ผมขับรถออกจากกรุงเทพฯ แต่เช้าเพื่อเลี่ยงรถติดในเช้าวันจันทร์ วันแรกของวันทำงานมุ่งหน้าไป ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อเริ่มเข้าสู่เขตเมืองแปดริ้ว รถบัสขนส่งพนักงานโรงงาน รถบรรทุก ก็หนาแน่นอยู่ดีจนไม่ต่างกันกับเมืองหลวงสักเท่าไหร่ ผมวิ่งเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 304 ซึ่งเป็นถนนที่เต็มไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม เป็นที่ตั้งของโรงงานมากมาย จนเมื่อเริ่มเลี้ยวเข้าสู่อำเภอสนามชัยเขต ความหนาแน่นของโรงงานและรถราจึงเริ่มน้อยลง แทนที่ด้วยความหนาแน่นของสีเขียวจากต้นไม้ที่เริ่มหนาตาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ผมมาเพื่อร่วมงาน ‘เมนูผักพื้นบ้าน’ ของพี่นัน-นันทพร หาญดี ผู้นำเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา เจ้าของโครงการ ‘304 กินได้’ ร่วมมือกับ กินเปลี่ยนโลก องค์กรที่สร้างภูมิปัญญาความรู้เกี่ยวกับอาหาร ทำโครงการที่พี่นันและชาวบ้านกลุ่มเกษตรพื้นที่ลุ่มน้ำบางประกงอยากนำแหล่งอาหารกลับคืนมา จากการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมบนถนนหลวงสาย 304 ที่มลพิษจากทั้งทางอากาศและน้ำเริ่มส่งผลต่อสภาพแวดล้อม จนทำให้แหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์เริ่มหายไป

เมนูผักพื้นบ้าน เมนูผักพื้นบ้าน เมนูผักพื้นบ้าน

ผมเคยมาที่ตำบลคู้ยายหมีหลายครั้งแล้ว พาคนมาเรียนรู้วิถีชีวิตกับชาวบ้านตั้งแต่ปลูกข้าว หัดทำขนม จนถึงนั่งล้อมวงกินอาหารจากผลผลิตที่ได้จากการปลูกแบบอินทรีย์ฝีมือชาวบ้าน มาทุกครั้งก็มักจะอิ่มแปล้ แถมได้ของติดไม้ติดมือกลับบ้านไปทุกครั้ง เมนูเด็ดที่จะขาดไม่ได้เลยคือส้มตำสารพัดดอกไม้ ขนมจีนห้าสี และข้าวต้มมัดห่อใบ้กะพ้อ โดยเฉพาะส้มตำดอกไม้ ที่ได้พืชผักสวนหลังบ้านจากในหมู่บ้านซึ่งถือเป็น signature dish ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ฝีมือของชาวบ้านที่นี่อร่อยเชื่อมือได้เลยครับ

อันที่จริงความอร่อยของอาหารที่นี่ก็ออกจะได้เปรียบอาหารที่อื่นๆ เพราะความสด และรสแท้ๆ ของวัตถุดิบก็อร่อยด้วยตัวมันไปอยู่แล้วเสียครึ่งหนึ่ง

ที่พูดถึงนั่นแค่คู้ยายหมีตำบลเดียวนะครับ พอผมรู้ข่าวว่าพี่นันจะจัดงานประชันเมนูของชาวบ้านกว่า 10 ตำบลใกล้เคียง ผมก็ตัดสินใจได้ไม่ยากที่จะขับรถมาร่วมงานถึงที่

เมนูผักพื้นบ้าน

บรรยากาศของงานไม่ใหญ่ไม่เล็ก ชาวบ้านเริ่มทยอยเข้ามาเรื่อยๆ แม่ครัวแต่งตัวกันสวยงาม แบกหม้อ แบกกระทะ เตาแก๊ส เตาถ่าน หอบหิ้ววัตถุดิบที่จะเอามาประชันกัน ดูอบอุ่นเหมือนงานบุญงานบวช ทั้งๆ ที่งานนี้ไม่ได้มาแข่งกันทำอาหารกันแบบเอาเป็นเอาตายหรอกนะครับ แต่พอเริ่มงานเสียงครกจากทุกครัวก็ดังแข่งกันเอาเรื่องเหมือนกัน

เมนูผักพื้นบ้าน

ลานตรงกลางงานเป็นที่รวมพืชผักและวัตถุดิบนานาชนิดที่เป็นพืชปลอดสารทั้งหมด ให้แม่ครัวพ่อครัวมาหยิบเลือกไปปรุงอาหารได้ตามใจ มีมากมายเหลือเฟือ แม่ครัวพูดแซวกันว่าตรงนี้คือซูเปอร์มาร์เก็ตดีๆ นี่เอง

ผมเดินดูแต่ละซุ้มที่เริ่มลงมือทำอาหารกันแล้ว เมนูที่นำมาทำประชันเป็นเมนูประจำบ้าน ประจำครอบครัว บางบ้านก็สืบทอดกันมาจากผู้แก่ผู้เฒ่า บางบ้านก็ทำกินกันในวงสังสรรค์หลายเมนูดูน่ากินตั้งแต่ยังไม่ลงมือปรุง แค่แม่ครัวผัดเครื่องแกงก็เริ่มกลืนน้ำลายแล้วครับ

เมนูผักพื้นบ้าน เมนูผักพื้นบ้าน

แกงไก่ลูกกล้วย

พี่นันชี้ให้ผมดูแกงไก่ลูกกล้วยจากบ้านบางพะเนียง บอกว่าเป็นแกงโบราณที่นานๆ จะหาทานได้สักที ใช้กล้วยน้ำว้าดิบลูกเล็กจะอร่อยกว่าพันธุ์ลูกใหญ่ๆ แกงกับไก่บ้าน หลังจากรวนไก่บ้านกับเครื่องแกงที่โขลกกันสดๆ ตรงนั้นแล้วก็เติมกะทิลงไป พอแกงได้ที่ก็ใส่ใบกะเพราเป็นขั้นตอนสุดท้ายตามสูตรดั้งเดิมของบ้าน

เมนูผักพื้นบ้าน เมนูผักพื้นบ้าน

อ่อมปูนา

บ้านไม้แก้วนำเสนอการกินตามฤดูกาลผ่านเมนูอ่อมปูนา เพราะที่หอบเอามาเต็มตะกร้าล้วนเป็นพืชผักตามฤดูกาลทั้งหมด แม้กระทั่งปูนาที่ใช้ก็เป็นฤดูที่เหมาะกับการนำมาทำอาหาร เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ปูนาจะเริ่มวางไข่ จะมีความมันอยู่ในตัวมากกว่าปกติ แต่ปูก็จะคาวมาก เมนูเลยต้องใช้กระเทียมมากหน่อยมาดับคาว และปกติอ่อมจะใช้ข้าวเบือหรือข้าวเหนียวตำละเอียดมาผสมเพื่อทำให้น้ำแกงข้น แต่สูตรแม่ครัวที่นี่เขาจะใช้ไข่ไก่เพื่อทำให้น้ำข้นแทนครับ

ผมชอบเมนูนี้เป็นพิเศษ แม่ครัวเล่าว่าพอทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่ยาฆ่าแมลง ปูก็กลับมาสู่นาข้าว ฟังดูจะเหมือนดี แต่ที่จริงปูนาเป็นศัตรูข้าวและเป็นศัตรูของชาวนาด้วย เลยจับมันมาทำอาหารกินเสียเลย

เมนูผักพื้นบ้าน เมนูผักพื้นบ้าน เมนูผักพื้นบ้าน

แกงนางหวาน

แกงนางหวานคือชื่อเรียกแก้เคล็ดของแกงบอน ซึ่งบอนเป็นวัตถุดิบหลักของเมนูนี้ รู้กันอยู่ว่าแกงบอนไม่ได้ทำกันง่ายๆ หากเลือกหรือทำไม่เป็น มันจะคันคอคันปาก ต้องอาศัยประสบการณ์ และการแก้เคล็ดบ้าง (ฮา) แม่ครัวบอกเราคร่าวๆ ว่าบอนมี 2 แบบ แบบที่มันขาวๆ ใสๆ จะกินไม่ได้ ส่วนอีกแบบหนึ่งที่สีเข้มกว่าจะเอามาทำอาหารได้ ถึงยังไงผมก็ไม่กล้าเสี่ยงทำเองอยู่ดี แกงนางหวานนี้มีทีเด็ดอยู่ที่ส่วนผสมลับ คือน้ำใบไชยาที่ถือว่าเป็นผงชูรสธรรมชาติ นำมาบีบขยำคั้นเอาน้ำมาผสมลงในแกง ทำให้น้ำแกงที่ได้รสนัวมาก ไม่อยากเฉลยก่อนเลยว่าแกงนี้ได้รางวัลป๊อปปูลาร์โหวตจากคนทั้งงานที่ร่วมชิมเลยนะครับ

เมนูผักพื้นบ้าน เมนูผักพื้นบ้าน

แกงไก่บ้าน 3 สายพันธุ์ใส่หยวกกล้วย

ไก่ 3 พันธุ์ที่ว่าไม่ใช่ไก่ที่ใส่ในแกงนั้นมีอยู่ 3 ชนิดนะครับ แต่มันคือไก่บ้านพันธุ์ใหม่เลี้ยงแบบธรรมชาติ ที่ผสมกันระหว่างไก่บ้าน ไก่ไข่ และไก่เนื้อ ออกมาเป็นไก่บ้านพันธุ์ใหม่ที่เนื้อนุ่มกว่าไก่บ้านทั่วไป แกงกับหยวกกล้วยสาว หรือกล้วยที่ยังไม่เคยออกลูกมาก่อน พริกแกงของบ้านนี้พิเศษตรงที่ไม่ใส่หอมลงไปในเครื่องแกง พ่อครัวบอกว่าคนเฒ่าคนแก่เขาทำกันมา ผมลองชิมดูแล้วมันค่อนข้างเห็นความแตกต่างเหมือนกันนะครับ แถมอร่อยเสียด้วยสิ

เมนูผักพื้นบ้าน เมนูผักพื้นบ้าน

แกงคั่วลูกจาก

ตอนแรกผมนึกภาพเมนูนี้ว่าเป็นลูกจากเนื้อวุ้นใสๆ ขุ่นๆ ที่เราเอามาทำขนมกัน แกงลูกจากของบ้านโพธิ์นี้ใช้ก็ใช้ลูกจากเหมือนกัน แต่จะใช้ลูกจากแบบอ่อนยังจนเนื้อด้านในยังไม่กลายเป็นวุ้นใส หั่นและต้มหลายๆ น้ำจนหายฝาด เคล็ดลับคือใส่มะขามเปียกลงไปด้วยตอนต้ม ผมเพิ่งเคยได้ชิมต้นจากแบบอ่อนเป็นครั้งแรก เนื้อลูกจากคล้ายๆ กระท้อนหรือขนุนอ่อนเลยครับ พอเอามาทำแกงแล้วทำให้นึกถึงแกงคั่วกระท้อนนิดๆ

เมนูผักพื้นบ้าน เมนูผักพื้นบ้าน

แกงเลียง

ชื่อเมนูจากบ้านยางแดงบนที่ฟังดูปกติธรรมดา แต่ที่มาและรสชาติไม่ได้ธรรมดานะครับ เพราะผักที่นำมาแกงนี้เป็นผักที่ปลูกมาจากการเก็บเมล็ดพันธุ์ออร์แกนิกทั้งหมดของกลุ่มแม่ครัวเอง ทำให้ได้ผักรสอร่อยและปลอดภัยไว้ทำอาหาร ส่วนประกอบที่ใส่ในแกงเลียงมีทั้งบวบ ผักก้านตรง ฟักทอง ยอดฟักทอง และแตงไทย ให้ความข้นและหวานของน้ำแกงจากข้าวโพด อีกเคล็ดลับสำคัญของน้ำแกงคือใช้ปลาช่อนนาย่างด้วยไม้ไผ่ จะให้ความหอมมากเป็นพิเศษเสียด้วย

เมนูผักพื้นบ้าน

คั่วไส้เทวดา

ชื่อเมนูดึงดูดใจมากพอๆ กับหน้าตา คั่วไส้เทวดาคือไข่ตุ๋นที่ผสมเครื่องแกงและดอกไม้นานาพรรณลงไปด้วย เป็นของที่พ่อครัวอารมณ์ดีบอกว่าเอาไว้กินเวลาสังสรรค์กัน พริกแกงที่ต้องเอาวัตถุดิบไปเผาไฟให้หอมก่อน ใส่ผักและดอกไม้ แล้วตีไข่ลงไปผสมก่อนจะนำไปนึ่งจนสุก ได้ไข่ตุ๋นหอมพริกแกง และสามารถปรุงรสเพิ่มได้ตามชอบใจ

เมนูผักพื้นบ้าน

ยำตะไคร้สามสาวกับน้ำพริกกะปิผักทอด

เมนูยำทำง่ายแต่อร่อยเมนูจากบ้านดงบัง จังหวัดปราจีนบุรี ยำตะไคร้ใส่หอมแดง แครอท มะม่วง ผักชี ถั่วลิสง แต่พิเศษที่ใช้ตะไคร้พันธุ์พื้นบ้านที่จะให้กลิ่นหอมกว่าตะไคร้พันธุ์เกษตรที่จะให้กลิ่นหอมน้อยกว่า และการใส่มะพร้าวคั่วลงไปด้วยคั่วมะพร้าวไฟอ่อน ให้มีกลิ่นหอมและเพิ่มความมันของยำมากขึ้น ทานคู่กับน้ำพริกกะปิใส่มะอึก ผักทอด

เมนูผักพื้นบ้าน เมนูผักพื้นบ้าน

แกงบวดรุ่ย

เมนูนี้เป็นเมนูของหวานล้างปาก รุ่ยเป็นพืชน้ำกร่อยที่ขึ้นอยู่ในป่าชายเลน ชาวบ้านนิยมนำรุ่ยมาปรุงอาหาร ได้ทั้งคาวทั้งหวาน แต่ก็หาทานได้ยากนะครับเพราะต้องใช้ความพยายามในการนำมาทำอาหาร ต้องขูดเปลือกฝักรุ่ยออก ก่อนที่จะล้างน้ำต้มหลายๆ น้ำ แล้วยังต้องแช่น้ำด่างจากขี้เถ้าอีกเพื่อให้ไม่ฝาด กว่าจะได้รุ่ยที่พร้อมนำมาทำอาหารต่อ รุ่ยนิยมนำมาเชื่อม และทำแกงบวดเหมือนที่ทำมาให้กินในวันนี้ เนื้อของรุ่ยคล้ายๆ กับมัน และฟักทองเวลานำมาทำขนมเลยมีรสที่คุ้นเคยกว่าที่คิด พี่นันเล่าว่า สาเหตุที่นำรุ่ยมาปรุงเป็นอาหารก็เพื่อฟื้นองค์ความรู้ของการทำอาหารจากรุ่ยที่กำลังจะหายไป รุ่ยมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศป่าชายเลนที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ การใช้รุ่ยมาทำอาหารจึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับรุ่ย และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนด้วย

เมนูผักพื้นบ้าน เมนูผักพื้นบ้าน เมนูผักพื้นบ้าน

รายการนี้ไม่ได้มีแต่เมนูของพ่อครัวแม่ครัวชาวบ้าน แต่ยังมีแขกรับเชิญจากกลุ่มเชฟจากเมืองกรุงด้วยครับ เชฟแต่ละคนที่ถูกรับเชิญมาต่างสนุกกับผักพื้นบ้านสดๆ และวัตถุดิบดีๆ ที่สามารถเลือกมาทำเป็นเมนูได้ทันที เมนูน้ำพริก แกงอ่อม ถูกปรับเปลี่ยน พลิกแพลงให้กลายเป็นเมนูใหม่ๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากอาหารของชาวบ้าน ปิดท้ายด้วยการเสิร์ฟอาหารของเชฟให้ชาวบ้านได้ลองชิมกัน เชฟหลายคนบอกว่าปกติไม่เคยได้ใช้วัตถุดิบที่สดใหม่ขนาดนี้ ปกติวัตถุดิบที่ใช้ในร้านต้องผ่านการเก็บ การแช่แข็ง ก่อนที่จะนำมาทำอาหาร การได้จับวัตถุดิบสดใหม่ทำให้รู้สึกดีมากๆ

เมนูผักพื้นบ้าน เมนูผักพื้นบ้าน

พี่นันบอกว่าที่ตั้งใจเชิญเชฟมา เพราะต้องการจะพูดเรื่องราวที่อยากสื่อสารอย่างผักพื้นบ้านเกษตรอินทรีย์ และองค์ความรู้ในการกินในวงกว้างมากขึ้น เชฟจากเมืองกรุงก็จะมาช่วยสร้างองค์ความรู้ในการกินให้ไปถึงคนในเมืองมากขึ้น อยากบอกให้คนเห็นความสัมพันธ์ ได้รู้ว่าการกินไม่ได้แค่สุขภาพของตัวเองหรือสิ่งแวดล้อม แต่มันมากไปถึงว่าจะทำเกษตรกรต้นทางเข้มแข็งได้อย่างไร ทำให้จะช่วยคุ้มครองปกป้องพื้นที่เพาะปลูกอาหารดีๆ ได้อย่างไร รวมไปถึงเป้าหมายใหญ่ๆ คือการเปลี่ยนนโยบายของรัฐด้วย พี่นันบอกว่า ถ้าเราเพาะปลูกกันอย่างเดียวโดยที่ผู้บริโภคไม่เข้าใจมันก็ไม่ได้ผล พลังมันไม่พอ เพราะสิ่งที่หวังไว้คืออยากให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารจริงๆ ใครที่อยากกินผักปลอดภัยก็สามารถทานที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจะต้องมาหาที่นี่แล้ว

เมนูผักพื้นบ้าน

Writer & Photographer