23 กุมภาพันธ์ 2021
10 K

บ้านหลวงประสิทธิ์, นอนเหนือ, อุไทย เฮอริเทจ, อุ่นไอมาง, Angelo Family Suites, Hotel Prince Theatre Heritage, Palin Family Cottage, Rice Country Village, Shoes Maker Home, Oxotel และ เวฬาวาริน

สถานที่เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ถูกแปลงโฉมจาก โรงสี ยุ้งฉาง บ้านคุณหลวง โรงหนังเก่า โรงงานรองเท้า หอพักเก่า อาคารร้าง โรงเรียน โรงงานกระเบื้อง ฯลฯ ให้เป็นบูติกโฮเทลด้วยฝีมือของ The Boutique King และ ฝีมือของนักเรียนที่ผ่านการอบรมจากคอร์สเปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล

ขิง-วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ Homemade Stay

ขิง-วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ กูรูบูติกโฮเทล พ่วงตำแหน่งสถาปนิกแห่ง Supergreen Studio ชายผู้สร้างสรรค์และออกแบบโรงแรมขนาดเล็กด้วยวิชา ‘เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล’ เขียนหนังสือเพื่อผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก และสร้างแอปพลิเคชัน Homemade Stay ระบบหลังบ้านสำหรับบริหารจัดการโรงแรมขนาดเล็กและขนาดกลาง

เขาคนนี้ฉีกกรอบและกฎการทำธุรกิจโรงแรม แม้มีทำเลแย่ ก็เป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้! 

ยิ่งมีบ้านเก่า ตึกเก่า อาคารเก่า ไม่ต้องโทรหาศักดา (ทุบตึก) ขอให้เก็บรักษาเอาไว้ให้มั่น แล้วมาเปลี่ยนบ้านเก่าเป็นโรงแรมด้วยกัน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ Legacy ของบ้าน ที่จะเพิ่มเรื่องราวมัดใจที่พักขนาดเล็ก

เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล คอร์สสอนวิธีแปลงโฉมบ้านเก่าเป็นโรงแรมท้องถิ่นทรงคุณค่า
เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล คอร์สสอนวิธีแปลงโฉมบ้านเก่าเป็นโรงแรมท้องถิ่นทรงคุณค่า

อีกมิติ บ้าน จะพาคนกลับบ้าน หนุ่มสาวจะเป็นเจ้าของกิจการที่พักขนาดจิ๋วในบ้านเกิดของตัวเอง ท้องถิ่นเกิดการพัฒนา สร้างรายได้ให้คนในชุมชน เกิดการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์พร้อมกับการเกิดขึ้นของบูติกโฮเทล

“คนจีนเกิดมาค้าขาย คนยิวเกิดมาค้าเงิน แขกเกิดมาทำไอที คนไทยเกิดมาเพื่อทำบูติกโฮเทล” 

ขิงเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพาธุรกิจท่องเที่ยวเชิดฉาย เพราะนี่คือกระดูกสันหลังของชาติ แถมการท่องเที่ยวในประเทศก็รุ่งเรืองสุดขีด เป็นโอกาสอันดีที่คุณจะอ่านเรื่องราวของชายคนนี้ แล้วหันซ้าย หันขวา เล็งบ้านเก่าที่เคยมี โรงนาของคุณพ่อ โรงทอผ้าของคุณยาย บ้านไม้ริมธารของคุณปู่ แล้วจัดการแปลงโฉมให้สวยเช้ง ณ บัดนี้

เปลี่ยนโรงรถเป็นโรงแรม

ขิงเริ่มต้นอาชีพด้วยบทบาทสถาปนิก เขาเป็นพี่ใหญ่ของ Supergreen Studio บริษัทออกแบบที่เน้นการประหยัดพลังงาน ย้อนความราว 10 ปีก่อน หัวเรือใหญ่กำลังมองหาทำเลเหมาะเหม็งสำหรับลงหลักปักฐานทำออฟฟิศ

“ตอนแรกจะทำบ้านเป็นออฟฟิศ แต่เรารู้สึกว่ามันไม่มืออาชีพ ถ้าลูกค้ามาคุยงานแล้วเจอแม่เรานั่งกินข้าว” เขาหัวเราะร่วนกับความคิดแรก “เราเลยต้องมีออฟฟิศ แล้วบริษัทของเราเน้นออกแบบประหยัดพลังงาน เลยต้องหาทำเลที่มันแสดงถึงปรัชญา Supergreen เราน่าจะพูดเรื่องเมืองเก่า วัด อาหารราคาถูก ลูกน้องนั่งเรือมาทำงานได้”

