เมื่อ 7 ปีก่อน ในช่วงเวลาน้ำลงของคืนเดือนมืด ริมหาดทรายหมู่บ้านชาวประมงหลังเขาอันเงียบสงบ เด็กชายอายุ 2 ขวบคนหนึ่งชวนให้ผมก้มลงดูสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ซึ่งอยู่ในมือที่กำไว้หลวมๆ ของเขา

ผมเอาไฟฉายส่องเข้าไปในรูกำปั้นเปื้อนทรายเล็กๆ นั้น เห็นปูเสฉวนตัวหนึ่งกำลังเก็บตัวเองนิ่งเงียบในเปลือกหอยลายทางขาวดำ เขาถามผมว่า “นี่อะไร”

ผมไม่ได้ตอบคำถามของเขาในทันที เพราะคิดว่าเขาอาจต้องการเวลามากกว่านี้ถึงจะรู้ว่า ‘เสฉวน’ เป็นชื่อมณฑลหนึ่งของประเทศจีนซึ่งเป็นที่รวมของแม่น้ำ 4 สาย ไม่ติดทะเลและไม่ได้มี Hermit Crab แบบตัวที่อยู่ในมือของเขาเลย แต่มาจากการเพี้ยนเสียงของคำว่า ‘เสอฉวาน’ ซึ่งเป็นชื่อของเรือลำหนึ่งในกองเรือของ ‘เจิ้งเหอ’ ขันทีชาวมุสลิมที่มีอำนาจในกองทัพเรือสมัยราชวงศ์หมิง (ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา) คนไทยเจอปูที่อยู่ในเปลือกหอยแปลกประหลาดจากเรือลำนี้ จึงเรียกว่าปูเสอฉวาน และค่อยๆ เพี้ยนมาเป็นปูเสฉวน (เรื่องเล่าหรือประวัติศาสตร์ก็ไม่รู้ ไม่มีเวลาหาให้)

แต่ที่สำคัญ! ปูเสอฉวานนี้ไม่ใช่ปูอย่างที่เราคุ้นเคยกัน ถึงแม้จะอยู่ในไฟลัมอาร์โธรพอด และไฟลัมรองครัสเตเชียนเหมือนปูม้า ปูดำ แต่ปูเสฉวนอยู่ในอันดับปูปลอม (false crab) ที่ขาคู่ที่ 5 ลดรูปลง มีส่วนท้อง (ที่นุ่มนิ่ม) ยื่นยาวกว่ากระดองแข็ง

เด็ก

 

นี่เป็นสาเหตุที่ผมนิ่งไป เพราะเหตุการณ์แบบนี้และคำถามแบบนี้เตือนให้ผมนึกถึงวันหนึ่งเมื่อ 14  ปีที่แล้ว ถ้าบอกชื่อเจ้าตัวนี้ไปในทันที เขาคงจะได้แค่คำศัพท์ที่ต้องจำเพิ่มมากขึ้นอีกหนึ่งคำ หากผมไม่สามารถสร้างความเชื่อมโยงให้เขาเข้าใจได้

เขาคะยั้นคะยอผมด้วยคำถามเดิมไม่ลดละ จนในที่สุดเจ้าตัวนั้นค่อยๆ โผล่ตาที่เป็นเส้นเล็กๆ ยาวๆ สีม่วงตุ่นๆ ออกมาหนึ่งคู่ พร้อมแหย่หนวดและขาหน้าสีม่วงเข้มพาดขาวออกมา

เด็กชายน้อยๆ ทิ้งความคะยั้นคะยอในชื่อสมมติแล้วกลับไปจ้องดูชีวิตนั้น ดวงตาของเขาสุกสกาวเหมือนดวงดาวบนท้องฟ้า ทุกสิ่งดูเหมือนจะหยุดนิ่ง มีเพียงสายลมที่พาละอองทะเลเหนียวๆ จากทิศตะวันตกไหลผ่านซอกแขนขานอกเสื้อผ้าของเราเท่านั้นที่เตือนให้เรายังรู้สึกถึงเวลาที่ค่อยๆ ไหลผ่านไป ช่วงเวลาที่เด็กเล็กๆ กำลังอยากรู้จักโลกด้วยตนเองนั้นอาจไม่ยาวนานนัก แต่เป็นชั่วนิรันดร์ของเขา หากการจดจ่อในสิ่งนั้นปราศจากการรบกวนจากภายนอก จากความหวังดี จากความรู้ และความถูก-ผิด

เวลาผ่านไปนานแค่ไหนไม่มีใครจำได้ เขาเงยหน้าขึ้นมองมาที่ผมแล้วก็พูดขึ้นมาว่า “หอยมีปู”

