บรรยากาศดอยตุงวันนั้นเงียบเหงาและเศร้าสร้อยกว่าทุกครั้งที่ผมเคยไปเยือน

ย้อนกลับไปเมื่อราว 1 ปีที่แล้ว หลังจากวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคตไม่ถึงสัปดาห์ ผมเดินทางไปยังดอยตุงเพื่อติดตามน้องๆ ไปเข้าค่ายเด็กใฝ่ดี ซึ่งจัดโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 8 โดยมูลนิธิจะคัดเลือกเด็กอายุ 9 – 12 ปี ไปอยู่อาศัยและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ท่ามกลางธรรมชาติ

ก่อนเดินทางมาสมทบกับน้องๆ ที่ค่าย ผมได้ยินถ้อยคำบอกเล่ามาคร่าวๆ ว่าค่ายนี้เป็นค่ายที่นำเอาแนวคิดในการเลี้ยงพระโอรสพระธิดาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมาออกแบบเป็นกิจกรรมต่างๆ ในค่ายตลอด 5 วัน ซึ่งนั่นทำให้ผมตอบรับแทบจะทันทีเมื่อได้รับการชักชวนให้ไปตามติดชีวิตเด็กๆ ในค่ายนี้

ลึกๆ ผมอยากรู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร อะไรทำให้พระองค์ทรงเจริญวัยมาเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย แม้ในวันที่พระองค์ทรงจากพวกเราไปแล้ว

 

เลี้ยงลูกให้รู้จริง

หมอกลงหนาปกคลุมถนนที่ดอยตุงจนเห็นเส้นทางไม่ชัด ผมเดินทางไปถึงค่ายช่วงหัวค่ำ ดวงอาทิตย์ลาลับท้องฟ้าไปแล้ว แต่ผมก็ทันเห็นกิจกรรมสุดท้ายของวัน

ไฟทุกดวงโดยรอบถูกดับลง เหลือเพียงแสงสว่างจากหลอดไฟบริเวณผ้าสีขาวผืนใหญ่ที่ขึงไว้ล่อแมลง

น้องๆ ทุกคนนั่งชมภาพตรงหน้าด้วยความตื่นเต้น ทุกครั้งที่มีแมลงบินมาสมทบจะมีเสียงฮือฮาตามมา ก่อนที่พี่เลี้ยงในค่ายจะทยอยให้ข้อมูลความรู้ทีละตัวว่าแมลงที่เห็นตรงหน้าคือแมลงชนิดใด วิถีชีวิตของมันเป็นอย่างไร

เมื่ออธิบายเสร็จ ก็เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ออกมาสัมผัสแมลงบนผืนผ้ากันตามอัธยาศัย

ใครจะกล้าออกไป-ผมคิดในใจแทนเด็กๆ

แต่ภาพตรงหน้ากลับตรงกันข้าม เด็กน้อยกรูกันเข้าไปหาแมลงที่ตัวเองสนใจ ค่อยๆ สัมผัสมันอย่างนุ่มนวล บ้างประคองมาถือไว้บนมือแล้วส่งต่อให้เพื่อนที่อยู่ข้างๆ ได้ลองสัมผัสบ้าง

“การที่เด็กได้ออกมาอยู่ในพื้นที่แบบนี้ ได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ไส้เดือน หนอน แมลง เขาจะรู้ว่าเขาจะต้องทำตัวยังไง ต้องมีท่าทีที่อ่อนโยนนุ่มนวลกับมันยังไง เมื่อเขาใกล้กับธรรมชาติ สนิทกับธรรมชาติ รู้จักธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ แล้วในที่สุดมันจะนำไปสู่ความหวงแหน” พี่น้ำหวานของน้องๆ หรือ พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในขณะนั้น ขยายความภาพที่เห็นตรงหน้าให้ผมฟัง

ผมนึกถึงวิชาวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองเคยเรียนในห้องเรียนสมัยประถม แม้รายละเอียดในหนังสือจะละเอียดกว่าสิ่งที่เล่าปากเปล่าแบบเทียบกันไม่ได้ แต่การเรียนรู้ตรงหน้าก็พาผู้เรียนไปไกลชนิดที่หนังสือเล่มใดก็ไม่อาจมอบให้

ประสบการณ์บางชนิดก็ละเอียดอ่อนเกินกว่าที่ตัวอักษรและคำบอกเล่าจะทำให้เราเข้าใจความจริง

“สมเด็จย่าจะทรงทำอะไรต้องรู้จริง” พี่น้ำหวานเริ่มเล่า “ถ้าไม่รู้ต้องไปทรงศึกษาจนรู้ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เองจะทรงทำอะไรก็จะเสด็จลงพื้นที่ ไปถามไปคุยกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เช่นเดียวกัน

