The Cloud เคยเขียนถึงโรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนทางเลือกอันดับต้นๆ ของเมืองไทยอยู่หลายครั้ง เริ่มตั้งแต่การ สัมภาษณ์ รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้ง ไปจนถึงการจัดกิจกรรมพาผู้อ่านไปเยี่ยมชม สถานที่ที่น่าสนใจในโรงเรียนรุ่งอรุณ

ในวาระที่โรงเรียนรุ่งอรุณมีอายุครบ 21 ปี The Cloud เลยชวนนักเรียนของโรงเรียนรุ่งอรุณมาเขียนเล่าถึงเรื่องราวอันแสนจะเป็นเอกลักษณ์ในโรงเรียนของพวกเขา ที่หาไม่ได้จากโรงเรียนอื่น

เรื่องราวทั้ง 20 เรื่องที่เหล่านักเรียนช่วยกันคิดและเขียนออกมาจะมีอะไรบ้าง จะน่าสนใจแค่ไหน ไปดูกันเลย

1

LUNCH: DO IT OURSELVES

นักเรียนมัธยมของโรงเรียนรุ่งอรุณทำอาหารกลางวันรับประทานเอง บรรยากาศเหมือนอยู่ในรายการ MasterChef Thailand รอบแข่งแบบกลุ่ม ตัวแทนนักเรียน 5 คนของแต่ละระดับชั้นจะผลัดเวรกันมาทำอาหารที่ครัว เพื่อเลี้ยงคนประมาณ 80 – 100 คนในระดับชั้นของตน  

อาหารที่ทำต้องคำนึงถึงความสะอาด คุณค่า และรสชาติ นักเรียนมัธยมเริ่มทำอาหารตั้งแต่ 11.20 น. เพื่อกินตอนบ่ายโมง จึงมีเวลาทำประมาณ 100 นาที ยิ่งคนในกลุ่มไม่ช่วยหรือไม่ฟังกัน จะเป็นช่วงเวลาที่ยุ่งและวุ่นวายที่สุด แล้วก็ยังจะมีเสียงสะท้อนร้อยแปดพันประการจากผู้บริโภคอาหารฝีมือของเราอย่างอื้ออึงด้วย

การทำอาหารรับประทานเองเป็นเรื่องที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง ได้ฝึกวางแผนและแบ่งหน้าที่ การแสดงความคิดเห็นและรับฟัง และการจัดการเวลา  

2

LUNCH: EAT EAT EAT

เพื่อนๆ ผู้รอรับประทานอาหารต่างไม่รู้เลยว่าอาหารจะออกมามีหน้าตาและรสชาติเป็นอย่างไร สิ่งที่จะได้รู้ก่อนมีแค่ชื่อเมนูกับชื่อเพื่อนที่เป็นเวร บางวันชื่อเมนูอาจฟังดูดีมาก เช่น แกงกะหรี่ไข่ออนเซน แต่ใครจะคิดว่าไข่จะถูกต้มสุกแบบแทบไหม้จนดำคล้ายไข่พะโล้ ส่วนน้ำแกงกะหรี่ก็ไหม้ไปเรียบร้อยแล้ว แต่อาหารก็ยังเป็นอาหาร และไม่มีสิ่งใดให้เลือกอีก อีกทั้งความหิวก็มีอยู่และเกิดขึ้นจริง เราจึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารฝีมือของเพื่อนๆ ทำให้เป็นคนกินง่าย ไม่เรื่องมาก

การคำนึงถึงเรื่องของอาหารตามฤดูกาลและอาหารประจำท้องถิ่น (นานๆ จะเป็นเมนูแบบฝรั่งหรือญี่ปุ่นที่หวือหวาสักครั้ง) ทำให้เราได้รับประทานของดีในราคาที่ถูกกว่าเสมอ

ก่อนการรับประทานอาหารพร้อมกันทั้งชั้นเรียนจะมีการพิจารณาอาหาร เพื่อย้อนดูที่มาของมัน เพราะมีสิ่งมีชีวิตอื่นต้องสละชีวิตมาเป็นอาหารให้เราเกือบทุกมื้ออาหาร รวมทั้งกล่าวขอบคุณผู้ที่ลงแรงทำอาหารให้เราทาน

3

เบิกฟ้าหน้าเสาธง

‘เบิกฟ้า’ ไม่ใช่แค่การออกไปยืนและตั้งหน้าตั้งตาพูดออกไมค์ไปอย่างนั้น แต่เป็นกิจกรรมการนัดหมาย แจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ บอกเล่าประสบการณ์และความรู้ บางครั้งนักเรียนก็ใส่สีสันให้การประชาสัมพันธ์น่าสนใจขึ้นได้ เบิกฟ้าจึงเป็นสีสันยามเช้าซึ่งทำให้นักเรียนตื่นเต้นไปกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น และสนุกสนานเฮฮากับลีลาการประชาสัมพันธ์ของรุ่นน้องรุ่นพี่ นอกจากนั้น เบิกฟ้ายังเป็นเวทีสำหรับฝึกนักเรียนที่สมัครใจอยากจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำผ่านการนำแถวและทำกิจกรรมในยามเช้าอีกด้วย

4

หยดน้ำ

‘หยดน้ำ’  คือกิจกรรมการประมวลความรู้ท้ายเทอม เหมือนสอบไล่ปลายเทอมของโรงเรียนอื่น คุณครูจะออกแบบแผนการสอน และมีวิธีที่จะให้นักเรียนตามรอยความรู้ และสะสมความรู้ความเข้าใจไปเรื่อยๆ ไปจนถึงการวิเคราะห์เชิงลึกจนกว่าจะได้คุณค่า และให้นักเรียนนำเสนอความรู้ของตนในหลากหลายรูปแบบ ผ่านละคร หนังสือ นิทรรศการ หรือการจัดวงเสวนาต่างๆ

วัน ‘หยดน้ำ’ เป็นวันที่นักเรียนจะตื่นเต้นและจริงจังกว่าวันใดๆ ของเทอม เพราะต้องนำเสนอสิ่งที่ตัวเองรู้ ทั้งยังต้องเร่งรีบทำงานให้เสร็จตามเวลา นอกจากนั้น งานหยดน้ำต้องดึงดูดให้คนอื่นมาชมงาน เหล่านักเรียนจึงพยายามดูแล จัดการ และออกแบบ ให้งานมีความน่าสนใจที่สุด   

5

หน่วยการเรียน เนื้อหาธีม

ตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยม การเรียนของหน่วยวิชาบูรณาการต่างๆ มักเรียนเป็น ‘Theme’ โดยจะเรียนเรื่องหนึ่งอย่างรอบด้าน เช่น ระดับประถมเรียนวิชาสังคมและภาษาไทย ในหน่วยการเรียน ‘กล้วย’ นักเรียนจะได้เรียนรู้ว่ากล้วยคือพืชประเภทใด ส่วนต่างๆ ของกล้วยมีอะไรบ้าง และเรานำมาใช้ทำประโยชน์อะไรได้ นอกจากนี้ นักเรียนยังได้เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ เช่น ทำขนมจากกล้วย หรือการใช้ใบตองห่อขนม วิชาภาษาไทยนักเรียนจะได้อ่านนิทาน ‘กล้วย’ เป็นต้น

นักเรียนชั้น ม.1 จะเรียนเรื่องกรุงเทพฯ เพราะถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวของเด็กกรุงเทพฯ อย่างเราๆ  กิจกรรมหนึ่งที่สนุกมากคือการแบกเป้เที่ยวกรุงเทพฯ นักเรียนต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ด้วยตนเองโดยรถเมล์ รถไฟฟ้า แม้กระทั่งขึ้นเรือ ซึ่งก็พบสิ่งที่น่าสนใจตามเป้าหมายการสอนของครูจริงๆ

นักเรียนชั้น ม.2 จะขยับออกไปจังหวัดอื่นๆ ในภาคกลาง ส่วนนักเรียน ม.3 จะได้เรียน 3 ภาคที่เหลือ คือภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ แต่ไม่ว่าจะเรียนเกี่ยวกับภาคใด นักเรียนทุกคนก็จะได้ศึกษาเรื่องของภูมิศาสตร์ ทรัพยากร ไปจนถึงประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละภาค

6

การศึกษาภาคสนาม

ในแต่ละเทอมนักเรียนจะศึกษาภาคสนาม 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย แต่สำหรับเด็กโตก็อาจจะมากถึง 2 –  3 ครั้ง

การศึกษาภาคสนามเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ เพราะลงพื้นที่ไปศึกษาเรื่องจริง บนพื้นที่จริง จากบุคคลจริง นักเรียนได้เรียนรู้ที่จะปรับตัว และฝากตัวเป็นลูกหลานของชาวบ้าน ครูจะสอนให้นักเรียนสร้างสานสัมพันธ์กับคนท้องถิ่นฉันเครือญาติ เป็นการเรียนที่ใช้ความเป็นมนุษย์ นักเรียนจะได้พัก อยู่ร่วม และทำกิจกรรม กับชาวบ้าน เรียนรู้และเคารพในภูมิรู้ของผู้อื่น และเห็นคุณค่าในทรัพยากรและธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังได้ฝึกพัฒนาความคิดอ่าน การมองเห็นประเด็น และการให้ความหมายในสิ่งต่างๆ

การอาบน้ำปลักเดียวกับควายในป่าลึก การรับประทานน้ำพริกหนอนด้วงด้วยใจที่สุดฝืน แล้วต้องคงสีหน้าให้เป็นปกติ การกินอยู่โดยอาศัยแสงสว่างจากเทียนไขที่เกือบจะเผาฝาบ้าน การขับถ่ายกลางป่าลึกท่ามกลางแสงจันทร์ ล้วนเป็นประสบการณ์ที่นักเรียนต่างจดจำ เป็นกิจกรรมที่พี่รุ่นก่อนๆ บอกว่า ไม่เคยลืม

7

HOMEROOM

การโฮมรูมจะทำผ่านกิจกรรม ‘มงคลชีวิต’ เป็นช่วงเวลาของการกลับมาอยู่กับตัวเอง อาจเรียกว่าเป็นการภาวนาย่อมๆ ก็ได้ ‘มงคลชีวิต’ เป็นได้หลายรูปแบบ เช่น การปอกเปลือกส้มไม่ให้ขาดแล้วก็รับประทานส้มนั้นโดยไม่คุยกัน ข้อหลังนี้น่าจะเป็นเงื่อนไขของทุกกิจกรรมมงคลชีวิต ทำให้เราได้สังเกตตนเอง  ระหว่างปอกส้มเราจะเจอความตั้งใจที่มากเกินไปของเรา ความโกรธเมื่อเปลือกส้มขาดออกจากกัน ความผิดหวังในรสชาติของส้มหากเป็นรสชาติที่เราไม่ชอบ บางคนอาจเห็นตัวเองมากขึ้นว่าเป็นคนอย่างไร เช่น เป็นคนใจร้อนหรือใจเย็น นอกจากเห็นตนเองแล้ว ก็เป็นความสนุกและความผ่อนคลายก่อนเริ่มเรียนวิชาแรกของวัน

8

ทักษะชีวิต

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 โรงเรียนให้ความสำคัญกับการสอนทักษะเพื่อเอาตัวรอดของเด็กๆ เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ จึงเริ่มฝึกหัดกันตั้งแต่วัยประถม ด้วย ‘วิชาทักษะชีวิต’ ให้นักเรียนฝึกหุงข้าวด้วยฟืน และใช้เตาอั้งโล่แทนหม้อหุงข้าวไฟฟ้า (ซึ่งน้องๆ ก็ทำเป็นอยู่แล้ว) หากวันไหนหุงข้าวไหม้ นักเรียนทั้งห้องก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยการกินข้าวไหม้ด้วยกัน