อดีตโรงรถในซอยสามเสน 5 เป็นหมุดหมายของ Supergreen Studio 

“สามเสนตอนนี้เป็นย่านเท่ เมื่อสิบปีก่อนยังเงียบ ไม่มีดริปกาแฟ ไม่มีฮิปสเตอร์ เราไปเช่าโรงรถขนาดยี่สิบตารางวา เดือนละสองหมื่น เราใช้แค่ห้าตารางวา ปรากฏที่เหลือเลยอยากจะทำโรงแรม ตอนนั้นอายุสามสิบเจ็ด มีเงินแค่ห้าแสนจากทุกบัญชีรวมกัน ถ้าเราทำจะต้องประสบความสำเร็จมากๆ ถ้าไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่เหลือเงินแล้ว”

โจทย์ใหญ่ทำให้ขิงวิเคราะห์อย่างรอบคอบ เขาทำรีเสิร์ชด้วยตนเองจนได้ความว่า กิจการโรงแรมสมัย 10 ปีก่อน มีให้เลือกเพียง 2 ราคา ราคาสูงระดับบ้านจักรพงษ์ และราคาถูกระดับถนนข้าวสาร ซึ่งตลาดยังขาดที่พักที่อยู่ระหว่างกลาง บวกกับคำว่าบูติกโฮเทลยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย นั่นเป็นโอกาสที่เขามองเห็น

เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล คอร์สสอนวิธีแปลงโฉมบ้านเก่าเป็นโรงแรมท้องถิ่นทรงคุณค่า

“จุดขายของเราคือที่พักประหยัดพลังงาน เพราะเราเป็นสถาปนิกแนวกรีน เราเคยได้ทุนจากรัฐบาลอินเดียไปเรียนผังเมือง แล้วก็ทำงานกับ ราช เรวาล (Raj Rewal) และ เจฟฟรีย์ บาวา (Geoffrey Bawa) สองคนนี้เก่งมาก เราเอาองค์ความรู้ของเขามาออกแบบ ทำให้โรงแรมของเราเย็นโดยไม่ต้องเปิดแอร์ ซึ่งตอนนั้นเราประสบความสำเร็จมากๆ กลายเป็นดังขึ้นมา

“เราว่าดังเพราะมันตอบคำถามของคนในขณะนั้น สามห้องเป็นโรงแรมได้หรอ สามห้องเก็บราคาแพงได้หรอ ไม่มีที่จอดรถทำไมขายห้องละสองพันกว่าบาท เป็นเซกเมนต์ใหม่ที่เปิดตลาด ช่วงนั้นประเทศไทยบูมเรื่องการท่องเที่ยว แต่ผู้ประกอบการรายย่อยนึกไม่ออกว่าเขาจะมีส่วนร่วมได้ยังไง ซึ่งการทำที่พักของเรามันเป็นคำตอบให้เขา”

Samsen 5 Lodge ปรับโฉมโรงรถเป็นบูติกโฮเทลหัวใจสีเขียว สร้างชื่อตั้งแต่หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ จนถึงหนังสือ National Geographic และยังจุดประกายให้ผู้ประกอบการเห็นช่องทางก่อร่างธุรกิจที่พักขนาดเล็ก

“เรามาจากครอบครัวที่ทำโรงแรม พ่อเราเป็นคนทำโฮสเทลคนแรกของประเทศไทย ทำตั้งแต่เราอายุสิบห้า มีโอกาสช่วยครอบครัวทำธุรกิจนี้ เลยมีพื้นฐานที่จะต่อยอดได้” เขาเฉลย, นี่สินะ ลูกสถาปนิกหล่นไม่ไกลต้น 

หนึ่งตำบล หนึ่งบูติก

จากชื่อเสียงถล่มทลายของการเปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบ้านใหม่ ทำให้คนมาดูงานที่ Samsen 5 Lodge อย่างไม่ขาดสาย ปริมาณคนมากขนาดที่ว่าสถาปนิกไม่เป็นอันทำงาน พี่ใหญ่ของบ้านจึงแก้ปัญหาด้วยการจัดคอร์สเรียน

“เจตนารมณ์ที่เปิดคอร์สเพราะเราอยากสอนให้คนอนุรักษ์โดยยังมีรายได้ เราได้แรงบันดาลใจจากบ้านไม้ปลายซอย เพราะซอยสามเสน 5 มีบ้านเก่าเยอะ จำได้ว่าปลายซอยมีบ้านสวยอยู่สองหลัง ตอนเช้าเราเห็น บ่ายสองมันหาย บ้านอายุแปดสิบปีถูกผู้รับเหมาไม้มาซื้อ เราถามเจ้าของ เขาบอกว่าได้มาสามหมื่นพร้อมที่จอดรถสามคัน 

“เราก็ เฮ้ย แบบนี้ไม่ได้แล้ว เราน่าจะสอนคน สอนให้เขารู้ว่าตึกเก่ามีมูลค่า ถ้าเขาเก็บไว้ เขาหาเงินจากมันได้มากกว่ารื้อขายเป็นเศษไม้อีก นั่นเป็นความตั้งใจแรกในการเปิดคอร์สของเรา” สถาปนิกเล่าด้วยความอิน

เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล คอร์สสอนวิธีแปลงโฉมบ้านเก่าเป็นโรงแรมท้องถิ่นทรงคุณค่า

ครั้งแรกของการเปิดเวิร์กช็อป ‘เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล’ นักเรียนสมัครเต็มภายใน 2 วัน ใช้เวลาสอนเพียง 1 วัน ครึ่งเช้าเรียนบรรยาย ครึ่งบ่ายออกดูงาน หลังจากนั้น 2 เดือน ขิงเปิดเวิร์กช็อปครั้งที่ 2 ใช้เวลาสอน 2 วัน วันแรกเรียนบรรยาย วันที่สองออกดูงาน เขาพัฒนาหลักสูตรอย่างไม่หยุดยั้ง ปัจจุบันจัดเวิร์กช็อปเป็นครั้งที่ 43

โรงเรียนแสนอบอุ่นหลังนี้ผลิตนักเรียนไปแล้วเกือบ 6,000 คน ตลอดระยะเวลา 12 ปี

“จากเราสอนสองวัน พัฒนาเป็นสี่วัน เป็นสิบเอ็ดวัน ซึ่งลงรายละเอียดเยอะหน่อย เริ่มตั้งแต่ไปดูที่ดินให้เขาเลย ไกลแค่ไหนก็ไป การไปดูที่ดินนักเรียน 20 ที่ เหนื่อยนะ แต่มันคือแพสชันของเรา เรามีความฝัน เราเรียกมันว่า OTOP-One Tambon One Boutique แต่ละตำบลมีบูติกดีๆ ไว้พิทักษ์ตึกเก่า แล้วก็กระจายรายได้กันในตำบล

เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล คอร์สสอนวิธีแปลงโฉมบ้านเก่าเป็นโรงแรมท้องถิ่นทรงคุณค่า
เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล คอร์สสอนวิธีแปลงโฉมบ้านเก่าเป็นโรงแรมท้องถิ่นทรงคุณค่า

“การไปดูไม่ได้ดูเรื่องดีไซน์อย่างเดียว แต่ให้คำปรึกษา สอนความรู้ และคอยผลักดันด้วย คนที่มาเรียนกับเรา หลายคนไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เขามีความอยาก สิ่งที่เราทำคือช่วยต่อจุดของเขาให้กลายเป็นวงกลมที่สมบูรณ์

“บางคนมีทุกอย่าง แต่ไม่มีเงิน เราก็สอนเขาให้เรียนรู้การกู้เงิน บางคนสภาพจิตใจห่อเหี่ยว เราก็กระตุ้นเขา สร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากทำ ให้เขารู้สึกว่าเขาทำได้ เมื่อเขาทำได้ ใครบ้างจะได้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่ตัวเขา แต่ที่ดินในพื้นที่หรือชุมชนถูกพัฒนา มีการกระจายรายได้ในท้องถิ่น บางคนอาจได้กลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่”

หลักสูตรของกูรูบูติกโฮเทลปูพื้นฐานตั้งแต่การเขียนแผนธุรกิจสำหรับกู้เงิน การวิเคราะห์ทำเล การวิเคราะห์ลูกค้า การดีไซน์ การคำนวณราคาห้อง การสร้างจุดขาย การตลาด และที่สำคัญมากคือ เรื่องกฎหมาย

รู้อะไรไม่สู้ รู้กฎหมาย

จากกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2559 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2561 กฎหมายจะหมดอายุเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 น้อยคนนักจะรู้และใช้กฎหมายฉบับนี้ให้เป็นประโยชน์

“การทำโรงแรมต้องออกแบบอาคารใหม่ให้เป็นโรงแรมโดยเฉพาะ ต้องใช้ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 สำหรับอาคารสร้างใหม่ เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวบูม รัฐบาล คสช. ออกกฎหมายฉบับนี้มา สาระคือการลดหย่อนพื้นที่ เจตนาของกฎหมาย ต้องการให้ผู้ที่ทำผิดไปแล้วมาทำให้ถูก แต่ปัญหาของกฎหมายที่ออก พ.ศ. 2559 คือไม่มีการประชาสัมพันธ์

“เราได้ข้อมูลว่า มีเพียงสิบเปอร์เซ็นต์ของคนผิดเท่านั้นที่เข้ามาแก้ไขให้ถูกต้อง สิ่งที่เรามองเห็นคือประเทศเสียโอกาส บ้านเรามีตึกเก่าจำนวนมาก ถ้าพ้นกฎหมายแล้วทำอะไรไม่ได้ก็น่าเสียดาย ถึงธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพฯ จะแป้ก แต่ต่างจังหวัดกับเมืองรอง บูมมาก คนอยากหา Destination ใหม่ ฉะนั้น ธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กจะไปได้ดี”

เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล คอร์สสอนวิธีแปลงโฉมบ้านเก่าเป็นโรงแรมท้องถิ่นทรงคุณค่า
เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล คอร์สสอนวิธีแปลงโฉมบ้านเก่าเป็นโรงแรมท้องถิ่นทรงคุณค่า

เราขอรวบรัดฉบับเข้าใจง่าย ว่าด้วยเงื่อนไข 6 ข้อ ของการเปลี่ยนอาคารเก่าเป็นโรงแรม

หนึ่ง อาคารที่จะเปลี่ยนเป็นโรงแรมต้องสร้างก่อน 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สอง ต้องได้รับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารภายใน 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สาม เปลี่ยนเป็นโรงแรมประเภท 1 (ห้องพัก) และประเภท 2 (ห้องพักและห้องอาหาร) เท่านั้น

สี่ ที่ว่างของอาคารไม่น้อยกว่า 10 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ชั้นที่มากที่สุดของอาคาร และตรวจสอบรายละเอียดความกว้างทางเดิน ความกว้างบันได บันไดหนีไฟ และคุณสมบัติการทนไฟของโครงสร้าง

ห้า ระยะร่นต่างๆ ให้ใช้กฎหมายวันที่อาคารนั้นได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง (อาคารยิ่งเก่า กฎหมายยิ่งเปิดกว้าง)

หก เรื่องอื่นๆ ที่ไม่กล่าวใน 6 ข้อนี้ ให้ยึดตามพรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

(อ้างอิงจาก คู่มือฉบับพกพา : เปลี่ยนอาคารเก่า เป็นบูติกโฮเทล)

ไม่มีคำว่าทำเลทอง ในตำราของ The Boutique King

เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล คอร์สสอนวิธีแปลงโฉมบ้านเก่าเป็นโรงแรมท้องถิ่นทรงคุณค่า

“คาถาข้อแรกของการลงทุนทำโรงแรมคือโลเคชัน ข้อที่สองคือโลเคชัน ข้อที่สามคือโลเคชัน ซึ่งเป็นคำพูดที่ถูกต้องที่สุด ถ้าไม่มีโลเคชันสร้างตึกไม่ได้ ถูกต้องแค่นั้นนะ สำหรับเราไม่มีคำว่าทำห้องพักราคาห้าพันบาท ต้องติดริมแม่น้ำ เราไม่เชื่อในนิยามของโลเคชันแบบนั้น โลเคชันสำหรับบูติกโฮเทลที่ดี คือโลเคชันที่ Offer ประสบการณ์

“นิยามของบูติกโฮเทลต้อง Re-think ใหม่ ถ้าเราตีโจทย์โลเคชันได้ จะลงทุนที่ไหนก็ได้”

โรงสี ยุ้งฉาง บ้านคุณหลวง โรงหนังโป๊ โรงงานรองเท้า หอพักเก่า อาคารร้าง โรงเรียน แต่ละสถานที่ล้วนไม่ได้อยู่ในทำเลกลางเมือง แต่สิ่งที่สถานที่เหล่านี้มีร่วมกันคือ ประสบการณ์และเรื่องราว นับว่ามีค่ายิ่งกว่าทำเลทอง

“โรงแรมขนาดเล็กจะแข่งกับโรงแรมขนาดใหญ่ได้ ต้องมีสิ่งที่โรงแรมใหญ่ไม่มี นั่นคือเรื่องราว

“เรื่องราวเป็นสิ่งที่ได้มาด้วยเวลาเพียงอย่างเดียว ทำไมแมนดารินโอเรียนเต็ลถึงดัง เพราะอายุร้อยปี ตำนานคือสิ่งที่ซื้อไม่ได้ ฉะนั้น บูติกโฮเทลจะชนะตึกใหม่ได้ด้วย Legacy ความเก่าจึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องเก็บ เรายกย่องคนทำโรงแรมนะ เพราะธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนตึกเก่าไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์”

ขอแค่ทำเลคุณมี Legacy, History, Nature หรือ Culture รับรองว่าความยูนีกนี่แหละ จุดขาย!

เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล คอร์สสอนวิธีแปลงโฉมบ้านเก่าเป็นโรงแรมท้องถิ่นทรงคุณค่า
เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล คอร์สสอนวิธีแปลงโฉมบ้านเก่าเป็นโรงแรมท้องถิ่นทรงคุณค่า

อีกหนึ่งหัวข้อกาดอกจันที่ขิงการันตีว่าโรงแรมขนาดเล็กมีแล้วจะดี คือ Comunity-based Hotel

เป็นการแบ่งปัน 3 เรื่องใหญ่ร่วมกับชุมชน หนึ่ง แบ่งปันรายได้ เกิดการจ้างงานคนท้องถิ่น สอง แบ่งปันโอกาส เปิดโอกาสให้พนักงานเรียนรู้แลพัฒนาทักษะ ตลอดจนมองเห็นทางเลือกในชีวิต สาม แบ่งปันการเรียนรู้

“เรามองว่าโรงแรมคือโรงเรียน กลไกของมันไม่ได้เปิดเพื่อให้ได้เงิน แต่มันคือการพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นด้วยกลไกของมันเอง อีกอย่างการทำโรงแรมเป็นโรงเรียน ช่วยแก้ปัญหาธุรกิจโรงแรมที่วันธรรมดาไม่มีคนเข้าพักได้ด้วย”

ถ้าโรงแรมมีซิกเนเจอร์คอร์สหรือซิกเนเจอร์โปรแกรม ก็จะช่วยเรียกลูกค้าให้มานอนนานเพิ่มอีกคืนสองคืน ขิงยกตัวอย่าง จังหวัดอุทัยธานี ถ้าทำคอร์สอาบป่าก็เจ๋งแจ๋ว หรือจะเปิดเวิร์กช็อปเขียนโค้ดดิ้ง เรียนวิชาการตลาด ศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านมื้ออาหาร ขนมพื้นเมือง วิถีชีวิตผู้คน งานหัตถกรรมทำมือ ก็ย่อมทำได้เหมือนกัน

“เราว่าเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน พอมีโซเชียลมีเดีย เรายิ่งอยากโชว์คนอื่นว่าเราเห็นในสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น อยากจะนอนที่ที่มันยูนีก อยากจะเป็นคนแรกเสมอ สอดคล้องกับยุค COIVD-19 นะ คนไม่อยู่เมืองใหญ่เพราะกลัว ก็เลยไปเมืองเล็ก เกิดการขับรถเที่ยวกับครอบครัวและกลุ่มเพื่อน มันทำให้เกิดเซกเมนต์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งแต่ก่อนไม่ชัดเจน

“เมืองรองก็เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ถ้าถามว่า COVID-19 หาย เมืองรองจะตายมั้ย เราว่าไม่ตาย เพราะมันนานพอที่คนจะเรียนรู้และเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วงหลังนี้อยุธยา อุทัยธานี บูมมาก อานิสงส์ลามไปชัยนาท สิงห์บุรี”

นครราชศรีมา ขอนแก่น อุดรธานี ยโสธร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร อำนาจเจริญ หนองคาย บึงกาฬ, เราไม่ได้ท่องรายชื่อจังหวัดภาคอีสานให้คุณฟัง แต่ขิงกระซิบว่าจังหวัดเหล่านี้คือโอกาสทางธุรกิจ

เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล คอร์สสอนวิธีแปลงโฉมบ้านเก่าเป็นโรงแรมท้องถิ่นทรงคุณค่า

ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก

ไม่เพียงนิยาม ขิงยังเปลี่ยน Economies of Scale เป็น Economies of Small Scale 

“สมัยก่อนการทำโรงแรมต้องมีสเกล ต้องมีเงินเหลือจ้างพนักงานต้อนรับ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบำรุงรักษา สเกลห้องต้องสี่สิบห้อง มาจากการท่องเที่ยวยุคเก่า ตอนนั้นพ่อแม่จะไปเที่ยวต้องเดินหาเคาน์เตอร์ทัวร์ เวลาขายก็เน้นปริมาณ เขามักจะบอกว่าจำนวนเท่ากับรถบัสสองคัน เพราะรถบัสหนึ่งคันจุสี่สิบคน สองคันแปดสิบคน เท่ากับโรงแรมสี่สิบห้องพัก

“พอเข้าพักก็ต้องมีฟรอนต์มายืนสวัสดีค่ะ มีเบลล์บอยมายกกระเป๋า แต่โลกยุคใหม่ไม่ต้องการแบบนี้แล้ว ไม่มีใครเดินหาเคาน์เตอร์ทัวร์ คุณจะเที่ยวก็เที่ยวของคุณเอง เมื่อถึงโรงแรมน้อยมากจะเจอฟรอนต์มาสวัสดี บางโรงแรมเจอพนักงานต้อนรับคนเดียว กะเดียวทั้งคืน ฉะนั้น ต้นทุนคงที่ต่ำลงมาก คำว่า Economies of Scale เลยหายไป”

เมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยน ขิงเลยมีตัวช่วยเพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างราบรื่น

เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเทล คอร์สสอนวิธีแปลงโฉมบ้านเก่าเป็นโรงแรมท้องถิ่นทรงคุณค่า

(ทำท่าล้วงกระเป๋าโดราเอมอน) ท้าดา! สิ่งนี้ก็คือ Homemade Stay แอปพลิเคชันบริหารจัดการระบบหลังบ้านที่ออกแบบมาเพื่อผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กและขนาดกลางโดยเฉพาะ มีพนักงานคนเดียวก็อยู่หมัด

เจ้าแอปพลิเคชันจะอำนวยความสะดวกให้เจ้าของกิจการการ ตั้งแต่การรับข้อมูลการจองจากสารพัดเว็บไซต์ ระบบจ่ายเงินแบบไม่ต้องผ่านมือพนักงาน การเช็กอินและเช็กเอาต์ รวมถึงการเก็บฐานข้อมูลเพื่อส่งให้กับ ตม. ภายใน 24 ชั่วโมง ประหยัดเวลา ประหยัดเงิน และประหยัดกระดาษที่มีมหาศาลจากการเก็บประวัติข้อมูลของนักเดินทาง

“การทำโรงแรมของเราไม่ได้มีบทบาทแค่สถาปนิก แต่เราทำระบบการดำเนินการเพื่อช่วยภาพรวมด้วย ตอนนี้โรงแรมในกรุงเทพฯ กำลังซบเซา แต่ต่างหวัดบูมมาก เราคิดว่าตรงนี้เป็นจุดรีบูสต์ประเทศไทยเรื่องการท่องเที่ยว มันทำให้คนกลับไปลงทุนที่บ้านเกิด ถ้าคนกลับบ้าน เขาใช้บ้านเป็นทุน แน่นอนเขาไม่มีวันขาดทุน มีแค่กำไรน้อยหรือมาก

“เราว่าธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กจะเป็นรากฐานของประเทศ การกลับบ้านทำให้คนได้อยู่กับครอบครัว เมื่อบ้านทำเงินได้ เขาก็อยากอยู่บ้าน อีกอย่างมันช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พอคนหนุ่มสาวกลับบ้าน เขาทำธุรกิจด้วยมุมมองใหม่ ห้องกว้าง แอร์เย็น เตียงนุ่ม มันไม่ใช่แล้ว เขาใช้แอปฯ ใช้เทคโนโลยี เกิดการลงทุน เกิดมูลค่าเพิ่ม

“เราพูดเสมอว่าธุรกิจนี้ควรสนับสนุนให้คนทำ แต่ทำก็ต้องคิดแบบนักลงทุนนะ ต้องเหลือกำไรมาพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้น และประโยชน์ของการเปลี่ยนตึกเก่าเป็นโรงแรมไม่ใช่แค่ตัวเงินที่ได้รับ แต่คุณได้รักษามันเอาไว้ด้วย”

ขิง-วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ Homemade Stay

Lesson Learned

“ถ้าอยากทำธุรกิจโรงแรมให้ประสบความสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม”

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