“ค่ายนี้ประสบการณ์ตรงสำคัญมาก วิธีการเลี้ยงลูกของสมเด็จย่า ท่านทรงให้พระโอรสพระธิดาเล่นไฟด้วยนะ นั่นคือเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง ประสบการณ์เป็นอะไรที่เราพูดสอนไม่ได้ แต่ละคนต้องค่อยๆ สั่งสม

“แล้วประสบการณ์ตรงที่มันท้าทาย ยาก ลำบาก อย่างที่เขาไม่เคยเจอในชีวิตจะทำให้เขาต้องปรับตัว ให้เขาเกิดความคิด เกิดปัญญา”

เลี้ยงลูกกลางแจ้ง

เช้าวันรุ่งขึ้น เด็กๆ ยังคงทำกิจกรรมอยู่ท่ามกลางหมู่มวลต้นไม้นานาพันธุ์ มีฉากหลังเป็นทิวเขาอยู่ไม่ไกล

ตลอดระยะเวลา 5 วันเด็กๆ ในค่ายได้ทำกิจกรรมหลากหลายซึ่งในเมืองที่จากมาเขาไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่องกล้องดูนก จับแมลง เดินป่า เดินเล่นเก็บก้อนหินในลำธาร ไปจนกระทั่งนอนเต็นท์ค้างแรมกลางป่าเขา และอาบน้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำ ไม่ใช่ก๊อกน้ำ

หากนิยามของโรงเรียนคือสถานที่ศึกษา คล้ายผมและน้องๆ กำลังนั่งอยู่ในโรงเรียนอันใหญ่ยิ่งและยิ่งใหญ่

เงยหน้าก็เห็นท้องฟ้า หันซ้ายหันขวาก็เห็นลำธาร เห็นต้นไม้ เห็นภูเขา

“เด็กเมืองที่เราคิดว่ามีทุกอย่าง แต่ความจริงเขาขาดโอกาสที่จะได้อยู่กับโลกธรรมชาติ กับความเป็นจริง ที่ค่ายนี้เขาจะค้นพบความรู้ด้วยตัวเอง ธรรมชาติมันอยู่ของมันอย่างนี้ แต่เขาจะได้เข้าไปค้นพบความจริงในธรรมชาติ” พี่น้ำหวานบอกผมขณะที่เด็กๆ ตรงหน้ายังคงสนุกกับสิ่งที่เขาเพิ่งเคยพบเจอครั้งแรกในชีวิต

“เราหวังว่าการที่เด็กๆ ได้เล่นในธรรมชาติ เขาจะได้ค้นพบกลไกนี้เอง และสิ่งเหล่านี้จะเก็บอยู่ในตัวเขา แล้ววันหนึ่งมันจะระเบิดออกมา ซึ่งอาจเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ก็ได้”

ภาพที่ปรากฏทำให้ผมก็นึกถึงเนื้อหาบางย่อหน้าที่สมเด็จพระพี่นางเธอฯ ได้ทรงเขียนเอาไว้ในหนังสือ เจ้านายเล็กๆยุวกษัตริย์

“ในสมัยนั้นวังสระปทุมยังนับว่าอยู่ชานเมือง อากาศยังบริสุทธิ์ แม่จึงอยากให้ลูกๆ ได้อยู่กลางแจ้งให้มากที่สุด ท่านจัดที่ทาง สิ่งก่อสร้าง และอุปกรณ์ให้ทีละเล็กทีละน้อย สิ่งแรกที่สร้างงขึ้นคือที่เล่นทราย ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่เห็นได้ในสวนสาธารณะต่างประเทศ คือเป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมซึ่งมีทรายอยู่ข้างใน…

“ในไม่ช้าการเล่นในกองทรายนั้นจะรู้สึกว่าไม่สนุกนักเพราะเมื่อเอาน้ำเทลงไปในทราย น้ำก็จะซึมลงไปหมด จึงย้ายกันออกมาเล่นข้างนอก ขุดคลองในดิน นำน้ำมาใส่ให้มาไหลในคลองแล้ววิ่งไปเก็บกิ่งไม้ที่พุ่มไม้ วิ่งกลับมา ‘ปลูก’ ไว้ริมคลอง

“นี่คือการสัมผัสครั้งแรกกับงานชลประทานและการปลูกป่า”

ครั้งหนึ่งผมเคยสนทนากับ คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา หนึ่งในผู้ที่ถวายงานรับใช้สมเด็จย่ามาอย่างยาวนาน และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในฐานะรองเลขาธิการมูลนิธิฯ

คุณหญิงพวงร้อยเล่าว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างทุกพระองค์กับธรรมชาติ ไม่ใช่แค่จับต้อง แต่เกิดความเข้าใจด้วยในสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ท่านผ่านชีวิตที่มีเสวยไม่มากนัก ท่านผ่านชีวิตที่จับต้องดิน ทราย น้ำ กิ่งไม้ มาแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่พระองค์ปกครองประเทศ ช่องว่างว่าเป็นเจ้านายต้องอยู่ในที่สูงแทบไม่มีเลย เพราะท่านเข้าพระราชหฤทัย อันนี้สำคัญมาก”

