อยากรู้ไหมว่า ในแต่ละวันเด็กญี่ปุ่นทำอะไรในโรงเรียนอนุบาลกันบ้าง

เด็กน้อยแต่ละคนจะได้รับสัญลักษณ์ประจำตัวเป็นสติกเกอร์รูปสิ่งของต่างๆ จากโรงเรียน ลูกชายแม่ได้สัญลักษณ์ประจำตัวเป็นจรวด เพราะฉะนั้น สิ่งของหรือจุดวางของประจำตัว เช่น ล็อกเกอร์ เก้าอี้ โต๊ะ จะมีสติกเกอร์รูปจรวดบอกว่าอันนี้เป็นของผมนะครับ เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารและจดจำของเด็กน้อยวัยที่ยังอ่านตัวหนังสือไม่ได้

โรงเรียนเริ่มเข้าเรียนตอน 9 โมงเช้า คุณแม่จะเข้าไปส่งหนูๆ ถึงหน้าห้อง ไปถึงแม่ก็จะเอาเข็มกลัดชื่อติดที่เสื้อ แล้วเปลี่ยนรองเท้าเป็นรองเท้าที่ใช้เดินเฉพาะในห้องเรียนและตัวตึก จากนั้นเดินเข้าห้องเอาสมุดประจำตัวคล้ายไดอารี่ปฏิทินไปแปะสติกเกอร์เพื่อบอกว่าวันนี้หนูมาโรงเรียนอนุบาลนะครับ จุดนี้แม่ได้เห็นว่าลูกเรียนรู้ตัวเลขจากวันที่ ทุกวันเลขจะเปลี่ยนไป 1 2 3 4 ไปถึง 30 สิ่งต่อไที่ต้องทำคือ เอาผ้าเช็ดมือ แก้วน้ำ ไปวางในจุดที่จัดไว้ และเอากระเป๋าไปเก็บในล็อกเกอร์ประจำตัว

ชั้นวางรองเท้า

สนามเด็กเล่น

ช่วงแรกๆ ของการเข้าโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่จะช่วยเหลือลูกน้อยในทุกขั้นตอน พาไปทำ สอนจนครบ เมื่อลูกเริ่มทำเองได้ แม่ก็แค่ยืนส่งที่หน้าห้องเรียน

ช่วงแรกของวันเป็นช่วงอิสระ ใครอยากเล่นอะไรก็เล่นตามสบาย จนถึงเวลา 9 โมงนิดๆ คุณครูจะเริ่มดีดเปียโน (ทุกห้องเรียนมีเปียโนและครูอนุบาลเล่นเปียโนได้) เป็นเพลงสั้นๆ “เก็บของกันเถอะ เก็บของกันเถอะ” เป็นสัญญาณว่าหมดเวลาเล่นแล้ว ทุกคนช่วยกันเก็บของเล่นให้เรียบร้อย เด็กๆ จะเดินเรียงแถวไปเข้าห้องน้ำ แล้วกลับมาที่ห้องเรียนเพื่อเตรียมพร้อมจะ ‘เล่น’ ต่อไป

อนุบาลที่นี่ไม่มีการสอนหนังสือ ไม่มีเขียนหนังสือ ตัวเลข ตัวอักษร ไม่เรียนอะไรเลย เล่น เล่น และเล่น เท่านั้น เป็นที่ถูกใจลูกๆ ยิ่งนัก

กิจกรรมช่วงเช้าจะหลากหลายตามแต่ละช่วงเทศกาลและฤดูกาล ถ้าช่วงนั้นใกล้วันคริสต์มาส เด็กๆ ก็จะทำของเล่น ของที่ระลึก รูปซานตาคลอส ต้นคริสต์มาส แบบง่ายๆ เอากระดาษที่ตัดมาแปะสติกเกอร์ ระบายสี เขียนนั่นนี่ วันหนึ่งก็ทำทีละนิดทีละหน่อย พอถึงวันคริสต์มาสหนูๆ ก็มีของขวัญกลับมาให้คุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน ถือมาด้วยหน้าตาภาคภูมิใจ

อนุบาลญี่ปุ่น

ส่วนในเรื่องของฤดูกาล ฤดูร้อนที่อากาศร้อนเหลือ กิจกรรมที่ทำคือ ลงบ่อเล่นน้ำเลยค่ะ พี่อนุบาลโตๆ จะได้ลงสระว่ายน้ำขนาดย่อม ส่วนน้องอนุบาลเล็กๆ ก็ลงสระเป่าลมที่วางอยู่กลางสนาม สนุกสนานวิ่งวนวุ่นวายกันมาก

ส่วนหน้าหนาวซึ่งหนาวจับใจ จะมีอะไรดีไปกว่าการ ‘วิ่งมาราธอน’ ตอนแรกคุณแม่เห็นตารางกิจกรรมประจำเดือนก็ตกใจเล็กน้อย เด็กอนุบาลวิ่งมาราธอนมันจะโหดไปไหมนะ แต่เอาจริงๆ ก็คือวิ่งวนในสนามนั่นแหละค่ะ ระยะทางก็ตามความสามารถของเด็กอนุบาลตัวน้อย เมื่อเด็กๆ ได้วิ่งออกกำลังทุกวัน ร่างกายก็อบอุ่นและแข็งแรง

