ และเขียนจดหมายมอบให้เกือบ 10,000 ฉบับ งานอำลาอาลัยซึ่งจัดในเดือนกันยายน มีคนมาร่วมงานถึง 2,800 คน ทั้งงานพิธีและมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินที่มีความผูกพันกับฮะนะโกะ นอกจากนี้ ผู้คนบริจาคเงินให้จำนวนมากเพื่อนำไปสร้างรูปปั้นฮะนะโกะที่หน้าสถานี Kichijoji (คิชิโจจิ) แม้แต่ในป้ายบอกเวลารถไฟในสถานียังขึ้นข้อความแสดงความเสียใจอยู่ช่วงหนึ่ง

ที่น่าปลื้มใจแทนฮะนะโกะคือ ทุกวันนี้ก็ยังมีคนแวะเวียนไปโรงเลี้ยงที่ไร้ช้าง ซึ่งปรับห้องด้านในเป็นงานนิทรรศการฮะนะโกะย่อมๆ เสมอ เราถามครูประจำชั้นที่พาเด็กอนุบาลมาเยี่ยมบ้านฮะนะโกะว่าทำไมยังอุตส่าห์พาเด็กๆ มาดูรูปช้างในสวนสัตว์

คุณครูตอบว่า “ต้องพามาสิ พวกเราคิดถึงฮะนะโกะนี่นา”

ใครๆ ก็รักช้างจริงด้วย

จากคุณหนูสู่วัยคุณยาย ฮะนะโกะตั้งใจทำหน้าที่ในฐานะทูตสัมพันธไมตรีอย่างดีที่สุดเสมอมา เริ่มต้นจากงานสร้างขวัญกำลังใจ สู่การสร้างสายสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนญี่ปุ่นด้วยกันเองในแต่ละรุ่น

เราจึงไม่แปลกใจเลยที่ข้อความส่วนใหญ่ในหมื่นข้อความที่ส่งให้ฮะนะโกะนั้นไม่ใช่คำอำลาอย่าง ‘sayonara’ แต่เป็นคำว่า ‘arigato’

ขอบคุณนะ

ขอบคุณคุณ Naoya Ohashi จาก Inokashira Park Zoo สำหรับข้อมูลและเอกสารต่างๆ

Writer & Photographer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