“เมื่อฉันซื้อหูกระต่ายอันที่ 43 ไปงานเลี้ยงผู้ดีของมหา’ลัย”

นี่เป็นชื่อบทความที่เพื่อนของผมปรารภขึ้นขณะเราคุยกันอย่างออกรส เธอชวนผมเขียนเล่าธรรมเนียมกินเลี้ยงของมหาวิทยาลัยในอังกฤษให้คนอื่นๆ ได้อ่าน แม้ออกจะฟังดูเหนือจริงไปมาก แต่พอมานั่งทบทวนไตร่ตรองดูแล้วก็พบว่าชื่อบทความนี้ค่อนข้างจะสะท้อนสิ่งที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ไม่น้อย

เบื้องหลังการกินเลี้ยงของมหา’ลัยเคมบริดจ์ ที่เป็นต้นแบบหนัง Harry Potter

หลายๆ คนคงพอจะทราบดีว่าที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และมหาวิทยาลัย (ที่ทำเป็น) คู่แข่งกันอีกแห่งหนึ่งทางภาคกลางตอนล่างของอังกฤษ ยังคงรักษาประเพณีกินเลี้ยงอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาแต่โบราณไว้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งประเพณีนี้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม มีภาพจำที่ถูกนำไปดัดแปลงตามสื่อร่วมสมัยต่างๆ มากมาย (ใช่ ผมพูดถึง Harry Potter) และกลายเป็นหัวข้อวิจัยทางมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์นับไม่ถ้วน

อันที่จริงแล้ว ถึงแม้จำนวนปาร์ตี้ที่ยังคงจัดกันอยู่ ณ เคมบริดจ์ในปัจจุบัน จะยังมีมากพอที่ทำให้ใครบางคนถึงขั้นไปซื้อหูกระต่ายอันที่ 43 มาใส่ออกงานจริงๆ แต่ในความเป็นจริง ประเพณีกินเลี้ยงในห้องโถงศิลปะยุคกลางตอนปลายที่เราเห็นกัน เวลาเพื่อนไปเที่ยวแล้วถ่ายรูปลงโซเชียลนั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกิจกรรมออกสังคมที่มีมากมายหลายรูปแบบ แตกต่างกันตามจุดประสงค์ เทศกาล กลุ่มผู้เข้าร่วมงาน งบประมาณ และอุดมการณ์ของผู้จัด  

ตั้งโต๊ะกินเลี้ยง

เมื่อได้รับโจทย์มาให้เขียนคอลัมน์เล่าถึงงานกินเลี้ยง หรือที่ในหมู่นักเรียนเคมบริดจ์เรียกกันสั้นๆ ติดปากว่า ‘Formal’ ก็ต้องเกริ่นก่อนว่าฟังก์ชันหนึ่งของระบบมหาวิทยาลัยที่จัดแบ่งนักศึกษาให้อยู่ประจำ College เหมือนที่ฮอกวอตส์แบ่งนักเรียนไปอยู่ตามบ้านต่างๆ คือการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาและนักวิชาการได้สร้างเครือข่ายทางสังคมกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนทักษะและวิชาการ นำไปสู่การต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งกับการเรียนและการทำงานในอนาคต

ในบริบทนี้ การกินเลี้ยงคือกลไกหลักที่ทำให้คนที่มีพื้นเพและความเชี่ยวชาญต่างกันได้มาผูกสัมพันธ์กันอย่างรวดเร็ว เวลาพูดให้ใครฟังคร่าวๆ ผมชอบบอกว่า งานกินเลี้ยงพวกนี้มันก็เหมือนกับเวลารุ่นพี่ชวนรุ่นน้องรวมกลุ่มกันไปกินสุกี้ จิ้มจุ่ม หมูกระทะ หรือเหมือนกับเวลาเจ้านายพาลูกน้องไปกินเบียร์หลังเลิกงาน นอกจากกิจกรรมเหล่านี้จะมีเป้าประสงค์เพื่อละลายพฤติกรรมของคนในกลุ่มแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กรไปสู่คนในกลุ่มได้โดยที่เขาไม่ทันรู้ตัวอีกด้วย  