และเป็นการสัมผัสกับดิน กับน้ำ กับต้นไม้ ท่ามกลางธรรมชาตินั่นเอง ที่หล่อหลอมในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยที่ไม่มีใครในวันนั้นรู้เลยว่าวันหนึ่งจะทำให้เกิดโครงการในพระราชดำริต่างๆ กว่า 4,000 โครงการ

ซึ่งเปลี่ยนชีวิตคนไทยไปตลอดกาล

 

 

 

เลี้ยงลูกให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์

เรื่องบางเรื่อง เราก็มารู้เอาเมื่อสายเกินไป

ผมรู้สึกเช่นนั้นตอนที่เดินอยู่ใน ‘หอแห่งแรงบันดาลใจ’ ซึ่งภายในจัดแสดงนิทรรศการว่าด้วยเรื่องราวของราชสกุลมหิดล

เมื่อก้าวเท้าเข้าไปด้านใน สายตาของผมก็พบกับข้อความข้อความหนึ่งซึ่งเป็นคล้ายคำจำกัดความของนิทรรศการที่จัดแสดง เขียนไว้ว่า

‘เรื่องราวของสมาชิกในครอบครัวหนึ่งซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกันจนส่งผลถึงคนทั้งแผ่นดิน’

หนึ่งในกิจกรรมของค่ายเด็กใฝ่ดีคือการพาน้องๆ มาเดินชมหอแห่งนี้ ซึ่งผมไม่แน่ใจนักว่าด้วยวันและวัยในปัจจุบัน พวกเขาจะรู้สึกสิ่งใดจากถ้อยคำต่างๆ ที่นิทรรศการกำลังสื่อสารหรือไม่ แต่สำหรับผม สถานที่แห่งนี้คือหนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดที่เราจะทำความเข้าใจว่าอะไรทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นกษัตริย์อันเป็นที่รัก เป็นกษัตริย์ที่ทำให้คนทั้งประเทศสูญเสียน้ำตาปริมาณมหาศาลเมื่อพระองค์จากไป

ระหว่างเดินไล่อ่านข้อความที่ละข้อความ มีหลายข้อความที่ทำให้ผมหยุดยืนแล้วรู้สึกรื้นข้างใน

 

“ฉันอบรมบุตร ให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ มีทั้งการศึกษาและสุขภาพดี มีจิตใจดีด้วย นี่คือหลักในการเลี้ยงดูบุตรของฉัน” พระราชดำรัส สมเด็จพระบรมราชชนนี ณ กรุงโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์  

“ในครอบครัวเรา ความรับผิดชอบ เป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนอันแรก คือ เราจะทำอะไรให้เมืองไทย ถ้าไม่มีความรับผิดชอบจะไปช่วยเมืองไทยได้อย่างไร” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

 

“…แม่ไม่เคยชมเราว่าฉลาดหรืองาม จะชมก็เมื่อประพฤติตนดี ทำอะไรที่น่าสรรเสริญ เราจึงไม่ได้เหลิง อาจขาดความมั่นใจในตัวเองบ้าง แต่ก็ทราบอยู่เสมอว่าเราเป็นใคร ด้วยการพูดกันให้เข้าใจนี้ ทำให้เราเป็นผู้ที่นับถือความจริง มีสัจจะ ไม่หลอกใคร และไม่หลอกตัวเอง” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

 

ก่อนหน้านี้ผมเข้าใจว่าความรักมักไม่มีเหตุผล แต่ตอนที่อยู่ในหอแห่งนั้น ผมเริ่มไม่มั่นใจในประโยคนี้

ผมรู้สึกว่าความรักปริมาณมหาศาลนั้นมีที่มาที่ไป และอย่างที่รู้กันว่าความรักไม่อาจเกิดจากการบังคับขืนใจ หลอกลวง หรือต่อให้ทำได้วันหนึ่งสิ่งต่างๆ ย่อมเปิดเผย

แต่กับกษัตริย์พระองค์นี้ ผมกลับรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ที่เปิดเผยหลังจากพระองค์ทรงจากพวกเราไปกลับเป็นสิ่งที่ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกนั้นให้หนักแน่นมั่นคงยิ่งกว่าเดิม จากที่เราไม่เคยรู้เหตุผล วันหนึ่งเราก็รู้เหตุผล

เรื่องบางเรื่อง เราก็มารู้เอาเมื่อสายเกินไป แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่มีประโยชน์

อย่างน้อยสิ่งที่เคยพร่าเลือนเหมือนหมอกที่ดอยตุงก็กระจ่างแจ้งในหัวใจ

Writer & Photographer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล