(ขออนุญาตใช้เลขไทยตามแบบนักเรียนทอสี)

ย้อนไปเมื่อ ๒ สัปดาห์ก่อน ฉันมีโอกาสได้นั่งฟรอนต์โรว์ชมละครหุ่นเงาของเด็กอนุบาล ๓ ที่โรงเรียนทอสี โรงเรียนทางเลือกที่เป็นหนึ่งเรื่องพุทธปัญญา นำพุทธศาสนามาพัฒนาการศึกษา และเชื่อว่าการศึกษาที่ถูกต้องและแท้จริงต้องเริ่มจากการพัฒนาตนเองเสียก่อน

นับเป็นครั้งแรกของฉันที่ได้มาดูการแสดงหุ่นเงาโดยเด็กชาย-เด็กหญิงว่าที่นักเรียน ป.๑ (ไม่นับการปูเสื่อนั่งตบยุง ขณะดูหนังตะลุงกับคุณยายในวัยเด็ก) แต่ไม่ใช่ครั้งแรกของละครหุ่นเงา เพราะปีนี้จัดเป็นครั้งที่ ๑๒ มีชื่อเรื่องน่ารักน่าชังว่า ‘Wonderland : รักแค่ไหน…ถามใจเธอดู’ แค่ชื่อเรื่องก็โก้ กินขาด แต่ความน่าทึ่งของการแสดงละครหุ่นเงาคือฉาก ตัวละคร เนื้อเรื่อง การแสดงหน้าม่าน และเครื่องแต่งกาย ที่เด็กอนุบาล ๓ ร่วมออกแบบและขะมักเขม้นลงมือทำกันอย่างตั้งใจ ขอชื่นชมจากใจเลยว่า เก่งจริงๆ เลยนะ ตัวแค่เนี้ย

หุ่นเงา

หุ่นเงา

เรื่องย่อ

“เพราะต้องการให้ใครบางคนกลับมา ทำให้เด็กน้อยเข้าใจว่า…พลังแห่งรัก…มหัศจรรย์เพียงใด”

เมื่อเด็กทั้ง ๔ ได้รับคนเลือกเป็นตัวแทนออกตามหา ‘คุณครู’ ที่หายตัวไปอย่างลึกลับ แม้ไม่รู้ว่าเส้นทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่พลังบริสุทธิ์ที่เปี่ยมด้วยรักทำให้เด็กน้อยกล้าที่จะก้าวไปและฝ่าฝันอุปสรรคเพื่อตามครูกลับคืนมา

พวกเขาจะใช้วิธีใด ยากลำบากแค่ไหน สำเร็จหรือไม่

ฉันจะไปนั่งแถวหน้าหาคำตอบให้ทุกคนเอง

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ฉันขึ้นไปยังโรงละครที่ประยุกต์จากห้องประชุมขนาดย่อม เก้าอี้เล็กขนาดเด็กอนุบาลวางเรียงรายรอให้ผู้ชมเข้าประจำที่ มีที่นั่งสำหรับบุคคล VIP ด้วยนะ เป็นพื้นกระเบื้อง ชิดติดขอบเวที รับรองว่ามองเห็นแทบจะ 180 องศา รอบห้องถูกติดด้วยผ้าดำเพนต์สีสะท้อนแสงฝีมือเด็กๆ ความพิเศษคือ เมื่อไล่อ่านจากภาพแรกไปจนภาพสุดท้ายจะเข้าใจเนื้อเรื่องทั้งหมด แต่อาจจะต้องพิจารณากันนานเสียหน่อย เพราะลายเส้นค่อนข้างจะขะยึกขะยือ แต่งดงามเป็นธรรมชาติ

ไฟดับลงพร้อมกับนักแสดงวัยสดใสส่งเสียง พร้อมแล้วครับ! พร้อมแล้วค่ะ! ดังออกมาจากด้านหลังเวที ฉันตั้งหน้าตั้งตารอชม

การแสดง

การแสดง

เรื่องราวดำเนินไปอย่างสนุกสนาน ชวนติดตาม เด็กทั้ง ๔ เจอปีศาจหลากรูปแบบไม่ว่าจะเป็นปีศาจทราย แห่งเกาะอักษร แม่มดแขนหัก โจรสลัดผ้าขาวม้าและปีศาจหมอกพิษ ล้วนเป็นเหล่าตัวร้ายที่จับคุณครูแสนรักของเด็กๆ ไป แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ และความรักที่มีต่อคุณครู ทำให้เด็กทั้ง ๔ สามารถเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้น จนสามารถช่วยคุณครูกลับโรงเรียนทอสีได้สำเร็จ

หุ่นเงา

หุ่นเงา

นอกจากจะเล่าเรื่องป็นคำกลอนพร้อมเชิดหุ่นเงาไปด้วยแล้ว ยังมีการแสดงหน้าม่านสลับไปมา ทำเอาเหล่าคุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย คุณปู่ คุณย่า ที่นั่งเป็นกำลังใจ ต่างส่งเสียงเชียร์เมื่อลูกหลานตัวน้อยออกมาโชว์ลวดลาย

เสียงปรบมือ เสียงโห่ยินดี ดังเกรียวกราวเมื่อการแสดงจบลง นักแสดงเกือบ ๕๐ คน พร้อมทีมงานคุณครูออกมาขอบคุณ ก่อนที่บรรดาคุณพ่อคุณแม่คุณตาคุณยายคุณปู่คุณย่าจะจูงมือ ส่งเสียงเรียกเด็กๆ ไปถ่ายรูปแสดงความยินดีและดีใจ

เด็ก

เมื่อหน้าม่านจบลงด้วยรอยยิ้มแต้มบนใบหน้า แน่นอนว่าทุกคน รวมถึงฉันด้วยคงอยากรู้เหลือเกินว่าเบื้องหลังแนวคิดของการแสดงหุ่นละครเงา เด็กๆ ทำงานกันอย่างไรทั้งฉาก เนื้อเรื่อง การแสดง ตัวละคร ฯลฯ สิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้คืออะไร และคำถามมากมายพรั่งพรูในหัว

ไม่รอรีและรีรอ ฉันเดินตรงดิ่งไปยังหลังฉากเพื่อตามหา ครูต้น-ทัศน์เนตรดาว โสรัต ควบตำแหน่งผู้กำกับและผู้ให้กำเนิดหุ่นละครเงาของเด็กอนุบาล ๓ ปัจจุบันมีอายุครบ ๑๒ ปีบริบูรณ์ ถ้าเป็นเด็ก ก็ถือว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กประถมสดใส สู่พี่มัธยมต้นวัยกระเตาะ

ครูต้น ชวน ครูไก่-รัชนี บุญยมาลิก ครูกิ๊ก-ชุติภาดา อาจศิริ และฉัน ล้อมวงคุยกันอย่างเป็นกันเองที่ด้านหลังฉาก หุ่นเงากระดาษตกแต่งกระดาษแก้วสีสวยพร้อมเชิดวางกระจัดกระจายเต็มไปหมด หุ่นบางตัวเคยใช้ตั้งแต่ปีแรกก็มี ทำขึ้นใหม่เองโดยเด็กอนุบาล ๓ ก็มี

ครู

ครู

ด้วยความสงสัย ฉันถามครูต้น ทำไมการแสดงจบการศึกษาของอนุบาล ๓ ถึงเป็นการแสดงหุ่นละครเงา

“เริ่มแรกประมาณตอนปี ๒๕๔๘ เด็กๆ ได้ออกทริปไปดูละครหุ่น เป็นหุ่นเงาดำธรรมดา ไม่ได้มีสีสันอะไร เด็กๆ ตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจ เพราะวัยนี้เขาสนใจเรื่องหุ่นอยู่แล้ว พอเรากลับมาเราก็มาคุยกันว่างานปลายภาคนอกจากจะแสดงบนเวทีแล้ว เราอยากทำอะไรเซอร์ไพรส์ผู้ปกครองบ้าง พอระดมสมองกันก็เลยตกลงว่าจะทำหุ่นเงา” ครูต้นคลายความสงสัย

เริ่มจากคุณครูให้การบ้านไปทำระหว่างปิดภาคเรียนที่ ๑ เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาสนใจ เมื่อเปิดภาคเรียนที่ ๒ ก็นำเรื่องที่สนใจมาพูดคุยกันกับเพื่อนๆ ระหว่างนั้นคุณครูก็จะนำเทปบันทึกการแสดงของรุ่นพี่ตั้งแต่ปีที่ ๑ จนถึงปีที่ ๑๑ มาเปิดให้ดู เพื่อจุดประกาย ‘ความอยากทำ’ ของเด็กๆ

เบื้องหลัง

ละครหุ่นเงา

ฉันรู้มาว่าเด็กอนุบาล ๓ โรงเรียนทอสี ไม่เรียนแบบวิชาการ แต่เน้นการบูรณาการ การแสดงหุ่นละครเงาครั้งนี้เกิดจากการบูรณาการหลากหลายวิชาเข้าด้วยกัน สั่งสมความรู้กันตั้งแต่เนอร์สเซอรี่ แล้วปล่อยของสุดพลังตอนอนุบาล ๓

การทำละครหุ่นเงาเป็นวิธีการเรียนรูปแบบหนึ่งที่บูรณาการวิชาหลากหลายเข้าด้วยกัน ตั้งแต่วิชาพื้นฐานอย่างเขียน อ่าน คิดเลข ไปจนถึงวิชาที่รับรองว่าได้ใช้จริงคือ ‘วิชาชีวิต’

หุ่นเงา

วิชาพุทธศาสนา

เงื่อนไขการแสดงละครหุ่นเงามีอยู่ว่า ‘เรื่องราวทั้งหมดต้องเก็บเป็นความลับ’

ห้ามให้คุณพ่อคุณแม่รู้ทันเสียก่อน เดี๋ยวจะหมดสนุกเอา ‘การเก็บเป็นความลับ’ เป็นส่วนหนึ่งในการฝึกการยับยั้งชั่งใจของเด็กๆ ทั้งยังเป็นการรักษาศีล ไม่พูดปด

“ครูคุยกับเด็กว่าถ้าผู้ใหญ่มาถามว่าแสดงอะไร แล้วเด็กๆ บอกว่าไม่บอก แบบนี้คือไม่สุภาพ หรือเด็กๆ จะตอบว่าไม่รู้ จริงๆ แล้วเด็กๆ รู้นะ ถ้าเราบอกไม่รู้แสดงว่าเราผิดศีลนะ จนครูต้องบอกว่า ‘ไม่บอก ไม่บอก เป็นความลับ’ ถ้าผู้ปกครองถามว่าเป็นเพราะอะไรถึงเป็นความลับ เด็กก็จะตอบได้ว่าอยากให้ผู้ปกครองเซอร์ไพรส์ ไม่อยากให้รู้เรื่องก่อน”

ครูต้นเฉลยหลักธรรมในศีล ๕ ที่ซ่อนอยู่ตั้งแต่เริ่มทำละคร

วิชาวิทยาศาสตร์

แสง-เงา ตัวการสำคัญของการเกิดภาพ เด็กๆ ได้เรียนเรื่องพวกนี้ตั้งแต่เนอร์สเซอรี่จากตัวเอง อาคารและต้นไม้ ใช่แล้ว! ต้นไม้ อาคารและตัวเอง ฝึกการสังเกตเงาที่ทอดลงบนพื้น โตขึ้นหน่อยก็เรียนลึกขึ้นหน่อย เรียนรู้แสง-เงาจากธรรมชาติ แสง-เงาที่มนุษย์สร้างขึ้น

หุ่นเงา

ถึงเวลาดูงานจริง คุณครูพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาที่โรงละครหุ่นสายเสมา เพื่อเรียนรู้การชักเชิดหุ่น ลงมือทำหุ่นสายด้วยตนเอง รวมถึงกระบวนการต่างๆ ที่จะประยุกต์ใช้กับการแสดงละครหุ่นเงาของพวกเขาได้

เริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อเด็กๆ ตื่นเต้นอดใจรอให้ถึงวันจริงไม่ไหว

แต่เดี๋ยวก่อน เด็กๆ ยังมีอีกหลากอย่างที่ต้องทำ เรื่องเอย ฉากเอย ตัวละครเอย ตั้งแถวเรียงคิวรอเด็กๆ อยู่ตรงหน้า

วิชาภาษาไทย

  กว่าจะมาเป็นเนื้อเรื่องความยาว ๑ ชั่วโมง สำหรับเด็กอนุบาล ๓ ไม่ใช่เรื่องง่าย ครูกิ๊กเล่าให้ฉันฟังว่า “ก่อนจะแต่งเรื่อง ต้องให้เด็กๆ เข้าใจเนื้อหาการแสดงละครหุ่นเงาตั้งปี ๑ ถึงปีที่ ๑๑ ก่อน แล้วจึงระดมความคิด โดยนำเรื่องปัจจัย ๔ ที่เรียนตอนต้นเทอม ผนวกกับเรื่องนมที่เป็น Project Approach แล้วนำมามารวมกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปีนี้ว่ามีอะไรบ้าง”

หลังจากได้บทสรุปว่าเด็กสนใจเรื่องอะไร เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับคุณครู คุณครูจึงมีสิทธิ์ออกเสียงแสดงความคิดเห็น จึงเสนอเด็กๆ ไปว่าเรื่องเกี่ยวกับคุณครูหายดีไหม เมื่อทุกฝ่ายเห็นด้วย ทั้งเด็กและคุณครูช่วยกันเกลาจนออกมาเป็นเนื้อเรื่องโดยสมบูรณ์

เนื้อเรื่องนอกจากจะมีบทบรรยายแล้ว บทพูดหลักกลับเป็นคำกลอนที่ครูต้นย่อยจากเรื่องราวทั้งหมด ประการสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ทำบทเป็นกลอนก็เพราะว่า เวลาแสดงจริงเด็กจะไม่ได้พากย์สด แต่เป็นการอัดเสียงเอาไว้ก่อนล่วงหน้า ยิ่งเป็นบทกลอนเด็กทุกคนก็จะมีส่วนร่วมด้วยการได้อัดเสียงพูดของทุกคนลงไป

วิชาออกแบบตัวละคร-ศิลปะศิลเปอะ

ส่วนตัวละครหุ่นเงา คุณครูใจดีแจกจ่ายกระดาษแบ่ง ๔ ช่อง ให้เด็กๆ วาดรูปตัวละครสำคัญจากจินตนาการ เติมความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ แล้วคุณครูจะคัดเลือกภาพที่เหมาะกับตัวละครนั้น ให้ออกมาโลดแล่นบนจอผ้า ด้วยการวาดจริงอีกรอบจากต้นแบบลงในกระดาษแผ่นยักษ์ คุณพ่อคุณแม่ก็คอยช่วยตัดกระดาษและเพิ่มสีสันด้วยกระดาษแก้วสีสวย

งานศิลปะ

มีเด็กๆ หลายคนส่องประกายแวววาว นักวาดมือทองจากการออกแบบตัวละคร แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เด็กๆ ได้คือความกล้าคิด รวมกับความกล้าทำ ถ่ายทอดจินตนาการอย่างไม่มีสิ้นสุดผ่านตัวละครที่พวกเขาคิดกันขึ้นมาเอง ใครจะไปรู้ว่าปีศาจทรายหน้าตาเป็นเป็นอย่างไร ครูต้นเองก็ไม่สามารถบอกฉันได้ มีแต่เด็กๆ เท่านั้นที่รู้

วิชาคณิตศาสตร์-สติและสมาธิ

เครื่องแต่งกายนักแสดงคือกางเกงผ้าขาวม้า คุณครูจะให้เด็กนำผ้าขาวม้ามาจากบ้าน เพื่อเรียนรู้ประโยชน์ของผ้าขาวม้า เรียนวัดขนาดผ้าขาวม้าด้วยมือและเท้าของเราเอง จากนั้นจึงสอนวัดแบบแม่นยำด้วยสายวัด

ถึงขั้นตอนสนุก คุณครูแจกแพตเทิร์นกางเกงให้เด็กๆ ตัดตาม จากนั้นก็เย็บริมทั้งสองข้าง คุณแม่ใจดีช่วยโพ้งให้ จากนั้นก็เย็บต่อด้วยตนเอง แต่ไม่ต้องห่วงว่าเข็มจะตำมือ เพราะเด็กๆ เรียนเย็บผ้ามาตั้งแต่อนุบาล ๒ บอกแล้วว่าเตรียมการมาดี!

“ครูอยากให้เขาได้ทำชุดนักแสดง ด้วยตัวเอง จะได้รู้ว่าทำได้ อีกอย่างการฝึกเย็บผ้าเป็นการฝึกสมาธิ ฝึกสติ ครูอยากจะฝึกเรื่องนี้ เลยเอามาเชื่อมโยงกับละคร” ครูไก่เล่าวิธีสอดแทรกสติและสมาธิผ่านผืนผ้าขาวม้าและฝีเข็มอันแหลมคม

วิชาชีวิต

การคัดเลือกนักแสดง ไม่ใช้ว่าทุกคนจะสมหวังจากออกลีลาลวดลายหน้าห้องเรียน ที่มีเด็กชาย-เด็กหญิงรุ่นราวคราวเดียวกันเป็นผู้ยกมือตัดสิน

แน่นอน มีคนเสียน้ำตาจากความผิดหวัง

แต่สิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้คือ พวกเขาจะรับมือกับความผิดหวังอย่างไร

การเตรียมงานตลอดระยะเวลาเกือบ ๓ เดือน ทั้งวาด ทั้งคิด และทั้งซ้อมการแสดง

แน่นอน มีเสียงบ่นเหนื่อย ใจสู้ แต่กายเริ่มไม่สู้

แต่สิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้คือ ความอดทนและความพยายาม

การทำงานร่วมกันย่อมมีกระทบกระทั่งกันบ้างตามประสาเด็ก

โรงเรียนทอสี

แต่สิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้คือ ไม่มีใครเก่งหรือเหนือกว่าใคร ทุกส่วนและทุกฝ่ายของทุกการแสดงสำคัญหมด ถ้าขาดใครไปการแสดงก็ไม่สมบูรณ์

Writer & Photographer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก