กี่ครั้งแล้วที่ต้องเสียน้ำตาให้กับหนังโฆษณาของไทยประกันชีวิต

ต่อให้ผ่านบททดสอบความแข็งแกร่งจากบทเรียนชีวิตมาเท่าไร ยอมรับก็ได้ ว่าใจไม่แข็งแรงพอที่จะนั่งดูหนังโฆษณานี้ในที่สาธารณะได้ เหตุผลเดิมๆ อย่างอาการง่วงเหงาหาวนอนจนน้ำออกจากตาก็ไม่เคยปกปิดสีหน้าและจมูกแดงๆ ได้สักนิด

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่เราดู #ถ้ามีโอกาสจะรักษามันไว้ หนังโฆษณาขนาดยาวเรื่องใหม่ล่าสุดของไทยประกันชีวิต ก็เกิดความสงสัยว่า นอกจากจะไม่ร้องไห้แบบแต่ก่อนแล้ว หัวใจเรายังแอบเต้นผิดจังหวะ

นั่นเป็นเพราะหนังเรื่องนี้สร้างความประหลาดใจแก่เราด้วยวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ จากเดิมที่คนดูอย่างเรารู้จังหวะปล่อยน้ำตาเมื่อเพลงบรรเลงขึ้นพร้อมฉากเฉลยปมเรื่องราวทั้งหมด มาคราวนี้ไม่เพียงปล่อยหมัดให้จุกอกอย่างไม่รู้ตัว ยังเล่นกับความรู้สึกของคนดูในทุกมิติ เซอร์ไพรส์ตั้งแต่นาทีแรกของเรื่องไปจนจบ พาให้เราอยู่ 9 นาทีนี้อย่างไม่รู้สึกตัว

เราชวน คุณนพดล ศรีเกียรติขจร รองประธานกรรมการ จาก Ogilvy & Mather Advertising Thailand และ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับ 100 ล้านจากภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง และหนังโฆษณาล่าสุด #ถ้ามีโอกาสจะรักษามันไว้ มาพูดคุยถึงกระบวนการทำงานและแนวคิดของโฆษณาที่เราขอเรียกว่าเป็นโฆษณาแนวทดลองที่สนุกที่สุด เราอยากรู้เหลือเกินว่า สูตรใหม่ในการเรียกน้ำตาจากคนดูของพวกเขาคืออะไร

#ถ้ามีโอกาสจะขอให้ลองดูพร้อมกันอีกสักครั้ง

ก่อนที่จะไปฟังแนวคิดการทำงานเบื้องหลังทั้งหมด เราอยากให้คุณรับชมหนังโฆษณาชุดนี้อีกสักครั้ง

#ถ้ามีโอกาสจะสื่อสารใหม่ใจความเดิม

โจทย์ที่ทาง Ogilvy ได้รับจากบริษัทไทยประกันชีวิตซึ่งทำงานร่วมกันมามากว่า 10 ปี  ยังเป็นการสื่อสารประเด็นเดิม คือการเห็นคุณค่าของชีวิตและความรัก ซึ่งลงลึกในความรู้สึกของชีวิตและการมีชีวิต ถ่ายทอดผ่านโครงเรื่องที่สร้างการจดจำของคนทั่วไป ความท้าทายของทีมงานก็คือทำยังไงถึงจะนำเสนอแนวคิดเดิมด้วยวิธีการใหม่ๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

หากสงสัยว่า ทำไมแบรนด์ถึงเลือกพูดเนื้อหาเดิมๆ มากกว่า 10 ปี คุณนพดลอธิบายว่า “เมื่อมันเป็นมากกว่าการขายของ เรื่องเหล่านี้จึงไม่เคยล้าสมัย” และสารที่อยู่ในโฆษณาของไทยประกันก็ยังเป็นความรู้สึกสากลที่เข้าถึงคนทุกชาติได้ นักโฆษณาและนักการตลาดระดับโลก รวมถึงฟิลิป คอตเลอร์ ปรมาจารย์ด้านการตลาดอันดับต้นๆ ของโลก ต่างพร้อมใจกันยกเคสหนังโฆษณาของไทยประกันให้เป็น Sadvertising หรือโฆษณาสะเทือนอารมณ์

#ถ้ามีโอกาสจะตีโจทย์นี้ยังไง

คุณนพดลบอกว่า ลูกค้าอยากให้คนเห็นคุณค่าของชีวิต ลุกขึ้นมาให้โอกาส รักษาโอกาสที่ผ่านมาในชีวิต เพื่อทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นและให้โอกาสคนอื่นเพื่อให้สังคมดีขึ้น ทางทีมครีเอทีฟจึงตีโจทย์ออกมาว่า อยากทำหนังสารคดีที่พูดถึงแง่มุมที่ดีงามของการมีชีวิตอยู่ เป็นเรื่องของ 3 ครอบครัวซึ่งพบได้ทั่วไปในสังคมยุคปัจจุบัน ได้แก่ เรื่องของพ่อที่เข้มงวดและตั้งความหวังในตัวลูกชาย แต่รับไม่ได้ที่ลูกเป็นเกย์จึงทะเลาะกันจนลูกชายหนีออกจากบ้าน เรื่องราวของสาววัยทำงานที่ใช้เวลาทั้งหมดไปกับงานจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว จนวันหนึ่งพบว่าโอกาสที่ใช้เวลากับครอบครัวไม่มีอีกแล้ว และสุดท้ายเรื่องราวของหนุ่มที่ไม่มีโอกาสใช้เวลากับลูกหลังจากเลิกกับภรรยา และเพื่อให้เล่าเรื่องได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้หนังโฆษณาเรื่องนี้ยาวกว่าเรื่องก่อนๆ

เหตุผลที่ทางทีมครีเอทีฟเลือก บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ มาเป็นผู้กำกับก็เพราะ บาสเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ที่มีมุมมองการถ่ายทอดเรื่องราวในแบบตัวเอง เคยกำกับหนังของไทยประกันชีวิตแล้ว เรื่องลูกชายคนกวาดขยะ (Garbage Man) พ.ศ. 2558 และเรื่องคอนเสิร์ตข้างถนน (Street Concert) พ.ศ. 2557 ทางครีเอทีฟจึงมั่นใจว่าบาสจะช่วยพัฒนาหนังให้มีเสน่ห์มากขึ้นกว่าเดิม โดยที่ยังคงเอกลักษณ์ของหนังไทยประกันชีวิตไว้ได้

หนังโฆษณาที่ฉีกตำราการเรียกน้ำตาแบบเดิม ด้วยกระบวนท่าที่ล้ำที่สุดของไทยประกันชีวิต

#ถ้ามีโอกาสจะเล่าเรื่องแบบ documentary drama

โจทย์จากทีมครีเอทีฟที่ส่งมาให้บาสคือทำ documentary drama สัมภาษณ์คนที่มีตัวตนจริง 3 คน หน้าที่ของบาสคือตีโจทย์ออกมาเป็นวิธีการเล่าเรื่องที่มีมิติขึ้น ซึ่งบาสอธิบายความแตกต่างระหว่างหนังสารคดีที่เล่าอย่างมีอารมณ์กับสารคดีทั่วไปว่า “หนังสารคดีทั่วไปมีความจริงมากกว่านี้ ไม่กระตุ้นอารมณ์คนมากมาย แต่เมื่อมาเจอกับดราม่า เราต้องกำหนดขอบเขตอะไรบางอย่าง กำหนดความคิดของตัวละครเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ทางอารมณ์หรือสารที่ต้องการจะสื่อ

“จากเดิมในยุคที่หนังโฆษณาของไทยประกันชีวิตเป็น fiction เล่าเรื่องและกระตุ้นอารมณ์อย่างมีชั้นเชิงจนเกิดเป็นมาตรฐานการทำหนังโฆษณาในเชิงอารมณ์ มาถึงจุดหนึ่ง เมื่อมองจากสายตาคนนอก เรารู้สึกว่าคนปัจจุบันไม่ชอบการถูกชักจูงอารมณ์มากเกินไป คือรู้นะว่าเรื่องมันเศร้า แต่อย่ากระตุ้นอารมณ์เศร้าไปมากกว่านี้ ถ้าอยากจะรู้สึกอะไร ขอรู้สึกด้วยตัวเอง พอเป็น documentary ก็อาศัยความจริงของเรื่องเพื่อให้คนรู้สึกว่า นี่เป็นเรื่องจริงนะ ไม่ได้แต่งขึ้นมา ลองดูชีวิตของเขาสิ ค่อยๆ ชักจูงไป”

งานนี้บาสทดลองทำงานด้วยวิธีการใหม่ๆ นั่นก็คือ อะไรที่อยากให้คนดูรู้ว่าไม่ใช่เรื่องจริงก็จะบอกเลยว่าไม่จริง เช่น การให้เห็นทีมงานและกองถ่ายอยู่หน้าบ้าน หรือการเอาเทปตอนคัดเลือกตัวแสดงของตัวละครที่เล่นเป็นแม่มาใส่ในหนังเพื่อให้เห็นว่าจัดฉากขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ด้านความรู้สึกจริงๆ ของตัวละคร

บาสบอกว่า ต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะให้ทุกส่วนเข้าใจและยอมรับการทำงานในแนวทางนี้

หนังโฆษณาที่ฉีกตำราการเรียกน้ำตาแบบเดิม ด้วยกระบวนท่าที่ล้ำที่สุดของไทยประกันชีวิต หนังโฆษณาที่ฉีกตำราการเรียกน้ำตาแบบเดิม ด้วยกระบวนท่าที่ล้ำที่สุดของไทยประกันชีวิต

#ถ้ามีโอกาสจะออกตามหานักแสดง

บาสบอกว่า การกำกับหนังเรื่องนี้ไม่มีอะไรยากเลย ยกเว้นคัดเลือกนักแสดง

เรื่องพี่จ๋าที่ไม่เคยพาแม่ไปเที่ยว ตอนฟังบรีฟจากลูกค้าบาสรู้สึกจี๊ดขึ้นมาทันที เพราะตัวเขาเองก็เป็น เลยคิดว่าจะจี๊ดขึ้นไหมถ้าคนนั้นทำงานเป็นผู้นำทัวร์พาคนอื่นไปเที่ยวตลอดเวลา ตัวละครบิ๊กที่เป็นทีมงานฝ่ายคัดเลือกตัวแสดงที่แยกกับลูกหลังเลิกกับภรรยาก็เป็นเพื่อนของบาส ซึ่งมีชีวิตที่ใกล้เคียงกับโจทย์ที่ได้รับมาก แล้วก็ทำงานในกองถ่ายอยู่แล้วด้วย พอทุกคนรู้ความตั้งใจที่หนังต้องการจะสื่อ ก็ยินดีให้ความร่วมมือเปิดเผยชีวิตตัวเอง

ตัวละครและสถานการณ์ที่หายากที่สุดคือ เรื่องของเดียร์ ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเจอคนที่ทะเลาะกับพ่อแล้วหนีออกจากบ้าน เรื่องของเดียร์มีมิติและความลึกมากกว่านั้น แต่บาสเลือกหยิบมาแค่มุมที่ไม่กระทบกับเจ้าตัวมากจนเกินไป

หนังโฆษณาที่ฉีกตำราการเรียกน้ำตาแบบเดิม ด้วยกระบวนท่าที่ล้ำที่สุดของไทยประกันชีวิต หนังโฆษณาที่ฉีกตำราการเรียกน้ำตาแบบเดิม ด้วยกระบวนท่าที่ล้ำที่สุดของไทยประกันชีวิต

#ถ้ามีโอกาสจะติดตามไปออกกอง

บาสเล่าว่า การถ่ายทำเรื่องนี้ไม่ยากเลย เพราะเขาแทบไม่ต้องออกแบบมุมกล้อง ไม่ต้องถ่ายเผื่อเยอะ ไม่ต้องเตรียมเสื้อผ้า ไม่ต้องเซ็ตฉากให้ใหญ่โต ทุกอย่างมันจริงมาก เขาแค่ออกแบบการทำงานและความรู้สึกของตัวเองตอนถ่าย เพราะเรื่องสำคัญอยู่ที่การได้รับความรู้สึกแท้จริงที่มีต่อคำว่าโอกาสของตัวละครทั้งสามคน

“เรื่องนี้เราพยายามให้จริงที่สุด ทุกคำพูด ทุกการกระทำ ในเรื่องนี้ 90 เปอร์เซ็นต์มาจากตัวละครจริงๆ เราได้ไก่ (ณฐพล บุญประกอบ) ซึ่งเก่งมากเรื่องการทำสารคดีมาช่วย ด้วยบุคลิกของไก่และการจัดเรียงคำถามดึงให้ตัวละครพูดในสิ่งที่เขารู้สึกจริงๆ เราทำงานร่วมกับไก่ก่อนว่าจะใช้วิธีการและคำถามแบบไหนเพื่อพาเรื่องราวไปในทิศทางที่อยากให้เป็น สุดท้ายแล้วเทกเดียวผ่าน ได้คำตอบแบบไหนเราก็ใช้แบบนั้น ทุกอย่างที่ได้ยินในหนังไม่มีสคริปต์ ไม่มีการเขียนก่อนล่วงหน้า เราต้องมีสติกับการถ่ายมากๆ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะตอบอย่างไร เราไม่รู้ว่าลูกตัวจริงเปิดประตูมาหาพ่อแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราต้องมีสติรับมือกับเรื่องตรงหน้าให้ได้”

บาสเล่าต่อว่า กระบวนการที่ยากที่สุดคือ การตัดต่อ ซึ่งได้ มานพ บุญวิภาส  ผู้ลำดับภาพมือฉมังที่ตัดต่อหนังโฆษณามากว่า 20 ปีและตัดต่อหนังโฆษณาไทยประกันชีวิตให้พี่ต่อ (ธนญชัย ศรศรีวิชัย) ทั้งหมด เรื่องนี้ไม่มี shooting board มีแค่สคริปต์คร่าวๆ บทพูดที่ได้มาจริงก็ไม่ตรงกับสคริปต์ บาสกับมานพเลยต้องพยายามหาวิธีตัดต่อที่ลงตัวร่วมกัน

หนังโฆษณาที่ฉีกตำราการเรียกน้ำตาแบบเดิม ด้วยกระบวนท่าที่ล้ำที่สุดของไทยประกันชีวิต

#ถ้ามีโอกาสจะหนีออกจาก safe zone

บาสพยายามหลีกเลี่ยงการถ่ายด้วยท่ามาตรฐานในหนังทั่วไปเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น พยายามไม่ถ่ายสัมภาษณ์ระยะครึ่งตัว พยายามจับภาพแคบแค่หน้า เห็นแค่แววตา เพราะบาสรู้สึกว่า หนังสัมภาษณ์คือหนังที่คนพูดกับคน เวลาที่คนปกติคุยกัน ถ้าอยากมองตาตาเราก็โฟกัสอยู่แค่ตรงนี้ เราไม่ได้เห็นอย่างอื่น เราไม่ได้สนใจว่าเขานั่งอยู่ที่ไหน

แล้วเขาก็ยังตั้งใจละลายกล้องให้หายไป เพื่อไม่ให้นักแสดงรู้สึกว่ามีกล้องจับจ้องอยู่ อย่างซีนที่เห็นแค่หน้าตัวละครมุมแคบ กล้องตั้งอยู่ไกลมาก บาสขอให้คนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ พื้นที่ในการทำงานจึงมีแค่ตัวละคร ไก่ และแอ็กติ้งโค้ช กล้องจะซ่อนอยู่หลังตู้ หลังประตู เกือบทั้งหมด

สิ่งหนึ่งที่บาสรู้ว่าเสี่ยงมากแต่ก็ขอลองก็คือ เรื่องของพี่จ๋ากับแม่ปลอม ทีแรกทีมงานคิดกันว่าฉากเที่ยวทะเลน่าจะถ่ายที่บางแสนหรือริมทะเลที่ไหนสักแห่ง แล้วจัดองค์ประกอบให้ดูคล้ายต่างประเทศ แต่ถ่ายไปสักพักบาสรู้สึกว่าถ้าทำแบบนั้นก็ยังผิดจากความตั้งใจที่อยากใช้ความจริงให้มากที่สุด เช้าวันต่อมาบาสเลยบอกโปรดิวเซอร์และลูกค้าว่า ขอลองทางนี้ได้ไหม

“ผมไม่ไปถ่ายที่ทะเลแล้ว แต่ให้พี่จ๋าและแม่ไปเที่ยวทะเลกันจริงๆ ขอซื้อทัวร์ให้เขาไปบาหลีกัน แล้วส่งแค่ไก่และทีมงานอีกคนไปเก็บภาพจากที่ไกลๆ ก่อนไปเราให้พี่จ๋ากับตัวแสดงที่เล่นเป็นแม่มาเวิร์กช็อปสร้างความสัมพันธ์แม่ลูกจริงๆ ให้เขาเชื่อมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วบอกไก่ว่าให้อยู่ห่างๆ พวกเขาเลยนะ ที่บอกว่าเสี่ยงเพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะได้ฟุตเทจแบบไหนมา สุดท้ายคือภาพที่ออกมาจากช่วงที่ถ่ายทำที่บาหลีออกมาดีมาก”

บาสสรุปว่า “เราไม่ได้ feed หนัง แต่หนังต้อง feed เรา” เพราะในงานกำกับหนังปกติ ผู้กำกับทำหน้าที่เป็นเหมือนวาทยากรควบคุมวงออเคสตร้า แต่เรื่องนี้สิ่งที่ควบคุมทุกอย่างในหนังก็คือ ตัวแสดงจริง ผู้กำกับต้องตามตัวละครให้ทัน

เพลงประกอบเรื่องนี้ คือเพลง แค่เพียง ของ Yellow Fang ซึ่งบาสชอบอยู่แล้ว เพราะมีมิติด้านอารมณ์และเนื้อหาลึกมาก ช่วงที่กำลังพัฒนาบท อยู่ดีๆ เพลงนี้ก็ลอยมาในหัวบาสซึ่งมันเข้ากันพอดี แต่ตอนนั้นบาสยังไม่มั่นใจว่าจะใช้เพลงนี้ได้ เพราะกลัวลูกค้าจะมองว่าฮิปสเตอร์ไปสำหรับสินค้า แต่เอาเข้าจริงทุกคนก็ชอบมาก เพราะมันเสริมความรู้สึกลึกๆ ของตัวละคร

พิม มือเบสวง Yellow Fang เคยแสดงรับบทเป็นคุณครูประจำชั้นในโฆษณาไทยประกับชีวิตชุดลูกชายคนกวาดขยะ (Garbage Man) มาแล้วด้วย

ช่างเป็นเรื่องบังเอิญที่น่ารักจริงๆ

หนังโฆษณาที่ฉีกตำราการเรียกน้ำตาแบบเดิม ด้วยกระบวนท่าที่ล้ำที่สุดของไทยประกันชีวิต หนังโฆษณาที่ฉีกตำราการเรียกน้ำตาแบบเดิม ด้วยกระบวนท่าที่ล้ำที่สุดของไทยประกันชีวิต

#ถ้ามีโอกาสจะแบ่งปันเรื่องราว

นอกจากหนังโฆษณาที่เล่าเรื่องด้วยรูปแบบใหม่แล้ว แคมเปญ #ถ้ามีโอกาสจะรักษามันไว้ ยังเปิดโอกาสให้คนร่วมแบ่งปันเรื่องราวซึ่งต่างจากแคมเปญที่ผ่านมาที่จะมีแค่หนังโฆษณาที่พูดเรื่องคุณค่าของชีวิตเท่านั้น

“หนังชุดนี้จะทำให้ผู้ชมจมดิ่งไปกับเรื่องราวของทั้งสามครอบครัวจริงที่เคยมีโอกาสแต่รักษาเอาไว้ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อดูหนังโฆษณานี้จบลง คนจะกลับคิดถึงโอกาสของตัวเอง เรามองว่าการชวนให้คนร่วมแบ่งปันโอกาสที่เขาอยากที่จะรักษามันไว้เป็นเหมือนตัวกระตุ้นที่ทำให้คนลุกขึ้นไปใช้ ‘โอกาส’ ไปแสดงออก นั่นคือการทำให้เขาใช้ชีวิตให้มีคุณค่า ซึ่งก็กลับมาสู่แก่นของแบรนด์ที่อยากให้คนเห็นคุณค่าของชีวิตและความรัก” คุณนพดลกล่าวทิ้งท้าย

หนังโฆษณาที่ฉีกตำราการเรียกน้ำตาแบบเดิม ด้วยกระบวนท่าที่ล้ำที่สุดของไทยประกันชีวิต

หนังโฆษณาที่ฉีกตำราการเรียกน้ำตาแบบเดิม ด้วยกระบวนท่าที่ล้ำที่สุดของไทยประกันชีวิต

#ถ้ามีโอกาสจะรักษามันไว้

การตัดสินใจทำงานชิ้นนี้ถือเป็นการรักษาโอกาสเหมือนกันหรือเปล่า เราถามบาส

“อาจจะฟังดูหล่อนะ แต่เราขอบคุณลูกค้าทั้งทางเอเจนซี่และไทยประกันชีวิตที่ไว้ใจเรา เพราะแม้กระทั่งตอนที่เราไปขายเรายังไม่ค่อยไว้ใจตัวเองเลย บางคนก็ยังนึกภาพไม่ออกแต่เขาก็ยอมไปกับเราเพราะเขาไว้ใจเรา เป็นโอกาสที่เราได้รับมาแล้วเรารู้สึกว่าเราต้องทำให้ดีที่สุด โชคดีที่ลูกค้าเชื่อใจ เปิดกว้าง และเข้าใจหนังมากพอ”

แม้เราจะจำโอกาสที่อยากรักษาไว้ไม่ได้ทั้งหมดตอนนี้ แต่นั่นก็พอย้ำเตือนให้เราเห็นคุณค่าของปัจจุบัน เพราะบ่อยครั้งที่เราปล่อยให้โอกาสที่มีผ่านไป หรือเผลอทำบางสิ่งโดยไม่คิดถึงผลต่อความรู้สึกของใคร

จะว่าไปเราไม่มีทางรู้หรอกว่าโอกาสที่ได้รับจะเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายหรือไม่

ภาพ : Ogilvy & Mather Advertising Thailand

credit

Agency
Ogilvy & Mather Advertising Thailand

Production
House
SuperUber Film

Creative Team
นพดล ศรีเกียรติขจร
ไกร กิตติกรณ์
ธนชัย ชวิตรานุรักษ์
ณัทฐคง แจ้งเสม
กฤตน์ การ์ฟอร์ด สปินเล่อร์

Client Service Team
จิรวรา วีรยวรรธน
ฐิติมา เลี้ยงพาณิชย์
มรกต เหรียญทอง
ปราณปรียา อรุณจินดาตระกูล
ดลฤทัย นิมิตรปัญญา

Integrated Unit
ธนวัฒน์ จงมหากุล
ณัฏฐวุฒิ สมสุข
ศุภฤกษ์ กุลินทรประเสริฐ
ธนิดา ปรีชาวิภัทร

Strategic Planning Team
วานิช จิระสุวรรณกิจ
ศศิภา มงคลนาวิน

Social Planning Team
วรันย์ ศิริประชัย

Agency Producer
ยุทธพงศ์ วรานุเคราะห์โชค

Film Director
นัฐวุฒิ พูนพิริยะ (SuperUber Film)

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