เดือนที่แล้วฉันได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนเมืองโกลกาตา (ชื่อเดิมคือ กัลกัตตา) อดีตเมืองท่าสำคัญและเมืองหลวงของบริติชราช หรืออินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษ แม้ว่าอินเดียจะได้รับเอกราชมากว่า 70 ปี และเมืองหลวงของอินเดียได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่กรุงนิวเดลีตั้งแต่ พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) แล้วก็ตาม

แต่โกลกาตาในวันนี้ยังคงมีร่องรอยความเจริญในอดีตพร้อมอารยธรรมของอังกฤษให้เห็นอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะภาพวาดภูมิทัศน์ของเมืองในอดีต ทำให้ได้เห็นว่า ภายใต้การบริหารประเทศของอุปราชแห่งอังกฤษนั้น เมืองหลวงแห่งนี้มีสภาพราวกับเมืองในยุโรปก็ไม่ปาน

ภาพความเจริญในอดีตนี้เอง เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของไทยเคยทอดพระเนตรและทรงสัมผัสด้วยพระองค์เองเมื่อ 146 ปีก่อน โดยเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือเมืองกัลกัตตาและใช้เวลาถึง 47 วันเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ในอินเดียเพื่อศึกษาและดูงานการพัฒนาประเทศและประเมินแสนยานุภาพของกองกำลังทหารของจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจใหม่ที่ได้มาแทนที่ทั้งจีนและอินเดียในสมัยนั้น

ภาพสเกตช์เมืองกัลกัตตาและโรงแรม Great Eastern Hotel ซึ่งเป็นโรงแรมที่ประทับก่อนเดินทางกลับสยาม ปัจจุบันยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ภายใต้ชื่อ The Lalit Great Eastern Kolkata

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะกษัตริย์ผู้พัฒนาสยามไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการปกครองและการปฏิรูปประเทศ พวกเราไม่น้อยเข้าใจว่า การปฏิรูปสยามในครั้งนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้งใน พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) และ พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ซึ่งพระองค์ได้นำแบบอย่างจากนานาอารยประเทศในยุโรปมาพัฒนาสยามประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมกับชาติตะวันตก

แต่เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์อย่างละเอียดแล้วกลับได้พบมุมมองใหม่ว่า การปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผลมาจากการเสด็จฯ ไปอินเดียและประเทศรอบๆ มากกว่า ตามที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยได้ศึกษาและตั้งข้อสังเกตไว้ว่า หลังการเสด็จฯ ไปสิงคโปร์และชวาใน พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870) และเสด็จฯ ไปพม่าและอินเดียใน พ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) โดยเฉพาะภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2416 (ค.ศ. 1873) รัชกาลที่ 5 และบรรดาพระเจ้าน้องยาเธอและขุนนางรุ่นเยาว์ได้เริ่มกระบวนการ ‘ปฏิรูป’ และ/หรือขบวนการทันสมัย (Modernization) อย่างรวดเร็วและฉับพลัน มีทั้งการเก็บภาษีอากรแบบใหม่ เช่น ในกรณีของการจัดตั้ง ‘หอรัษฎากรพิพัฒน์’ การจัดตั้งองค์กรใหม่ๆ ทางด้านการเมืองและการปกครอง เช่น ปฏิรูปราชการส่วนกลาง คือ ตั้งกระทรวง ทบวง กรม เมื่อ พ.ศ. 2418 (ค.ศ.1875) ‘Council of State’ และ ‘Privy Council’ พร้อมทั้งเลิกประเพณีและธรรมเนียมโบราณที่ล้าสมัย เช่น การเลิกหมอบคลานในการเข้าเฝ้า การเริ่มต้นการเลิกทาส การริเริ่มโครงการสร้างทางรถไฟในไทยใน พ.ศ. 2430 (ค.ศ. 1887) การปฏิรูปเหล่านี้ล้วนแต่เกิดขึ้นก่อนจะเสด็จประพาสยุโรปทั้งสิ้น

ภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ่ายเมื่อต้นรัชกาลในฉลองพระองค์ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ยุคแรก

ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) ในขณะที่มีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา ลัทธิล่าอาณานิคมกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น สิงคโปร์ พม่า และอินเดีย ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ชวาเป็นของดัตช์ ขณะที่ฝรั่งเศสได้ครอบครองเวียดนามและกัมพูชา

สยามในตอนนั้นเป็นประเทศเอกราชที่ถูกกดดันและบีบบังคับจากอังกฤษและฝรั่งเศสที่ต้องการมาค้าขายอย่างเสรี ซึ่งสวนทางกับความพยายามของสยามที่จะปิดประเทศและให้รัฐผูกขาดการค้าสินค้าตลอดจนกำหนดอัตราภาษี รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีพระชนมพรรษาเพียง 19 พรรษาในขณะนั้นได้ตัดสินพระราชหฤทัยเดินทางไปต่างประเทศโดยใช้โอกาสที่ยังทรงอยู่ภายใต้การอภิบาลของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการ วัตถุประสงค์ของการเดินทางไม่ใช่เพราะอยากเห็นสถานที่แปลกใหม่ แต่หากเป็นไปเพื่อดำเนินวิเทโศบายทางการทูตขั้นสูงที่วางแผนขึ้น เพราะตระหนักถึงอำนาจของจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสที่ทวีขึ้น โดยเดิมทีพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จฯ ไปยุโรป แต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไม่ยอม และประณีประนอมให้เสด็จฯ ไปเพียงประเทศอินเดีย

ภาพลอร์ดเมโย หรือ Richard Bourke 6th Earl of Mayo อุปราชและข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดีย ว่ากันว่าเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจเป็นลำดับสามในยุคนั้น รองจาก สมเด็จพระบรมราชินีวิกตอเรียและนายกรัฐมนตรีอังกฤษ

ดังนั้น รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงลอร์ดเมโย อุปราชและข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดีย โดยได้อ้างถึงความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างสยาม-บริติชราช ว่าพระองค์ต้องการเสด็จฯ เยือนเพื่อให้พระองค์ทรงมีคุณค่าเหมาะสม ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์และเพิ่มพูนประสบการณ์การในการบริหาร โดยกล่าวว่า “ทั้งตัวเราและสภาองคมนตรีต่างเชื่อว่าไม่มีประเทศใดในบูรพาทิศนี้ มีความเข้าใจเรื่องศาสตร์แห่งการปกครองอย่างชัดเจน หรือความเป็นอยู่ของราษฎรได้รับการสงเคราะห์อย่างจริงจังดัง ที่ดำเนินอยู่ในจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ซึ่งมีรัฐบาลที่ ฯพณฯ เป็นผู้บริหารอย่างสามารถยิ่ง”

ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลอังกฤษก็วิเคราะห์พระราชประสงค์นี้อย่างใกล้ชิด โดยพันตรี อี.บี. สเลเดน ซึ่งได้รับมอบหมายให้ตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ในระหว่างประทับอยู่ที่อินเดีย ได้แสดงความเห็นเชิงบวกว่า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าสยามให้ความเป็นมิตรกับอังกฤษเหนือกว่ามหาอำนาจยุโรปชาติอื่น และเห็นว่าสยามอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านแบบแผนความเจริญจากตะวันออกมาเป็นแบบตะวันตก

ลอร์ดเมโยยังได้กล่าวในงานเลี้ยงต้อนรับกษัตริย์แห่งสยามว่า “ข้าพระพุทธเจ้าแน่ใจว่าตลอดระยะเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินอยู่ภายในจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่นี้ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะทรงได้พบเห็นสิ่งที่ทรงสนพระราชหฤทัย และการเสด็จประพาสในครั้งนี้จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ฉันมิตรที่มีต่อกันอันเกิดขึ้นแล้วระหว่างข้าแผ่นดินของสมเด็จพระบรมราชินีกับพสกนิกรจำนวนหลายล้านคนของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท”

ภาพรัชกาลที่ 5 กับคณะผู้ตามเสด็จ ซึ่งประกอบด้วยเจ้านาย ราชวงศ์ เสนาบดี และขุนนาง
ภาพ: หนังสือ ร.๕ เสด็จอินเดีย เขียนโดย Sachchidanand Sahai

รัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มต้นการเดินทางในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) โดยกระบวนเรือได้เดินทางออกจากแม่น้ำเจ้าพระยา แวะที่สิงคโปร์ ปีนัง มะละแหม่ง และย่างกุ้ง ก่อนจะถึงท่าเรือกัลกัตตาในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.  2415 (ค.ศ. 1872) โดยมีผู้ติดตามชาวอังกฤษ 2 คน คือ พันตรี อี.บี. สเลเดน ซึ่งเคยเป็นตัวแทนอังกฤษที่เมืองมัณฑะเลย์ และ โธมัส จอร์ช น็อกซ์ กงสุลใหญ่ของอังกฤษประจำสยาม โดยคนหลังทำหน้าที่เป็นล่ามถวายพระองค์ตลอดการเดินทางด้วย

เมืองต่างๆ ที่ทางอังกฤษจัดให้เสด็จพระราชดำเนิน เริ่มจากทิศตะวันออกไล่ไปยังทิศตะวันตกของประเทศ ประกอบด้วยกัลกัตตา บาร์รักปอร์ เดลี อักรา คอนปอร์ (หรือคานปูร์ในปัจจุบัน) ลัคเนาว์ จุบบุลปูร์ (หรือจาบัลเปอร์ในปัจจุบัน) บอมเบย์ (หรือมุมไบในปัจจุบัน) และพาราณสี ตามลำดับ

ภาพเรือสำเภาในขบวนเรือพระที่นั่ง
ภาพ: หนังสือ ร.๕ เสด็จอินเดีย เขียนโดย Sachchidanand Sahai
ท่าพรินเซ็ป หรือ Prinsep’s Ghat ที่เทียบเรือพระที่นั่งเมื่อเสด็จฯ ถึงเมืองกัลกัตตา
ภาพแผนที่เส้นทางการเสด็จพระราชดำเนินเยือนอินเดียเป็นเวลา 47 วัน
ภาพ: หนังสือ ร.๕ เสด็จอินเดีย เขียนโดย Sachchidanand Sahai

การเสด็จฯ เยี่ยมชมเมืองกัลกัตตาซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ในภูมิภาคและเมืองบอมเบย์ซึ่งเป็นเมืองท่าค้าขาย เป็นโอกาสให้ได้ทอดพระเนตรเห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความศิวิไลซ์ของสังคมอังกฤษ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถม้าเพื่อเยี่ยมชมโรงหล่อที่ผลิตปืนใหญ่และกระสุนปืน โรงงานทอกระสอบ โรงงานกษาปณ์ โรงกรองน้ำ โรงต่อเรือ ได้ทอดพระเนตรอุปรากรในโรงอุปรากรแบบฝรั่ง ทอดพระเนตรมหรสพ เข้าร่วมงานลีลาศ งานเลี้ยงรับรอง และตรวจพลสนาม

ฉันเองแม้ไปเห็นเมืองโกลกาตาที่เสื่อมโทรมลงมากตามกาลเวลา ก็ยังสัมผัสได้ว่า ในอดีตเมืองหลวงแห่งนี้รุ่งเรืองเพียงใด สิ่งต่างๆ ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่กลางเมือง อัฒจันทร์ชมการแข่งม้าขนาดใหญ่จุคนได้เรือนพัน รถรางบุโรทั่งที่ยังคงวิ่งรับส่งผู้คนในเมืองวันนี้ในอดีตคงงดงามและหรูหราไม่น้อย เช่นเดียวกับบอมเบย์ หรือมุมไบในวันนี้ ที่มีอาคารสวยงาม ผังเมืองแบบอังกฤษ และสถานีรถไฟสไตล์อังกฤษ ยังคงอยู่ให้เห็นโดยทั่ว

สถานีรถไฟวิกตอเรียที่เมืองบอมเบย์ใน ค.ศ. 1870 ปัจจุบันถูกรัฐบาลอินเดียเปลี่ยนชื่อเป็น Chhatrapati Shivaji Maharaj Terminus (CSMT) ซึ่งเป็นชื่อของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ก่อตั้งจักรวรรดิมาราธา

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 5 ยังทรงได้เปิดโลกทัศน์โดยการประทับรถไฟพระที่นั่งขบวนพิเศษของการรถไฟอินเดียสายตะวันออกเดินทางไปยังแต่ละเมืองกว่า 200 ชั่วโมง ขณะที่เสด็จประพาสประเทศอินเดียมีทางรถไฟทั้งหมด 6,823 ไมล์ หรือ 10,980 กิโลเมตร การเดินทางจากกัลกัตตาไปเดลีของพระองค์ใช้เวลาเพียง 36 ชั่วโมงเท่านั้น หากใช้คนหามเดินแบบอดีตอาจใช้เวลานานถึง 3 – 4 สัปดาห์ในเส้นทางเดียวกัน

รัชกาลที่ 5 พอพระราชหฤทัยกับการเดินทางด้วยรถไฟอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการมาถึงตรงตามเวลาที่กำหนดในตาราง ถึงกับมีพระราชดำริจะจัดตั้งกิจการรถไฟในสยาม ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2430 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสำรวจเส้นทางรถไฟกรุงเทพ- เชียงใหม่เป็นครั้งแรก ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของระบบการขนส่งแบบใหม่ ที่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และทหาร ขนาดใหญ่ให้กับประเทศ

รถไฟอินเดียในยุคแรก

ไม่เพียงแต่ความเจริญก้าวหน้า แต่แสนยานุภาพทางทหารของอังกฤษก็เป็นที่ประจักษ์ พระองค์ทอดพระเนตรการซ้อมรบใหญ่ของอังกฤษที่กรุงเดลีตามกำหนดการที่จัดโดยอังกฤษ ในโอกาสนั้น คณะชาวสยามได้เห็นอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ตลอดจนการดำเนินกลยุทธ์และการเคลื่อนกำลังทหารโดยการใช้เครื่องมือแบบวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย มองได้ทางหนึ่งว่า เป็นแผนการของอังกฤษเพื่อสร้างความประทับใจให้กับกษัตริย์สยาม และทำให้พระองค์เป็นพันธมิตรรักษาผลประโยชน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับอังกฤษ

นอกจากนี้ ผู้นำสยามยังได้เยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเหตุการกบฏซีปอย พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) ซึ่งเป็นการกบฏจลาจลครั้งใหญ่ในอินเดียที่สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวอังกฤษ จนนำไปสู่การปราบปรามอย่างหนักและจุดจบของราชวงศ์โมกุลในที่สุด ‘อนุสรณ์สถานบ่อน้ำคอนปอร์’ หรือที่อาจารย์ชาญวิทย์เรียกว่า ‘บ่อน้ำสังหาร’ ที่รัชกาลที่ 5 ได้ทอดพระเนตร เป็นจุดที่กลุ่มกบฏอินเดียได้โยนศพสตรีและเด็กชาวอังกฤษประมาณ 60 คนซึ่งถูกกลุ่มกบฏสังหาร

เหตุการณ์นี้ได้สร้างความโกรธแค้นอย่างยิ่งให้ชาวอังกฤษ นำไปสู่การตอบโต้กลุ่มกบฏอย่างโหดเหี้ยม การได้เห็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกบฏครั้งใหญ่ในอินเดียนี้ ก็น่าจะมีส่วนทำให้สยามตระหนักว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อมหาอำนาจตะวันตกแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน อาจจะไม่ได้ผลดีเท่าการเป็น ต้นสนลู่ลม สละส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่

รัชกาลที่ 5 กับคณะชาวอังกฤษขณะเสด็จฯ เยือนอินเดีย

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นที่น่าสนใจในการเสด็จฯ เยือนอินเดียครั้งนี้ก็คือ เรื่องของพิธีการทูต ซึ่งจากที่ได้อ่านจากหนังสือ ร.๕ เสด็จอินเดีย เห็นได้ว่าพระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และสมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ของประเทศเอกราช โดยฝ่ายอังกฤษได้จัดเตรียมข้าราชการระดับสูงของรัฐบาลและจัดเตรียมสถานที่อย่างสวยงาม มีการปูพรมแดง รวมทั้งมีการยิงสลุตถวาย 21 นัด พร้อมทหารกองเกียรติยศ แตรวงและธงทิวในสถานที่สำคัญทุกแห่งที่เสด็จฯ ไปเยือน

ส่วนสถานที่ประทับมีทั้งคฤหาสน์ที่กัลกัตตา กระโจมของอุปราชที่เดลี และสถานที่ประทับแรมที่ใหญ่โตหรูหราราวกับพระราชวังที่มาลาบาร์ฮิลล์ นอกจากนี้ อุปราชเมโยเองยังได้เดินทางกลับจากการตรวจดูการซ้อมรบใหญ่ที่เดลีมาที่กัลกัตตาเพื่อให้การต้อนรับพระเจ้าอยู่หัวแห่งสยามด้วยตนเอง และจัดงานเลี้ยงต้อนรับโดยเชิญแขกผู้เกียรติมาเข้าร่วมถึง 1,300 คน

ขณะเดียวกัน กระแสสื่อในอินเดียก็เห็นพ้องว่า สยามมีผู้นำที่มีพระจริยวัตรงดงาม สุขุม และมีพระราชทรัพย์มากมายที่จะจับจ่ายใช้สอยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของบริติชราช

อินเดียเมื่อ 146 ปีก่อนมีทั้งความรุ่งเรือง สวยงาม ขณะเดียวกันก็โหดร้าย ซึ่งเป็นบทเรียนล้ำค่าให้กับสยามในการพัฒนาประเทศ

อินเดียวันนี้ก็เช่นกัน ยังคงมีก็มีทั้งเรื่องบวกและลบให้เราเรียนรู้ศึกษา เพื่อเป็นบทเรียนให้กับตัวเราและการพัฒนาประเทศต่อไป

หมายเหตุ: บทความนี้ค้นคว้าข้อมูลส่วนใหญ่จากหนังสือ ร.๕ เสด็จอินเดีย ซึ่งแปลมากจากหนังสือภาษาอังกฤษ India in 1782: As seen by the Siamese เขียนโดย Sachchidanand Sahai โดยผ่านการค้นคว้าวิจัย 5 ปี หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นหนังสือที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการเสด็จต่างประเทศครั้งสำคัญ

Writer

Avatar

ปัทมน ปัญจวีณิน

เจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊คและเพจ ‘ไปญี่ปุ่นกับทุนมง’ ปัจจุบันย้ายบ้านมาทำงานอยู่ที่อินเดีย สนุกกับการขีดเขียน การเดินทางท่องเที่ยว และสูดกลิ่นกาแฟหอม ๆ