การวิ่งในฤดูหนาวไม่ได้จำกัดแค่เด็กอนุบาลนะคะ เพราะระหว่างทางที่แม่ขี่จักรยานไปส่งลูกจะพบเห็นเด็กมัธยมออกมาวิ่งวนบนฟุตปาธด้วย เพราะฉะนั้น แม่เลยไม่แปลกใจแล้วว่าทำไมชาวญี่ปุ่นถึงได้คลั่งไคล้การวิ่งมาราธอนเป็นหนักหนา  

นอกจากกิจกรรมที่เล่ามา บางวันก็จะปล่อยเด็กๆ ตั้งแต่อนุบาล 1 จนถึงอนุบาล 3 ให้ออกมาเล่นที่สนามรวมกัน ดูพี่ๆ น้องๆ เล่นด้วยกัน พี่ก็สอนน้อง อันนี้อย่าเล่นนะ อันนี้ต้องระวังนะ น้องก็เชื่อฟังบ้างไม่เชื่อบ้าง เป็นภาพที่น่ารักดี

สนามเด็กเล่น

เมื่อถึงเวลาอาหารเที่ยง เด็กๆ จะเข้าห้อง ไปล้างมือ เข้าห้องน้ำ จากนั้นก็เอากล่องข้าว (เบนโตะ) ที่แม่เตรียมใส่กระเป๋าให้ มาจัดวางเรียงอุปกรณ์บนโต๊ะประจำที่ตัวเองนั่ง เตรียมพร้อมรอเริ่มกินอาหารด้วยกัน เมื่อทุกคนพร้อม คุณครูจะเล่นเปียโนเพลง กล่องข้าวน้อยน่าอร่อย เด็กก็ร้องเพลงตามจนจบด้วยประโยคว่า “อิตตาดาคิมัส” (จะทานข้าวแล้วนะครับ/ค่ะ) แล้วเริ่มทานข้าวด้วยกัน และคุณครูก็จะเอาข้าวกล่องมากินพร้อมกับเด็กๆ และช่วยดูแลเด็กที่อาจจะมีอิดออดงอแงบ้าง

การกินอาหารที่โรงเรียน โรงเรียนจะพยายามฝึกให้เด็กจัดการดูแลตัวเองให้เรียบร้อยด้วยตัวเอง จัดเรียงอุปกรณ์ มีผ้าปูรองโต๊ะกันเปื้อน กล่องข้าว แก้วน้ำ กล่องช้อนส้อมตะเกียบ โดยทำเป็นแผนภาพติดไว้ที่บอร์ดหน้าห้อง เด็กๆ ก็เรียงตามนั้น กินข้าวเองและเก็บอุปกรณ์ทั้งหมดเองเมื่อกินเสร็จ ใครกินเสร็จก่อนก็ได้ไปเล่นก่อน ส่วนคุณครูจะดูแลเชียร์ให้หนูๆ กินข้าวให้หมดกล่อง อาจจะมีป้อนบ้าง ถ้าใครกินไม่หมดก็จะให้เหลือไว้ในกล่องแบบนั้น น่าจะให้คุณแม่ที่บ้านดูและสังเกตว่าวันนี้ลูกกินข้าวไปมากน้อยแค่ไหน มีอะไรที่ลูกไม่ชอบหรือไม่ทาน เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนเมนูให้เป็นที่ถูกใจคุณลูกน้อย

เมื่อหมดเวลากินข้าว เด็กๆ จะมานั่งประจำที่เพื่อร้องเพลง “ขอบคุณสำหรับกล่องข้าวในวันนี้ อิ่มอร่อยมากเลยครับ/ค่ะ” จากนั้นเด็กๆ ก็เริ่มกิจกรรมภาคบ่าย คือปั้นดินน้ำมัน เล่นต่อบล็อก วาดรูประบายสี หรืออาจจะเล่นร่วมกับพี่ๆ ชั้นโตๆ เช่น ‘เกมไปตลาดซื้อของกันเถอะ’ พี่ๆ จะใช้กระดาษ ถ้วยไอติม เศษวัสดุเหลือใช้ มาทำอาหารปลอมเป็นพิซซ่า ขนมปัง พุดดิ้ง แล้วถือใส่ถาดแวะเวียนเข้ามาที่ห้องน้องๆ ทางน้องๆ ก็จะมีเงินปลอมเอาไว้ซื้อขายของกิน เป็นที่สนุกสนาน

