“โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร”

คำถามยอดฮิตตั้งแต่สมัยยังเด็กที่ตามมาหลอกหลอนคนวัยเข้าใกล้เบญจเพสอย่างเราๆ คงไม่พ้นคำถามที่ว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” เพียงแต่มันอาจจะเปลี่ยนมาเป็นคำถามในรูปแบบที่ว่า “ตอนนี้ทำงานอะไรอยู่” ซะมากกว่า

ฉันเองเป็นคนที่เคยคิดเล่นๆ กับตัวเองว่า ถ้าเราเลือกเส้นทางสายอื่นในอดีต สายที่จะนำพาเราไปสู่การงานอาชีพอื่น (โปรดอย่าเอาไปสลับสับสนกับวิชาเรียนสมัยประถม) ชีวิตของเราจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน

ถ้าตอนนั้น เราเลือกเรียนต่อด้านดนตรี หรือไปเอาดีทางดาราศาสตร์ ชีวิตเราตอนนี้จะเป็นยังไง จะได้ไปนั่งอยู่ตรงไหน ทำอะไรอยู่ในตอนนี้

สิ่งที่ว่ามานี้ เด็กเกาหลีอาจไม่ต้องมานั่งจินตนาการแบบพวกเรา

เพราะพวกเขาเลือกได้

สายวันหนึ่งระหว่างที่เรานั่งเรียนภาษาเกาหลีอยู่ในห้องตามปกติ อาจารย์สอนภาษาเกาหลีอีกคนหนึ่งเดินมาเคาะประตูห้อง พร้อมกับแนะนำเด็กหญิงวัยประถมตอนปลาย 2 คนที่ยืนเก้ๆ กังๆ อยู่หน้าประตูห้อง หลังบอกชื่อเสียงเรียงนามของตัวเองอย่างเขินๆ สาวน้อยทั้งสองก็บอกเหตุผลถึงการมาเยี่ยมเยือนพวกเราด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส

พวกเธอมาขอสังเกตการณ์อาชีพครูสอนภาษาเกาหลีให้นักเรียนต่างชาติ

ฟังแวบแรกแล้วยอมรับว่างง พออาจารย์อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมเราจึงถึงบางอ้อ

แม้เราจะเห็นปัญหาสังคมมากมายจากความบ้าคลั่งเรื่องการศึกษา [หรือที่คนเกาหลีเขาบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเองเลยว่า ‘교육열’ (กโย ยู กยอล)-Education Fever] ผ่านสถิติการฆ่าตัวตายของเด็กมัธยมปลายที่สอบไม่ติดมหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศอย่าง SKY (Seoul National University, Korea University และ Yonsei University) รวมไปถึงหนังภาพยนตร์สารคดีต่างๆ นานา รัฐบาลเกาหลีเองก็พยายามที่จะให้การส่งเสริมและช่วยเหลือเยาวชนของชาติที่กำหลังหลงทางชีวิตในแบบของเขา สิ่งนั้นเรียกว่า ‘직업체험’ (ชี  กอบ เซ ฮอม) ถ้าจะให้เราแปลเป็นภาษาอังกฤษแบบดีๆ นั่นก็คือ Occupation Experience

เด็กน้อยในวัยประถมปลายถึงมัธยมต้นจะได้โอกาสไปศึกษาเข้าสังเกตการณ์อาชีพที่ตนเองสนใจ ตั้งแต่อาชีพสามัญธรรมดาที่สามารถมานั่งดูได้อย่างอาชีพครู ไปจนถึงบางอาชีพที่เด็กๆ จะได้ทดลองใช้ชีวิตตามอย่างคนในสายอาชีพนั้นจริงๆ เช่น เชฟ พนักงานดับเพลิง ผู้ประกาศข่าว โดยเด็กๆ เข้าไปลองนั่งที่โต๊ะประกาศข่าวต่อหน้ากล้องได้จริง หรือสัตวแพทย์ที่เด็กๆ จะได้มีโอกาสลองสัมผัสสัตว์จริงๆ (แม้เขาคงไม่จะไว้ใจเด็กๆ ขนาดให้ลองรักษาสัตว์เองก็ตาม) หรือถ้าเป็นกรณีที่ทดลองทำจริงไม่ได้ เด็กๆ สามารถสอบถาม พูดคุยแลกเปลี่ยน กับผู้ที่ประกอบอาชีพนั้นได้ เช่น เข้าไปศึกษาการทำงานในสถานีโทรทัศน์และสอบถามประสบการณ์ตรง

เด็กเกาหลี

ภาพ   bokji21.com

นักเรียน

ภาพ: www.warak.or.kr

ผู้ประกาศข่าว

ภาพ: news.joins.com

ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยงานท้องถิ่น อาทิ เทศบาลเมือง ยังส่งเสริมประสบการณ์ทางอาชีพของเด็กๆ อย่างจริงจัง ถึงขั้นที่ว่ามีการเปิดศูนย์หรือหน่วยงานที่รับหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ในแต่ละท้องถิ่น คอยให้คำปรึกษากับเด็กๆ ที่กำลังสับสน หลงทาง และไม่แน่ใจในเส้นทางชีวิตของตนเอง

วิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาลเกาหลีอาจได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง เพราะหากเป็นเรื่องของความฝัน เราคงไม่สามารถรับรองกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไร ฉันก็อดนับถือความพยายามของพวกเขาในการสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้เด็กๆ ค้นพบหนทางที่ใช่สำหรับตัวเองไม่ได้ เพราะอาชีพบนโลกนี้มีอยู่ล้านแปดอย่าง เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอาชีพไหนเป็นอย่างไร เราจะชอบสิ่งนั้นจริงหรือเปล่า ถ้าเราไม่ได้มีโอกาสลองไปสัมผัสชีวิตของผู้คนในแวดวงนั้นอย่างแท้จริง

แม้จะไม่ใช่ประสบการณ์ตรงที่ตัวเองได้จากการฝึกงานก็เถอะ แต่บางครั้ง การได้พูดคุยกับผู้มีประสบการณ์ก็อาจสร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้เด็กคนหนึ่งได้ไม่ใช่เหรอ

ขนาดฉันเอง ผู้ร่ำเรียนมานานจนถึงขั้นที่มาเรียนปริญญาโท ทุกวันนี้ยังตอบคำถามข้อนี้ได้ยาก และยอมรับว่าจนถึงตอนนี้ก็ยังสับสนกับเส้นทางของตัวเองในอนาคตอยู่ไม่น้อย พอเห็นโครงการนี้เลยอดอิจฉาน้องๆ ชาวเกาหลีไม่ได้

ขอให้น้องๆ ไม่หลงทางกับการใช้ชีวิตนะ

Writer & Photographer

Avatar

ณัฐมน เกตุแก้ว

ตอนนี้เรียนปริญญาโทสาขาสังคมวิทยาอยู่ในมหาวิทยาลัยบนเขาที่เกาหลี