ในปัจจุบัน ประเพณีกินเลี้ยงที่เคมบริดจ์มีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่คอลเลจนั้นๆ จะบริหารจัดการในฐานะมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณีการกินเลี้ยงและกิจกรรมตามประเพณีนิยมอื่นๆ กลายเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ถูกปรับเปลี่ยน ดัดแปลง หรือรักษาสภาพไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอิทธิพลของอุดมการณ์ทางสังคมการเมืองที่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมยุโรปตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

เบื้องหลังการกินเลี้ยงของมหา’ลัยเคมบริดจ์ ที่เป็นต้นแบบหนัง Harry Potter เบื้องหลังการกินเลี้ยงของมหา’ลัยเคมบริดจ์ ที่เป็นต้นแบบหนัง Harry Potter

ตำรับประจำบ้าน

มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1209 ประกอบด้วยคอลเลจทั้งหมด 31 แห่ง ที่มีอายุตั้งแต่ 730 กว่าปี (Peterhouse ก่อตั้ง ค.ศ. 1284) ไปจนถึงสี่สิบกว่าปี (Robinson College ก่อตั้ง ค.ศ. 1977) คอลเลจบางแห่งที่ก่อตั้งขึ้นในยุคหลังมีการบริหารจัดการโดยเป็นไปตามนโยบายที่ถือกำเนิดขึ้นตามอุดมการณ์ที่เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลักต่างๆ เช่น Newnham College (ก่อตั้ง ค.ศ. 1871) คอลเลจหญิงล้วนซึ่งก่อตั้งตามกระแสสตรีนิยมที่ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าศึกษาในเคมบริดจ์ St. Edmund’s College (ก่อตั้ง ค.ศ. 1896) คอลเลจคาทอลิกแห่งเดียวในเคมบริดจ์ ก่อตั้งเพื่อเปิดพื้นที่การศึกษาให้ชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

คอลเลจบางแห่งสร้างรูปแบบการรับนักศึกษาที่แปลกไปจากระบบโบราณดั้งเดิม เช่น Darwin College (ก่อตั้ง ค.ศ. 1964) รับเฉพาะนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา Hughes Hall (ก่อตั้ง  ค.ศ. 1885) และ Wolfson College (ก่อตั้ง ค.ศ. 1965) รับเฉพาะนักศึกษาอายุมากกว่า 21 ปี

ด้วยอิทธิพลของกระแสวัฒนธรรมเดียวกันนี้ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของนิสิตนักศึกษาตลอดศตวรรษที่ผ่านมาทำให้คอลเลจรุ่นเก่าแก่บางแห่งต้องปรับเปลี่ยนประเพณีดั้งเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย King’s College (ก่อตั้ง ค.ศ. 1441) ไม่กำหนดให้สวมชุดครุยระหว่างการร่วมกิจกรรมทางการต่างๆ ภายในคอลเลจ ส่วน Queens College (ก่อตั้ง ค.ศ. 1448) ย้ายการจัดกิจกรรมกินเลี้ยงออกจากฮอลล์เดิมที่สร้างขึ้นตั้งแต่แรกก่อตั้งคอลเลจไปยังอาคารใหม่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำเคม เพราะฮอลล์เดิมสร้างตามสภาพการใช้สอยพื้นที่ในสมัยศตวรรษที่ 15 คือเมื่อสมัยยังมีสมาชิกประจำคอลเลจทั้งหมดไม่เกิน 100 คน

ความหลากหลายทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ทำให้งานกินเลี้ยงในคอลเลจต่างๆ มีลักษณะเฉพาะตัว มี ‘กิมมิก’ ที่คนเก็บมาพูดกันปากต่อปากเป็นเรื่องเล่าซุบซิบไม่เว้นแต่ละวัน การได้ไปงานเลี้ยงที่คอลเลจโบราณไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้ทำตามประเพณีโบราณหรือจะได้ใช้พื้นที่โบราณสถานเสมอไป ในทำนองเดียวกันการกินเลี้ยงในคอลเลจใหม่ๆ ก็อาจมีพิธีรีตองที่สร้างขึ้นมาท้าทายการกินเลี้ยงแบบประเพณีนิยมดั้งเดิมเช่นกัน

เบื้องหลังการกินเลี้ยงของมหา’ลัยเคมบริดจ์ ที่เป็นต้นแบบหนัง Harry Potter เบื้องหลังการกินเลี้ยงของมหา’ลัยเคมบริดจ์ ที่เป็นต้นแบบหนัง Harry Potter

สารพัดจะ Hall

‘Hall’ นอกจากจะหมายถึงอาคารหรือห้องโถงใหญ่ที่ไว้ใช้รับประทานอาหารแล้ว ยังเป็นคำเรียกติดปากเมื่อถึงเวลาอาหาร เช่น ‘Are you going to hall?’ เธอจะไปฮอลล์ไหม นัยแฝงแปลว่า จะไปกินข้าวที่ฮอลล์ไหม

ในบริบทที่เกี่ยวกับมื้ออาหาร การไป ‘Hall’ นี้หมายถึงการไปรับประทานอาหารแบบลำลอง ทุกคนต่อคิวที่ครัวเพื่อเลือกอาหารจากเคาน์เตอร์และยกใส่ถาดไปรับประทานในฮอลล์ตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ เป็นมื้ออาหารที่รับประทานได้ตามสบายต่างจาก ‘Formal Hall’ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘Formal’ ซึ่งก็คือการกินเลี้ยงตามประเพณีนิยม มีพิธีรีตองตามแต่คอลเลจแต่ละแห่งจะกำหนด

Formal หนึ่งมื้อประกอบไปด้วยอาหาร 3 คอร์สเป็นพื้นฐาน มีขนมปังและเนยเสิร์ฟก่อนต่างหาก จากนั้นเริ่มด้วยสตาร์ทเตอร์เป็นอาหารปรุงเย็น ตามด้วยอาหารจานหลัก ปกติประกอบด้วยเนื้อชิ้นใหญ่ปรุงร้อน บางครั้งรับประทานคู่กับเครื่องเคียงจำพวกผักต่างๆ และปิดท้ายด้วยของหวาน มีชาหรือกาแฟเสิร์ฟตาม

เครื่องดื่มหลักระหว่างรับประทานอาหารคือไวน์ ก่อนเริ่มเสิร์ฟอาหารจานแรก เจ้าหน้าที่จะให้สัญญาณฆ้อง ทุกคนยืนขึ้นต้อนรับสมาชิกผู้ใหญ่ของคอลเลจ (College Fellow) ที่จะเข้ามานั่งบน High Table หมายถึงโต๊ะยาวที่ตั้งอยู่บนยกพื้นสูงขึ้นมาจากระดับพื้นห้องปกติเล็กน้อย เป็นพื้นที่แสดงถึงคุณวุฒิและวัยวุฒิ บางคอลเลจยกเลิกการมี High Table ไปแล้วเพราะตั้งใจปฏิเสธโครงสร้างฐานันดร บางคอลเลจยังมี High Table อยู่ แต่ให้ใครไปนั่งก็ได้ เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ

เมื่อทุกคนมาถึงพร้อมกันแล้ว มีคนนำกล่าวคำสวดมนต์เป็นภาษาละตินสั้นหรือยาวสุดแท้แต่ละที่จะพิจารณา นอกเหนือจากขั้นตอนพื้นฐานนี้ แต่ละคอลเลจแยกกันต่อยอดสร้างความพิสดารต่างกันออกไป

ตัวอย่างเช่น ที่ Peterhouse ซึ่งพยายามรักษาประเพณีกินเลี้ยงนี้ให้เกิดขึ้นได้แทบทุกวัน ทางคอลเลจจึงไม่ลงทุนกับรายละเอียดมาก ทุกคนต้องเอาไวน์ไปเองถ้าอยากดื่ม และอาหารจานหลักอาจเป็นเมนูเดียวกันกับที่ให้บริการไปในช่วงมื้อเย็นแบบลำลอง บางคอลเลจที่ไม่ได้จัด Formal ทุกวัน อาหารที่บริการอาจจะมีเพิ่มเป็น 4 หรือ 5 คอร์ส เช่น มีซุปคั่นระหว่างสตาร์ทเตอร์กับจานหลัก เสิร์ฟชีส แครกเกอร์ และผลไม้ต่อจากของหวาน ไวน์ไม่อั้น และมีพอร์ตไวน์ให้ดื่มคู่กับของหวานด้วย  