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เด็กชายน้อยคนนั้นเรียกสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ขาแข็งๆ ยุ่บยั่บในเปลือกหอยว่า หอยมีปู มาตลอด จนกระทั่งเขาได้เห็นหนังสือที่พูดถึงปูแบบนั้น และรู้ว่า ในโลกนี้ไม่มีใครเรียกเจ้าตัวเล็กที่เขาเคยจับมาดูในคืนเดือนมืดที่ชายหาดหลังเขาว่า หอยมีปู เลย….นั่นเป็นการเอ่ยถึงหอยมีปูเป็นครั้งสุดท้ายบนโลกนี้ และเป็นการสูญพันธุ์ของสัตว์ที่นักชีววิทยาเองยังไม่เคยแม้แต่ได้ยินชื่อของมันเลย

ธรรมชาติ

 

เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ผมพาเด็กหลายคนไปเดินสำรวจสิ่งมีชีวิตในดินแดนที่เขาไม่รู้จัก ความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขาทำให้เราไม่สามารถเดินผ่านกอหญ้าที่เต็มไปด้วยดอกหญ้าหลากชนิดไปได้ง่ายๆ กลิ่นชื้นๆ จากตอผุๆ ของต้นไม้เก่าๆ จอมปลวกสีเข้มกองโต เห็ดราสีสดรูปทรงประหลาด ดอกไม้ดอกเล็กๆ สีขาวนวลที่บานสะพรั่งใต้น้ำในบึงกลางป่าสน

เครื่องมือภายในของเขาสัมผัสและรับรู้มิติต่างๆ ของโลกภายนอกด้วยท่าทีที่สดใหม่ เปรียบดั่งการเห็นหรือทำสิ่งใดๆ เป็นครั้งแรก เชื่อมโยงและชักชวนให้เขาเข้าหาโลกได้อย่างมีชีวิตชีวา เปิดกว้างการเรียนรู้ด้วยทุกๆ ความเป็นไปได้ งดงาม หลากหลายและเรียบง่ายดั่งดอกไม้บาน …ในช่วงเวลาแบบนั้นผมแอบรู้สึกมีความหวังเสมอ จนกระทั่ง…

“พี่ๆๆ นี่ต้นอะไรอะ” เสียงตะโกนย้อนหลังมาจากเด็กคนหนึ่ง หลังจากที่เขาค้นพบสิ่งที่เขาสนใจ เขาสงสัย น่าค้นหา น่าเดินไป ‘ข้างหน้า’ ด้วยคำถามของเขาเอง

ดอกหญ้า

บนทุกเส้นทางของการเรียนรู้ อย่างน้อยหนึ่งคำถามจะเกิดขึ้นมาเสมอ นั่นไม่ใช่เรื่องที่เราต้องห่วงอะไรนัก แม้จะเป็นคำถามที่เราในฐานะพ่อแม่ ครู หรือผู้เชี่ยวชาญ จะไม่รู้คำตอบก็ตามที สิ่งที่ควรห่วงให้มากกว่าคือ ทำอย่างไรเมื่อตอบสนองความอยากรู้นั้นแล้ว มันจะไม่ทำลายความอยากรู้และการก้าวเดินที่กำลังจะพาเขาไปข้างหน้านั้นเสียเอง

นั่นเป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้หลังจากที่รีบตอบกลับไปว่า “ต้นมะม่วง” เด็กคนนั้นก็ร้อง “อ๋อ…” เสียงดังยาว พร้อมกับหันหลังเดินจากไปด้วยนึกว่าได้รู้จักต้นไม้ต้นนั้นอย่างหมดจดแล้ว ความสนใจของเขาร่วงหล่นลงที่โคนต้นเหมือนมะม่วงที่สุกงอม คำถามที่เคยเป็นดอกไม้งามของความใฝ่รู้ปลิดปลิวด้วยแรงลมของคำตอบดั่งกลีบดอกที่ร่วงโรย สัมผัสทั้งหมดถูกทิ้งให้แห้งแข็งกระด้างเหมือนกิ่งก้านที่ไร้น้ำเลี้ยง ทั้งที่วินาทีก่อนคำตอบจะมาถึง ดอกผลของมันยังคงสร้างความมหัศจรรย์ต่อความอยากรู้อยากเห็นของเขา และทั้งหมดนี้เราแลกมันด้วยสิ่งที่เราเรียกว่า ความรู้ที่ถูกต้อง

วิว

ความรู้จากอดีตเป็นฐานให้สังคมมนุษย์พัฒนาต่อยอดโดยไม่ต้องเริ่มต้นกันใหม่ทุกครั้งก็จริง แต่หลายหนที่เราอาจเผลอนึกไปว่ามันคือความถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว ไม่เปิดโอกาสให้การเรียนรู้ใช้ความรู้สึกลงไปหยั่งถึงก้นบึ้งของชีวิตที่เป็นดั่งรากฐานในการพัฒนาหนทางที่แท้ของเรา

ทางเล็กๆ นี้อาจไม่ใช่กระแสหลักในยุคสมัยที่วิญญาณของการแข่งขันสิงอยู่ แม้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างวัด โรงเรียน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งในครรภ์มารดา ความถูก-ผิดได้จับจองทุกพื้นที่ในเส้นทางการเติบโตของเด็ก หรือแม้กระทั่งในพื้นที่ๆ เล็กเท่ากำปั้นของเราอย่างพื้นที่ในหัวใจ

มันอาจทำให้เราประสบผลสำเร็จในการผลิตคนเก่งๆ ซ้ำขึ้นมาอีกคนหนึ่ง แต่เราจะไม่มีทางได้คนที่มีชีวิต มีความรู้สึก มีสัญชาตญาณ และสามารถมองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ เลย

ต้นหญ้า

หลายเดือนก่อน มายเดย์ หนุ่มชาวกะเหรี่ยงคนแรกและคนเดียวที่เป็นช่างภาพสัตว์ป่า (เขามี บทสัมภาษณ์ลงในนี้ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน) มายเดย์รู้จักและใกล้ชิดมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์มาตั้งแต่เด็กๆ เขามีวิธีการดักถ่ายภาพสัตว์ในป่าต่างจากช่างภาพสัตว์ป่าคนอื่นๆ เนื่องด้วยเขา ‘ฝึก’ ตัวเองด้วยตัวเอง จึงไม่มีความถูกความผิดมาตีกรอบไว้เสียตั้งแต่ตอนเริ่มเดินบนเส้นทางนี้ แต่ด้วยความจริงที่ประจักษ์จากความผิดพลาดหลายครั้งหลายหน จนเกิดเป็นทักษะเฉพาะที่ช่างภาพรุ่นพี่รุ่นลุงต่างแปลกใจด้วยวิธีการที่ดิบเถื่อนอย่าง การไม่เข้าโป่ง ไม่ใช้บังไพร แต่ใช้วิธีการเดินไปถ่ายไป วิ่งบ้างย่องบ้าง เหมือนชีวิตในวัยเด็กที่เขาเติบโตมาในป่าชายแดนไทย-เมียนมาแถบสวนผึ้ง หากไม่มีการฝึกฝนประสาทสัมผัสมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อตัวหรือที่เราเรียกว่า สัญชาตญาณ การใช้วิธีแบบนี้รังแต่จะทำให้พลาดโอกาสในการเจอเป้าหมายของงานจากการเคลื่อนไหวที่เกินจำเป็น และเสียงที่แสดงตัวตน

มายเดย์ สาวชาวกะเหรี่ยง

น้องดาว สาวน้อยขี้อายชาวกะเหรี่ยง เขาทำอาหารจากวัตถุดิบที่อยู่ตรงหน้าได้ทุกอย่าง แต่อย่าถามว่าจะทำเมนูอะไร แกงเขียวหวาน ผัดกะเพรา ต้มข่าไก่ หรืออะไรๆ ที่เราเห็นรายการในเมนูร้านอาหาร ไม่อยู่ในสารบบ รายการอาหารของดาวไม่สามารถคาดเดาได้ และถึงแม้จะเห็นบนจานแล้วก็รับประกันว่าเราก็ยังให้คำจำกัดความอาหารจานนั้นไม่ได้อยู่ดี เพราะมันไม่มีในสารบบของเราเช่นกัน แต่เมื่อได้ชิมแล้วบอกได้เลยว่า มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าอาหารที่เราคุ้นเคย แถมอร่อยน่าค้นหาด้วยความเป็นไปได้ที่ไม่จำกัด

นกบิน

บนโลกที่การเติบโตเรียนรู้ผูกติดอยู่กับความถูก-ผิด การตัดสิน โอกาส การแข่งขัน รางวัล คุณค่าและอนาคต เราจึงไม่เคยเห็นการเอ่ยถึงความรู้สึก ความรักในหลักสูตรของเด็กมัธยม ทั้งๆ ที่เป็นช่วงเวลาเดียวในชีวิตที่จะเรียนรู้ที่จะรู้จักรักและเป็นที่รักต่อมนุษย์ และสิ่งอื่นๆ ได้อย่างมีชีวิตชีวาที่สุด

เราไม่เอ่ยถึงความฝันในหลักสูตรของอุดมศึกษามากไปกว่าการผลิตบุคลากรตามความต้องการตลาด (!) และเราไม่เห็นความหมายของชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน

ลองกลับมาทบทวนและให้ความหมายใหม่กันอีกครั้งต่อคำว่า ‘การศึกษา’ แสวงหาสร้างเส้นทางของการเติบโตให้ชีวิตได้มีโอกาสที่จะงอกงามบนหนทางที่แตกต่างหลากหลาย เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น มีความรู้สึก มีความรัก มีความคิดและคำถามของตนเอง เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว และมีความหมายเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

Writer & Photographer

Avatar

คทา มหากายี

เรียนออกแบบแต่ไม่ได้ทำแบบที่เรียน มาออกแบบมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์แทน เริ่มทำงานกับเด็กๆ และธรรมชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 หลงป่าอยู่หลายสิบปีจนปัจจุบันมาโผล่กลางทุ่งนาที่เชียงดาว ทำบ้านเรียนกับลูกๆ สองคน และกำลังเรียนรู้ไปพร้อมกับพวกเขา