กิจกรรมต่อมาคือ การต่อแพ นักเรียนจะรวบรวมสิ่งของต่างๆ รอบตัวที่ลอยน้ำได้ เช่น ขวดน้ำ ถังน้ำ หรือท่อนไม้ มาผูกกันให้เป็นแพ และทดลองลอยในบึงน้ำโรงเรียน และยังได้เรียนพายเรือด้วย หากใครมาโรงเรียนในช่วงนั้น อาจพบน้องตัวเล็กๆ ใส่เสื้อชูชีพสีส้มนั่งเรือหรือแพลอยวนอยู่ในบึง เป็นภาพที่น่ารักดี

9

กีฬาสี

กีฬาสีในระดับมัธยม นักเรียนมัธยม ม.6 จะเป็นแม่งาน เป็นกิจกรรมที่นานถึง 5 วัน ต้องผ่านการนำเสนอแนวคิดการจัดงาน รายละเอียดกิจกรรม การออกแบบเสื้อกีฬาสี การแสดงช่วงเปิดงาน การใช้ทรัพยากร และงบประมาณ ต่อคณะครู หากแนวคิดผ่านจึงจัดงานได้

ช่วงกีฬาสีเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของทุกคน เพราะคุณครูก็ได้พักจากการสอน และนักเรียนก็ได้ทำกิจกรรมสนุกๆ ส่วนการประกวดเชียร์ของแต่ละสี นักเรียนต้องคิดรูปแบบการเชียร์และซักซ้อมการเชียร์ที่ไร้เชียร์ลีดเดอร์ เพราะทุกคนต้องเป็นเชียร์ลีดเดอร์ร่วมกัน ร้องเอง เต้นเอง แปรแถวเอง ไปพร้อมๆ กัน

10

ดูแลความสะอาด

โรงเรียนรุ่งอรุณไม่มีแม่บ้านคอยดูแลทำความสะอาดห้องเรียนหรือชั้นเรียนให้ นักเรียนจะเป็นผู้ทำงานเพื่อดูแลความสะอาดสถานที่และสภาพแวดล้อมต่างๆ ด้วยตนเอง

วันแรกของการเปิดเทอม จึงเป็นวันที่นักเรียนมัธยมทุกคนต้องมาโรงเรียนให้ได้ เพราะต้องมาเลือกหน้าที่ดูแลความสะอาด ทุกคนจะยกมือแย่งหน้าที่ที่ตนอยากทำ ถ้าใครไม่มาก็อาจถูกยัดเยียดให้ทำหน้าที่ที่ไม่อยากทำ เช่น ล้างห้องน้ำ การนำเศษอาหารไปทิ้ง ตักไขมันจากบ่อกักไขมัน ซึ่งมีกลิ่นรัญจวนมาก

ช่วงเวลาทำความสะอาดคือบ่ายสองโมงถึงบ่ายสองโมงครึ่งของทุกวัน ทำแล้วเหนื่อยบ้าง แต่ก็เป็นการฝึกความอดทน เสียสละต่อส่วนรวม และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง

11

โต๊ะเรียน

โต๊ะเรียนของนักเรียนมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อความแปลกหรือความสวยงามอย่างเดียว หากนำโต๊ะเรียนมาต่อกัน 4 – 5  ตัวจะได้โต๊ะกลมสำหรับคุยงานหรือทำงานกลุ่มได้ หากอยากนั่งเดี่ยว นั่งคู่หรือนั่งเป็นแถวยาว ก็เคลื่อนย้ายจัดโต๊ะใหม่ได้

โต๊ะเรียนรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูนี้เหมาะกับโรงเรียนรุ่งอรุณที่มีการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญต่อการทำกิจกรรม การพูดคุยแลกเปลี่ยน อยู่เสมอ โต๊ะเรียนจึงถูกจัดใหม่เกือบทุกคาบเรียนกลายเป็นความตื่นตาตื่นใจของนักเรียน

12

เรียนรู้นอกห้องเรียน

การออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ หลายครั้งที่เราพบนักเรียนประถมนั่งวาดรูปใบไม้ ต้นไม้ที่ผ่านการสังเกตในกิจกรรมของวิชาวิทยาศาสตร์ หรือการเก็บใบไม้ ยอดไม้ แล้วนำมาทำอาหารในวิชาสังคม บางหน่วยวิชามีการทำกิจกรรมที่จริงจังและต่อเนื่องเป็นเทอม เช่นการปลูกผัก ทำนา

น้องอนุบาลยังได้เรียนรู้การทำโครงงาน เมื่อห่านในสวนป่าตัวหนึ่งป่วย เดินไม่ได้ น้องๆ ได้ศึกษาหาวิธีที่จะดูแลห่านตัวนั้น และพยายามพาห่านไปหาหมอ

หลายวิชาใช้สภาพแวดล้อมของโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ หรือทำกิจกรรมกันนอกชั้นเรียน  นักเรียนได้ค้นพบมุมใหม่ๆ เกิดประสบการณ์ตรงผ่านการลงมือปฏิบัติ อยู่กับของจริง เรื่องจริง ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ง่ายกว่าและลึกซึ้ง

13

บรรยากาศ

โรงเรียนมีบึงใหญ่ที่สวยงาม ตึกเรียนต่างๆ สร้างโอบล้อมบึง บางกลุ่มอาคารเป็นกลุ่มเรือนไทยบ้าง เรือนไม้บ้าง หรือเป็นตึกก็มีโครงสร้างประกอบที่เป็นไม้ อีกทั้งยังมีโถง หน้าต่าง ประตูที่กว้างและเปิดโล่ง ทั้งหมดโอบล้อมด้วยหมู่ไม้และแนวไม้ มองไปที่ใดก็เห็นแต่สีเขียวของต้นไม้ทั้งน้อยใหญ่ บางบริเวณก็มีสภาพไม่ต่างกับสวนป่า

การเดินเล่นในโรงเรียนเหมือนการเดินเล่นในสวนสาธารณะ การถอดรองเท้าเดินย่ำไปทั่วตามทางเดิน สะพานไม้ ลานทราย หรือแม้แต่บุกเข้าไปในสวนป่าก็เป็นเรื่องที่สนุก และสบายใจ โรงเรียนยังมีกิจกรรมดูนก เพราะมีนกมากมายหลายพันธุ์ตามสภาพที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของมัน

14

สัตว์เลี้ยงของโรงเรียน

เราพบสัตว์หลายชนิดในโรงเรียน พวกมันมักมาอยู่อาศัยเอง เพราะที่นี่มีสภาพที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของพวกมัน และคนในโรงเรียนต่างก็ปฏิบัติต่อเหล่าสัตว์นั้นอย่างเมตตาเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยงของตน นักเรียนส่วนมากจะรักแมวอย่างแมวชื่อคุณชายรัชชานนท์ และรณพีร์ ที่สนิทสนมกับนักเรียนบางคนถึงขนาดว่าตอนนั่งเรียนอยู่หรือวาดรูปอยู่ แมวคุณชายจะเดินดุ่มๆ ขึ้นมานอนงีบบนตัก หรือแมวคุณป้าแพนด้าที่ตึก ม.6 ซึ่งครู บุคลากร และนักเรียน ผลัดกันเลี้ยงดู ให้อาหาร หรือพาไปหาหมอ

มีกระรอกตัวหนึ่งตกต้นไม้แล้วบาดเจ็บสาหัส นักเรียนต่างช่วยกันปฐมพยาบาลแล้วพาไปรักษากับหมอที่คลินิกรักษาสัตว์ตรงข้ามโรงเรียน หรือแม้กระทั่งคุณตา ‘ตะพาบ’ ตัวใหญ่ที่เริ่มป่วย ก็จะมีนักเรียนแวะเวียนไปดูอาการอยู่เรื่อยๆ

เหล่า ‘ตะกวด’ ที่พบมากในโรงเรียนแถวใต้ถุนตึกดูอิ่มหนำสำราญดี คงอาศัยกินปลาในบึงนั่นแหละ แม้ตะกวดเป็นสัตว์ที่ดูน่ากลัว แต่ว่าเด็กๆ ชอบมัน

15

นาข้าว

การทำนาปลูกข้าวที่โรงเรียน ไม่เหมือนการทดลองปลูกถั่วเขียวในกล่องกระดาษหรือกระดาษทิชชู รุ่งอรุณมีแปลงนาสาธิตให้นักเรียนลงไปเดินย่ำโคลน (และลื่นล้ม) เพื่อการปลูกข้าวจริงๆ โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ป.5 จะได้ใช้ชีวิตทั้งปีเรียนรู้ทุกสาระวิชาจากแปลงนานี้ ทั้งระบบนิเวศ การบวงสรวงพระแม่โพสพ การหว่านกล้า ดำนา ดูแลรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมถึงเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ผ่านการศึกษาการเติบโตของต้นข้าว พืช  สัตว์และแมลง ที่เชื่อมโยงกันผ่านห่วงโซ่อาหารและสายใยอาหาร เรียนหน่วยการชั่งตวงวัดในวิชาคณิตศาสตร์ผ่านการชั่งน้ำหนักข้าว เรียนวิชาสังคมศึกษาผ่านเรื่องชีวิตชาวนา การปลูกข้าว ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง การดูแลแปลงนาไม่ง่ายเลย แต่รับรองว่าหลังจบ ป.5 ไป เด็กๆ จะยังคงคิดถึงแปลงข้าวขนาดไม่ใหญ่นี้ของพวกเขา  

16

การเรียนแบบโครงงาน

การเรียนแบบโครงงานเป็นรูปแบบการเรียนรู้หลักของนักเรียนมัธยมโรงเรียนรุ่งอรุณ โดยเฉพาะการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ วิชาสังคมศึกษา วิชาภาษาไทย แม้แต่วิชาภาษาอังกฤษ ศิลปะ ดนตรี ก็ยังเรียนแบบโครงงาน ความพิเศษในการทำโครงงานคือ การทำงานบนโจทย์ที่จริงมาก นักเรียนต้องไปกินอยู่ ร่วมทำกิจกรรมกับผู้คนในชุมชน สัมภาษณ์บุคคล และค้นคว้าเองภายหลัง วิเคราะห์ข้อมูลให้ได้คำตอบที่สำคัญ นักเรียนต้องศึกษาจนสร้างงานที่มีคุณค่ากลับคืนสู่ชุมชนนั้นได้ เป็นการเรียนแบบ Area Based Project โจทย์การทำโครงงานของวิชาอื่นก็จริงไม่แพ้กัน เช่นการทำทำงานศิลปะที่ตอบโจทย์ของชุมชน

17

เลือกเรียนตามสำนัก

เมื่อขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 นักเรียนทุกคนจะได้รับแจกใบลงทะเบียนเรียน นอกจากวิชาพื้นฐานที่บังคับเรียนตามระเบียบกระทรวงแล้ว นักเรียนยังเลือกเรียนได้อีกหลายรายวิชา เช่น Mathematics Advance การออกแบบ หัตถศิลป์ ทัศนศิลป์ ซึ่งนักเรียนต้องวางแผนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

พยายามทำความเข้าใจว่าตนมีความสนใจหรือความถนัดด้านใด ในอนาคตอยากจะศึกษาต่อด้านใด ควรต้องเตรียมความถนัดและมีความรู้ในสาขาวิชาใดเพิ่มเติม  

18

โรงเรียนอนุบาล

การเรียนอนุบาลที่โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก เพราะตอนนั้นเรายังไม่ต้องเรียนวิชาการอะไรมาก  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการลงมือปฏิบัติเพื่อดูแลตนเองให้ดีและนึกถึงผู้อื่นด้วย โรงเรียนอนุบาลมีหลักในการสอนให้นักเรียน ‘กินอยู่เป็น’ เป็นสำคัญ คือให้น้องอนุบาลพึ่งตนเองได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกิน อยู่ หลับนอน ของตนเอง นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการนึกถึงส่วนรวม เราจึงเห็นน้องอนุบาลทำหน้าที่จัดโต๊ะอาหาร รวมถึงการล้างจานเอง ตัดล้างกล่องนมของตนเองให้สะอาด จะได้ไม่เป็นภาระให้คนอื่นต้องมาดูแล

โรงเรียนอนุบาลจะมีธีมการเรียนที่เปลี่ยนไปทุกเทอม เช่น ธีมขนมปัง น้องอนุบาลจะได้ฝึกทำขนมปัง เรียนรู้เรื่องยีสต์ และกิจกรรมที่ต้องมีทุกวันคือ คุณครูจะพาน้องๆ ร้องเพลงและเต้นออกกำลังกายกันทุกเช้า โรงเรียนอนุบาลไม่ได้เรียนแบบแยกระดับชั้น แต่เรียนแบบชั้นคละ ห้องเรียนหนึ่งจะมีนักเรียนที่อยู่ในระดับตั้งแต่อนุบาล 1 ถึงอนุบาล 3 คละกันไป

พี่ที่โตกว่าจะได้ฝึกดูแลน้อง และเป็นแบบอย่างให้แก่น้อง

19

LEARNING CENTER

โรงเรียนรุ่งอรุณพยายามให้ทุกพื้นที่ในโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียนทั้งการเรียนในระดับมัธยม ประถม และอนุบาล เหล่าเด็กประถมจะใช้พื้นที่ทางเดินและโถงของตึกประถม ซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง จัดตกแต่งพื้นที่ให้สวยงาม และนำผลงานวิชาต่างๆ ของนักเรียนๆ มาจัดแสดง เช่น วางชิ้นงานงานโครงงานไว้ให้ได้ชม การแขวนป้ายความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เรียนในแต่ละเทอม  

ระดับมัธยมก็ปรับห้องเรียนของตนเองเป็นเหมือน Workshop หรือ Office และแสดงชิ้นงานต่างๆ ไว้เช่นกัน ห้องเรียนและตึกเรียนของโรงเรียนจึงเปรียบเหมือน Learning Center เพราะมีการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อกันของผู้เรียน

20

แยกขยะ

นักเรียนรุ่งอรุณแยกขยะเป็นตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล เช้าๆ เรามักเห็นนักเรียนตัวน้อยเดินแถวกันไปโรงแยกขยะหรือศูนย์รีไซเคิลที่ชูหลักการ Zero Waste ขยะทุกชิ้นต้องนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น อาหารสดทำเป็นปุ๋ย กระดาษส่งรีไซเคิล แต่จะทำเช่นนั้นได้ต้องผ่านกระบวนการแยกขยะก่อน มิฉะนั้นทุกอย่างก็จะปะปน และสกปรกจนนำไปทำอะไรต่อไม่ได้

โรงแยกขยะจะมีถังสีน้ำเงินใบใหญ่วางเรียงราย แต่ละถังจะถูกระบุว่าเป็นถังสำหรับใส่ขยะประเภทใด เช่น กระดาษขาว พลาสติกใส พลาสติกขุ่น  หรือแม้แต่เศษแก้วแตก ที่นี่แยกขยะค่อนข้างละเอียด อย่างเช่นปากกาลูกลื่นก็จะถูกแยกส่วนต่างๆ ออกจากกัน ทั้งตัวด้าม ปลอกปากกา หรือแม้แต่สปริงข้างใน

เรื่อง:   นางสาว วรัศมิ์ พิทักษ์วรรัตน์,   นางสาว ณภัทร พงศ์พนางาม,  นางสาว วันฟ้าใส เมธาคุณวุฒิ,   นางสาว อัยกมล จันทร์อัมพร,   นาย รชต อนุวนาวงศ์,   นาย ต่อสกุล ตัณฑ์ธีระชาติ
ภาพ :  โรงเรียนรุ่งอรุณ

Writer

Avatar

นักเขียนรุ่งอรุณ

รชต อนุวนาวงศ์, วันฟ้าใส เมธาคุณวุฒิ, อัยกมล จันทร์อัมพร, ต่อสกุล ตัณฑ์ธีระชาติ, ณภัทร พงศ์พนางาม คือกลุ่มนักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนรุ่งอรุณที่ถ่ายทอดมุมน่าประทับใจในสถานศึกษาให้คนทั่วไปรับรู้