การกินเลี้ยงอย่าง Formal นี้จำแนกแยกย่อยลงไปได้อีกตามแต่จะมีผู้จัด ที่ Peterhouse ซึ่งมีการจัด Formal เกือบทุกวันใน 1 สัปดาห์ก็มีการจัด Formal รูปแบบอื่นในสเกลที่ใหญ่กว่าสำหรับนิสิตกลุ่มต่างๆ ต่างหาก ในหมู่นิสิตระดับบัณฑิตศึกษามีกลุ่มคณะกรรมการนิสิตที่มีตัวแทนคอยจัดการเรื่องกินเลี้ยงนี้อย่างเป็นกิจวัตร

Formal ของนิสิตปริญญาโทและเอกนี้เราเรียกกันว่า Grad Hall จัดขึ้น 2 – 3 ครั้งต่อ 1 ภาคเรียน (เท่ากับประมาณ 9 ครั้งตลอดปีการศึกษา) Grad Hall ต่อ 1 ครั้งเปิดให้มีผู้เข้าร่วมไม่มาก และไม่ได้ไปใช้พื้นที่ในฮอลล์ของคอลเลจ  

คาโรลินา โอโรสโก นักศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิชาชีวฟิสิกส์ ตัวแทนจากกลุ่มคณะกรรมการฯ ที่รับผิดชอบจัดงานกินเลี้ยงในปีการศึกษานี้เล่าว่า การเตรียมการจัดงานกินเลี้ยงสำหรับนิสิตปริญญาโทและเอกบางครั้งเริ่มขึ้นกว่า 1 ปีก่อนจะถึงวันงานจริง เพราะทุกคนที่อยากใช้พื้นที่ในคอลเลจต้องมาตกลงแบ่งกันจองห้องจัดเลี้ยงต่าง ๆ ให้ลงตัว (บางคอลเลจหารายได้เสริมจากการแบ่งพื้นที่ให้เช่าจัดประชุมสัมมนา)

เบื้องหลังการกินเลี้ยงของมหา’ลัยเคมบริดจ์ ที่เป็นต้นแบบหนัง Harry Potter เบื้องหลังการกินเลี้ยงของมหา’ลัยเคมบริดจ์ ที่เป็นต้นแบบหนัง Harry Potter เบื้องหลังการกินเลี้ยงของมหา’ลัยเคมบริดจ์ ที่เป็นต้นแบบหนัง Harry Potter

Grad Hall นี้ไม่เหมือนกับ Formal ทั่วไปเพราะมีนักศึกษาเป็นตัวตั้งตัวตีในการวางแผน ต่างจาก Formal ปกติที่ทางคอลเลจจะจัดคนมาบริหารโดยเฉพาะ ตลอดปีการศึกษานี้ คาโรลินาเป็นโต้โผในการตัดสินใจเรื่องเมนูอาหาร กำหนด Dress Code และคอยจัดซื้อสิ่งที่อยู่นอกเหนือการบริการของฝ่ายโภชนาการ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์บางประเภท ชีส ผลไม้ หรือขนม ไว้แบ่งกันนอกเหนือจากช่วงรับประทานอาหาร

Grad Hall 1 ครั้งกินเวลายาวนานกว่า Formal ทั่วไปมาก เพราะมีพิธีรีตองและอาหารเครื่องดื่มมากกว่า มี Pre-drink ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์อ่อนๆ จำพวก Prosecco สำหรับคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอลล์ก็มีเครื่องดื่มประเภทน้ำชงให้เลือก ที่นิยมมากคือน้ำดอกเอลเดอร์ผสมโซดา เพราะมีสีออกเหลืองคล้าย Sparkling Wine  

เมนูอาหารจานหลักบางครั้งใช้วัตถุดิบหายาก (หรือที่เคยจัดว่าหายากในสมัยโบราณ) และบางทีตั้งชื่อแบบเดาไม่ค่อยถูก เช่น Game หมายถึงอาหารประเภทเนื้อที่ไม่ได้มาจากระบบปศุสัตว์ กล่าวคือเนื้อจำพวกที่ต้องส่งคนเข้าไปล่าในพื้นที่ธรรมชาตินั่นเอง

คำว่า Game นี้ปกติกินความหมายรวมสัตว์หลายประเภทไว้ด้วยกัน เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในตระกูลกวาง และสัตว์ปีกในตระกูลไก่ ถ้าให้เล่าตามความเข้าใจส่วนตัว ผมคิดว่าสัตว์บางประเภทสมัยนี้น่าจะมาจากฟาร์มเพาะเลี้ยงหมดแล้ว เพียงแต่ยังให้เรียก Game อยู่เพื่อรักษาความโก้ไว้เท่านั้นเอง

เมื่อเข้าสู่ช่วงของหวานจะมีพอร์ตไวน์ใส่เหยือกมาให้แบ่งกันตามอัธยาศัย ถึงจุดนี้จะมีการเคาะแก้วให้สัญญาณเชิญชวนให้ทุกคนหยุดฟัง Speech สั้นๆ ของทีมผู้จัดงาน มีการกล่าวขอบคุณผู้ช่วยจัดงานและเจ้าหน้าที่ พร้อมดื่มสดุดีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลต่างๆ ตามแต่ผู้พูดจะนึกสนุก ผู้โชคดีที่ได้รับการอวยชัยนี้มีตั้งแต่เพื่อนร่วมคอลเลจที่บังเอิญวันเกิดตรงกับวันจัดงานเลี้ยง พนักงานประจำคอลเลจที่กำลังจะเกษียณ ไปจนถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

หลังสิ้นสุดช่วงเวลาอาหาร ทุกคนก็จะพากันย้ายไปที่ห้องนั่งเล่นรวม มีจัด Post-drink เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์จำพวก Long Drink เช่น Gin and Tonic วิสกี้ บรั่นดี Baileys ช่วง Post-drink นี้เป็นช่วงเวลาปาร์ตี้สังสรรค์ที่ยืดยาวไปจนดึกดื่น

นอกจาก Grad Hall แล้ว ที่ Peterhouse ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Superhall คือ Grad Hall ขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นในฮอลล์ถือเป็นงานกินเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดของนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา จัดขึ้นภาคเรียนละ 1 ครั้ง และอิงเทศกาลสำคัญตามปฎิทินตะวันตก เช่น Superhall ในภาคเรียนที่ 1 (Michaelmas Term) จัดตอนต้นเดือนธันวาคมเพื่อจะได้ฉลองเทศกาลคริสต์มาสไปในคราวเดียวกัน

นอกเหนือจาก Formal ที่จัดโดยกลุ่มนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาแล้ว ใครที่เป็นสมาชิกชมรมต่างๆ ในคอลเลจก็อาจจะมีโอกาสได้ไป Formal ที่จัดโดยชมรมนั้นๆ อีกด้วย เท่าที่พอจะเคยเห็นคืองานของชมรมพายเรือและชมรมรัฐศาสตร์การเมืองที่คึกคักกว่าคนอื่นๆ เท่านี้คงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเท่าใดนัก ถ้าจะมีใครเก็บสะสมหูกระต่ายไว้ใช้เกิน 40 อัน!

เบื้องหลังการกินเลี้ยงของมหา’ลัยเคมบริดจ์ ที่เป็นต้นแบบหนัง Harry Potter เบื้องหลังการกินเลี้ยงของมหา’ลัยเคมบริดจ์ ที่เป็นต้นแบบหนัง Harry Potter

เสื้อผ้าหน้าผม

ในกิจกรรมกินเลี้ยงรูปแบบต่างๆ ที่ได้พูดถึงไป ผู้จัดงานมักจะมีการกำหนดเดรสโค้ดอย่างคร่าวๆ มีทั้งแบบที่เป็นไปตามประเพณีนิยมและแบบแฟนซีร่วมสมัย รูปแบบที่นิยมแต่งกันบ่อยคือแบบ Black Tie เป็น Dress Code ตามประเพณีนิยมสำหรับงานกึ่งทางการในตอนค่ำ ผู้ชายสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงขายาวสีดำ มีแถบผ้าเย็บคลุมตะเข็บตลอดแนวยาวของกางเกง ผูกหูกระต่ายสีดำและสวมทักซิโด้ บางคนใช้สายโยงกางเกงแทนเข็มขัดและคาด Cummerbund รอบเอว ผู้หญิงสวมชุดราตรีสั้นหรือยาวแล้วแต่สะดวก และสวมเครื่องประดับตามอัธยาศัย  

จริงๆ แล้วสิ่งที่ใช้เป็นตัวกำหนดเดรสโค้ดมี 2 อย่าง คือ ช่วงเวลาของวัน (กลางวันหรือกลางคืน) และระดับความเป็นทางการ ชื่อเรียกรูปแบบเสื้อผ้าตั้งตามการแต่งกายของผู้ชายเป็นหลัก โดยปกติ ผู้จัดงานจะแสดงความชัดเจนในการกำหนดรูปแบบเสื้อผ้าด้วยการเติมคำสร้อยตามชื่อเรียกรูปแบบเสื้อผ้า เช่น Black Tie ‘preferred’ หมายถึง อยากให้แต่ง Black Tie มาจริงๆ เพราะคนส่วนใหญ่ก็น่าจะแต่งแบบนี้ ต่างจาก Black Tie ‘optional’ ซึ่งหมายถึง ถ้าอยากใส่ Black Tie ก็ใส่มาได้ แต่จริงๆ ไม่จำเป็น

บางครั้งผู้จัดงานตั้งใจลดระดับความเป็นทางการลงมา และกำหนดให้แต่งกายแบบ Lounge Suit เป็น เดรสโค้ดกว้างๆ จัดอยู่ในข่ายลำลองไม่เป็นทางการ (แต่ก็ไม่ใช่ไปรเวท) ในทำนองเดียวกับ Smart Casual ผู้ชายใส่เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว สวม Blazer Jacket ผูกหรือไม่ผูกเนกไทก็ได้ ผู้หญิงสวมชุดสุภาพและไม่มีกำหนดรายละเอียดชัดเจน

เบื้องหลังการกินเลี้ยงของมหา’ลัยเคมบริดจ์ ที่เป็นต้นแบบหนัง Harry Potter

Formal ของชมรมพายเรือที่ Peterhouse ไม่ระบุปี
“By kind permission of the Master and Fellows of Peterhouse”

งานกินเลี้ยงในบางคอลเลจกำหนดให้สวมครุย (Gown) ทับเสื้อผ้าที่ใส่อยู่ด้วย เกิดเป็นเดรสโค้ดใหม่ๆ เช่น Lounge suit with gown, Black tie with gown หรือ Gown เฉยๆ ใส่ทับชุดไปรเวทก็มี อย่างที่ Peterhouse นี้มีการจัด Formal แทบทุกวัน ทางคอลเลจจึงไม่ได้กำหนดอะไรมาก ขอให้ใส่ชุดครุยมาเฉยๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติที่จะมีคนลงจากห้องพักมา Formal ในชุดนอน with gown

ครุยเป็นเครื่องแต่งกายที่ใช้แสดงวิทยฐานะและอายุ นิสิตระดับปริญญาตรีและนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาที่อายุต่ำกว่า 24 ปี จะสวมครุยที่สั้นกว่าครุยของนิสิตที่อายุ 24 ปีเป็นต้นไป กิจกรรมอื่นๆ ที่มีการกำหนดให้สวมชุดครุย เช่น การไปหอประชุมใหญ่เพื่อร่วมพิธีรับปริญญา (ทั้งในฐานะผู้สำเร็จการศึกษาและแขกผู้ร่วมงาน) และงานพิธีการแสดงตนเป็นนิสิต (Matriculation) โชคดีที่เคมบริดจ์นี้ไม่ได้มีการให้สวมชุดครุยเวลาไปสอบอย่างที่ ‘มหาวิทยาลัยคู่ (ที่ทำเป็น) แข่งกันอีกแห่งหนึ่งทางภาคกลางตอนล่างของอังกฤษ’ กำหนด

นอกจากรูปแบบเสื้อผ้าต่างๆ ที่มีการกำหนดให้ใส่เป็นปกติตามที่เล่ามานี้ ยังมีรูปแบบเสื้อผ้าอีกหนึ่งแบบที่เรียกว่า White Tie ถือเป็นรูปแบบเสื้อผ้าระดับทางการสำหรับงานกลางคืน ปัจจุบันไม่ค่อยมีผู้จัดงานคนไหนกำหนดให้แต่งกายในรูปแบบนี้แล้ว เพราะรูปแบบเสื้อผ้าไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการปาร์ตี้ในสมัยนี้เท่าใดนัก โดยผู้ชายสวม Dress Shirt สีขาว ทับด้วยเสื้อกั๊กสีเดียวกัน มีปกเว้าลงมาบรรจบกันตรงเอว ปิดตรงขอบกางเกงพอดี กางเกงขาวยาวสีดำมีแถบผ้าเย็บปิดตะเข็บตามแนวยาวของกางเกง ผูกหูกระต่ายสีขาว ปิดท้ายด้วยเสื้อตัวนอกคือ Tail Coat สีดำ ตามอย่างโบราณต้องสวมถุงมือผ้าสีขาวด้วย ส่วนผู้หญิงจะสวมชุดราตรียาวลากพื้น และสวมถุงมือผ้ายาวคลุมข้อศอก (อย่างชุดราตรีป้าปุ๊ก อาภัสรา หงสกุล สมัยประกวดนางงามจักรวาล ปี 2508) ที่เคมบริดจ์นี้มีแค่ไม่กี่คอลเลจที่ยังรักษาการแต่งกายแบบ White Tie นี้ไว้ ส่วนใหญ่จะกำหนดให้ใส่ในงาน May Ball (งานฉลองใหญ่ประจำปีที่จริงๆ แล้วจัดในเดือนมิถุนายนไม่ใช่ในเดือนพฤษภาคมตามชื่อ)

เบื้องหลังการกินเลี้ยงของมหา’ลัยเคมบริดจ์ ที่เป็นต้นแบบหนัง Harry Potter

Formal ของชมรมแพทยศาสตร์ ปีค.ศ. 1924
“By kind permission of the Master and Fellows of Peterhouse”

ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Theory of Everything อาจจะเคยเห็นบรรยากาศของงาน May Ball นี้แล้วในฉากที่สตีเฟนพาเจนไปงานเลี้ยงกลางแจ้งที่มีม้าหมุน พลุไฟ และดิสโก้เทคขนาดย่อมในเต้นท์ผ้าใบ ในฉากนี้ทั้งคู่ยังบังเอิญแต่งตัวแบบ White Tie อีกด้วย

เมื่อถามว่าการแต่งตัวที่ถูกหรือผิดเป็นอย่างไร ก็อาจตอบได้เพียงว่า สมัยนี้รูปแบบเสื้อผ้านั้นมีหลากหลายกว่าแต่ก่อน และแต่ละคนก็มีวิธีการผสมเสื้อผ้าให้ออกมาเป็นชุดแต่งกายแตกต่างกัน เวลากดค้นหาตัวอย่างเสื้อผ้าแบบประเพณีนิยมต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตก็จะปรากฏภาพดารา เซเลบริตี ทั้งหลายพากัน Mix and Match เสื้อผ้าออกมาจนบางทีไม่มีใครแต่งตัวเหมือนกันเลย บ้างก็ลงตัว บ้างก็ขาดเกิน ขึ้นอยู่กับสายตาของแต่ละคนพินิจพิจารณา

จริงๆ แล้วเดรสโค้ดเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่ผู้จัดงานใช้สร้างบรรยากาศ กำหนด Mood and Tone และกำหนดพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การแต่งตัวตามเดรสโค้ดในมิติหนึ่งจึงเป็นการให้เกียรติผู้จัดงาน ช่วยเหลือผู้จัดงานให้บรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้

เบื้องหลังการกินเลี้ยงของมหา’ลัยเคมบริดจ์ ที่เป็นต้นแบบหนัง Harry Potter

Formal ของชมรมพายเรือที่ Peterhouse ปีค.ศ. 1911
“By kind permission of the Master and Fellows of Peterhouse”

มาถึงจุดนี้ หลายคนคงสงสัยว่าทำไมเรายังรักษาประเพณีโบราณ คอยจัดงานที่ถือกันไปว่าโก้ หรู และใหญ่โต เหล่านี้อยู่ได้ ถ้าให้ตอบตามที่พอจะสังเกตเห็นมา อธิบายได้ว่าในแง่หนึ่งปาร์ตี้สุดเหวี่ยงทั้งหมดนี้ยังคงเกิดขึ้นได้ เพราะสังคมยังเชื่อมั่นว่าหลังจากจบงานกลับบ้าน ทุกคนที่อยู่ในปาร์ตี้นั้นจะหายเครียดเป็นปลิดทิ้งและกลับมามีสุขภาพจิตที่ดีพอจะสร้างงานวิจัยที่มีอิมแพคระดับเปลี่ยนโลก

ทุกวันนี้ เงินส่วนหนึ่งที่นำมาใช้สมทบงานกินเลี้ยงต่างๆ ก็มาจากเงินบริจาคจำนวนมหาศาลของเครือข่ายศิษย์เก่ารอบโลกที่ส่วนหนึ่งยังเชื่อมั่นในระบบพัฒนาทรัพยากรทางความคิดที่มียาวนานกว่า 800 ปี บางครั้งประเพณีโบราณเหล่านี้ก็ทำหน้าที่ช่วยเตือนสติพวกเราว่า แท้จริงแล้วเราทุกคนยังมีหน้าที่ทางสังคมที่แตกต่างกันไป ต้องคอยเกื้อหนุนกันและกันในมิติต่างๆ

สิ่งที่เราคิดกันไปเองว่าคืออภิสิทธิ์ แท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงแค่ผลของการระดมทรัพยากรมาให้แก่คนกลุ่มหนึ่งด้วยจุดประสงค์ว่า คนกลุ่มนั้นแท้จริงแล้วก็มีหน้าที่จะต้องเกื้อหนุนคนทั้งหมดที่สละทรัพยากรมาเพื่อสร้างโอกาสให้พวกเขานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์:

หนังสือชุด A History of the University of Cambridge จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตีพิมพ์ ค.ศ. 1988 ทั้งชุดมีทั้งหมด 4 เล่ม

เรื่องประวัติศาสตร์ของ Peterhouse:

หนังสือ Peterhouse โดย Thomas A. Walker จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ W. Heffers and Sons ตีพิมพ์ ค.ศ. 1935

เรื่องเคมบริดจ์และการดำรงอยู่ของชนชั้นทางสังคมในอังกฤษ:

บทความวิจัยเรื่อง FORMAL DINING AT CAMBRIDGE COLLEGES: LINKING RITUAL PERFORMANCE AND INSTITUTIONAL MAINTENANCE โดย M. TINA DACIN, KAMAL MUNIR และ PAUL TRACEY ตีพิมพ์ในวรสาร The Academy of Management Journal, Vol. 53, No. 6 ค.ศ. 2010

Writer

Avatar

พีรพัฒน์ อ่วยสุข

นักเรียนโบราณคดี อาชีพหลักคืออ่านจารึกอักษรลิ่ม เวลาว่างชอบคุยกับแมว ดูมหรสพ

Photographer

Avatar

สรวิศ วงศ์บุญสิน

บัณฑิตหนุ่มจากนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สู่ตรีนิตี้คอลเลจ เคมบริดจ์ ผู้เล่าเรื่องราวของเขาที่นี่ผ่านเลนส์กล้อง