อนุบาลญี่ปุ่น

กิจกรรมที่คุณครูเรียกว่า Mini Concert คือเปิดเพลงเต้นกระจาย มีทั้งเพลงเด็กประมาณ ช้าง ช้าง ช้าง หรือ ก้าบ ก้าบ ก้าบ เป็ดอาบน้ำในคลอง ไปจนถึงเพลงจากการ์ตูนหรือหนังยอดมนุษย์ทั้งหลาย ตอนเพลงการ์ตูนเด็กผู้หญิงขึ้น สาวน้อยก็ลุกไปเต้น เด็กชายก็นั่งเชียร์ และสลับกันในคราวเพลงยอดมนุษย์ของคุณผู้ชายยอดมนุษย์ตัวจิ๋ว แต่ละหนูน้อยนี่ลีลาท่าทางแสบสันไม่มีใครยอมใคร

หลังจากออกลีลากันจนเหนื่อย ได้เวลาเตรียมตัวกลับบ้าน หนูๆ จะช่วยกันเก็บของเล่น จัดเตรียมเอากระเป๋าอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมกลับบ้าน คุณครูจะเอานิทานมาเล่าให้ฟังก่อนกลับบ้าน 2-3 เรื่อง แล้วแต่เวลาจะอำนวย

พอถึงเวลาประมาณบ่ายโมงครึ่ง คุณแม่ๆ จะทยอยมารับกลับบ้าน แต่ความสนุกของหนูๆ ยังไม่จบ ถึงแม่ๆ จะมารับแล้ว แต่เด็กๆ ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยอมกลับ ยังอยากปล่อยพลังวิ่งเล่นกันต่อที่สนามอีก จนถึงเวลาแม่ต้องขอร้องให้กลับบ้านเถอะลูก

เด็กญี่ปุ่น

กิจกรรมหนึ่งที่สำคัญจนขาดไม่ได้ และต้องฝึกฝนเป็นประจำทุกเดือนที่โรงเรียนอนุบาล คือการฝึกฝนการรับมือกับอุบัติภัยในรูปแบบต่างๆ ทั้งไฟไหม้ แผ่นดินไหว เพื่อเตรียมความพร้อมให้ทั้งคุณครู เด็ก และคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง เพราะไม่มีใครรู้ว่าภัยต่างๆ จะเกิดขึ้นตอนไหน

นอกจากนั้น จะสอนเกี่ยวกับกฎจราจรง่ายๆ เทอมละครั้ง อย่างเช่น การข้ามถนน การระวังตัวจากคนแปลกหน้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตประจำวัน

ในส่วนของอนุบาล ก็มีกิจกรรมให้พ่อๆ แม่ๆ ได้เป็นส่วนหนึ่งในความสนุกสนานของเด็กๆ เพราะแต่ละเดือนจะมีวันที่ให้ผู้ปกครองมาอยู่กับเด็กน้อยได้ทั้งวันเพื่อเป็นคุณครูผู้ช่วย มาเล่น มากินข้าวกลางวัน มาดูลูกเรา มาเลี้ยงลูกคนอื่น มาดูพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ซึ่งแม่ไปร่วมเกือบทุกเดือนและเห็นว่าเด็กๆ แต่ละคนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เดือนแรกๆ บางคนไม่ค่อยยอมทำอะไรเอง แม่มาส่งก็ร้องไห้ พอผ่านไปใกล้ครบเทอมกลับดูแลจัดการตัวเองได้ดี ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ อย่างสนุกสนาน

บางเดือนจะมีเรียนวันเสาร์ช่วงเช้าและให้พ่อแม่มาร่วมทำกิจกรรม ที่จัดวันเสาร์เพื่อเปิดโอกาสให้คุณพ่อที่ต้องทำงานในวันปกติได้มาดูมาเล่นกับลูกน้อยในวันหยุด เป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัว (ถ้ามีกิจกรรมในวันเสาร์ วันจันทร์ถัดมาก็จะกลายเป็นวันหยุดของโรงเรียนแทน) หรือถ้ามีวาระพิเศษ พ่อแม่ก็จะจัดชมรม เช่น ชมรมหุ่นมือ ชมรมร้องเพลงประสานเสียง มาแสดงโชว์ต่างๆ ให้เด็กๆ ดูในเทศกาลงานต่างๆ พอเด็กดูแล้วเห็นคนแสดงเป็นพ่อแม่ของตัวเองหรือของเพื่อนก็ตื่นเต้นตกใจกรี๊ดวิ้ดว้ายกันใหญ่

โรงเรียนอนุบาลของญี่ปุ่นโดยทั่วไปจะเน้นความสนุกสนาน การออกกำลังและปล่อยพลังของเด็กๆ ให้เด็กได้ออกมาทำกิจกรรมทั้งกลางแจ้งและในร่ม ใช้สัญลักษณ์ภาพและบทเพลงในการสื่อสารกับหนูๆ ให้เด็กได้เล่นเพื่อรู้ ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้ ได้สังเกต ได้พัฒนา จากสิ่งรอบๆ ตัวโดยไม่ใส่เกียร์เร่ง

และนี่คือหนึ่งวันสนุกๆ ของเด็กน้อยที่นี่ สนุกจนไม่มีวันไหนที่ไม่อยากไปโรงเรียน

Writer & Photographer

Avatar

ปองทิพย์ วนิชชากร

แม่บ้านไทย-ญี่ปุ่น-ลาดพร้าว รักจะ slow life เลยชอบ write slow slow